สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๕ เดือน มีนาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๕ เดือน มีนาคม ๒๕๔๔ "ที่นี่กรุงเทพฯ ๒๐๐๒"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕  

ที่นี่กรุงเทพฯ ๒๐๐๒

เรื่อง : วันดี สันติวุฒิเมธี
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี

(คลิกดูภาพใหญ่)       "สถานีต่อไป...สยาม ท่านผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปสายสีลมได้ที่สถานีนี้" เสียงพนักงานขับรถไฟฟ้าประกาศให้ผู้โดยสารทราบ
      ไม่กี่วินาทีต่อมา ขบวนรถก็ค่อย ๆ แล่นเข้าจอดยังสถานีสยาม กลุ่มผู้โดยสารกรูออกจากรถ แยกย้ายกันไปตามจุดหมายของตน สาวน้อยในชุดเสื้อสายเดี่ยว เดินลงบันไดเลี้ยวซ้ายไปหาเพื่อนที่เซ็นเตอร์พอยต์ นักเรียนชายหัวเกรียนเดินเลี้ยวขวาไปหาเพื่อน ที่ออกซิเจนบาร์บนห้างสยามดิสคัฟเวอรี่ หนุ่มสาววัยทำงานเดินไปยังชานชาลาอีกฟาก รอรถไฟฟ้าสายสีลม 
      บนถนนด้านล่าง การจราจรบริเวณสี่แยกปทุมวันคับคั่งไปด้วยยวดยานพาหนะ ใต้รางรถไฟฟ้าคอนกรีตอบอวลด้วยควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ขอทานนั่งเรียงรายเต็มสะพานลอย คนบ้าเดินคุ้ยขยะหาของกิน คนเมายาบ้านั่งขดตัวอยู่ในมุมมืดของอาคาร
      กรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมของทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี วัฒนธรรมนานาชาติ และปัญหามากมายนับไม่ถ้วน 
      กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่จริงหรือ ?
(คลิกดูภาพใหญ่)

ชีวิตในเมืองใหญ่

      "สวัสดีค่ะ ต้องการออกซิเจนกลิ่นไหนดีคะ ถ้าชอบกลิ่นหอม ๆ เย็น ๆ เราขอแนะนำกลิ่นไอซ์เคิล เพราะมีส่วนผสมของยูคาลิปตัส ช่วยให้หายใจโล่งสบายค่ะ" พนักงานประจำร้านออกซิเจนบาร์ บนชั้น ๖ ห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ กำลังแนะนำสินค้าของร้านให้แก่ลูกค้าวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง สนนราคาของออกซิเจนอยู่ที่ ๙๕ บาทต่อการสูดออกซิเจน ๒๐ นาที บริการพร้อมน้ำผลไม้หนึ่งแก้ว
      หลังจากเลือกกลิ่นที่ต้องการได้แล้ว แต่ละคนก็แยกย้ายกันไปนั่งรอบ ๆ บาร์ครึ่งวงกลมซึ่งตกแต่งด้วยโทนสีเงิน พนักงานสาวยื่นสายออกซิเจนและหูฟังที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกให้ลูกค้าคนละชุด พลางอธิบายวิธีใช้
      "เอาด้านที่มีท่อเล็ก ๆ สองท่อใส่จมูกไว้นะคะ ส่วนอีกด้านหนึ่งเราจะเสียบไว้กับขวดออกซิเจน หายใจเข้า-ออกช้า ๆ นะคะ ออกซิเจนจะได้เข้าไปในปอดเต็มที่ อันนี้หูฟังสำหรับฟังเพลงบรรเลงค่ะ ตัวเลขที่เห็นหน้าเคาน์เตอร์คือเวลาในการใช้บริการ จะเริ่มจาก ๒๐ แล้วค่อย ๆ ลดลงจนถึง ๐ พอใกล้หมดเวลาจะมีเสียงร้องเตือน...เชิญตามสบายนะคะ"
      กลุ่มหนุ่มสาวพยักหน้ารับรู้ ลงนั่งสูดออกซิเจนอย่างกระตือรือร้น ฟังเพลงเบา ๆ พร้อมกับจิบน้ำผลไม้อย่างสบายอารมณ์ 
      เมื่อออกจากร้านออกซิเจนบาร์ สมาชิกจับกลุ่มปรึกษากันว่าจะไปต่อที่ไหนดี บางคนอยากดูหนังฮอลลีวูดโปรแกรมใหม่ บางคนอยากแวะอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ บางคนอยากเดินดูเสื้อแบรนด์เนม บางคนอยากไปนั่งเล่นที่เซ็นเตอร์พอยต์ สยามสแควร์ บางคนอยากกินพิซซ่า ชาไข่มุก ไก่ทอด ฯลฯ ที่ร้านแฟรนไชส์ต่างประเทศ 


(คลิกดูภาพใหญ่)      ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างการใช้ชีวิตของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งในกรุงเทพมหานคร -- แหล่งรวมสินค้าและบริการอันทันสมัยจากทั่วโลก มาให้บริโภคกันอย่างไม่สิ้นสุด สินค้าที่ไม่ใช่เพียงปัจจัยสี่ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค แต่ยังมีปัจจัยที่ห้า หก เจ็ด ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ โฮมเธียเตอร์ เครื่องเล่นวีซีดี คาราโอเกะ ฯลฯ ที่น่าคิดก็คือ คนกรุงเทพฯ ไม่ได้บริโภคสินค้า เพราะเห็นประโยชน์ในการใช้สอย แต่บริโภค "สัญญะ" หรือความหมายที่แฝงฝังอยู่ในสินค้าและบริการเหล่านั้น เพื่อขับเน้นสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและใกล้ตัวมากที่สุดคือ การบริโภคอาหาร หากต้องการกินอาหารเพียงเพื่อให้อิ่มท้อง ข้าวแกงจานละ ๒๐ บาทข้างถนนกับข้าวแกงจานละ ๑๐๐ บาทในร้านหรู ก็อาจมีคุณภาพและคุณค่าทางอาหารไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องการบริโภคกลับไม่ใช่แค่ความอิ่ม แต่เป็น "สัญญะ" ในจานข้าวแกงที่จะบอกว่าเขาเป็นคนมีระดับและมีอันจะกิน
      ประชากรกว่า ๑๐ ล้านคนของกรุงเทพฯ มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม อันแตกต่างตั้งแต่รวยล้นฟ้าจนถึงยากจนเข็ญใจ การบริโภคสินค้าที่แฝง "สัญญะ" บางอย่างเพื่อจำแนกตนเองให้อยู่ร่วมกับคนกลุ่มหนึ่งและแยกออกจากคนกลุ่มอื่น ๆ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน สินค้าแบรนด์เนมอย่าง เวอร์ซาเช่ กุชชี่ อาร์มานี่ โกลติเย่ ชาเนล หลุยส์วิตตอง ฯลฯ ทำให้ผู้ใช้สินค้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของความทันสมัย แมคโดนัลล์ เคนตั๊กกี้ พิซซ่าฮัท เชสเตอร์กริลล์ ดังกิ้นโดนัท ฯลฯ ทำให้ผู้ใช้บริการมีภาพลักษณ์ของคนเมืองผู้มีชีวิตเร่งรีบ ร้านกาแฟยี่ห้อดังอย่างสตาร์บัคส์ แบล็กแคนยอน คอฟฟี่เวิลด์ โอบองแปง ฯลฯ เป็นร้านของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ส่วนร้านกาแฟของอาโกในตลาดเป็นร้านของคนสูงวัย โรงภาพยนตร์เก้าอี้โอเปร่าแชร์หรือฮันนีมูนซีต บ่งบอกว่าผู้ซื้อมีสถานะทางเศรษฐกิจ ดีกว่าผู้ชมในโรงภาพยนตร์เก้าอี้ธรรมดา และโรงภาพยนตร์ชั้นสองในย่านคนจน 
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ความหมายของสินค้าเหล่านี้ถูกส่งผ่านมาทางสื่อต่าง ๆ ที่รายรอบตัวในทุกอณูอากาศ กระตุ้นให้ผู้คนจับจ่ายทั้ง ๆ ที่สินค้านั้นอาจไม่จำเป็นแก่ชีวิต คนกรุงเทพฯ อยู่ท่ามกลางแหล่งสินค้า และบริการนานาชนิด จึงบริโภคสินค้าที่ฉาบทาด้วย "สัญญะ" ได้ง่ายและบ่อย คนกรุงเทพฯ จึงต้องเร่งหาเงินไม่ให้ขาดมือ เมื่อหาเงินได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ก็ต้องกู้หนี้ยืมสินซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ บัตรเครดิตสารพัดยี่ห้อ บางยี่ห้อจ่ายช้าไปวันเดียวดอกเบี้ยก็พุ่งปรู๊ด บางคนก็ใช้บริการเงินกู้นอกระบบ ซึ่งพบมากตามชุมชนแออัด เมื่อก่อนผู้ปล่อยกู้ส่วนใหญ่เป็นแขก ซึ่งนิยมนำเงินสดมาปล่อยกู้โดยให้ผ่อนชำระเป็นรายวัน หากวันไหนไม่มีก็ผัดไปจ่ายวันรุ่งขึ้นได้ ปัจจุบันผู้ปล่อยกู้เปลี่ยนโฉมหน้า เป็นบริษัทซึ่งใช้พนักงานขับมอเตอร์ไซค์ไล่แจกใบปลิว และนามบัตรแก่คนในชุมชน ถ้าใครสนใจใช้บริการ พนักงานจะขับมอเตอร์ไซค์นำเงินมาให้ และกลับมาเก็บดอกทุกวัน ถ้าผู้กู้ไม่ผ่อนเงินตามที่ตกลงกันไว้ ผู้ปล่อยกู้มักสั่งสอนด้วยการส่งคนมาทำร้ายร่างกาย 
      เป็นที่ทราบและยอมรับกันว่า การกู้เงินของชาวชุมชนแออัดใช้อัตราดอกเบี้ยที่สูงลิ่ว มีตั้งแต่ดอกเบี้ยรายวัน รายอาทิตย์ รายเดือน จนถึง "ดอกลอย" คือถ้าไม่มีเงินต้น ก็ส่งแต่ดอกไปเรื่อย ๆ จนบางครั้งเงินที่จ่ายค่าดอก รวมกันแล้วมากกว่าเงินต้นหลายเท่า แต่เงินต้นก็ยังเหลือเท่าเดิม เพราะมีแต่เงินส่งดอก ไม่มีเงินส่งเงินต้น
      ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์ นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา กล่าวถึงสภาพปัญหาหนี้สินในสลัมว่า
      "ชีวิตในเมืองต้องหาเงินมาซื้อทุกอย่าง นอกจากต้องซื้ออาหารเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดแล้ว ยังต้องถูกแรงกดดันให้ซื้อสิ่งฟุ่มเฟือยอีกมาก ปัญหาหนี้สินในชุมชนแออัดที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เนื่องมาจากเงินที่กู้มาไม่ได้เอาไปลงทุนประกอบอาชีพที่สามารถจะเก็บเกี่ยวผลกำไรกลับคืนมา แต่ส่วนใหญ่เอาไปใช้จ่าย เช่น ค่าบ้าน ค่าเล่าเรียนลูก ค่ารักษาพยาบาล ทำให้ปัญหาที่ตามมาคือ ไม่มีเงินใช้หนี้ หลายคนจึงแก้ปัญหาด้วยการกู้เพิ่มจากเจ้าหนี้รายอื่น ทำให้เป็นหนี้หลายทาง"
      นอกจากปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นจากกระแสบริโภคนิยมแล้ว เมืองหลวงแห่งนี้ยังมีปัญหาอีกมากมายที่คนกว่า ๑๐ ล้านคนต้องเผชิญร่วมกัน
(คลิกดูภาพใหญ่)

