สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๕ เดือน มีนาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๕ เดือน มีนาคม ๒๕๔๔ "ที่นี่กรุงเทพฯ ๒๐๐๒"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕  

จากบรรณาธิการ


คลิกดูภาพใหญ่
ฉบับหน้า
๙๙ ปี ส. เสถบุตร

     บางสิ่งบางอย่างอาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดหมาย...
     ปลายเดือนมกราคม ผมเดินทางไปยังเกาะแห่งหนึ่ง ที่อยู่ใกล้เส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลระหวางไทยกับพม่า ต้องนั่งเรือออกไปนานเกือบ ๓ ชั่วโมง เวลานั้นทะเลสงบ คลื่นลมไม่ค่อยแรง ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าใสไร้เมฆฝนที่เคยปกคลุมทะเลฝั่งระนอง ปีละไม่ต่ำกว่า ๘ เดือน
     ฝนเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้ไม่ค่อยมีคนมาเที่ยวเกาะแห่งนี้ มันจึงกลายเป็นสวรรค์ที่ยังไม่พลุกพล่าน สำหรับนักผจญภัยที่กล้าฝ่าพายุฝนมา
     วันกลับ เจ้าของเรือหางยาวที่สัญญาว่าจะนำเรือมารับพวกเรา โทรศัพท์มาบอกว่า เรือหางยาวเสีย ไม่สามารถมารับได้ทันเวลา แต่พวกเราหลายคนมีนัดหมายสำคัญที่กรุงเทพฯ จะต้องกลับวันนั้นให้ได้
     บังเอิญเจ้าของบังกะโลมีเรือหางยาวขนาดใหญ่ลำหนึ่ง เราจึงเหมาเรือกลับเข้าฝั่ง
     อันที่จริงเรือลำนี้มีขนาดใหญ่กว่าเรือที่จะมารับพวกเราเกือบเท่าตัว เครื่องยนต์เรือก็แรงกว่า แต่พอแล่นไปได้ครึ่งชั่วโมง น้ำทะเลก็ซึมเข้าเรือตลอดเวลา
     เจ้าของเรือสารภาพว่า รู้ว่าเรือรั่วตั้งแต่ออกจากฝั่งแล้ว แต่คิดว่าน่าจะแล่นไปถึงแผ่นดินใหญ่ได้ ถึงตอนนี้เขาคิดว่าขืนแล่นต่อไปเห็นทีเรือจะจมระหว่างทาง ...แน่นอนว่าบนเรือไม่มีชูชีพสักอัน 
     โชคดีที่มีเรือหางยาวลำเล็กลำหนึ่งแล่นผ่านมา จึงมีการเจรจาให้เรือลำนั้นนำพวกเราไปส่งฝั่ง
     เรือสองลำเข้าเทียบกัน การอพยพกลางทะเลเกิดขึ้นอย่างน่าหวาดเสียว เพราะเรือโคลงเคลงด้วยคลื่นลมที่รุนแรงขึ้นทุกที แถมเครื่องยนต์เรือยังดับไปครู่หนึ่งเสียอีก 
     เราหัวเราะกันเมื่อการผจญภัยบนเรือผ่านพ้นไปด้วยดี เรือลำใหม่ที่ไม่มีหลังคา พาเราถึงฝั่งอย่างปลอดภัย แม้ว่าช่วงท้าย ๆ จะมีฝนเทลงมาเป็นการเพิ่มรสชาติให้แก่ชีวิต
     ในใจยังนึกว่า เราประมาทเกินไปหรือเปล่า สำหรับการนั่งเรือมากลางทะเลแบบนี้
       เราโบกมือลาเมืองระนอง มุ่งหน้าสู่ชุมพรในเวลาใกล้เที่ยง ขับรถมาบนถนนสองเลนที่คดเคี้ยวไปตามภูเขา มีคนเตือนว่าถนนสายนี้ลื่นมาก เพราะรถบรรทุกปลาปล่อยน้ำทิ้งเรี่ยราดบนถนนเป็นประจำ ให้ขับรถอย่างระมัดระวัง
     พอเข้าเขตประจวบฯ ฝนเจ้ากรรมก็โปรยลงมาตลอดทาง ผมขับรถอยู่ในเลนกลาง ด้วยความเร็วไม่เกิน ๑๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง แลเห็นมอเตอร์ไซค์คันหนึ่ง จอดรอจังหวะเลี้ยวอยู่ตรงยูเทิร์น 
     จู่ ๆ มอเตอร์ไซค์คันนั้นก็พุ่งออกมา ผมถอนคันเร่งชะลอรถทันที กะว่าให้มอเตอร์ไซค์แล่นตัดหน้าไป แต่แทนที่มอเตอร์ไซค์จะเร่งความเร็วไปอยู่ในเลนซ้าย กลับหยุดรถกะทันหัน ผมเบี่ยงรถไปทางขวาเต็มที่ เพื่อไม่ให้ชนมอเตอร์ไซค์คันนั้น จนกันชนรถของผม ไปเกี่ยวแผ่นป้ายทะเบียนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ พลิกคว่ำลงกลางถนน
     ขณะที่รถของผมเสียการทรงตัว แฉลบออกนอกเลน โดยมีร่มของคนซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ แปะอยู่บนกระจกรถ รถค่อย ๆ แล่นลงไปในร่องกลางถนน
     ผมพยายามบังคับรถไม่ให้ออกนอกเส้นทาง แต่ไม่สามารถบังคับพวงมาลัยได้ เพราะถนนลื่นมาก รถตะแคงลงข้างทาง แต่พวกเราในรถมีสติดีทุกคน ไม่มีใครโวยวาย เพียงแต่ร้องเตือนว่า "ระวัง" "จับให้แน่น" 
     โทรศัพท์มือถือ เป้ หนังสือ เทลงมาทางฝั่งคนขับ 
     วินาทีที่กำลังบังคับรถนั้น ผมมั่นใจว่าคนในรถคงปลอดภัย เพราะขับมาช้า และมีสติที่ไม่เบรกรถกะทันหัน แต่ในใจคิดถึงคนขับมอเตอร์ไซค์ นึกถึงคนเจ็บ เลือด รถพยาบาล และคุกตาราง
     ไม่มีใครในรถเป็นอะไร พอโผล่ออกมาจากประตูรถ ไทยมุงหลายสิบคนก็มารุมล้อมโดยมิได้นัดหมาย ลุงคนขับมอเตอร์ไซค์วัย ๗๐ กว่าไม่เป็นอะไร ภรรยาที่นั่งซ้อนท้ายมีแผลเล็กน้อยที่ข้อเท้า 
     ผมกล่าวตำหนิลุงไปอย่างรุนแรงว่า หากผมไม่ตัดสินใจหักหลบมอเตอร์ไซค์แล้ว คงเกิดเรื่องใหญ่ ลุงยกมือไหว้ขอโทษขอโพย ยอมรับว่าตอนเลี้ยวรถมองไม่เห็นรถผม และเมื่อมองเห็น รถของผมก็แล่นมาถึงตัวแล้ว แกเลยจอดรถกลางถนนด้วยความตกใจทำอะไรไม่ถูก 
     ไม่ถึง ๑๐ นาทีตำรวจและรถยกก็มาถึง ปรากฏว่ารถยังอยู่ในสภาพเดิมสามารถขับต่อไปได้ เครื่องยนต์ไม่เป็นอะไร มีเพียงประตูด้านคนขับที่เป็นรอยเล็กน้อย 
     เราเสียเวลาที่โรงพักเพื่อจัดการเรื่องประกันอีกหลายชั่วโมง ก่อนจะกลับกรุงเทพฯ คนที่บ้านบอกว่าโชคดีมากจริง ๆ ที่ไม่มีใครเป็นอะไรเลย ถือเป็นการฟาดเคราะห์
     การเดินทางครั้งนั้นเตือนผมตลอดว่า นอกจากจะขับรถอย่างมีสติแล้ว จงจำไว้ว่า ภายในเสี้ยววินาที บางสิ่งบางอย่างอาจเกิดขึ้นได้เสมอ
     เสี้ยววินาทีแค่นั้น ... แต่ยาวนานจนต้องจดจำไปชั่วชีวิต

