สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๖ เดือน เมษายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๖ เดือน เมษายน ๒๕๔๕ "ดิกชันนารีชีวิตของสอ เสถบุตร"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๖ เดือน เมษายน ๒๕๔๕  

พจนานุกรมชีวิต : สอ เสถบุตร

เรื่อง: ศรัณย์ ทองปาน

   

A abase

 
(คลิกดูภาพใหญ่) He abased himself before the King.
เขาน้อมกายลงตรงพระพักตร์พระมหากษัตริย์


      เมื่อก้มลงมอง เขาก็พบว่าตัวเองกำลังสวมเครื่องแบบข้าราชสำนักเต็มยศ นุ่งผ้าม่วงใส่ถุงน่องรองเท้า ประดับเหรียญตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่เมื่อเหลือบตาขึ้นไป เขาก็ต้องแปลกใจเมื่อพบว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ที่ตนเองหมอบเฝ้าอยู่แทบพระบาทนี้ กลับไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้าของชาวสยาม จากนั้นภาพก็พร่าเลือนไป...
      ท่ามกลางคลื่นมหาชนที่กำลังตื่นเต้น สับสน กระสับกระส่าย ในบรรยากาศที่ดูราวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างที่เคยอ่านจากหนังสือ เขาปีนขึ้นไปยืนบนม้าเตี้ยๆ เริ่มกล่าวปราศรัยกับประชาชนที่กำลังห้อมล้อมยืนออฟังกันอยู่ ทันใดนั้น มีนายตำรวจสองนายแหวกฝูงคนตรงเข้ามาหา เขารีบกระโดดเข้าไปแทรกในกลุ่มคนแล้ววิ่งหนี แต่ตำรวจก็ยังวิ่งไล่ตามจับไม่ละลด เขาพยายามวิ่งหนีหัวซุกหัวซุน จนสะดุดล้มลง...

      เช้ามืดวันหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ นายสอ เศรษฐบุตร นักเรียนทุนคิงสกอลลาชิป ผู้กำลังศึกษาวิชาเหมืองแร่อยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ตกใจตื่นขึ้นหลังจากความฝันอันแปลกประหลาดในยามรุ่งสาง เขารู้สึกว่าความฝันนี้อาจเป็นลางสังหรณ์ ทั้งสำหรับอนาคตของเขา... และของประเทศสยาม
   

B bright

 
 (คลิกดูภาพใหญ่)

I was born in a bright reign of King Chulalongkorn.
ข้าพเจ้าเกิดในรัชสมัยอันช่วงโชติแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


      อีกหลายปีต่อมา เมื่อสอ เศรษฐบุตร เริ่มต้นงานเขียนปทานุกรมภาษาอังกฤษ-ไทย (เดี๋ยวนี้ใช้คำว่า "พจนานุกรม" แทน) แล้วจะอธิบายคำว่า bright ที่มีนัยความหมายว่า สว่างสดใส เขาเลือกใช้ประโยคตัวอย่างข้างต้นนั้น ซึ่งก็คือประวัติชีวิตของเขานั่นเอง
      สอถือกำเนิดขึ้น ณ เวลายิงปืนเที่ยง ของวันที่ ๑๐ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๖ ปีเถาะ (นับอย่างปัจจุบันจะเป็นต้นปี ๒๔๔๗ แต่สมัยนั้นถือเป็นปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ด้วยยังขึ้นปีใหม่ในเดือนเมษายนอยู่) ตกในปลายรัชกาลพระปิยมหาราช
      แม้สอเกิดมาในสกุลซึ่งจะได้รับพระราชทานนามต่อมาว่า "เศรษฐบุตร" อันถือเป็นคหบดีตระกูลหนึ่งของกรุงสยามก็ดี ทว่าฐานะของเขาก็ใช่ว่าจะนับเป็นลูกเศรษฐีได้ จริงอยู่ว่านายสวัสดิ์ บิดาของสอ คือบุตรชายคนเล็กของพระประเสริฐวานิช (เจ๊สัวเส็ง) นายอากรรังนกและเศรษฐีใหญ่คนหนึ่งในพระนคร หากแต่นายสวัสดิ์ก็มิได้ยินดีด้วยโภคทรัพย์ของบิดา ทั้งยังไม่อินังขังขอบกับยศถาบรรดาศักดิ์ จึงมิได้เข้ารับราชการหรือสืบทอดกิจการค้าขายใด ๆ ตรงกันข้าม เขากลับสนใจเฉพาะแต่เรื่องเครื่องยนต์กลไกและการประดิษฐ์คิดค้น มิหนำซ้ำ นายสวัสดิ์ยังตัดสินใจแต่งงานอยู่กินกับนางสาวเกษร บุตรนายหมวดทิม ท่ามกลางเสียงคัดค้านของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย
      ผลแห่งการทำตามใจตนก็คือถูกคว่ำบาตรจากบิดา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือตัดออกจากกองมรดกทั้งปวงนั่นเอง
      แต่นายสวัสดิ์ก็มิได้อนาทรร้อนใจอันใด คงมุ่งหน้าไปตามทางที่ตนได้เลือกแล้ว บุตรชายคนเล็กของมหาเศรษฐีเมืองกรุงจึงไปทำงานประดิษฐ์แป้นอักษรภาษาไทยให้แก่บริษัทพิมพ์ดีดสมิธ พรีเมียร์ ของพระอาจวิทยาคม (ยอร์ช แมคฟาร์แลนด์) เจ้าของกิจการผลิตเครื่องพิมพ์ดีดรายเดียวของประเทศ นอกจากนั้นแล้ว คุณพระอาจฯ ยังเป็นผู้แต่งปทานุกรมอังกฤษ-ไทย ที่แพร่หลายที่สุดในสมัยนั้น เด็กชายสอจำได้ว่าเคยติดตามบิดาไปบ้านคุณพระอาจฯ ที่หน้าโรงพยาบาลศิริราชหลายครั้ง และคุณพระอาจวิทยาคมนี้เอง ได้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่งานแห่งชีวิตของสอในกาลต่อมา


   

C cling

 
(คลิกดูภาพใหญ่) She clung to him through thick and thin.
เธอเกาะติดอยู่กับเขาไม่ว่ายากดีมีจน


      ด้วยความใฝ่ใจในการประดิษฐ์คิดค้น ที่สุด สวัสดิ์จึงลาออกจากงานที่บริษัท แล้วหันมาประกอบอาชีพ "อิสระ" ด้วยการทุ่มเทเวลา ตลอดจนทรัพย์สินเงินทองไปในทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ต่างๆ กิจการทั้งปวงในบ้านจึงย่อมตกเป็นภาระของนางเกษร ผู้เป็นภรรยา เช่นที่สอเคยเล่าประวัติครอบครัวของเขาไว้ว่า
      "...พ่อเป็นคนฉลาด แต่แม่เป็นคนเฉลียว...เพราะฉะนั้น ในการดำเนินชีวิตและครอบครัว พ่อจึงเปรียบเหมือนนักมวยซึ่งคอยแต่จะต่อสู้ท่าเดียว ส่วนแม่เป็นผู้จัดการ คอยแสวงที่จะเปลี่ยนงานของพ่อให้เป็นเงินเป็นทองขึ้น...พ่อไม่ได้ทำงานประจำ มัวยุ่งอยู่แต่เครื่องยนต์ ไดนาโม โวลท์ แอมแปร์ และอะไรต่ออะไรเหล่านี้เท่านั้น แม่กับพ่อต้องทะเลาะกัน เพราะพ่อเอาเครื่องยนต์มหึมาขึ้นมาตั้งไว้บนนอกชาน ทำให้บ้านซวนเซแทบจะพัง ในสมัยนั้นเครื่องยนต์สองแรงม้าก็มีน้ำหนักตั้งสองตัน...
      พ่อได้กระเตงเอาเครื่องฉายหนังและเครื่องทำไฟฟ้าไปจนถึงพระปฐม (พระปฐมเจดีย์ นครปฐม - ผู้เขียน) ในคราวมีงานประจำปี แล้วสร้างวิกหลังคาจากขึ้นบนลานรอบองค์พระ ฉายหนังเก็บเงินจากคนที่ไปเที่ยวในงาน แม่เก็บเงินครั้งนั้นได้หลายพันบาท พ่อจึงเอาเงินไปซื้อเรือกลไฟ ต่อไดนาโมเข้ากับเครื่องกลไฟ แล้วตั้งเครื่องฉายหนังขึ้นบนหลังคา แล่นเรือไปฉายหนังตามจังหวัดต่างๆ ในภาคกลางแทบทุกจังหวัด ในเวลาหยุดเรียน ข้าพเจ้าก็ติดเรือไปกับพ่อด้วย...."
      ต่อมา สวัสดิ์ เศรษฐบุตร เกิดความคิดว่าน่าจะนำภาพยนตร์ไปฉายทางภาคอีสาน ซึ่งในสมัยนั้น รถไฟยังไปถึงเพียงโคราช ต่อจากนั้น ต้องใช้ช้างและเกวียนรอนแรมไปในป่า แม้ว่าความคิดนี้จะได้รับการทัดทานจากนางเกษรอย่างแข็งขัน แต่สวัสดิ์ก็ยังดึงดันทำตามความคิดของตนเช่นเคย
   

D dead

 
(คลิกดูภาพใหญ่)

My father is dead and gone. บิดาของผมตายพ้นโลกไปแล้ว

      คล้อยหลังไปเพียงไม่กี่เดือน สอ เศรษฐบุตรก็ได้พบบิดาอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ ท่านอยู่เป็นอัฐิมาในห่อผ้า ด้วยว่าเมื่อไปถึงเพียงศรีสะเกษ สวัสดิ์ เศรษฐบุตรก็ถึงแก่กรรมด้วยไข้มาลาเรีย
      เมื่อขาดหัวหน้าครอบครัวไป ภาระก็ยิ่งตกหนักอยู่แก่นางเกษรผู้เป็นมารดา แม้รายได้จากงานเย็บปักถักร้อยอันเป็นสิ่งที่เธอมีฝีมืออยู่บ้างจะพอเลี้ยงชีวิตไปได้ แต่การส่งเสียลูกที่กำลังเรียนหนังสือถึงสามคนก็ดูจะเป็นเรื่องที่พ้นวิสัย สอ ในฐานะลูกชายคนโตจึงตัดสินใจไปลาออกจากโรงเรียนสวนกุหลาบ ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยม ๗
      เมื่ออาจารย์โบมองต์ (A. G. Beaumont) ครูประจำชั้นของเขาได้ทราบเรื่องราว จึงขอให้เขาเรียนต่อไป โดยอาจารย์หางานพิเศษให้รับจ้างสอนภาษาไทยแก่เพื่อนฝูงชาวยุโรปของท่าน
      การณ์กลับกลายเป็นว่า รายได้จากค่าสอนหนังสือไทยของสอนี้ ไม่ชั่วแต่จะพอส่งเสียตัวเองให้เรียนต่อได้เท่านั้น หากแต่ยังเป็นรายได้หลักของบ้าน เพราะเงินค่าจ้างสอนเดือนหนึ่งๆ นั้น เทียบเท่ากับเงินเดือนนายทหารชั้นสัญญาบัตรเลยทีเดียว นอกจากนั้นแล้ว พร้อมๆ กับที่สอนภาษาไทยให้แก่ฝรั่ง สอก็ได้รับความรู้ภาษาอังกฤษกลับมาด้วย จึงเป็นการได้ประโยชน์ถึงสองต่อ


   

E examine

 
  I have got through my examination. ฉันได้สอบไล่เสร็จไปแล้ว

      ด้วยความเชื่อมั่นในความรู้ภาษาอังกฤษของตนเอง สอ เศรษฐบุตรจึงตัดสินใจสอบแข่งขันชิงทุนเพื่อไปเรียนต่อเมืองนอก ปีแรก ขณะเมื่อสำเร็จเพียงมัธยม ๗ เขาสอบได้ทุนของกรมรถไฟ แต่แพทย์ผู้ตรวจร่างกายลงความเห็นว่า ตัวเล็กและไม่แข็งแรงพอจะทนทานต่ออากาศหนาวได้ ปีต่อมา เขาเข้าสอบชิงทุนคิงสกอลลาชิป หรือทุนเล่าเรียนหลวง ซึ่งผู้ที่สอบไล่ชั้นมัธยม ๘ ได้เป็นอันดับ ๑ และ ๒ ของประเทศจะเลือกไปเรียนวิชาอย่างใดก็ได้ตามใจสมัคร ก่อนสอบ สอเกิดป่วยเป็นไข้หวัด ทว่าก็ยังฝืนไปสอบ ครั้งนี้ เขาสอบได้ที่ ๓ จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับพระราชทานทุน สอต้องเรียนซ้ำชั้นมัธยม ๘ อีกปีหนึ่ง เพื่อเข้าสอบชิงทุนอีกครั้ง
      พัฒน์ เนตรรังษี หรือ พ. เนตรรังษี นักเขียนผู้เป็นที่รู้จักกันดีจากเรื่องชุด เด็กบ้านสวน คุ้นเคยกับสอมาตั้งแต่เด็กๆ ด้วยเหตุที่บ้านอยู่ใกล้กัน เขาเล่าว่าสอนั้น "...ผอมเกร็งมาแต่เด็ก ๆ แต่ก็ไม่ใช่คนขี้โรค ถ้าเทียบตามส่วนของร่างกาย รู้สึกว่าศีรษะเขาจะโตกว่าธรรมดาสักหน่อย จะด้วยเหตุนี้หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ จึงได้เรียนหนังสือเก่งนัก สอบได้ที่หนึ่งที่สองเสมอ...."
      หลังจากการสอบชิงทุนครั้งหลังไม่นาน พัฒน์ได้พบกับสอเพื่อนเก่าในตอนบ่ายวันหนึ่ง
      พัฒน์พบเขาระหว่างทางขากลับจากโรงเรียน ดูหน้าตาเศร้าหมองเต็มที จึงถามว่าการสอบคราวนี้เป็นอย่างไร
      "แย่" เป็นคำตอบสั้น ๆ
      "กลัวพลาดไปนอกหรือ ?" พัฒน์ถาม
      "อะไรไปนอก" เขาเงยหน้ามอง ดูเหมือนมีน้ำตาคลออยู่ในเบ้าตา
      "อย่าหวังเลยเรื่องไปนอก แค่สอบผ่านชั้น ๘ ก็คงไม่ได้"
      "อ้าว ! เป็นขนาดนั้นเชียวหรือ ?"
      "ทำพลาดหลายวิชา พลาดอย่างไม่น่าเป็นไปได้"
      เขาส่ายหน้าท้อแท้ แล้วก็เดินงุด ๆ กลับบ้าน
      แต่เมื่อประกาศผลสอบประจำปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ผลออกมาว่าสอสอบได้ที่ ๒ จึงมีสิทธิได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงให้ไปเรียนต่อ แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่ว่าเขาจะเลือกเรียนวิชาใดดี
      สอกลายเป็นหนุ่มน้อยเนื้อหอม ผู้ใหญ่ในกรมอากาศยานทหารบกได้มาชักชวนให้เขาเลือกเรียนวิชาช่างเครื่องบินเพื่อกลับมาสร้างเสริมกรม ฝ่ายกระทรวงเกษตราธิการ ท่านเสนาบดีได้กรุณามาพบเขาถึงบ้าน และสัญญากับเขาว่า หากเขาอยากจะเป็นอธิบดีกรมทดน้ำ (กรมชลประทาน) ก็ให้คว้าปริญญาทางการทดน้ำมาเป็นคนแรก หรือไม่เช่นนั้น หากเป็นคนแรกที่จบปริญญาทางวิชาเหมืองแร่มา ก็มีหวังว่าจะได้เป็นอธิบดีกรมโลหะกิจ (กรมทรัพยากรธรณีในปัจจุบัน) เช่นเดียวกัน
      ในที่สุด สอ เศรษฐบุตร ตัดสินใจเลือกเรียนวิชาธรณีวิทยาและการเหมืองแร่
   

