สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๒ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๔ "๖๐ ปีเสรีไทย"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๒ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

ข้าวประดับดิน
บุญกลางพรรษาและการบูชาเหนือน้ำคาน

วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ เรื่องและภาพ
 
สารคดีเรื่องนี้ ได้รับการสนับสนุน ด้านข้อมูลจาก โครงการ อาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค สำนักกองทุน สนับสนุนการวิจัย (สกว.)      บ่ายของการแข่งเรือยังมาไม่ถึง จนกว่าเวลาบูชานาคจะผ่านพ้นไป
     จังหวะนี้ผมหลบแดดและฝูงชนริมน้ำคานมายังวัดแสนสุขาราม ถัดมาอีกหนึ่งช่วงตึก ตั้งใจพักหาน้ำดื่มดับกระหาย ก็บังเอิญพบพระชรารูปหนึ่งหน้ากุฏิ กำลังนั่งปั้นข้าวเหนียวตากในกระจาดเป็นก้อน ๆ
     แวบแรกสะดุดใจว่าพระรูปนี้มัวทำอะไร คนทั้งเมืองกำลังสนใจเรือส่วง 
"ข้าวเหลือจากที่คนทำบุญ ตากเก็บไว้เผื่อมีคนยากจนข้างบน (ภู) ลงมาขอก็จะยกให้ ...ดีกว่าทิ้งเปล่า ๆ" หลวงพ่อหรือที่คนหลวงพระบางเรียก "สาธุ"* พูดอย่างอารีกับคนที่กำลังดื่มน้ำ
     ผมฟังไม่ผิด งานบุญ "ห่อข้าวประดับดิน" ได้ข้าวล้นเหลือ และส่วนหนึ่งจะผ่านกระบวนการถนอมอาหาร ก่อนจะตกไปถึงปากท้องคนจนไกลออกไป 
     จะว่าผมเป็นคนประเภทที่ชอบ (นึกว่าตัวเอง) ไปพบความลับที่โน่นที่นี่ หรือสัมผัสโลกลึกซึ้งกว่าพวก "นักท่องเที่ยว" ก็ว่าเถิด แต่ยอมรับว่านี่เป็นอีกครั้ง ที่ความคิดว่าสถานที่แต่ละแห่งจะมีเรื่องราว มีมุมมองเตรียมไว้เฉพาะสำหรับคนแปลกหน้าแต่ละคนกลับมารบกวนจิตใจอีก...

* ภาษาลาวเขียน "สาทุ"      หลายคนคิดว่า "จุดเปลี่ยน" สำคัญของบุญห่อข้าวประดับดิน เมืองหลวงพระบาง เกิดขึ้นในชั่วโมงแรก ๆ ของวันนี้...เมื่อคนเอากรวยใบตองห่อข้าว และผลไม้พื้นบ้าน เรียก "ข้าวห่อโป้" พร้อมขนมข้าวต้ม วางไว้ตามรั้วบ้าน ตามทางแยกแต่เช้ามืด เพื่อเป็นทานให้ภูติผีไร้ญาติ ด้วยเชื่อกันว่า ภูตผี สัตว์นรกที่เดินทางกลับภพภูมิของตน จะได้กินอาหารก่อนแสงแดดส่อง และพอรุ่งสาง ชาวบ้านก็ตักบาตรอุทิศส่วนบุญข้ามภพไปถึงบรรพชนผู้ล่วงลับ เป็นการทดแทนคุณ โดยย่านตึกเจ๊ก ถนนศรีสว่างวง ยังคงเป็นหน้าตาของเมืองมรดกโลกแห่งนี้ คนมาตั้งแถวรับขบวนพระสงฆ์หน้าอาคารทรงคลาสสิก ... บังเกิดความงามกินใจคนผ่านทางทั้งไทยและเทศ 
     ฮีตคองประเพณีช่วงวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ของคนลาวและไทยทางอีสานเช่นนี้เองเป็นที่มาของชื่อ งานบุญ (ห่อ) ข้าวประดับดิน 
     ทว่าคนอื่นอิ่มบุญแล้วก็สนุกเริงรื่นกันต่อ พระและจัว-เณรจำนวนไม่น้อยไปดูเฮือส่วง (แข่งเรือ) ที่วัดริมตลิ่ง แต่สาธุแห่งวัดแสน ท่านยังอยู่กับข้าวประดับดินต่อไป
     แง่มุมที่เพิ่งสัมผัส ทำเอาผมไม่สามารถกลับเข้าสู่เกมของบ่ายวันนี้ได้ทันที ลงจากกุฏิก็เดินตัดเมืองเก่าไปวัดเชียงทอง เดินดูรอบ ๆ วิหารและลวดลายประดับกระจกอันสดใสรอบหอพระ แล้วจึงค่อยเลียบคุ้งน้ำวัดเชียงทองผ่านปากคาน กลับไปที่เขาชิงชัยกลางสายน้ำ
 (คลิกดูภาพใหญ่)

แคมคาน แคมของ

     สายน้ำคานขุ่นแดง ไหลมาจากเบื้องตะวันออก
     การมาถึงของมันได้กลืนตลิ่งเมืองหลวงจนลาดชันไปหลายส่วน หามุมดูซ้อมเรือส่วงให้ถนัดแทบไม่ได้ จึงอย่าว่าแต่ชายหาด เนินดินที่เคยมาเห็นเมื่อหลายปีก่อน 
     บุญเดือนเก้าปีนี้-ตรงกับ ๑๘ สิงหาคม น้ำมากกว่าทุกปี 
     ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างที่สังเกตได้ทันทีจากถนน "แคมคาน" ไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ แต่เป็นเขื่อนตรงริมตลิ่งตีนภูสี สร้างขึ้นใหม่เป็นขั้นบันไดกว้างขวางด้วยหินผสมดิน ตรงจุดนี้มุมมองค่อนข้างเปิดโล่ง ให้เราเห็นวิถีชีวิต ทิวทัศน์สองฝั่งน้ำ หรือแม้แต่การแข่งเรือ อยู่ที่ว่าจะมาเยือนเวลาใด...
     หลวงพระบางเป็นเมืองริมน้ำโขง ที่พิเศษกว่าเมืองอื่นเพราะมีน้ำอีกหนึ่งสาย คือ น้ำคาน ไหลผ่านตัวเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนจะไหลลงสบน้ำโขงตรงปากคาน ถนนเลียบลำน้ำทั้งสองสายที่เรียกกันว่า "ถนนแคมคาน" และ "ถนนแคมของ" น่าจะมีส่วนให้ผู้มาเยือนตกหลุมรักหลวงพระบางอยู่ไม่น้อย ทั้งที่จริง ถนนแคมคานเป็นเพียงถนนสายสั้น ๆ จากตีนภูสีไปถึงปากคาน และแทบไม่ได้เชื่อมต่อกับถนนสายอื่นใด แต่ความโรแมนติกนั้นก็ไม่เกี่ยวว่าจะสั้นหรือยาว
     กำลังจะบอกว่า ไม่ว่ามันจะโรแมนติกจริง ๆ หรือถูกทำให้โรแมนติกก็ตาม การมายืนตรงนี้เวลาปรกติย่อมสัมผัสได้ถึงความสงบเงียบ --- ด้านหนึ่งของถนนเป็นแถวอาคารบ้านเรือนเก่า ที่ยังมีคนอาศัยอยู่ ไม่ได้เปิดเป็นเกสต์เฮาส์เหมือนส่วนอื่นของเมือง ส่วนอีกด้านคือแนวกำแพงเตี้ย ๆ มีบันไดปูนทางลงท่าน้ำเป็นระยะ เลยข้ามฟากไปอีกฝั่งของแม่น้ำคาน ก็มีหมู่บ้านและวัดหลายแห่ง ซ่อนตัวอยู่หลังแนวไม้ครึ้ม ชั่วไม่นานที่มาถึง ... ผมเห็นคนสัญจรข้ามฟากไม่ขาด
     ด้วยความที่น้ำคานสายน้อยไหลลงน้ำโขงที่กว้างใหญ่ทรงพลัง ความเร็วความแรงของมัน จึงถูกผ่อนเบาลงกลายเป็นไหลเอื่อย ๆ แม้ยามฤดูฝน นักส่วงเฮือยังบอกว่า "น้ำคานมันนิ่ง เหมาะจะส่วงเฮือ" นั่นเป็นความรู้สึกแผกต่างอย่างมากจากแม่น้ำโขงทางอีกฟากของเมือง 

