สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๐ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๔ "๑๑ กันยายน ๒๐๐๑ วันถล่มอเมริกา"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๐ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๔
กลับไปหน้า สารบัญ

เ ฮ โ ล ส า ร ะ พ า

คุณที่รัก

    สงครามน้ำหอม ๒ (ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณ)

    ก่อนอื่นต้องขออภัยทุกท่านจ้ะที่ "หมูอมตะ" ไม่อาจสรุปเรื่องราวให้จบในฉบับ เหมือนที่เคยปฏิบัติ เพราะเนื้อหาที่ต้องการบอกเล่ามีมาก อันที่จริงเรื่องของร้านปลอดภาษีที่ฝรั่งเศส สามารถเขียนเป็นสกู๊ปได้ แต่เรื่องจะโฉ่งฉ่าง กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของคนในวงการมากเกินไป และ "หมูฯ" อาจกลายสภาพเป็นหมูบะช่อได้ จึงขอนำเสนอเป็นตอน ๆ ในคอลัมน์เล็ก ๆ เช่นนี้ดีกว่า
    เรื่องที่ "หมูฯ" กำลังเล่าถึงนี้ไม่ใช่ความลับสุดยอด ที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนหรอกนะจ๊ะ เขารู้กันทั้งนั้นแหละ "เขา" ในที่นี้คือคนในวงการที่รู้ตื้นลึกหนาบางดียิ่งกว่า "หมูฯ" และเลือกจะ "พูด" ในสิ่งที่ควรพูด และไม่พูดในสิ่งที่มีผลประโยชน์ปิดปากอยู่ แต่คนนอกวงการอย่าง "หมูฯ" ที่ทางชีวิตบังเอิญผ่านเข้าไปรู้เห็น เรื่องราวในวงการน้ำหอมที่โน่น เลือก "พูด" ในทุกสิ่งที่เป็นจริง
    คุณพอนึกภาพร้านปลอดภาษีออกไหมจ๊ะ ผู้ที่เดินทางออกนอกประเทศ ด่านแรกสุดที่เจอคือ ร้านปลอดภาษีที่สนามบินดอนเมือง บนเครื่องบินบางเที่ยวบินก็มีสินค้าปลอดภาษีจำหน่ายให้ผู้โดยสาร เมื่อถึงสนามบินจุดหมายปลายทาง ก็จะมีร้านปลอดภาษีตั้งดักรอนักซื้ออยู่เช่นกัน ครั้นเข้าประเทศนั้น ๆ แล้วคุณก็จะเจอร้านปลอดภาษี ตั้งดาษดื่นตามย่านการค้าต่าง ๆ เงื่อนไขที่จะได้ลดภาษี คือ คุณต้องซื้อสินค้าในร้านนั้น ๆ เป็นจำนวนเงินที่เขากำหนดไว้ หากซื้อไม่ถึงก็ไม่มีสิทธิ์ทำเรื่องขอคืนภาษีได้ ที่ฝรั่งเศสนั้นกำหนดตัวเลขที่ ๑,๒๐๐ ฟรังก์ฝรั่งเศส (ราว ๗,๕๐๐ บาท) สวิตเซอร์แลนด์ ๕๐๐ ฟรังก์สวิส (ราว ๓,๐๐๐ บาท)
    ร้านปลอดภาษีทั้งสามร้านที่ "หมูฯ" เอ่ยชื่อไว้ใน สารคดี ฉบับที่แล้ว ขายสินค้ายี่ห้อดัง ๆ หลายหลากชนิด ทั้งน้ำหอม เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือสตรี ปากกา นาฬิกา แว่นตา เข็มขัด ไฟแช็ก เนกไท เสื้อยืด เสื้อกันหนาว ผ้าพันคอ ช็อกโกแลต เครื่องประดับ ขนม ไปจนถึงของที่ระลึกต่าง ๆ และไม่ได้มีเฉพาะแผนกไทย ที่มีพนักงานขายคนไทย รอต้อนรับลูกค้าชาวไทยเท่านั้น แต่ยังมีแผนกจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย มาเลเซีย อิสราเอล รัสเซีย ด้วย การทำงานในร้านดังกล่าว จึงเหมือนทำงานในสหประชาชาติกลาย ๆ เพราะคลาคล่ำไปด้วยคนต่างเชื้อชาติ ศาสนา โดยใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษากลาง 
    รายได้หลักของร้านปลอดภาษี ทั้งสามมาจากการที่บริษัทนำเที่ยวนานาชาติ พาลูกทัวร์มาซื้อของที่ร้าน ซึ่งก่อนที่บริษัทฯ จะส่งลูกทัวร์ให้ ทางร้านจะส่งผู้จัดการแต่ละแผนก ให้กลับประเทศของตน เพื่อเดินสายติดต่อแนะนำตัวกับบริษัทนำเที่ยวแต่ละแห่ง ที่มีโปรแกรมท่องเที่ยวฝรั่งเศส พร้อมเสนอตัวช่วยอำนวยความสะดวก ในการติดต่อจองโรงแรม จองรถ จองร้านอาหารในฝรั่งเศสให้ และในบางครั้งอาจส่งผู้ช่วยไกด์ ซึ่งพูดฝรั่งเศสได้ ไปรับรองไกด์ และคณะทัวร์ตั้งแต่ต้นจนจบโปรแกรม เพื่อช่วยให้ความสะดวกในการสื่อสาร กับคนขับรถ และให้ข้อมูลในพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขเพียงว่า ต้องพาคณะทัวร์ไปซื้อของในร้านตน ซึ่งหัวหน้าทัวร์นั้น ๆ จะได้ค่า "น้ำ" ตั้งแต่ ๗-๑๕ เปอร์เซ็นต์ (แล้วแต่ตกลงกัน) จากยอดการซื้อของลูกทัวร์ (ซึ่งมีศักยภาพสูงมากในการ "ช้อป" และส่งอานิสงส์ให้หัวหน้าทัวร์บางคณะ ได้ค่าน้ำสูงเป็นหมื่นฟรังก์ [๑ ฟรังก์เท่ากับ ๖.๒ บาท] ) 