สารพันปัญหา

      ...จะขอทางพาผู้โดยสารไปคลอด ตอนนี้อยู่สะพานกรุงธนฯ มุ่งหน้าไปโรงพยาบาลวชิระ ขอทางด้วยครับ...
      ...มีคนป่วยนอนอยู่หน้าบ้าน ไม่มีญาติ อยากจะให้ทางรายการช่วยติดต่อหาญาติให้ด้วย...
      ...แฟนหาย ชื่อ...หายจากที่นิรันดร์ซิตี้ลาดพร้าว บอกว่าจะไปส่งเพื่อนที่ประตูน้ำแล้วหายไปเลยตั้งแต่วันที่ ๔ เวลาเที่ยง
      ...มีเด็กพลัดหลงกับแม่แถวสีลม
      ...มีเสียงเด็กร้องในพงหญ้าเข้าซอยอาภาภิรมย์ตรงมาแถวหอพักธรรมกุล ถนนรัชโยธิน เข้ามาทางซอยศูนย์ส่งออก มีเจ้าหน้าที่แต่ไม่มีไฟสปอตไลต์ส่อง
      ...แพขนานยนต์ตรงพระประแดงเสียบ่อย ต้องนำแพอีกลำไปดันกลางแม่น้ำ อันตรายมาก และทำบ่อยเกรงว่าจะเกิดอันตราย
      ...ต้องการพาคนไปอดยา
      ...อยากทราบว่าแหล่งขายนมสดที่ขายคู่กับขนมปังสังขยามีขายที่ไหน ผมอยู่แถวเขตบางรัก
      ...เจองูเหลือมตัวใหญ่ จับใส่กระสอบแล้ว แต่ไม่รู้จะไปปล่อยที่ไหน 
      ...สุนัขไม่สบาย กินข้าวไม่ได้ ขาอ่อน เดินไม่ได้ จะทำยังไง
      ...รถมอเตอร์ไซค์หาย ทะเบียน นลธ - ๕๙๑ จอดไว้เกือบถึงแยกถนนจันทน์
      ...อยากทราบว่าคนสติไม่ดี ถ้าฆ่าคนเสียชีวิต จะมีความผิดหรือเปล่า
      ...มีอุบัติเหตุรถยนต์ชนมอเตอร์ไซค์สีแดง ที่ถนนปทุมเสนา
      ...รถเมล์ ปอ. ...ข้างรถเขียน ๗๐๓๐๒๕ ขับรถไม่สุภาพ พอคนแรกลงแล้ว คนที่ ๒ ยังไม่ทันลงก็ขับรถออกไปเกือบทำให้ตกรถ เป็นแบบนี้ประจำ 
      ฯลฯ