(คลิกดูภาพใหญ่)      ทางขวามือ ไกลลิบจากภาพเด็กลอยคอ เล่นแข่งเรือ คนทอดแหหาปลา หรือภาพจัวน้อยแจวเรือข้ามฟาก ที่ผ่านเข้ามาคือภูสูงสลับซับซ้อน จุดกำเนิดของน้ำคานอยู่ที่ภูเทือกใดเทือกหนึ่งข้างหลังนั้น ณ ตำบลซึ่งแบ่งกั้นแขวงหลวงพระบาง และเวียงจันทน์จากกัน 
     น้ำคานไม่ใช่แม่น้ำสายยาว หรือสายสำคัญของประเทศลาว แต่สำหรับหลวงพระบาง เมืองหลวงเก่าแก่ของแผ่นดินล้านช้าง มันคือสายเลือดหลักหล่อเลี้ยงชีวิตยิ่งเสียกว่าแม่น้ำโขง พอสายน้ำเดินทางพ้นจากอ้อมโอบภูซ้างภูซวง มันก็ไหลสู่แอ่งหลวงพระบางผ่านมาทางสนามบิน ลอดสะพานใหญ่สองแห่ง แล้วเลี้ยวโค้งเลียบตีนภูสีไป ๖๐๐-๗๐๐ เมตร จนไปสบน้ำโขงที่ปากคาน และนั่นเป็นจุดที่ถนนแคมคาน และแคมโขงบรรจบเป็นหนึ่งเดียวกันด้วย
     ตำนานการสร้างเมืองหลวงพระบาง โดยอมะละฤาษีและโยทิกะฤาษี ก็กล่าวถึงขอบเขตเมืองหลวงพระบาง ที่มีน้ำคานเป็นหลักหมาย-- "ทิศเหนือเอาคกท่อน-ปากคานเป็นเขด ทิศตะเว็นออกเอาภูซ้างภูซวงเป็นเขด ทิศใต้เอาน้ำดงเป็นเขด และทิศตะเว็นตกเอาภูท้าวภูนางเป็นเขด..." โดยมิได้กล่าวถึงน้ำโขงไว้ในส่วนนี้ 
     คำกลอนโบราณ "ก้านสวายเทพาอารักขาเมืองหลวง" ใช้บูชาเทพยดาและพญานาค ๑๕ ตระกูลที่ปกปักรักษาเขตน้ำแดนดินเมืองหลวงพระบาง ซึ่งสาธุใหญ่และคนเก่า ๆ ยังคงจดจำมาถ่ายทอด กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
     "นางดำอยู่คกท่อน นางด่อนอยู่คกเฮือ นางผมเผืออยู่เหนือท่าซ้าง ท้าวต่งกว้างขวางปากคาน ท้าวทองจานอยู่ผาเดียว ท้าวคำเฮียวอยู่ผาเสือ ท้าวบุญเยืออยู่ก้อนก่ายฟ้า ท้าวคำหล้าอยู่ผาบัง ท้าวคำปังอยู่ภูซ้าง...."
     บทกลอนบอกเราว่านาคตนใดดูแลคุ้งน้ำ โขดหินและวังน้ำวนในแม่น้ำคานและโขงโดยรอบตัวเมืองจุดใดบ้าง เช่น "ท้าวต่งกว้าง" อยู่บริเวณปากคาน โดยมี "นางดำ" ดูแลวังน้ำวนอยู่ไม่ไกลกัน ส่วน "ท้าวคำหล้า" อยู่ตรงโง่นหินใหญ่ใต้สะพานเหล็กของน้ำคานเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังทำให้เรารู้ถึงความผูกพันใกล้ชิด ระหว่างคนกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ตลอดจนแนวคิดเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ได้ไม่น้อย 
     ตามที่ ศรัณย์ บุญประเสริฐ เล่าไว้ในสารคดีของเขา ในบุญเดือน ๕ หรือปีใหม่ลาว น้ำหยาดแรกที่ให้ปู่เยอ ย่าเยอ (บรรพบุรุษของมนุษย์ในตำนาน) ใช้สรงพระบางต้องมาจากแม่น้ำคานตรงผาบังใต้สะพานเหล็ก อันเป็นที่สถิตของท้าวคำหล้า นั่นหมายถึง ปู่เยอ ย่าเยอเป็นตัวแทนสรงน้ำพระแทนนาค เป็นการแสดงความเคารพที่ชาวเมืองหลวงมีต่อพญานาค ผู้ปกป้องคุ้มครองเมือง และเคารพต่อสายน้ำ ส่วนชาวเมืองจะนั่งเรือทวนสายน้ำคานไปยังหน้าผาริมน้ำ จุดที่มีน้ำผุดออกมา เรียกกันว่า "น้ำบ่อแก้ว" นำไปเจือส้มป่อยลอยหน้าด้วยดอกจำปา แล้วใช้เป็นน้ำสำหรับสรงพระบางโดยเฉพาะ
     ชาวหลวงพระบางดำรงอยู่กับน้ำคานทั้งในแง่ตำนานความเชื่อและวิถีชีวิตจริง ๆ
 (คลิกดูภาพใหญ่)      วันปรกติที่มิใช่งานบุญ เราคงไม่มีโอกาสได้ยิน หรือสัมผัสรูปธรรมของตำนานดังกล่าว ในทางตรงข้าม งานบุญบางงาน อย่างวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ตามปฏิทินจันทรคติ ชาวเมืองหลวงและเมืองรอบ ๆ จะร่วมกันทำบุญข้าวประดับดิน พร้อมส่วงเฮือหรือแข่งเรือยาวกันตามประเพณี ทีนี้ละ นางดำคกท่อน นางด่อนคกเฮือจะออกมาแจวเรือกันในลำน้ำคานให้เห็น  และเรือยาวทุกลำก็จะต้องไปเซ่นสรวงนาคที่ปากคานและผาบัง
     ถามว่าทำไมจำเพาะต้องเป็นเดือนเก้าดับ ? 
     ก็เพราะเวลานี้ตกในช่วงกึ่งกลางฤดูฝนพอดี เป็นเวลาที่ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ที่สุด น้ำในแม่น้ำลำคลองก็เต็มตลิ่ง เกาะแก่งกลางน้ำหายไป ช่วงเวลาที่ดูเหมือนพูนสุขอย่างนี้ ทำให้ลูกหลานระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษ และคิดตอบแทนบ้าง โดยบุญเดือนเก้านี้ถือกันว่า ผีเครือญาติที่มีบาปมีกรรม ต้องไปทนทุกข์ทรมานอยู่ในอบายภูมิ จะได้รับการปลดปล่อยให้กลับมาเยี่ยมโลกมนุษย์อีกครั้ง พร้อมทั้งรับส่วนบุญที่ลูกหลานอุทิศให้
     ครั้งหนึ่งผมนมัสการถามข้อสงสัยนี้กับสาธุใหญ่คำจันทร์ วัดแสนสุขาราม ท่านว่าที่เลือกวันนี้เพื่อเป็นการระลึกถึงกาล "เข้าวัสสา" สามเดือนของพระสงฆ์ "มื้อนี้เป็นกึ่งกลางการจำวัสสา หรือเดือนกึ่ง ถือว่ามาฮวมกันเฮ็ดบุญ เมื่อข้าวปลาล้นเหลือมากแล้วก็ตกใส่ดิน เป็นข้าวประดับดินอุทิศให้ผู้ตายไปแล้ว จากนั้นพวกสาวหนุ่มก็มีการส่วงเฮือม่วนซื่นกัน" 
     ลองเทียบดูบุญประเพณีในช่วงเวลาเดียวกันของทางบ้านเรา ซึ่งปฏิทินทางจันทรคติของไทย เร็วกว่าลาวเพียงวันเดียว พบว่านอกจากบุญข้าวประดับดินทางภาคอีสาน และทานสลากภัตทางภาคเหนือแล้ว ใกล้ ๆ กันยังมีงานบุญเดือนสิบ- ชิงเปรตทางภาคใต้ ที่จัดขึ้นในวันแรม ๑๔ และ ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ มีรูปแบบ ความหมายและนัยยะใกล้เคียงกัน ได้แก่ การทำบุญให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับ นำข้าว ขนมและผลไม้ของท้องถิ่นใส่กระทง-กระบุง วางให้ผีไม่มีญาติ และที่น่าสนใจคือ เด็ก ๆ รวมทั้งผู้ใหญ่ที่เฝ้ารออยู่ จะกรูกันเข้าแย่งชิงอาหารที่ชาวบ้านนำมาวางอย่างสนุก!
 (คลิกดูภาพใหญ่)      แขวงอื่น ๆ ของลาวรวมทั้งแขวงเวียงจันทน์ ก็ส่วงเฮือเป็นประเพณีด้วยเช่นกัน ทว่าส่วนใหญ่จะแข่งในเดือนสิบเอ็ด ช่วงงานบุญสลากหรือไม่ก็ออกพรรษา มีเพียงหลวงพระบางเท่านั้น ที่แข่งเดือนเก้า-กึ่งพรรษา ซ้ำยังรวบประเพณีเก่าแก่สองประเพณี ที่มีจุดเด่นต่างกันมาเป็นงานเดียว บุญเดือนเก้าจึงยิ่งใหญ่คึกคัก มีความหมายต่อคนท้องถิ่นเทียบเท่ากับบุญปีใหม่ เดือนห้า เพียงแต่ความครื้นเครงจะเป็นรองกันเล็กน้อย เพราะติดว่าเป็นฤดูฝน กระทั่งในสมัยหนึ่งงานบุญส่วงเฮือถือเป็นราชประเพณี เจ้ามหาชีวิตจะเสด็จมาทอดพระเนตร การส่วงเฮือถึงริมน้ำ ปัจจุบันยังหลงเหลือร่องรอยของศาลาที่ประทับ เรียกว่า "ผามไซย" หรือศาลาแห่งชัยบริเวณเส้นชัยเรือแข่ง ขณะเดียวกัน เรือรักษาพระองค์ก็มีโอกาสลงแสดงฝีมือกับเขาเสมอมา แต่พอหลังการปลดปล่อย ในปี ๑๙๗๕ ระบอบการปกครองโดยกษัตริย์ก็สิ้นสุดลง
     จากเรื่องของแม่น้ำที่ยกมา เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ส่วงเฮือเกิดขึ้นใน "แม่น้ำคาน" ช่วงงานบุญเดือนเก้าของทุกปี--
     เฮือส่วงของเมืองริมแม่น้ำโขงเมืองอื่น ล้วนแต่แข่งกันในแม่น้ำโขง มีเพียงเรือเมืองหลวงเท่านั้นแข่งในแม่น้ำคาน
 (คลิกดูภาพใหญ่)

