สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ "ล่าพลอยสีชมพู สุดขอบฟ้ามาดากัสการ์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕  

จากบรรณาธิการ



     เช้าวันหนึ่งของปลายเดือนที่ผ่านมา ผมมายืนอยู่ที่ท่าน้ำหน้าด่านศุลกากร จังหวัดระนอง รอเรือมารับไปยังเกาะเกาะหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนไปบ่อยนัก
     เรือประมงชักธงชาติไทยลำแล้วลำเล่าเข้ามาจอดเทียบท่า ลูกเรือตัวดำมะเมื่อมเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานชาวพม่า ช่วยกันขนปลาทะเลน้ำหนักรวมกันหลายสิบตันขึ้นแพปลา 
     บนท้องฟ้า เหยี่ยวแดงหลายตัวกางปีกบินร่อนหาเหยื่อ พอสบโอกาสเหยี่ยวตัวหนึ่งก็โฉบลงสู่ผิวน้ำ ใช้กรงเล็บจิกปลาผู้เคราะห์ร้ายขึ้นมาได้สำเร็จ
     เวลาผ่านไปไม่นาน โกเล็ก นายท้ายเรือวัย ๓๐ นำเรือหางยาวเข้าเทียบท่า พาเรามุ่งหน้าสู่ทะเลใหญ่ ผ่านเกาะสองหรือวิกตอเรียพอยต์ ซึ่งเคยเป็นของไทยก่อนที่จะตกเป็นของอังกฤษ ในยุคล่าอาณานิคม เกาะสองเป็นเมืองหน้าด่าน ทางใต้สุดของประเทศพม่า มีเพียงปากแม่น้ำกระบุรีขวางกั้น คนไทยจึงข้ามไปซื้อของกันเป็นประจำ
     ถัดจากเกาะสองคือเกาะสนของพม่า โกเล็กชี้ให้ดูตึกใหญ่หลังคาสีเขียว บอกว่าเป็นบ่อนกาสิโนที่พ่อค้าไทยขออนุญาตเข้ามาเปิดในพม่า มีนักการพนันจากเมืองไทยแห่มาใช้บริการทั้งวันทั้งคืน
เรานั่งเรือหางยาวโต้คลื่นกลางแดดจ้าที่แผดเผารุนแรง ผ่านเกาะสินไห เกาะช้าง เกาะขนาดใหญ่ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเล่นน้ำทะเล เรามาหยุดพักที่เกาะทะลุ เกาะเล็ก ๆ กลางทะเลที่ชาวประมงนิยมมาวางเบ็ดตกปลา 
     โกเล็กไม่ใช่ลูกน้ำเค็มโดยกำเนิด แต่เป็นคนราชบุรี เคยเป็นลูกเรือบนเรือประมง ตระเวนจับปลานานถึง ๖ เดือนตั้งแต่ออสเตรเลียถึงอินเดียโดยไม่ขึ้นฝั่ง เพราะมีเรือประมงลำอื่นมาคอยรับปลาที่จับได้ 
     "พอขึ้นฝั่งครั้งแรก เดินไม่เป็นเลย โซเซไปมา" โกเล็กเล่าต่อว่า ครั้งที่โหดร้ายที่สุดคือตอนหลบพายุเกย์แถวอินโดนีเซีย เรือประมงต้องหลบพายุที่พัดกระหน่ำ อยู่ตามเกาะนานถึงหกวันหกคืน นึกว่าต้องเอาชีวิตมาทิ้งที่นี่แน่แล้ว
     "บางทีเห็นปลาวาฬตัวใหญ่ว่ายขนานกับเรือประมง ไต้ก๋งบอกว่าอย่าไปแข่งกับมัน ต้องให้มันว่ายชนะ เพราะถ้าเราขับเรือชนะ มันจะว่ายเข้ามาชนเรือเราได้
คลิกดูภาพใหญ่
ฉบับหน้า
กรุงเทพฯ ๒๐๐๒
     "ผมเคยติดคุกเวียดนามอยู่สองเดือน มันขังพวกเราในพื้นที่โล่ง ๆ หลบแดดหลบฝนกันเอง มีรั้วลวดหนามเดินไฟฟ้าขึงไว้รอบ แต่พวกเราคนไทยก็ยังหนีออกไปเที่ยวตลาดได้"
