สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ "ล่าพลอยสีชมพู สุดขอบฟ้ามาดากัสการ์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕  

บนทางหมายเลข ๗ สู่ อันตานานาริโว

เรื่องและภาพ : วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์

(คลิกดูภาพใหญ่)       "ฝนในช่วงดึกตกกระหน่ำลงมาราวฟ้ารั่ว ทำให้อันตานานาริโวเมืองหลวงของมาดากัสการ์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ตานา ชุ่มโชกไปหมด เสียงฝนกระทบกล่องกระดาษใส่ตู้เย็นที่พิงอยู่กับกำแพงสีเทาดังรัว ราโดและโตกิเบียดตัวเข้าหากัน ตั้งใจจะหลับสักงีบ ขณะดึงกระสอบปอคลุมตัวกันหนาว
      แต่ตอนนี้พื้นบ้านเล็ก ๆ ของพวกเขาเปียกโชกไปหมด เด็กทั้งหมดต้องคลำทางไปในความมืด จนเจอที่นั่งพักซึ่งเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ที่พวกเขาใช้ขวางกั้นกล่องตู้เย็น อันเป็นบ้านหลังน้อยของพวกเขาไม่ให้ปลิวไปยามลมกรรโชกมา"

      ในลิ้นชักเก็บบทความที่ประทับใจไว้ชิ้นหนึ่ง-"ชีวิตต้องสู้ของเด็กข้างถนนแห่งมาดากัสการ์"*
      เนื้อความเริ่มจากเด็กสองคนหาที่ซุกหัวนอน...เด็กเร่ร่อน (ข้างต้น) ภาพประกอบแสดงให้เห็นเด็กนอนเรียงรายในอุโมงค์ดูราวกับหอพักโรงเรียนประจำ และยังบอกด้วยว่า "ขณะนี้ชาวมาลากาซีร้อยละ ๗๒ มีชีวิตอยู่ด้วยเงินต่ำกว่า ๑ ดอลลาร์ต่อวัน ทั้ง ๆ ที่ประเทศนี้อุดมไปด้วยทรัพยากรการเกษตรและแร่ธาตุ ขณะเดียวกันเกาะนี้ก็มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูงมาก"
      ไม่นึกว่าวันหนึ่งจะได้มาถึงเรือนชานของราโดและโตกิ ภายใน "อุโมงค์ดำสกปรกด้วยควันจากท่อไอเสีย" ย่านอนาลาเคลี และยังได้อาศัยลำนำชีวิตของพวกเขาเป็นแรงกระตุ้นขณะท่องอยู่ในตานา... ตลอดไปจนถึงดินแดนทางใต้ อันได้ชื่อว่าเป็นสมรภูมิชีวิตที่แร้นแค้นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
      แม้ว่าการยึดภาพเด็กเร่ร่อนเป็นตัวแทนมาดากัสการ์ดูจะไม่ยุติธรรมต่อประเทศนี้เอาเลยก็ตาม...
      ด้วยตั๋วเครื่องบิน ๑๔ วัน กรุงเทพฯ-สิงคโปร์-อันตานานาริโว ราคา ๓๙,๕๐๐ บาท ที่เอื้อเฟื้อจากสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับแห่งประเทศไทย ให้ไปเก็บข้อมูล "พลอย" เราได้รับโปรโมชั่นสุดคุ้ม กับการเร่ร่อนไปบนทางหลวงหมายเลข ๗ หรือ "ถนนเพชรเกษม" ของชาวมาลากาซีเกือบตลอดสาย เห็นมาดากัสการ์ในบางจังหวะ บางมุมมอง ทำให้การรับรู้ต่อประเทศนี้ขยายจากภาพถนนของเด็กเร่ร่อนออกไป
      จะเป็นแง่มุมใดบ้าง...เราขอเริ่มจากซาการาฮ์เมืองไกลสุด เกือบ ๘๐๐ กิโลเมตรทางใต้ของกรุงอันตานานาริโว
(คลิกดูภาพใหญ่)

ซาการาฮ์, กิโลเมตร ๗๙๐

      ชายเชื้อสายไต้หวันถอนหายใจก่อนหยุดรถตรงด่านซาการาฮ์ ส่งเอกสารให้ตำรวจ เอาไปพลิก ๆ ดู พวกเขาพูดอะไรกันสักพักก็ส่งคืน --จะดูเห็นยังไงวะ....มืดออกขนาดนี้
      ชายหนุ่มรีบออกรถพาเราทะยานไปข้างหน้า...ขณะดาวประกายพรึกยังไม่ราแสง
      "ไอ้ห่า แม่งจะไถเงินนะสิ" เขาพูดขึ้นลอย ๆ
      ..............................................................
      ทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทรายแถบนี้คือขอบด้านใต้ ๆ ของเทือกเขาอันเป็นดังกระดูกสันหลังของเกาะมาดากัสการ์ ติดเขตสองจังหวัด คือทูเลียร์และฟิอะนารันต์ซัว ซึ่งถือว่ากว้างขวางเพราะเกาะใหญ่เกินประเทศไทย แต่มีเพียงหกจังหวัด หรือหกเขตการปกครองเท่านั้น
      ถ้าดูกันตามแผนที่แล้วลากนิ้วต่ำลงอีกเล็กน้อย เราก็จะแตะเส้นทรอปิกออฟแคปริคอร์น-เขตอบอุ่นใต้ อันเป็นเครื่องหมายประกันว่าช่วงกลางปีเช่นนี้อากาศจะมีแต่หนาว กับหนาวขึ้น
      ทางหลวงหมายเลข ๗ เป็นทางสายเดียวที่เชื่อมถึงเมืองซาการาฮ์ (Sakaraha) มันนำเรามาถึงตอนตีสองเมื่อคืนพร้อมชาวเหมือง (พลอย) และนักศึกษาฝึกงานพื้นเมืองกลุ่มหนึ่ง ให้หลับหนึ่งตื่น แล้วก็ลากจากเตียงมาอยู่กับมันอีก เพื่อย้อนกลับขึ้นไปเมืองอิละกากะ (Ilakaka) เนื่องจากมีการฝากฝังเราจากบริษัททำเหมืองพลอยให้ไปอยู่กับอีกบริษัทในเมืองดังกล่าว (กิจการที่ว่าล้วนเป็นของคนไทย) เผอิญรถที่ตีลงจากตานาเมื่อวานมาถึงดึก จึงระหกระเหินมาถึงนี่
      ถนนในมาดากัสการ์อยู่ในข่ายกันดาร รถโดยสารก็รักษามาตรฐานเดียวกันเหนียวแน่น ที่คุณจะพบความสุขสบายจากการสัญจร หรือปลีกพ้นเสียงเพลงแอฟริกันกระหึ่ม...ต้องบอกว่าน้อยครั้ง แต่สำหรับเช้านี้ยกเว้น... เรามากับรถเก๋งติดฮีตเตอร์สุขโข ถนนเปลี่ยวพาดผ่านเนินเขาทุ่งโล่ง เห็นไปไกล นาน ๆ ทีจึงมีเขาหินทรายลูกมนโผล่ขึ้นตรงตีนฟ้า
      น้ำตาลของทุ่งหญ้า ส้ม-แดงของเขาหินทราย ...เราคล้ายไม่ห่างจาก "จูราสสิก" ยุคก่อเกิดของมันเท่าที่ควร