F far

 
(คลิกดูภาพใหญ่)

I shall not be far from you for long.
ฉันจะไม่ไกลจากเธอไปนานนัก


      หลังจากใช้เวลาเดินทาง ๔๘ วันในตอนกลางปี พ.ศ. ๒๔๖๔ สอก็เดินทางถึงประเทศอังกฤษ เขาสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ได้ภายในเก้าเดือน และเพียงอีกสามปีต่อมา เขาก็สำเร็จปริญญาทางธรณีวิทยา [B.Sc. (HONS.)] และได้เป็นสมาชิกของสมาคมธรณีวิทยา (F.G.S. - Fellow of the Geological Society)
      ตั้งแต่ก่อนหน้าเดินทางไปเรียนต่อ สอมีสาวน้อยในดวงใจอยู่แล้ว สิ่งที่เขาได้ผ่านพบ การเล่าเรียน ชีวิตนักเรียนไทยในอังกฤษ ตลอดถึงรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ในชีวิต แม้แต่ความฝัน ได้ถูกบันทึกไว้ในจดหมายถึงมิตรหญิงทางเมืองไทยจำนวนหลายสิบฉบับ แม้ว่าต่อมา โชคชะตาจะพัดพาให้เธอได้แต่งงานไปกับบุรุษอื่น แต่สุภาพสตรีท่านนั้น ก็ยังคงเก็บจดหมายของสอไว้เป็นเวลาเกือบ ๖๐ ปี ด้วยความรู้สึกพิเศษที่คงมีเพียงเขาและเธอจะล่วงรู้ จนภายหลังจากที่ "เขา" ถึงแก่กรรม "เธอ" จึงนำมันมามอบให้แก่ครอบครัวของสอ
      ตัวอย่างความในใจของเขานั้น อาจเห็นได้จากจดหมายลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๕
      "คิด ๆ ดูก็น่าปลื้มใจ ที่อีกชั่วเวลาราว ๓ ปีเท่านั้น ฉันก็สามารถจะกลับไปเห็นหน้าเธอได้ แล้วต่อจากนั้น เราก็จะไม่ต้องพลัดพรากจากกันอีก แม้เธอจะอยู่ห่างไกล และฉันต้องจากเธอไปนานเท่าใดก็ตาม เธอจะแลเห็นว่าจิตรใจของฉันมิได้เปลี่ยนแปลงเลย"
      หากแต่ความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ก็กำลังตั้งเค้าขึ้น สอเล่าไว้ในจดหมายฉบับวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ว่า
      "...ฉันทราบมาว่าพวกนักเรียนไทยที่ฝรั่งเศสเขาชุมนุมกันเสมอ นัยว่าจะมีการคบคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นดีมอคเครซี แต่พวกนี้ออกจะหัวรุนแรงมาก ฉันเกรงไปว่ามันจะไม่ใช่ดีมอคเครซีน่ะซิ...."
      ในขณะที่สอกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่ School of Mines ทางราชการได้เรียกตัวเขากลับ เพื่อให้มารับช่วงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำกรมโลหะกิจและภูมิวิทยาแทนที่ปรึกษาชาวอังกฤษที่ทำงานมาครบกำหนดสัญญา
      สอ เศรษฐบุตร จึงเดินทางกลับมาถึงประเทศสยามในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙


   

G garter

 
(คลิกดูภาพใหญ่)   The King gartered him.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งให้เขาเป็นขุนนาง


      ตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ในอังกฤษ สอ เศรษฐบุตร มีความสนใจในงานหนังสือพิมพ์มาก เขาทำหน้าที่เป็นเลขานุการของสามัคคีสมาคม ซึ่งเป็นสมาคมนักเรียนไทยในอังกฤษ ทั้งยังรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการของ สามัคคีสาร นอกจากนั้น เขายังสรุปข่าวต่างประเทศในรอบสัปดาห์ส่งให้แก่หนังสือพิมพ์ไทย และเขียนบทความภาษาอังกฤษมาลงใน Bangkok Times และ Bangkok Daily Mail เป็นประจำ เพื่อเป็นรายได้จุนเจือครอบครัวทางเมืองไทย
      แม้จนเมื่อกลับมารับราชการแล้ว งานเขียนต่าง ๆ ของสอก็ยังคงมีปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะบทความที่ใช้นามปากกาว่า Nai Nakorn (นายนคร) ของเขา ที่ลงพิมพ์ใน Bangkok Daily Mail
      ทัศนะของนายนครเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก ถึงกับโปรดให้สืบหาตัวผู้เขียน และเมื่อทราบว่าเป็นข้าราชการในกรมโลหะกิจและภูมิวิทยา กระทรวงเกษตราธิการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนมารับราชการในกรมราชเลขาธิการแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๑
      จุดสูงสุดในชีวิตราชการของสอมาถึงตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๓๐ ปี ได้แก่ชั้นยศเสวกโท ซึ่งเป็นยศของข้าราชการพลเรือนเทียบเท่านายพันโท กับได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงมหาสิทธิโวหาร เจ้ากรมกองเลขาธิการองคมนตรี สังกัดกรมราชเลขาธิการ นอกจากนั้น หลวงมหาสิทธิโวหาร ยังได้รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในหน้าที่ต่างๆ ที่ทรงพระกรุณาฯ อีกหลายประการ เช่นไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทย ของกรมพระคลังข้างที่ ซึ่งถือเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
      ดังนั้น เมื่อการยึดอำนาจของคณะราษฎรมาถึง ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ หลวงมหาสิทธิฯ ก็ย่อมถูก "หางเลข" ไปด้วยอย่างเต็มที่
      เริ่มจากการถูกสอบสวน แล้วย้ายไปเป็นรองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ต่อมาอีกไม่กี่เดือน ก็ถูกโยกกลับไปถิ่นเดิมคือกรมโลหะกิจอีกครั้งหนึ่ง
      แม้ว่าเมื่อสิบปีก่อน เขาจะเคยรู้จักมักคุ้นกับหลายคนในคณะผู้ก่อการฯ ซึ่งก็คือนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่เขาเคยกล่าวถึงไว้ในจดหมาย แต่ในวันที่กระแสการเมืองกำลังเชี่ยวกรากเยี่ยงนั้น หลวงมหาสิทธิโวหารเล็งเห็นว่าคงเอาดีในทางราชการได้ยาก จึงตัดสินใจลาออกในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๗๕
      หลังจากลาออกได้ไม่ถึงเดือน ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมก่อตั้งโรงเบียร์ของบุญรอดบริวเวอรี อันเป็นกิจการของพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ที่มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน โดยมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการหนึ่งในห้าคนของบริษัท ทั้งยังคงเขียนบทความโจมตีรัฐบาลใหม่ในหน้ากระดาษของ Bangkok Daily Mail อยู่เนือง ๆ
 
   

I inaugurate

 
(คลิกดูภาพใหญ่) This is the inauguration of a new era.
นี่เป็นการเริ่มยุคใหม่ (เปิดฉากใหม่)


      ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ กองทัพจากหัวเมือง นำโดยพลเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชกฤดากร ในนามของ "คณะกู้บ้านเมือง" ยกทัพลงมาประชิดพระนคร และเข้ายึดสนามบินดอนเมือง เพื่อกดดันรัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นเผด็จการให้ลาออก แล้วถวายพระราชอำนาจคืนแก่พระมหากษัตริย์ เพื่อให้ทรงพระราชทานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริงให้แก่ทวยราษฎร์ ทว่า ทางฝ่ายรัฐบาลไม่ยินยอม มีการปะทะกันหลายแห่ง
      ในระหว่างนั้น บนเรือแมคอินทอช เรือชักลากแพซุงของบริษัทป่าไม้ศรีมหาราชา ที่ลอยลำอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Bangkok Daily Mail ของบริษัทสยามฟรีเปรสส์ (Siam Free Press) ได้มาชุมนุมกัน มีอาทิ พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช) นายหลุย คีรีวัต และหลวงมหาสิทธิโวหาร อนึ่ง สมควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ทั้งหนังสือพิมพ์Bangkok Daily Mail ก็ดี หรือบริษัทป่าไม้ศรีมหาราชาก็ดี ล้วนแล้วแต่มีพระคลังข้างที่ หรือที่ปัจจุบันนี้เรียกกันว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งสิ้น
      อีกหลายปีต่อมา เจ้าคุณศราภัยฯ เขียนเล่าว่าก่อนหน้านั้น ท่านและเพื่อนๆ ได้ไปโรเนียวใบปลิวโจมตีรัฐบาลที่บริษัทวิงเซ่งหลง บางลำพูล่าง ธนบุรี อันเป็นโรงเลื่อยที่บริษัทศรีมหาราชาเช่าไว้เก็บไม้และใช้เป็นที่ทำการในกรุงเทพฯ
      "...ใบปลิวที่ข้าพเจ้าพิมพ์ด้วยโรเนียวนั้นมีถ้อยคำรุนแรงมาก โจมตีรัฐบาลคณะราษฎร์ ในเรื่องไม่ได้รักษาวาจาสัตย์ตามหลัก ๖ ประการ ประชาชนพลเมืองไม่ได้รับประชาธิปไตยอันแท้จริง...นอกจากนี้ยังมีข้อความอีกหลายประการที่สามารถสงเคราะห์เข้าในความผิดกฎหมายอาญามาตรา ๑๐๔ หรือถ้าเกิดจลาจลขึ้น อาจสงเคราะห์เข้าในพวกกบฏ...เมื่อเราทราบว่าทหารหัวเมืองได้เข้ายึดกรมอากาศยานดอนเมืองไว้แล้ว ประกอบด้วยมีงานนักขัตฤกษ์พระเจดีย์กลางน้ำที่สมุทรปราการ เราลงเรือแม๊คกินต๊อชของบริษัทศรีราชาไปเที่ยวกัน ก็เลยมีความคิดว่าใบปลิวชนิดนี้ไม่เหมาะกับกาลเทศะเสียแล้วควรจะเผาเสียดีกว่า เราจึงช่วยกันเผาเสียหมด"
      ในขณะที่หลวงมหาสิทธิฯ เล่าเรื่องนี้ต่างออกไปว่า สิ่งที่กระทำกันในเรือ แมคอินทอช นั้น ก็คือการร่วมกันโรเนียวใบปลิวแถลงการณ์ของคณะกู้บ้านเมืองที่หลวงมหาสิทธิฯ แปลเป็นภาษาอังกฤษ ขณะที่กำลังพิมพ์อยู่นั้น เครื่องโรเนียวเกิดติดขัด คุณหลวงจึงต้องลงมือแก้ไขและหมุนเครื่องเอง แต่เมื่อมีข่าวออกมาว่ากองทัพพระองค์เจ้าบวรเดชฯ ถอยทัพจากดอนเมืองแล้ว และกำลังมีทีท่าว่าจะเป็นฝ่ายแพ้ พวกเขาก็ตัดสินใจเผาใบปลิวทั้งหมดในเตาหม้อน้ำเรือ เพื่อไม่ให้หลงเหลือหลักฐานใด ๆ
   

J just

 
(คลิกดูภาพใหญ่) There is no justice in the world. ไม่มีความยุติธรรมในโลกนี้

      แต่ไม่ว่าใบปลิวของใครจะถูกเผาไปบนเรือแมคอินทอชวันนั้นก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ
      ความพ่ายแพ้ของกองทัพหัวเมือง พระองค์เจ้าบวรเดชกฤดากรเสด็จโดยสารเครื่องบินลี้ภัยไปยังอินโดจีนของฝรั่งเศส พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ตายในที่รบ ณ ตำบลหินลับกลางดงพญาไฟ พันตรี หลวงหาญสงคราม (จิตร อัคนิทัต) กระทำอัตวินิบาตกรรมที่ดอนเมือง และคณะกู้บ้านเมืองแปรสภาพกลายเป็น "กบฏบวรเดช"
      หนังสือพิมพ์ Bangkok Daily Mail
      ถูกสั่งปิด และสตาฟทุกคนบนเรือ แมคอินทอช ในวันนั้นถูกหมายหัว โดยมีคนงานบนเรือเป็นพยาน พระยาศราภัยพิพัฒถูกจับขณะหลบหนีอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันออก เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๗๖
      เช่นเดียวกับที่หลวงมหาสิทธิโวหารถูกจับตัวจากสำนักงานบริษัทบุญรอดบริวเวอรี ในต้นเดือนพฤศจิกายน
      ในครั้งนั้น ทางรัฐบาลใช้วิธีเหวี่ยงแหกวาดจับทุกคนที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนพระองค์เจ้าบวรเดชฯ รวมทั้งรัฐบาลเก่าของระบอบราชาธิปไตย ดังนั้นจึงมีผู้ที่ถูกจับกุมทั้งทหารและพลเรือนกว่า ๘๐๐ คน
      ในชั้นต้น ทั้งหมดถูกส่งมาขังยังชั้น ๓ ตึกกระทรวงกลาโหมก่อน แล้วรัฐบาลจึงจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นเพื่อชำระความ จากนั้น อัยการศาลพิเศษก็ทยอยเรียกตัวไปไต่สวนเพื่อทำมูลฟ้อง บางคนก็ได้รับการปล่อยตัว ส่วนที่เหลือถูกส่งตัวไปฝากขังยังคุกบางขวาง นนทบุรี
      ระหว่างรอการพิจารณาคดี เมื่อหลวงมหาสิทธิโวหารถูกเรียกตัวไปสอบปากคำ ด้วยฐานกรุณา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ถามคุณหลวงว่าต้องการจะเป็นพยานหรือจำเลย
      คำตอบของเขาคือ "ผมไม่อยากจะเป็นทั้งพยานและจำเลย"
      ผลจากคำตอบนี้ของเขา ก็คือคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตของศาลพิเศษ ในวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๗ พร้อมกับพระยาศราภัยพิพัฒ นายหลุย คีรีวัต กับพวก โดยไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกา หรือการแต่งตั้งทนายแก้ต่างอย่างใดทั้งสิ้น ต่อมาในเดือนธันวาคม เพื่อให้สาสมกับความผิดฐานกบฏ จึงมีประกาศถอดยศและบรรดาศักดิ์ เสวกโท หลวงมหาสิทธิโวหาร เขาจึงกลับมาเป็นนายสอ เศรษฐบุตร อีกครั้งหนึ่ง
   