เรือเก่า เรือใหม่

     ที่บันไดท่าน้ำ...แคมของ
     เราขึ้นจากเรือครัว มาดักรอฝีพายบ้านป่าขาม เหมือนเซียนมวยเกาะติดการฟิตซ้อมของนักมวย ชายหนุ่มผิวกร้านแกร่งร่วมครึ่งร้อยแบกไม้พายขนาดต่าง ๆ ขึ้นมาตามบันไดปูน ท่ามกลางความสนใจของเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน บางคนกุลีกุจอช่วยแบกไม้พายไปวาง ตอนนั้นผมประหลาดใจเล็กน้อยว่าฝีพายส่วนใหญ่ดูแก่กว่าที่คิดไว้
     ภารกิจฝึกซ้อมประจำวันเพื่อให้ "กำลังวังชาอยู่ตัว รู้จักลายน้ำและจัดตำแหน่งที่นั่งในเรือ" จบสิ้นลง เหลือแต่พรุ่งนี้ซ้อมเบา ๆ อีกวัน พอวันมะรืนก็ลงแข่ง นายบ้านบอกว่า ปีนี้ซ้อมมาดี หวังว่าเรือบ้านป่าขามจะกลับมาครองความยิ่งใหญ่อีก ปีกลายพวกเขาลงชิงชนะเลิศกับเรือพัฒนาชนบท พ่ายไปฉิวเฉียด
     เวลาขณะนั้น...เงาของเรือยาวอีกสองลำก็เคลื่อนเข้าทาบประกายแดดระยิบกลางลำโขง เสียงขับร้องอันพร้อมเพรียงของฝีพายแว่วมาเป็นสัญญาณเตือนป่าขามว่า คู่แข่งของเขาเพิ่งกลับจากน้ำคานอย่างครึ้มใจได้แรงไม่แพ้กัน 
     ก่อนถึงวันแข่งจริงประมาณ ๑๐-๑๒ วัน เรือยาวของแต่ละบ้านจะได้รับการเซ่นสรวง และอัญเชิญลงน้ำเพื่อฝึกซ้อม การฝึกซ้อมนั้นทำกันในแม่น้ำโขงและแม่น้ำคาน ข้อสำคัญต้องฝึกเพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียง จัดลำดับที่นั่งให้เหมาะสมตามน้ำหนักของฝีพายแต่ละคน และเพื่อให้คุ้นกับ "ลายน้ำ" หรือกระแสน้ำทั้งสองฝั่งของแม่น้ำคาน กิจกรรมนี้จริงจังเสียจนกล่าวได้ว่า ถ้าจะดูความร่วมแรงร่วมใจของชายหนุ่มแต่ละบ้านแล้ว สามารถดูได้จากส่วงเฮือนี่เอง
     ผมกับเพื่อนเดินตามพวกเขาเข้าหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ตรงหลังวัดใหม่สุวันพูมาราม ติดกับพระราชวังเจ้ามหาชีวิตและธาตุจอมภูสี บ้านป่าขามมิได้อยู่ไกลโพดเหมือนชื่อ ตรงกันข้าม บริเวณนี้ถือกันว่าใกล้ชิดเจ้านาย เป็นบ้านของเชื้อสายข้าราชบริพารเก่า มีวัดใหม่เป็นวัดประจำบ้าน เหมือนที่ทางเหนือของไทยเรียก "ศรัทธาวัด" ยุคก่อนตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส (ช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นศตวรรษที่ ๒๐) เขตเมืองหลวงพระบางมีวัด ๖๖ วัด ซึ่งทุกวันนี้ยังคงเหลือจำนวนกว่า ๓๒ วัด และวัดแต่ละแห่งจะมีกลุ่มบ้านขึ้นด้วย เช่น วัดเชียงทอง วัดแสน วัดมะโน วัดใหม่ วัดวิชุน แต่ก่อนวัดเหล่านี้มีเรือยาวเป็นของตัวเองไว้แข่งขันตามประเพณี แต่ปัจจุบันจะหาวัดที่มีทีมเรือยาวลงแข่งได้น้อยลง

