|
|||||||||||||
|
|
|||
เมืองไทยมีสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมาอยู่แห่งหนึ่ง สร้างมา ๒๐ กว่าปีแล้วยังไม่เสร็จ และคงต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ สิ่งก่อสร้างนั้นได้แก่ ปราสาทสัจธรรมที่พัทยา ซึ่งเป็นปราสาทไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในสหรัฐอเมริกาก็มีงานแกะสลักขนาดมหึมาที่ทำมาแล้ว ๕๐ ปียังไม่เสร็จ ที่รัฐเซาท์ดาโคตา ตรงบริเวณที่เรียกว่า แบล็ก ฮิลส์ ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินเดียน ภูเขาลูกหนึ่งสลักเป็นใบหน้าของ เครซี ฮอร์ส วีรบุรุษตลอดกาลของอินเดียน เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ภูเขาทั้งลูกจะถูกแกะเป็นรูป เครซี ฮอร์ส กำลังควบม้า มีความสูง ๑๗๐ เมตร ยาว ๑๙๕ เมตร เมื่อถึงวันนั้น จะไม่มีอนุสาวรีย์ใดในโลกเทียบเคียงได้ในเรื่องความใหญ่โต เครซี ฮอร์ส เป็นนักรบอินเดียนเผ่าซูผู้ยิ่งใหญ่ ที่จับอาวุธขึ้นสู้กับคนขาวที่เข้ามาแย่งชิงดินแดนของชาวอินเดียน ในปี๒๔๑๙ เขาเคยนำนักรบอินเดียนเข้าต่อสู้กับกองทหารม้าที่ไม่เคยแพ้ใครเลยของนายพลคัสเตอร์แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ในสมรภูมิที่ลิตเทิล บิ๊กฮอร์น การรบครั้งนั้น เครซี ฮอร์ส ได้รับชัยชนะ คัสเตอร์ตายในที่รบพร้อมทหารม้า ๒๕๐ นาย นับเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของชาวอินเดียนที่มีต่อคนขาว หลังจากนั้นทหารสหรัฐฯ ก็ไม่เคยเอาชนะนักรบของ เครซี ฮอร์ส ได้ แม้จะมีกองกำลังที่เหนือกว่า ท้ายที่สุด เครซี ฮอร์ส เบื่อหน่ายการสู้รบ จึงเจรจามอบตัวกับกองทัพบกสหรัฐฯ แต่วันที่ เครซี ฮอร์ส เข้ามอบตัว เขาก็ถูกทหารสหรัฐฯ นายหนึ่งใช้ดาบปลายปืนแทงข้างหลัง เขาเสียชีวิตทันที ขณะอายุเพียง ๓๕ ปี ปี ๒๔๘๒ คอร์แซก ซิโอคาวสกี้ ประติมากรเอกผู้เคยได้รับรางวัลระดับโลกที่กรุงนิวยอร์ก ได้มีโอกาสเดินทางมาเยือนถิ่นอินเดียนและได้พบหัวหน้าอินเดียนเผ่าซูชื่อ เฮนรี สแตนดิง แบร์ ในรัฐเซาท์ดาโคตา หัวหน้าอินเดียนได้ขอร้องประติมากรหนุ่มให้สร้างงานชิ้นสำคัญ เพราะว่า "พวกเราชาวอินเดียนอยากให้คนขาวรู้ว่า อินเดียนมีนักรบที่ยิ่งใหญ่" หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซิโอคาวสกี้ก็ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับชาวอินเดียน โดยเริ่มงานแกะสลักภูเขาหินแกรนิตทั้งลูกที่มีความสูง ๑๘๓ เมตร ให้เป็นอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เวลาผ่านไป ๕๐ ปี ซิโอคาวสกี้จากโลกไปโดยที่งานยังไม่สำเร็จ ภรรยาและลูก ๆ ของเขารับสืบทอดสร้างความฝันของชาวอินเดียนให้เป็นจริง ปัจจุบันเฉพาะรูปสลักใบหน้า เครซี ฮอร์ส เสร็จสมบูรณ์แล้ว ขณะนี้ลูกหลานของซิโอคาวสกี้กำลังแกะสลักหัวม้าที่มีความสูง ๗๐ เมตร เมื่อนักข่าวถามว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้จะเสร็จสมบูรณ์เมื่อใด รัท ซิโอคาวสกี้ ภรรยาม่ายวัย ๗๖ ปีบอกว่า "ไม่มีกำหนด" ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสองสิ่ง คือ ฟ้าดินและเงินทุน เงื่อนไขประการหลังนั้น ทางครอบครัวเคยปฏิเสธเงินกองทุนช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ มูลค่า ๔๕๐ ล้านบาท เพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาวุ่นวาย เงินทุนในการก่อสร้างทั้งหมดจึงมาจากรายได้จากนักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมาเยี่ยมชมปีละล้านกว่าคน ครอบครัวซิโอคาวสกี้มีความฝันว่า นอกเหนือจากอนุสาวรีย์ เครซี ฮอร์ส แล้ว พวกเขาจะสร้างมหาวิทยาลัย ศูนย์วัฒนธรรม และศูนย์การแพทย์ เพื่อเป็นเกียรติแด่ชาวอินเดียนทั้งมวล อ่านถึงตรงนี้แล้ว ขอยกจอกเหล้าขึ้นดื่มคารวะแด่นักฝัน ผู้สร้างฝันให้เป็นจริง แม้จะใช้เวลาชั่วลูกชั่วหลาน |