สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๗ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๗ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๕ "๑๐ ปี พฤษภาคม ๒๕๓๕ สังคมไทยได้อะไร ?"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๗ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๕  

๑๐ ปี พฤษภาคม ๒๕๓๕

เรื่อง : ธนาพล อิ๋วสกุล

(คลิกดูภาพใหญ่)
      "ผ่านหกสิบปีไปเปล่าเปล่า หวังใดได้เล่าเฝ้าวาดหวัง
สังคมมีแต่แผลเรื้อรัง กับซากปรักหักพังประชาธิปไตย"

      บทรำพึงรำพันของกวีนิรนาม ปรากฏอยู่บนผนังตึกกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้าวันหลังเหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕
      แน่นอนว่าระยะเวลากว่า ๖๐ ปีของประชาธิปไตย อาจจะเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง แต่ประชาธิปไตยไทย ผ่านหกสิบปีไปเปล่าเปล่า จริงหรือ?
      แม้ว่าประชาธิปไตยไทยเมื่อครบ ๖๐ ปี จะวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ทางการเมือง 
      รัฐประหาร -- รัฐธรรมนูญ - การเลือกตั้ง ---รัฐสภา --- วิกฤตการณ์ --- 

      ๔๐ ปีแรก กลุ่มข้าราชการทั้งพลเรือนและทหาร สามารถรวมศูนย์อำนาจ ในการกำหนดนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่สามารถ ล้มกระดานการเมืองไทย ด้วยการรัฐประหาร จึงเป็นที่มาชื่อเรียก ระบอบอำมาตยาธิปไตย
      จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ถึงแม้ตามมาด้วยการรัฐประหารที่นองเลือดเมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งหลายคนเมื่อมองกลับไปถึงกับอุทานด้วยความเสียดายว่า ๑๔ ตุลา มีเพียงกระเบื้องหลุดไปเพียง ๓ แผ่น แต่โครงสร้างทางการเมืองไทยยังเหมือนเดิม
      แต่มุมมองของนักประวัติศาสตร์ เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์ กลับมองว่า การเปลี่ยนแปลงที่ ๑๔ ตุลา นำมาสู่สังคมไทยนั้นกว้างใหญ่ไพศาล เกินกว่าที่นักรัฐประหารคณะใด เผด็จการพลเรือนรุ่นใด ๆ จะหยุดยั้งพลังของมันลงได้ จาก ๑๔ ตุลา มาถึงทุกวันนี้ (แม้) เราไม่เคยเห็นรัฐบาลพลเรือนมั่นคงสักชุด แต่เราก็ไม่เคยมีรัฐบาลรัฐประหารที่มั่นคงเลยสักชุดเช่นกัน 

(คลิกดูภาพใหญ่)       ความล้มเหลวของรัฐบาลขวาจัด ธานินทร์ กรัยวิเชียร หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่สร้างความแตกแยกให้แก่สังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน เป็นตัวชี้วัดอย่างดีว่าสังคมไทยไปไกลเกินกว่าระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตย เต็มรูปแบบอีกต่อไป การประนีประนอมกันระหว่างพลังประชาธิปไตย (การเปิดเสรีภาพมากขึ้น การจัดตั้งพรรคการเมือง ระบบรัฐสภา ฯลฯ) กับพลังอำมาตยาธิปไตย (บทบาทของวุฒิสภาที่มาจากข้าราชการประจำ, นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ) จึงปรากฏชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ๒๕๒๑ นี่เองจึงเป็นที่มาของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือที่บางคนเรียกว่า ระบอบเผด็จการครึ่งใบ
      แต่ไม่ว่าจะเรียกชื่ออะไร ระบอบดังกล่าวก็มีอายุเพียงหนึ่งทศวรรษเมื่อ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ต้องก้าวลงจากอำนาจภายหลังการเลือกตั้ง กรกฎาคม ๒๕๓๑ 
      รัฐบาล พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) จึงถือเป็นการเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ ซึ่งในที่นี้คือการการล่าถอยของระบอบอำมาตยาธิปไตย และเปิดโอกาสให้กลุ่มพลังอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากขึ้น แต่ในระยะเปลี่ยนผ่านก็มิได้ราบรื่นนัก ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบรรยากาศช่วงนั้นว่า
      "รัฐบาลชาติชายมาจากการเลือกตั้ง และไม่มีทหารอยู่ข้างตนเองเลย เราไม่มีทหารที่มีอุดมการณ์ผูกมัดตัวเองอย่างเด่นชัดเข้ากับประชาธิปไตย รัฐบาลชาติชายต้องเร่งรีบเข้าไปหาประชาชน และพยายามให้ข้าราชการประจำทั้งทหาร และพลเรือนรับรู้ถึงสิ่งที่ชาวบ้านเดือดร้อน แล้วพยายามปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ที่ช่วยเหลือชาวบ้านเขาให้ดีที่สุดเท่าที่จะช่วยเหลือได้ มันไม่ใช่กลยุทธในการหาเสียงอย่างเดียว แต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงปฏิสัมพันธ์ ระหว่างข้าราชการประจำ และประชาชนส่วนใหญ่"
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       แต่นั่นก็ไม่เพียงพอ เพราะระบอบอำมาตยาธิปไตย กลับมาอีกครั้งในนามการรัฐประหาร ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ภายใต้ชื่อ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ด้วยเหตุผลหลักห้าข้อ คือ
      ๑. รัฐบาลมีพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง
      ๒. ข้าราชการการเมืองรังแกข้าราชการประจำ
      ๓. เผด็จการรัฐสภา
      ๔. การทำลายกองทัพ
      ๕. การบิดเบือนคดีลอบสังหาร
      พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ได้วิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า เกิดจากผู้ปกครองกลุ่มใหม่ที่เป็นตัวแทนกลุ่มทุน เมื่อ "เถลิงอำนาจ" และมัวเมากับ "อำนาจรัฐสภา" ของตน มองไม่เห็นอำนาจชี้ขาดที่มาจากกลไกรัฐ นอกจากนั้นยังถือเอา "การยึดสภา" เป็นสิ่งเดียวกับการยึดอำนาจรัฐ จึงดำเนินยุทธวิธี และพฤติกรรมส่วนบุคคลอันเหิมเกริม จนเป็นจุดอ่อนต่อการโจมตีของอำนาจเก่า 
      แม้จะมีความพยายามของระบอบอำมาตยาธิปไตย ในการสืบทอดอำนาจ แต่ก็ต้องเผชิญกับการต่อต้านจนเกิดวิกฤตการณ์ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕
      การเมืองไทยมีแนวโน้มที่กลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์อีกครั้งเมื่อเกิด รัฐประหาร (กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔) -- รัฐธรรมนูญ (ธันวาคม ๒๕๓๔) - การเลือกตั้ง (มีนาคม ๒๕๓๕) ---รัฐสภา (เมษายน ๒๕๓๕) --- วิกฤตการณ์ (พฤษภาคม ๒๕๓๕) 
      แต่ทำไมยังไม่เกิดการรัฐประหาร ทั้งที่เวลาผ่านไปถึง ๑๐ ปี ?
(คลิกดูภาพใหญ่)       คำตอบคือ พลังของระบอบอำมาตยาธิปไตย ที่เป็นพลังสำคัญในการรัฐประหาร ได้ยุติบทบาทของตนเองลงเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ แม้ว่าระบอบการเมืองหลังจากนั้น จะเต็มไปด้วย นักเลือกตั้ง นักธุรกิจการเมือง แต่ด้วยระบอบการเมืองแบบนี้เอง ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มพลังต่าง ๆ ของสังคมได้มี "พื้นที่" ทางการเมืองมากขึ้น จนไม่ปล่อยให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นมามีอำนาจอย่างเด็ดขาด จนสามารถล้มกระดานทางการเมืองได้อีกต่อไป
นี่คือคุณูปการของเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕
..................................
      ไม่ว่าเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ จะถูกลืมหรือถูกจำในแง่ใดก็ตาม แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ
      ๑๐ ปีที่แล้ว มีความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริง มีคนเจ็บ คนตาย และคนสูญหายไปเป็นจำนวนมาก และมีหลายคนยังถูกจองจำ ด้วยอดีตอันเจ็บปวดอยู่จนถึงปัจจุบัน ฯลฯ
      ๑๐ ปีผ่านไป ยังมีความดำมืดของเหตุการณ์ดังกล่าวอีกมากที่รอวันค้นพบ ไม่ว่าจะเป็นมือที่ ๓ มีจริงหรือไม่ ใครคือคนสั่งการที่แท้จริง ศพหายไปไหน ฯลฯ
      ๑๐ ปีผ่านไป มีคนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ได้สิ่งที่เรียกว่า ความยุติธรรม อยู่จนถึงปัจจุบัน
      ๑๐ ปีผ่านไป สังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างมากอันเกิดจากผลกระทบของเหตุการณ์ พฤษภาคม ๒๕๓๕
      ในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ สารคดี ขอนำท่านกลับไปย้อนกลับไปมองเหตุการณ์ดังกล่าวอีกครั้ง โดยผ่านการวิเคราะห์, ประมวลการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่เหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ ได้ทิ้งเป็นมรดกไว้
 