     โกเล็กบอกว่าวิธีการหนีไม่ยาก ถอดเสื้อผ้าออกมาฉี่ใส่ แล้วโยนใส่รั้วไฟฟ้าจนไฟลัดวงจร ก็แหกรั้วหนีออกมาได้
     สามชั่วโมงผ่านไปเรือของเราก็มาถึงเกาะเกาะหนึ่ง ลักษณะคล้ายเกาะพีพี คือเป็นเกาะเล็ก ๆ สองเกาะติดกัน พอน้ำลด จะมีหาดทรายโผล่ขึ้นให้เดินถึงกันได้
     พอขึ้นฝั่งเดินย่ำไปตามชายหาด ปูผีสีน้ำตาลที่มีตาโผล่ขึ้นมาคล้ายเรดาร์ ก็วิ่งหนีลงรูกันอลหม่าน มีนับร้อย ๆ ตัว 
     เกาะนี้เป็นเกาะขนาดใหญ่ มีชาวบ้านอาศัยอยู่มานาน ทางด้านใต้มีชายหาดสวยงาม น้ำทะเลใส บรรยากาศเงียบสงบ มีบังกะโลไม่กี่หลัง นักท่องเที่ยวไม่มากนัก เพราะเกาะอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่มาก และแต่ละปีมีช่วงเวลาที่เหมาะจะเดินทางมาท่องเที่ยวเพียงสองสามเดือน 
     เย็นนั้นเราว่ายน้ำดูปลาการ์ตูนหากินรอบดอกไม้ทะเล เห็นปะการังเขากวาง ปะการังสมอง ปะการังเห็ด เห็นปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร ปลาโนรี ปลาวัว ปลาค้างคาว ปลานกแก้ว ปลาทั้งหมดที่เอ่ยมานี้ ว่ายวนอยู่ตรงทะเลหน้าชายหาดซึ่งน้ำลึกแค่เอว
     เพื่อนคนหนึ่งเห็นกัลปังหาสีแดง ที่ความลึกเพียง ๓ เมตร ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดมาก ที่มีกัลปังหาอาศัยอยู่ที่ความลึกเพียงแค่นี้
     อีกหาดหนึ่งที่อยู่ใกล้กัน เราเห็นหญ้าทะเล สาหร่ายทะเลหลายชนิด พอน้ำลดเรา
     เห็นตัวลิ่นทะเล-สัตว์ดึกดำบรรพ์ เกาะอยู่ตามโขดหิน และบริเวณน้ำขังยังมีปลาดาวเปราะหลบซ่อนอยู่ รอเวลาน้ำขึ้น
     บนชายหาดยังมีต้นเตยทะเล และพลับพลึงทะเลขึ้นเป็นแนว เห็นนกปลีกล้วยเกาะต้นรักทะเล บนฟ้านกแก๊กคู่หนึ่งเพิ่งบินผ่านไป
     เราสำรวจเกาะได้เพียงเล็กน้อย แต่พบความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสูงมาก 
     นักชีววิทยาสาวในทีมบอกเราว่า โอกาสที่จะพบความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ตามเกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของไทย เป็นไปได้ยากขึ้น เพราะมีคนเข้าไปเที่ยวมากเกินไป ธรรมชาติถูกรบกวนจนแทบไม่มีโอกาสฟื้นตัว
     สำหรับเกาะนี้ พายุฝนกลางทะเลที่ตกเกือบทั้งปี เป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากนัก ธรรมชาติจึงยังรักษาตัวเองไว้ได้ 
     คืนนั้นพระจันทร์เต็มดวง แสงสีเงินอาบผืนน้ำระยิบระยับ เสียงคลื่นซัดเป็นระลอก 
     เราแอบขอบคุณธรรมชาติ ที่ประทานทุกสิ่งให้มนุษย์ตัวเล็ก ๆ อย่างเรา 
     โดยที่เรายังไม่รู้ว่าจะตอบแทนบุญคุณท่านอย่างไร
 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com