สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๗ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๗ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๕ "๑๐ ปี พฤษภาคม ๒๕๓๕ สังคมไทยได้อะไร ?"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๗ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๕  

ความทรงจำแห่งสยาม ของ กาลิเลโอ คินี

เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน

(คลิกดูภาพใหญ่)

      ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ต่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ราชสำนักไทย ได้ว่าจ้างนายช่างชาวอิตาเลียนจำนวนมาก ทั้งสถาปนิก วิศวกร จิตรกร และประติมากร เข้ามารับราชการในกระทรวงโยธาธิการ ผลงานของบุคคลเหล่านี้ ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในกรุงเทพฯ ตั้งแต่พระที่นั่งอนันตสมาคม วังบางขุนพรหม (ส่วนหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย) ตึกไทยคู่ฟ้า (ในทำเนียบรัฐบาล) สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปจนถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง และที่อื่นๆ อีกมาก
      นอกจากนั้นแล้ว ยังมีศิลปินอิตาเลียนบางคนที่ได้รับการว่าจ้างเข้ามาทำงานเฉพาะแห่ง เช่น กาลิเลโอ คินี ผู้เขียนภาพพระราชกรณียกิจของพระบุรพกษัตริย์ บนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม ประสบการณ์ในสยามยุคต้นรัชกาลที่ ๖ ของเขา นับเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่ส่งผลสะท้อนสะเทือนไปจนตลอดช่วงชีวิตของศิลปิน นักประวัติศาสตร์ศิลปะอิตาเลียน ถึงกับยกการเดินทางสู่สยามของเขา ขึ้นเทียบเคียงเสมอดัวยการเดินทางไปเกาะตาฮิติ ของพอล โกแกง (Paul Gauguin) จิตรกรฝรั่งเศสเลยทีเดียว


 

กาลิเลโอ คีนิ เป็นใคร ? 

(คลิกดูภาพใหญ่)
      กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini 1873 - 1956 / พ.ศ. ๒๔๑๖ - ๒๔๙๙) เดินทางเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๔ - ๒๔๕๖ เมื่อออกเดินทางมาสู่สยามนั้น เขาอายุได้ ๓๗ ปี ทั้งอาจนับเนื่องได้ว่าเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของอิตาลี ไม่ว่าจะเป็นในวงการศิลปะหรือการออกแบบตกแต่ง ตั้งแต่งานจิตรกรรมบนผืนผ้าใบ จิตรกรรมฝาผนัง งานประติมากรรมปูนปั้นประดับอาคาร ไปจนถึงเครื่องเคลือบดินเผา 
      คินีเกิดที่เมืองฟลอเรนซ์เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ เขากลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุ ๑๒ หลังจากนั้นจึงได้อยู่ในความอุปการะของลุง ที่เป็นช่างเขียนและช่างอนุรักษ์ภาพเก่า คินีจึงได้เริ่มเรียนรู้งานศิลปะมาแต่นั้น 
      ด้วยความสนับสนุนของลุง คินีจึงได้เข้าเรียนยังโรงเรียนศิลปะในเมืองฟลอเรนซ์ และได้เป็นลูกมือให้กับนักออกแบบตกแต่งผู้เลื่องชื่อแห่งยุค จนก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินอิสระในที่สุด
      นอกจากคินีจะเป็นจิตรกรรุ่นใหม่ที่เป็นที่จับตามองคนหนึ่งแล้ว ขณะเดียวกัน เขาก็ยังมีกิจการโรงงานเซรามิกส์และกระจกสีร่วมกับลูกพี่ลูกน้อง ทั้งยังเป็นนักวาดภาพประกอบในหนังสือสิ่งพิมพ์ที่มีผลงานมากมาย 
      คินีค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ และชื่อเสียงจากภาพเขียน และผลงานเครื่องเคลือบดินเผา ที่เก็บเกี่ยวรางวัลมากมายทั้งระดับชาติ และนานาชาติ จนในที่สุดเขาก็ได้รับเชิญ ให้เข้าร่วมแสดงงานในนิทรรศการศิลปะนานาชาติ ที่เรียกกันว่า "เวนิสเบียนนาเล" (Biennale di Venezia) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกสองปี ณ เมืองเวนิส (และยังจัดสืบเนื่องเรื่อยมาจนบัดนี้) 
 
