|
|
ณรงค์ : เรื่อง/ณรงค์, วรรณชนก : ภาพ
|
|
|
|
ด้วยระยะห่างเพียงไม่เกิน ๑๐ เมตร ดวงตาสีดำเปล่งประกายที่จ้องตอบมาทำให้ผมรู้สึกได้ถึงพลังแห่งความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว เอาจริงเอาจังที่ซ่อนอยู่ แม้ในมือจะมีกล้องติดเลนส์เทเลโฟโต้ที่พร้อมทำงาน
แต่ผมกลับสงบนิ่งราวกับว่ากำลังตกอยู่ในภวังค์ เราจ้องมองกันอยู่หลายอึดใจ เจ้าของดวงตาคู่นั้นจึงหันหลังกลับ ค่อย ๆ กระโดดไปตามโขดหินจนลับตาไป ไม่มีร่องรอยความประหวั่นพรั่นพรึง ตระหนกตกใจ เช่นที่สัตว์ป่าส่วนใหญ่จะรู้สึกต่อมนุษย์ปรากฏให้เห็น
กลับเป็นผมเองที่รู้สึกครั่นคร้าม...
ร่างเล็กเพรียวทว่าแข็งแรงที่เพิ่งโดดลับหายตามฝูงของมันไปนั้น แม้ดูเผิน ๆ จะไม่ต่างไปจากหมาบ้านที่วิ่งไล่กันเกรียวกราวให้เห็นอยู่บ่อย ๆ หากกลางป่าอย่างนี้ หมาที่รวมฝูงกันอยู่ เป็นอะไรไม่ได้เลยนอกจากหมาใน
แววตาของมันเมื่อครู่ ทำให้ผมไม่แปลกใจเลยกับคำบอกเล่าที่ว่า ไม่ใช่เพียงเก้งกวางเท่านั้นที่ขยาดกลัวกับหมาใน หากเสือดาว เสือโคร่ง หรือแม้กระทั่งหมีก็ยังนับมันเป็นศัตรูอันดับต้น ๆ ...โดยเฉพาะเมื่อมันรวมฝูง
|
|
|
|
หลาย ๆ คนมักถามผมว่า "จะไปเที่ยวไหน ?" เมื่อเห็นสัมภาระรวมทั้งอุปกรณ์ข้าวของต่าง ๆ ที่ผมตระเตรียมไว้ก่อนออกเดินทาง และเมื่อตอบว่า "ผมไปทำงาน ไม่ได้ไปเที่ยว" หลายคนก็ทำท่าแปลกใจ คงเพราะ "วันทำงาน" ที่ผมว่า
เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์สำหรับคนส่วนใหญ่ ระยะหลังเมื่อมีคนถามบ่อยเข้า จากคำตอบจึงเหลือแต่เพียงรอยยิ้มปริศนา สุดแล้วแต่ใครจะเข้าใจ
วันหยุดสุดสัปดาห์สองวันแม้จะดูน้อยนิด แต่มันก็มีค่ามหาศาลสำหรับคนทำงานที่ไม่ชอบชีวิตเมืองที่วุ่นวาย ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นที่ผมพักอยู่ไปไม่เกิน ๓ ชั่วโมง
ผมจะเข้าไปพบกับความสงบเงียบในใจกลางของผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง ที่นั่นเป็นเสมือนห้องเรียนธรรมชาติหลังใหญ่ที่รอให้นักเรียนน้อย ๆ อย่างผมหรือผู้คนที่สนใจเข้าไปสัมผัสและเรียนรู้ถึงวิถีอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ที่แห่งนี้คือ
"ทุ่งกะมัง" หรือที่รู้จักกันอย่างเป็นทางการว่า "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว"
ผมเริ่มต้นที่ทุ่งกะมังด้วยงานที่ไม่ยากนัก นั่นคือการไปศึกษาพฤติกรรมของนกที่ลงมาใช้น้ำที่บ่อน้ำซึ่งอยู่ห่างจากสำนักงานเขตฯ ประมาณ ๘๐๐ เมตร ใกล้ ๆ กับบ่อน้ำ
มีบังไพรกึ่งถาวรสร้างเอาไว้สำหรับให้คนรักนกหรือใครก็ตามที่สนใจมาเฝ้าดูพฤติกรรมของนก ผู้คนจำนวนมากรวมทั้งผมมีโอกาสได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากบังไพรแห่งนี้ ได้เห็นความงดงาม ความน่ารัก รวมทั้งอิริยาบถต่าง ๆ ของนกซึ่งมีอยู่ไม่น้อยกว่า ๔๐ ชนิด