 (คลิกดูภาพใหญ่)       ข้างต้นคือตัวอย่างสารพันปัญหาของคนกรุงเทพฯ ที่วิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกันรับแจ้งมาเป็นเวลาห้าปี ในแต่ละวันทางรายการได้รับแจ้งข้อมูล และปัญหาทางโทรศัพท์และเพจเจอร์ถึง ๑,๒๐๐ เรื่อง 
      ถนอม อ่อนเกตุผล ผู้จัดรายการมาตั้งแต่เริ่มแรก กล่าวถึงปัญหาของคนกรุงเทพฯ ว่า
      "คนกรุงเทพฯ มีปัญหามากมาย ตั้งแต่จัดรายการมา ไม่มีปัญหาประเภทไหนที่ไม่เคยได้รับแจ้ง เคสแปลก ๆ ก็ฟังกันจนเดี๋ยวนี้ไม่มีเคสไหนแปลกอีกแล้ว เพราะมันมีทุกเคส ส่วนใหญ่เป็นปัญหาส่วนตัว ซึ่งผู้แจ้งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยหน่วยงานรัฐ หรือทางรายการประชาสัมพันธ์ให้ ปัญหาที่มีคนแจ้งเข้ามามากที่สุดคือ ปัญหาของหาย ตั้งแต่ถุงเท้า กระเป๋าตังค์ รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ และช่วงหลังมานี้เริ่มมีการแจ้งคนหาย และพบศพนิรนามเยอะขึ้น รองลงมาคือปัญหาอุบัติเหตุ น้ำไม่ไหล ไฟดับ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและสัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยง เช่น หมาป่วยลุกไม่ขึ้น เจองูเหลือมถูกสับเป็นท่อน ๆ แต่ยังไม่ตาย ก็แจ้งมายังรายการเพื่อประกาศหาสัตวแพทย์มาช่วยทำแผล หรือกระทั่งลูกแมวติดอยู่ในท่อของปั๊มน้ำมัน เราก็ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือมา และพยายามช่วยจนสำเร็จ"
      รายละเอียดของเรื่องนี้มีอยู่ว่า ลูกแมวตัวหนึ่งวิ่งเล่นอยู่ในท่อของปั๊มเชลล์ ซึ่งตอนแรกยังไม่ได้เชื่อมต่อกัน วันหนึ่งทางบริษัทก็เชื่อมท่อเข้าด้วยกัน ลูกแมวจึงติดอยู่ในนั้นโดยไม่มีใครรู้ จนกระทั่งคนขับแท็กซี่คนหนึ่ง ขับรถไปเติมน้ำมันที่ปั๊มแห่งนั้น เกิดสังเกตเห็นแม่แมวเดินวนเวียนอยู่บริเวณท่อ และพยายามส่งเสียงเรียกให้คนที่ผ่านไปมาสนใจ พอเขาลองเดินเข้าไปใกล้ท่อตรงที่แม่แมวยืนอยู่ จึงได้ยินเสียงลูกแมวดังลอดออกมา หลังจากนั้นจึงโทรแจ้งมายังรายการร่วมด้วยช่วยกันเพื่อขอความช่วยเหลือ ทางรายการจึงประสานงานกับบริษัทเชลล์ ซึ่งก็ให้ความร่วมมือ โดยส่งวิศวกรมาเจาะท่อ เป็นช่องขนาดกว้างพอที่จะล้วงมือลงไปหยิบลูกแมวออกมาได้ 
      ปัญหาใหญ่ที่คนกรุงเทพฯ ทุกคนต้องเผชิญร่วมกันคือ ปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีกเป็นลูกโซ่ แม้ปัจจุบันกรุงเทพฯ จะมีรถไฟฟ้าบีทีเอสให้บริการแล้ว แต่ระยะทางยังสั้น จึงช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น ขณะเดียวกันปริมาณรถยนต์บนท้องถนนมีแต่เพิ่มขึ้นทุกวัน เห็นได้จากสถิติรถยนต์ในกรุงเทพฯ ที่ขึ้นทะเบียนเมื่อปี ๒๕๔๓ มีรถยนต์จดทะเบียนใหม่เฉลี่ยวันละ ๖๗๔ คัน ! หากรวมรถทุกประเภทที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ จนถึงปี ๒๕๔๓ ก็มีรถมากถึง ๔ ล้าน ๕ แสนคัน !
      ปัญหาต่อเนื่องตามมาจากปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน คือ อุบัติเหตุบนท้องถนน จากสถิติของกองบัญชาการตำรวจนครบาล พบว่าตลอดปี ๒๕๔๓ มีอุบัติเหตุบนท้องถนนมากถึง ๓๗,๘๖๘ ราย หรือเฉลี่ยวันละ ๑๐๔ ราย และปัญหาที่ตามมาติด ๆ คือมลภาวะทางอากาศ ส่งผลให้คนกรุงเทพฯ ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจมากกว่า ๑๗๘,๐๐๐ ราย
(คลิกดูภาพใหญ่)       จากการตรวจสอบคุณภาพอากาศในประเทศไทยปี ๒๕๔๓ พบว่า ฝุ่นละอองยังคงเป็นปัญหาหลักของมลพิษทางอากาศ เช่นเดียวกับหลายปีที่ผ่านมา แต่มีแนวโน้มลดลง ปัญหารองลงมาคือ ก๊าซโอโซน พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์พบเกินมาตรฐานเล็กน้อยในบางพื้นที่ ส่วนสารมลพิษอื่น ๆ เช่น สารตะกั่ว ยังมีปริมาณอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มากที่สุดคือ ถนนพหลโยธิน บริเวณกรมการขนส่งทางบก และพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องก๊าซโอโซนมากที่สุดคือ ริมถนนลาดพร้าว บริเวณอาคารที่พักตำรวจจราจร (หมายเหตุ : ข้อมูลจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ของสถานีตรวจวัดแบบกึ่งถาวรจำนวน ๗ สถานี ประกอบด้วย กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ถนนพระราม ๖, กรมการขนส่งทางบก ถนนพหลโยธิน, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถนนพระราม ๔, วงเวียน ๒๒ กรกฎา ถนนเยาวราช, สถานีการไฟฟ้าย่อยธนบุรี ถนนอินทรพิทักษ์, อาคารที่พักตำรวจจราจร ถนนลาดพร้าว และเคหะชุมชนดินแดง ถนนดินแดง) 
      ปัญหาอาชญากรรมเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยเฉพาะนับตั้งแต่เศรษฐกิจตกต่ำในช่วงห้าปีผ่านมา สถิติข้อมูลของกองบัญชาการตำรวจนครบาลปี ๒๕๔๓ พบว่า ตลอดทั้งปีมีคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญเกิดขึ้นถึง ๑,๐๓๓ คดี หรือเฉลี่ยวันละเกือบ ๓ ราย คดีฆ่าคนตายโดยเจตนา ๒๗๕ คดี หรือทุก ๆ ๔ วันจะมีคนถูกฆ่าตาย ๓ ราย คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ๑๗,๖๒๙ ราย หรือเฉลี่ยวันละ ๔๘ ราย และคดียาเสพย์ติด ๕๓,๔๕๕ ราย หรือเฉลี่ยวันละ ๑๔๖ ราย
      ดร. อนุช อาภาภิรม นักวิชาการผู้ศึกษาปัญหาของเมืองใหญ่ทั่วโลก กล่าวถึง "เมืองใต้ดิน" ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ว่า 
      "จากการศึกษาเรื่องเมืองจะพบว่า เมืองใหญ่ทุกเมืองจะมีเมืองใต้ดิน คือพวกธุรกิจผิดกฏหมาย เช่น ตั้งโรงงานผิดกฎหมาย ค้ายาเสพย์ติด ค้าแรงงานเถื่อน หรือมือปืนรับจ้าง เป็นต้น เศรษฐกิจใต้ดินโดยมากจะอยู่ในเมือง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเมืองที่มองข้ามไม่ได้ เมืองใต้ดินจะใหญ่หรือเล็กมันอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาความยากจน ถ้าเราแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ เมืองใต้ดินจะใหญ่ เพราะเมื่อหากินในเมืองบนดินหรือธุรกิจถูกกฎหมายลำบาก คนก็จะหนีลงไปทำเศรษฐกิจใต้ดิน จะเห็นว่าหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ สถิติค้ายาเสพย์ติดเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก ผมเคยเห็นรายงานของสหประชาชาติ บอกว่าให้ยอมรับเมืองใต้ดินให้มันมีอยู่ อย่าไปทำลายมันจนหมด ไม่เช่นนั้นเมืองจะอยู่ไม่ได้ แต่ต้องควบคุมไม่ให้มันโตเกินไป เพราะเป็นแหล่งงานของคนจนในเมือง จากการศึกษาพบว่า แต่ละประเทศจะมีเมืองใต้ดินประมาณ ๑๗-๑๘ เปอร์เซ็นต์
      "สำหรับเมืองใต้ดินของกรุงเทพฯ เกิดจากปัญหาความยากจน ทั้งความยากจนที่มีอยู่แล้วในเมือง และความยากจนที่หลั่งไหลเข้ามาจากชนบท ทั้งหมดนี้สร้างเมืองใต้ดินขึ้นมา ถ้าคนไม่มีงานทำในเมืองบนดินหรือเศรษฐกิจถูกกฎหมาย เขาก็จะลงไปหาเมืองใต้ดิน เช่น ค้ายาเสพย์ติด มือปืน เปิดโรงงานเถื่อน ค้าประเวณี ในต่างจังหวัดก็มีเมืองใต้ดิน แต่น้อย เพราะเมืองมันเล็ก ไม่สลับซับซ้อน ใครทำอะไรก็รู้กันหมด"
(คลิกดูภาพใหญ่)

      ปัญหาอีกปัญหาหนึ่งที่พบมากในกรุงเทพฯ คือ ขอทาน ซึ่งมาในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากขอทานพิการ ตาบอด แขนขาด้วน แม่ลูกอ่อน คนชรา ที่วางขันนั่งขอเงินกันตามสะพานลอยแล้ว ปัจจุบันยังมีขอทานที่ไม่ได้ใช้ความพิการเรียกร้องความเห็นใจทางสายตา แต่เรียกร้องความเห็นใจด้วย "เรื่องเล่า" ที่สะกิดศีลธรรมในใจคนฟัง อาทิ หญิงชราในชุดดำผู้มาพร้อมกับเรื่องเล่า "มาร่วมงานศพญาติแล้วกระเป๋าตังค์หาย" ชายชรากับเรื่องเล่า "ตามหาลูกไม่พบ" หรือหญิงวัยกลางคนกับเรื่องเล่า "กำลังตั้งครรภ์ได้สามเดือนและถูกสามีทิ้ง" ฯลฯ ไม่มีใครรู้ว่า "เรื่องเล่า" เล่านี้เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องลวง แต่หลายคนก็เลือกที่หยิบยื่นเงินให้ หรือไม่ให้เจ้าของเรื่องเล่าเหล่านี้ด้วยเหตุผลต่างกัน 
      ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เคยพูดถึงปัญหาขอทานในเมืองใหญ่ว่า
      "เมืองใหญ่เป็นเมืองที่มีความขัดแย้งในเชิงศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมสูง เนื่องจากเป็นเมืองซึ่งผู้คนต่างก็เป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน เราไม่เข้าใจว่าคนที่เข้ามาหาเรา มาด้วยวัตถุประสงค์อะไร เมื่อเจอคนมาขอความช่วยเหลือ เรามักไม่แน่ใจว่าเป็นของเทียมหรือเปล่า ผมคิดว่าคนจำนวนมากเดี๋ยวนี้ไม่ให้สตางค์ขอทาน ไม่ให้เงินเด็กเล็กที่วิ่งมาขอสตางค์ หรือมาขายอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ หาเงินไปทำกิจกรรมของโรงเรียน นี่เป็นความขัดแย้งทางคุณธรรม เพราะเราไม่มั่นใจ มนุษย์ในเมืองใหญ่จึงต้องสร้างเครื่องมือป้องกันตนเอง ในเชิงจิตใจขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้ในสังคมเมืองใหญ่ ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีจัดการกับปัญหาขอทานแตกต่างกันไป" 
      ที่กล่าวมาเป็นเพียงปัญหาส่วนหนึ่งของคนกรุงเทพฯ ๑๐ ล้านคนที่มาอยู่รวมกัน ปัญหาเหล่านี้จะคลี่คลายไปได้ก็ต่อเมื่อทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่แห่งนี้ร่วมมือกันแก้ปัญหา


(คลิกดูภาพใหญ่)