 

เดอะคิงแอนด์คินี

(คลิกดูภาพใหญ่)
      และแล้วโอกาสอันพลิกผันชีวิตของศิลปินหนุ่มก็มาถึง ในงานเบียนนาเลประจำปีคริสต์ศักราช ๑๙๐๗ (พ.ศ. ๒๔๕๐) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์แห่งสยาม ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรงานในระหว่างเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒
      ในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ที่ทรงมีมายังพระราชธิดา คือสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดล ฉบับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖ ทรงเล่าถึงงานเบียนนาเลหรือที่ทรงเรียกว่า "อาตเอกสหิบิเชน" (Art Exhibition) ไว้ดังนี้
      "...แล้วไปดูอาตเอกสหิบิเชน...กำหนดเอกสหิบิเชนนี้มีสองปีครั้งหนึ่ง ...สิ่งซึ่งเอกสหิบิเชนในโรงนั้นมีรูปหล่อ รูปศิลา รูปปั้นด้วยปลัสเตอ มีรูปเขียนสีน้ำมัน สีน้ำเปนอันมาก...รูปที่ชอบใจพ่อมีอยู่สักสิบห้าสิบหกรูป รูปหล่อบ้าง ได้สั่งให้ซื้อแล้วสักสามรูป นอกนั้นยังสืบสวนราคา...."

      อันที่จริง ผลงานของคินีนั้นมีหลากแบบหลายสไตล์ ขณะที่ผลงานเครื่องปั้นดินเผาของเขา นิยมใช้ลวดลายดอกไม้ใบไม้ เลื้อยพันกันในแบบอาร์ตนูโว (Art Nouveau หรือที่เรียกกันในอิตาลีว่า "ศิลปะลิเบอร์ตี") แต่พอถึงงานจิตรกรรม ในหลายๆ ภาพก็ปรากฏกลิ่นอายของนีโอ - อิมเพรสชันนิสม์ (ในอิตาลีเรียกว่า Divisionismo) คือความนิยมในจุดแต้มของแสงสีที่พร่าพรายระยับ  ทว่า ภาพเขียนฝีมือคินีในงานเบียนนาเลประจำปีนั้น คือภาพชุด "ประวัติศาสตร์ศิลปะข้ามกาลเวลา" ที่อยู่ในบรรยากาศคลาสสิคของยุโรปโบราณ อันเต็มไปด้วยเทพยดา และอมนุษย์ท่ามกลางลวดลายพันธุ์พฤกษาอ่อนหวาน ในสไตล์ลิเบอร์ตี ภาพแนวนี้เองก็ต้องกับรสนิยมส่วนพระองค์ ของสมเด็จพระปิยมหาราช ว่ากันว่าพระองค์ทรงโปรดปรานฝีมือของคินีเป็นพิเศษ จึงได้มีการทาบทามให้ศิลปินหนุ่มใหญ่ผู้นี้เดินทางเข้าไปยังกรุงเทพฯ เพื่อรับงานเขียนภาพในพระที่นั่งองค์ใหม่ที่กำลังจะเริ่มก่อสร้าง ณ พระราชวังดุสิต
      แต่กว่าที่คินีจะได้เดินทางเข้ามา สยามก็ผลัดแผ่นดินเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว กระนั้น เขาก็ยังมาทันได้เข้าร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ 
 
 

