|
|
|
|
ปิยเกษตร สุขสถาน สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ แม่ริม จ. เชียงใหม่ : รายงาน |
|
|
|
|
แม้ว่าดอยเชียงดาวจะเป็นภูเขาที่มีความสูง
เป็นอันดับสามของประเทศไทย (๒,๒๒๕ เมตร) แต่นับว่าเป็นภูเขาหินปูนที่สูงที่สุด เนื่องจากภูเขาที่สูงอันดับหนึ่งและสองนั้นเป็นเขาหินแกรนิต สภาพของหินปูนระดับสูงกอปรกับสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม
ยังผลให้สังคมพืชที่ปรากฏอยู่บริเวณสัน
และยอดดอยมีลักษณะพิเศษ
คือเป็นสังคมพืชภูเขากึ่งอัลไพน์
อันอุดมไปด้วยพรรณไม้เขตอบอุ่นหลายชนิด
ที่ไม่พบในที่อื่นใดในโลก
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ผมเดินสำรวจพรรณไม้บริเวณยอดสูงสุดซึ่งมี ชมพูเชียงดาว และ หญ้าดอกลาย กำลังออกดอกสะพรั่งไปทั่วเนินเขา
ในจำนวนนั้นมีกระจุกดอกไม้สีม่วงอ่อน
ขึ้นแซมอยู่เล็กน้อย มันเป็นพืชสกุลหญ้าดอกลายที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นพืชชนิดใหม่ของไทย (new record of Thailand) อย่างแน่นอน เพราะกลุ่มหญ้าดอกลายของไทยที่มีรายงานพบเพียง ๓ ชนิดนั้นผมรู้จักเป็นอย่างดี
เมื่อผมกลับมายังสวนพฤกษศาสตร์จึงได้ทำการตรวจสอบพืชดังกล่าว
โดยการสืบค้นข้อมูลจากเอกสารต่างๆโดยเฉพาะในหนังสือพรรณพฤกษชาติประเทศจีน (Flora of China) ซึ่งมีพืชสกุลเดียวกันนี้กว่า ๗๐ ชนิด แต่ไม่พบว่าใกล้เคียงกับชนิดใดเลย
ในที่สุดก็ไม่อาจจะจำแนกชนิดได้
เนื่องจากพืชสกุลนี้มีการกระจายพันธุ์ที่กว้างขวางกว่า ๑๕๐ ชนิดทั่วโลก นอกจากนี้เอกสารที่มีอยู่ก็ไม่พอเพียง จึงต้องพักการตรวจสอบชื่อเอาไว้ก่อน
ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
ผมได้รับทุนจากสวนพฤกษศาสตร์เอดินเบอระ
เพื่อเดินทางไปศึกษาดูงานทางพฤกษศาสตร์ยังประเทศอังกฤษ
จึงมีโอกาสตรวจสอบเอกสารและตัวอย่างพืชเพิ่มเติม
ในหอพรรณไม้ของสวนพฤกษศาสตร์เอดินเบอระ
และสวนพฤกษศาสตร์คิว
ผลที่ได้น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อพบว่าพืชดังกล่าว
มิได้เป็นเพียงพืชชนิดใหม่ของไทยเท่านั้น หากแต่เป็นถึงพืชชนิดใหม่ของโลกทีเดียว
จึงได้ทำการจัดตั้งชื่อพืชชนิดใหม่ตามหลักสากล
โดยให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Swertia chiangdaoensis หรือ ศรีเชียงดาว ตามสถานที่ที่ค้นพบ
การสำรวจในปีต่อ ๆ มาพบว่า
ปริมาณของศรีเชียงดาว
ที่พบในแต่ละปีจะแตกต่างกัน เนื่องจากเป็นพืชล้มลุกที่เจริญจากเมล็ดปีต่อปี โดยรวมแล้วถือว่ามีจำนวนประชากรน้อยมาก
และมีสถานภาพที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง
เนื่องมาจากการรบกวนของกิจกรรมท่องเที่ยวและไฟป่า
|
|
|
|
ศรีเชียงดาว Swertia chiangdaoensis P. Suksathan, Edinb. J. Bot. 58:3, 2001.
ไม้ล้มลุกวงศ์ดอกหรีด (GENTIANACEAE) สูง ๑๕-๖๕ เซนติเมตร ใบรูปใบหอกแคบออกตรงกันข้าม ดอกขนาดประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร ออกเป็นช่อแน่นมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงห้ากลีบ สีเขียวหรือเขียวอมแดง กลีบดอกห้ากลีบสีม่วงอ่อน โคนกลีบมีแถบขวางสีม่วงเข้ม และสีเขียว มีต่อมรูปครึ่งวงกลมหนึ่งต่อม โคนก้านเกสรตัวผู้แผ่แบน ปลายเรียวแหลม เกสรตัวผู้รูปไข่แกมขอบขนาน รังไข่สีเขียวอ่อนมีปื้นสีน้ำเงินเข้ม ก้านเกสรตัวเมียสั้น ยอดเกสรตัวเมียเป็นสองแฉก ผลแห้ง แก่แล้วแตก เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก
นิเวศและการกระจายพันธุ์
: พืชถิ่นเดียว (endemic) พบเฉพาะดอยเชียงดาว จ. เชียงใหม่ บริเวณพื้นที่เปิดในระดับความสูงกว่า ๒,๑๐๐ เมตร
|
|