K knock

 
(คลิกดูภาพใหญ่) Out of a few soap-boxes I knocked together a desk and a chair.
ผมเอาหีบสบู่สองสามหีบมาปะติดปะต่อ (ผสมผเส) กันเป็นโต๊ะเก้าอี้ขึ้น


      เนื่องจากนักโทษการเมืองออกจะเป็นนักโทษที่ไม่ธรรมดา จึงได้รับสิทธิพิเศษกว่านักโทษสามัญ เช่นเมื่อเข้ามาในคุกแล้ว ก็สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่กับใคร เพื่อนร่วมห้องของ สอ เศรษฐบุตร มีอาทิ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน นายเชื้อ ชมวิทย์ และหลวงสรสิทธยานุการ (สิทธิ แสงชูโต)
      ที่ว่า "ร่วมห้อง" ก็เพราะตึกขังของเรือนจำมหันตโทษ บางขวาง เป็นกล่องคอนกรีตรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสองชั้น หลังคามุงกระเบื้องลูกฟูก แต่ละชั้นมี ๒๔ ห้อง คือมีทางเดินตรงกลาง ห้องขังแบ่งเป็นสองแถว แถวละ ๑๒ ห้อง ด้านหน้าเป็นลูกกรง ไม่มีหน้าต่าง ไม่มีไฟฟ้า ในเวลากลางคืนจะมีเพียงแสงสลัว ๆ จากโคมไฟที่แขวนไว้สูงลิบลิ่วตามทางเดิน ห้องขังหนึ่งห้องจะอยู่กันได้ ๘-๑๒ คน กับมีถังไม้ใบหนึ่งเรียกกันว่า "ถังเมล์" ใช้สำหรับเป็นที่ถ่ายหนักถ่ายเบาในเวลากลางคืน
      สิทธิพิเศษในแดน ๖ อีกประการหนึ่ง ก็คือได้รับยกเว้นจากการทำงาน ดังนั้น เมื่อนักโทษการเมืองแต่ละคนที่รู้ตัวแน่แล้วว่า มีโทษจำคุกตลอดชีวิต ก็จึงมักหาอะไรทำเพื่อฆ่าเวลาไม่ให้หมดไปเปล่า ๆ บ้างก็นำความรู้ของตนออกเผยแผ่ให้แก่พรรคพวก บ้างก็ได้โอกาสศึกษาวิชาใหม่ ๆ แปลก ๆ ที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อน
      นักโทษการเมืองรุ่น ๒๔๗๖ นั้น มีทั้งนายพล นายพัน นายร้อย เจ้าคุณ คุณหลวง คุณพระ หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ในจำนวนนี้ มหาเสวกโท หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร นับได้ว่าเป็นผู้ทรงประกอบด้วยชาติวุฒิคุณวุฒิสูงสุด ภาพที่คุ้นตานักโทษรุ่นนั้นก็คือ ท่านจะประทับยอง ๆ สอนภาษาอังกฤษและวิชาการกสิกรรมบนที่ดอนด้วยพื้นซีเมนต์ต่างกระดานดำ นาวาเอก พระยาศราภัยพิพัฒ ถือโอกาสนี้ศึกษาภาษาจีนกลางจากนักโทษชาวจีนที่ต้องคดีคอมมิวนิสต์ จนอ่านเขียนได้คล่องแคล่ว ส่วนหลวงสรสิทธยานุการ ก็สอนภาษาญี่ปุ่นให้แก่นายทหารหนุ่ม ๆ และทุกวันพระ มหาเมฆ อำไพจริต เปรียญธรรม ๙ ประโยค จะห่มผ้าเฉวียงบ่าแสดงธรรมแก่เพื่อนผู้ร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย
      ส่วน สอ เศรษฐบุตร นั้น มุมานะเขียนหนังสืออยู่กับพื้นห้องทั้งวี่ทั้งวัน บางคนดูแคลนว่าการติดคุกคงทำให้เขาฟั่นเฟือน และอีกหลายคนพากันเวทนาว่า จากอดีตข้าราชสำนักที่เคยอยู่สูงติด "ฟ้า" ได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท มีชีวิตที่โอ่อ่าหรูหราในราชสำนัก แต่เมื่อถึงวันนี้ กลับต้องนั่งหลังโก่ง เขียนหนังสืออยู่กับพื้น "ดิน" แต่ความตั้งใจของเขานั้น มันมากมายมหาศาล จึงทนหลังขดหลังแข็งเขียนไป ต่อมาภายหลัง พวกนักโทษการเมืองนิยมทำโต๊ะเขียนหนังสือตัวเล็กๆ จากหีบใส่นมกระป๋อง เอามาต่อขาสี่ขาเข้าอย่างง่าย ๆ สอจึงได้ขยับขยายมา "นั่งโต๊ะ" กับเขาบ้าง
   

L labor

 
(คลิกดูภาพใหญ่)   I did it as a labor of love.
ผมทำอย่างเป็นงานที่ใจรัก


      สิ่งที่สอก้มหน้าก้มตาเขียนอยู่นั้น คืออะไร ?
      ขณะนั้น สอ เศรษฐบุตร อยู่ในวัยเพียง ๓๐ ปี เมื่อต้องโทษคุมขังตลอดชีวิต อันเป็นเวลาแสนนานเกินกว่าที่จะนึกถึงจุดจบได้ เขาจึงคิดหาทางที่จะทำงานบางอย่าง
      ด้วยความภาคภูมิในความรู้วิชาหนังสือ สอจึงคิดว่าการเขียนหนังสือน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะกับเขาที่สุด แต่จะเขียนอะไรดี ?
      คลังความรู้ในสมองของเขา ระบุว่า หนังสือที่ขายดีที่สุดในโลกเป็นอันดับหนึ่งนั้นก็คือ Dictionary - พจนานุกรม หรือที่ในยุคนั้นใช้คำว่า "ปทานุกรม" และรองลงมาอันดับที่ ๒ ก็คือ Cook Book - ตำรากับข้าว อันเป็นของต้องกินต้องใช้เสมอไป
      เขาจึงตัดสินใจเขียนปทานุกรมอังกฤษ-ไทย ขึ้นในคุก เพื่อเป็นงานแห่งชีวิตของเขา อย่างที่เคยเล่าให้ พ. เนตรรังษี เพื่อนเก่า ฟังถึงสาเหตุที่เริ่มจับงานนี้
      "...การที่จะต้องเข้าไปอยู่ในบางขวางตลอดชีวิต หรือ ๒๐ ปี นั่นแหละ ทำให้เกิดความคิดว่าจะต้องวางแผนชีวิตให้ถ้วนถี่ เพราะเราเป็นคนจน บำเหน็จบำนาญก็ไม่มี แต่มีคุณแม่ มีครอบครัวที่จะต้องให้ความอุปการะ ก็ต้องคิดทำมาหากิน ความรู้อย่างอื่นไม่มีนอกจากวิชาหนังสือที่ได้ร่ำเรียนมา ก่อนอื่นจะต้องวางโครงการหาเงินให้คุณแม่มีใช้สอยประจำเดือนทุกเดือน จึงตกลงใจจะทำปทานุกรมอังกฤษ-ไทย ฉบับสมบูรณ์ จากตัว A ถึง Z ก็คงใช้เวลานับสิบปี ระหว่างนั้นก็จะได้เงินเป็นระยะทุกเดือน เมื่อพิมพ์แล้วก็ยังจะได้รับส่วนแบ่งกำไรค่าขายอีก..."
      สิ่งที่เขาตั้งอกตั้งใจเป็นพิเศษสำหรับปทานุกรมของเขา นอกจากคำอ่านที่พยายามให้ใกล้เคียงกับสำเนียงของเจ้าของภาษามากที่สุดแล้ว ก็คือการยกตัวอย่างประโยคภาษาอังกฤษกำกับ เพื่อแสดงให้เห็นนัยของความหมายนั้นๆ ด้วย
 
(คลิกดูภาพใหญ่)         ดังที่เล่ามาแล้วว่า ในชั้นต้น เพื่อนชาวบางขวางก็ยังไม่ค่อยแน่ใจในตัวของเขานัก แต่ในไม่ช้า เมื่อสอได้แสดงความตั้งใจจริงกับงานปทานุกรมของเขาจนเป็นที่ปรากฏ บรรดาเพื่อน ๆ น้อง ๆ นักโทษการเมืองในแดน ๖ หลายคนก็อาสามาช่วยเป็นแรงงานให้ ชุลี สารนุสิต เล่าถึงสภาพของกองบรรณาธิการ ปทานุกรมอังกฤษ-ไทย ณ บางขวาง ไว้ว่า
      "...ร่างอันเล็กบอบบางของเขานั่งเอกเขนกพิงม้วนที่นอน มีตรวนกองอยู่ข้างๆ พร้อมที่จะหยิบขึ้นสวมเข้าเท้าทุกเมื่อ ปทานุกรมและสรรพหนังสือต่าง ๆ ที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือค้นคว้ากองอยู่รอบตัว เบื้องหน้าของเขาคือ ชวลิต ปริยานนท์ เด็กหนุ่มร่างใหญ่ นั่งกางสมุดอยู่บนลังไม้ บุรุษผู้เป็นมันสมองนึกอะไรได้ก็บัญชาออกเป็นวาจา เด็กหนุ่มผู้เป็นแรงงานก็รับบัญชาแล้วจดลงสมุดด้วยดินสอ ประโยคที่มันสมองนึกได้ขณะนั้นหลั่งไหลออกมาอย่างรวดเร็ว ไม่มีเวลาที่จะเรียงความหมายแห่งถ้อยคำเป็นลำดับ ๆ ทั้งนี้ด้วยถือเอาความเร็วเป็นเกณฑ์ ดังนั้นการเรียงอันดับความหมายให้เป็นชุดเป็นกลุ่ม ตลอดจนการตรวจทานและคัดลอกใหม่ให้สะอาดงดงาม พร้อมที่จะออกตีพิมพ์ได้ทุกเมื่อ จึงตกเป็นหน้าที่ของเส็ง ลางคูลเสน (ขุนสินาดเสนีย์) ทม ปิยะพงศ์ พัฒน์ อรรถจินดา ม.ร.ว. นิมิตรมงคล อรุณ บุนนาค ม้วน ชูนาค ประเสริฐ คชมหิทธิ์ งานสร้างปทานุกรมภาษาอังกฤษเป็นไทยฉบับใหญ่ที่สุดของเมืองไทยได้เริ่มต้นขึ้นด้วยประการฉะนี้..."
      เมื่อปทานุกรมเขียนไปได้ถึงตัว G พระยานิพนธ์พจนารถ เจ้าของร้านหนังสือกรุงเทพบรรณาคาร ย่านสี่กั๊กพระยาศรี ซึ่งเคยร่วมรับราชการในกรมราชเลขาธิการ และเห็นฝีไม้ลายมือกันมาแล้ว ก็ตกลงรับเป็นผู้พิมพ์ออกจำหน่ายเป็นตอนๆ เจ้าคุณเขียนจดหมายมาบอกสอว่า "ผมจะแก้ตัวว่าหนังสือเล่มนี้ คุณหลวงได้เขียนไว้นานแล้ว คุณหลวงได้มอบต้นฉบับไว้กับผมแต่วันที่ถูกจับ"
      ตุลาคม ๒๔๘๐ กรุงเทพบรรณาคารเริ่มลงประกาศแจ้งความว่าจะพิมพ์ปทานุกรมอังกฤษเป็นไทยแบบใหม่ของ สอ เศรษฐบุตร ออกจำหน่ายเป็นรายสัปดาห์ สัปดาห์ละ ๓ ยก หรือ ๒๔ หน้า ซึ่งจะเป็นหนังสือประมาณ ๑๐๐ เล่ม หรือ ๒,๔๐๐ หน้า เย็บรวมเป็นเล่มใหญ่ได้ถึง ๒ เล่ม โดยให้ผู้สนใจบอกรับเป็นสมาชิกได้
 
   

M mother

 
(คลิกดูภาพใหญ่)   Motherly love can never be destroyed.
ความรักของมารดานั้นไม่มีวันสลาย