นอกจากนกแล้ว ที่บ่อน้ำยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกระรอกดินแก้มแดง แมวดาว เก้ง หมาไม้ กระแตเหนือ รวมทั้งเพียงพอนเส้นหลังขาวที่ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ป่าหายากชนิดหนึ่ง
และหลังจากที่ผมแวะเวียนมา "ทำงาน" ในบังไพรที่ทุ่งกะมังนานหลายเดือน นอกจากจะได้รู้ได้เห็นวิถีชีวิตส่วนหนึ่งของนกนานาชนิดเหล่านี้แล้ว ผมยังมีโอกาสได้เห็นวิธีการทำงานของ "ทีมไล่ล่า" อันทรงประสิทธิภาพของหมาใน
สัตว์ที่ถือเป็นตัวร้ายอันดับต้น ๆ ในผืนป่าเมืองไทยด้วย
หมาใน เป็นหมาป่าหนึ่งในสองชนิดที่มีอยู่ในเมืองไทย (อีกชนิดหนึ่งคือ หมาจิ้งจอก ชนิดที่เรียกว่า Asiatic Jackal) ปัจจุบันจัดเป็นสัตว์ป่าหายาก เนื่องจากพื้นที่ป่าที่มันอาศัยลดน้อยลง รวมทั้งยังถูกล่าในบางพื้นที่
แต่สำหรับในป่าภูเขียวแล้ว หมาในยังจัดเป็นสัตว์ที่มีโอกาสพบเห็นได้บ่อย ๆ บริเวณสะพานใกล้ ๆ หน่วยพิทักษ์ป่าศาลาพรม เคยมีหลายคนเห็นฝูงหมาในเกือบ ๒๐ ตัวเดินข้ามน้ำในตอนเช้า ๆ บริเวณทุ่งกะมังก็เคยมีรายงานการพบหมาในรวมฝูงกันมากถึง ๔๒ ตัว
ผมเองเคยพบอยู่หลายครั้งเหมือนกัน แต่เป็นฝูงที่ไม่ใหญ่นัก ราว ๆ ฝูงละ ๕-๗ ตัว |
|
|
|
หมาในเป็นสัตว์สังคม มันจะอยู่รวมกันเป็นฝูงและอาศัยกลวิธีอย่างที่คนเราเรียกกันว่า "หมาหมู่" คืออาศัยพวกมาก ออกไล่ล่าเหยื่อพร้อมกัน เหยื่อของหมาในที่พบส่วนใหญ่จะมีขนาดไล่เลี่ยหรือใหญ่กว่าตัวของมัน
หากหมาในออกล่าเหยื่อแต่เพียงลำพัง โอกาสที่จะล้มเหยื่อก็คงมีน้อยหรือเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นพวกมันจึงต้องช่วยกันออกทำงาน หมาในจัดเป็นนักล่าตัวฉกาจ มันมีจมูกรับกลิ่นที่ดีเยี่ยม ทั้งยังวิ่งเร็ว
เมื่อมันรวมฝูงกันออกล่าเหยื่อจึงนับเป็นทีมไล่ล่าที่สมบูรณ์แบบ เมื่อได้กลิ่นเหยื่อ มันจะรีบออกติดตามไปอย่างรวดเร็ว ไล่ต้อนจนเหยื่อจนมุมหรือหมดแรง จากนั้นก็เข้ารุมกัดเหยื่อจนตาย สำหรับผมแล้ว คำว่า "หมาหมู่" ที่เรามักนำมาใช้กันในแง่ลบนั้น
เมื่อมาใช้กับหมาใน ผมกลับนึกเห็นภาพการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ หมาในแต่ละตัวรู้หน้าที่ของตนเป็นอย่างดีและทำตามหน้าที่นั้นอย่างเต็มกำลัง บางทีการทำงานเป็นทีมของพวกมันอาจนับเป็นตัวอย่างที่ดีที่มนุษย์บางกลุ่มที่ชอบกัดกันควรเอาเยี่ยงอย่าง
เมื่อหมาในรวมฝูง ดูจะไม่มีอะไรน่ากลัวสำหรับมันอีกต่อไป หลายครั้งที่สัตว์ผู้ล่าอย่างเสือโคร่ง เสือดาว ยังต้องยอมผละจากซากเหยื่อที่ล่ามาได้เมื่อเผชิญหน้ากับฝูงหมาในที่หิวกระหาย
คณะทำงานสำรวจจำนวนประชากรและแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง เคยพบร่องรอยการต่อสู้ระหว่างฝูงหมาในกับเสือโคร่งบริเวณริมห้วยในพื้นที่วิจัย ผลจะจบลงอย่างไรไม่มีใครรู้ พบเพียงซากของหมาในหนึ่งตัวที่โดนเสือโคร่งตะปบตาย
