สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๖ เดือน เมษายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๖ เดือน เมษายน ๒๕๔๕ "ดิกชันนารีชีวิตของสอ เสถบุตร"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๖ เดือน เมษายน ๒๕๔๕  

จากบรรณาธิการ


 

     จังหวัดกาญจนบุรี ปลายเดือนมีนาคม แม้ในเวลากลางวันอากาศจะร้อนจนแสบผิว แต่พอตกดึก อากาศก็หนาวเย็นจนต้องนอนขดตัวอยู่ในถุงนอน
     จากเส้นทางอำเภอทองผาภูมิมุ่งสู่อำเภอสังขละบุรี จะมีถนนลูกรังสายหนึ่งแยกไปสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผมนั่งรถลึกเข้าไปในป่า ผ่านหมู่บ้านหลายแห่ง ข้ามเขาหลายลูก เป็นเวลาประมาณสองชั่วโมงกว่า ก่อนจะมาสิ้นสุดที่หมู่บ้านคลิตี้ล่าง หมู่บ้านกะเหรี่ยงที่แผ่นดินและผืนน้ำอาบด้วยสารตะกั่ว เป็นข่าวเกรียวกราวติดต่อกันหลายปี
     เพื่อนที่ไปเยี่ยมหมู่บ้านคลิตี้ล่างเป็นครั้งแรกบอกกับผมว่า หมู่บ้านนี้เหมาะที่จะทำเป็นรีสอร์ต
เพราะภูมิประเทศสวยเหลือเกิน
     ทางเข้าหมู่บ้านเป็นสะพานไม้ข้ามลำธารใส พอขับรถเลยไปหน่อยจะเป็นเนินเขา ทอดสายตาลงมาจะเห็นบ้านของชาวกะเหรี่ยงเป็นหย่อม ๆ กระจายไปตามป่าใหญ่ ถัดออกไปเป็นภูเขาใหญ่ที่ครึ้มไปด้วยต้นไม้
     เราเดินลึกเข้าไปในหมู่บ้านที่มีประชากร ๔๐ กว่าครัวเรือน บ้านกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากลำธาร เราสัมผัสได้ถึงความชุ่มเย็นของสายน้ำ เห็นฝูงปลามากมายว่ายวนอยู่
     แต่พลันก็เห็นป้ายที่ติดบนต้นไม้ประกาศเตือนว่า "ลำธารบริเวณนี้ห้ามใช้ดื่มใช้กินเด็ดขาด"
     อย่าว่าแต่ดื่มกินเลย แค่ลงไปเล่นน้ำยังไม่ปลอดภัย เพราะเคยมีการสำรวจและปรากฏผลว่า น้ำในลำธารบริเวณนี้มีตะกั่วปนเปื้อนสูงเป็นพันเท่าในระดับปรกติ
คลิกดูภาพใหญ่
ฉบับหน้า
รำลึก ๑๐ ปี พฤษภา '๓๕
       เหนือหมู่บ้านคลิตี้ล่างขึ้นไปประมาณ ๑๐ กว่ากิโลเมตร มีโรงแต่งแร่ตะกั่วขนาดใหญ่ของ สส. และกำนันผู้มีอิทธิพล เปิดมานานนับสิบปี ปล่อยน้ำหางแร่ตะกั่วความเข้มข้นสูงลงสู่ห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นลำห้วยเดียวที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวกะเหรี่ยงราว ๕๐๐ คนในหมู่บ้านสองแห่ง คือหมู่บ้านคลิตี้บนและหมู่บ้านคลิตี้ล่าง
     ปี ๒๕๔๑ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ พบว่าตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้ก่อนที่ลำห้วยจะผ่านโรงแต่งแร่ มีปริมาณตะกั่วระหว่าง ๑๘๑-๕๖๗ มก./กก. ขณะที่ลำห้วยบริเวณโรงแต่งแร่พบปริมาณตะกั่ว ๑,๓๑๖-๑๑๒,๗๐๔ มก./กก.