รับมือกับปัญหา

"สวัสดีครับคุณอัจฉรา ขณะนี้ผู้โดยสารบนรถแท็กซี่ของผม กำลังจะเดินทางไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลราชวิถี ผมอยู่บนถนนพหลโยธิน ใกล้ถึงอนุสาวรีย์ชัยฯ แล้ว แต่รถติดมาก กลัวว่าจะไปถึงโรงพยาบาลไม่ทัน ช่วยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำคลอดให้หน่อยครับ"
      "ตกลงค่ะ ทางเราจะประสานงานให้เดี๋ยวนี้ค่ะ"
      ไม่นานนัก เจ้าหน้าที่ตำรวจทำคลอดโครงการพระราชดำริ พร้อมรถมอเตอร์ไซค์สีขาว และเครื่องมือทำคลอดและปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก็มาถึงรถแท็กซี่คันดังกล่าว
      "ผมสิบตำรวจโท สนอง ประเมินศิลป์ ตำรวจทำคลอดโครงการพระราชดำริ ผ่านการฝึกทำคลอดมาจากโรงพยาบาลราชวิถีมาแล้ว ผมสามารถช่วยคุณได้ครับ" คุณหมอจำเป็นแนะนำตัวเพื่อให้ว่าที่คุณแม่มั่นใจ
      "อุแว้...อุแว้..." ทารกน้อยเปล่งเสียงร้องหลังจากโผล่หัวลืมตามาดูโลก คุณหมอจำเป็นประคองเด็กน้อยไว้ในอ้อมแขน พลางหยิบอุปกรณ์ทำคลอดในกล่องปฐมพยาบาล ออกมาทำงานตามความรู้ที่ได้อบรมมา เริ่มจากใช้กรรไกรคีมหนีบสายสะดือ ตามด้วยใช้ลูกยางดูดน้ำคร่ำออกจากจมูก ป้องกันทารกสำลักและหายใจไม่ออก เมื่อเห็นทารกปลอดภัยแล้ว จึงห่อตัวทารกด้วยผ้าขนหนูส่งคืนสู่อกแม่ รอรถพยาบาลมารับแม่และเด็กไปตัดสายสะดือ