 

รัฐประหาร ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔: 
ทำลายประชาธิปไตย เหลือไว้แต่เสรีนิยม

(คลิกดูภาพใหญ่)
      เหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ไม่สามารถแยกขาดจากการรัฐประหาร ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ได้ เนื่องจากทั้งหมดคือกระบวนการเดียว จากความพยายามในการรื้อฟื้นระบอบอำมาตยาธิปไตย แต่ สังคมไทยในขณะนั้นก็ไปไกลเกินกว่าที่จะยอมรับได้ จึงเกิดกระบวนการต่อต้าน/ขัดขืน จนปะทุเป็นเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ 
      ถึงแม้มูลเหตุที่จริงของการรัฐประหาร ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ นั้นจะเกิดจากความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่ง พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล แกนนำคนสำคัญของ รสช. ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ทั้งหมดเกิดจากความขัดแย้งในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารเท่านั้น แต่ รสช. ซึ่งสมาชิกหลักคือกลุ่ม จปร. ๕ หรือรู้จักกันในนามกลุ่ม ๐๑๔๓ [กลุ่มนายทหาร ตำรวจ ที่จบการศึกษาในปี ๒๕๐๑ ที่มาจาก ๔ เหล่า ๓ กองทัพ] ก็ฉลาดพอที่จะหยิบยกเอาปัญหาคอร์รัปชัน มาอำพรางเป้าหมายที่แท้จริง เพื่อจะชี้ชวนให้ประชาชนเห็นว่า ปัญหาประชาธิปไตยไม่สำคัญเท่ากับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ประกาศ รสช. ฉบับที่ ๒๖ จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมือง ที่มี พล.อ. สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธาน ประกาศอายัดทรัพย์สินนักการเมือง ๒๕ คน จาก ๗ พรรคการเมือง เพื่อตรวจสอบว่าทรัพย์สินทั้งหมดได้มาโดยชอบหรือไม่ จึงได้รับการตอบรับได้เป็นอย่างดี 
      ต่อมา รสช. ได้ตั้งรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาบริหาร สิ่งที่รัฐบาลอานันท์ไม่มีความแตกต่างกับรัฐบาลชาติชาย ก็คืออุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่เชื่อมั่นในวิถีทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ สภานิติบัญญัติที่ถูก รสช. อุปโลกน์ ขึ้น จึงเป็นตรายางอย่างดี สำหรับการการออกกฎหมายที่เอื้อต่อวิถีทางดังกล่าว ระยะเวลาเพียงหนึ่งปี มีกฎหมายออกมา ๕๐๕ ฉบับ เป็นกฎหมายเศรษฐกิจ ๓๓๗ ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การเปิดรับวิถีทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ จนสื่อมวลชนต่างประเทศถึงกับเรียกรัฐบาลชุดนี้ว่า รัฐบาลในฝันของธนาคารโลก
      แต่กับปัญหาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนกลับไม่ได้รับการแก้ไข การเลือกตั้งที่ รสช. เคยให้สัญญาว่าจะมีในปี ๒๕๓๔ ก็ถูกเลื่อนออกไป การแยกสลายพลังมวลชน ก็เกิดขึ้นโดยอาศัยอำนาจรัฐ ดังกรณีรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน ได้ส่งร่าง พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ให้สภานิติบัญญัติพิจารณาผ่านสามวาระรวดในหนึ่งวัน ตามมาด้วยการประกาศ รสช. ฉบับที่ ๕๔ เพื่อจำกัดขอบเขตการเคลื่อนไหวของกรรมกร ผลจากการกระทำดังกล่าว เป็นสาเหตุของความอ่อนแอของขบวนการกรรมกรไทย ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
(คลิกดูภาพใหญ่)       การดำเนินโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ในชนบท (คจก.) แท้จริงก็คือการขับไล่ประชาชน ที่มีที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนกว่า ๑๐ ล้านคน ถึงแม้โครงการดังกล่าว จะเป็นนโยบายต่อเนื่องจากรัฐบาลชาติชาย แต่เนื่องจากอยู่ระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นผู้ดูแล จึงได้มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการอย่างอุกอาจ
      รสช. ยังไม่หยุดเพียงแค่การครองอำนาจเพียงชั่วคราวเท่านั้น แผนการสืบทอดอำนาจได้มีการวางไว้อย่างแยบยล ไม่ว่าจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้แกนนำ รสช. สามารถดำรงตำแหน่งได้, การโยกย้ายนายทหารระดับสูง ที่มีการวางตัวบุคคลที่ รสช. ให้การสนับสนุนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งยาวนานถึงกว่า ๑๐ ปี, หรือการจัดตั้งพรรคสามัคคีธรรม โดย รสช. ให้การสนับสนุน ซึ่งพรรคสามัคคีธรรมเป็นที่รวมของเจ้าพ่อท้องถิ่น และนักการเมืองที่เคยอยู่ร่วมรัฐบาล พล.อ. ชาติชายที่รสช. ได้ทำการรัฐประหารมาไว้ด้วยกัน 
      ทั้งนี้การตั้งพรรคการเมืองเพื่อรองรับอำนาจตนเอง ไม่ต่างจากเผด็จการรุ่นก่อน เช่น พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พรรคสหภูมิ ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือพรรคสหประชาไทย ของจอมพล ถนอม กิตติขจร นอกจากนั้น รสช. ยังใช้เงื่อนไขการยึดทรัพย์นักการเมือง เพื่อต่อรองให้คนของตนเอง ไปดำรงตำแหน่งตามพรรคการเมืองต่าง ๆ เช่น พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ เป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย พล.ท. เขษม ไกรสรรณ์ เป็นเลขาธิการพรรคกิจสังคม
      ขณะที่รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ได้รับการยอมรับมากขึ้น จากการพยายามสร้างภาพลักษณ์ความโปร่งใสในการบริหาร ก็ยิ่งทำให้ความยอมรับใน รสช. ก็ยิ่งลดน้อยถอยลง
      พร้อมกันนั้นกระแสประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ได้กลายเป็นกระแสความคิดและพลังทางการเมืองที่สำคัญ ภายหลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ เป็นต้นมา ส่งผลให้ความช่วยเหลือ และความร่วมมือที่ประเทศไทยได้รับจากต่างประเทศก็ลดน้อยลง
      ในภาคเศรษฐกิจ การที่ระบบเศรษฐกิจไทยเข้าไปสัมพันธ์กับเศรษฐกิจโลก อย่างแยกกันไม่ขาด ทำให้ภายหลังการรัฐประหาร ตลาดหุ้นตกมาทันที ๕๗ จุด การลงทุนจากต่างประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม ๒๕๓๓ มีผู้ขอการลงทุน ๗๙๔ ราย เป็นเงินลงทุน ๕๖๑,๔๗๕ ล้านบาท ช่วงเวลาเดียวกันหลังการรัฐประหารเหลือเพียง ๔๘๕ ราย จำนวนเงินเหลือเพียง ๑๙๒,๗๒๙ ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องมาจากความไม่แน่ใจสถานการณ์ทางการเมืองไทยภายหลังรัฐประหาร สิ่งเหล่านี้ทำให้เสียงเรียกร้องให้ทหาร กลับเข้ากรมกองเริ่มดังขึ้นทุกขณะ 
 

คัดค้านรัฐประหาร ต่อต้าน รสช.