      โดยเหตุที่ชีวิตของสอขาดบิดามาตั้งแต่ยังเด็ก เขาจึงใกล้ชิดผูกพันกับแม่มากเป็นพิเศษ ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขาสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ แต่ยังลังเลว่าใครจะหาเลี้ยงครอบครัวแทนในระหว่างนั้น คำยืนยันของแม่ก็คือ "ไปเถอะลูก แม่กับน้อง ๆ คงไม่อดตายแน่ แต่แม่ขอเสียที อย่าเป็นช่างเครื่องบินหรือนักบินกับเขาเลย"
      นั่นคือสาเหตุที่ทำให้สอเลือกเรียนวิชาเหมืองแร่
      ยิ่งในช่วงเวลาอันถือได้ว่าเป็นสมัยตกต่ำของชีวิต แม่ของเขาก็ยิ่งมีส่วนเป็นทั้งกำลังใจ และเป็นฝ่ายสนับสนุนที่สำคัญที่สุดของสอ เขาเล่าว่า
      "เมื่อข้าพเจ้าถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แม่ปลอบใจตัวเองและลูก ๆ ว่าคนมีความซื่อสัตย์และกตัญญูกตเวที ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ แต่แม้จะตกน้ำไม่ไหล เราก็เปียกจนสั่น แม้จะตกไฟไม่ไหม้ เราก็เกรียมจนกรอบ เราต้องขายสมบัติทุกอย่างนับแต่หุ้นเบียร์ กรมธรรม์ประกันชีวิต รถยนต์ ไปจนถึงพิมพ์ดีด ตลอดเวลา แม่จัดการส่งเสียข้าพเจ้าให้อยู่ดีกินดีเหมือนกับอยู่นอกคุก"
      เคยมีระยะหนึ่ง ที่สอเขียนบทความส่งไปลงหนังสือพิมพ์ Bangkok Times เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูแม่กับน้อง เขามีวิธีการส่งต้นฉบับที่แยบยลพอดู คือทุกครั้งที่ไปเยี่ยม นางเกษรจะไปรอรับกระติกน้ำเปล่าคืนข้างนอกลูกกรงห้องเยี่ยม แต่ในระหว่างแก้วชั้นในกับปลอกนอกของกระติกนั้น สอจะซุกซ่อนบทความของเขาไว้ แล้วจากนั้นแม่ก็จะนำไปส่งให้แก่บรรณาธิการอีกทอดหนึ่งเพื่อรับเงินค่าต้นฉบับ
      รายได้จากงานเขียนของเขานี้ แม่ก็จะแบ่งกลับมาให้สอ ทั้งในรูปของกินของใช้และเงินติดกระเป๋าจนเพียงพอที่จะทำให้เป็นเศรษฐีรายย่อย ๆ ในบางขวางได้เลยทีเดียว
      แต่แล้วเมื่อข้อเขียนบางชิ้นของเขากลายเป็นที่สนใจของฝ่ายรัฐบาล และเริ่มระแคะระคายกันว่า "ใคร" คือผู้เขียน จนลงเอยด้วยการบุกค้นห้องขัง สอจึงต้องยุติการเขียนเรื่องลงหนังสือพิมพ์ไป
      มาคราวนี้ สอก็ต้องหาวิธีใหม่ในการส่งต้นฉบับปทานุกรมอีก
 
   

N necessity

 
(คลิกดูภาพใหญ่)   Necessity is the mother of invention. ความจำเป็นก่อให้เกิดความคิดประดิษฐ์วัตถุ

      ตาม "ความมุ่งหมาย" ที่สอ เศรษฐบุตร ได้แถลงไว้ใน The New Model English-Siamese Dictionary ฉะบับย่อยเล่ม ๑ เขาอธิบายว่า
      "...หนังสือที่ใช้ในการทำปทานุกรมเล่มนี้ นอกจากปทานุกรมภาษาอังกฤษเป็นอังกฤษและหนังสือจำพวกปทานุกรมที่มีชื่อโดยมาก เช่น Oxford, Webster's, Dictionary of Slang, Book of Quotations, Modern English Usage, Roget's Thesaurus, Dictionary of Phrases and Fables แล้ว หนังสืออะไรที่อยู่ใกล้มือได้นำมาใช้เป็นประโยชน์ทุกเล่ม นับตั้งแต่รายชื่อพรรณไม้ในสยามของพระยาวรรณพฤกษ์พิจารณ์ ไปจนถึงปูมโหราศาสตร์ และวิธีทำกับข้าว...แต่หนังสือเล่มหนึ่งที่จัดว่าเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงที่สุดแก่ผู้รวบรวมปทานุกรมเล่มนี้ในการตรวจและตกเติมก็คือ ปทานุกรมภาษาอังกฤษเป็นจีนของ Henry Bain ...ถ้าไม่มีปทานุกรมจีนเล่มนี้ บางทีปทานุกรมเล่มที่ท่านถืออยู่อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้...."
      ลำพังการต้องลักลอบขนหนังสือมากมายเข้าไปในคุกก็เป็นปัญหาใหญ่แล้ว หากแต่ยังมีเงื่อนไขที่สร้างความลำบากลำบนยิ่งขึ้นกว่านั้นอีก ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน อดีตนายทหารนักบิน หนึ่งในทีมของสอ เล่าว่า
      "...ประการแรก เราต้องลักลอบเอาเครื่องเขียนและตำราต่างๆ เข้ามาในเรือนจำให้เพียงพอแก่การใช้สอย ประการที่สอง เราต้องต่อไฟฟ้าใช้ และคอยเก็บไฟฟ้าซุกซ่อนอย่างรวดเร็วเมื่อได้ยินเสียงเจ้าพนักงานมาตรวจประจำวัน ประการที่สาม เราต้องหาที่ซ่อนถาวรสำหรับไฟฟ้าและตำราของเราในโอกาสมีการตรวจค้น ซึ่งทั้งนี้จำเป็นที่ข้าพเจ้าต้องปีนฝาห้องขึ้นไปเจาะเพดานเป็นช่องสำหรับเก็บสิ่งของต้องห้าม ประการที่สี่ เราต้องลักลอบเอาต้นฉบับที่เขียนแล้วส่งออกมาโรงพิมพ์ รวมทั้งการติดต่อเกี่ยวกับการพิมพ์..."
      ตลอดช่วงระยะเวลาที่คุณชายนิมิตรมงคลติดคุกอยู่ที่บางขวาง ม.ร.ว. สุดใจ บรรยงกะเสนา อดีตคุณข้าหลวงของวังบางขุนพรหม ผู้มีศักดิ์เป็นอา ได้ช่วยดูแลอุปการะส่งเสียเยี่ยมเยียนมิได้ขาด และคุณอาสุดใจนี้เอง ที่ช่วยเป็น "สื่อ" หนึ่งระหว่างชีวิตหลังมุ้งสายบัวกับโลกแห่งอิสระภายนอก ด้วยว่าที่ก้นตะกร้าใบใหญ่ที่เธอหิ้วใส่ของมาเยี่ยมหลานชายนั้น ใต้พื้นมีช่องลับ สามารถเปิดปิดได้โดยใช้ไขควง อย่างที่สอแย้มพรายไว้ในปทานุกรมของเขา ที่คำว่า false ซึ่งมีประโยคตัวอย่างคือ The documents were concealed under the false bottom of the box. เอกสารเหล่านั้นซ่อนอยู่ใต้ก้นปลอมของหีบ
 
(คลิกดูภาพใหญ่)         ด้วยวิธีการ "ก้นตะกร้า" และ "ในกระติก" ของคุณแม่คุณป้าเหล่านี้เอง ทั้งจดหมายและหนังสือนานาชนิด ตั้งแต่นิยายของดอกไม้สด ศรีบูรพา จนถึงตำรับตำราต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่การทำปทานุกรมของสอ เศรษฐบุตร ได้สวนสนามเข้าสู่ห้องขัง สวนทางกันกับต้นฉบับลายมือที่คัดลอกแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ที่ทยอยออกไปสู่มือของพระยานิพนธ์พจนาถ เพื่อจัดพิมพ์เป็นตอน ๆ
      การลักลอบนำสิ่งของต่าง ๆ เข้าไปยังแดนหกนี้ ดำเนินไปจนถึงระดับที่แม่ของสอสามารถแม้กระทั่งหาทางให้อุปกรณ์ประกอบวิทยุเถื่อนสามารถเล็ดลอดสายตาของเจ้าหน้าที่เข้าไปได้
      จากความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ที่สั่งสมมาในสายเลือด ผนวกรวมกับความรู้วิศวกรรมศาสตร์ที่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปร่ำเรียนมา สอ เศรษฐบุตร จึงหาทางทลายกรงขังทางปัญญาด้วยการทดลองประกอบเครื่องรับวิทยุขึ้นในคุก จากวิทยุแร่ที่ใช้กระป๋องนมข้นกับลวดดอกไม้ไหว ซึ่งเพียง "ได้ยินแว่ว ๆ ราวกับเสียงแมลงหวี่" ยิ่งนับวัน เครื่องวิทยุในที่คุมขังของเขาก็ยิ่งได้รับการปรับปรุงให้ดีวันดีคืน จนต่อมา เมื่อสามารถนำเอาหัวแร้งไฟฟ้า ตะกั่วบัดกรี และหลอดวิทยุเข้าไปได้ ก็ทำให้เครื่องรับวิทยุของเขารับฟังข่าวคราวของภายนอกได้ทั้งโลก
      แต่จะว่าชีวิตในเรือนจำของนักโทษการเมืองเป็นชีวิตที่อุดอู้ก็ไม่แน่เสมอไป ว่ากันว่าในสมัยที่ พ.ต.ท. ขุนศรีศรากร (ชลอ ศรีศรากร) ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำมหันตโทษบางขวาง (๒๔๘๐-๒๔๘๑) นั้น นักโทษการเมืองหลายคนได้รับอิสระมาก ถึงขนาดสามารถออกมาเล่นเทนนิสที่สนามหน้าเรือนจำร่วมกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และข้าราชการในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งนอกจากสอจะออกมาวาดลวดลายหวดลูกสักหลาดแล้ว ยังมีโอกาสไปสนิทสนมกับสาว ๆ ในละแวกนั้นด้วย
      นายแพทย์ชัยยะ เสถบุตร บุตรชายคนโตของสอ มีเค้าหน้าที่ประพิมประพายกับบิดาของท่านมาก คุณหมอเกษียณอายุราชการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว นั่นก็หมายความว่า คุณหมอเกิดเมื่อ ๖๐ ปีก่อนหน้านั้น คือปี ๒๔๘๒
      "ผมเกิดในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ซึ่งคุณพ่อยังอยู่ในบางขวาง...แต่พอจะอธิบายได้ง่าย ๆ คือนักโทษการเมืองมักจะเป็นผู้มีชื่อเสียง พัสดีและผู้คุมมักจะเกรงใจ และนักโทษการเมืองก็ไม่ใช่อาชญากร มักจะมีสิทธิพิเศษ คือเข้าออกจากเรือนจำได้โดยไม่ยากนัก ส่วนคุณแม่ผมเป็นคนจันทบุรี ชื่อ สมพงษ์ โพธิ์ร่ม มาอาศัยอยู่กับพี่สาว ซึ่งเปิดร้านขายของอยู่ที่ห้องแถวหน้าเรือนจำบางขวาง ฝั่งตรงข้ามของถนน ผมก็สามารถเกิดมาได้ด้วยเหตุผลดังนี้"
      แต่กว่าคุณหมอชัยยะจะได้เห็นหน้าพ่อครั้งแรก ก็คืออีกห้าปีต่อมา
 
   

O oligarchy

 
(คลิกดูภาพใหญ่)   Most oligarchies finally become dictatorships.
คณาธิปไตยส่วนมากในที่สุดก็กลายเป็นเผด็จการ


      ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตสังคะ) นายทหารผู้เลื่องชื่อจากการปราบกบฏบวรเดช ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สืบต่อจากพระยาพหลพลพยุหเสนา หลังจากนั้นไม่นาน ได้มีการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกันอีกขนานใหญ่ มีผู้ถูกจับกุมจำนวนมาก
      อานิสงส์จากเรื่องนี้ ทำให้มีการค้นห้องขังและสั่งกักบริเวณนักโทษการเมืองรุ่น ๒๔๗๖ ทั้งหมด สอ เศรษฐบุตร ค่อนข้างโชคร้าย เมื่อมีการบุกค้นห้องขัง ทางเรือนจำจับได้ว่าเขาลักลอบมีเครื่องวิทยุไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต (สมัยนั้น การจะมีเครื่องรับวิทยุต้องขออนุญาตจากทางราชการ) ดังนั้นนอกจากจะถูกศาลจังหวัดนนทบุรีสั่งปรับตามกฎหมายเป็นเงิน ๑๒๐ บาทแล้ว เขายังถูกขังเดี่ยว และเริ่มมีอาการของวัณโรค
      ข่าวที่ออกไปตามหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงนั้นก็คือ พวกนักโทษเก่ารุ่น ๒๔๗๖ สามารถลักลอบติดต่อกับพระองค์เจ้าบวรเดชในอินโดจีนด้วยเครื่องวิทยุเถื่อนฝีมือ สอ เศรษฐบุตร ทั้งยังมีการสมรู้ร่วมคิดกับคณะบุคคลที่เพิ่งถูกจับกุมในข้อหาล้มล้างรัฐบาลในชุดหลังนี้ด้วย
      แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่มีมูลความจริง แต่เมื่อมีข่าวออกไปเช่นนั้น ตามสายตาของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจึงเห็นว่านักโทษการเมืองในแดน ๖ ยังไม่หลาบจำ เริ่มมีเสียงแว่วมาว่าทางรัฐบาลมีดำริจะส่งนักโทษการเมืองไปกักกันไว้ที่ตะรุเตา เกาะแสนไกลนอกฝั่งจังหวัดสตูล ข่าวนี้เริ่มเป็นที่รับรู้กันในแดน ๖ อย่างเงียบ ๆ ไม่มีใครในบรรดานักโทษการเมืองจะรู้ว่าเจ้าเกาะที่ว่านี้อยู่ที่ไหน หรือรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่
      และแล้วในวันหนึ่ง คำสั่งย้ายนักโทษการเมืองไปยังเกาะตะรุเตาก็ตกมาถึง พร้อม ๆ กับกำหนดวันเดินทางอย่างกะทันหันในวันเดียวกันนั้นเอง
      การถูก "ปล่อยเกาะ" นี้ เป็นเรื่องใหญ่โตเหมือนกับการย้ายบ้านทีเดียว แน่นอนว่านักโทษก็ย่อมไม่มีข้าวของอะไรมากมายอยู่แล้ว แต่กระนั้น การขนย้ายเช่นนี้ก็ยังต้องตระเตรียมกันให้เต็มที่ เพราะไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะต้องไปเผชิญกับอะไรข้างหน้า ในขณะที่อุปกรณ์ขนย้ายนั้น แต่ละคนก็มีเพียงแค่มือสองข้าง
      ขณะนั้น งานเขียนปทานุกรมภาษาอังกฤษของสอ เศรษฐบุตร คืบหน้ามาถึงตัว S แล้ว การเดินทางไปตะรุเตาของเขา จึงเป็นการขนย้ายอุปกรณ์ที่จะไปใช้เขียนปทานุกรมต่อให้จบ "มหาสมบัติ" ของสอ จึงเต็มไปด้วยหนังสือตำรับตำราภาษาต่างประเทศ ดิกชันนารี และสมุดนักเรียนที่ใช้เป็นต้นฉบับมากมายชนิดกองท่วมหัว
 