(คลิกดูภาพใหญ่)      ท่ามกลางบรรยากาศการฝึกซ้อมแข่งขัน อาจเป็นริมน้ำ ในวัด หรือตลาด เรามักจะได้ยินได้ฟังคำพูดเกี่ยวกับ "ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย" คละเคล้าอยู่ทั่วไป หลายวันมานี้ผมพบศักดิ์ศรี วางอยู่บนเรือส่วงหลายคู่ หลายรูปแบบ-- ไม่ต้องอื่นไกล ดูจาก "เมืองเชียงแมน" ซึ่งผมมองเห็นแนวต้นมะพร้าวและหลังคาโบสถ์ลิบ ๆ อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโขงขณะนี้ ความที่มันตั้งอยู่ "ตรงข้าม" กับหลวงพระบาง และยังมีปมเรื่องถูกดูแคลนว่าเป็น "บ้านนอก" ของหลวงพระบาง คนจึงยกให้เรือของทั้งสองเมืองเป็นคู่ปรับกัน โคจรมาเจอกันทีไรก็สนุก เพราะได้ประกาศกันไว้แล้วว่า "เรือเชียงแมนจะแพ้ใครก็ได้แต่จะไม่ยอมแพ้เรือเมืองหลวง" 
     เมื่อปีกลาย ฝีพายจากเวียงจันทน์หาญกล้ายกทีมมาลงแข่งให้ธนาคารลาวใหม่ ที่หลวงพระบางก็เจอศึกแห่งศักดิ์ศรี "สองนครใหญ่" แพ้กลับไปแต่รอบแรก ๆ ศักดิ์ศรี "แชมป์เก่า" ก็เป็นสิ่งค้ำคอหลายทีม รวมทั้งเรือป่าขาม แชมป์หลายปีก่อน
     ว่าไปแล้ว เจ้า "ศักดิ์ศรี" อาจเติบโตมาจากอะไรที่พื้น ๆ ก็ได้ อย่างที่ สาธุจันทร์ บอกว่า "แต่ก่อนการส่วงเฮือเป็นประเพณีประจำบ้าน แต่ละบ้านมีเรือสำหรับส่วงเก็บรักษาไว้ที่วัด พวกหนุ่ม ๆ ลงเล่นกันตามซื่อ ๆ โดยชาวบ้านสมทบทุนเป็นปัจจัยฝึกซ้อมแข่งขัน แม่นชนะก็บ่มีหน้ามีตา บ่มีเอารางวัล" 
     ท้าวนพพะวง หัวหน้าทีมปากขามสนับสนุนว่า ถ้าจะได้ชื่อเสียงก็เห็นจะเป็นชื่อเรื่องความขยันขันแข็ง ในการทำมาหากินมากกว่า นั่นคือ บ้านที่ทำไร่ทำนาเสร็จเร็ว ก็ลงซ้อมส่วงเฮือก่อน เมื่อซ้อมก่อน เรี่ยวแรงดี จับจังหวะได้โอกาสชนะก็มีสูง ดังนั้น ชัยชนะจึงแสดงถึงความขยันขันแข็งของชุมชนมากกว่าศักดิ์ศรีอย่างอื่น 
     อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นของมันย่อมขึ้นอยู่กับยุคสมัย สถานที่และตัวผู้พูดด้วย ดังมีเรื่องเล่าว่าในยุคสมัยหนึ่ง การฝึกซ้อมเรือส่วงมีจุดประสงค์เชิงการทหารด้วย และจากการแข่งขัน ก็ทำให้ฝ่ายผู้ปกครองได้รู้ว่าฝีพายแข็งแรงนั้น มาจากบ้านใดบ้าง เรือส่วงยุคนั้นจะพายใกล้ ๆ กัน เอาแพ้เอาชนะกันด้วย "ความรุนแรง" มีตีกันด้วยไม้พายเมื่อเรือเข้าโค้งน้ำเบียดประชิด จนถึงขั้นเรือล่มกันไปข้างก็มี หรืออาจถูกคู่แข่งสาดน้ำพริกใส่หน้าตา แต่เรื่องเช่นนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน ซึ่งสามารถตัดสินผลแพ้ชนะกันได้ตามครรลองของยุคสมัย เนื่องจากถือว่าผู้ควบคุมเรือสมัยนั้น มีวิชาหรือของดีคุ้มตัวอยู่แล้ว เรือส่วงสมัยก่อนจึงต้องทรงหนาบึกบึน น้ำหนักดีเพื่อการเข้าปะทะคู่แข่งขัน ต่างจากเรือยุคปัจจุบัน ที่มีรูปร่างยาวเพรียว น้ำหนักเบา เพราะแข่งกันที่ความเร็วและจังหวะของฝีพาย 
(คลิกดูภาพใหญ่)      ระยะสามสี่ปีมานี้ ผู้สนับสนุนทีมเฮือส่วงเปลี่ยนหน้าตาจาก "ชาวบ้านสมทบทุนปัจจัย" ภาคธุรกิจการค้าและองค์กรต่าง ๆ เสนอตัวเข้ามาเป็นสปอนเซอร์มากขึ้น ทั้งสปอนเซอร์แบบเต็มตัวและครึ่งตัว คือให้เฉพาะเสื้อทีม หมวกและเบี้ยเลี้ยงฝีพายบางส่วน บางหน่วยงานก็สร้างทีมของตัวขึ้นใหม่ ถึงกับทุ่มเงินหลายสิบล้านกีบเป็นค่าจ้างฝีพาย มีการดึงตัวฝีพายตัวเก่งจากที่ต่าง ๆ ไปรวมกันเพื่อเอาแชมป์ ตัวอย่างจากทีมเรือ "พัฒนาชนบท" ที่เพิ่งส่งลงแข่งเมื่อไม่นานมานี้ ตัวเรือมีขนาดยาวที่สุดถึง ๕๒ ฝีพาย ปีกลายได้รับเงินสนับสนุนอย่างอู้ฟู่จากองค์กรเอกชนถึง ๖๐ ล้านกีบ หรือ ๓ แสนบาท แล้วก็ได้ครองแชมป์สมความต้องการ สำหรับบ้านที่ไม่มีสปอนเซอร์จากภายนอก แต่อยากส่งเรือลงแข่ง ก็จัดหาเอาเองตามกำลังความสามารถของชาวบ้านและวัด
     ระยะหลังชาวเมืองจึงได้ยินชื่อเรือของ "โครงการฝรั่ง" หรือหน่วยงานสมัยใหม่หลายลำ เช่น โครงการพัฒนาชนบทขนาดน้อย, กู้ระเบิด, ชลประทาน, สาธารณสุข, แผนการการค้า-การท่องเที่ยว, ยูนิลิเวอร์ หรือแม้แต่ถุงยางอนามัย "นัมเบอร์วัน" ร่วมชิงชัย ศักดิ์ศรีที่พูดถึงข้างต้น จึงพัฒนาเป็นแบบศักดิ์ศรีโครงการฝรั่งกับเรือท้องถิ่น, นายทุนกับไม่มีทุน อะไรเทือกนั้น บรรยากาศการแข่งขัน จึงดูท่าว่าจะมุ่งหาชัยชนะกันอย่างเข้มข้น
     ข้อสังเกตว่าแต่ละทีมมุ่งหวังเอาชนะกันในเชิงความเร็วมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากเรือแข่งรุ่นเก่า ถูกโละทิ้งไปแล้วสั่งขุดเรือใหม่จากไม้เนื้อดี ของแขวงไซยะบุรีให้รูปร่างบางเพรียวและยาวขึ้น อาศัยศาสตร์การคำนวณน้ำหนักเรือ กับน้ำหนักฝีพายละเอียดขึ้น ดังที่นายเรือคนหนึ่งเล่าถึงวิธีคำนวณง่าย ๆ ว่า ตอนแรกจะดูเฉพาะลำเรือเปล่า ๆ ว่าพอลงน้ำแล้วระดับของหัวเรือจะต่างจากท้ายเรือเท่าไร (ส่วนมากจะต่ำกว่าเล็กน้อย) จากนั้นจึงวางตำแหน่งฝีพาย และบันทึกค่าความต่างของหัวเรือและท้ายเรือไว้ แล้วพายจับเวลาดูว่าควรจัดน้ำหนักฝีพาย ให้ค่าความต่างดังกล่าวเป็นเท่าไร เรือจึงทำเวลาดีที่สุด ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นไม้พายแต่ละอัน มีเบอร์ตามตำแหน่งที่นั่งในเรือ และฝีพายเมื่อถูกจัดลงตัวแล้วก็จะต้องนั่งตามตำแหน่งอย่างเคร่งครัด
 (คลิกดูภาพใหญ่)