(คลิกดูภาพใหญ่)
      เราไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลชาติชายที่โกงกิน แต่เราย้ำตลอดว่าเรื่องนี้ต้องแก้โดยประชาชนไม่ใช่ทหาร ถ้าไม่รีบแก้ จะกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ทหาร เราจึงเคลื่อนไหวคัดค้าน เปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง พอมีรัฐประหารเรารู้สึกโกรธแค้น และโมโหตัวเองด้วยที่เข้าทางปืนพวกเขา
      ปริญญา เทวานฤมิตรกุล (๒๕๓๕)

      ท่ามกลางการยื่นดอกไม้แสดงความยินดีแก่ รสช. พร้อม ๆ กับการเสนอตัวเข้าร่วมทำงานของนักวิชาการ "ผู้หวังดี" แต่ความคิดในการต่อต้าน รสช. ก็มิได้มอดดับ ในสถานการณ์ดังกล่าว ก็ยังมีเสียงแห่งความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่จะชี้ให้เห็นว่าตราบใดที่วิธีการไม่ถูกต้อง ก็ไม่มีทางที่จะไปถึงเป้าหมายที่ดีงามได้
      ทันทีที่เกิดรัฐประหาร เสาวนีย์ จิตรื่น เลขาธิการ สนนท. เป็นเพียงคนเดียวที่กล้าให้ทัศนะแตกต่าง
      "นักศึกษาจะไม่ร่วมแสดงความคิดเห็นใดๆ เสนอให้คณะผู้ก่อการรัฐประหารอย่างเด็ดขาด เพราะการพัฒนาประชาธิปไตยของนักศึกษากับทหารต่างกัน สิ่งที่นักศึกษาต้องการคือเสรีภาพ ไม่ใช่การใช้กำลัง เพราะประชาธิปไตยเป็นเรื่องของประชาชน ไม่ใช่เรื่องของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง"
      นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงในนาม ศูนย์นักศึกษาไทยต้านภัยรัฐประหาร ได้ออกใบปลิวนัดชุมนุมประท้วงการรัฐประหาร ในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ก็ถูกจับกุม เนื่องจากมีความผิดตามประกาศรสช. ฉบับที่ ๗ เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่าห้าคน 
      แต่การจับกุมดังกล่าวกลับมิได้เป็นชนวน ที่จะนำไปสู่การชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว ดังเช่น เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ 
      แต่การเคลื่อนไหวยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยมีสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เป็นจักรกลสำคัญ โดยเริ่มจากการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก, คืนเสรีภาพในการชุมนุม, ทวงสัจจะประชาธิปไตยเพื่อให้มีการเลือกตั้งในปี ๒๕๓๔, การติดตามและเปิดโปงการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของ รสช.
(คลิกดูภาพใหญ่)       ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนด้านต่าง ๆ นักวิชาการ นักศึกษา ที่เคยรวมตัวกันเป็น คณะทำงานรณรงค์ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี ๒๕๒๑ ได้กลับมารวมตัวกันใหม่ภายหลังรัฐประหารในนาม คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 
      ทางด้านผู้ใช้แรงงาน แม้ว่าจะมีผู้นำส่วนหนึ่งนำกระเช้าดอกไม้ไปมอบให้แก่ รสช. แต่ก็มีบุคคลที่มีบทบาทอย่างแข็งกร้าวในการต่อต้าน รสช. คือ ทนง โพธิ์อ่าน ที่กล้าออกมาลุกขึ้นประณาม รสช. ที่ได้ละเมิดสิทธิผู้ใช้แรงงาน หลังจากนั้นทนงก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๓๔ จนถึงปัจจุบัน
      ทั้ง สนนท. และ ครป. ได้ร่วมกันเคลื่อนไหวจนสามารถสร้างเป็นมติมหาชน ที่คัดค้านการสืบทอดอำนาจรสช. ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๓๔ จน พล.อ. สุจินดา คราประยูร ต้องออกมาแถลงในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ ว่า
      "ที่พูดกันว่า สภา รสช. จะสืบทอดอำนาจโดยการใช้รัฐธรรมนูญ เราขอยืนยันว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจโดยใช้รัฐธรรมนูญ ...ขอยืนยันในที่นี้ว่า พล.อ. สุจินดา และ พล.อ.อ. เกษตรจะไม่เป็นนายกฯ"
      แม้ว่าการแถลงข่าวดังกล่าวจะสามารถลดกระแสการต่อต้าน รสช. ไปได้ แต่ก็กลับมาเป็นบ่วงรัดคอ รสช. ในเวลาต่อมา
 

การเลือกตั้ง ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๕ : รัฐประหารซ้ำและยึดอำนาจถาวร

(คลิกดูภาพใหญ่)
      รัฐบาลเป็นเผด็จการรัฐสภา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรครัฐบาล ได้ร่วมมือกับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล รวมทั้งคณะที่ปรึกษานายกฯบ้านพิษณุโลก ใช้อุบายกันแยบยลทางการเมือง สร้างภาพลวงตาประชาชนว่า ปกครองในระบอบประชาธิปไตย
      เหตุผลข้อที่ ๔ ของแถลงการณ์ รสช. ฉบับที่ ๑ 
      ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ 

      ข้อหาเผด็จการรัฐสภา แม้จะเป็นข้ออ้างหนึ่งของการรัฐประหาร แต่การเลือกตั้ง ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๕ ก็มิได้เปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง รวมทั้งกระบวนการเลือกตั้งแต่อย่างใด โครงการสี่ทหารเสือ ที่ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี รมว. มหาดไทยและเลขาธิการ รสช. ทำได้เพียงการติดประกาศคำขวัญ ขายเสียง ขายสิทธิ์ เหมือนขายชีวิตขายชาติ ขณะที่ คณะกรรมการติดตาม และสอดส่องดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี หรือที่รู้จักกันต่อมาว่าองค์กรกลาง ก็ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง เพราะอำนาจการจัดการเลือกตั้งยังอยู่ภายใต้การจัดการของกระทรวงมหาดไทย
      การเลือกตั้ง ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๕ จึงเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุด มีการใช้เงินซื้อเสียง และใช้อำนาจรัฐเกื้อหนุนผู้สมัคร ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ รสช. ส่งผลให้พันธมิตรห้าพรรค ที่ประกอบด้วย พรรคสามัคคีธรรม (๗๙ ที่นั่ง) พรรคชาติไทย (๗๔ ที่นั่ง) พรรคกิจสังคม (๓๑ ที่นั่ง) พรรคประชากรไทย (๗ ที่นั่ง) พรรคราษฎร (๔ ที่นั่ง) ได้ที่นั่งรวม ๑๙๕ ที่นั่งมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภา
      ไม่เพียงแต่เท่านั้น ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๓๔ บทเฉพาะกาล มาตรา ๒๑๗ ประธาน รสช. มีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา อีกจำนวน ๒๗๐ คน ในจำนวนนั้นนอกจากข้าราชการทหาร และพลเรือน และนักธุรกิจชั้นนำที่มีความใกล้ชิด รสช. แล้ว ยังมีแม้กระทั่งช่างตัดผมประธาน รสช. 
      ณ เวลานั้น ๓ กองทัพ (กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ) ๒ สภา (สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา) ๕ พรรค (สามัคคีธรรม, ชาติไทย, กิจสังคม, ประชากรไทย, ราษฎร) อยู่ในมือ รสช. แล้ว
(คลิกดูภาพใหญ่)       การที่นายณรงค์ วงศ์วรรณ ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากติดแบล็กลิสต์ของสหรัฐอเมริกานั้น ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เตรียมการไว้ตั้งแต่การรัฐประหาร ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ คือ พล.อ. สุจินดา คราประยูร
      ๗ เมษายน ๒๕๓๕ นอกจากจะเป็นวันที่ พล.อ. สุจินดาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังเป็นการเผยโฉมหน้าที่แท้จริง ของการรัฐประหาร ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ว่า เหตุผลห้าข้อของ รสช. คือการหลอกลวงประชาชน
      ณ จุดนี้เองที่ทำให้กระแสการต่อต้านระบอบอำมาตยาธิปไตย ผ่านข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ต้องมาจากการเลือกตั้ง จึงมีความชอบธรรมยิ่ง
      การเรียกร้องครั้งนี้ก็มิใช่เพื่อให้อำนาจของนักการเมือง เข้ามามีอำนาจแทนอำนาจอำมาตยาธิปไตย แต่เป็นการบอกว่า นับแต่นี้เป็นต้นไปเวทีประชาธิปไตยจะต้องเป็น "พื้นที่ทางการเมือง" ที่เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้
 

๔๘ วัน พล.อ. สุจินดา คราประยูร : ๔๘ วันแห่งความรุนแรง

(คลิกดูภาพใหญ่)
      การก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร มีความแปลกประหลาดกว่านายกรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ของประเทศไทย กล่าวคือ พล.อ. สุจินดาเป็นคนเดียว ที่ถูกต่อต้านก่อนขึ้นรับตำแหน่งร่วมหนึ่งปี ดังนั้นตลอดระยะเวลา ๔๘ วันที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เต็มไปด้วยการชุมนุมประท้วง คัดค้านการสืบทอดอำนาจ จนนำมาสู่การปราบปรามประชาชน