มนุษย์เองก็ดูจะไม่อยู่ในสายตามันสักเท่าไหร่ หลายครั้งที่ฝูงหมาในไล่ตามเหยื่อมาโดยไม่สนใจว่ามีคนอยู่ในบริเวณนั้นหรือเปล่า ที่นี่จึงมีคนเห็นหมาในออกมาปรากฏตัวอยู่ตามถนน (ปางม่วง-ทุ่งกะมัง) ใกล้ ๆ บ้านพัก
หรือแม้กระทั่งหลังสำนักงานเขตฯ อยู่เสมอ ๆ บางครั้งเวลาที่พวกมันจัดการเหยื่อได้ ยังลากเหยื่อมากินที่สนามฟุตบอลใกล้ ๆ สำนักงานเขตฯ ช่วงเวลาที่เคยพบและได้ยินเสียงหมาในออกล่าเหยื่อ มีทั้งในตอนสาย บ่าย ๆ จนกระทั่งช่วงพลบค่ำ
เว้นก็แต่ในช่วงดึกเท่านั้น แต่ใช่ว่าทุกครั้งที่ฝูงหมาในออกทำงานแล้วจะสัมฤทธิผล มีไม่น้อยที่พวกมันทำงานล้มเหลว สัตว์กินพืช ไม่ว่าจะเป็นเก้ง กวาง หรือเนื้อทราย บางตัวก็แข็งแรงเกินกว่าที่จะล้มได้ หากพวกมันไม่สามารถไล่ต้อนให้เหยื่อจนมุม
ผมเองเคยได้ยินกิตติศัพท์ความเป็นนักล่าของหมาในมานาน แต่กว่าจะได้มีโอกาสเห็นลีลาการไล่ล่าอันทรงประสิทธิภาพของพวกมันด้วยตาตัวเองก็ต้องใช้เวลาวนเวียนเข้าออกป่าภูเขียวอยู่หลายครั้ง ในช่วงแรก ๆ ที่เข้าป่านั้น
อย่างมากที่สุดก็พบเพียงฝูงหมาในวิ่งไล่กวางหายเข้าไปในป่า ตามด้วยเสียงอึกทึกครึกโครมของการต่อสู้ |
|
|
|
แต่หลังจากที่ได้ยินแต่เสียงอยู่หลายครั้ง ในที่สุดผมก็มีโอกาสได้เห็นการทำงานของหมาในด้วยตาตัวเอง
ครั้งแรกเกิดขึ้นขณะที่ผมและเพื่อนเฝ้ารอถ่ายภาพนกนกนานาชนิดที่แวะเวียนเข้ามากินลูกไทรที่กำลังสุกบริเวณหน่วยฯ ศาลาพรม ระหว่างที่จดจ่ออยู่กับการถ่ายภาพ ก็มีเสียงร้องของกวางดังขึ้นสอง-สามครั้งในราวป่าใกล้ ๆ
กับบึงน้ำ แต่ผมไม่ได้ให้ความสนใจกับเสียงร้องนั้นเท่าใดนัก
เวลาผ่านไปสักพักใหญ่ ๆ เสียงร้องแสดงอาการตื่นตกใจของกวางก็ดังขึ้นอีกครั้ง แต่คราวนี้มีเสียงร้องถี่ ๆ ติดกัน ผมจึงหันไปยังทิศทางต้นกำเนิดเสียง ทันเห็นตัวอะไรสักอย่างวิ่งหนีการไล่ล่าของหมาในสองสามตัวลงไปในน้ำ
แต่ก็ไม่วายถูกหมาในตามลงไปขย้ำ เมื่อตามไปดูก็เห็นว่าหมาในสองตัวตรงเข้ากัดส่วนหน้าของเหยื่อ อีกตัวหนึ่งกัดอยู่ที่บริเวณขาหลัง มันจัดการเหยื่อได้อย่างรวดเร็วและเตรียมลากเหยื่อขึ้นจากน้ำ
ระหว่างนั้นกวางตัวเมียที่โตเต็มที่พยายามเข้าจู่โจมฝูงหมาใน แต่ก็เป็นการเข้าโจมตีแบบกล้า ๆ กลัว ๆ ซึ่งไม่ส่งผลอะไรกับฝูงหมาในนัก ในช่วงเวลาเดียวกันมีกวางรุ่น ๆ อีกตัวหนึ่งจะเข้ามาช่วยกวางตัวแรก
แต่ก็ถูกสกัดกั้นจากหมาในอีกตัวที่โผล่ออกมาช่วยเพื่อนของมัน
ดูตามรูปการณ์ทำให้ผมแน่ใจว่าเหยื่อของฝูงหมาในคือลูกกวางนั่นเอง หมาในสองตัวช่วยกันลากเหยื่อที่มีขนาดไล่เลี่ยกับตัวมันหายลงไปในหุบอีกด้านซึ่งเป็นธารน้ำที่เต็มไปด้วยป่าไผ่
ส่วนหมาในอีกสองตัวที่เหลือคอยขัดขวางไม่ให้กวางอีกสองตัวตามเข้าไปรบกวนการลากเหยื่อ นี่แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ลงตัวของฝูงหมาใน
ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นหมาในรุมกัดเหยื่ออย่างชัดเจน เข้าใจว่าช่วงเวลาที่ผมได้ยินเสียงกวางร้องในครั้งแรกนั้น หมาในคงกำลังไล่ล่าลูกกวางอยู่ โดยทั่วไปฝูงหมาในจะเข้าโจมตีให้แม่กวางและลูกกวางสับสน
หากมันสามารถแยกลูกกวางออกมาจากแม่กวางได้ นั่นก็หมายถึงวาระสุดท้ายของลูกกวางที่จะมีลมหายใจ
หลังจากหมาในลากลูกกวางลงไปบริเวณธารน้ำได้สักพักใหญ่ ๆ เพื่อนผมซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ด้วยกันก็ตามลงไปดู ตอนนั้นฝูงหมาในกำลังกินเหยื่ออยู่พอดี มีลูกหมาสองตัวอยู่ในฝูงนั้นด้วย เขาพบว่าระหว่างที่ตัวอื่นกินเหยื่อ
จะมีหมาในอีกตัวหนึ่งคอยดูต้นทางอยู่ใกล้ ๆ พอเจอคน พวกมันก็แย่งกันฉีกเนื้อลูกกวางออกเป็นชิ้น ๆ แล้วคาบวิ่งหายไป แม้แต่กระดูกสักชิ้นยังไม่เหลือไว้ให้ดู
การไล่ล่าครั้งนั้นเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็ว และผมก็ทันเห็นเพียงช่วงปลายของเหตุการณ์เท่านั้น มาจนครั้งล่าสุดที่พบ ผมจึงได้เห็นขั้นตอนการทำงานของหมาในอย่างแจ่มชัด
วันนั้นจัดเป็นวันที่เงียบเหงา ในตอนเช้าตรู่ผมไปเฝ้าดูรังของนกยางลายเสือที่อยู่บนต้นไม้สูงประมาณ ๑๕ เมตร จากหนังสือ นกในเมืองไทย เล่ม ๓ ของอาจารย์โอภาส ขอบเขตต์ ระบุไว้ว่ายังไม่มีรายงานการทำรังวางไข่ของนกชนิดนี้ในบ้านเรา
จึงเป็นแรงจูงใจให้ผมสนใจต้องไปเฝ้าดู ที่ต้องเข้าไปแต่เช้า ก็เนื่องจากพ่อและแม่นกจะเข้ามาป้อนอาหารลูกเฉพาะในตอนเช้าและเย็นเท่านั้น |
|
|
|
เช้าวันนั้นหลังจากพ่อและแม่นกเข้ามาป้อนอาหารลูกได้ไม่นาน ฝนก็เริ่มโปรยละออง ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผม คือกลับไปยังที่พัก แม้ฝนหยุดตกในตอนสาย ๆ แต่ท้องฟ้าก็ยังอึมครึมอยู่ สำหรับคนเดินทาง-ถ่ายภาพแล้ว
มันเป็นสภาพอากาศที่ยากยิ่งต่อการทำงาน เมื่อจัดเตรียมอาหารเที่ยงเสร็จ ผมจึงเลือกเดินเข้าบังไพรที่บ่อน้ำ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าตอนนี้มีน้ำอยู่ทั่วไปแทบทุกหนทุกแห่ง นกสามารถใช้น้ำตามที่ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย แต่ผมยังแอบหวังอยู่ลึก ๆ
ว่าอาจจะมีนกบางชนิดมาใช้บ่อน้ำแห่งนี้
ตั้งแต่เข้ามานั่ง มีเพียงนกจับแมลงจุกดำคู่หนึ่งและระวังไพรปากเหลืองอีกสองตัวที่มาใช้น้ำ ฝนยังลงเม็ดมาเป็นช่วง ๆ ตลอดทั้งวัน จนกระทั่งหลังห้าโมงเย็นได้ไม่นาน
ผมก็ได้ยินเสียงร้องที่เริ่มคุ้นหูเมื่อเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในป่า เสียงนั้นเป็นเสียงร้องแสดงอาการตื่นตกใจของกวาง อาจเพราะพบเจอกับสัตว์แปลกหน้าอย่างมนุษย์ หรือถูกไล่ต้อนจากสัตว์ผู้ล่า