(คลิกดูภาพใหญ่)      "ดูเป็นแอฟริกา" -เรารู้สึกอย่างนี้ขึ้นครั้งแรก
      เปล่าหรอก...อย่าคิดไปถึงม้าลาย ช้าง ยีราฟ หรือสิงโต ในท้องทุ่ง สัตว์ใหญ่บนเกาะ มีอย่างมากก็แค่ ฮิปโปโปเตมัส และนกช้าง (elephant bird) นกบินไม่ได้ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่เหลือเพียงไข่ไว้ให้ดูต่างหน้า การที่เรายึดมั่นตลอดว่า มาดากัสการ์สังกัดทวีปแอฟริกา ตามการจัดระเบียบทางภูมิศาสตร์ บางครั้งเพียงเห็นทุ่งสะวันนาก็เชื่อมโยงไปได้ ทั้งที่จริง "ความเป็นแอฟริกา" อยู่ตรงไหนก็ไม่ชัด ขณะเดียวกันยังมีคำยืนยันหนักแน่นว่า ตัวตนของมาดากัสการ์แปลกแยกแทบจะสิ้นเชิงจากแผ่นดินอื่นบนพื้นพิภพ
      ตอนออกมาได้ไม่ไกลเราเห็นต้นเบาบับ (baobab) ผอม ๆ สามสี่ต้นอยู่ริมทาง ในโลกมีเบาบับอยู่แปดเก้าชนิดด้วยกัน อยู่ในมาดากัสการ์เสียเจ็ดชนิด ที่เหลืออยู่ในทวีปแอฟริกาและออสเตรเลีย บางคนตั้งฉายาให้มันว่า upside down tree - ต้นไม้กลับหัว หรือ "ต้นไม้ปิศาจ" ตามตำนานว่า ยักษ์ตนหนึ่งถอนต้นเบาบับขึ้นจากพื้นดินด้วยความโกรธ แล้วปักลงไปใหม่โดยเอายอดเสียบลงแทน
      บ้างก็ว่าตอนพระเจ้าสร้างโลกนั้นได้ปลูกต้นเบาบับผิดด้าน เป็นผลให้ส่วนบนดูคล้ายรากเอาจริง ๆ
      นอกจากลักษณะดังกล่าวแล้ว ลำต้นของเบาบับทุกพันธุ์ยังอวบเหมือนขวดนม มีประโยชน์ในการตุนน้ำไว้ใช้ยามฤดูแล้ง โดยเฉพาะพันธุ์ที่เคยเราเคยเห็นแถวเมืองบรูม ทางเหนือของออสเตรเลีย ลำต้นอวบอ้วน เตี้ย ทั้งดู "เซอร์" กว่านี้ 
      ชาวพื้นเมืองใช้ประโยชน์จากใบ ดอก ผล และเปลือกของเบาบับในหลายทาง สำหรับนักท่องเที่ยวมันคือหนึ่งในหลาย "ของแปลก" ตระกูลมาดากัสการ์ที่พวกเขาชักดิ้นชักงอขอไปชม ซึ่งถนนเส้นหนึ่งที่ผ่ากลางดงเบาบับยักษ์ ใกล้เมืองมูรุนดาฟ ทางตะวันตกของประเทศยืนยันได้
      ..............................................
      เงาของต้นไม้ปิศาจตัดกับท้องฟ้าเรื่อเรือง ชวนให้อยากขอหยุดรถถ่ายรูปดินแดนอันกันดาร หนาวเหน็บ และลึกลับในความรู้สึกเก็บไว้ระลึก
      พูดก็พูดเถอะ... มันลึกลับขนาดว่าพ่อค้าพลอยเชื้อสายไทย-ไต้หวัน ที่เราอาศัยรถมาอิละกากะ - -พูดคุยกันสองสามประโยค ก็ไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน
(คลิกดูภาพใหญ่)

อิละกากะ, กิโลเมตร ๗๐๓

     ตอนรถผ่านเนินสุดท้ายทางใต้ของเมือง เราเกือบอุทานว่า "รอดตาย" เมื่อแลเห็นอิละกากะกำลังตื่นขึ้นกลางแสงงาม ป้ายข้างทางซ้ายมือมีตัวหนังสือ "Alex sapphire" กับรูปพลอยเม็ดเท่าไหเปล่งรัศมีแข่งดวงตะวัน
      เมืองเล็ก ๆ กลางแอ่งที่สวยงามอาจหาได้ไม่ยาก แต่เมืองกลางแอ่งที่โอบล้อมด้วยหมู่ปาล์ม ภูหิน ซึ่งมาพบขณะเพิ่งผ่านสถานการณ์เลวร้าย ขาตั้งกล้องหักและเข้าเฝือกเอาไว้ตั้งแต่วันมาถึง (เพราะใส่ท้องเรือบินมา) เช่นนี้หาไม่ได้อีกแล้ว
      อิละกากะเป็นหมู่บ้านรอยต่อจังหวัดฟิอะนารันต์ซัว-ทูเลียร์ ที่ไม่เคยมีใครเคยรู้จักหัวนอนปลายตีนมาก่อน ทำนา เพาะปลูกอะไรไม่ได้เลย จนปี ๑๙๙๙ พบแหล่งพลอย คนก็หลั่งไหลมาแสวงโชค รวมกับที่มาทำธุรกิจอื่น ๆ ข้างเคียง อิละกากะก็กลายเป็นชุมชนใหญ่ มีโรงแรม ตลาด ปั๊มน้ำมัน กระทั่งบ่อนกาสิโนและซ่อง มีอาชีพเกิดใหม่--ลูกจ้างซักรีด บอดี้การ์ด และนักต้มตุ๋น รถเรโนลต์กัตร์ 4 GTL ซีตรองส์ เดอซ์เชอโวของชาวพื้นเมือง และรถขับเคลื่อนสี่ล้อของพ่อค้าวาณิชต่างชาติเกลื่อนเมือง ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งเป็นของคนไทย
      จากหมู่บ้านพื้นเมืองที่ไม่มีในแผนที่ ถึงวันนี้ชื่อ อิละกากะ ปรากฏในแผนที่สมัยใหม่อย่างมีนัยสำคัญ
      นอกจากเป็นหมู่บ้าน "อินเตอร์" ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการท่องเที่ยว ยังน่าสังเกตอีกอย่าง ธรรมดาหมู่บ้านที่เกิดจากภาวะพลอยบูมจะไม่จีรังยั่งยืน พอพลอยหมดก็เคลื่อนย้ายไปที่อื่น แต่อิละกากะหลุดจากวงจรดังกล่าว นั่นจึงเป็นเครื่องชี้วัดถึงปริมาณทรัพย์ในดินรอบ ๆ อิละกากะอย่างดี
ตลาดพลอยอบาลาซ ข้าง ๆ อิละกากะมีเงินหมุนเวียนวันละเป็นพัน ๆ ล้านฟรังก์มาลากาซี (FMg) ทว่าคนขุดพลอยพื้นเมืองก็ยังเป็นกลุ่มคนยากจนติดดินที่สุดกลุ่มหนึ่งของมาดากัสการ์อยู่ดี ดังนั้นรอบ ๆ ตลาดพลอยเราจึงหาเพื่อน ๆ ของราโด โตกิได้ไม่ยาก อย่างเด็กชายทาโร่ เจ้าของกิจการถั่วคั่วที่คนจกกินฟรีมากกว่าซื้อ นักตีวงล้อสามสี่คน หรือเด็กผู้หญิงที่วิ่งตามดูโดยมีน้องชายมัดติดข้างหลัง
      "เด็กข้างถนนมีชีวิตที่ลำเค็ญแสนเข็ญทั้งในยามตื่นและหลับ ทว่าพวกเขาก็ยังเป็นเด็กที่มีความหวาดหวั่น ความหฤหรรษ์และความเบิกบานเยี่ยงเด็กทั่วไป" อเดลสัน ราซาฟี บอกไว้
      เด็ก ๆ ลูกของนักขุดพลอยที่ปลูกเพิงรอบ ๆ อบาลาซ จะว่าไม่เร่ร่อนก็ก้ำกึ่งเต็มที
      ............................................