      - ช่วงแรก : ๗ เมษายน - ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๕
      การชุมนุมคัดค้านในช่วงแรกคือ ภาคต่อของการชุมนุมคัดค้าน พล.อ. สุจินดาที่มีต่อเนื่อง ตั้งแต่การรัฐประหาร และการร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการเสนอชื่อของห้าพรรค ในบ่ายวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๓๕ สนนท. ซึ่งจัดเวทีจับตาการสืบทอดอำนาจอยู่ที่ลานโพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้เดินทางไปวางหรีด ประณามการรับตำแหน่งครั้งนี้ว่า เป็นการสืบทอดอำนาจ รสช. ทันที ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร ผู้ที่ยึดถือแนวทางที่แน่วแน่ ในการต่อต้านการแทรกแซงทางการเมือง ของระบอบอำมาตยาธิปไตย ก็ได้ประกาศอดข้าวประท้วงจนกว่า พล.อ. สุจินดาจะลาออกเช่นกัน
      คณะรัฐมนตรีที่ พล.อ. สุจินดาประกาศในวันที่ ๑๗ เมษายน กลับมีรายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกคณะกรรมการตรวจสอบนักการเมืองที่ รสช. จัดตั้งขึ้นประกาศยึดทรัพย์ถึง ๓ คน มีรัฐมนตรีคนนอก ๙ คน ๑๑ ตำแหน่ง
      ในระยะเวลาเพียง ๑๐ วัน ความน่าเชื่อถือในตัว พล.อ. สุจินดาที่สั่งสมมาทั้งชีวิต ก็แทบจะละลายหายไป
      ๒๐ เมษายน ๒๕๓๕ นอกเหนือจากเป็นการประกาศชุมนุมใหญ่ เพื่อคัดค้านการสืบทอดอำนาจ รสช. ของ สนนท. ครป. และสี่พรรคฝ่ายค้าน โดยมีคนเข้าร่วมมากกว่า ๕ หมื่นคน ยังเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรก ที่กลุ่มชนชั้นกลางที่เคยอยู่ในภาวะเฉื่อยชาทางการเมืองมาตลอด ปรากฏกายออกมาเข้าร่วมกับกลุ่มมวลชนอื่น ๆ จนเป็นที่มาของชื่อเรียก "ม็อบมือถือ"

(คลิกดูภาพใหญ่)       - ช่วงที่ ๒ : ๔ พฤษภาคม - ๑๑ พฤษภาคม
      หากมีใครสักคนที่ประชาชนรู้จักและเมตตาสงสาร ได้กระโดดมาเสี่ยงอย่างจริงจัง ประชาชนไม่น้อยคงจะมาร่วมเพิ่มเติม ทำให้การต่อสู้บรรลุผลอย่างแน่นอน
      พล.ต. จำลอง ศรีเมือง (๒๕๓๕)

      การประกาศอดอาหารทุกชนิด และจะเสียชีวิตภายใน ๗ วัน ถ้า พล.อ. สุจินดาไม่ลาออก ของ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นขวัญใจชนชั้นกลางชาวกรุงเทพมหานคร เพราะเพิ่งนำพรรคพลังธรรมกวาดจำนวนที่นั่ง ส.ส. ๓๒ ที่นั่งจากทั้งหมด ๓๕ ที่นั่ง ด้วยคำขวัญที่ว่า "อยากให้พล.ต. จำลองเป็นนายกฯ เลือกพรรคพลังธรรมทั้งคณะ" ได้ถูกจุดขึ้นมาท่ามกลางการชุมนุม ณ ท้องสนามหลวงในวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๕ แม้จะถูกวิจารณ์เป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยง แต่ก็เป็นการทำให้ชุมนุมได้ขยายตัวไปทั่วประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าสิ่งที่ พล.ต. จำลอง กระทำลงไปนั้น เป็นการกระทำที่ถูกต้องทางยุทธวิธี
      ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕ พล.อ. สุจินดาได้กระทำการผิดพลาดอีกครั้ง เมื่อให้เหตุผลที่มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่าต้องการเข้ามาขัดขวางการตั้งศาสนาใหม่ของ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง และการตั้งสภาเปรสซิเดียม ของ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ 
      การให้เหตุผลที่ "หลงยุค" นอกจากไม่ได้รับเสียงชื่นชมเหมือนการรัฐประหาร ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ แล้ว ยังตามมาด้วยเสียงโห่ฮาทั้งจาก ส.ส. ฝ่ายค้านที่เข้าร่วมการประชุม และกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่หน้ารัฐสภา 
      การกระทำของรัฐบาล นอกจากจะไม่เป็นการแก้ปัญหาแล้ว ยังเปรียบเหมือนการราดน้ำมันเข้ากองเพลิง ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนี่ง ที่อยู่หน้ารัฐสภาเกิดความโกรธแค้น ถึงกับจะบุกเข้ารัฐสภา แต่โชคดีที่ฝ่ายคุมเวทียังมีสติที่จะควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมให้สงบลงได้ มิเช่นนั้นอาจจะเกิดการนองเลือดขึ้นได้
      แต่สำหรับฝ่ายเจ้าหน้าที่แล้วหาได้คิดเช่นนั้นไม่ คำสั่งอนุมัติแผนไพรีพินาศ โดย พล.อ. อิสระพงศ์ หนุนภักดี ผบ.ทบ. ที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองกำลังรักษาพระนคร (กกล.รพน.) จึงมีขึ้นในวันเดียวกัน โดยเริ่มปฏิบัติการในชั้นที่ ๑ คือ การรวบรวมข่าวสาร เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติการ
      นับตั้งแต่นั้นมารัฐบาลได้เปลี่ยนมุมมอง จากผู้ชุมนุมโดยมีสิทธิอันชอบธรรม มาเป็น ไพรี ที่จะต้องทำลายให้ พินาศ
(คลิกดูภาพใหญ่)       ด้วยความคิดเช่นนี้เองที่ทำให้รัฐบาลระดมสรรพกำลังทุกอย่างที่มีอยู่ในมือ มาทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมสลายกำลังลง หรือทำให้เหลือกำลังน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเชิญตัวแทนหนังสือพิมพ์ทุกฉบับมาชี้แจง เพื่อทำความเข้าใจ, ออกคำสั่งห้ามพนักงานรัฐวิสาหกิจไปร่วมชุมนุม, การระดมสื่อของรัฐทุกชนิด เพื่อทำลายความชอบธรรมในการชุมนุม หรือแม้กระทั่งการใช้เครื่องบินตรวจการของกองทัพสามลำ บินวนไปมาเหนือผู้ชุมนุม และโปรยใบปลิวข้อความว่า ขอวิงวอนให้ผู้ร่วมชุมนุมเดินทางกลับบ้าน มิฉะนั้นกองกำลังรักษาพระนคร อาจจะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อผู้ชุมนุม 
      จากจุดนี้เองที่เป็นเหมือนแรงผลักดันให้ประชาชนส่วนหนึ่งออกจากบ้าน มาร่วมชุมนุมเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง จากการนำเสนอผ่านสื่อของรัฐบาล
      การเคลื่อนขบวนมีครั้งแรกในคืนวันที่ ๗ พฤษภาคม เมื่อ พล.ต. จำลองเห็นว่าหน้ารัฐสภาพื้นที่คับแคบ จึงควรย้ายไปท้องสนามหลวง
      บรรยากาศการย้ายมวลชนจากสภาไปสนามหลวง เป็นไปอย่างมีระเบียบ สนุกสนาน โดยหัวขบวนเป็นนักศึกษาประสานมือกันเป็นหน้ากระดาน ตามด้วยขบวนประชาชนหลายหมื่นคน ขณะที่หัวขบวนอยู่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท้ายขบวนยังล้นหลามอยู่หน้าลานพระบรมรูป
      การชุมนุม ณ ท้องสนามหลวงในวันที่ ๘ พฤษภาคม เริ่มมีความคึกคักตั้งแต่เช้า ซึ่งต่างจากครั้งก่อนที่จะเริ่มมีความคึกคักเฉพาะในช่วงเย็น ตกค่ำซึ่งมีผู้ชุมนุมนับแสนคนแล้ว การเคลื่อนขบวนมีอีกครั้งในคืนวันที่ ๘ พฤษภาคม มุ่งหน้าสู่รัฐสภา เนื่องจากสนามหลวงต้องใช้จัดงานสัปดาห์พระพุทธศาสนาในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม 
      แต่การเคลื่อนขบวนครั้งนี้ กลับถูกตรึงไว้เพียงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จนเป็นที่มาของชื่อเรียก "กำแพงเบอร์ลิน" ทำให้ผู้ชุมนุมจำเป็นต้องอาศัยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และท้องถนนราชดำเนินเป็นที่ฐานที่มั่น
      ผลจากการตัดสินใจเคลื่อนขบวนในครั้งนี้ ทำให้ พล.ต. จำลอง ถูกตั้งคำถามจากแกนนำในการชุมนุม เพราะเห็นว่าเป็นการตัดสินใจโดยพลการ และสุ่มเสี่ยงหรือไม่ รัฐบาลได้ฉวยโอกาสนี้ "ตอกลิ่ม" ความขัดแย้งโดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ออกข่าวความแตกแยก ทำให้ให้ทาง สนนท. และ ครป. ต้องออกมาปฏิเสธข่าวในเวลาต่อมา
      ภายหลังจากอดข้าวมาหกวัน พล.ต. จำลองได้ขอประชามติเลิกอดข้าวในเช้าวันที่ ๙ พฤษภาคมด้วยเหตุผลว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว
(คลิกดูภาพใหญ่)       รัฐบาลไม่ปล่อยให้โอกาสดีเช่นนี้เสียไป สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ ซึ่งไม่เคยเสนอข่าวการชุมนุมประท้วงมาก่อน กลับนำข่าวนี้เสนอทันที ด้วยความหวังว่าจะทำลายความน่าเชื่อถือของ พล.ต. จำลอง ถึงแม้กลุ่มผู้ชุมนุมจะไม่มีใครประสงค์ให้ พล.ต. จำลองเสียชีวิตก็ตาม แต่การตัดสินใจครั้งนี้ สร้างความผิดหวังให้แก่ผู้ร่วมชุมนุม ดังความเห็นของผู้ชุมนุมคนหนึ่งภายหลังเหตุการณ์ว่า รู้สึกผิดหวังเหมือนกัน แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากให้ท่านตาย
      แต่ถึงอย่างไร ก็ไม่ได้ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมลดลง เพราะวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการชุมนุมมิได้มาเพราะ "ผู้นำบารมี" แต่เพียงอย่างเดียว 
      เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาล มิได้มองเห็นจุดนี้ 
      ช่วงบ่าย อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดประชุมเก้าพรรคการเมือง เพื่อหาทางออก ที่ประชุมมีมติออกมาว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญสี่ประเด็น ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ทำให้ความร้อนแรงของการชุมนุมได้ดับลงไปบ้าง แต่การชุมนุมยังมีต่อไปโดยปักหลักอยู่ที่ถนนราชดำเนิน 
      การชุมนุมยืดเยื้อมาเป็นวันที่ ๗ แล้วแต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงยืนหยัดต่อไป โดยกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่ง เข้าร่วมในช่วงเย็นหลังเลิกงาน และจะกลับบ้านในช่วงดึกเพื่อพักผ่อน เพื่อเตรียมไปทำงานในกลางวัน และจะกลับมาอีกในช่วงเย็น แต่กระนั้นความอ่อนล้าของผู้ชุมนุมก็มีมาก จนทำให้มีความคิดที่จะสลายการชุมนุม เพื่อจะรอดูการเแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กว่าที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะคล้อยตาม ก็ต้องรอจนถึงเวลา ๐๔.๐๐ น. ของวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๕ โดยนัดกันมาชุมนุมอีกครั้งในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม เนื่องจากไม่มีความมั่นใจพรรคร่วมรัฐบาล
      รุ่งขึ้นภายหลังการสลายการชุมนุม ห้าพรรคร่วมรัฐบาลก็ปฏิเสธที่จะทำตามที่ประชุมเก้าพรรคการเมือง ด้วยเหตุผลว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำไปโดยพลการ ขณะที่แกนนำผู้ชุมนุมเอง ก็ได้มีการสรุปบทเรียนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องเอกภาพของการนำการชุมนุม จึงเป็นที่มาขอการตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตย ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม 