(คลิกดูภาพใหญ่)       แม้ว่าการจราจรในกรุงเทพฯ วันนี้ยังคงติดหนึบอยู่เช่นเคย แต่จากความพยายามของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชน จส. ๑๐๐ วิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน บก. ๐๒ ดูแลด้านการจราจรตามสี่แยกต่าง ๆ ศูนย์กู้ชีพนเรนทรช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ซึ่งช่วยทำหน้าที่เป็น "หมอถนน" ดูแลรักษาทั้งรถและคนมาตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา การจราจรจึงยังคงเคลื่อนไปได้ไม่เป็นอัมพาตไปเสียก่อน
      พ.ต.อ. กมลสันติ กลั่นบุศย์ ผู้กำกับการฝ่ายปฏิบัติการพิเศษการจราจร กองบังคับการตำรวจจราจร กล่าวถึงที่มาของโครงการและลักษณะการทำงานของตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริว่า
      "ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ เกิดขึ้นจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยพสกนิกร ที่ประสบปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมกับสมเด็จย่าและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จำนวน ๒๓ ล้านบาทให้กรมตำรวจในขณะนั้นจัดหาจักรยานยนต์และเจ้าหน้าที่ เข้าบรรเทาปัญหาจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน ทรงมีพระราชดำริให้เป็นเหมือนรถนำขบวนให้แก่ประชาชน ให้รถในท้องถนนเคลื่อนตัวไปได้เรื่อย ๆ เหมือนเทน้ำออกจากขวด นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจในโครงการพระราชดำรินี้ ยังได้รับการอบรมให้สามารถให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ด้วย 
      "หลังจากเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรมาเป็นเวลาห้าปี นับตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๓๖ เป็นต้นมา พบว่าในช่วงเวลาเร่งรัดเช้าและเย็น มักมีผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ หรือหญิงใกล้คลอดต้องเดินทางไปโรงพยาบาล แต่ประสบกับปัญหาการจราจรติดขัด ทำให้บางครั้งต้องเกิดความความสูญเสียเนื่องจากไปโรงพยาบาลไม่ทัน" 
      นับตั้งแต่เริ่มโครงการหมอถนนปี ๒๕๔๑ มาจนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจโครงการพระราชดำริให้ความช่วยเหลือประชาชนในกรณีต่าง ๆ ได้เดือนละหลายร้อยราย เฉพาะกรณีทำคลอดทั้งบนรถและที่บ้านนั้นมีประมาณสามถึงแปดรายต่อเดือน และช่วยผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนวันละสามถึงสี่รายเป็นอย่างน้อย
      สิบตำรวจตรี ชาตรี กรกิ่ง กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เข้ามาปฏิบัติงานในตำแหน่งนี้ว่า
      "ตอนช่วยทำคลอดครั้งแรกตื่นเต้นมาก แต่ครั้งต่อ ๆ ไปก็เริ่มชิน และมีความสุขทุกครั้งที่เห็นเด็กที่เราทำคลอดปลอดภัย แต่ถ้าต้องไปช่วยผู้ประสบอุบัติเหตุบนถนนจะรู้สึกเศร้า เพราะส่วนใหญ่จะมีอาการบาดเจ็บมาก บางรายกำลังจะตายต่อหน้าเรา เราก็ต้องหาทางช่วยเขาให้มากที่สุด ถ้าช่วยไม่ได้เราจะรู้สึกเสียใจ หลังจากทำงานเสร็จ เราจะให้ไปรษณียบัตรแก่คนที่เราไปช่วยเหลือคนละใบ ให้เขาเขียนติชมการทำงานของเรา คนส่วนใหญ่มักคิดว่าจะต้องให้เงินพวกเรา และแสดงความแปลกใจเมื่อเราบอกว่าไม่สามารถรับเงินไว้ได้ เพราะเป็นจราจรในโครงการราชดำริ มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้ใช้ถนน"
(คลิกดูภาพใหญ่)       สำหรับรายการ จส. ๑๐๐ ซึ่งย่อมาจาก จเรทหารสื่อสาร คลื่น F.M. ๑๐๐ MHz ซึ่งออกอากาศมาตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๓๔ นั้น เป็นรายการวิทยุที่มีส่วนสำคัญในการบรรเทาปัญหาจราจรและปัญหาอื่น ๆ ของสังคมเมืองไปได้มากเช่นกัน 
      อัจฉรา บัวสมบูรณ์ รองผู้จัดการและผู้ดำเนินรายการ จส. ๑๐๐ มาตั้งแต่เริ่มแรก กล่าวถึงเป้าหมายและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากมีรายการ จส. ๑๐๐ ว่า
      "เป้าหมายแรกของการจัดรายการนี้ ก็เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด และลดความเครียดของคนบนถนน เพราะก่อนหน้านี้ เวลารถติด เราไม่รู้ว่าทำไมถึงติด ได้แต่หงุดหงิดแล้วก็ด่าตำรวจว่าปล่อยรถไม่ดี จนมาจัดรายการนี้ถึงรู้ว่า เวลารถติดมันมีเหตุผลในการติด เช่น ไฟไหม้ อุบัติเหตุรถชนขวางถนน หรือบางทีอาจมาจากคนขับรถช้าเพียงคนเดียว อย่างเช่นมีอยู่ครั้งหนึ่ง บนถนนวิภาวดีมีรถติดอยู่เลนขวาเลนเดียว เราก็สงสัยกันว่ามาจากสาเหตุอะไร ปรากฏว่าพอใช้เฮลิคอปเตอร์บินไล่ไปต้นแถว ก็พบว่าเป็นเพราะมีรถขับช้านำหน้าอยู่คันเดียว เราก็ออกอากาศไปว่ารถยี่ห้อนี้ วิ่งอยู่บนถนนช่วงนี้ ช่วยขับรถให้เร็วขึ้นอีกนิด เพราะท้ายแถวยาวมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาฟังรายการเราอยู่หรือเปล่า บางครั้งรถติดท้ายแถวอยู่ฝั่งธนฯ แต่ต้นตอของปัญหาอาจมาจากถนนเพชรบุรีก็ได้ เราไม่มีทางรู้ถ้าไม่มีใครมองภาพรวมให้ พอเรารู้ว่าถนนสายนี้รถติด ก็พยายามแนะนำเส้นทางอื่นให้ผู้ฟัง ผู้ฟังก็จะมีทางเลือกมากขึ้น สำหรับบางคนที่ไม่มีทางเลี่ยงไปถนนสายอื่น อาจแวะกินข้าวไปพลาง ๆ หรือถ้าไม่สามารถไปไหนได้เลยจริง ๆ ก็คงต้องนั่งฟังเพลงแล้วก็ทำใจให้สบาย 
      "หลังจากรายงานสภาพจราจรไปได้สักพักหนึ่ง ก็เริ่มมีคนแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายตามที่ต่าง ๆ เข้ามา เช่น ไฟไหม้ คนคิดจะฆ่าตัวตาย หมาถูกรถชน เหตุฉกชิงวิ่งราว เราก็ออกอากาศประชาสัมพันธ์ให้ พร้อมกับติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาแก้ไข เรามีพนักงานคอยรับเรื่องไว้ และตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนออกอากาศ เพราะถ้าไม่ตรวจสอบ บางครั้งออกอากาศไปแล้วเป็นเรื่องไม่จริงก็เกิดความเสียหายตามมา อย่างเช่น ถ้ามีคนคนเดียวแจ้งว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้ เราจะยังไม่ออกอากาศในทันที ต้องเช็คให้แน่ใจก่อน เพราะโดยปรกติแล้วถ้ามีเหตุเพลิงไหม้จะต้องมีคนโทรมาแจ้งมากกว่าหนึ่งคน หรือบางคนโทรมาปรึกษาเรื่องปัญหาครอบครัว เราก็อาจรับฟังอยู่หลังไมก์ ไม่นำออกอากาศ เพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัว" 
      หากดูสถิติขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งเปิดเผยยอดรวมของจำนวนผู้ที่โทรเข้าสถานีวิทยุ จส. ๑๐๐ หลังจากทำรายการได้เพียงสี่เดือน ปรากฏว่ามีคนโทรเข้าไปมากถึงกว่า ๔ แสนครั้ง แต่พนักงานรับสายได้แค่ ๔ หมื่นครั้งเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่ารายการ จส. ๑๐๐ ตรงกับความต้องการของผู้ฟังชาวกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก สิ่งที่ผู้จัดรายการไม่ได้คาดคิดมาก่อนก็คือ น้ำใจของคนกรุงเทพฯ ที่หลั่งไหลเข้ามายามที่มีคนเดือดร้อน
      "เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าคนกรุงเทพฯ ไม่มีน้ำใจ บางทีรั้วบ้านติดกันยังไม่รู้จักกันเลย แต่หลังจากจัดรายการมาตลอด ๑๐ ปี ความคิดตรงนี้เริ่มเปลี่ยนไป เพราะทุกครั้งที่ออกอากาศขอความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เราได้รับความร่วมมืออย่างดีเสมอ อย่างกรณีตึกถล่มที่โคราช พอรายงานว่าขาดแคลนผ้าห่อศพ ก็มีคนโทรเข้ามาบริจาคทันที หรือทางโคราชไม่มีเครื่องขุดเจาะหาคนติดอยู่ในซาก ก็มีคนโทรมาบอกว่าบริษัทเขามีเครื่องมือนี้ ยินดีให้นำไปใช้ เราดีใจที่ได้เป็นสื่อกลางถ่ายทอดข่าวสารและถ่ายเทน้ำใจจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง"
 (คลิกดูภาพใหญ่)       นอกจากทำหน้าที่สื่อกลางเชื่อมน้ำใจให้กรุงเทพฯ น่าอยู่มากขึ้น รายการ จส. ๑๐๐ ยังริเริ่มโครงการสร้างสรรค์สังคมอีกหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการแพทย์อาสาสำหรับผู้ฟังที่เจ็บป่วยยามดึก และอยากปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทางไปโรงพยาบาล ทางรายการประกาศรับแพทย์อาสาสมัคร เข้าเวรรับโทรศัพท์ตอนกลางคืน ก็มีคุณหมอเกือบ ๑๐๐ คนสมัครเข้าร่วมโครงการ โครงการสัตวแพทย์อาสาสำหรับสัตว์เร่ร่อนได้รับบาดเจ็บ ทางรายการได้รับความร่วมมือ จากโรงพยาบาลสัตว์หลายแห่ง แต่เนื่องจากการรักษามีค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ต่าง ๆ จึงต้องขอรับบริจาคจากผู้ฟัง โครงการซื้อลิ้นหัวใจกับ จส. ๑๐๐ เพื่อมอบให้แก่ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ โครงการคนรักรถ เพื่อให้คนขับรถเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น และโครงการคนดีของเรา ซึ่งสนับสนุนคนทำความดีให้เกิดความภาคภูมิใจและมีกำลังใจในการทำความดีต่อไป
      "โครงการคนดีของเราเกิดขึ้นจากมีคนทำความดีที่น่าประทับใจเยอะมาก บางเคสไม่ใช่ทำกันได้ง่าย ๆ เราอยากให้กำลังใจเขาให้ทำความดีต่อไป ก็เลยจัดโครงการคนดีของเรา คัดเลือกเคสที่ไม่ได้ทำกันง่าย ๆ ปีหนึ่งประมาณสิบกว่าท่าน มีโล่และเงินรางวัลมอบให้ อย่างเช่น เคสมอเตอร์ไซค์รับจ้างเก็บเงินสองสามแสน ในถุงกระดาษได้แล้ว เอามาคืนตำรวจ เขาเองก็ไม่ใช่คนรวย ถ้าจะเอาเงินไปใช้ก็ไม่มีใครรู้ แต่เขาก็เอามาคืน หรือเคสรถหาย คือมีคนสังเกตว่ารถคันนี้ดูเหมือนรถขโมยมา ก็เลยแจ้งมาที่รายการ ปรากฏว่ามีคนแจ้งหายจริง ๆ เขาก็เลยอยู่เฝ้าจนกว่าเจ้าของจะตามไปถึง ใช้เวลาประมาณห้าหกชั่วโมง ทั้งที่ตัวเองก็มีธุระและเป็นเวลากลางคืนด้วย ตั้งแต่จัดรายการมาสิบปี เราพบกรณีคนทำความดีเยอะมาก นี่ขนาดคัดแล้วยังมีประมาณร้อยกว่าคน แสดงให้เห็นว่าสังคมกรุงเทพฯ ยังมีน้ำใจให้กันอยู่มาก เพียงแต่บางครั้งเขาไม่รู้จะแสดงมันออกมายังไงเท่านั้นเอง" 
      ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นหลังจากรายการ จส. ๑๐๐ ออกอากาศคือ ผู้ฟังได้รวมตัวกันเป็นสมาชิกชุมชน จส. ๑๐๐ ซึ่งเป็นชุมชนรูปแบบใหม่ ไม่ยึดติดกับพื้นที่ทางกายภาพ แต่ผูกโยงกันไว้ด้วยคลื่นวิทยุเดียวกัน จนหลายคนเรียกว่า "ชุมชนกลางอากาศ" โดยกลุ่มผู้ฟังที่ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวอิสระ ช่วยรายงานสภาพการจราจรบนท้องถนนเข้ามายังรายการ จะเรียกตัวเองว่าสมาชิก จส. ๑๐๐ และนัดพบปะสังสรรค์กันจนผูกพันคุ้นเคยราวกับอยู่ในชุมชน (ที่มีขอบเขต) เดียวกัน แม้ว่าสมาชิกชุมชนแห่งนี้จะต่างฐานะอาชีพ แต่เมื่อเป็นสมาชิก จส. ๑๐๐ แล้ว ทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกัน คนขับเบนซ์และคนขับแท็กซี่ ต่างก็มีโอกาสรายงานสภาพการจราจร และแสดงความคิดเห็นในรายการได้เท่า ๆ กัน ชุมชน จส. ๑๐๐ จึงเป็นชุมชนรูปแบบใหม่ที่ทำให้ช่องว่างทางชนชั้นของสังคมกรุงเทพฯ ลดน้อยลง 
      นอกจากรายการ จส. ๑๐๐ จะช่วยสร้างสังคมเมืองอย่างกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่แล้ว วิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน คลื่น F.M. ๙๖.๐ MHz ยังเป็นอีกรายการหนึ่งที่มีภารกิจเดียวกัน ด้วยการเปิดรับฟังและร่วมหาทางแก้ไขปัญหาของคนกรุงเทพฯ
(คลิกดูภาพใหญ่)       พรชัย วีระณรงค์ หนึ่งในผู้จัดรายการกล่าวถึงเป้าหมายการทำงานว่า
      "สิ่งที่เราพยายามทำมาตลอดคือทำให้คนในสังคมมีน้ำใจให้แก่กัน ชีวิตคนกรุงเทพฯ เป็นชีวิตที่เคร่งเครียด ทุกคนอยู่ในภาวะต้องปากกัดตีนถีบ ต้องเอาตัวรอด ต้องแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเอง เพื่อครอบครัว แม้กระทั่งการแสวงหาพื้นที่บนผิวจราจรเพื่อไปส่งลูกให้ทันโรงเรียนเข้า เราจึงเห็นคนกรุงเทพฯ แต่ในด้านมืด แต่ผมเชื่อว่าคนกรุงเทพฯ ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่มีทั้งด้านมืดและด้านสว่างในจิตใจ ลึก ๆ แล้วทุกคนมีความเมตตาอยู่ในใจ เพียงแต่มันจะแสดงออกมาเมื่อไรเท่านั้น ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงด้านสว่างออกมา เขาก็จะแสดงมันออกมาทันที แล้วเวลามันออกมา มันถั่งท้นยิ่งกว่าเขื่อนแตกเสียอีก ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนหรือสัตว์ หากขอความช่วยเหลือออกไป เขาจะหยิบยื่นความช่วยเหลือกลับมาทันที" 
      ตัวอย่างน้ำใจคนกรุงเทพฯ ที่น่าประทับใจคือ กรณีน้ำท่วมจังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟังจำนวนมากหลั่งไหลมาบริจาคเงิน และข้าวของที่สำนักงานร่วมด้วยช่วยกัน จนได้ของใช้กองเป็นภูเขาขนาดย่อมที่ใต้ถุนอาคาร บางคนเป็นนักธุรกิจไม่มีเวลานำสิ่งของมาบริจาคด้วยตนเอง ก็โทรแจ้งเข้ามายังรายการ ทางรายการก็ประชาสัมพันธ์ออกไป แท็กซี่ซึ่งมีน้ำใจแต่ไม่มีเงินหรือสิ่งของบริจาค ก็เสนอตัวไปรับของมาส่งให้ กลายเป็นกองทัพมดเชื่อมน้ำใจคนกรุงเทพฯ ไปยังคนต่างจังหวัดที่เดือดร้อน 
      ถนอม อ่อนเกตุพล ผู้ดำเนินรายการอีกท่านหนึ่งกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของคนกรุงเทพฯ นับตั้งแต่เริ่มจัดรายการเมื่อห้าปีก่อนว่า 
      "ความเปลี่ยนแปลงที่ผมสังเกตเห็นมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ แง่บวกก็คือ เมื่อสี่ห้าปีก่อนเราเคยได้ยินข่าวว่ามีคนถูกรถชนแต่ไม่มีใครเข้าไปช่วย หรือเข้าไปช่วยแล้วถูกญาติคนเจ็บหรือคนตายซ้อมเพราะคิดว่าเป็นคนชน บางคนอาจตกเป็นผู้ต้องหาขับรถชนคนตายเพราะไม่มีพยานรู้เห็นเหตุการณ์ บางคนถูกตำรวจนำไปขังไว้ทั้งคืน ทำให้หลายคนไม่อยากเข้าไปช่วย แต่ทุกวันนี้เราจะไม่ได้ยินเรื่องเหล่านี้หรือได้ยินน้อยลง เพราะเมื่อมีคนเห็นอุบัติเหตุ เขาจะแจ้งมายังรายการทันที หลังจากนั้นเราก็จะแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยอาสาสมัครให้เข้าไปช่วยเหลือ หรืออย่างน้อยเราก็ร่วมเป็นพยานให้แก่คนที่เข้าไปช่วยเหลือ ไม่ให้เขาตกเป็นผู้ต้องหา
      "ส่วนความเปลี่ยนแปลงในแง่ลบก็คือ รายการนี้ทำให้คนส่วนหนึ่งไม่ยอมพึ่งตัวเอง พอมีปัญหาอะไรนิดอะไรหน่อยก็ไม่รู้จักแก้ไขเอง แต่โทรแจ้งให้ทางรายการช่วยประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เคยมีกรณีน้ำท่วมถนนเพราะถุงพลาสติกไปปิดปากท่อ ชาวบ้านก็โทรมาขอความช่วยเหลือ อยากให้ กทม. มาเอาถุงพลาสติกออก ผมก็ถามว่า แล้วพี่ช่วยเอาออกได้หรือเปล่า เขาตอบว่าได้ ผมก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นพี่เอาออกก่อนนะ เพราะกว่า กทม. จะมาถึงคงใช้เวลาเป็นชั่วโมง สุดท้ายเขาก็เอาออกให้ ผมอยากบอกว่า การร่วมด้วยช่วยกันต้องเริ่มจากการแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน ไม่ให้เป็นภาระสังคม ถ้าแก้ไม่ได้ค่อยบอกให้สังคมช่วยแก้ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าร่วมด้วยช่วยกันอย่างแท้จริง"
 (คลิกดูภาพใหญ่)