     กระทรวงสาธารณสุขพบว่าชาวบ้านคลิตี้มีปริมาณตะกั่วในเลือดสูงกว่าคนกรุงเทพฯ ๕-๑๐ เท่า ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ในป่า แทบจะไม่เคยสูดควันท่อไอเสียรถยนต์แบบคนกรุง
     ชาวบ้านคลิตี้พาเราไปเยี่ยมเด็กหญิงตุ๊กตาวัย ๒ ขวบ เธอมีศีรษะโตผิดปรกติ ตัวผอมลีบ มีพัฒนาการทางสมองช้ามาก ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นผลมาจากการสะสมของสารตะกั่ว แต่ไม่มีแพทย์คนใดวินิจฉัยว่าเป็นผลมาจากสารตะกั่ว
     เราไม่แน่ใจว่าจะเชื่อเหตุผลของฝ่ายใด
     แต่ที่เห็นกับตาคือ ในหมู่บ้านมีผู้ป่วยอาการเหมือนกันหลายราย บางรายตาบอด หลายรายตายไปด้วยโรคร้ายอันลึกลับ
     ชาวบ้านคลิตี้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะไม่สามารถจับปลาในลำธารมากินได้อีกต่อไป หลายคนยอมรับว่าบางครั้งพวกเขาต้องไปล่าสัตว์ในป่ามากิน
     ทุกวันนี้แม้ว่าเหมืองจะถูกปิดไปแล้ว แต่สภาพลำน้ำคลิตี้ยังมีปริมาณตะกั่วสูง ลำห้วยยังไม่ได้รับการฟื้นฟูแต่อย่างใด
     ที่น่าตลกก็คือ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม มีโครงการจะเข้าไปสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำห้วยคลิตี้ โดยที่ตั้งของโครงการก็ห่างจากหมู่บ้านคลิตี้ล่างเพียง ๑๐ กว่ากิโลเมตร
     โครงการโรงไฟฟ้านี้ ก็คือการสร้างเขื่อนเพื่อนำน้ำมาปั่นไฟฟ้า ...เขื่อนที่อยู่กลางป่าอนุรักษ์ที่กำลังประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติลำคลองงู
     เขื่อนนี้มีมูลค่าราว ๕๐๐ ล้านบาท วัตถุประสงค์หนึ่งก็เพื่อให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างและชาวบ้านคลิตี้บนมีไฟฟ้าใช้
     แต่ชาวบ้านคลิตี้ทั้งสองแห่งบอกกับเราว่า พวกเขามีไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทางการติดตั้งแหล่งกำเนิดไฟฟ้าให้แล้ว เขาไม่ต้องการไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้
     เขาฝากถามมาว่า ทำไมไม่เอาเงินที่จะสร้างโรงไฟฟ้ามาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ซึ่งเป็นความต้องการเร่งด่วนของชาวบ้าน
     อย่ามาอ้างเหตุผลในการสร้างเขื่อนว่าชาวบ้านต้องการไฟฟ้า
     พวกเขาขอเพียงให้ลำธารปราศจากตะกั่ว จะได้กลับไปดื่ม ไปอาบ ไปว่ายน้ำและจับปลาในลำธารเหมือนเดิม
     ส่วนชาวบ้านที่ตายอย่างลึกลับ ๑๐ กว่าศพ เถ้ากระดูกยังเก็บไว้ที่วัดนั้น ชาวบ้านบอกว่า ไม่รู้จะไปเรียกร้องความเป็นธรรมจากใคร ล่าสุด สภาทนายความ ที่พึ่งของผู้ยากไร้ ก็มีทีท่าว่าจะปฏิเสธความช่วยเหลือทางกฎหมาย
     พอค่ำลง อากาศกลางป่าก็เริ่มหนาวเย็น แต่หัวใจของชาวคลิตี้หนาวเหน็บมานานแล้ว
 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com