 
(คลิกดูภาพใหญ่)       - ช่วงที่ ๓ ๑๗ พฤษภาคม - ๒๔ พฤษภาคม
      เมื่อถึงเวลานัดหมายในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕ แนวคิดของรัฐบาลยังคงเหมือนเดิมคือ ประเมินผู้ชุมนุมว่า มิได้เป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง ยุทธวิธีในการแก้ไขปัญหาคือ การจัดคอนเสิร์ตร่วมใจช่วยภัยแล้ง ที่สนามกีฬากองทัพบก และวงเวียนใหญ่ โดยหวังว่าจะมีผู้ชุมนุมที่สนามหลวงน้อยลง
      ส่วนการเตรียมการทางทหาร กองกำลังรักษาพระนคร อนุมัติแผนไพรีพินาศ ขั้นที่ ๒ ซึ่งเป็นขั้นป้องกัน ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา ๑๙.๐๐ น. โดย ใช้กำลังตำรวจสกัดกั้น และประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ชุมนุมเลิกกระทำการเอง พร้อมทั้งอารักขาสถานที่และบุคคลสำคัญ
      การชุมนุมเริ่มต้นเมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น. ท่ามกลางคนเข้าร่วมเกือบ ๕ แสนคน จนถึงเวลาประมาณ ๒๑.๐๐น. ภายหลังจาก พล.ต. จำลอง ศรีเมือง นำกล่าวปฏิญาณตนแล้ว ก็เคลื่อนขบวนที่จะไปที่ทำเนียบรัฐบาล
      นพ. สันต์ หัตถีรัตน์ กรรมการสมาพันธ์ประชาธิปไตย ได้ให้เหตุผลที่จะต้องเคลื่อนขบวนครั้งนี้ว่า ถ้าเราเคลื่อนย้ายไปอยู่รอบทำเนียบ มันจะเป็นพลังกดดัน ทำให้รัฐบาลต้องเปิดการเจรจา ...เพราะว่าที่ผ่านมานี่เขาไม่เจรจา 
      และเมื่อรู้ว่าทหารเตรียมกำลังรอไว้ที่สะพานผ่านฟ้า ทำไมจึงยังเคลื่อนขบวนไปอีก นพ. เหวง โตจิราการ กรรมการสมาพันธ์ ผู้ที่รับผิดชอบในการคุมรถขบวนคันแรก ได้ให้เหตุผลว่า เราคาดว่าจะมีความรุนแรง แต่เราไม่คิดถึงขนาดที่จะยิง เราก็คาดว่ามันก็คงอย่างนี้ จะยิงแก๊สน้ำตาใส่ แต่ไม่ใช่ยิงปืนใส่ อาจจะตะลุยเข้ามาจับ
      ขบวนของผู้ชุมนุมเคลื่อนออกจากสนามหลวง มาหยุดอยู่ที่แนว "กำแพงเบอร์ลิน" เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลแนว "กำแพงเบอร์ลิน" ได้รับคำสั่งเด็ดขาด ไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนผ่านไปได้ ขณะที่ผู้ชุมนุมได้ตะโกนกลับไปว่า 
      "อย่ากั้นเสรีภาพเราด้วยลวดหนาม ให้เราผ่าไปเถอะ เราต้องผ่านให้ได้คืนนี้"
      เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ขณะที่ขบวนแรกที่เดินทางมาถึงแนว "กำแพงเบอร์ลิน" ผู้ชุมนุมพยายามขอร้องให้ตำรวจที่รักษาการณ์เปิดทางให้แต่ไม่สำเร็จ ขณะที่มีบางส่วนพยายามรื้อลวดหนาม จึงได้รับการตอบโต้ด้วยการฉีดน้ำจากรถดับเพลิงเข้าใส่ 
      เมื่อน้ำสะอาดที่เตรียมไว้หมด ทางเจ้าหน้าที่ได้น้ำจากคลองรอบกรุง ซึ่งเป็นน้ำเน่าเหม็นมาฉีดใส่ผู้ชุมนุม หลังจากนั้นความโกลาหลก็เกิดขึ้น เมื่อทั้งสองฝ่ายตอบโต้กันด้วยการขว้างปาสิ่งของทุกชนิด ที่หาได้ในบริเวณนั้น ขณะที่ผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามขึ้นไปบนรถดับเพลิง เพื่อหยุดการกระทำดังกล่าว แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมองว่า เป็นเจตนาที่จะเข้ามาก่อจลาจล จึงตอบโต้ด้วยการทุบตีทำร้ายประชาชน
(คลิกดูภาพใหญ่)       สุทธิศักดิ์ ผลแก้ว ผู้อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวเล่าว่า
      "มีกลุ่มผู้หญิงอยู่สี่คน เจ้าหน้าที่ใช้กระบองตีแขนหัก ผมทนไม่ได้จึงตะโกนว่า 'พี่น้องช่วยกันสิ ทำไมปล่อยให้มันทำเพศแม่ของเราอย่างนี้' ผมก็กระโดดไปเลย ก็โดนตีที่ขาก่อน จังหวะนั้นผมวิ่งเสร็จยกมือไหว้ แล้ววิ่งขึ้นไปบนรถดับเพลิง เขาก็กระชากลงมา ตอนนั้นคิดอย่างเดียว ถ้าผมตายขอให้ศพผมถึงมือประชาชนก็แล้วกัน"
      รุ่งขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวก็ถูกสื่อมวลชนเผยแพร่ไปทั่วโลก
      พล.ต. จำลองพยายามห้ามปรามมิให้ผู้ชุมนุมตอบโต้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะจะเป็นช่องทางที่จะให้ "มือที่สาม" เข้าแทรกแซง การตอบโต้กันจึงยุติลงระยะหนึ่ง
      จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณสะพานผ่านฟ้า เป็นเหตุให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อเวลา ๐๐.๓๐ น. ของวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ด้วยเหตุผลที่ว่า การชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้า มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่จลาจล และการก่อการร้ายหากเหตุการณ์ที่ยืดเยื้อไปเป็นเวลานาน เนื่องจากได้มีการเตรียมเครื่องมือต่าง ๆ เช่น กรรไกรตัดเหล็กขนาดใหญ่ ถุงมือ กระสอบ ฯลฯ
      แต่จากคำให้การของประเสริฐ พงษ์เสนีย์ กรรมการ ครป. ซึ่งอยู่ในที่ชุมนุมด้วยกลับให้ภาพที่ต่างกัน
      "หลายคนบอกว่าประชาชนใช้ตะขอ ใช้เชือก ใช้มอเตอร์ไซค์ลาก ซึ่งความจริงมันไม่มี เขาใช้มือเปล่า ถ้าดูภาพจากวิดีโอจะเห็นว่าประชาชนใช้มือเปล่า ขณะที่ตำรวจให้ถุงมือดึงลวดหนาม" 
      หลังจากนั้นได้มีกลุ่มชายหัวเกรียน สวมเสื้อเกราะในราชการสงคราม บุกเข้าทำลาย สน. นางเลิ้ง และกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน และมีเพลิงลุกไหม้ในเวลาต่อมา 
      เหตุการณ์นี้เองที่เป็นสาเหตุให้กองกำลังรักษาพระนคร มีคำสั่งนี้เองนำไปสู่การปฏิบัติการแผนไพรีพินาศขั้นที่ ๓ ก็คือขั้นปราบปรามรุนแรง ในเวลา ๐๒.๓๐ น. ของวันที่ ๑๘ พฤษภาคม 
      การอนุมัติแผนไพรีพินาศขั้นที่ ๓ ก็คือการสั่งการให้กองกำลังทหารและตำรวจ ออกมาเผชิญหน้ากับประชาชน ถึงแม้ว่าแผนการดังกล่าว จะมีการกำชับให้หลีกเลี่ยงการใช้กำลัง และใช้จากเบาไปหาหนัก แต่ตามแผนก็ระบุชัดเจนว่า ถ้าเหตุการณ์รุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ ผู้ปฏิบัติการก็มีสิทธิใช้กำลังปราบปราม ซึ่งรวมถึงการใช้อาวุธปืนยิงประชาชน เพื่อระงับและหยุดยั้งควบคุมได้ ภัยคุกคาม โดยไม่ต้องอนุมัติจากหน่วยเหนืออีก
      การสลายการชุมนุมครั้งแรกจึงมีขึ้นบริเวณสะพานมัฆวาฬในเวลา ๐๓.๐๐ น. ด้วยเหตุผลว่าเกรงผู้ชุมนุมล่วงล้ำเข้าสู่เขตพระราชฐาน หลังจากนั้นก็เคลื่อนมาบริเวณสะพานผ่านฟ้า โดยเริ่มตั้งแต่เวลา ๐๔.๐๐ น. ถึงแม้ผู้ชุมนุมจะร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อหวังให้เจ้าหน้าที่เลิกปฏิบัติการดังกล่าวแต่ไม่ได้ผล
(คลิกดูภาพใหญ่)       รุ่งเช้าวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ภาพการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม โดยเฉพาะภาพตำรวจรุมทุบตีผู้ชุมนุมมือเปล่า ถูกเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนที่มีความโกรธไม่พอใจการใช้ความรุนแรง ประกอบกับการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ได้กลับมาชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวงอีกครั้ง ในช่วงบ่ายวันที่ ๑๘ พฤษภาคม 
      จากการประเมินของฝ่ายทหารมองว่า หากการชุมนุมในจุดดังกล่าวดำเนินการไปจนถึงเวลาค่ำ เหตุการณ์รุนแรงก็จะเกิดขึ้นเหมือนคืนที่ผ่านมา.
      จึงนำมาสู่การสลายการชุมนุมอีกครั้งโดยเริ่มในเวลา ๑๕.๐๐ น. เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าถึงกรมประชาสัมพันธ์ และเข้าจับกุม พล.ต. จำลอง 
      แต่ก็เป็นการคาดการณ์ที่ผิดพลาด เพราะการปราบปรามด้วยความรุนแรงและจับผู้นำในการชุมนุม ยิ่งทำให้ประชาชนออกมามากขึ้น ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นความโกรธแค้นต่อรัฐบาล หรือการมาดูให้เห็นข้อเท็จจริง เนื่องจากข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากสื่อของรัฐ มิได้รับความเชื่อถือแต่อย่างใด
