ผมทำงานอยู่ในป่าทางตอนใต้ของลำน้ำขาแข้งกว่าสามปี โดยเริ่มงานในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐ จากความตั้งใจครั้งแรก ผมจะบันทึกความเปลี่ยนแปลงของป่า ทุกฤดูกาลในเวลาหนึ่งปี ออกมาเป็นหนังสือภาพเล่มหนึ่ง เมื่อเริ่มทำงาน ผมพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด สภาพอากาศไม่เป็นไปตามฤดูกาล กลางเดือนเมษายน ซึ่งควรจะเป็นช่วงเวลาอันร้อนอบอ้าวที่สุด ใบไม้ควรจะเหลือเพียงกิ่งก้าน แต่ต้นไม้กลับมีใบเขียวทึบ ครั้นพอถึงฤดูฝน ดูเหมือนว่าฝนจะตกอย่างหนัก ริม ๆ ลำห้วย ซึ่งโดยปรกติจะมีหาดทรายทอดยาว เป็นพื้นที่สำหรับนกยูงตัวผู้มาจับจอง เพื่อเป็นอาณาเขต รำแพนเรียกร้องความสนใจจากนกยูงตัวเมีย สายน้ำกลับเอ่อล้นฝั่ง นกยูงต้องอพยพไปใช้ที่โล่ง ๆ ในโป่งซึ่งก็รกไปด้วยหญ้าสูง ถึงปีที่ ๓ ผมใช้ฟิล์มไปแล้วกว่า ๓๐๐ ม้วน ไม่มากนักหากเทียบกับสิ่งที่ควรจะเป็น แต่หากคิดว่าฟิล์มม้วนละ ๒๘๐ บาท ผมก็ใช้เงินไปแล้วไม่น้อย ในการออกแบบหนังสือของสำนักพิมพ์ที่ผมร่วมงานด้วย เราคงใช้ภาพเพียง ๑๗๐-๒๐๐ ภาพเท่านั้น ผมไม่ได้หวังว่า มันจะเป็นหนังสือภาพสัตว์ป่าที่สวยงามที่สุด แต่ผมหวังว่า มันจะเป็นหนังสือภาพสัตว์ป่า อันบอกเรื่องราวชีวิตในป่า ซึ่งต้องปรับตัวไปตามฤดูกาลได้บ้าง ปรับกายให้สอดคล้องไปกับความเปลี่ยนแปลงในป่าไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับใจ มันไม่ง่ายดาย ผมใช้เวลาเดินเรื่องขออนุญาตเข้าพื้นที่ อันเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอยู่แรมเดือน ในช่วงเวลา ๑๐ ปี ผมเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ป่าบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี เขาบันได และกรึงไกร อยู่หลายครั้ง จึงทำให้พอรู้จักพื้นที่ เช่น โป่ง แหล่งน้ำ หรือบริเวณที่สัตว์ป่าแวะเวียนมาประจำ คนงานในหน่วยและพิทักษ์ป่า คือบุคคลผู้บอกได้ดีที่สุดว่า ช่วงนี้พบเห็นสัตว์ป่าได้บริเวณไหน พวกเขาเห็นร่องรอยสัตว์ป่า ขณะออกตระเวนเดือนละไม่ต่ำกว่าสี่ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่าห้าวัน หลายครั้งที่ผมลาดตระเวนร่วมกับพวกเขา จึงคล้ายเป็นเรื่องปรกติ ที่นับวันผมก็รู้สึกได้ถึงความเป็นพวกเดียวกัน ระหว่างผมกับคนงานในหน่วยป่าไม้