(คลิกดูภาพใหญ่)         บ่ายวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ นักโทษการเมืองทั้งแดน ๖ ที่มีเหลืออยู่ราว ๗๐ คน ก็เคลื่อนขบวนออกจากบางขวาง ทุกคนหอบข้าวของกันพะรุงพะรัง แถมด้วยโซ่ตรวนที่ลากกันโกร้งเกร้ง ที่น่าเศร้าก็คือข่าวการอพยพไปตะรุเตานี้ ถูกเก็บงำเป็นความลับ ดังนั้น ญาติพี่น้องครอบครัวทางบ้านจึงไม่รู้ระแคะระคายเลยว่าเมื่อมาเยี่ยมครั้งต่อไป สามีหรือลูกหลานจะถูกเนรเทศไปอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวเสียแล้ว
      ราวบ่ายสองโมง นักโทษถูกต้อนไปลงเรือลำใหญ่ที่ท่าหน้าเรือนจำ มีตำรวจอาวุธครบมือคุ้มกันแน่นหนา เรือแล่นล่องจากเมืองนนทบุรีตามลำน้ำเจ้าพระยาลงมายังท่าช้าง จากนั้นนักโทษก็ถูกคุมตัวขึ้นรถยนต์ต่อไปยังสถานีรถไฟหัวลำโพง ขึ้นรถไฟอีกหนึ่งคืนกับหนึ่งวันก็ถึงปลายทางที่สถานีควนเนียง อำเภอรัตภูมิ สงขลา
      จากที่นั่น นักโทษการเมืองก็ถูกจับยัดขึ้นรถบรรทุกส่งต่อไปยังสตูลด้วยความบอบช้ำ
      หลังจากแกร่วรอเรือที่สตูลอีกสองวัน ในที่สุด เรือ อาดัง และ ราวี ที่ดัดแปลงมาจากเรือหาปลาก็ได้เป็นพาหนะนำ ๗๐ กว่าชีวิตของนักโทษการเมืองฝ่าคลื่นลมไปสู่ปลายทางกลางทะเลลึก
      เรือนักโทษมาถึงเกาะตะรุเตาตอนประมาณตีสอง พอแดดเช้าสาดต้อง ภาพแรกที่ปรากฏในคลองสายตาของเหล่าเดนตายผู้ถูกเนรเทศก็คือเกาะขนาดใหญ่ มีพืดเขาเขียวทะมึนเป็นฉากหลัง เบื้องหน้ามีเรือนไม้ยาวๆ กับหอคอยพร้อมอาวุธหนักเตรียมสาดกระสุนใส่มันผู้ใดก็ตามที่จะหลบหนี...
      ขณะนั้น "นิคมฝึกอาชีพตะรุเตา" ของกรมราชทัณฑ์มีนักโทษสามัญที่ถูกส่งมากักกันอยู่แล้วกว่า ๒,๐๐๐ คน แต่นักโทษการเมืองที่ถูกส่งมาสมทบนี้ จะอยู่แยกออกมาต่างหากในเวิ้งอ่าวตะโละอุดัง - "อ่าวกุ้ง" ทางตอนใต้ของเกาะ และมีคำสั่งห้ามมิให้ติดต่อกันโดยเด็ดขาด
      ในระหว่างนี้เอง มีข่าวมาถึงตะรุเตาว่า ครอบครัวทางกรุงเทพฯ ได้ติดต่อขอมาเยี่ยมกันเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะมารดาของ สอ เศรษฐบุตร ที่ลงแรงติดตามไปจนถึงสตูลเป็นคนแรก ในขบวนรถด่วนเที่ยวต่อไปหลังจากที่ลูกชายโดยสารมา แต่เมื่อติดต่อขออนุญาตเดินทางไปยังตะรุเตาแล้ว กลับไม่ได้รับอนุญาต แม้กระนั้น นางก็ยังคงรีรออยู่ที่สตูลอีกเดือนกว่า โดยสามารถติดต่ออย่างลับ ๆ กับสอได้ ด้วยรหัสลับแบบง่าย ๆ ที่ใช้ได้ผลมาตั้งแต่ที่บางขวาง
 
   

P pie

 
(คลิกดูภาพใหญ่)   n. อาหารมีเปลือก ทำด้วยแป้งอบ ไส้ในจะเป็นผลไม้ ของหวาน หรือของคาวก็ได้

      อาณาจักรกลางมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้ ว่าถึงว่าโดยทั่วไปก็นับว่าค่อนข้างเป็นอิสระ มิหนำซ้ำ สิทธิพิเศษที่เคยได้รับมาในเรือนจำแดน ๖ ก็ยังคงติดตามข้ามทะเลมาด้วย นั่นก็คือการได้รับยกเว้นจากเครื่องพันธนาการและการทำงานหนักเยี่ยงนักโทษสามัญ นอกจากการดูแลทำความสะอาดในบริเวณที่พัก เวลาส่วนมากจึงเป็นเวลาว่าง นับเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้ศึกษาหาความรู้กันต่อไป
      สอยังคงสานต่องานปทานุกรมของเขาอย่างขะมักเขม้น พร้อมกันนั้นก็ถ่ายทอดความรู้ภาษาอังกฤษให้แก่ผู้สนใจทั่วไป ส.ต.ท. ละม่อม สุขพวง ซึ่งเคยเป็นตำรวจประจำอยู่ตะรุเตาในช่วงนั้น เล่าด้วยความประทับใจว่า สอเป็นผู้คงแก่เรียนมาก วันทั้งวันเอาแต่เขียนหนังสือ อ่านตำราภาษาอังกฤษ และชอบพูดคุยกับพวกนักโทษการเมืองเป็นภาษาอังกฤษ
      ส่วนพระยาศราภัยพิพัฒ ขยับขึ้นมาเป็นผู้ประศาสน์ความรู้ภาษาแมนดารินและภาษาอังกฤษ หม่อมเจ้าสิทธิพรก็ทรงสอนวิชาการเกษตรสืบมา แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ อดีตทนายความจากนครราชสีมา และโหรประจำกองทัพหัวเมืองของพระองค์เจ้าบวรเดช กลายมาเป็นอาจารย์สอนวิชาโหราศาสตร์คนสำคัญ นอกจากนั้นแล้ว หลุย คีรีวัต ก็ได้ค้นคว้าหลักวิชาโหราศาสตร์จากตำราภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติมขึ้นอีก จนทำให้วิชานี้เป็นที่นิยมและมีลูกศิษย์ลูกหามากที่สุด
      ในระหว่างนี้ เริ่มมีหลายคนป่วยเป็นไข้มาลาเรีย แต่เนื่องจากยังมีแพทย์ประจำที่เกาะ ทั้งยังมียาเพียงพอ มันจึงยังไม่กลายเป็นโรคระบาดที่น่าวิตกอะไรนัก
      จากสภาพที่ค่อนข้างอิสระของตะรุเตา ในไม่ช้า นักโทษแต่ละคนก็ได้รับอนุญาตให้ปลูกเรือนพักของตัวเองเป็นเอกเทศจากโรงคุมขังได้ เพราะอย่างไรเสียก็ติดเกาะอยู่แล้ว หลายคนหันมาผลิตสินค้าตามความถนัดออกซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน เช่น หม่อมเจ้าสิทธิพร ก็ทรงนำความชำนาญจากฟาร์มบางเบิดของพระองค์ท่าน มาสั่งสอนอบรมจนสามารถพลิกฟื้นผืนดินเกาะตะรุเตาให้เป็นแดนทองของเกษตรกร มีทั้งไร่ผัก และเล้าเป็ดเล้าไก่ผุดขึ้นทั่วไป นอกจากนั้น ท่านสิทธิพรยังได้ตั้งโรงอบขนมปังและเค้กขึ้นที่หลังกระท่อมของท่านด้วยเตาอบที่ส่งมาจากทางบ้าน
 
(คลิกดูภาพใหญ่)         จนถึงเดี๋ยวนี้ ในวัย ๗๗ ปี คุณภัทรา มาศะวิสุทธิ์ บุตรสาวของขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ (นิพัทธุ์ มาศะวิสุทธิ์) อดีตผู้บัญชาการนิคมตะรุเตา ก็ยังจดจำขนมปังของหม่อมเจ้าสิทธิพรได้
      "ไปตะรุเตาครั้งแรกอายุ ๑๕ ปี ตอนเรียนมัธยม ๖ สอบเสร็จก็ไป...คุณพ่ออยู่ที่เกาะ นั่งเรือไปหลายชั่วโมง เรือที่ไปก็เล็ก เครื่องยนต์ก็เล็ก ไปอยู่ที่บ้านพักริมทะเล...อยู่แต่ที่บ้าน พวกนักโทษอยู่ลึกเข้าไป เราไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยว กับคุณสอก็ไม่เคยเจอ แต่ก็รู้ว่าคุณสออยู่ที่นั่น จำได้ว่าวันหนึ่ง ท่านสิทธิพรทำขนมปังใส่พิมพ์รูปไตมาให้คุณพ่อ เห็นแล้วก็นึกขำ...ว่านี่มันอ่างชะแผล"

      ฝ่าย สอ เสถบุตร นั้นก็ประดิษฐ์เตาอบเล็ก ๆ ขึ้นเอง พออาศัยใช้อบขนมพายหรือขนมปังเล็ก ๆ น้อย ๆ แก้ขัดไปได้บ้าง นอกจากนั้นเขายังอาศัยความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ ใช้ทรัพยากรของตะรุเตา อันได้แก่น้ำด่างที่ได้จากขี้เถ้าจากการเผาป่า กับน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปลาที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ มาผลิตเป็นสบู่ก้อน
      เจ้าสบู่พวกนี้เองช่วยประคับประคองฐานะของเขาได้เป็นอย่างดี สอได้ใช้มันแทนเงินไปแลกเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่เรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร น้ำตาล กาแฟ หรือบุหรี่ แล้วจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็ส่งสบู่ของสอขึ้นไปขายต่อถึงบนฝั่งสตูล เช่นเดียวกับตะกร้า ที่บรรดานักโทษที่มีฝีมือทางหัตถกรรม สานส่งขายบนแผ่นดินใหญ่กันเป็นล่ำเป็นสัน ว่ากันว่าเป็นที่นิยมในหมู่ข้าหลวงและข้าราชการตามหัวเมืองปักษ์ใต้ทั่วไป
 
   

Q quay

 
    The ship is at the quay side
เรือจอดเทียบท่า


      ทางทิศใต้ของตะรุเตา ห่างออกไปเพียง ๘ กิโลเมตร คือเกาะลังกาวี ในเขตมลายาของอังกฤษ จากเวิ้งอ่าวตะโละอุดังแลเห็นเหมือนรอยแรเงาของดินสอสีเขียวเป็นพืดบนเส้นขอบฟ้า มันคือปลายทางที่นักโทษจำนวนไม่น้อยทอดสายตามองไปวันหนึ่งนับครั้งไม่ถ้วน ด้วยความหวังริบหรี่อันกบดานอยู่ก้นบึ้งหัวใจ
      แผนการ "หนี" นั้น ที่จริงได้เริ่มคิดกันขึ้นมาตั้งแต่เมื่อมีข่าวการโยกย้ายนักโทษการเมืองจากบางขวางไปยังตะรุเตาแล้ว ทั้งยังมีความคิดแผลง ๆ ต่าง ๆ นานา ตั้งแต่จะให้กระโดดรถไฟกลางทางแล้วลัดเลาะเข้าชายแดนพม่า บ้างก็จะให้ลุกฮือขึ้นยึดเรือระหว่างทางมาตะรุเตา แต่ในท้ายที่สุด แผนการหนีมาสำเร็จได้เอาในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยมีพระยาศราภัยพิพัฒ กับ หลุย คีรีวัต เป็นแกนนำ ต่างคนต่างอนุญาตให้สามารถชวนเพื่อนๆ ที่ไว้วางใจให้หนีไปด้วยกันได้ เจ้าคุณศราภัยฯ ได้ทูลชวนหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร รวมทั้ง สอ เศรษฐบุตร ด้วย ท่านสิทธิพรทรงปฏิเสธ อาจเป็นโดยเหตุว่าทรงมีพระชันษามากแล้ว (ขณะนั้นพระชันษาเกือบ ๖๐) อาจเป็นตัวถ่วงหรือสร้างความลำบากให้แก่คนอื่นๆ ส่วน สอ ในวัย ๓๖ ปี ถึงแม้จะใกล้ชิดกับนายหลุยและเจ้าคุณศราภัยฯ มาตั้งแต่สมัยทำหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ แต่ก็จำใจต้องปฏิเสธความหวังดีนั้น ด้วยว่าตัวเขายังมีพันธะอยู่กับงานปทานุกรม ซึ่งขณะนั้นคืบหน้ามาถึงอักษร T แล้ว อีกไม่นานก็จะถึงตัว Z แล้วปทานุกรมภาษาอังกฤษ-ไทย แบบใหม่ ฉบับห้องสมุด Library Edition หรือฉบับใหญ่ของเขาก็จะสำเร็จลง ต่อจากนั้น เขายังมีแผนจะตัดทอนให้สั้นลงเพื่อทำเป็นฉบับประจำโต๊ะ Desk Edition ขนาดเล็ก ราคาเยา สำหรับนักเรียนนักศึกษาต่อไป (ปทานุกรมฉบับเล็กนี้ ภายหลังได้พิมพ์ครั้งแรกกับโรงพิมพ์ประชาช่าง หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒) หากเขาหนีไปในระหว่างนี้ การจัดพิมพ์ปทานุกรมก็คงต้องยุติลง และกลายเป็นการคดโกงบรรดาผู้บอกรับเป็นสมาชิกที่ได้จ่ายเงินล่วงหน้ามาแล้ว สอจึงยังไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองไปให้พ้นจากเกาะแห่งนี้ได้
      อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ก็คือ "แม่"
 
(คลิกดูภาพใหญ่)         สอได้ลอบติดต่อกับนางเกษร มารดาของเขาเสมอ และเมื่อลองหยั่งเชิงปรึกษาเรื่องนี้ดู คำตอบจากแม่มีเพียงสองคำสั้น ๆ
      "อย่าไป"
      ดังนั้น ในที่สุด เมื่อถึงวันกำหนดนัดหมายกับเรือที่จ้างวานมา จึงมีเพียงห้าคน คือเจ้าคุณศราภัยพิพัฒ หลุย คีรีวัต พระยาสุรพันธเสนี (อิ้น บุนนาค) ขุนอัคนีรถการ (อั๋น ชัยพฤกษ์) กับโหรแฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ ที่หลบหนีออกจากตะรุเตาไปยังเกาะลังกาวีได้ เรื่องราวของคนเหล่านั้น คือการผจญภัยอีกยืดยาว ซึ่งจะสามารถเล่าเป็นเรื่องต่างหากได้อีกทีหนึ่ง
      ส่วนเรื่องของสอนั้น เขาก็คงมุ่งหน้าผลิตต้นฉบับปทานุกรมที่ตะรุเตาต่อไป จนในที่สุด The New Model English-Siamese Dictionary ฉะบับย่อยเล่ม ๑๓๙-๑๔๐ อันเป็นฉบับสุดท้าย ก็สามารถส่งให้แก่สมาชิกและวางตลาดได้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ทำให้ปทานุกรมแบบใหม่ของสอจบลงได้ที่ความหนา ๔,๐๐๐ หน้า หรือผิดไปจากที่กะไว้แต่แรกถึง ๑,๖๐๐ หน้า !
 