รื้อฟื้นชุมชนเก่า

      ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีโครงการทำให้กรุงเทพฯ "สวย" และ "น่าอยู่" หลายโครงการด้วยกัน เช่น การอนุรักษ์ย่านเก่า ปิดถนนให้คนเดิน และจัดทัวร์เที่ยวชมสถานที่สำคัญบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์โดยรถบัสสองชั้นเปิดหลังคา
      เป้าหมายหลักที่ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมก็คือเขตพระนครชั้นในซึ่งมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่มากมาย เป็นที่ตั้งของวังเจ้านายมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ อาทิ ถนนพระอาทิตย์ตั้งแต่ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าไปจนป้อมพระสุเมรุ ก็เรียงรายไปด้วยวังเจ้านายซึ่งอาคารบางหลังยังหลงเหลือและได้รับการอนุรักษ์ไว้ เช่น ตึกของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) และตึกองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ตึกทั้งสองหลังเคยเป็นอาคารในบริเวณวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ (พระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๕) มาแต่เดิม หรือตำหนักพระองค์เจ้าหญิงมนัศสวาสดิ์ ปัจจุบันเป็นที่ทำการพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย นอกจากตัวอาคารสถานที่แล้ว หลักฐานอื่นใดที่แสดงร่องรอยของอดีตจะได้รับการอนุรักษ์และ "โปรโมต" ดังเช่นลำพูต้นสุดท้ายในย่านบางลำพู ใกล้ป้อมพระสุเมรุ 
      นอกจากนี้ยังมีย่านเก่าอีกกว่าสิบย่านในเขตพระนคร ซึ่งหลงเหลือร่องรอยของวันวานแต่เพียงชื่อ อาทิ ย่านนางเลิ้ง แหล่งผลิตตุ่มอีเลิ้งในอดีต แม้ปัจจุบันไม่มีตุ่มอีเลิ้งให้เห็นแล้ว แต่ย่านนี้ยังคงมีร้านรวงเก่า ๆ ที่ขายอาหารตำรับดั้งเดิมรสเลิศ ไม่ว่าจะเป็นไส้กรอกปลาแนม ข้าวมันส้มตำ ขนมไทยนานาชนิด ย่านบ้านหม้อซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนจากแหล่งปั้นหม้อและภาชนะเครื่องหุงต้มมาเป็นแหล่งขายเพชร อะไหล่เครื่องไฟฟ้า ย่านบ้านบาตร บริเวณถนนบำรุงเมืองและถนนบริพัตร ยังคงมีคนทำบาตรหลงเหลืออยู่บ้าง หรือย่านบ้านดอกไม้ ใกล้ภูเขาทอง ยังคงมีคนผลิตดอกไม้ไฟหลงเหลืออยู่สองสามครอบครัว
      แม้ว่ากระแสการอนุรักษ์ย่านเก่าจะทำให้กรุงเทพฯ น่าอยู่มากยิ่งขึ้น แต่นโยบายและวิธีการจัดการของบางหน่วยงาน ได้สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน ในบริเวณดังกล่าวด้วย ดังเช่นนโยบายอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ของรัฐบาล ดร. อดุล วิเชียรเจริญ คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ และประธานอนุกรรมการกำกับแผนปฏิบัติการอนุรักษ์ และพัฒนาโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงแนวทางอนุรักษ์ "ความเก่า" ของเกาะรัตนโกสินทร์ ของคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๒๑ ว่า

(คลิกดูภาพใหญ่)

      "เราได้มองหารูปแบบบรรยากาศที่เป็นจุดเด่นของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีความสำคัญและพึงรักษาไว้ เพื่อยึดเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์และพัฒนาทั้งหมด ๒๐ โครงการ โดยเราพิจารณาตั้งแต่ยุคสมัยรัชกาลที่ ๑ ลงมาก็เห็นว่ากรุงรัตนโกสินทร์ช่วงที่มีลักษณะรูปแบบบรรยากาศ ที่ควรจะถือเป็นต้นแบบในการพัฒนา ก็คือช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ในช่วงนั้นเรามีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ ทำให้ได้รับวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมทางตะวันตกและจีนเข้ามา ส่วนสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของไทยก็มีอยู่แล้ว ทั้งพระบรมมหาราชวังและวัดต่าง ๆ แต่ช่วงหลังจากนั้นก็เริ่มมีสิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ ที่ไม่น่าดูเกิดขึ้น ทั้งตึกแถวและกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นการทำลายบรรยากาศที่เงียบสงบ สง่างาม คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่ารูปแบบและบรรยากาศของกรุงรัตนโกสินทร์ที่ดี ที่เหมาะสม น่ายึดถือเป็นแบบอย่างหรือแนวทางในการพัฒนาก็คือ ช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ เท่านั้น
      "วิธีการจัดการก็คือกระจายความแออัดออกไปและสกัดกั้นไม่ให้เกิดขึ้นอีก พยายามเปิดที่โล่งให้มาก ผลักดันการจราจรที่คับคั่งออกไปนอกบริเวณกรุง กิจกรรมต่าง ๆ ที่สวนทางกับบรรยากาศสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็พยายามขจัดไม่ให้มี อย่างเช่น ที่ปากคลองตลาดซึ่งเป็นตลาดค้าส่ง มีรถส่งของวุ่นวายมาก ขยะก็เยอะ ก็จะย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดปัญหาการทรุดตัวของโบราณสถาน อันเกิดจากแรงสั่นสะเทือนจากรถบรรทุกด้วย บริเวณท่าเตียนก็จะปรับรื้ออาคารที่ไม่เหมาะสม หรือก่อให้เกิดความรกรุงรัง เหลือไว้แต่อาคารที่มีเอกลักษณ์หรืออาคารที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ กิจกรรมที่เป็นการค้าส่งก็จะให้เลิก บริเวณแพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์ ขณะนี้เป็นสลัม เราจะเคลียร์พื้นที่แล้วสร้างอาคารขึ้นใหม่ เพื่อให้มีกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว ถ้าทำได้ตามแนวทางที่วางไว้ทั้ง ๒๐ โครงการ กรุงรัตนโกสินทร์จะกลายเป็นเมืองที่สวยงาม มีพื้นที่เปิดโล่งให้คนมาเดินเล่น พักผ่อน และเรายังจะกำหนดให้บางจุดเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรม มีการแสดง การละเล่นตามประเพณีวัฒนธรรมไทย" (อ่านรายละเอียดแผนแม่บทฯ กรุงรัตนโกสินทร์ในนิตยสาร สารคดี ฉบับ ๑๙๖)
      นโยบายดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการด้านสังคมหลายท่าน อาทิ รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอาวุโส มองว่า
      "เมืองคือความซับซ้อนหลายยุคหลายสมัย สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมีความหมายต่อประวัติศาสตร์และความเป็นเมือง เมืองเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง มีความเปลี่ยนแปลง มีคนอยู่ แต่เขากำลังจะไล่คนออกไป เหลือแต่สิ่งก่อสร้าง กรุงเทพฯ ไม่ได้มีมิติของอดีตอย่างเดียว แต่มีมิติของปัจจุบันและอนาคตรวมอยู่ด้วย เมืองคือที่ที่มีมนุษย์อยู่ มีทั้งที่สวยและไม่สวยถึงจะเป็นเมืองมนุษย์"