      ตั้งแต่ช่วงเย็นถึงค่ำ ประชาชนกลับมารวมตัวกันอีกครั้งบริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ และกรมประชาสัมพันธ์ แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ เป็นการชุมนุมที่ไม่มีผู้นำ และมีแนวโน้มที่ผู้มาชุมนุมจะระบายความโกรธแค้น กับวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณนั้น 
      สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น บนท้องถนนหลายสายทั่วกรุงเทพฯ ได้มีกลุ่มมอเตอร์ไซค์ ออกมาปฏิบัติการด้วยภารกิจที่แตกต่างกัน บ้างทำหน้าที่กระจายข่าวไปยังประชาชนที่อยู่ตามที่ต่าง ๆ และชักชวนกันมาร่วมชุมนุม บางส่วนแสดงออกด้วยการทำลายสถานที่ราชการอื่น เช่นป้อมตำรวจตามสี่แยกต่าง ๆ ตู้โทรศัพท์ ฯลฯ ระบายความโกรธแค้นที่เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน
      ณ เวลาดังกล่าวสิ่งที่เด่นชัดที่สุดคือสภาพอนาธิปไตย ที่แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถปกครองได้ แต่ก็ไม่สามารถบริหารได้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากประชาชนไม่ยอมรับ
      ฝ่ายรัฐบาลตอบโต้ด้วยการจัดตั้ง "หน่วยไล่ล่า" ออกปฏิบัติการ โดยภารกิจเดียวคือ จัดการกับผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะมาก่อกวนโดยเด็ดขาด เหตุการณ์นี้เองที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก จากคำให้การของ สมศักดิ์ วงศ์สิงโต ผู้เสียชีวิตน้องชายคนสุดท้อง บุญมี วงศ์สิงโต บริเวณตลาดพลู ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในคืนวันนั้นว่า
      "ก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไปทานข้าว เจอกลุ่มมอเตอร์ไซค์ที่ตำรวจกำลังไล่ล่า พอดีออกมาจากวงเวียนใหญ่ ก็พอดีน้องชายผมขี่มอเตอร์ไซค์ ก็ประจวบเหมาะเลยเขาคิดว่าเป็นพวกนั้น เขาเลยยิง"
      ผลจากการปราบปรามอย่างรุนแรงบริเวณถนนราชดำเนิน ทำให้โรงแรมรัตนโกสินทร์กลายเป็นหน่วยพยาบาลผู้บาดเจ็บ โดยความร่วมมือของแพทย์จากโรงพยาบาลต่าง ๆ แต่ในมุมมองของเจ้าหน้าที่นี่คือ "สถานที่สนับสนุนการก่อการร้าย"
(คลิกดูภาพใหญ่)       ดังนั้น "ปฏิบัติการต่อต้านผู้ก่อการร้าย" จึงเริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๐๔.๐๐ น. ทหารจำนวน ๓,๐๐๐ นายเดินเรียงหน้ากระดาน ระดมยิงจากกรมประชาสัมพันธ์จนถึงหน้าโรงแรม จากนั้นกำลังทหารจากศูนย์สงครามพิเศษลพบุรี ที่ได้รับข้อมูลจากผู้บังคับบัญชาว่า กลุ่มคนที่อยู่ข้างในเป็นผู้ไม่ประสงค์ดีต่อชาติและราชบัลลังก์ เข้ามาปฏิบัติการสลายการชุมนุมในโรงแรม ความรุนแรงในคืนนั้นเป็นภาพข่าวไปทั่วโลก 
      คนในชุดเขียวเหล่านั้น ต่างสวมอารมณ์สัตว์ป่าทั้งกิริยาและวาจา ตะคอกและสำรอกคำหยาบใส่ผู้บริสุทธิ์อย่างไม่ให้เกียรติ
      ภาพผู้ชุมนุมที่ถูกกวาดต้อนมารวมกันในลักษณะเชลยศึกสงคราม ในเช้าวันที่ ๑๙ พฤษภาคม นอกจากจะเป็นประจักษ์พยาน ถึงความรุนแรงแล้ว ยังสะท้อนมุมมองของทหารต่อผู้ชุมนุมได้เป็นอย่างดี
      ตลอดทั้งวันได้มีการออกแถลงการณ์ขององค์กรต่าง ๆ ประณามการใช้ความรุนแรง ขณะที่ในต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลไทย ถูกประท้วงทั้งจากคนไทย และชาวต่างชาติในประเทศนั้น ๆ
      กลุ่มผู้ชุมนุมที่รอดชีวิตจากการล้อมปราบ ได้มุ่งหน้าไปสู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยหวังว่าจะเป็น ที่มั่นสุดท้ายฝ่ายประชาชน โดยมีกลุ่มแนวร่วมนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักกิจกรรมหลากหลายกลุ่ม ในมหาวิทยาลัยเป็นแกนนำ
      การชุมนุมในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นการชุมนุมที่มีความกล้าหาญ และมีคุณูปการในการต่อสู้อย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึง หากการชุมนุมยังมีอยู่ คู่ต่อสู้ที่ถืออำนาจรัฐในมือ ย่อมไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้อย่างสิ้นเชิง และโอกาสที่ชัยชนะจะพลิกกลับมาเป็นของประชาชนก็ย่อมมีอยู่
      แต่ก็เป็นการชุมนุมที่มีความตึงเครียดเป็นอย่างมาก เพราะขณะนั้นมีรายงานว่า มีกองกำลังทหารพร้อมอาวุธเคลื่อนกำลังมุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยสองเส้นทางด้วยกัน คือทางถนนพัฒนาการ และถนนลาดพร้าว
      แต่ค่ำคืนอันยาวนานก็ผ่านไปได้ โดยไม่มีการสลายผู้ชุมนุมแต่อย่างใด
      รุ่งเช้าของวันที่ ๒๐ พฤษภาคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์จากประเทศฝรั่งเศส ทรงแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้คนไทยยุติการฆ่ากันเอง ตลอดทั้งวันมีความพยายามของประชาชนส่วนหนึ่ง ที่จะชุมนุมอีกครั้งที่ถนนราชดำเนิน แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมทุกครั้ง
(คลิกดูภาพใหญ่)       กระทรวงมหาดไทยประกาศเคอร์ฟิวส์ ห้ามประชาชนออกจากบ้านในเวลา ๒๑.๐๐ - ๐๔.๐๐ น. แต่กลุ่มผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังคงปักหลักอยู่เป็นวันที่ ๒ และมีคนทยอยเข้าร่วมชุมนุมกว่า ๑ แสนคน
      ช่วงค่ำ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นำ พล.ต. จำลองและ พล.อ.สุจินดา เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้นำพระบรมราโชวาทออกอากาศในเวลา ๒๓.๓๐ น. ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดี ผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้สลายตัวในเช้าวันรุ่งขึ้น
      ๒๑ พฤษภาคม ตัวแทนนักวิชาการ นักศึกษา ได้เดินทางมาไว้อาลัยผู้เสียชีวิตบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะที่ห้าพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อเห็นว่าตกอยู่ในสถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำ จึงกลับลำด้วยการมีมติเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปฏิเสธความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น 
      การประชุม ครม. ได้มีมติออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผู้กระทำผิด ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลจะออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือตนเองและพรรคพวก
      แต่ พล.อ. สุจินดาก็ทำในเรื่องที่ร้ายแรงกว่านั้น คืออาศัยอำนาจของฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแทนในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม โดยไม่มีการประชุม ครม. แต่อย่างใด
      ภายหลังจากออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่ตนเองแล้ว พล.อ. สุจินดา คราประยูร ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๓๕ เวลา ๑๑.๓๐ น. 
..............
      แม้ พล.อ. สุจินดาจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ห้าพรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมกันเสนอชื่อ พล.อ. สุจินดา เป็นนายกฯ และเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ปฏิเสธที่จะรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีความพยายามที่จะเสนอชื่อ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ได้รับการคัดค้านจนนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานรัฐสภา ต้องถอดสลักทางการเมืองด้วยการเสนอชื่อ อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒ 
      ขณะที่ผู้สั่งการในเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ เนื่องจากได้ออกกฎหมายมา "นิรโทษกรรมตัวเอง" 
 