(คลิกดูภาพใหญ่)       เราคงไม่เน้นเรื่องพลอยมาก เพราะจะซ้ำกับอีกเรื่องที่ตีพิมพ์ในฉบับ ติดใจก็แต่ที่พี่ ๆ คนจันทบุรีบอกว่า "ที่นี่ไม่มีอะไร" -- ก็ในไกด์บุ๊กบอกอยู่ว่า ฝั่งถนนตรงข้ามบ้านติดเขต "อุทยานแห่งชาติอิซาโล" เราเถียงในใจ
      ดังนั้นพอคุ้นกับพ่อค้าพลอยเมืองจันท์กลุ่มเวิลด์แซปไฟร์ เราก็แจ้งความประสงค์ว่าหลังจากเก็บข้อมูลเสร็จ จะขอไปค้างแรมในอิซาโลสักสองคืน คราวนี้พวกพี่ ๆ ไม่เห็นด้วยขึ้นมาบ้าง เพราะกลัวไม่ปลอดภัย เลยรู้ว่าที่บอก "ไม่มีอะไร (ให้เที่ยว)" มันคงต้อง "มีอะไร" อยู่ไม่มากก็น้อย
      วันเวลาในอิละกากะของเราจึงหมุนวนไปกับตลาดพลอยอบาลาซในช่วงเช้า พอสายตลาดวายก็มีเด็กขับโตโยต้า แลนครุยเซอร์ พาตระเวนอิซาโลพร้อมกับผู้ติดตามสองสามคน กระทั่งไปบรรจบโมงยามสุดท้ายของดวงอาทิตย์นั่นละถึงกลับ
      ปรกตินักท่องเที่ยวที่มาอิซาโล ต้องเริ่มที่เมืองรานูฮิรา (Ranohira) ๒๐ กิโลเมตร เหนืออิละกากะ เพื่อติดต่อ "อังกาป" (Angap) -เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ตามคำย่อฝรั่งเศส หาที่พัก อาหาร และไกด์นำทาง โดยมีข้อแนะนำว่าการเที่ยวพื้นที่อนุรักษ์ในมาดากัสการ์ควรใช้ไกด์ที่ทางการจัดไว้ให้เท่านั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องเสียค่าธรรมเนียมคนละ ๕ หมื่น FMg (ประมาณ ๓๕๐ บาท) ต่อครั้ง ถ้าจะเอาแบบเหมาโหลถูกกว่า ก็มีบัตรชุดสามารถผ่านเข้าทุกอุทยานฯ ว่ากันว่า รัฐบาลเรียกเก็บเงินค่าเข้าแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแพง เพื่อจะนำเม็ดเงินไปใช้อนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าธรรมชาติ ซึ่งถูกทำลายไปเกือบหมดเกาะก่อนหน้านี้นานแล้ว
      วันแรกเด็ก ๆ นำโดย "ตูตู้" พาเราไปโรงแรม Le Relais de la Reine ที่ตกแต่งภูมิทัศน์และห้องพักดรามาติกกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมแบบหิน ๆ เวลานึกครึ้มนักล่าพลอยชาวไทยจึงชวนกันไป "โรงแรมหิน" หาอะไรเย็น ๆ กิน บางคนบอกว่าเคยมาให้อาหารเหยี่ยว ซึ่งจะคอยบินวนรอเศษเนื้อจากนักท่องเที่ยวมากมาย
      นอกจากนี้รอบ ๆ บริเวณยังมีพรรณไม้และสัตว์นานาให้ชม ล้วนแต่เป็นพันธุ์เฉพาะถิ่นของเกาะ อย่างเช่น แย้ เต่าแสงอาทิตย์ เต่าบก ๑ ใน ๔ ชนิดที่พบเฉพาะบนเกาะมาดากัสการ์ พวกเด็ก ๆ พาเรามาชิมลางที่นี่คงด้วยคิดว่าน่าจะเหมาะสำหรับผู้มาใหม่
(คลิกดูภาพใหญ่)