เสียงกวางเงียบหายไปได้ไม่นานก็ดังขึ้นมาอีก คราวนี้มันส่งเสียงร้องถี่ขึ้นและนานกว่าเดิมจนผมอดไม่ได้จึงออกจากบังไพรตั้งใจจะขับรถตามไปดูเหตุการณ์ ระหว่างทางก่อนถึงจุดที่รถผมจอดอยู่
เพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งก็ขับรถสวนเข้ามา
"ไป ไป ขึ้นรถ หมาในกำลังกัดกวางอยู่" เขาร้องบอกผม
ผมโดดขึ้นรถแทบจะทันที เรามุ่งหน้าตามเสียงกวางไปได้พักเดียวก็มาถึงที่เกิดเหตุ เพื่อนผมจอดรถห่างจากจุดที่ฝูงหมาในกำลังไล่กวางอยู่ประมาณ ๓๐๐ เมตร ความจริงเขามาพบเหตุการณ์ก่อนผมแล้ว
แต่พอดีไม่มีฟิล์มสำรองจึงต้องย้อนกลับไปเอาที่บ้านพัก ผมเลยพลอยโชคดีมีโอกาสมาทันเห็นเหตุการณ์
เรากึ่งวิ่งกึ่งเดินเข้าไปยังริมน้ำ ภาพที่เห็นคือฝูงหมาในกำลังไล่กัดกวางอยู่ในน้ำ หมาในสองตัวกัดดวงตาทั้งสองข้างของกวาง อีกตัวหนึ่งเลือกกัดบริเวณขาหลัง
ส่วนอีกตัวเดินระวังภัยอยู่บนฝั่งด้านตรงข้ามกับจุดที่เรายืนอยู่ โชคดีที่ตรงนั้นเป็นพุ่มไม้ใหญ่ให้พอได้อาศัยหลบซ่อนตัว แต่โชคร้ายก็คือเราไม่มีจุดที่จะถ่ายภาพได้ดี ๆ เพราะมีกิ่งไม้บังไปหมด
รวมทั้งต้นกกที่ขึ้นอยู่ริมน้ำซึ่งสูงจนบดบังบริเวณที่ฝูงหมาในกำลังไล่ล่ากวางอยู่
กวางตัวเมียขนาดโตเต็มที่ยังไม่ยอมตกเป็นเหยื่อง่าย ๆ มันสะบัดหัวจนหมาในที่กัดติดแน่นอยู่ลอยขึ้นไปในอากาศพ้นผืนน้ำ มันพยายามอยู่หลายครั้งจนเป็นอิสระและดิ้นรนที่จะหนี แต่ก็ยังถูกฝูงหมาในเข้าโจมตีอย่างต่อเนื่อง |
|
|
|
เพื่อนผมช่วยรั้งกิ่งไม้ออกเพื่อให้ผมถ่ายภาพก่อน ขณะที่ตัวผมเองต้องเขย่งยืนด้วยปลายเท้า กลั้นลมหายใจ เกร็งข้อมือซ้ายที่ประคองเลนส์ ส่วนมือขวาพยายามกดชัตเตอร์อย่างนุ่มนวล
เพราะขาตั้งกล้องหมดสิทธิ์ใช้งานในสภาพเช่นนี้
เวลาล่วงเลยไปไม่น้อยกว่า ๑๕ นาทีนับตั้งแต่ผมได้ยินเสียงกวางร้อง จนมาถึงขณะนี้ ฝูงหมาในดูอ่อนล้าจากการทำงานที่ต้องใช้กำลังมากเป็นพิเศษ เพราะต้องว่ายน้ำเข้าโจมตี การเคลื่อนที่ของหมาในเริ่มช้าลง
มีสองตัวหมดแรงอย่างเห็นได้ชัด สักพักจึงว่ายน้ำกลับเข้าหาฝั่ง แต่ตัวที่ดูจะมีขนาดใหญ่กว่าเพื่อนยังไม่ยอมเลิกรา ผมเดาเอาว่ามันน่าจะเป็นจ่าฝูง ถึงจะดูอ่อนแรง แต่มันก็ยังคงว่ายน้ำเข้าจู่โจม พยายามกระโดดตะปบที่หลังของเหยื่อเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า
ดูเหมือนว่าหากเหยื่อไม่ยอมล้ม ตัวมันก็คงไม่ยอมถอยเหมือนกัน
แม้กวางจะดูได้เปรียบตรงที่ตัวสูงพอจะยืนอยู่ในน้ำได้ และเหลือหมาในไล่กวางอยู่เพียงตัวเดียว แต่หนทางของกวางตัวนี้ก็ดูมืดมิด เพราะมันสูญเสียดวงตาทั้งสองข้างไปแล้ว
เลือดผสมกับน้ำไหลเป็นทางออกมาจากบริเวณดวงตาของกวางเคราะห์ร้าย เหี้ยตัวใหญ่ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นมาตั้งแต่แรกยังคงว่ายน้ำวนไปเวียนมาอยู่รอบ ๆ มันคงรู้ว่าอีกไม่นานจะมีอาหารที่เป็นผลพลอยได้จากการทำงานของหมาใน
ภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าอาจจะดูทารุณและโหดร้าย แต่มันก็เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงอีกด้านของชีวิตในวิถีธรรมชาติ ฝูงหมาในไม่ได้ฆ่าเพื่อความสนุกสนาน
ไม่ได้ฆ่าเพื่อนำซากมาให้ใครเก็บสะสมเพื่อแสดงความบกพร่องทางจิตใจของตัวเองให้ผู้อื่นรับรู้ เป็นเพียงแค่การทำงานเพื่อการดำรงอยู่ของชีวิต ...หนึ่งชีวิตเพื่ออีกหลาย ๆ ชีวิตจะอยู่รอด
หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของสัตว์ผู้ล่าคือควบคุมปริมาณประชากรของสัตว์กินพืชให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม หากมีแต่สัตว์กินพืชเช่นเก้งกวางขยายเผ่าพันธุ์เพียงอย่างเดียว เมื่อถึงจุดหนึ่ง
พืชอาหารของสัตว์ก็จะไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้สัตว์ผู้ล่ายังช่วยกำจัดสัตว์กินพืชที่เป็นโรคหรืออ่อนแอ ทำให้มีแต่สัตว์กินพืชที่แข็งแรงสมบูรณ์เท่านั้นที่สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้
|
|
|
|
หลังจากจัดการกับเหยื่อได้สำเร็จ หมาในก็เริ่มกัดกินลูกตาก่อนเป็นอันดับแรก ว่ากันว่าตัวที่มีสิทธิ์ได้กินอาหารพิเศษนี้มีเฉพาะหัวหน้าฝูงเท่านั้น ต่อจากนั้นจึงเริ่มกินเนื้อที่ส่วนอก โดยจะกัดและฉีกหนังออกก่อน
แล้วค่อยลงมือกินเนื้อที่อยู่ข้างใน เสร็จแล้วจะใช้วิธีเดียวกันในการเปิดช่องท้อง จัดการกับเครื่องในและเนื้อที่ส่วนท้องตามลำดับ หากฝูงใดมีลูกน้อยที่รอคอยอาหารอยู่ในรัง หมาในจะฉีกเนื้อของเหยื่อคาบกลับไปให้
เชื่อกันว่าฝูงหมาในสามารถไล่ล่าเหยื่อให้ไปตายใกล้ ๆ รัง เพื่อให้ลูกของมันเข้ามากินเหยื่อร่วมกับฝูงได้
ปรกติหมาในจะกินเหยื่อกันอย่างรวดเร็ว โดยมีตัวหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นยามเดินเวียนวนอยู่ใกล้ ๆ คอยระวังภัยให้แก่ฝูง เมื่อกินอิ่ม พวกมันจะทิ้งซากให้เป็นหน้าที่ของสัตว์นักกำจัดของเสียอย่างเหี้ยต่อไป
เมื่อได้เห็นการทำงานของหมาในชัดเจนแบบนี้แล้ว ทำให้ผมพอลำดับขั้นตอนการทำงานของหมาในอย่างคร่าว ๆ ได้ว่า ในการจู่โจมแต่ละครั้ง จะมีหมาในอย่างน้อยหนึ่งตัวคอยคุมเชิงอยู่รอบนอกเพื่อระวังภัยให้แก่ฝูงที่กำลังทำงานอยู่
ส่วนหน่วยจู่โจมนั้นเมื่อเข้าประชิดตัวเหยื่อได้ พวกหนึ่งจะโดดเข้ากัดที่ดวงตาของเหยื่อเพื่อทำให้เหยื่อมองไม่เห็น ส่งผลให้การหลบหนีเป็นไปอย่างยากลำบาก ส่วนอีกพวกหนึ่งก็จะพยายามกัดบริเวณขาหลังของเหยื่อ ซึ่งนอกจากจะทำให้เหยื่อหนีได้ลำบากแล้ว
ยังทำให้เหยื่อล้มลงได้ง่าย ถึงตอนนั้นฝูงหมาในก็จะช่วยกันรุมกัดเหยื่อจนตาย
ด้วยความที่หมาในชอบกัดกินลูกตาเหยื่อนี่เอง ซากสัตว์ที่ตกเป็นเหยื่อของหมาในที่เรามีโอกาสได้พบเห็นจึงมักจะไม่มีลูกตาเหลือติดอยู่ เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องเล่าในตอนเด็ก ๆ ที่คนเฒ่าคนแก่ชอบเอามาใช้ขู่ไม่ให้เด็ก