สภาพป่าที่มีเนื้อที่กว่า ๑ ล้าน ๖ แสนไร่อย่างป่าห้วยขาแข้ง ดูคล้ายจะกว้างใหญ่ไพศาล แต่ก็ใช่ว่าทุกหนแห่งในป่า จะเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าได้ หรือบางบริเวณ สัตว์ป่าก็จะอาศัยอยู่เพียงชั่วคราว ตามฤดูกาลเท่านั้น แหล่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดที่ในฤดูแล้ว ตลอดแนวลำห้วยสายหลัก อย่างลำขาแข้งจะเป็นที่ชุมนุมของสัตว์ป่า รอยตีนสัตว์กินพืช ก็เคลื่อนทั่วบริเวณผืนทรายแห้ง ๆ และที่ปะปนอยู่กับรอยตีนสัตว์กินพืช ก็คือรอยตีนของสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือ ในฤดูฝนหรือในปีที่ฝนตกชุก พอถึงฤดูแล้งต้นไม้ทยอยผลัดใบ ความชื้นในอากาศเหลืออยู่มาก ต้นไม้ไม่พร้อมใจกันลดการใช้น้ำด้วยการเปลี่ยนสีใบ และทิ้งใบร่วงหล่นลงพื้น ดังเช่นในปีที่อากาศแล้งจัด แอ่งน้ำเล็ก ๆ หรือปลักมีทั่วไปเป็นเช่นนี้ สัตว์ป่าก็กระจายออกไปบ้าง ตามลำห้วย หรือแม้แต่โป่งอันเป็นที่ซึ่งสัตว์กินพืช ต้องแวะเวียนมาเพื่อกินแร่ธาตุเสริมสร้างกระดูก การเฝ้ารออยู่บริเวณนี้ ยังมักต้องพบกับความว่างเปล่า ในปีแรกผมพบกับฤดูแล้งที่มีอากาศร้อนจัด การเฝ้ารออยู่ริม ๆ ลำห้วยค่อนข้างได้ผล ไม่เพียงแต่ทำให้มีโอกาสเฝ้าดูฝูงควายป่าหากิน รวมทั้งนอนพักผ่อนตลอดทั้งสัปดาห์เท่านั้น แต่ในวันหนึ่ง ซึ่งเป็นวันที่ฤดูแล้งสิ้นสุด ฝนตกพรำ ๆ ตั้งแต่บ่าย หลังจากควายป่าทั้งฝูง ซึ่งนอนพักผ่อนอยู่อันเป็นนิสัยปรกติ คือจะเดินหากินในช่วงเช้า ๆ ถึงก่อนเที่ยง จากนั้นก็มักนอนพักไปตลอดจนกระทั่งเย็น ๆ จึงจะลุกขึ้นกินหญ้าไปเรื่อย ๆ อีกครั้ง ทั้งฝูงลุกขึ้น เงยหน้าสูดกลิ่นไปรอบ ๆ ลูกเล็ก ๆ ถูกตัวแม่และควายป่าตัวโต ๆ อีกตัวเข้ามายืนประกบ เมื่อเสือโคร่งตัวโตเต็มวัยตัวหนึ่ง เดินออกมาจากด่าน ควายป่าตัวโต ๆ อีกหลายตัวก็เข้าแถวยืนอยู่ด้านหน้าป้องกันไว้อีกชั้นหนึ่ง การป้องกันตัวของควายป่า เข้มแข็งเกินกว่าจะเข้าโจมตีได้ นักล่าซึ่งอยู่ในตำแหน่งบนสุด อย่างเสือจึงต้องเดินเลี่ยงไป ผมดูเหตุการณ์นั้นอยู่จนกระทั่งฟ้ามืด เดินกลับแคมป์ไปตามลำห้วยแห้ง ๆ ดวงจันทร์ขึ้น ๑๓ ค่ำ โผล่พ้นขอบฟ้า
ตลอดสามปีขณะทำงานในป่า ภาพที่บันทึกได้ส่วนใหญ่ ผมบันทึกได้จากการเฝ้ารออยู่ในซุ้มบังไพร หรือที่เรามักเรียกจนติดปากว่า blind ซึ่งหากว่าตามจริง มันก็เป็นวิธีเดียวกับที่พราน หรือชาวบ้านใช้เวลาล่าสัตว์ ในการถ่ายรูป เราเรียกว่า blind แต่ในการฆ่า ชาวบ้านเรียกซุ้ม ที่เข้าไปซ่อนตัวไม่ให้สัตว์ป่าเห็นว่า "บังไพร" บังไพรที่อยู่บนต้นไม้เรียกว่า "ห้าง" ซึ่งมักทำบริเวณใกล้ ๆ โป่ง