   

R roar

 
    The cannon roared.
ปืนใหญ่ดังสะท้าน


      ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ขณะที่นักโทษกำลังเข้าแถวตรวจนับจำนวนรอบเช้า เวลา ๖ นาฬิกา ฟ้าสว่าง แดดดี อากาศแจ่มใส เครื่องบินสองฝูง รวมจำนวนประมาณ ๒๐ ลำ บินไล่กันเต็มฟ้าที่ระดับความสูง ๒,๕๐๐ เมตร ส่งเสียงกระหึ่ม แล้วเปิดฉากการยิงกราดกันด้วยปืนกลอากาศ - สงครามมาถึงแล้ว !
      เช้ามืดวันเดียวกันนั้น ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตามชายฝั่งทะเลทั้งภาคใต้และภาคกลางของไทย หลังจากความตายของวีรชนไทยนับร้อย รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้ประกาศเปิดทางให้ญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านประเทศไทยลงไปยังแหลมมลายูได้
      หลายวันต่อมา ขณะที่กองทัพญี่ปุ่นรุกไล่กองทัพอังกฤษถอยร่นลงไป เสียงปืนใหญ่ เสียงระเบิด กับแสงไฟที่จับท้องฟ้าแดงฉานข้ามวันข้ามคืน มีให้ได้ยินได้เห็นกันถึงที่เกาะตะรุเตา ดังนั้น แม้ว่าจะห่างไกลจากเมืองหลวงและแหล่งข่าวอื่นใด แต่สงครามมหาเอเชียบูรพาก็มาปรากฏอยู่ต่อหน้าแล้ว
      ในทางหนึ่ง สงครามมีส่วนบั่นทอนชีวิตของนักโทษการเมืองด้วยการโถมทับความหวั่นวิตกเกี่ยวกับครอบครัวที่ไม่รู้จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร แต่ผลกระทบที่มีโดยตรงทันทีก็คือ การเดินเรือไปมากับฝั่งสตูลต้องหยุดชะงัก ข้าวแดงที่ทางโรงครัวเคยหุงเป็นข้าวสวยเลี้ยงชีวิตนักโทษเริ่มขาดแคลนจนต้องเปลี่ยนเป็นข้าวต้ม หยูกยา เสื้อผ้า แม้แต่จดหมายและเงินทองที่เคยส่งมาจากทางบ้านก็เริ่มห่างหาย แต่กระนั้น มารดาของสอก็ยังสามารถจัดส่งยาควินินไปได้นับพันเม็ด ซึ่งยานี้ได้ช่วยนักโทษคนอื่นๆ ไว้ได้อีกเป็นจำนวนไม่น้อย
 
   

U untold

 
(คลิกดูภาพใหญ่)   He suffered untold hardships.
เขาได้รับความลำบากต่างๆ เหลือคณนา


      ด้วยภาวะสงครามนี่เอง ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖ ทางราชการจึงมีคำสั่งย้ายนักโทษการเมืองทั้งหมด จากเกาะตะรุเตาซึ่งอยู่ติดชายแดนไทยทางฝั่งทะเลอันดามัน ไปยังเกาะเต่ากลางอ่าวไทย ซึ่งจัดให้เป็นที่คุมขังเฉพาะนักโทษการเมืองเท่านั้น และบัดนี้ คงเหลือนักโทษการเมืองอยู่เพียง ๕๕ คน
      การเดินทางไปยังเกาะเต่าก็ทุลักทุเลไม่ต่างไปจากเมื่อคราวมาตะรุเตา
      นักโทษการเมืองถูกตีตรวนยัดทะนานลงเรือ แล่นไปท่ามกลางน่านน้ำที่ขวักไขว่ด้วยเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตร ซ้ำร้ายเรือยนต์ที่โดยสารไปก็เสียอยู่กลางทะเล นักโทษต้องตากแดด ตากฝน อดข้าวอดน้ำอยู่อีกถึงสองคืนกับหนึ่งวัน ถึงมีเรือมาลากเข้าฝั่งได้ แล้วจากนั้นจึงต่อรถยนต์ไปยังสุราษฎร์ธานี เพื่อข้ามเรือไปยังเกาะเต่าอีกทอดหนึ่ง
      เกาะเต่าเป็นเกาะเล็กๆ กลางอ่าวไทย อยู่เหนือขึ้นไปจากเกาะพงันและเกาะสมุย สภาพแต่เดิมนั้น ไม่มีคนอาศัยอยู่ มีแต่เพียงเต่าตนุขึ้นมาวางไข่ตามฤดูกาล อันเป็นที่มาของชื่อเกาะ
      แม้ว่าระยะห่างจากเกาะเต่ามายังแผ่นดินใหญ่จะใกล้กว่าที่ตะรุเตาถึงเท่าตัว แต่สภาพการณ์โดยทั่วไปของเกาะเต่าก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นกว่าที่ตะรุเตาเท่าใดนัก สภาพขาดแคลนอาหารก็ยังมีอยู่ และเรือที่เดินระหว่างฝั่งสุราษฎร์ธานีกับเกาะเต่าก็มีเพียงเดือนละครั้ง ทำให้การติดต่อยากลำบากมาก และต่อมา สถานการณ์ก็เริ่มเลวร้ายลงอีกในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๖ เมื่อมีคำสั่งของกรมราชทัณฑ์ให้นักโทษการเมืองทั้งหมดต้องทำงานด้วย
      มาในเดือนกันยายน เรือเชวงศักดิ์สงคราม ซึ่งเคยไปมาระหว่างสุราษฎร์ฯ กับเกาะเต่าก็ต้องหยุดเดิน เนื่องจากภาวะสงคราม ทำให้น้ำมันขาดแคลน ทางการได้จ่ายเรือใหม่มาให้ คือเรือ ไชโย ซึ่งเป็นเรือเครื่องจักรไอน้ำรุ่นพระเจ้าเหา ชนิดที่ยังใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ดังนั้น เหล่านักโทษการเมืองจึงได้รับหน้าที่พิเศษเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการตัดฟืนไว้เตรียมใช้เป็นพลังขับเคลื่อนของไชโย
      อดีตหลวงมหาสิทธิโวหารถูกเรียกให้เข้าประจำในกองตัดฟืนชุดแรก ร่วมกับนักโทษอื่นๆ อีกสี่คน ผู้คุมจ่ายเลื่อยและขวานให้ แล้วก็มีบัญชาให้ขึ้นเขาไปตัดต้นไม้ลงมา แล้วผ่าซอยเป็นดุ้นฟืนขนาด ๖๕ เซนติเมตร ให้เรียบร้อย
      ในหมู่นักโทษประจำกองตัดฟืนนี้ สอมีรูปร่างเล็กกว่าเพื่อน ทั้งสุขภาพก็ยังไม่ค่อยดีนัก น้ำหนักตัวเพียงราวสัก ๓๐ กว่ากิโลกรัมเท่านั้น เพื่อน ๆ จึงมอบหมายให้เขามีหน้าที่เพียงนำฟืนที่ตัดแล้วไปเรียงเข้าหลักไว้เป็นซอง ซองละ ๑ คิวบิกเมตร
 
          นอกจากนั้น นักโทษการเมืองยังได้รับมอบหมายให้ทำถนน ถางป่า เผาป่า ซึ่งทารุณทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส
      โชติ คุ้มพันธุ์ ดอกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์จากเยอรมนี ผู้ถูกเนรเทศไปเกาะเต่าในคดีการเมืองรุ่นหลังจากสอ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
      "...พวกนักโทษทุกคนป่วยไม่ได้ ป่วยขนาดยังไม่ใกล้จะสิ้นใจต้องทำงานทุกวันจนกว่าจะลุกไม่ไหว...พวกที่ทำถนนพอขุดลงไปๆ เจอแต่หิน พวกตัดต้นไม้ต้องบุกหนามเข้าไป เข้าไปได้แล้วฟันฉับ มีดกระดอนออกมา เพราะมันทื่อ ไม่มีอะไรลับ พอฟัน ๆ ไป ตัวสัตว์ป่าพิษร้าย ๆ บนต้นตกลงมากัดหัวหูหมด..."
      จากการถูกใช้ทำงานหนัก ความขาดแคลนอาหารและน้ำจืด ตลอดจนถึงความชุกชุมของมาลาเรียที่ปราศจากยา ทำให้ภายในเวลาหกสัปดาห์ นักโทษการเมืองเสียชีวิตไปถึงหกคน สอและเพื่อน ๆ ต้องพยายามหาวิธีที่จะเอาชีวิตรอดให้ได้ การดำรงชีวิตเยี่ยงมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่ออกหาของป่าล่าสัตว์กลายเป็นชีวิตประจำวันของเหล่านักโทษ
      ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ สอต้องทดลองชิมต้นหมากรากไม้ต่าง ๆ เช่นว่าเห็ดชนิดใดกินได้ ชนิดใดกินไม่ได้ รวมทั้งทดสอบว่าจะมีสมุนไพรอย่างใดพอใช้แทนควินินในการรักษามาลาเรียได้หรือไม่ เขาทำการทดลองกับของขมต่าง ๆ เพื่อใช้ต่างควินิน เช่นบอระเพ็ดบ้าง ลูกใต้ใบบ้าง แต่ผลที่ได้ก็มีเพียงทำให้ไข้ลดลงเท่านั้น
      โชติ คุ้มพันธุ์ สรุปว่าชีวิตที่เกาะเต่านั้น "...ผมว่าถ้าเป็นสัตว์ มันก็ตายเสียนานแล้ว - นี่เราเป็นคน ความอดทนและความหวังมันยังช่วยพยุงใจได้บ้าง...."
 
   

V victory

 
(คลิกดูภาพใหญ่)   This is our victirious day.
นี่เป็นวันชัยชนะของเรา


      แต่แล้วจู่ ๆ วันหนึ่ง หนังสือพิมพ์ที่สอไปแอบอ่านมาจากบนบ้านพัสดีก็แจ้งข่าวใหญ่ว่า รัฐบาลพิบูลสงครามลาออกแล้ว มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และมีการตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษนักการเมือง
      บ้าน ลูก เมีย ชีวิตอิสรเสรีที่เคยมีอยู่แต่ในมโนนึกหรือในความฝัน ก็กลับมาวางลงตรงแทบเท้า...
      ตอนสายของวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๘๗ เมื่อรถไฟสายใต้เข้าเทียบชานชาลาสถานีบางกอกน้อย ความโกลาหลก็เริ่มขึ้นตั้งแต่รถยังไม่ทันจอดสนิท แม่และลูกของทุกบ้านต่างพยายามชะเง้อมองหาหัวหน้าครอบครัวที่พลัดพรากกันมากว่าสิบปี เสียงตะโกนเรียก "พ่อ ! พ่อ !" ดังเซ็งแซ่ อดีตนักโทษการเมืองแต่ละคนก้าวลงจากโบกี้ด้วยสภาพที่ยากจะบรรยาย บางคนยังนุ่งแผ่นยางดิบที่เย็บไว้ด้วยเชือกกระสอบข้าวสาร ดูน่าขำระคนน่าสังเวช บ้างลงจากรถไฟไปแล้วเดินสวนกับลูกก็จำกันไม่ได้ ที่พบกับลูกเมียแล้วก็กอดกันกลมร้องไห้ด้วยความปลื้มปีติ
      สิบเอ็ดปีแห่งเคราะห์กรรมและความทุกข์ยากชนิดที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะเกิดขึ้นจริงในเมืองไทยได้ผ่านพ้นไปแล้ว
      และที่นั่น คนที่ยืนรอรับสอ ก็คือนายมานิต วสุวัต พร้อมกับคำชักชวนให้ไปทำงานในหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ส่วนมารดาของสอนั้นก็มารับที่สถานีรถไฟด้วย แต่เดินออกมาที่ชานชาลาไม่ไหว
      พอเห็นหน้าแม่ก็ต้องใจหาย เพราะแม่ดูทรุดโทรมไปเป็นคนละคน สอจึงตั้งใจว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป แม่จะต้องอยู่กับเขาเสมอ และเขาก็ได้กระทำตามความตั้งใจนั้นตราบจนมรณกรรมของนางเกษรในอีกสิบกว่าปีต่อมา       กลับมากรุงเทพฯ คราวนี้ สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปก็คือชื่อของเขา
      แต่เดิม สอใช้นามสกุลเศรษฐบุตรอันสืบมาแต่พระประเสริฐวานิช แต่ในระหว่างที่เขาติดเกาะอยู่นั้น ภาษาไทยได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปในระหว่างสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีการแก้ไขตัดทอนพยัญชนะและอักขรวิธีหลายประการ การลดจำนวนอักษรไทยลงเหลือเพียงครึ่งเดียว การเน้นให้สะกดคำตามเสียงเป็นเกณฑ์ เหล่านี้ทำให้ชื่อสกุลของสอต้องใช้เป็น "เสถบุตร" และเมื่อนามสอ เสถบุตร ติดตลาดในฐานะผู้เขียนปทานุกรมอังกฤษ-ไทย แบบใหม่แล้ว การจะหวนกลับไปใช้ "เศรษฐบุตร" เช่นเดิมก็เป็นเสมือนการทุบหม้อข้าวตัวเอง ดังนั้น เขาจึงกลายเป็น "สอ เสถบุตร" นับแต่นั้นมา
 