สู่บางกอก

(คลิกดูภาพใหญ่)
      เรือเดินสมุทรที่เป็นพาหนะอย่างเดียวในการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลในสมัยนั้น พาคินีออกจากท่าเรือเมืองเจนัว (อิตาลี) แวะตามเมืองท่ารายทางมา ตั้งแต่ที่ปอร์ตเสด (Port Said) เอเดน โคลัมโบ ปีนัง และสิงคโปร์ สำหรับคินีผู้ซึ่งไม่เคยเดินทางออกไปนอกอิตาลีเลยนั้น ลำพังประสบการณ์แปลกใหม่ที่ได้รับมาตลอดการเดินทางก็ท่วมท้นหัวใจแล้ว ดังที่เขาบันทึกไว้เมื่อขึ้นฝั่งที่โคลัมโบ (ในศรีลังกา) ว่า
      "...เมื่อเราขึ้นฝั่งก็เป็นเวลาพลบค่ำแล้ว พระจันทร์เพ็ญส่องแสงสว่างนวลฉาบไล้ผนังกำแพงบ้านเรือนสีขาว ที่มีโครงสร้างแบบพิเศษเฉพาะตัว ให้กลายเป็นสีเงินยวง พืชพันธุ์อันงดงามก็สะท้อนแสงจันทร์เป็นประกายสีมรกต ผู้คนและอากัปกิริยาของพวกเขาดูช่างแปลกประหลาดและลึกลับ...."
      ณ ท่าเรือสิงคโปร์ ที่ซึ่ง "...แลเห็นปล่องควันเรือสลอนเป็นดง ผ่านม่านฝุ่นควันที่กลายเป็นสีทองอร่ามด้วยแสงตะวัน...." คินีเปลี่ยนเรือเป็นเรือขนาดเล็ก  แล่นตัดอ่าวไทยข้ามสันดอนเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ทัศนียภาพสองฝั่งล้วนแปลกหูแปลกตา 
      "...สำหรับผู้ที่เดินทางมาเป็นครั้งแรก สยามจะก่อให้เกิดความประทับใจอย่างมหัศจรรย์ แม่น้ำสายใหญ่ที่มีน้ำเป็นสีเหลือง...พื้นที่ราบเรียบอันเนืองนองด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ มีต้นไม้ใบเขียวอยู่เสมอ ...ช่างน่าตื่นตาตื่นใจเหลือเกิน เมื่อได้เห็นชีวิตริมฝั่งน้ำนั้น...." 
      ยิ่งได้มาประสบกับพระราชพิธีแห่งราชสำนักสยาม ที่ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอลังการ คินีก็ยิ่งละลานตา
      "...มีช้างศักดิ์สิทธิ์ทรงเครื่องประดับทางศาสนา พร้อมกับผูกสัปคัปไว้บนหลัง เหนือจากนั้นขึ้นไปเป็นที่ตั้งของหอคอยเล็กๆ มีผู้คนที่แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างน่าตื่นตาขึ้นบังคับช้าง ส่วนบรรดาที่นั่งอยู่บนหลังช้าง ต่างก็แสดงตนเป็นบุคคลสำคัญในตำนานบ้าง ออกมาจากเรื่องราวทางศาสนาบ้าง ไม่เช่นนั้นก็เป็นนักรบ หรือเป็นข้าราชสำนัก สิ่งเหล่านี้ยังไม่จางหายไปจากความทรงจำของผมเลย ภาพของประชาชนทุกชนชั้น ที่ต่างร่วมแสดงความปิติยินดี ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าตามแบบประเพณีที่งดงามยิ่ง ด้วยความแวววาวของทองคำ และสีสันอันหลากหลายของเนื้อผ้า พากันเดินไปเป็นริ้วขบวนยาวนั้น ช่างตรึงตาต้องใจผมเหลือเกิน แม้ว่าผมจะไม่สามารถเข้าใจถึงความหมายอันลึกซึ้งของภาพฉากเหล่านั้นได้เลย...."
 