ๆ ออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้านเวลากลางคืน โดยบอกว่าเยี่ยวของหมาในนั้นมีพิษ ถ้าไปโดนเข้าแล้วเผลอเอามือขยี้ตา ตาจะบอดได้ เก้งกวางที่ตาบอดก็เพราะไปโดนเยี่ยวของหมาในเข้า เลยถูกหมาในจับกินได้ง่าย ๆ ผู้ใหญ่จะบอกเราว่าหมาในชอบเยี่ยวรดใบไม้ไว้ในตอนหัวค่ำ
กว่าพิษของมันจะหมดฤทธิ์ก็ในตอนรุ่งสาง เพราะงั้นจึงห้ามไม่ให้เด็ก ๆ ออกไปเล่นนอกบ้านตอนกลางคืน ...ไม่รู้ว่านี่เป็นเรื่องเล่าหลอกเด็กเฉย ๆ หรือว่าคนสมัยก่อนเห็นซากสัตว์ที่ถูกหมาในกัดกินและไม่เหลือลูกตาไว้ เลยเข้าใจไปอย่างนั้นจริง ๆ
มีเรื่องเล่าอีกเรื่องเกี่ยวกับหมาใน ซึ่งเมื่อผมมีโอกาสได้เห็นหมาในล่าเหยื่อด้วยตาตัวเองหลายครั้งเข้าก็ทำให้ผมไม่ค่อยเชื่อสักเท่าไหร่นัก นั่นคือเรื่องหมาในกลัวน้ำ เพราะมีอย่างน้อยสองครั้งที่ผมเห็นหมาในวิ่งไล่ตามเหยื่อลงไปในน้ำ
มีครั้งเดียวเท่านั้นที่ฝูงหมาในไม่ยอมตามเหยื่อลงไป ซึ่งก็อาจเป็นเพราะมันรู้ว่าน้ำบริเวณนั้นลึกเกินไปก็ได้ ครั้งนั้นลูกกวางวิ่งหนีการไล่ล่าลงไปในบึงน้ำ มันรอดจากการตกเป็นเหยื่อของฝูงหมาในก็จริง แต่กลับต้องมาเสียชีวิตเพราะจมน้ำตาย
ลูกกวางเมื่อถูกจู่โจมมักจะตกใจจนเกิดอาการช็อก ทำอะไรไม่ถูก บางตัวเมื่อหนีจากการไล่ล่าพ้น จะหลบมานอนนิ่งอยู่ในพุ่มไม้หรือพงหญ้าตลอดทั้งวัน
|
|
|
|
ผมเชื่อว่าเหตุผลอย่างหนึ่งในการหนีลงน้ำของเหยื่อที่ถูกไล่ล่าคือการลบกลิ่น ผมเคยพบเก้งตัวหนึ่งวิ่งหนีการไล่ล่าของหมาในสามตัวลงไปในน้ำ ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ลำน้ำพรมลดระดับลงมาก
มีหลายจุดที่สัตว์สามารถเดินข้ามได้อย่างสบาย ผมเห็นมันวิ่งลงน้ำข้ามไปยังฝั่งตรงข้าม วกกลับลงน้ำ แล้วก็วิ่งทวนน้ำขึ้นไปอีกราว ๆ ๕๐ เมตร ก่อนจะหยุดแช่น้ำในแอ่งลึกเกือบท่วมตัว จากนั้นฝูงหมาในที่วิ่งตามมาก็วิ่งข้ามน้ำตรงจุดเดียวกับที่เก้งข้าม
แต่พวกมันไม่เห็นเก้งที่หลบอยู่ในน้ำ ทั้งสามตัววิ่งตรงเลยขึ้นไปบนฝั่ง เก้งจึงอาศัยช่วงเวลานั้นวิ่งเลาะโขดหินตามลำน้ำหนีหายไป สักพักหมาในตัวหนึ่งก็วกกลับมาดมกลิ่นที่พื้นทรายริมฝั่งและเดินตามมาจนถึงชายน้ำบริเวณที่เก้งกลับลงน้ำ
มันมองหาเหยื่อตามลำน้ำแต่ก็ไม่พบ ในที่สุดมันก็จ้องมายังจุดที่ผมหลบอยู่ ทำท่าสงสัยและขยับใกล้เข้ามา แต่แล้วก็หยุดชะงัก หันหลังกลับออกวิ่งตามเพื่อน ๆ อีกสองตัวไป อาจเพราะได้กลิ่นมนุษย์ เท่าที่ผมรู้มา ไม่ว่าหมาในจะมีกิตติศัพท์ในทางร้ายแค่ไหน
ยังไม่เคยปรากฏว่ามันทำร้ายหรือโจมตีมนุษย์ ในทางตรงกันข้าม ตามประสบการณ์ของผม ทุกครั้งเมื่อหมาในรู้ว่ามีมนุษย์อยู่ใกล้ ๆ พวกมันจะรีบเร้นกายหายไปอย่างรวดเร็ว