(คลิกดูภาพใหญ่)

สร้างชุมชนใหม่ 

      ธีรยุทธ บุญมี เคยเสนอแนวทางการสร้างวัฒนธรรมเมืองขึ้นมาใหม่ในสังคมกรุงเทพฯ ว่า
      "การสร้างวัฒนธรรมเมืองขึ้นมาใหม่อาจสร้างจากสิ่งที่ยังตกค้างอยู่บ้าง หรือสร้างวัฒนธรรมเมืองแบบใหม่จากกลุ่มอาชีพ กลุ่มผู้มีรสนิยมและอุดมคติเดียวกัน เช่น กลุ่มวิ่งเพื่อสุขภาพ กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ กลุ่มกีฬา ควรส่งเสริมมิติของความลึกในเชิงความคิด ความงาม ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้มากขึ้น และพัฒนาจริยธรรมของปัจเจกให้ดีขึ้น ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม กลุ่มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาก็พัฒนาวัฒนธรรมร่วมของตัวเองขึ้นมา แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและกัน ควรส่งเสริมในจุดนี้" ปัจจุบันเราได้เห็นชุมชนหลายชุมชนที่เกิดขึ้นจากความสนใจร่วมกัน เช่น ชุมชนชีวจิต สำหรับผู้ใส่ใจสุขภาพ มีนิตยสาร ชีวจิต เป็นสื่อกลาง ชุมชน จส. ๑๐๐ และชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน มีรายการวิทยุเป็นสื่อกลาง หรือชุมชนชายรักชาย มีสถานบันเทิงบนถนนสีลมและนิตยสารประจำกลุ่มเป็นสื่อกลาง เป็นต้น 
      ล่าสุด โครงการปิดถนนสีลมเพื่อประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ถึง ๓๑ ธันวาคม ตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืนทุกวันอาทิตย์ ๒๕๔๔ ภายใต้แคมแปญ "๗ มหัศจรรย์ที่สีลม" เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สร้างสีสันให้แก่เมืองกรุงเทพฯ และได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย เนื่องจากกิจกรรมในโครงการนี้ตอบสนองสิ่งที่คนกรุงเทพฯ โหยหาอยู่ลึก ๆ คือ การได้ฟังเพลง เดินชมศิลปวัฒนธรรม เดินเล่น ในบรรยากาศสบาย ๆ 
ขวัญสรวง อติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงทิศทางการเจริญเติบโตของกรุงเทพฯ ว่า
      "บางคนอาจคิดว่าเมืองดีไม่ดีอยู่ที่ผังเมือง แต่เอาเข้าจริงแล้วเมืองมันซับซ้อน มีทั้งกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เมืองจะดีต้องมีความรู้ที่จะมองไปข้างหน้าร่วมกันอย่างน้อยสักห้าปี มีการเมืองที่ดี คนในเมืองมาร่วมกันพูดคุย ถกเถียงถึงปัญหาของเมือง เวลาเลือกตั้ง นักการเมืองก็ต้องมีนโยบายจากสิ่งที่ถกเถียงกัน การเมืองและผังเมืองคือลมหายใจของการอยู่ร่วมกันที่แข็งแรง 
      "ชุมชนจะมั่นคงแข็งแรงต้องมีคนอยู่ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง แต่คนกรุงเทพฯ จำนวนมากย้ายที่อยู่อาศัยตลอดเวลา ความสัมพันธ์ สายใยในชุมชนจึงไม่ต่อเนื่อง หากต้องการให้ชุมชนที่เพิ่งเกิดใหม่เข้มแข็ง ผู้บริหารเมืองจะต้องสร้างพื้นที่ให้เขาได้มีโอกาสพบปะ พูดคุย วิสาสะกันมากขึ้น เช่น เปิดลานตลาด สวนสาธารณะ สภากาแฟ พอคนได้พูดคุยรู้จักกันมากขึ้นก็จะเริ่มถามถึงอนาคตร่วมกัน พูดคุยถึงปัญหาร่วมกัน พื้นที่สาธารณะเหล่านี้ต้องกระจายเป็นจุด ๆ ตามแหล่งชุมชนสมัยใหม่ เพื่อให้คนเดินทางไปใช้ประโยชน์ได้สะดวก
      "เมืองมันต้องโต เมืองไม่โต เมืองก็ตาย แต่การโตของมันมีสติพอที่จะจัดวางหรือรักษาอะไรที่มันดีไว้ให้ได้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ประกอบด้วยการตัดสินใจส่วนตัวของคนเป็นล้าน ๆ คน ต่างคนต่างคิด ไม่ได้มองไปข้างหน้าร่วมกัน หน่วยงานของ กทม. ต่างคนก็ต่างวางแผน ต่างจัดการ จราจรทางหนึ่ง ประปาทางหนึ่ง ไม่มีการวางแผนร่วมกัน ถ้าเรามองภาพรวมกรุงเทพฯ ตอนนี้ ถามว่ามันคืออะไร และข้างหน้ามันจะเป็นยังไง...ไม่มีใครตอบได้" 