หรือไม่ก็บริเวณที่เสือฆ่าเหยื่อทิ้งไว้ เช่นนี้จะต้องหาเชือก หรือเถาวัลย์ผูกขาเหยื่อไว้กับต้นไม้แน่น ๆ ไม่เช่นนั้นเจ้าของเหยื่อ อาจเข้ามาแอบลากไปไว้ที่อื่น ในการล่า พรานจะใช้ห้างเวลากลางคืน เพราะโดยธรรมชาติของสัตว์ป่า สัตว์ป่าส่วนใหญ่ออกหากินในเวลากลางคืน หากไม่ทำห้างบนต้นไม้ บริเวณไหนมีต้นมะกอก มะขามป้อม หรือต้นส้านสุก ผลไม้พวกนี้ เป็นที่ชื่นชอบของเก้ง และกวาง พรานจะหาทำเลใกล้ ๆ ทำซุ้ม พวกเขาจะไปตัดไม้ที่มาทำซุ้มจากที่ไกล ๆ เพราะหากตัดใกล้ ๆ สัตว์ป่าจะกระสากลิ่นได้ แต่หากจำเป็นต้องตัดใกล้ ๆ พอตัดแล้วจะต้องหาดินมาป้ายตรงแผลไม้ที่ตัดด้วย ลุงสังวาลย์ พิทักษ์ป่าอาวุโสผู้เคยมีอดีตเป็นพราน บอกเสมอว่า "เวลาทำซุ้มต้องดูให้ดีว่าลมพัดไปทางไหน เพราะจมูกสัตว์ป่ามันไว ได้กลิ่นเราง่ายมาก" "ต้องดูด้วยว่า ด่านหรือทางเข้า-ออกของมันอยู่ตรงไหน" วิธีการที่ "พราน" ใช้ได้ผลดีเช่นกันในการถ่ายรูปสัตว์ป่า เป็นวิธีการเดียวกัน เพียงแต่ในการถ่ายรูป เราใช้กล้องแทนปืน ในสมัยเริ่มต้น บังไพรของผมคือซุ้มบังไพรแท้ ๆ อย่างพรานป่าใช้ หากิ่งไม้ที่มีใบโต ๆ มาบังเสริมเข้ากับพุ่มไม้ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ส่วนหลังคาไม่มี หากฝนตกก็คลุมตัวและกล้อง ด้วยผ้าปันโจ การทำบังไพรอย่างง่าย ๆ คือสิ่งที่ผมคิดผิด สัตว์ป่าอาจมองไม่เห็นก็จริง แต่หลังคาที่เปิดโล่งทำให้บรรดา "ยาม" ของป่าอย่างกระรอกหรือนกมองเห็นชัดเจน พวกนี้จะร้องเตือนพรรคพวกตลอดเวลา ครั้งหนึ่ง นกยูงตัวเมียเกือบสิบตัวทรุดตัวลงหมอบ และหันหลังวิ่งเข้าป่า ทั้ง ๆ ที่เดินเกือบถึงซุ้มอยู่แล้ว เพราะพวกเขาได้รับสัญญาณ จากนกจาบคาเคราสีน้ำเงินตัวหนึ่ง ที่เกาะกิ่งไม้คอยสังเกตการณ์ผมเกือบทั้งวัน เหตุการณ์นี้ทำให้ผมเริ่มรู้จักสังคมของสัตว์ป่าบ้าง ต่อมาผมจึงพัฒนาขึ้น โดยใช้บังไพรสำเร็จรูป ที่สั่งให้ร้านขายอุปกรณ์เดินป่าแถวตลาดนัดจตุจักรตัดให้ มันเป็นซุ้มบังไพรสี่เหลี่ยมทำจากผ้าลายพราง มีช่องหน้าต่างปิด-เปิดได้ ด้านบนมีห่วงสี่มุม เวลาทำงานผมใช้ห่วงนี้คล้องหรือยึดไว้กับต้นไม้ ด้านนอกผมจะหากิ่งไม้ ใบไม้ มาทับไว้อีกชั้นหนึ่ง ด้านบนคลุมทับด้วยผ้ายางกันฝน
เวลาสามปีกับชีวิตริมสายน้ำลำขาแข้ง ผมยอมรับความจริงว่า ในสังคมของสัตว์ป่า แม้ว่าจะพยายามสักเท่าใด ผมก็เป็นเพียงคนแปลกหน้า เวลาสามปีในป่า ผมได้หนังสือภาพสัตว์ป่ามาเล่มหนึ่ง ทว่าในความเป็นมนุษย์ ผมได้รับสิ่งมีค่ากว่านั้น