ผู้หญิง ผู้ชาย

     ตลอดบ่ายที่ผ่านมา... ผมกับเพื่อนอีกสองคนขึ้นล่องน้ำคานไปกับเรือครัวทีมป่าขาม เพราะขอติดสอยห้อยตามไปดูการฝึกซ้อมโค้งสุดท้าย 
     บรรยากาศแถวผามไซยและตลอดแนวขอบบนของเขื่อนคึกคัก นี่ขนาดซ้อมโดยไม่มีกรรมการตัดสิน คนยังมาจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์พลุกพล่าน มีทั้งเซียนเฮือส่วงพันธุ์แท้ เด็ก ๆ และหนุ่มสาวที่เฝ้าคอยให้กำลังใจเรือบ้านตน หลายมุมจะเห็นเบียร์ลาวถูกนำมาเพิ่มรสชาติให้วงสนทนา หรือเดิมพันความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันต่อเรือที่กำลังฝึกซ้อม 
     สายน้ำคานคลาคล่ำไปด้วยเรือยาวบ้านต่าง ๆ จำนวนไม่น่าจะต่ำกว่า ๑๕ ลำ เสียง "ฮึ่บฮึบ! ฮึ่บฮึบ! " เสียงจ้วงพาย และเสียงนกหวีดดังเป็นจังหวะอยู่รอบ ๆ เรือแต่ละลำจะซ้อมเบาจับจังหวะตามสัญญาณนกหวีดไปเรื่อย ๆ รอเวลาจับคู่ซ้อมพายเต็มพิกัดตามระยะทางที่แข่งขันจริง ๆ 
     พอเวลานั้นมาถึง จะเห็นเรือแข่งสองลำพายตีคู่กันมาเต็มกำลัง พายงัดน้ำกระจายสลับไปมากลางเปลวแดดเป็นจังหวะเคลื่อนไหวที่น่าดูยิ่ง 
     โดยเฉพาะที่หัวเรือ ชายคนหนึ่งจะคอยโขยกขย่มหัวเรือให้ขึ้นน้ำ รับจังหวะกับการจ้วงของฝีพายอย่างเมามัน บางครั้งลำที่อยู่ลายน้ำเบื้องเมืองก็ชนะ บางครั้งลายน้ำเบื้องพันหลวงก็ชนะ... จะว่ามันทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบก็ยังเอาแน่ไม่ได้
     เรือยาวแต่ละลำมีฝีพายตั้งแต่ ๔๒-๕๒ คน ขึ้นอยู่กับขนาดเรือ ทุกลำจะมี "นายหัวเรือ" หรือผู้ควบคุมจังหวะ นั่งอยู่เป็นคนแรกสุด เวลาซ้อมปรกติ นายหัวเรือจะคอยเป่านกหวีดให้จังหวะฝีพาย หรือจะโหวกเหวกโวยวายลูกทีมก็แล้วแต่สไตล์ของแต่ละคน แต่พอพายจับเวลา ชายผู้นี้จะลุกขึ้นนั่งยอง ๆ หันหน้าไปทางหัวเรือแล้วขย่มเป็นจังหวะ ทั้งยังปรับทิศเรือให้เข้าลายน้ำด้วย การอ่านลายน้ำผิด อาจส่งผลให้ทีมแพ้ได้ ขณะเดียวกัน เรือคู่แข่งที่เบียดกันเข้าเส้นชัย ลีลาขย่มหัวเรืออาจตัดสินผลแพ้ชนะเลยทีเดียว จะถือว่าการ "หย่มหัว" เป็นทีเด็ดทีขาดของเรือยาวเมืองหลวงก็ไม่ผิด สำหรับตำแหน่งรับผิดชอบตรงนี้ มันจึงเป็นความใฝ่ฝันของลูกชายชาวหลวงพระบางจำนวนมาก
     ฝีพาย ๔๘ ชีวิตของป่าขาม ถือเสมอว่าการเป็นตัวแทนลงแข่งขันเป็นเกียรติยศส่วนตัว ลองถามผลงานปีที่ผ่าน ๆ มาดูเถอะ พวกเขาจำได้หมด ตั้งแต่ยุคปี ๘๐ กว่า ๆ ที่ป่าขามเริ่มรุ่งโรจน์ จนก้าวขึ้นถึงจุดสูงสุดครองแชมป์ ๓ สมัยได้ขันรางวัลมาครองถาวร บ่ายนี้แม้แดดแผดเปรี้ยง พวกเขาเข้ามาพักดื่มน้ำริมฝั่งเดี๋ยวเดียวก็ออกไปซ้อมอีก เป็นเที่ยวที่ ๕-๖-๗-๘ ของวัน ขณะซ้อมกุนซือและพรรคพวกในเรือครัวจะจ้องเรือส่วงตาเขม็ง ขณะที่หูก็คอยสดับฟังข่าวคราวคู่แข่งตลอดเวลา 
     ผู้ควบคุมเรือบอกให้ซ้อมหนักวันนี้เป็นวันสุดท้าย และนั่นหมายถึงหวายขันชะเนาะ เรือที่เพิ่งเปลี่ยนเมื่อสองวันก่อนจะ "นวลได้ที่" พอดี ไม่แน่นหรือคลายเกินไป มัดหวายที่ใช้ขันชะเนาะตามแนวขวางตลอดลำเรือ มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ลำเรือแน่น เพรียวได้รูปขึ้น แม้เพียงสัก ๑ หรือ ๒ เซนติเมตร แค่นั้นก็คุ้มค่าแล้ว