(คลิกดูภาพใหญ่)
      "ผมเป็นตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริมาห้าปีแล้ว แต่เดิมผมอยู่หน่วย ๑ ของตำรวจ ๑๙๑ ป้องกันและปราบปรามการจลาจล ช่วงที่มีการโยกย้าย ผมเลือกมาอยู่หน่วยจราจรเพราะใจรักมาตั้งแต่เด็ก ๆ อยู่ในส่วนเปรียบเทียบปรับ ดูแลประชาชนที่มาเสียค่าปรับกรณีขับรถผิดกฎจราจร 
      "ผมได้คุยกับรุ่นพี่ที่เป็นตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริฯ เขาเล่าเรื่องการทำงานซึ่งสนุกและตื่นเต้น เช่นพาผู้ป่วยซึ่งมีเลือดออกเต็มตัวไปส่งโรงพยาบาล แม่ของเด็กร้องไห้ดีใจใหญ่ที่ลูกรอดตาย ...เรารู้สึกว่าเป็นงานที่ได้ช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนที่เจ็บป่วยหรือมีความทุกข์ ขาหัก หรือบาดเจ็บ ปรกติเขาจะคิดถึงแพทย์ แต่ตอนนี้ตำรวจกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งที่จะให้ความช่วยเหลือได้ ผมก็เลยเลื่อมใสในงานนี้
      "จราจรโครงการพระราชดำริของในหลวง คำว่า "ในหลวง" กินใจประชาชนมาก ผมเลยสมัครใจอยู่ที่นี่ทั้งที่ขณะนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเลย แรก ๆ รุ่นพี่ก็พยายามสอนว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง อุบัติเหตุอย่างนี้ รถชนกันต้องรีบแยกรถ ไม่อย่างนั้นจะเป็นปัญหาการจราจร ถ้ามีคนเจ็บ ต้องช่วยเหลือคนเจ็บก่อน เพราะชีวิตสำคัญที่สุด ถ้าอาการไม่สาหัส เราเคลื่อนย้ายเขาให้พ้นการกีดขวางการจราจรได้ แต่ถ้าสาหัสมาก เราก็ประสานกับรถพยาบาลต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันอยู่ 
      "จนทางกองกำกับการของโครงการฯ ส่งตำรวจจราจรน้องใหม่ไปอบรมเรื่องการช่วยทำคลอด และช่วยเหลือผู้บาดเจ็บบนท้องถนน เช่น การห้ามเลือด ดามกระดูก วิธีการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บที่แขนหัก ขาหัก กระดูกแตก คอหัก เวลาเคลื่อนย้ายควรทำอย่างไร เราก็คิดว่าตำรวจจราจรคงจะช่วยเหลือด้านอุบัติเหตุมากกว่า เราเป็นตำรวจจราจร เรารู้เส้นทาง น่าจะพาไปส่งโรงพยาบาลทัน คงไม่ต้องลงมือทำคลอดเอง
(คลิกดูภาพใหญ่)       "แต่สุดท้ายต้องมาทำคลอด เป็นเหตุการณ์ที่คิดไม่ถึง ผมขับจักรยานยนต์นำรถแท็กซี่ที่กำลังพาผู้หญิงท้องแก่ส่งโรงพยาบาล ปรากฏว่าคนขับแท็กซี่บอกว่าผู้โดยสารคลอดแล้ว ผมใจหายวูบเลย ทำอะไรไม่ถูก คิดในใจว่าต้องมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นด้วยเหรอ จากที่เรามีความเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราจะพาผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลทัน ความเชื่อมั่นของเราหายวูบไปเลย ถึงโรงพยาบาล หมอมาดู ก็สงสารเด็กมาก ต้องเอาเข้าตู้อบ จากเหตุการณ์นี้ทำให้เราทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ทำให้เราต้องอบรมเรื่องการทำคลอด 
      "เคสแรกที่ผมทำ พอคนในรถร้องว่าคลอดแล้ว ก็ตกใจ เด็กโผล่หัวออกมาแล้ว...ทำไงดีล่ะ ตอนที่อบรมมา ขั้นแรกเราต้องหยุดรถ และรีบทำคลอด ไม่อย่างนั้นถ้าเด็กออกมาแล้วสายสะดือพันคอเด็ก จะทำให้เด็กหายใจไม่ออก หรือว่าน้ำคร่ำแม่แตกออกมามาก หากเด็กคว่ำหน้าออก อาจหายใจดูดน้ำคร่ำนี้เข้าไป ผมจึงรีบจอดรถ สวมถุงมือเข้าไปช่วยเด็ก ใจก็นึกถึงสูญรวมของเราคือในหลวง เราเป็นตำรวจจราจรโครงการของในหลวง เราสวมเครื่องแบบ สวมหมวกสีน้ำเงินอยู่ เราได้รับการอบรมมาแล้ว เราต้องช่วย ไม่ทำไม่ได้ ผมก็เดินไปรายงานตัวว่า "สวัสดีครับ ผมเป็นตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริของในหลวง ผมสามารถช่วยเหลือคุณได้"
      "พอญาติผู้ป่วยได้ยินอย่างนี้ บางทีเขายังงงอยู่ว่าตำรวจโครงการพระราชดำริเป็นยังไง ประชาชนเขาหยุด เขาอึ้ง สีหน้าเป็นทุกข์อยู่ว่าเด็กจะปลอดภัยหรือไม่ เราต้องรายงานตัวกับเขา เขาจึงยอมให้เราช่วย แต่บางรายอาจจะบอกว่าคุณรีบพาไปโรงพยาบาลดีกว่า เพราะฉะนั้นเราถึงต้องแนะนำตัว เปิดกระเป๋าอุปกรณ์ให้เขาดู หยิบถุงมือยางขึ้นมาสวม หยิบลูกยางแดงออกมา บอกว่าลูกคุณต้องใช้ลูกยางแดง แกะจากกล่องให้ดูเลยว่าเป็นของใหม่ สะอาด ไม่มีติดเชื้อ ให้ผมช่วยนะ เดี๋ยวเด็กหายใจไม่ออก เขาเห็นอย่างนั้นก็จะยอมให้เราช่วย เราก็ลงมือเลยด้วยท่าทางทะมัดทะแมง ยังไงก็สร้างความเชื่อมั่นให้แก่เขาก่อน ใช้ลูกยางแดงดูดในจมูก ในปากเด็ก เอาน้ำคร่ำออกมาบีบทิ้ง เสร็จแล้วเราก็หยิบแคลมป์ (clamp-กรรไกรคีม) ออกมา บอกว่านี่แคลมป์นะครับ ต้องหนีบสายสะดือไว้กันเด็กเสียเลือด เราก็เอาสำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดอุปกรณ์ให้สะอาด หนีบแคลมป์ไว้ ยังไม่ต้องตัดสายสะดือครับ เพราะต้องใช้กรรไกรที่คมและสะอาด ไม่เช่นนั้นจะติดเชื้อ เชื้อโรคจะเข้าทางสายสะดือเด็กโดยตรง
(คลิกดูภาพใหญ่)       "เราจะปลอบเขาว่าคุณไม่ต้องรีบแล้วนะ ลูกคุณปลอดภัยแล้ว เดี๋ยวทำให้เรียบร้อยแล้วค่อยส่งโรงพยาบาล เราก็กระตุ้นให้เด็กร้องหน่อย เขาได้ยินเสียงลูกก็โล่งใจ เราก็เอาผ้าห่อเด็กให้ได้รับความอบอุ่น รีบพาส่งโรงพยาบาล เมื่อถึงมือหมอและพยาบาล ก็หมดหน้าที่ของเราแล้ว 
      "เวลาไปช่วยประชาชน บางคนที่เคยได้ยินเรื่องตำรวจจราจรโครงการฯ มาก่อน พอเห็นหน้าเราเขาก็ตะโกน มาแล้ว ! มาแล้ว ! เหมือนเราเป็นหมอเลย ช่วยหิ้วกระเป๋า จูงมือเราไปเลย ประชาชนให้ความไว้วางใจมาก เชื่อใจมาก ก็เป็นที่ชื่นใจของเรา ประชาชนมีสีหน้าชื่นใจมาก มีความสุข หาน้ำหาท่าให้เรากิน
      "ในการช่วยเหลือประชาชน เราได้เห็นแม่สูญเสียลูก พี่สูญเสียน้อง ร้องไห้กันทั้งบ้าน เราก็เสียใจกับเขาด้วย แต่ถ้ารายไหนรอด จากที่เขามีความทุกข์ เราไปช่วยจนเขาโล่งอก สบายใจ เราได้เห็นรอยยิ้ม ซึ่งรอยยิ้มตรงนั้นมันหายาก เขาเดินมากอดไหล่ กอดเอวเราบ้าง บางครั้งนำสินน้ำใจมาให้ แต่เรารับไม่ได้ เราเป็นตำรวจจราจรโครงการของในหลวง ถ้าจะขอบคุณ ขอให้เขียนไปรษณียบัตรเขียนแสดงความคิดเห็นส่งมา จะเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับเรา เรามีไปรษณียบัตรให้เขาเสร็จสรรพ 
      "ผมมักได้รับคำถามว่า เวลาทำคลอด ยังตื่นเต้นอยู่อีกหรือไม่ ตอบได้ว่าไม่ว่าเจอมากี่ครั้ง ก็ยังตื่นเต้นทุกที แม้ว่าผมจะช่วยทำคลอดมาแล้วทั้งหมด ๒๖ ราย 
      "เคยมีนักข่าวจากออสเตรเลีย อังกฤษ มาดูงานโครงการ แล้วนำไปเขียนเผยแพร่ว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ตำรวจจราจรช่วยทำคลอดได้ พอเขามาเห็นอุปกรณ์ วิธีการปฏิบัติงาน เขาก็ยอมรับว่าเยี่ยม ทำให้เรายิ่งเกิดความภาคภูมิใจและมั่นใจมากยิ่งขึ้น" 
 (คลิกดูภาพใหญ่)

ขอขอบคุณ

      คุณนิรันดร์ ชุณหชาติ (เอื้อเฟื้อภาพถ่ายมุมกว้างกรุงเทพฯ "Bangkok and the River of Kings") 
      คณะกรรมการชุมชนบ้านครัวเหนือ
      โครงการสะพานพระราม ๘ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร
      ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร บก. ๐๒ กองบังคับการตำรวจจราจร
      ฝ่ายปฏิบัติการพิเศษการจราจร (โครงการพระราชดำริจราจร)
      กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ
      กองบัญชาการตำรวจนครบาล
      สวนสันติภาพ
      ผู้อำนวยการเขตบางเขน
      แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส เซ็นเตอร์
      ร้านริเวอร์บาร์
      ร้าน Light House 
      ร้านอ๊อกซิเจนบาร์ มูฟวี่ วอล์ค ดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์
      บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 
      การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
      สถานีวิทยุชุมชน จส. ๑๐๐ 
      สถานีวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน
      คุณสาวิตรี สิงห์สถิตย์, คุณประนอม หินส้ม, คุณสีประภา สูญราช, คุณมาลี สีดี, คุณศิริพร สอนไชยญาติ
      คุณชนินทร์ โปสาภิวัฒน์
      บริษัท Live Project