ถวายฝีมือ

(คลิกดูภาพใหญ่)
      ตามสัญญาที่คินีทำไว้กับกระทรวงโยธาธิการ เขามีเวลา ๓๐ เดือน ในการเขียนภาพเฟรสโกพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรี ในการนี้ เขาต้องรับเป็นธุระในการจัดหาลูกมือชาวฟลอเรนซ์ ทั้งช่างเขียนและช่างปิดทอง ตลอดจนตระเตรียมอุปกรณ์และสีสำหรับงานนี้ส่งล่วงหน้าเข้ามาก่อน ส่วนตัวเขาเองติดตามเข้ามาในภายหลัง
      ในระหว่างพำนักที่กรุงเทพฯ คินีอาศัยอยู่ที่บ้านริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ในตรอกวัดสามพระยาย่านบางลำพู ว่ากันว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านเดิมของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ที่จัดให้เป็นที่พักของเหล่าศิลปินอิตาเลียน เข้าใจว่าช่างคนอื่นๆ ที่เข้ามากับเขาก็คงพักที่บ้านหลังเดียวกันนั้นด้วย 
      ถ้าอยากจะเล่าให้เป็นตุเป็นตะ ก็อาจจะขยายความต่อได้ว่า คงเป็นที่ท่าน้ำของบ้านหลังนี้เอง ที่คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli 1883 - 1962 /พ.ศ. ๒๔๒๖-๒๕๐๕) จิตรกรชาวเมืองฟลอเรนซ์ ผู้เป็นทั้งลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงานของคีนิ ได้พบกับเด็กชายเหม หลานของ ม.ร.ว. แดง ทินกร ซึ่งรับหน้าที่ดูแลนายช่างชาวอิตาเลียน
      เรื่องเล่านี้มีอยู่ว่าเด็กชายเหมเอาชอล์ก ไปขีดเขียนรูปภาพต่างๆ ง่วนอยู่ที่สะพานท่าน้ำ ริโกลีพบเข้าก็เอ็นดูและเห็นว่าเด็กคนนี้พอจะมีแววอยู่ จึงขออนุญาตจาก ม.ร.ว.แดง พาเหมไปดูการเขียนภาพที่บนโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย ว่างๆ เขาก็สอนให้เหมหัดขีดเขียนเส้นสายลวดลายต่างๆ ไป
      ในกาลต่อมา เด็กชายชาวสยามผู้นั้น กลายเป็นจิตรกรนามอุโฆษของประเทศไทย ชื่อของเขาคือ "เหม เวชกร"
(คลิกดูภาพใหญ่)
      ย้อนกลับมากล่าวถึงคินีอีกครั้ง งานที่เขารับผิดชอบโดยตรงก็คือ การร่างและเขียนภาพพระราชกรณียกิจในรัชกาลต่างๆ บนเพดานโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคม รวมถึงลวดลายประดับตกแต่งเพดานส่วนอื่นๆ ด้วย พระที่นั่งองค์นี้ ได้นำเอาชื่อของพระที่นั่งที่เคยมีมาแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาใช้ใหม่กับผลงานการออกแบบอาคารในสไตล์ของอิตาเลียนเรอเนซองส์ ฝีมือสถาปนิกริกอตติ (Annibale Rigotti 1870 - 1968 / พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๕๑๑) ร่วมกับสถาปนิกตามานโญ (Mario Tamagno 1877 - 1941 / พ.ศ. ๒๔๒๐ - ๒๔๘๔) การก่อสร้างเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ก็ล่วงไปถึงรัชกาลต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๙
      หลังจากที่คินีได้ทำการศึกษา ทดลองร่างแบบ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ในที่สุดก็ได้มีการคัดเลือกภาพเหตุการณ์ในรัชกาลต่างๆ มาเขียนไว้บนโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมดังนี้ คือ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก - ภาพเมื่อเสด็จกลับจากราชการทัพในกัมพูชา เหล่าขุนนางข้าราชการสมณชีพราหมณ์ อัญเชิญให้ขึ้นเสวยราชสมบัติ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย - กระบวนเสด็จพยุหยาตราทางสถลมารค และการก่อสร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว - การเสด็จเลียบพระนครและการก่อสร้างป้อมปราการ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - พระราชกรณียกิจในการทนุบำรุงศาสนา รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - การเลิกทาสและความก้าวหน้าของพระราชอาณาจักร (โดยมีภาพเรือกลไฟและการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมอยู่เบื้องหลัง) และ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว - การเสด็จออกมหาสมาคม ณ มุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช
      ภาพเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันดี รวมทั้งยังมีการตีพิมพ์แพร่หลาย พบเห็นได้ไม่ยากนัก ในที่นี้จึงของดไว้ไม่กล่าวถึง
      ในการทำงานชิ้นที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยชุดนี้ คินีซึ่งเป็นคนนอกวัฒนธรรมไทย จำเป็นต้องเตรียมการมากพอสมควร เขาเก็บรวบรวมวัตถุต่างๆ ถ่ายภาพ และทำการศึกษาบันทึกสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเห็นไว้เป็นภาพวาด (study) จำนวนไม่น้อย นอกจากนั้น ระหว่างที่อยู่ในเมืองไทย คินียังมีผลงานส่วนตัวเป็นภาพสีน้ำมันอีกมากมาย ที่บันทึกบรรยากาศและแสงสีของเมืองร้อน ตลอดจนผู้คนรอบข้าง เช่นภาพแม่สุนางรำ ภาพเขียนริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา  รวมไปถึงภาพจากจินตนาการของศิลปินตามสไตล์ของศิลปะลิเบอร์ตี 
      ในปี พ.ศ.๒๔๕๖ หลังจากการออกแบบและเขียนภาพจนแล้วเสร็จไปบางส่วน คินีก็เดินทางกลับ ทิ้งงานการเขียนภาพและการเก็บรายละเอียดที่เหลือไว้ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ช่วยของเขาต่อไป
 