 (คลิกดูภาพใหญ่)      ดูเหมือนจะเป็นความเชื่อและการรับรู้ในหมู่คนลาวว่า บุญเดือนเก้าเป็น "บุญคู่" บุญเดือนห้าหรือปีใหม่ โดยบุญเดือนห้านั้นเป็นงานบุญ "ผู้สาว" เพราะพวกเธอมีโอกาสเอาดินมอมหน้าผู้บ่าวในที่สาธารณะ เมื่อก่อนถึงกับจับผู้บ่าวมัดไว้กับหลัก แล้วเรียกค่าไถ่เป็นเหล้าเป็นขนมกันสนุก โดยที่ปรกติไม่อาจทำได้ ส่วนบุญเดือนเก้าเป็นบุญ "ผู้บ่าว" เป็นกิจกรรมที่ผู้ชาย จะร่วมแรงร่วมใจกันฝึกซ้อมพายเรือ และหมู่ฝีพายได้รับอนุญาตให้พูดจาเกี้ยวพาราสีผู้สาว ที่อยู่แคมคานได้อย่างไม่ต้องมิบเม้ม... เป็นอันว่าล้างกันไป 
     ผมเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนผู้หญิงชาวออสเตรเลียที่นั่งเรือไปด้วยฟัง เธอเห็นว่าสำหรับเรือยาวแล้ว มันแสดงถึง sexuality -เรื่องทางเพศ (ชาย) ตามแนวคิดของซิกมันด์ ฟรอยด์ชัดเจน ไม่ว่าจะเสียงร้อง สลับกับการฟาดใบพายอย่างเป็นจังหวะของฝีพาย ซึ่งเป็นชายฉกรรจ์ที่มีมัดกล้าม และตัวเปียกชุ่ม ลักษณะของลำเรือที่เรียว ยาว แถมปัจจุบันยังมีแนวโน้มจะแข่งกันใช้เรือขนาดใหญ่ขึ้น ๆ เพราะเชื่อว่าทรงพลังกว่า โดยเฉพาะหมากเบงโขนเรือ ที่พวกเขาให้ความสำคัญยิ่งปรากฏลักษณะของเพศ ตามแนวคิดของฟรอยด์ชัดเจน 
     พอเพื่อนคนนี้เห็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ของถุงยางอนามัย "นัมเบอร์วัน" บนฝั่งใกล้เส้นชัย ก็หัวเราะและรีบสรุปว่า "การที่นัมเบอร์วันเป็นสปอนเซอร์ให้แก่งานนี้จึงเป็นไอเดียที่ดี"

     ขณะที่เรือยาวและบรรยากาศการแข่งขันถูกขับเคลื่อนไปบนความมุ่งมั่น ทุ่มเทแรงกายแรงใจของเพศชาย ขนมเครื่องไหว้ในบุญข้าวประดับดิน ก็ถูกบรรจงจัดเตรียมโดยผู้หญิง หลายวันที่ผ่านมา ผมพบว่าหญิงชาวหลวงพระบางทำขนมอร่อยพิเศษขึ้นมา ๑ อย่าง โดยแค่นำข้าวใหม่มาหุง โรยด้วยมะพร้าว น้ำตาลเพียงเล็กน้อยก็ได้ขนมอร่อยหน้าตาดี ข้าวใหม่ที่เก็บจากนามาหุง หรือหลามทำข้าวหลาม ย่อมเป็นเครื่องยืนยันถึงโมงยามแห่งความหอมหวานของชีวิต สังคมซึ่งดำรงอยู่บนฐานของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ในช่วงนี้ ได้เป็นอย่างดี
     ก่อนงานบุญ ๑ วัน ผู้หญิงหรือผู้สูงอายุในบ้านก็นำข้าวเหนียวกับกล้วย มาห่อมัดด้วยใบตองเป็นข้าวต้มมัด เตรียมไว้ใส่บาตรควบคู่กับข้าวเหนียวในวันรุ่งขึ้นตามขนบของงานบุญเดือนเก้า ในเช้าของวันสุกดิบนี้ จะมีการปิดถนนขายของบริเวณสี่แยกใหญ่กลางเมือง เรียกว่า "เลาะตลาด" เปิดโอกาสให้ผู้คนจ่ายของทำบุญ ตลอดจนอื่น ๆ ตามต้องการ แม่บ้านที่ขาดแคลนข้าวหรือผลหมากรากไม้ก็สามารถหาซื้อหมากค้อ หมาคา หรือหมากเก๋น (ตะขรบตาควาย) ที่นิยมใช้ใส่ "ข้าวห่อโป้" 
     และตามข้อเท็จจริง ผมคงไม่ละเว้นจะเอ่ยว่าตลาดเปิดโอกาสให้เราพบของล่อตาล่อใจ มากกว่าข้าวของที่ใช้ทำบุญมากนัก มันมีตั้งแต่เสื้อผ้า รองเท้า ของกระจุกกระจิก ของเล่น เครื่องไฟฟ้า ไปจนเกมเสี่ยงโชคแบบที่เสี่ยงให้ตายก็ไม่ได้มากไปกว่ากระทิงแดง หรือน้ำอัดลม
     ดังนั้น...หลังจากตลาดวายไปจนส่วงเรือตลอดทั้งวัน ผมจึงเห็นเด็ก ๆ ถือปืนกึ่งอัตโนมัติว่อนทั้งเมือง 
(คลิกดูภาพใหญ่)