   

W write

 
(คลิกดูภาพใหญ่)   He has honesty written all over his face.
เขามีความซื่อสัตย์เขียนอยู่บนใบหน้าของเขาตลอด


      หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สอได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Liberty ในเครือของศรีกรุง อันเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับแรกที่ออกจำหน่ายหลังสงคราม
      นอกจากสถานะของฐานันดรที่ ๔ แล้ว ขณะเดียวกัน สอก็เริ่ม "เล่น" การเมืองบ้าง หลังจากที่ถูกการเมือง "เล่น" เอาเสียอ่วมมากว่าสิบปี ในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ สอลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตจังหวัดธนบุรี สังกัดพรรคก้าวหน้า (ซึ่งจะกลายเป็นพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาต่อมา) และด้วยคะแนนสงสารที่ประชาชนเทให้แก่อดีตนักโทษการเมือง เขาก็ได้รับเลือกตั้ง
      แต่ต่อมาเมื่อเกิดรัฐประหารโดย "คณะทหาร" ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ มีการยุบสภา สมาชิกภาพของสอก็ยุติลง
      การเมืองไทยในเวลานั้นพอเรียกได้ว่าเป็นการพลิกขั้วอยู่ไม่น้อย ดังนั้น เมื่อนายควง อภัยวงศ์ ได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกเป็นครั้งที่ ๓ บรรดาอดีตนักโทษการเมืองจึงได้รับการเชื้อเชิญเข้าร่วมรัฐบาลด้วยหลายคน ไม่ว่าจะเป็น นายเลื่อน ศราภัยวานิช หรือเจ้าคุณศราภัยพิพัฒ ผู้เคยสร้างวีรกรรมแหกคุกตะรุเตา ก็ได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สอเองก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตราธิการ โดยมีรัฐมนตรีคือหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ที่เคยผูกพันเป็นศิษย์เก่าเกาะตะรุเตาเกาะเต่าด้วยกันมา
แม้ว่าคณะรัฐมนตรีคณะที่ ๑๙ ในประวัติศาสตร์ระบอบประชาธิปไตยของไทย จะมีอายุเพียงไม่ถึงสามเดือน แต่ทั้งสอง คือทั้งท่านสิทธิพร และสอ ก็ได้สร้างตำนานเอาไว้ไม่น้อย
      ตำนานเรื่องแรก เป็นเรื่องของรัฐมนตรีว่าการ
      ตามปรกติแล้ว หม่อมเจ้าสิทธิพรจะทรงใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ฟาร์มของท่านที่บางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่เมื่อต้องมารับตำแหน่งที่กรุงเทพฯ ท่านจึงไปเฝ้าพระองค์เจ้าธานีนิวัติ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) ว่าเมื่อท่านได้เป็นรัฐมนตรีว่าการเช่นนี้แล้ว จำเป็นต้องเข้ามาประทับในกรุง แต่ท่านไม่มีบ้านอยู่ พอดีว่าได้สังเกตเห็นว่ามีเรือนหลังหนึ่งข้างประตูวังยังว่าง ๆ อยู่ จึงมีพระประสงค์จะขออาศัยที่นั่น พระองค์ธานีฯ ทรงค้านว่าเรือนหลังเล็กเช่นนั้นดูจะไม่สมพระเกียรติของรัฐมนตรี หม่อมเจ้าสิทธิพรจึงทูลว่า "เรือนหลังนี้ก็ดีถมเถไปแล้ว...หม่อมฉันอยู่ในคุกยังอยู่ได้"
      ส่วนเรื่องของคุณสอนั้น มีอยู่ว่า ครั้งหนึ่ง เคยมีคนมาเสนอ "สินน้ำใจ" แลกกับการอนุมัติให้ทำป่าไม้ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสอ เพราะท่านสิทธิพรทรงแจกงานไว้ว่า "ฉันว่าเรื่องข้าว ป่าไม้เป็นเรื่องของเธอ เธอว่าของเธอไป ฉันไม่เกี่ยว" แต่สอกลับปฏิเสธว่า "ถ้าผมขายป่าไม้ก็เท่ากับผมขายชาติ"
      อีกเรื่องหนึ่ง เล่ากันมาว่า ท่าน รมช. สอ ได้รับเชิญให้เป็นประธานการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งจำเป็นต้องให้ถ้วยรางวัลแก่ทีมที่ชนะ ถ้วยใบหนึ่งก็หลายสตางค์อยู่ แต่เขาไม่มีเงินเลย จึงต้องปลดนาฬิกาข้อมือให้คนรับใช้ช่วยเอาไปจำนำ หาเงินมาเป็นค่าถ้วยรางวัลฟุตบอล
 
   

Y youth

 
(คลิกดูภาพใหญ่)   He is youthfully high-spirited.
เขาคะนองอย่างเด็กหนุ่ม


      หลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ สอก็ปิดฉากชีวิตทางการเมือง มุ่งหน้ากลับไปสู่งานแห่งชีวิตของเขานั่นคือเรื่องปทานุกรมและหนังสือสอนภาษาอังกฤษ
      ในระยะนี้ เขาหันมาออกหนังสือรายสัปดาห์สำหรับสอนภาษาอังกฤษชื่อ The Leader - ผู้นำ และมีโรงพิมพ์เล็ก ๆ เป็นของตนเอง
      นับตั้งแต่สมัยที่เขาทำหนังสือพิมพ์ Liberty นั้น สอได้พบกับพิมพวัลคุ์ โรจนวิภาต ธิดาของโพยม โรจนวิภาต อดีตข้าราชสำนักพระปกเกล้าฯ และโฆษกวิทยุของฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างสงครามโลก ซึ่งมาสมัครงานประจำกองบรรณาธิการ หลังจากรู้จักกันได้สามปี ฝ่ายชายซึ่งมีอายุมากกว่าถึง ๒๓ ปี แถมด้วยเรือพ่วงอีกโขยงหนึ่ง ก็ขอแต่งงาน
      ทั้งสองเข้าพิธีสมรสกันในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ และคุณพิมพวัลคุ์ก็ได้กลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการวางแผนการตลาดและการพิมพ์ปทานุกรมของสอขึ้นใหม่ เพราะในขณะนั้นปทานุกรมของเขาทั้งฉบับห้องสมุดของกรุงเทพบรรณาคารและฉบับประจำโต๊ะของประชาช่าง ล้วนขาดตลาดมาเป็นเวลานาน และมีผู้ต้องการเสาะหากันมาก
      นอกจากนั้นแล้ว สอยังเขียนหนังสือชุด ไปนอก ในรูปนิยายผสมกับแบบเรียนภาษาอังกฤษ กับหนังสือสอนภาษาอังกฤษต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาษาพูด หรือ ภาษาอังกฤษสำเร็จรูป ซึ่งก็ขายดิบขายดีเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๐๖ ของ สอ เสถบุตร เป็นชีวิตที่เพลิดเพลินและสงบสุข แวดล้อมด้วยลูกถึงเก้าคน คือหกคนจากคุณสมพงษ์ ได้แก่ ชัยยะ มานะ สัจจะ ทรงศักดิ์ ผ่องศักดิ์ แผ้วศักดิ์ และอีกสามคนจากคุณพิมพวัลคุ์ คือ รัตนะ พริ้งพิมพ์ และพัชรพิมพ์
      เขาเดินทางท่องเที่ยวไปทุกหนทุกแห่งทั่วราชอาณาจักร ข้ามไปจนถึงต่างประเทศ และฐานะของเขาก็มั่นคงจนสามารถทำอะไรที่อยากทำหรือซื้ออะไรที่ต้องการได้ตามใจปรารถนา หรืออีกนัยหนึ่งก็อาจจะกล่าวได้ว่านี่เป็นเสมือนรางวัลสำหรับชีวิตที่รอดพ้นมาได้จากเกาะนรกกลางทะเลฉลาม
      สิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็น "ของเล่น" ที่สอชื่นชอบมากที่สุดก็คือรถยนต์ เมื่อถามคุณหมอชัยยะ เสถบุตร ลูกชายคนหัวปี ว่าถ้าให้นึกถึงคุณพ่อ คุณหมอจะนึกถึงอะไรก่อน คำตอบก็คือ คิดถึงเรื่องรถและการขับรถเที่ยว
 
(คลิกดูภาพใหญ่)         "คุณพ่อสนใจรถยนต์มาก จะเรียกว่าเป็น car enthusiast ก็ได้...เท่าที่ผมจำได้ คุณพ่อจะไม่เหมือนคนอื่น รถยนต์ที่ซื้อมักจะต้องมีจุดแปลกๆ ที่ยี่ห้ออื่นไม่มี เช่น รถ DKW ซึ่งขับล้อหน้า เครื่อง ๒ จังหวะ ๓ สูบ เสียงดังบ็อกๆๆ เหมือนมอเตอร์ไซค์ วันหนึ่งขับไปบางปิ้ง รถชนกับควาย รถพังแต่ควายไม่ตาย เลยขายไป ซื้อรถ Lanchester ...รถอังกฤษ มันมีเทคโนโลยีใหม่ เป็นเกียร์ระบบ Wilsonžs Preselector เกียร์มันอยู่หลังพวงมาลัย เวลาขับต้องเปลี่ยนเกียร์ก่อน แล้วถึงเหยียบคลัตช์ทีหลัง ระบบกันกระเทือนก็เป็น Torsion bar ไม่ใช้แหนบ ต่อมาก็ Citroen DS 19 ซึ่งใช้ระบบกันกระเทือนเป็น Hydropneumatic คุณพ่อก็เลยซื้อ ขับๆ ไปถึงทางอุดรฯ ลูกตุ้ม suspension แตก ต้องไปนอนรอเปลี่ยนอยู่สองสามคืน...สักปี ๒๕๑๑-๑๒ คุณพ่อไปซื้อ NSU Ro 80 ซึ่งใช้เครื่อง Wenkelžs ลูกสูบหมุน ขับได้ไม่กี่หมื่นกิโลรถก็พัง เดี๋ยวนี้บริษัท NSU ก็เจ๊งไปแล้ว...
      "คุณพ่อชอบขับรถท่องเที่ยวมาก และมักจะไปไกลๆ ทั้งๆ ที่ถนนก็แย่มากในสมัยนั้น ถนนลาดยางมีแค่กรุงเทพฯ-บางปู ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ คุณพ่อขับรถ Lanchester ไปถึงแม่สาย เชียงของ ข้ามดอยช้างไปฝาง-เชียงใหม่ แล้วลงมาทางลี้ เถิน ซึ่งเส้นทางยิ่งกว่าทางรถลากไม้ในป่า
      "ที่ตลกอย่างหนึ่งก็คือทั้งที่คุณพ่อชอบรถมาก แต่ไม่เคยขับรถเร็วเลย สัก ๔๐-๕๐ ไมล์ก็เร็วเต็มที่แล้ว คุณพ่อไม่เคยขับเกินนี้..."
      ส่วนความทรงจำของลูกสาวคนเล็ก คือคุณพัชรพิมพ์ เสถบุตร ก็คือเรื่องการนั่งรถเช่นกัน
      "คุณพ่อเป็น family man ไปไหนก็ต้องขนลูกไปหมด แล้วคุณพ่อจะจัดที่นั่งว่า คนไหน นั่งตรงไหน ต้องมีกฎระเบียบ...ห้ามยุกยิก"
 
   

Z

 
(คลิกดูภาพใหญ่)   อักษรตัวสุดท้าย ใช้แสดงลำดับสุดท้าย อย่างอักษร ฮ

      สิ่งหนึ่งที่เป็นมาทุกยุคทุกสมัยก็คือ ถ้าอะไรขายได้ดี ก็ย่อมถูกลอกเลียนแบบ พจนานุกรมของสอก็เช่นกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นต้นมา รายได้จากน้ำพักน้ำแรงของเขาหดหายลงไปมาก สอจึงต้องเริ่มต้นจับงานใหม่ เพื่อหารายได้มาเลี้ยงลูกชายหญิงเกือบสิบชีวิตของเขา ด้วยการเขียนปทานุกรมไทย-อังกฤษ ขึ้นอีกเล่มหนึ่ง ขณะเดียวกัน เขาก็ยังคงปรับปรุงหนังสือ New Model English-Thai Dictionary ของเขาให้สมสมัยกับ "ยุคจรวด" อยู่เรื่อย ๆ เช่นที่ได้เพิ่มคำจำพวก cold war (สงครามเย็น) หรือ ICBM - intercontinental ballastic missile (ขีปนาวุธข้ามทวีป) เข้าไปในฉบับพิมพ์ครั้งหลังๆ
      สอต้องใช้เวลาอยู่พักใหญ่กว่าจะพบว่ามีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งละเมิดลิขสิทธิ์ นำเอาปทานุกรมของเขาไปจัดพิมพ์ขึ้นใหม่โดยแก้ไขดัดแปลงสับเปลี่ยนข้อความเล็กๆ น้อยๆ คดีนี้ยืดเยื้อในศาลอยู่หลายปี ในท้ายที่สุด ศาลตัดสินให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายด้วยเงินเพียง ๓๐,๐๐๐ บาท เหตุการณ์นี้คงทำให้สอเกิดความเบื่อหน่ายที่จะต้องมาคอยจัดการปัญหาทำนองนี้อีก ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๑๒ เขาจึงตัดสินใจขายขาดลิขสิทธิ์ปทานุกรมทั้งหมดของเขาให้แก่สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชไป โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงใด ๆ ทั้งสิ้น
      หลังจากนั้นก็ดูเหมือนว่าพันธกิจแห่งชีวิตของเขาได้จบสิ้นลงแล้ว ถัดมาเพียงปีกว่า ในวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๑๓ สอ เสถบุตร ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จังหวัดพระนคร ด้วยอาการเส้นเลือดแตกในสมอง ขณะที่มีอายุได้ ๖๖ ปี
      ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของหลวงมหาสิทธิโวหาร ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้สะท้อนให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ในร่างเล็ก ๆ ของ สอ เสถบุตรไว้ว่า
      "...ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า การติดคุกจะทำให้คนซึ่งมีความรู้ทางภาษาอังกฤษกลายเป็นผู้ทำปทานุกรมที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ทุกคนไป ด้วยเหตุผลแต่เพียงว่า เพราะเขามีเวลามากกว่าคนอื่น ข้าพเจ้าเห็นว่า ในสภาพการณ์ดังกล่าว มีคนจำนวนไม่น้อยที่มักใช้เวลาว่างให้หมดไปด้วยการสงสารตัวเอง หรือนั่งรอคอยให้ชะตากรรมผ่านพ้นไป สอ เสถบุตร เป็นนักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่า มนุษย์อาจบังคับชะตาชีวิตของเขาเองได้ด้วยการไตร่ตรองหาเหตุผลและวางแผนการแห่งชีวิตไว้เสมอ...เมื่อใดที่เด็กนักเรียนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งหยิบดิคชันนารีมาเปิดค้นหาความหมายของศัพท์อังกฤษ สักวันหนึ่งเขาคงจะต้องรู้ถึงชีวิตและงานของปูชนียบุคคลผู้นี้ และซาบซึ้งว่า แต่ละคำในแต่ละหน้าของปทานุกรมที่เขากำลังใช้ประโยชน์อยู่นั้น เกิดจากความอุตสาหะวิริยะ ความซื่อสัตย์ต่องานและหยาดเหงื่อของ สอ เสถบุตร กับคณะนักโทษการเมืองแห่งเกาะตารูเตา เมื่อนั้น เขาจะมีกำลังใจที่จะเติบโตขึ้น และใช้ชีวิตโดยชอบดังเช่นที่ สอ เสถบุตร ได้กระทำไปแล้ว..."
 