หวนคำนึงถึงกรุงเทพฯ

(คลิกดูภาพใหญ่)
      หลังจากกลับไปอิตาลี ในปีต่อมา คือ พ.ศ. ๒๔๕๗ คินีได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเวนิสเบียนนาเลอีกครั้งโดยมีห้องแสดงงานเป็นส่วนตัว เขาจึงเปิดการแสดงเครื่องปั้นดินเผาและภาพเขียน ทั้งส่วนที่เขานำกลับไปด้วย และที่เขียนขึ้นใหม่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ในชื่อนิทรรศการว่า Nostalgia di Bangkok (หวนคำนึงถึงกรุงเทพฯ)
      ชีวิตในช่วงต่อมา คินีกลายเป็นอาจารย์ประจำในสถาบันศิลปะแห่งเมืองฟลอเรนซ์ ทั้งยังเป็นมัณฑนากรและจิตรกรที่เป็นที่ต้องการของสังคม เป็นนักออกแบบฉากละครผู้มีชื่อเสียง ทว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านเลยไปเนิ่นนานเพียงใด ความคิดถึงหรือความทรงจำจากประสบการณ์ที่เขาได้รับมาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๔ - ๒๔๕๖ ก็ไม่เคยเลือนหายไปจากใจของคินี ในภาพเขียนสีน้ำมันที่เขาเขียนขึ้นในอีกสิบหรือยี่สิบปีให้หลัง แม้ว่าแบบแผนของสีสันและฝีแปรงจะแปรเปลี่ยนไปตามวัย ทว่าเสียงเพรียกจากดินแดนตะวันออกแสนไกลอันมีนามว่า "สยาม" ก็ยังคงดังแว่วอยู่
      แม้แต่ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อคินีออกแบบฉากมหาอุปรากรเรื่อง ตูรันดอท (Turandot) ให้กับคีตกวีปุชชินิ (Puccini) ทั้งที่ตามท้องเรื่องนั้นเกิดขึ้นในประเทศจีน หากแต่ในแบบร่างก็ยังปรากฏร่องรอยของสิ่งที่เขาเคยสัมผัสในเมืองไทยให้เห็นได้อยู่นั่นเอง