นางดำ นางด่อน

     วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ 
     เช้านี้ผมตื่นขึ้นมาโดยไม่รู้ว่าตัวเองรอคอยอะไรมากกว่า -- ข้าวประดับดินหรือส่วงเฮือ แต่ยังไม่ทันตั้งสติ เพื่อนก็พาดิ่งไปที่หน้า "ตึกเจ๊ก" ย่านธุรกิจเก่าแก่จากยุคอาณานิคมซึ่งบัดนี้ ได้สูญเสียเอกราชให้แก่การท่องเที่ยวไปเป็นที่เรียบร้อยอีกครั้ง
     ย่านตึกเจ๊ก ถนนเลียบพระราชวัง รวมถึงถนนแคมน้ำทั้งสองสาย วันนี้มีสาธุชนมาชุมนุมรอใส่บาตรกันมากมาย ต่างก็ตั้งขบวนแถว พอภิกษุสามเณรผ่านมา ผู้ที่ถือข้าวจบอยู่ใกล้ศีรษะก็วางก้อนข้าวลงในบาตร ภาพลำดับถัดมานับว่าน่าสนใจยิ่ง เมื่อพระหยิบห่อขนมหรือข้าวต้มมัดทิ้งลงในกระบุงกระจาดของเด็ก ๆ (ส่วนใหญ่ผู้ชาย) ที่แทรกตัวรอรับทานอยู่ใกล้ ๆ กันนั้นเอง เป็นไปได้ว่าปริมาณอาหาร และข้าวต้มที่ใส่บาตรในวันนี้ มีมากเกินกว่าพระและเณรจะนำไปฉันได้หมด จึง "ตกใส่ดิน" ให้เด็ก ๆ ที่มารอคอย
     เพื่อนฝรั่งคนเดิม ซึ่งตลอดการเดินทางพยายามชูประเด็น "หญิง-ชาย" ถกกันตลอด มองดูเหตุการณ์แล้วกระซิบบอกผมด้วยท่าเบื่อ ๆ ว่า
     "ดูสิ...เอาอีกแล้ว ผู้หญิง give ผู้ชาย take" 
     เธอหมายถึงคนใส่บาตรส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ส่วนพวกมารอทานล้วนแต่เป็นผู้ชาย แต่ตอนนั้นผมคิดไปถึงเรื่องอื่น ช่วงเวลาอุดมสมบูรณ์ที่สุดของสังคมที่ (เราเห็นว่า) อุดมสมบูรณ์นั้น บางทียังมีสิ่งที่เรามองไม่เห็น อาจเป็นความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมด้านความเป็นอยู่และโอกาสด้านสุขอนามัย ลำพังน้ำคานสายสั้น ๆ กว่าจะไหลมาถึงนี่ มันได้ผ่านภูสูงอันเป็นบ้านของชนเผ่ามากหลาย-- ขมุ อีก้อ ลาหู่ ไทแดง และอีกมากที่รวมกันเป็นชนชาติลาว...
     เวลาตักบาตรผ่านไปค่อนข้างเร็ว เพราะหลังจากนั้น พระเณรจะต้องกลับไปเตรียมฉันภัตตาหารเช้า ให้ศีลให้พรในโบสถ์ ญาติโยมที่ไม่ได้ใส่บาตรตอนเช้า ก็ถือโอกาสนำอาหารไปถวายพระ พร้อมกันที่วัดประจำบ้านของตน อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า การทำบุญนั้นจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ แต่สำหรับวิญญาณในอบายภูมิ ที่ไม่มีโอกาสรับส่วนบุญด้วยวิธีนี้ ชาวบ้านได้จัดเตรียมข้าวห่อโป้ บรรจุในกรวยใบตองขนาดใหญ่ วางไว้ให้แล้วตั้งแต่เช้ามืด
     เวลาเดียวกัน หมู่ฝีพายในชุดแข่งขันก็มารวมตัวกันอีกครั้งกลางลานวัด ไม้พายถูกจัดวางเรียงกันตามแนวยาวเป็นระเบียบ โดยมีโขนเรือหรือหมากเบงสองอันวางไว้ด้านบนสุด รอเวลาหมอพราหมณ์ทำพิธีให้เกิดสิริมงคลคล้าย ๆ ตอนทำพิธีเอาเรือลงน้ำ หลังจากกินข้าวมื้อเช้าร่วมกัน ฝีพายและผู้เกี่ยวข้องก็จะเข้ารับศีลรับพร และการประพรมน้ำมนต์จากสาธุใหญ่ในโบสถ์ ตั้งขบวนแห่หมากเบงเดินวนรอบโบสถ์ จากนั้นก็เคลื่อนขบวนจากวัดไปสู่ท่าน้ำ เพื่อเชิญหมากเบงไปสวมที่หัวและท้ายเรือ ถึงตรงนี้เรือทุกลำก็พร้อมมุ่งหน้าไปยังน้ำคานได้แล้ว