(คลิกดูภาพใหญ่)         หลังจากการพิมพ์ครั้งแรกมาถึง ๖๐ ปี จนถึงเดี๋ยวนี้ New Model English-Thai Dictionary ของ สอ เสถบุตร ก็ยังคงเป็นพจนานุกรมภาษาอังกฤษ-ไทย ที่ใช้กันแพร่หลายที่สุด แม้จะไม่มีตัวเลขจำนวนการพิมพ์ที่แน่นอน แต่ก็อาจประมาณได้ว่านับเป็นแสนฉบับ ที่กระจายอยู่ทุกหนทุกแห่งของประเทศ
      แต่ก็แน่นอนว่า วรรณกรรมเรื่องนี้ของสอมิใช่คัมภีร์อันเป็นอกาลิโก ทุกวันนี้ ท่ามกลางแสงไฟขาวสว่างจ้าของห้างสรรพสินค้า เราก็จะเห็น "พจนานุกรม" ไม่ว่าจะเป็นไทย-อังกฤษ หรืออังกฤษ-ไทย ตลอดจนไปถึงภาษาต่าง ๆ นานาสารพัน วางเข้าแถวอวดโฉมในตู้กระจก ถ้อยคำนับหมื่นนับแสนถูกบีบอัดลงไปเหลือเป็นเพียงตลับเล็ก ๆ สีสันสดใส เต็มไปด้วยแป้นพิมพ์ตัวอักษร ลำโพง และจอแสดงผล
      พจนานุกรมเหล่านี้อยู่คนละโลกกับห้องขังทึบทึมของบางขวาง แสนไกลจากเวิ้งน้ำอันดามันที่ล้อมรอบตะรุเตา และทำให้กองหนังสือสมุดนักเรียนที่สูงท่วมหัว และแรงงานแห่งความอุตสาหะของ สอ เสถบุตร และเพื่อนนักโทษดูกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์
      ในวันนี้ ลูก ๆ ของ สอ เสถบุตร กำลังพยายามผนวกรวมความรู้และประสบการณ์ของแต่ละคนเข้าด้วยกัน เพื่อจัดทำพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ฉบับใหม่ขึ้นมา แม้ว่าพจนานุกรมเล่มนี้จะเป็นการเรียบเรียงขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาเจตนารมณ์ดั้งเดิมของ สอ เสถบุตร ไว้ นั่นคือการใช้ตัวอย่างประโยคเพื่อสื่อแสดงนัยของความหมาย และสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีของคนในยุคปัจจุบัน โครงการนี้เพิ่งเริ่มต้นมาได้ราวปีครึ่ง ปัจจุบันก้าวหน้าไปถึงตัวอักษร P แล้ว
      "พอเริ่มทำแล้วก็รู้เลยว่า สิ่งที่คุณพ่อเคยทำมาก่อนนั้น...มันหนักขนาดไหน"
      คุณพัชรพิมพ์ เสถบุตร ธิดาคนสุดท้องผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการนี้ กล่าว
 
   

เอกสารอ้างอิง

 
(คลิกดูภาพใหญ่)         คำและตัวอย่างประโยคขึ้นต้นในแต่ละส่วนตัวอักษร มาจาก So Sethaputra. New Model English-Thai Dictionary ( 2 Volumes) Samut Prakan: Thai Watana Panich, 1970.
      A ความฝันนี้ สอเล่าไว้ในจดหมายถึงเมืองไทย ฉบับวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๖ ดูใน พิมพวัลคุ์ เสถบุตร. สอ เสถบุตร กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ, ๒๕๓๗. (ต่อไปจะอ้างว่า สอ เสถบุตร)
      B/C/D ประวัติวัยเด็กของสอและเรื่องเล่าในครอบครัว มาจากประวัติของนางเกษร เศรษฐบุตร ใน สอ เสถบุตร. "แม่กับครอบครัว," ปัญหาภาษาอังกฤษ พิมพ์เป็นอนุสรณ์แด่ นางเกษร เศรษฐบุตร สมุทรปราการ: โรงพิมพ์ สอ เสถบุตร, ๒๕๐๕. (ต่อไปจะอ้างว่า ปัญหาภาษาอังกฤษ)
      E เรื่องการสอบชิงทุน มาจาก พ. เนตรรังษี. "สอ เสถบุตร," ความยอกย้อนของภาษา แง่คิดของ สอ เสถบุตร อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกโท หลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร) สมุทรปราการ: โรงพิมพ์ สอ เสถบุตร, ๒๕๑๔. (ต่อไปจะอ้างว่า ความยอกย้อนของภาษา); เรื่องเล่าของ พ. เนตรรังษี อยู่ใน "เขาชื่อ สอ เสถบุตร," ความยอกย้อนของภาษา.
      F เนื้อความในจดหมาย มาจาก สอ เสถบุตร.
      G ประวัติชีวิตช่วงนี้ของสอ ใช้ตาม สอ เสถบุตร.
      I พระยาศราภัยพิพัฒ เล่าเรื่องเหตุการณ์บนเรือ แมคอินทอช ไว้ใน เลื่อน ศราภัยวานิช. ฝันร้ายของข้าพเจ้า พระนคร: ศราภัย, ๒๕๑๒. ; ดูเรื่องเล่าที่ต่างออกไปใน สอ เสถบุตร.
      K สภาพทั่วไปของเรือนจำมหันตโทษ บางขวาง ดูใน จำนงค์ สิงหเสนี. "เจ็ดเดือนในบางขวาง," อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ นายจำนงค์ สิงหเสนี กทม.: มิตรเจริญการพิมพ์, ๒๕๔๑.; และ สอ เสถบุตร. ส่วนคำพรรณนาชีวิตประจำวันของนักโทษการเมือง มาจาก ไทยน้อย. เกาะนรกกลางทะเลฉลาม พระนคร: แพร่พิทยา, ๒๕๐๖.; ดูภาพโต๊ะที่นักโทษการเมืองทำขึ้นจากลังนม จากรูปหมู่นักโทษใน พิธีพระราชทานเพลิงศพ ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์ พระนคร: ศูนย์การพิมพ์, ๒๕๑๒.
      L เรื่องที่สอเล่าถึงการทำปทานุกรมให้ พ. เนตรรังษี ฟัง มาจาก ความยอกย้อนของภาษา.; เรื่องเล่าของ ชุลี สารนุสิต อ้างตาม สอ เสถบุตร ส่วนเรื่องจดหมายของพระยานิพนธ์พจนารถ มาจาก ปัญหาภาษาอังกฤษ.
      M สอเล่าเรื่องการลักลอบส่งต้นฉบับออกมากับกระติกน้ำไว้ใน ปัญหาภาษาอังกฤษ. เช่นเดียวกับเรื่องความผูกพันระหว่างแม่-ลูกคู่นี้
 
(คลิกดูภาพใหญ่)         N รายละเอียดเกี่ยวกับปทานุกรม ดู "ความมุ่งหมาย," ในฉะบับย่อยเล่ม ๑ ของ สอ เศรษฐบุตร. The New Model English-Siamese Dictionary ฉะบับย่อยเล่ม ๑-๑๔๐ พระนคร: กรุงเทพบรรณาคาร, ๒๔๘๐-๒๔๘๓.; ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน เล่าเรื่องการลักลอบนำของต้องห้ามเข้าบางขวางไว้ใน "ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง," ชีวิตและงาน ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, ๒๕๓๔.; ดูเรื่องเล่าจากมุมของ ม.ร.ว.สุดใจ บรรยงกะเสนา ผู้เป็นป้า ใน หนังสือชีวประวัติ หม่อมราชวงศ์หญิงสุดใจ บรรยงกะเสนา พิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ, ๒๕๒๒.; ชีวิตนักโทษในสมัยที่ขุนศรีสรากรเป็นผู้บัญชาการเรือนจำ ดูใน ฝันร้ายของข้าพเจ้า.
      O เรื่องการอพยพนักโทษไปตะรุเตามาจาก เกาะนรกกลางทะเลฉลาม.; ส่วนเรื่องการที่นางเกษรสามารถลักลอบติดต่อกับสอที่ตะรุเตาได้ อยู่ใน ปัญหาภาษาอังกฤษ.
      P คำบอกเล่าของ ส.ต.ท. ละม่อม สุขพวง อ้างตาม บุญเสริม ฤทธาภิรมย์. จดหมายจากตะรุเตา (พิมพ์ครั้งที่ ๕ ฉบับปรับปรุงใหม่) กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, ๒๕๔๐. อนึ่ง สมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ข้อความในหนังสือเล่มนี้ส่วนที่เกี่ยวข้องกับขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ ไม่ได้รับการยอมรับจากทายาทในสกุลมาศะวิสุทธิ์; เรื่องกิจกรรมของนักโทษการเมืองที่ตะรุเตา มาจาก เกาะนรกกลางทะเลฉลาม.
      Q เรื่องการหลบหนีจากตะรุเตาของนักโทษกลุ่มนี้ ภายหลัง บางคนได้บันทึกเรื่องของตนไว้ เช่นของพระยาศราภัยพิพัฒ อยู่ใน ฝันร้ายของข้าพเจ้า; พระยาสุรพันธเสนี."ฝันร้ายในชีวิตของข้าพเจ้า," อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระยาสุรพันธเสนี (อิ้น บุนนาค) นครหลวงกรุงเทพธนบุรี: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ๒๕๑๕.; ส่วนสอเอง เล่าสาเหตุที่เขาไม่ยอมหนีไปด้วยไว้ใน ปัญหาภาษาอังกฤษ.
      R เหตุการณ์เช้าวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ มาจาก เกาะนรกกลางทะเลฉลาม; เรื่องยาควินินของนางเกษร มาจาก ปัญหาภาษาอังกฤษ
      U เรื่องเล่าเกี่ยวกับการอพยพนักโทษและการทำงานหนักที่เกาะเต่า มาจาก เกาะนรกกลางทะเลฉลาม; ส่วนเรื่องเล่าของ ดร.โชติ คุ้มพันธุ์ อยู่ใน ไทยน้อย. ค่ายคุมขังนักโทษการเมือง (พิมพ์ครั้งที่ ๒) พระนคร: ไทยพานิช, ๒๔๘๘.
      V ความทรงจำเกี่ยวกับสภาพโกลาหลที่สถานีรถไฟบางกอกน้อยเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๗ ในที่นี้ มาจาก พิธีพระราชทานเพลิงศพ ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์.; ร.ท. จงกล เป็นหนึ่งในอดีตนักโทษการเมืองชุดตะรุเตาและเกาะเต่า ภายหลังหันมาเล่นการเมืองจนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย รวมทั้งได้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย; ส่วนเรื่องเกี่ยวกับนายมานิต วสุวัต และมารดาของสอ ที่มารับยังสถานีรถไฟ มาจาก ปัญหาภาษาอังกฤษ
      W ดูรายนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีชุดต่างๆ ใน คณะผู้จัดทำหนังสือที่ระลึกในงานสโมสรสันนิบาต. ๖๗ ปี สมาชิกรัฐสภาไทย พ.ศ.๒๔๗๕-๒๕๔๒ (กรุงเทพฯ): กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร, ๒๕๔๒.; ศูนย์บริการเอกสารและการค้นคว้า สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. "รวมคำแถลงนโยบายรัฐบาลและรายชื่อคณะรัฐมนตรี" เอกสารอัดสำเนา, ๒๕๒๖ (?). ดูเรื่องเล่าเกี่ยวกับท่านรัฐมนตรี ม.จ.สิทธิพร กฤดากร และ สอ เสถบุตร ใน "สอ เสถบุตร" และ "เขาชื่อ สอ เสถบุตร,"ความยอกย้อนของภาษา.
      Y นายแพทย์ชัยยะ เสถบุตร เล่าเรื่องเกี่ยวกับ "ของเล่น" ของบิดาไว้อีก ใน "งานอดิเรกของ สอ เสถบุตร," ความยอกย้อนของภาษา.
      Z คุณพิมพวัลคุ์ เสถบุตร เล่าเรื่องการต่อสู้คดี การขายลิขสิทธิ์พจนานุกรม และช่วงสุดท้ายในชีวิตของสอ เสถบุตร ไว้ใน "สอ เสถบุตร," ความยอกย้อนของภาษา. ส่วนข้อเขียนของ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช คือ "สอ เสถบุตร คนดีที่ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้," ความยอกย้อนของภาษา.
 
   

ขอขอบคุณ

 
          นพ. ชัยยะ เสถบุตร
      อาจารย์นิตยา มาศะวิสุทธิ์
      คุณพัชรพิมพ์ เสถบุตร
      คุณภัทรา มาศะวิสุทธิ์
      คุณวิชญดา ทองแดง