      จนถึงวัย ๗๖ ปี เมื่อคินีตัดสินใจบริจาคสิ่งของสะสมจากสยามของเขาให้กับพิพิธภัณฑ์ "ความทรงจำแห่งสยาม" (ซึ่งเป็นชื่อข้อเขียนประกอบนิทรรศการของเขา) ก็ยังคงแจ่มชัด
      "...ผมยังจำได้ดีว่า เมื่อวัยเยาว์ งานฉลองผนังหน้าโบสถ์ (facade) ของวิหารซานตามาเรียเดลฟิโอเร (Santa Maria del Fiore) นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด แต่เมื่อเปรียบกับสิ่งที่ผมได้พบเห็นในกรุงเทพฯ แล้ว ผมประทับใจในความแตกต่างอันใหญ่หลวงนี้มาก
      วัดวาอารามอันมีกำแพงสีขาว ประตูสีทอง หน้าต่างประดับกระจกสีและฝังมุก หลังคามุงกระเบื้องหลากสีและกระเบื้องสีทอง ชายคาที่รองรับด้วยเสาไม้มีค่าอันลงรักไว้ องค์พระพุทธรูปและรูปนักบุญหล่อด้วยสำริดกาไหล่เงินส่องประกายวาววับ ทั้งยังมีรูปสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แปลกตาอีกมาก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่พวกเราไม่สู้จะเข้าใจ และเกินกว่าจะสรรหาถ้อยคำมาบรรยายได้...."
      กาลิเลโอ คินี ถึงแก่กรรมที่เมืองฟลอเรนซ์ ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ศิริรวมอายุได้ ๙๒ ปี
 

ขอขอบคุณ

 
      ผศ. กนกวรรณ ฤทธิไพโรจน์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบ
(คลิกดูภาพใหญ่)

เอกสารอ้างอิง

      กาลิเลโอ คินี. "ความทรงจำแห่งสยาม," (แปลจาก Ricordi del Siam โดยหนึ่งฤดี โลหผล Lucio Nalesini ศรัณย์ ทองปาน และชฎารัตน์ คนรู้) นิทรรศการภาพถ่ายและบันทึกทางประวัติศาสตร์ของ Galileo Chini (สูจิบัตรประกอบนิทรรศการ ณ หอศิลป์แห่งชาติ ๑๖ - ๓๑ มกราคม ๒๕๔๕)
      จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ไกลบ้าน เล่ม ๑ - ๒ พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๔๙๗.
      พลตระเวน. ศิลปินเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระนคร: หนังสือพิมพ์นครไทย, ๒๔๙๔.
      หนึ่งฤดี โลหผล. "การเสด็จพระราชดำเนินเยือนอิตาลีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และกลุ่มศิลปินชาวฟลอเรนซ์ในราชอาณาจักรสยาม," เส้นทางศิลปวิทยาการอิตาเลียน-ไทย จากศตวรรษที่ ๑๙ สู่ปัจจุบัน เอกสารประกอบการประชุมวิชาการอิตาเลียน-ไทยศึกษา ครั้งที่ ๑ กรุงเทพฯ, ๒๕๔๐.
      หนึ่งฤดี โลหผล. "แด่พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๙๐) โดยศิลปินอิตาเลียนผู้ออกแบบตกแต่งเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม," เมืองโบราณ ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๒ (เมษายน - มิถุนายน ๒๕๔๑) : ๔๖ - ๕๘.
      อภินันท์ โปษยานนท์. จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก กรุงเทพฯ: สำนักพระราชวัง, ๒๕๓๗.
      Ferri de Lazara, Leopoldo and Paolo Piazzardi. Italians at the Court of Siam (ชาวอิตาเลียนในราชสำนักไทย) Bangkok: Amarin Printing and publishing, 1996. 
      Galileo Chini in the Kingdom of Siam Bangkok: National Gallery, 1994.