อุทยานแห่งชาติอิซาโล กิโลเมตร ๖๘๐-๖๙๖

      "ซา-วัด-ดี-ค้าบ"
      ไอ้ตูตู้พูดไทยแปร่ง ๆ ยิ้มตาโตเมื่อขับรถผ่าน "เจ้าพ่ออิซาโล" ริมทางก่อนถึงอิละกากะ ๙ กิโลเมตร
La Reine de I'Isalo ไม่ว่าจะหมายถึง ราชินีหรือราชาแห่งอิซาโล แท่งหินทรายสูงท่วมหัวสี่ห้าเท่าแห่งนี้ถูกลม และน้ำช่วยกันสลักจนรูปทรงคล้ายคนพนมมือ แลเห็นแต่ไกล คนค้าพลอยจากโพ้นทะเลผ่านไปผ่านมาก็ถือเอาว่าเป็นมงคล ซึ่งเผอิญสอดคล้องกับความเชื่อของคนท้องถิ่นเผ่าบาระ (Bara) ที่ว่าเป็นทวารบาลเฝ้าอิซาโล และไม่เพียงเท่านั้น ชาวเผ่าถือว่าอิซาโลเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยใช้ถ้ำเป็นที่ฝังศพ พวกเขาจึงมีชื่อเรียก เรื่องเล่า ตลอดจนข้อห้ามตามความเชื่อ (taboo) มากมายเกี่ยวกับภูหินแถบนี้
      ตูตู้ บาลัด และเด็ก ๆ ตลาดพลอยส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นมาจากเผ่าทางใต้สุด เรื่องประเพณี-ความเชื่ออาจแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ไม่ยากที่จะทำตัวกลมกลืน
      บ่ายนี้เขากับพรรคพวกพาเราเดินลดเลี้ยวไปตามแคนยอนที่สวยงาม แล้วแวะที่โอเอซิส "L'Oasis" บ่อน้ำธรรมชาติและจุดกางเต็นท์ที่สำคัญ หลังจากนั้นจึงฝ่าทุ่งหญ้าเข้าไปถึง La Fenetre de I'Isalo เขาหินทรายที่มีไลเคนสีส้มและเขียวปกคลุมกว้างขวาง เท่านั้นก็ทำให้รู้สึกสนุกมากแล้ว พอถ่ายไลเคนเสร็จ ตะวันใกล้ตก หันมองย้อนกลับไปเบื้องล่าง ธรรมชาติยังมีภาพของทุ่งถูกฉาบแสงเหลืองอร่ามไกลสุดตามามอบให้ ทั่วเนินทุ่งมีรอยเข้มยิบ ๆ ของต้นปาล์มแต่งแต้มเป็นจังหวะ ให้ความรู้สึกทั้งปลอดโปร่ง...ทั้งเร้าใจ
      มันคือ ปาล์ม Satrana (Hyphaena coriacea) ไม้ยืนต้นชนิดเด่นของอิซาโล ผู้เปรียบเสมือนตัวแทนนักรบในกองทัพที่มีชัยเหนือสงครามความแห้งแล้งที่หลงเหลืออยู่
      แม้เรากับธรรมชาติป่าเขาจะไม่ได้รักกันลึกซึ้ง แต่ก็ไปกันได้ไม่ขัดเขิน เราค้นจนพบว่าบนเกาะมาดากัสการ์มีสภาพป่าสามกลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ ป่าดงดิบ (subtropical rainforest) ป่าผลัดใบ และป่าหนาม แต่ละกลุ่มยังแบ่งยิบย่อยอีก อย่างป่าดิบเขา ป่าชายเลน ทุ่งหญ้าสะวันนา หรือทะเลทราย ดังนั้นพืชพรรณ สัตว์ป่า ตลอดจนนกบนเกาะ จึงมีความหลากหลายด้านชนิดพันธุ์และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงมาก จนเรียกว่าเป็นศูนย์รวมพืชพรรณ-สัตว์เฉพาะถิ่น (endimic species) ก็ได้ จึงเป็นเหตุผลอันสมควรให้คนรักธรรมชาติฝันจะมาเยือนมาดากัสการ์สักครั้งในชีวิต
      อิซาโลเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่โดดเด่นแห่งหนึ่งของมาดากัสการ์ ค่าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุ่งหญ้าสะวันนาผสมป่าดิบแล้ง มีภูเขาหินทรายยุคจูแรสสิก (๑๔๐ ล้านปี) ที่ถูกกัดกร่อนตามธรรมชาติในลักษณะแคนยอนกระจายทั่วบริเวณ ขณะที่ป่าอนุรักษ์ส่วนใหญ่ของเกาะเป็นป่าดิบชื้น ที่ตั้งของอิซาโลอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐๐-๑๓๐๐ เมตร เดือนมกราคมซึ่งฝนชุกที่สุด ปริมาณฝนก็ยังเฉลี่ยอยู่ที่ ๗๐-๘๐ มิลลิเมตร ทำให้ไม้ยืนต้นชนิดเด่นของอุทยานฯ มีแต่ไม้สกุลปาล์ม เช่น Hyphaena coriacea, Cyathea isaloensis และเครือญาติของมันในสกุล Pandanus เช่น Pandanus ambogensis ที่ชอบขึ้นริมน้ำ คนชอบทุ่งต้นตาลแถวปทุมธานีหรือเพชรบุรี ได้มายืนในหุบยามเช้า มองต้น Pandanas เป็นแนวริมลำน้ำที่มีสายหมอกปกคลุมจะต้องนึกรักเช่นกัน

(คลิกดูภาพใหญ่)       อันที่จริง ปาล์มอิซาโลเป็นส่วนเพียงน้อยนิดเท่านั้นสำหรับอาณาจักรปาล์มมาดากัสการ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสวนสวรรค์ของปาล์ม เปรียบเทียบกันอย่างไม่ต้องถ่อมตัว มาดากัสการ์ที่เดียวมีปาล์มมากกว่า ๑๗๐ ชนิด โดยร้อยละ ๙๗ เป็นไม้เฉพาะถิ่น ขณะทวีปแอฟริกาทั้งทวีปมีปาล์มอยู่ราว ๕๐ ชนิด
      แม้จะเป็นเขตแห้งแล้ง แต่อิซาโลก็มี "ลีเมอร์" อาศัยอยู่เช่นเดียวกับป่าหรือพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ แถมมีอยู่ถึงหกชนิด รวมทั้งลีเมอร์แคระและ Verreaux's sifaka ที่หาดูยาก ตูตู้บอกว่า หากอยากจะเพิ่มโอกาสในการเห็นลีเมอร์ในธรรมชาติ ควรไป Canyon des Singes เดินจากรานูฮิราประมาณ ๒ ชั่วโมง เพราะ singes คำหลังหมายถึง "ลิง"
      เราก็เห็นลีเมอร์ฝูงหนึ่ง !? แม้จะเป็นลีเมอร์หางปล้อง (Ring-tailed Lemur) ระดับตัวประกอบ แต่ลีเมอร์ไม่ว่าชนิดใดในจำนวน ๓๓ ชนิดที่เหลือบนเกาะล้วนอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ไม่ใช่จะพบเห็นง่าย ๆ
      ลีเมอร์ส่วนใหญ่เป็นสัตว์เชื่อง ไม่กลัวคน ทว่านิสัยชอบซุกซน ชนิดที่คุณเห็นแล้วต้องเอ็นดู เวลาอยู่บนพื้นปรกติมันอาจจะคลานสี่ตีน แต่ยามยืนสองตีนหรือนั่ง มันก็ใช้ "มือ" สองข้างได้อย่างอิสระเหมือนลิงทั่วไป หน้าของลีเมอร์อาจยื่นเหมือนแร็กคูนไปนิด หางอาจยาวไปหน่อย แต่จุดสำคัญ ดวงตากลมโตทั้งสองวางอยู่ด้านหน้าของหัว ช่วยให้มองเห็นภาพเป็นสามมิติ เป็นตัวตัดสินสุดท้ายให้นักวิทยาศาสตร์จัดลีเมอร์ไว้ในอันดับไพรเมต (Order primate-สัตว์ตระกูลลิง) เช่นเดียวกับมนุษย์
      และถ้าจำไม่ผิด เจ้าลีเมอร์นี่ละที่เป็นตัวแทนของวานรโบราณ รูปร่างหน้าตาวิวัฒน์แตกต่างไปจากบรรพบุรุษไพรเมตยุคเมื่อ ๖๐-๕๕ ล้านปีก่อนน้อยที่สุดในบรรดาไพรเมตด้วยกัน ดังนั้น เทียบบัญญัติไตรยางค์ทางชีวภาพกลับไปง่าย ๆ ก็สามารถสรุปว่า กาลครั้งหนึ่งบรรพบุรุษร่วมของมนุษย์มีหน้าตาอย่างลีเมอร์นี่เอง !
      อย่างไรก็ตาม ข้อมูลด้านวิวัฒนาการของสัตว์โลกยังมี "ชิ้นส่วนที่ขาดหาย" อีกมาก ประวัติวิวัฒนาการมนุษย์รวมทั้งลีเมอร์จึงยังเป็นปริศนาข้อใหญ่ของวงการ ด้วยข้อมูลทางธรณีวิทยาบอกว่าเกาะมาดากัสการ์แยกตัวออกจากทวีปแอฟริกาเด็ดขาดเป็นระยะทาง ๔๐๐ กิโลเมตร ตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ ไม่น้อยกว่า ๑๖๐ ล้านปีก่อน (อ่านได้จากล้อมกรอบ) ซึ่งเนิ่นนานเกินตัวเลข ๖๐ ล้านปี ที่บรรพบุรุษของไพรเมตวิวัฒนาการขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกไปมาก
(คลิกดูภาพใหญ่)       คำถามสำคัญก็คือ แล้วบรรพบุรุษต้นตระกูลลีเมอร์ไปปรากฏบนเกาะนี้ได้อย่างไร (ตั้งร้อยล้านปีก่อนจะเกิดไพรเมต) และมีอยู่เฉพาะมาดากัสการ์กับหมู่เกาะโคโมโรส์ ใกล้ ๆ กันเท่านั้น จะหาที่อื่นไม่ได้อีกแล้ว -ว่ายน้ำข้ามไป ? เกาะกอไม้ข้ามไป ? คงยากเพราะเจ้าลีเมอร์กลัวน้ำอย่างวายร้าย
      ระยะหลัง ๆ นักวิทยาศาสตร์จึงเอนเอียงไปทางทฤษฎี "มีอยู่แล้ว" เชื่อว่ามีบรรพบุรุษร่วมของไพรเมตอยู่แล้วทั้งในมาดากัสการ์และภาคพื้นทวีปแอฟริกา (ซึ่งเดิมส่วนหนึ่งของทวีปอเมริกาใต้ติดอยู่ด้วย) เราเดาว่าหน้าตาคงประมาณกระรอกผสมลิงลม จนกระทั่ง "เกาะ" แต่ละส่วนแยกตัวออก บรรพบุรุษร่วมแต่ละสาย ต่างก็วิวัฒนาการไปเฉพาะตัวอย่างน่าทึ่ง สายแอฟริกา-อเมริกาใต้ ก็ไปผลิตลูกหลานซึ่งเป็นบรรพบุรุษของลิงทั้งมีหางและไร้หางในแอฟริกา อเมริกาใต้ รวมทั้งเอเชีย ส่วนสายมาดากัสการ์ ก็ไปมีลูกหลานซึ่งวิวัฒนาการต่อมา เป็นบรรพบุรุษของลิงมีหางชื่อ ลีเมอร์ ทุกวันนี้ และโชคดีสองต่อ เมื่อสัตว์ผู้ล่าตัวสำคัญ ๆ ของมันไม่ได้ตามมาอยู่ด้วย นอกเสียจากตัวฟูซา (fossa) หน้าชะมดเท่านั้นเป็นศัตรูในธรรมชาติของลีเมอร์ขนาดเล็ก
      ถ้าข้อเสนอนี้เป็นจริงก็นับเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ค่าที่ว่าลีเมอร์หนู ซึ่งเป็นลีเมอร์ขนาดเล็กที่สุดมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับทาร์เซียร์ หรือลิงชนิดหนึ่งในหมู่เกาะแถบอินโดนีเซียเหลือเกิน
      อย่างไรก็ดี แม้ธรรมชาติจะเก่งกาจสร้างลีเมอร์ได้หลากหลายกว่า ๕๐ ชนิดพันธุ์ ขนาดเท่าหนูไปจนถึงลิงอุรังอุตัง บางชนิดออกหากินกลางวัน บางชนิดออกหากินกลางคืน แต่สภาพแวดล้อมของเกาะก็จำกัดพวกมันให้หยุดวิวัฒนาการไว้เพียงแค่นั้น
      คิดแบบ "นิเวศวิทยาตื่นตระหนก" เราอาจมองเห็นในมุมกลับว่า สภาพแวดล้อมบนเกาะมาดากัสการ์ มีความสมบูรณ์พร้อมสำหรับลีเมอร์เป็นที่สุดแล้ว ไม่สมควรที่จะมีมนุษย์จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลย

      ฟิอะนารันต์ซัว-อิละกากะ-ซาการาฮ์ เราไม่แปลกใจเลยว่า ทางสายนี้จะกลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่สำคัญในอนาคต ขณะอีกใจก็นึกกลัว... มันเริ่มก่อตัวจากวันที่เราพลาดจากลีเมอร์ในอุทยานฯ แต่กลับเห็นลีเมอร์หางปล้องเป็นฝูงรอบกรงหลังบ้านคนกลุ่มหนึ่ง "คนขุดพลอยจน ๆ จับมาขาย" --เขาบอก และไม่ใช่ว่ามีรายเดียว... ลีเมอร์ชนิดเดียว
      นี่ขนาดคนค้าพลอยผู้เห็นว่า "ที่นี่ไม่มีอะไร"
(คลิกดูภาพใหญ่)

อิฮูสซ์, กิโลเมตร ๖๑๐

      ชื่อเมือง Ihosy ถูกออกเสียง--อิห์อูสซ์ หรือ อิฮูสซ์ อย่างไม่อาจคาดเดา นั่นเพราะชื่อพื้นเมืองในภาษาอังกฤษไม่ได้ออกเสียงตรงตัว ส่วนใหญ่เสียงพยางค์สุดท้ายที่ลงด้วย ha, ra, va, bo, vo จะลดลงจนแทบไม่ออกเสียง แม้แต่คำว่า "Malagasy" ก็ออกเสียงเพียง "มาลากัซย์" บางเมืองก็เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศส กว่าจะหาเจอในแผนที่ต้องงมอยู่นาน
      ขามาหลังขดหลังแข็งจากตานา-อิฮูสซ์ ถึง ๑๖ ชั่วโมง แต่ขากลับเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นวันใหม่ (ด้วยรถคันสบายของไอ้ตูตู้) กลับพบว่าเส้นทางช่วงนี้น่าหลงใหลไม่แพ้จากซาการาฮ์-อิละกากะ ต่างจากอิละกากะตรงอิฮูสซ์เป็นชุมชนเก่าแก่ของเผ่าบาระ รอบ ๆ ทำนาข้าว ไร่ซิซาล วนิลา และเลี้ยงวัว บาระเป็นชนพื้นเมืองหนึ่งในบรรดาชาวเผ่า ๑๘ เผ่า ที่รวมตัวกันเป็นชาว "มาลากาซี" หรือคนมาดากัสการ์ (ตามความเข้าใจของ ตูตู้ ความหมายของ "มาดากัสการ์" น่าจะหมายถึง ชาวมาลากาซีหลายเผ่าพันธุ์) โดยชาวเผ่าเมรินาเป็นเผ่าใหญ่ที่สุด อาศัยอยู่ในเมืองหลวงและรอบ ๆ
      ประชากรในประเทศที่มีอยู่ราว ๑๕ ล้านคน สืบทอดเชื้อสายมาจากชาวแอฟริกัน ผสมมาลาโย-โพลินีเซียน ซึ่งพวกหลังเป็นชาวเกาะแถบอินโดนีเซีย มาเลเซีย (ปัจจุบัน) ที่แล่นเรือเข้ามาฝังรกรากในยุคที่อาณาจักรศรีวิชัยเรืองอำนาจ และมีอิทธิพลทางการค้าในมหาสมุทรอินเดียประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว และชาวบาระนี่เอง ถือว่ามีลักษณะใกล้เคียงคนแอฟริกันทางด้านกายภาพ มากกว่าเผ่าพันธุ์อื่น
      ทางวัฒนธรรม ชาวบาระก็เหมือนคนพื้นเมืองส่วนใหญ่ ทำการเกษตรคล้ายชาวเกาะทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเชื่อถือผีบรรพบุรุษ "razana" รวมทั้งระบบอันซับซ้อนของ "fady" หรือข้อ (ห้าม) ปฏิบัติตน ตามภาษาอังกฤษว่า taboo ทว่าผู้ชายเผ่านี้สามารถมีเมียได้หลายคน นอกจากนี้ยังได้ยินว่ามีประเพณีโดดเด่นเกี่ยวกับการ "ขโมยวัว" นั่นคือ หนุ่ม ๆ บาระที่ผ่านการพิสูจน์ตัวเองด้วยการขโมยวัว มักกลายเป็นที่หมายปองของสาว ๆ ยิ่งขโมยแล้วถูกจับขังคุกยิ่งถือว่าเท่และน่าดึงดูดมาก เรื่องนี้ไม่ขอยืนยัน เพราะทางใต้ของไทยสมัยก่อน เวลาจะขอไปลูกสาวใคร ว่าที่พ่อตามักถามว่า ลักวัวกับรำโนราห์เป็นไหม ถ้าเป็นก็มีสิทธิ์ เพราะถือว่า "ใจนักเลง" "เพื่อนฝูงมาก" สามารถดูแลครอบครัวได้ (ไม่ได้หมายว่าจะให้ขโมยจริง) แต่ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมาก็ไม่แปลก สิ่งเหล่านี้โดยตัวมันเองเป็นสัญญาณเตือนมายังคนไกลอยู่แล้ว ว่าจะให้เลิก "ประเพณี" ตีไก่ หรือตีช่างกลอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องหมู ๆ
      วัวเป็นสัญลักษณ์ทางอำนาจของชาวนาทางใต้ พอหัวหน้าครอบครัวตายก็จะล้มวัวกันอย่างเอิกเกริก เพราะถือว่าจำนวนหัววัวที่ประดับบนหลุงฝังศพเป็นเครื่องแสดงสถานภาพของผู้ตาย มาในระยะ ๑๕ มานี้ จำนวนวัวลดลง ประเพณีดังกล่าวจึงดำรงอยู่บนความขัดแย้ง และแรงกดดันทางธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น
      ระหว่างทางก่อนเข้าเมืองอิฮูสซ์ เราแวะถ่ายรูปดวงจันทร์กำลังลับเขาหลังกระท่อมชาวนา - คิดเอาว่านี่คงเป็นจุดเปลี่ยนผ่านจากสังคมนักล่าพลอยไปสู่สังคมชาวนาที่ซับซ้อนขึ้น