    การพาลูกทัวร์ไปชอปปิงนั้น ไม่ว่าไปร้านไหนในสามร้าน (รวมทั้งห้างสรรพสินค้าใหญ่ Galeries Lafayette) หัวหน้าทัวร์ล้วนมีแต่ได้กับได้ เพราะทุกที่ล้วนมีค่า "น้ำ" ให้ทั้งสิ้น แต่โดยหลักปฏิบัติมักไม่พาไปทั้งสามร้าน แต่เลือกเพียงร้านใดร้านหนึ่ง บวกกับห้างใหญ่ Galeries Lafayette ซึ่งมีสินค้าทุกชนิดให้เลือกซื้อ เพื่อประหยัดเวลา และไม่ต้องการให้ลูกค้ามีโอกาสเปรียบเทียบราคาสินค้าในแต่ละร้าน
    เมื่อหาลูกค้าเข้าร้านได้แล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของพนักงานขาย ที่ต้องใช้ความสามารถทุกกระบวนท่า จูงใจหว่านล้อมให้ลูกค้าซื้อของให้มากที่สุด และเนื่องจากแต่ละร้าน มีพนักงานขายต้อนรับลูกค้าแต่ละชาติเป็นการเฉพาะ การทำงานจึงแบ่งหน้าที่กันโดยปริยาย คือรับรองเฉพาะลูกค้าที่พูดภาษาเดียวกับตน ทำให้บางครั้ง วัตถุประสงค์ที่ต้องการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าชาตินั้น ๆ กลับเป็นตัวทำให้ลูกค้า ไม่ได้รับการบริการที่ดีพอ เช่น ลูกทัวร์ไทยลงซื้อของที่ร้านในเวลาเดียวกันหลายกรุ๊ป พนักงานขายคนไทยมีไม่พอให้บริการลูกค้า ลูกค้าไทยหันไปส่งภาษาอังกฤษ กับพนักงานขายชาติอื่น ให้ช่วยหาสินค้าให้ ก็จะถูกปฏิเสธ บุ้ยใบ้ให้รอซื้อกับพนักงานขายไทย โดยอ้างว่า ตนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อแก้ตัวที่น่าเห็นใจและฟังขึ้น หากแต่บางครั้งเหตุผลที่แอบแฝงอยู่ คือค่าคอมมิชชัน (ที่พนักงานขายแต่ละชาติ จะได้ส่วนแบ่งจากแผนกที่ตนสังกัดอยู่ ดังนั้นในกรณีที่พนักงานขายชาติอื่น ช่วยขายของให้ลูกค้าไทย ผู้ได้ผลประโยชน์คือ พนักงานขายแผนกไทย เหตุนี้พนักงานขาย จึงไม่ค่อยอยากขายของข้ามแผนกนัก เพราะเท่ากับเหนื่อยเปล่า)
    เราท่านย่อมทราบแก่ใจดีว่า แรงจูงใจสำคัญสำหรับผู้ยึดอาชีพพนักงานขาย ก็คือค่าคอมมิชชัน ยิ่งขายได้มาก ยิ่งได้ผลตอบแทนมาก การขายของที่ร้านปลอดภาษีก็เช่นกัน ในท่ามกลางสินค้านับร้อยยี่ห้อ ที่วางจำหน่าย เป็นธรรมดาที่แต่ละยี่ห้อก็อยากให้สินค้าของตนขายดีกว่ายี่ห้ออื่น จึงตกลงเป็นพิเศษกับทางร้าน ให้ช่วยโปรโมท โดยให้ผลตอบแทนแก่ทางร้านมากเป็นพิเศษ จากนั้นเป็นหน้าที่ของร้านที่จะสร้างแรงจูงใจ กับพนักงานขายต่อไป รูปแบบที่ทำกันคือ ปิดสติกเกอร์เล็ก ๆ ไว้ใต้ขวดของสินค้ายี่ห้อที่ให้ค่าเหนื่อยพิเศษ เมื่อพนักงานขายสินค้าแต่ละชิ้นได้ ก็ลอกสติกเกอร์จากตัวสินค้าเก็บสะสมไว้ พอสิ้นเดือน ก็เอาสติกเกอร์ที่ว่าไปแลกเป็นเงินกับทางร้าน แล้วนำเงินมาแบ่งกันในหมู่เพื่อนร่วมแผนก 
    นอกจากรายได้พิเศษจากระบบสติกเกอร์ พนักงานยังมีรายได้พิเศษ จากการทำยอดขายของสินค้า ยี่ห้อที่ผู้บริโภคไม่ค่อยคุ้นเคยด้วย (ปรกติสินค้ายี่ห้อดัง ๆ ที่ต้นสังกัด ทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์สม่ำเสมอจน "ติดตลาด" แล้ว มักไม่มีค่าเหนื่อยพิเศษให้พนักงานขายอีก ) โดยลูกค้ารายใดที่ "พี่อยากเปลี่ยนครีมทาหน้า / พี่อยากได้น้ำหอมกลิ่นใหม่ ๆ น้องช่วยแนะนำพี่หน่อย" แล้วละก็ เป็นอันเข้าทางพนักงานขายทันที
    คุณจ๋ะ ขอความกรุณาติดตามอ่านตอนต่อไปฉบับหน้าแล้วละจ้ะ ว่าทำไม "หมูฯ" ถึงเรียกว่า "สงครามน้ำหอม" ถึงเนื้อที่ต้องเฉลยปัญหาแล้ว
  คำตอบที่ได้รับรางวัลจากปัญหาฉบับที่ ๑๙๘ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๔