ผมพบว่า การพบเห็นหมาในในแต่ละครั้งของผม เป็นเรื่องของความบังเอิญเสียมากกว่า หลายครั้งที่ผมเพียรพยายามเฝ้ารอถ่ายภาพฝูงหมาในขณะกำลังเดินข้ามน้ำบริเวณสะพานหินของลำน้ำพรม แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ
จากเช้าจรดเย็นตลอดช่วงเวลาที่เฝ้ารอ นอกจากเหี้ยที่พบหากินอยู่ตลอดลำน้ำแล้ว คงมีเพียงกวางและลิงกังเจ้าประจำที่จะมาข้ามน้ำตรงจุดเดิมเสมอ ๆ ผมอาจจะซ่อนตัวไม่ดีพอ หมาในจึงได้กลิ่น หรืออาจจะเป็นเพราะช่วงเวลาที่ผมไปเฝ้า
เป็นช่วงที่พวกมันเลือกข้ามน้ำในจุดอื่น ๆ คงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการทำงานกับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติที่เราไม่สามารถกำหนดอะไรได้ ถึงอย่างไรก็ตาม ผมยังมีความเชื่อว่า เมื่อออกมาทำงานในธรรมชาติ หากเราดำเนินตามครรลองที่ถูกต้อง
ธรรมชาติจะตอบแทนให้เราเอง
การออกมาใช้ชีวิตในธรรมชาติ เป็นการออกไปเรียนรู้ ทำความรู้จักกับตัวเองในอีกมุมหนึ่ง ทั้งยังทำให้ผมได้รู้และได้เห็นโลกกว้างขึ้นกว่าเดิม ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ชีวิตในบังไพรพื้นที่แคบ ๆ ก็ตาม ถึงวันนี้
ทุกครั้งที่ออกเดินทาง เมื่อมีคนถามว่าผมไปไหน ผมก็ยังคงตอบด้วยคำตอบเดิม ๆ ว่า "ผมไปทำงาน" สำหรับผม มันเป็นงานของชีวิต เป็นงานที่หัวใจอยากให้ทำ แม้ไม่ได้เป็นหน้าที่ แต่ก็ดูคล้ายจะเหมือน มันเป็นการออกเดินทางเพื่อทบทวนในสิ่งเก่า
เรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ บันทึกเรื่องราวที่พบเห็น เก็บเอาไว้บนแผ่นฟิล์ม และนำมาเล่าให้ใครบางคนที่อยากฟัง นั่นคืองานที่ผมอยากทำและได้ทำ
|
|
|
|
ขอขอบคุณ
ม.ล. ปริญญากร วรวรรณ แรงบันดาลใจในการทำงาน
คุณธีรภาพ โลหิตกุล คำแนะนำที่มีคุณค่ายิ่ง
คุณวรรณชนก สุวรรณกร คุณกิตติ กรีติยุตานนท์ คุณมงคล คำสุข และทุกท่านที่เป็นครูในห้องเรียนธรรมชาติ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
|
|
|
|
เอกสารประกอบการเขียน
- กองทุนสัตว์ป่าโลกสำนักงานประเทศไทย. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน, ๒๕๔๓.
- กิตติ กรีติยุตานนท์, มงคล คำสุข. "การศึกษาจำนวนประชากรและแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ", น. ๑๐๕-๑๑๓ วารสารสัตว์ป่าเมืองไทย ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑ ธันวาคม, คณะวนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๔๔.
- บุญชู ธงนำชัยมา, โรเบิร์ต มาเธอร์. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง, ๒๕๔๐.
- โอภาส ขอบเขตต์. นกในเมืองไทย เล่ม ๑-๕. สำนักพิมพ์สารคดี, ๒๕๔๑-๒๕๔๔.
- Charles M. Francis. A photographic guide to Mammals of thailand and southeast asia, 2001.
- Lekakul B., and J.A.McNeely. Mammals of Thailand. Kurusapha press,1977. |
|