(คลิกดูภาพใหญ่)

อัมบูชิตรา, กิโลเมตร ๒๔๙

      หลับ ๆ ตื่น ๆ ชั่วโมงเศษจากอิฮูสซ์ ตาสว่างเพราะภูเขาหินล้วนลูกใหญ่มาอยู่ใกล้ ๆ สัณฐานคล้ายโขดหินยักษ์อุลูรู ในออสเตรเลีย เขาลูกนี้ไปโชว์บนโปสการ์ดบ้าง บางทีก็มีชาวพื้นเมืองห่มผ้าลายถือหอกยืนข้างหน้า
      จากภาคใต้เราหลุดเข้าภาคกลางตั้งแต่เข้าเขตฟิอะนารันต์ซัว เราจดลงสมุดบันทึกว่า "อันคารานานาแถบนี้เริ่มเห็นทางน้ำจากภูเขา ประมาณกิโลเมตร ๕๑๕ จุดสิ้นสุดนาขั้นบันไดซึ่งมีต่อเนื่องลงมาตั้งแต่พ้นจากตานา" ทางช่วงนี้วกวนผ่านภูเขาไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ราวกับไม่มีจุดสิ้นสุด
      ทางน้ำจากภูเขา นาขั้นบันได อากาศที่เย็นฉ่ำเผยตัวตนของดินแดนที่ราบสูงภาคกลาง ในอดีต พื้นที่บริเวณนี้-จากถนนหมายเลข ๗ ไปจรดที่ราบทางชายฝั่งตะวันออก เคยปกคลุมด้วยป่าดิบเป็นแนวยาวหลายร้อยกิโลเมตร บัดนี้เหลือผืนป่าอยู่ในอุทยานแห่งชาติเพียงสองแห่ง คือ รานูมาฟอนและอันด์ริงกิตราเท่านั้น
      เมืองอัมบูชิตรา (Ambositra) และอันต์ชิราเบ (Antsirabe) ตั้งอยู่กลางที่ราบสูงหนึ่งในสองแห่งของเกาะ ด้วยความสูง ๑๕๐๐-๒๐๐๐ เมตร อากาศจึงหนาวเย็นที่สุด เหมาะจะเป็นเมืองท่องเที่ยวตากอากาศ (ของชนชั้นกลางอย่างเรา ๆ) ถนนพาเราผ่านแหล่งไวน์มีชื่อ ไร่กาแฟ และกลุ่มชาวบ้านที่กำลังตีต้นป่านซิซาลเอามาฟั่นเชือก 
      ขณะหยุดรถถ่ายรูปคนทำป่านขาย และเพื่อให้เพื่อนของเราคนหนึ่งสร่างจากอาการเมารถ รถคณะนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสผ่านมาแวะลงดูผลิตภัณฑ์ชุมชนถึงสองคณะ ก่อนหน้านี้ก็เคยพบนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสที่อุทยานฯ อิซาโล กับคำบอกเล่าจากเจ้าของโรงแรมว่านักท่องเที่ยวจะมาอีกมากช่วงเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่ภาคใต้
      ครั้งหนึ่ง ช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นศตวรรษที่ ๒๐ มาดากัสการ์เคยเป็นรัฐภายใต้อาณานิคมปกครองของฝรั่งเศส เราไม่รู้รายละเอียดเรื่องการจัดการทรัพยากรของประเทศนี้ของฝรั่งเศส ระหว่างการเดินทางเราสังเกตเห็นว่า ทางหมายเลข ๗ สายนี้เต็มไปด้วยสะพาน ลักษณะของราวสะพานคล้ายกับในชนบทของฝรั่งเศสที่เคยเห็นในหนัง 
      เคยถามคนค้าพลอยว่า ถ้าฝรั่งเศสตัดถนนลงไปจนสุดประเทศตั้งแต่ ๑๐๐ กว่าปีที่แล้ว ทำไมพลอยจึงยังไม่หมดประเทศ
      เขาตอบว่า "ฝรั่งเศสไม่สนใจหรอกพลอย เขาตัดถนนไปสำรวจแร่ยูเรเนียม"BR>       บทพิสูจน์อำนาจของผู้ชายพวกนี้ไม่ใช่หยุดอยู่เพียงแค่การขโมยวัวจริง ๆ