    คำถามฉบับที่ ๑๙๘ ถามว่า แพทย์ในประเทศใดนั่งเครื่องบินไปรักษาคนไข้ คำตอบคือ ออสเตรเลีย คุณศรัณย์ ทันตานนท์ ค้นข้อมูลมาให้เสร็จสรรพว่า องค์กรที่ชื่อ The Royal Flying Doctor Service ก่อตั้งขึ้นในออสเตรเลียในปี ค.ศ. ๑๙๒๘ โดย สาธุคุณ จอห์น ปลินน์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์กรณีฉุกเฉินแก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยแพทย์จะขึ้นเครื่องบินไปให้การรักษาถึงที่ ผู้ที่สนใจเรื่องนี้หาข้อมูลได้จาก www.rfds.org.au/ หากคุณ ๆ สนใจการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์กลุ่มนี้ ดู
    ผู้ที่ตอบคำถามถูกและได้รับหนังสือ กินย่านเก่า เป็นของรางวัล ได้แก่ 
๑. คุณศรัณย์ ทันตานนท์  จ. อุบลราชธานี 
๒. คุณดำรงค์ นิมมานพิสุทธิ์  จ. เชียงใหม่ 
๓. คุณอุดมสิน ปรักกมกุล  กรุงเทพฯ 
๔. คุณนรวีร์ พุ่มจันทร์  กรุงเทพฯ 
๕. ทพ. ไพศาล ยันตรีสิงห์  จ. ชัยนาท 
๖. คุณพรทิพย์ เหมภัสสร  กรุงเทพฯ 
๗. คุณศักดิ์ชัย สถาปนาชัย  จ. สระบุรี 
 

ปัญหาฉบับที่ ๒๐๐ ตุลาคม ๒๕๔๔

 
 คลิกดูภาพใหญ่

    คณิตคิดสนุก

    จงทำให้ตัวเลขสองแถวมีผลลัพธ์เท่ากัน โดยวิธี "เคลื่อน" วงกลมวงใดวงหนึ่ง
    รีบส่งคำตอบไปยัง "หมูอมตะ" ภายในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ศกนี้ ...พบกับใหม่ฉบับหน้า


 
"หมูอมตะ"
MortalPig@ Sarakadee .com