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com


สนับสนุน หรือ คัดค้าน
ให้ คู่มือวัยใส สอนเพศศึกษา
ประเทศไทย คนไทย กับ "ค่าความพร้อมจ่าย" ในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง
สารบัญ | ๑๐ อันดับเรื่องน่ารำคาญในที่ทำงาน | อบซาวน่าสมองฝ่อ | สัตว์เลี้ยงอมตะ | ที่นี่กรุงเทพฯ ๒๐๐๒ | ฟรานซิส. จิตร ช่างภาพผู้ยิ่งใหญ่ | ผ้าครามธรรมชาติ ศาสตร์และศิลป์แห่งการสัมผัส | เชิญดอกไม้ | เฮโลสาระพา | จากบรรณาธิการ
Francis Chit: Thailand's Great Photographer | Bangkok 2002


สงวนสิทธิ์ ตามกฏหมาย © Copyright. All rights reserved.
สำนักพิมพ์สารคดี: ๒๘-๓๐ ถนนปรินายก แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทร: ๒๘๑-๖๑๑๐, ๒๘๑-๖๒๔๑-๒ แฟ็กซ์: ๒๘๒-๗๐๐๓

Last updated: 14 July 2020
อ่านเอาเรื่อง ของเชิญรวมแสดงความคิดเห็น | นิตยสาร สารคดี ฉบับย้อนหลัง
[ เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | WallPaper | เที่ยวทั่วไทยไปกับ "นายรอบรู้" | โลกรายเดือน ]


Thailand Web Stat
  E-mailนิตยสาร สารคดี (Feature Magazine)