(คลิกดูภาพใหญ่)       หลังสิ้นสุดยุคล่าอาณานิคม มาดากัสการ์ได้รับเอกราชในปี ค.ศ. ๑๙๖๐ จากนั้นระหว่างปี ๑๙๗๒-๑๙๙๒ ประเทศก็เข้าสู่ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ ปัญหาการเมืองและคอร์รัปชันอย่างรุนแรงทำให้ประชากรส่วนใหญ่ยากจน ถึงยากจนที่สุด พื้นที่ป่าไม้ที่เหลือน้อยอยู่แล้วจากการทำลายช่วงตลอด ๑,๕๐๐ ปี หลังจากมนุษย์กลุ่มแรกเข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะก็ยิ่งถูกทำลาย หรือถูกแผ้วถางและเผาซ้ำ
      ด้วยวิธีการซึ่งสืบทอดมาจากระบบการเกษตรที่สูงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่า tavy นี้ ชาวไร่ชาวนามาลากาซีเชื่อว่าจะทำให้เกิดปุ๋ยในดิน และมีหญ้าพอสำหรับวัว พอดินเสื่อมสภาพก็บุกรุกป่าต่อ หลังจากนั้น ๑๐-๒๐ อาจเวียนกลับมาเพาะปลูกบนที่ผืนเดิมอีก อันที่จริง การทำไร่หมุนเวียนไม่ได้มีส่วนในการทำลายป่าอย่างเด่นชัดตราบเท่าที่คนยังน้อย ผืนนายังเป็นแปลงเล็ก ๆ และพื้นที่ถูกทิ้งไว้ยาวนานพอให้ป่าฟื้นสภาพตัวเอง ทว่าพอคนหนาแน่น การตัดและเผาทำกันอย่างกว้างขวาง ป่าเองก็ไม่เหลือแม่ไม้ หรือเมล็ดพันธุ์หลงเหลือสำหรับฟื้นสภาพตัวเองอีกเลย
      บางคนคาดประมาณว่าทุกวันนี้ พื้นที่ป่าเกือบ ๆ หนึ่งในสามของประเทศจะถูกเผาหรือถูกเผาซ้ำในทุก ๆ ปี ธรรมชาติเกือบร้อยละ ๙๐ ของประเทศถูกทำลายลง ป่าฝนเขตร้อนที่เหลือส่วนใหญ่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น มาดากัสการ์กลายเป็นสัญลักษณ์ ของดินแดนที่มีการทำลายป่าไม้ด้วยอัตราที่เร็วและรุนแรงที่สุดในโลก 
      ส่วนที่เรียกว่า "ชนบท" นั้นไม่น่าจะไกลเกิน ๒๐ กิโลเมตร รอบ ๆ เมืองหลวงตานา ที่นั่นเราจะเห็นครอบครัวซึ่งมีสมาชิกนับสิบอาศัยในบ้านดินทึมทึบ ตัวบ้านที่อาจก่อผนังด้วยดินอัดตากแห้ง หรือโคลนโปะลงบนโครงไม้ไผ่ ส่วนหลังคามุงด้วยใบปาล์ม หญ้าคา จะช่วยให้รู้สึกอบอุ่นช่วงอากาศหนาว เย็นสบายช่วงอากาศร้อน ขณะเดียวกันมันก็สอดคล้องกับวิถีการเกษตรแบบ tavy พอดินเสื่อมสภาพก็สามารถทิ้งบ้านไปหาที่อยู่ใหม่ได้ทันที
(คลิกดูภาพใหญ่)

ตลาดอันโดรฟรุตซี, กิโลเมตร ๕

      หลายคนเป็นโรคชอบเดินตลาดเพราะมีสีสัน และอยากรู้ไปถึงก้นครัวว่าชาวบ้านท้องถิ่นเขากินอะไร
      เราเคยเดินตลาดนัดวันพฤหัสข้าง ๆ สนามกีฬาแห่งชาติในตานาหนหนึ่ง เทียบกับตลาดอันโดรฟรุตซีแล้ว สีสันเร้าใจผิดกัน
      ตลาด "มหามาสินา" วันพฤหัสคล้ายตลาดนัดจตุจักร แต่อันโดรฟรุตซีเป็นปากคลองตลาดที่ถูกจับยกออกไปอยู่ดาวคะนอง อันโดรฟรุตซีจะติดตลาดทั้งเช้า-เย็นให้พ่อค้าแม่ขายรอบ ๆ นอก เอาผักผลไม้ กระบุงตะกร้ามาขาย คำว่า ตลาด ของมาดากัสการ์นั้นไม่ได้มีตัวอาคารสถานที่ชัดเจนอยู่แล้ว นอกจากเป็นศูนย์รวมของแผงลอย ของแบกะดิน ซึ่งอันโดรฟรุตซีของเราจะมีแผงลูกพลับ อโวกาโด ถั่ว มะเขือเทศ มันฝรั่งและผักต่าง ๆ ซอกแซกตามฟุตบาทอย่างน่าดู รถลากหรือเกวียนทุกของก็เวียนผ่านไปมาไม่ขาด
      แม่ค้า ผู้คนมาลากาซีในชนบททั่วไปล้วนเป็นมิตร แม้ขอทานจรจัดก็ไม่เข้ามาวอแวคนต่างถิ่นจนเกินงาม เมื่อผู้ชายที่ทูนตะกร้าผักเต็มหัวถูกขอถ่ายรูปเขาก็ไม่ได้แสดงความรังเกียจ จากการนี้ ทำให้เรารู้ว่าชาวบ้านชอบกล้อง น้อยรายจะเขินไม่ยอมให้ถ่าย
      ขณะที่บ้านเราเป็นทาสถุงก๊อบแก๊บอย่างน่าเกลียด แต่ที่นี่ ถุงก๊อบแก๊บไม่มีแจก อยากได้ต้องซื้อใบละเป็นพันฟรังก์ฯ ทั้งหญิงและชายจะนิยมทูนของไว้บนหัว กลางกรุงอันตานานาริโวก็พบเห็นคนทูนตะกร้า ห่อผ้าหรือไม้ฟืนได้ทั่วไป เช่นเดียวกับตลาดในสด เราสังเกตเห็นทั้งกระเทียม (หอบใหญ่) ลังไม้ ตะกร้าใส่ไก่, ปู กระบุงดอกไม้ถูกนำพาโดยเจ้าของแทบไม่ต้องใช้มือช่วย
      อันโดรฟรุตซีดูจะเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของทางหมายเลข ๗ มันจึงเป็นชุมทางของแท็กซี่เบอ (taxi-be) หลายสายจากตานา แท็กซี่เบอเป็นรถเมล์หน้าตาเหมือนรถตู้เล็ก ๆ ถ้าต้องการนั่งเข้าเมืองก็ประมาณ ๕๐๐-๑,๐๐๐ ฟรังก์ฯ (ประมาณ ๓.๕๐-๗ บาท) เราเองก็ได้ใช้บริการบ่อย ๆ ในทางทฤษฎี แท็กซี่เบอจะนั่งได้ ๑๐ คน--ข้างหน้ากับคนขับ แถวกลางและแถวหลัง แต่แล้วโชเฟอร์ก็จะจัดการให้คุณเขยิบก้นเบียดกันอีกนิดหน่อยได้เสมอที่มีคนโบก คล้ายกับทฤษฎีของแท็กซี่บรูซซ์ (taxi-brousse) ที่วิ่งรับคนระหว่างเมืองหรือจังหวัดตลอดเหนือจรดใต้ ยิ่งไกลจากตานาออกไป ความสูงของมันก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ๆ จนที่สุดคุณก็จะเห็นว่าของบรรทุกบนหลังคาสูงกว่าตัวถังเสียอีก
      เราคิดว่ากลุ่มคนโดยสารแท็กซี่เบอน่าจะเป็นชนชั้นล่างที่พอมีเงินเท่านั้น ด้วยทุก ๆ เย็น ตามริมถนนชานเมืองตานา (โดยเฉพาะทางด้านใต้) จะเห็นผู้คนพากันเดินหรือวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน...เพื่อกลับบ้าน นั่นคือ กลุ่มคนจนที่เข้ามาทำงานในเมือง กลุ่มคนที่แม้แต่แท็กซี่เบอก็ฟุ่มเฟือยเกินไปในการครองชีพ -มิพักต้องนึกถึงแท็กซี่วิลล์ (taxi-ville) ของชนชั้นกลาง, นักท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดเป็นซีตรองส์สองสูบ และเรโนลต์สุดคลาสสิก