 (คลิกดูภาพใหญ่)      เท่าที่สอบถามจากหลายคน พบว่ายิ่งเวลาผ่านพิธีรีตอง เกี่ยวกับเฮือส่วงยิ่งเป็นเรื่องเป็นราว ซับซ้อนเพิ่มขึ้น เช่นพิธีรวมตัวของฝีพายที่วัด แห่นางเฮือ-สาว "บริสุทธิ์" สองนางของแต่ละบ้าน หรือแม้แต่พิธีเชิญหมากเบงก็ตาม คนรุ่นเก่าบอกว่าสมัยโน้นไม่มี ล้วนแต่มาเพิ่มเติมทีหลัง อย่างไรก็ตาม แม้รายละเอียดปลีกย่อยจะมีเพิ่มเข้ามา แต่พิธีกรรม "บูชานาค" ที่ถือเป็นแกนหลักยังคงอยู่
     พิธีกรรมสำคัญก่อนแข่งเรือ คือการมอบหมายให้ผู้เฒ่าผู้แก่และ "นางเฮือ" เชิญพานบายศรีและเครื่องบัตรพลีขึ้นเรือ เพื่อนำไปไหว้พญานาค ที่ปกปักรักษาน่านน้ำแดนดินในปริมณฑลการส่วงเฮือ พิธีนี้ถือว่ามีความสำคัญ และสืบทอดกันมายาวนาน ฝีพายของเรือทุกลำจะต้องไปไหว้ ท้าวต่งกว้าง-ปากคาน และท้าวคำหล้า-ผาบัง ซึ่งอยู่บริเวณสะพานเหล็กใกล้กับจุดสตาร์ตเฮือส่วง ทั้งสองจุดห่างกันประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ 
     พอเรือเข้าเทียบ นายเรือก็นำพานบายศรีทั้งสองพาน ขึ้นไปบวงสรวงพญานาคตรงโคนไม้ริมตลิ่ง ส่วนผู้เฒ่านำกระทงเครื่องบัตรพลีลอยในน้ำ เสร็จแล้วฝีพายในเรือก็โห่ร้องอย่างมุ่งมั่น เรือทุกลำจะส่งเสียงตะโกนบอกกันว่าจะเอาที่ ๑ เท่านั้น
     แม้พิธีการดำเนินไปอย่างง่าย ๆ ทว่ามันสะท้อนคติความเชื่อเกี่ยวกับนาค ๑๕ ตน รวมทั้งการรับรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของแม่น้ำสำคัญ ทั้งสองสายสำหรับชาวหลวงพระบาง ว่ามิใช่ธรรมชาติอันงดงามที่ดำรงอยู่เป็นเอกเทศ หากมันถูกอธิบายเกี่ยวโยงกับ "วัฒนธรรม" หรือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจบางอย่างคุ้มครองดูแล
     หลังจากเซ่นไหว้นาค และรายงานตัวต่อคณะกรรมการจัดการแข่งขัน เรือสองลำแรกที่ล่องกันมาตามลำน้ำคาน คือ เรือนางดำและนางด่อน ตัวแทนนาคที่เป็นหญิงจากแม่น้ำโขง หญิงชรา ๘-๑๐ คนในเรือลำหนึ่งแต่งชุดดำล้วน เพื่อเป็นตัวแทนของนาคจากคกทอน ในเรืออีกลำหนึ่งเป็นหญิงชราในชุดขาว ตัวแทนของนางด่อน จากคกเฮือ (ด่อนในภาษาลาว หมายถึง สีเผือกหรือขาว)
     เหตุที่เรือขาวกับเรือดำต้องแข่งเป็นคู่แรกนั้น คงต้องมีการหาข้อมูล และคำอธิบายกันต่อไป ตอนนี้มีเพียงเรื่องคุยกันสนุก ๆ ว่า เรือส่วงคู่แรก เรือนางด่อนจะเป็นฝ่ายชนะเรือนางดำเสมอ เหมือนธรรมะย่อมชนะอธรรม อะไรทำนองนั้น 
     หากวันนั้นสิ่งต่าง ๆ อาจไม่เป็นไปดังคาด ผมเห็นเรือนางดำ ซึ่งแทบไม่ได้ออกแรงพายเลย ก็เข้าเส้นชัยก่อนเนื่องจากอยู่ในสายน้ำที่ไหลเชี่ยว ผลการส่วงเฮือวันนั้นก็พลิกล็อกระเนระนาด เช่นเดียวกัน เรือชนะเลิศได้แก่ เรือเมืองเชียงเงิน ซึ่งอยู่นอกเหนือความคาดหมาย มันทำให้ผมนึกถึงคำสาธุใหญ่จันทร์ ที่อวยพรฝีพายทีมกู้ระเบิด
     "อันนี้ถือเป็นกีฬาอันหนึ่ง แข่งเด่นแข่งดีกัน บ่แม่นหยังสิมาซอยเฮาดอก พวกเฮาเอง ... กำลังฝีพายดี เฮือดีก็ได้ซะนะ ถ้าเฮาบ่พายแล้วสิเอาพญานาค ๑๕ ตระกูลมาซอยได้....
     "แต่ละลำจะให้เหมือนกันก็บ่ได้ แนวน้ำมันก็บ่คือกัน"
.................................................
 (คลิกดูภาพใหญ่)      ตามแผนแล้ว เช้าวันนั้นผมควรเกาะติดอยู่กับทีมเรือป่าขามแถววัดใหม่ เพราะเริ่มคุ้นเคยกันบ้าง แต่เกิดจับพลัดจับผลูอีท่าไหนไม่รู้ ช่วงเวลาสำคัญผมดันไปอยู่แถววัดแสนสุขาราม ซึ่งฝีพายทีม "กู้ระเบิด" กำลังรวมตัวกันประกอบพิธีอยู่พอดี จึงต้องพาตัวเข้าไปสังกัดทีมกู้ระเบิด ขององค์การสหประชาชาติ
     นั่นอาจเป็นโชคของผม ฝีพายรุ่นหลานผู้มีศรัทธากำลังพากันเซ่นสรวงเรือครู "แสนหนึ่ง" และ "แสนสอง" ที่ขึ้นคานไว้ในศาลาอยู่พอดี เรือแข่งทั้งสองลำสมควรถูกยกเป็นขวัญกำลังใจชั้นยอด ในฐานะที่ ๓๐ ปีก่อนเคยปราบเรือย่านนี้มาหมด ถึงขนาดเข้าชิงชนะเลิศกันเองก็เคย และหัวหน้าทีมก็ก้าวขึ้นรับพระราชทานขันชนะเลิศ จากเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนามาแล้ว
     เมื่อผมขอตามลงเรือไปดูการเซ่นสรวงพญานาคที่ปากคาน ทีมกู้ระเบิดก็อนุญาตอย่างใจดี ผมพบว่า คำว่าน้ำใจ, มิตรภาพเล็ก ๆ ที่หยิบยื่น ให้แม้คนแปลกหน้า ยังไม่เชยเกินไปสำหรับคนของงานบุญเดือนเก้าที่ผมรู้จัก
     หลังจากร่วมพิธีกรรมเท่าที่จะทำได้ ผมใช้เวลาช่วงหนึ่งก่อนส่วงเฮือเดินดู "ข้าวห่อโป้" ตามบ้านเรือนรอบ ๆ วัดแสน และชุมชนเก่าแก่หน้าวัดเชียงทอง อันเป็นเขตอนุรักษ์เคร่งครัดขององค์การยูเนสโก ตอนแรกก็รู้สึกผิดหวังเล็กน้อย เมื่อไม่พบข้าวประดับดินมากอย่างที่หวัง แต่แล้วผมก็ซอกแซกจนพบว่า ข้าวห่อโป้หรือข้าวต้มมัดที่วางทิ้งไว้ตามพื้นนั้น ไม่ได้วางเปล่า เด็ก ๆ คนยากจน คนเดินทางผ่านไปผ่านมาสามารถหยิบกินได้ ชนิดไม่ต้องกลัวผีหักคอ หรือรู้สึกผิด ของเหล่านี้น่าจะอยู่ในสภาวะ "ล้นเหลือ" ไม่ต่างจากของทำบุญตักบาตรเมื่อเช้า 
     เจดีย์ หอพระวัดเชียงทอง ก็มีคนนำ "อาหาร" มาวางโดยรอบ บางครั้งตำแหน่งของมัน ใกล้กับลายประดับกระจกรูปคนพื้นเมือง รูปคนป่าสะพายย่าม จึงดูเผิน ๆ ก้อนข้าว เครื่องบัตรพลีมีเรื่องราวกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับชีวิต "คนยากไร้" "คนจร" ในลายประดับกระจกอันเก่าแก่
     และเรื่องของสาธุชราแห่งวัดแสนสุขารามโดยบังเอิญ
 

ขอขอบคุณ

     ศรัณย์ บุญประเสริฐ ธานินทร์ นนธะระ ภัทรพงศ์ คงวิจิตร Sally Wright
     อ้ายเดช เฮือนพักเวียงแก้ว


 (คลิกดูภาพใหญ่)

แหล่งข้อมูล 

     สัมภาษณ์บุคคล 
     สาธุใหญ่คำจันทร์ วิระจิตตะวัดแสนสุขาราม 
     ท้าวนพพะวง บ้านป่าขาม
     ท้าวหุมไซลิด รัดตะนา บ้านป่าขาม


 

เอกสารอ้างอิง

     พื้นที่และความหมายของการท่องเที่ยวในเมืองหลวงพระบาง วิทยานิพนธ์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ภัทรพงศ์ คงวิจิตร. ๒๕๔๓
     "เยี่ยมยาม หลวงพระบาง" บทสารคดีรายการแอ๊คชั่นฮอลิเดย์ โดย ศรัณย์ บุญประเสริฐ. ๕ และ ๑๕ พศจิกายน ๒๕๔๓
     "น้ำคาน : พันธะหัวใจของลูกผู้ชายหลวงพระบาง" โดยศรัณย์ บุญประเสริฐ. ๒๕๔๔