(คลิกดูภาพใหญ่)

ตานา

      "อย่าพกเงินเดินตามถนนในตานา"
      "คนมาลากัซย์ไว้ใจไม่ได้"
      "ขอทานคือทางเดียวที่เด็กเล็กจะมีชีวิตอยู่รอดได้"
      "ถ้าคุณโยนให้เงินขอทานคนหนึ่ง ที่เหลือจะเข้ามารุม"
      "อุโมงค์ดำสกปรกใกล้ย่านธุรกิจเมืองตานาเป็นเสมือนหอพักของเด็ก ๆ"
      "เด็ก ๆ ที่นั่นไม่มีอะไรเล่นถึงขนาดวิ่งไล่ตามรถ"
      "คนที่นี่เหมือนแมงมุมตัวเมีย ชักใยไว้รอ...พอได้เวลาก็งับ"
      "หลังอนาลาเคลีมีแต่โสเภณีเด็กเต็มไปหมด"
      "นรกด้านสภาวะแวดล้อม"
      ....................................................
      "MAD" (บางคนเรียกชื่อประเทศมาดากัสการ์)

      ข้างต้นคือภาพพจน์ของอันตานานาริโว-มาดากัสการ์ บางส่วนที่มีคนกล่าวขวัญถึง ยังไม่รวมข้อแนะนำแสบ ๆ ในไกด์บุ๊กที่ส่อเค้าว่า "ไปมาดากัสการ์ต้องระวังตัว" อย่างในหัวข้อว่าด้วย ...(หาก) คุณเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยน / คุณเป็นนักเดินทางสาว / คุณตั้งท้อง / หากคุณเป็นคนพิการ / หากพาลูกไปด้วย / วิธีป้องกันมาลาเรีย ไข้เหลือง
      ภาพพจน์ดังกล่าวดูจะหลุดลอยจากสิ่งสวยงาม น่ามหัศจรรย์ทางธรรมชาติ และโรแมนติกที่ถูกตอกย้ำอยู่บ่อย ๆ อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่มีชีวิต / เกาะสวรรค์ / The living Edens/ Noah's Ark adrift in the Indian Ocean / ปลายทางแห่งความงาม / ดินแดนที่นักอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งหลายใฝ่ฝันจะได้ไปสักครั้งในชีวิต รวมทั้งอีกหลายตัวอย่างในสารคดีเรื่องนี้
      โดยที่สุด เราจึงต้องเติมมายาคติเกี่ยวกับมาดากัสการ์ "ดินแดนที่มีภาพพจน์ตัวเองแยกแย้งอย่างสุดขั้ว" ลงไปอีกตัวหนึ่ง
      .........................................

(คลิกดูภาพใหญ่)       หลังแยกกับตูตู้ ไกด์จำเป็นผู้อธิบายเรื่องแท็กซี่มาลากัซส์สามประเภทอย่างกระจ่าง เราได้ไกด์จำเป็นคนใหม่ชื่อ "โดเน่" พาเที่ยวเมืองตานาอีกสองสามวัน ตานาเป็นเมืองไม่ใหญ่โตเกินกว่าจะนั่งรถตระเวนดูภายในวันเดียว ที่ตั้งของเมืองแบ่งตามลักษะทางกายภาพและบ้านเรือนเป็นตานาบนและตานาล่าง ตานาบนคือส่วนของเนินเขาสูงใจกลางเมือง ย่านผู้มีอันจะกิน เต็มไปด้วยบ้านพักคหบดี ข้าราชการระดับสูง หรือเจ้าหน้าที่ทูตต่างชาติ ที่ตั้งขององค์การระหว่างประเทศ ภัตตาคาร และโรงแรมบางส่วน ต่ำลงมาทางทิศใต้ของเนินเขาเป็นย่านอนาลาเคลี โรงแรม แหล่งธุรกิจการค้าที่สำคัญของประเทศจะตั้งเรียงรายสองฟากถนนสายสำคัญของย่าน โดยสุดถนนทางทิศเหนือเป็นสถานีรถไฟ ที่มีเส้นทางเดินรถรวมทั้งประเทศเพียงไม่กี่ร้อยกิโลเมตร
      ส่วนตานาล่างก็คือพื้นที่รอบ ๆ ที่เหลือ ควรเรียกว่าย่านรอบ ๆ ใจกลางเมืองมากกว่าย่านคนจน เพราะเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญ ๆ อีกมาก เช่น สวนสัตว์ ตลาดนัดกลาง สนามกีฬา รวมทั้งห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เข้าจับจองพื้นที่ชานเมืองทุกทิศเรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่ไกลจากทุกส่วนที่เอ่ยมา เราก็สามารถพบท้องนา ที่สภาพชีวิตทั่วไปไม่ต่างจากที่เห็นแถวอันต์ชิราเบ
      ในตานาค่าครองชีพไม่ได้ถูกอย่างที่เราหวัง ค่าที่พักเฉียด ๑,๐๐๐ บาทต่อคืนเป็นอย่างต่ำ และสิ่งที่สร้างความลำบากใจให้เราในระยะแรก คือไม่รู้จะวางตัวอย่างไรกับขอทานจรจัด และไม่รู้จะหาที่ปลดทุกข์อย่างไร ด้วยคนเดินถนนที่นี่จะทำกันริมถนนในทุก ๆ ที่
      บ่ายวันหนึ่งเราผ่านไปแถวอนาลาเคลี เห็นขอทานขาพิการ ถัดตัวชูมือร่อนไปกลางถนน ที่รถกำลังวิ่งควันโขมง บนฟุตบาท ผู้คนเดินพลุกพล่าน... เตะขวดน้ำแร่โอวีฟว์ที่รีฟิลด้วยฉี่กลิ้งหลุน ๆ ไปมา
      บางทีเราอาจต้องหันเข้ามายาคติชุดที่ประนีประนอม (แต่ไม่ปลอบประโลมความรู้สึกจนน่าเกลียด) บ้าง เหมือนเช่นบางคนพูดถึงมาดากัสการ์ว่า
      "ที่มาดากัสการ์ คุณมาถึงพร้อมด้วยคำถามสิบข้อ แต่กลับไปพร้อมด้วยคำถามนับร้อย"
      และ
      "Be like the chameleon. Look forward with one eye, and behind with the other" 
(คลิกดูภาพใหญ่)

เอกสารอ้างอิง

      "ชีวิตต้องสู้ของเด็กข้างถนนแห่งมาดากัสการ์" วันเพ็ญ บงกชสถิตย์ แปลจากบทความของ อเดลสัน ราซาฟี ยูเนสโก คูริเย
      "มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติที่มาดากัสการ์" วีระ นุตยกุล สารคดี