สามมิติของความรุนแรง ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 

(คลิกดูภาพใหญ่)
      "คนไม่น้อยกล้าก้าวออกไปเผชิญกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ถืออาวุธอยู่ในมือ เพราะมีความคิดอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำลงไปนั้นถูกต้อง...เพราะเชื่อว่าสิทธิ เสรีภาพมีความสำคัญ อย่างที่สอง เขาอาจคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นคนในสังคมเดียวกับเขา จะไม่หันกระบอกปืนใส่ชาวบ้านและคงยิงคนมือเปล่าไม่ลง"
      ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (๒๕๓๖)

      ภาพกองกำลังติดอาวุธของทหาร และตำรวจที่ปฏิบัติการกับผู้ชุมนุมด้วยมือเปล่า ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ เป็นเครื่องย้ำเตือนให้เราระลึกอยู่เสมอว่า สังคมไทยไม่เป็นข้อยกเว้นของความรุนแรง
      แต่ความรุนแรงที่ปรากฏขึ้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความรุนแรงที่ถูกอำพรางไว้ จากรายงานศึกษาเรื่อง "สันติวิธีและความรุนแรงในเหตุการณ์พฤษภา ๓๕" ของ กฤตยา อาชวนิจกุล และ สุพร ชุณหวุฒิยานนท์ ได้นำเสนอรากเหง้าของความรุนแรงว่าเป็นผลมาจาก
      ๑. ความรุนแรงทางความคิด การชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิโดยพื้นฐาน ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย แต่ในความคิดรัฐบาลกับมองว่าเป็นผู้ก่อจลาจล  ความคิดเช่นนี้นำมาสู่ขั้นตอนการเตรียมการปราบปราม ดังปรากฏออกมาเป็นแผนไพรีพินาศ รวมทั้งการไม่เคารพความคิดของประชาชนปิดกั้นและบิดเบือนข่าวสาร ก็เป็นความรุนแรงทางความคิดชนิดหนึ่งด้วย
      ๒. ความรุนแรงในรูปแบบการเตรียมการ เมื่อการชุมนุมถูกมองว่าเป็นผู้ก่อจลาจล จึงสมควรที่จะถูกจำกัดไปให้หมดอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตาม แผนไพรีพินาศ แม้ว่าจะมีขั้นตอนในการเตรียมการ หาข่าว และประชาสัมพันธ์ ก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์เนื้อแท้แล้ว แผนดังกล่าวเป็นการสะท้อนความคิดที่จะปราบปรามเป็นสำคัญ เพราะเมื่อเกิดความรุนแรง (ไม่ว่าจากใคร หรือวัตถุประสงค์ใดก็ตาม) เจ้าหน้าที่ก็มีสิทธิอันชอบธรรมทันทีในการปราบปรามประชาชน
      ๓. ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง การที่สถาบันทหารเป็นสถาบันหลักทางด้านอำนาจ (ในขณะนั้น) มีฐานคิดที่ยึดกุมการตัดสินใจอยู่ที่การใช้อำนาจที่มีอยู่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ได้รับการสั่งสม และขัดเกลามาในแบบทหาร ภายใต้สายบังคับบัญชาที่เคร่งครัดและปราศจากการโต้แย้ง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นรากฐานของความรุนแรงเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น
(คลิกดูภาพใหญ่)       หลังเหตุการณ์พฤษภา ๒๕๓๕ ถึงแม้ผู้นำทางการทหารจะออกมายืนยันตลอดว่า การที่ทหารจะออกมารัฐประหาร หรือการปราบปรามประชาชน จะไม่มีทางเกิดขึ้นมาอีกก็ตาม แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วความรุนแรงมิได้ผูกขาดไว้เพียงทหารเท่านั้น พลเรือนทุกคนที่ขึ้นมามีอำนาจถ้าหากยังมีความความคิด การเตรียมการ และอยู่ในโครงสร้างที่ก่อให้เกิดความรุนแรงแล้ว สังคมไทยก็ยังไม่เป็นข้อยกเว้นของความรุนแรงแต่อย่างใด
      การที่จะให้สังคมไทยปลอดพ้นจากความรุนแรง จึงมิใช่เป็นการเรียกร้องเอาแต่ "ความ (รู้รัก) สามัคคี" เท่านั้น เพราะในสังคมไทยอุดมการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจเรียกร้องเอาจากประชาชนเสมอมา โดยที่ไม่ยอมปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างตนกับฝ่ายประชาชน 
      นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอว่า ถ้าหากจะแก้ปัญหาความรุนแรง เราต้องปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจเสียใหม่ โดยวางกลไกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจ ความโปร่งใสในการบริหารกิจการสาธารณะ การแก้กฎหมายให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น การทบทวนนโยบายที่ไม่สมดุลและเป็นธรรม ตลอดจนการเรียกร้องให้มีการพิจารณาการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นอย่างเปิดเผยและสุจริต
      สิ่งนี้เท่านั้นที่จะสร้าง "ความ (รู้รัก) สามัคคี" ในชาติได้ และความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจะหมดไปในที่สุด
 

บทเรียนเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕

(คลิกดูภาพใหญ่)       การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีหลายภาคส่วนของสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง หลายส่วนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ จนได้มีการสรุปบทเรียน และปรับปรุงบทบาท เพื่อที่จะสามารถดำรงอยู่ในในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป 

      - ทหารกับพฤษภา : คำตอบคือกลับเข้ากรมกอง
      ผลพวงจากเหตุการณ์ในเดือนพฤษภา บทบาทของกองทัพที่ตกเป็น "ผู้ร้าย" ในสายตาประชาชน ได้กลับมาทบทวนบทบาทของตนเอง ถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น รายงานของคณะตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร ในเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมของประชาชน ระหว่างวันที่ ๑๗-๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ที่มีพล.อ. พิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นประธาน มีการสอบปากคำบุคคลที่เป็นทหารตั้งแต่ผู้บังคับบัญชาสูงสุด ไปจนถึงเจ้าหน้าที่สั่งการและปฏิบัติการ ได้ข้อสรุปเป็นบทเรียนว่า 
      ความผิดพลาดเริ่มต้นจากการที่นายกรัฐมนตรีประเมินว่า ด้วยกำลังกองทัพที่หนุนหลัง และคะแนนเสียงพรรคร่วมรัฐบาล จะสามารถบริหารราชการแผ่นดินไปได้ โดยไม่คำนึงถึงเสียงประชาชน สื่อมวลชน แต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับใช้มาตรการที่แข็งกร้าว ในทำนองเป็นศัตรูกับสื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ มีการทำลายทรัพย์สินของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันที่มีชื่อ รวมทั้งคุกคามสวัสดิภาพของหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาและแรงต่อต้านเป็นอันมาก
      จากนั้นหน่วยข่าวกรองทหาร (ที่มี พล.ท. ทวีศักดิ์ หนุนภักดี เป็นผู้บังคับบัญชา) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การข่าวหลักของกองกำลังรักษาพระนคร ประเมินผู้ชุมนุมครั้งแรกที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๓๕ ซึ่งถือว่าเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกเมื่อ พล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีว่า มีเพียง ๗ ,๐๐๐-๘,๐๐๐ คน และเป็นการชุมนุมของผู้ประท้วงจัดตั้งเป็นส่วนใหญ่ หาใช่พลังมวลชนชั้นกลางหรือปัญญาชนไม่
      ด้วยทัศนะที่ผิดพลาดเช่นนี้เอง จึงประเมินผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยว่า จะมาทำลายความสงบเรียบร้อย รวมทั้งคิดไปไกลถึงการก่อการร้าย ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว รวมทั้งปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญ และอารักขาบุคคลสำคัญของประเทศ จึงเป็นที่มาของการอนุมัติแผนไพรีพินาศ โดย พล.อ. อิสระพงศ์ หนุนภักดี ผบ.ทบ. ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองกำลังรักษาพระนคร เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ความผิดพลาดประการต่อมาคือกองกำลังที่เข้าปฏิบัติการตามแผนไพรีพินาศขั้นที่ ๓ คือ กำลังพลส่วนใหญ่ไม่เคยฝึกในการปราบปรามการก่อความไม่สงบและการจลาจล ครึ่งหนึ่งเป็นทหารใหม่ อาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับภารกิจปราบปรามความไม่สงบไม้พร้อม ภารกิจในการปฏิบัติไม่ชัดเจน ฉะนั้นเมื่อเข้ารับภารกิจและประจำในแนวด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในสนามรบ และกระสุนจริง และด้วยความเชื่อมั่นว่าจะต้องเข้ามาเข้ามาปราบปรามการก่อความไม่สงบ ขัดขวางกลุ่มบุคคลที่เป็นอันตรายต่อประเทศชาติและราชบัลลังก์
      อีกทั้งกองกำลังที่เข้าปฏิบัติการในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นกองกำลังจากต่างจังหวัด เช่น กองพลทหารราบที่ ๙ (กาญจนบุรี) หน่วยสงครามพิเศษ (ลพบุรี) 
จะเห็นได้ว่าแนวคิดการ "จัดการ" กับผู้ชุมนุมโดยใช้กองกำลังจากต่างจังหวัด ซึ่งห่างไกลข้อเท็จจริงนั้นไม่ต่างจากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งใช้กำลังจากตำรวจตระเวนชายแดน จากค่ายนเรศวรมหาราช จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้า ๑๖ ปี จากคำให้การของพล.ต.ต.อุทัย อัศววิไล ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ภาพที่ชัดเจนว่า
      "ทหารที่มานั้นถูกถ่ายทอดความคิดมาก่อนจากลักษณะที่เขา response ต่อสิ่งแวดล้อม มีปฏิกิริยาตอบโต้ต่อสิ่งแวดล้อม เช่นบอกว่าเอ็งเป็นตัวแสบเหยียบมันเข้าไป"
      เมื่อมีการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการในครั้งนั้นจึงได้รับคำตอบในลักษณะใกล้เคียงกัน คือ
      - ทหารยึดนโยบายหลีกเกลี่ยงการปะทะมาโดยตลอด ใช้มาตรการจากหนักไปหาเบา รวมทั้งเจรจาให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบ
      - ผู้นำในการชุมนุมไม่สามารถควบคุมผู้ชุมนุมได้ มีผู้ชุมนุมบางส่วนใช้ความรุนแรงทำร้ายเจ้าหน้าที่ และทรัพย์สินทางราชการ
      - มีมือที่สามเข้าแทรกแซงเพื่อสร้างสถานการณ์
      - มีความจำเป็นที่จะสกัดกั้นผู้ชุมนุมไม่ให้เข้าใกล้พระราชฐานและสถานที่ราชการสำคัญ
      - ช่วงเวลาในการสลายการชุมนุมเหมาะสมแล้ว เพราะหากถึงรุ่งเช้าจะมีผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นจนไม่อาจควบคุมได้
      - ภารกิจครั้งนี้ถือว่าถูกต้องและเหมาะสมแล้ว
      ข้อเสนอของคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ คือการปรับย้ายผู้บังคับบัญชาที่ใช้วิจารณญาณที่ผิดพลาดและดึงกองทัพไปเกี่ยวข้องกับการเมืองตั้งแต่ต้น, การปรับย้ายฝ่ายเสนาธิการที่ปฏิบัติการผิดพลาดแล้ว ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวคือ
      ควรจะปลูกฝังประชาธิปไตยให้เกิดในหมู่ทหาร มวลชนของทหาร สถาบันการศึกษาของทหารทุกระดับให้เข้าใจในสิทธิและหน้าที่ของตนในระบอบประชาธิปไตย โดยที่หน่วยทหารและผู้นำหน่วยจะไม่เข้าไปก้าวก่ายหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง จะต้องลบล้างความรู้สึกที่ว่าประเทศไทยจะต้องปกครองโดยทหาร และทหารจะเป็นองค์กรหลักในการจัดตั้งรัฐบาล หรือจัดตั้งวุฒิสภา

(คลิกดูภาพใหญ่)       - สื่อกับพฤษภา ต้องมากกว่าเปลี่ยนกรรมสิทธิ์
วิทยุและโทรทัศน์ถูกใช้เป็นปัจจัยในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างหนักหน่วง นอกจากโฆษณาชวนเชื่อที่ตกแต่งให้คนคนนี้กลายเป็นเทวดาผู้ถูกสวรรค์ส่งมาโปรดผู้บาปหนาแล้ว สื่อมวลชนรัฐเหล่านี้ถูกกะเกณฑ์ให้ละเลย บิดเบือน และใส่ร้ายพลังประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประท้วงช่วง ๔ - ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๕ อันขมวดไปสู่การที่ทหารและตำรวจเข้าสังหารประชาชนมือเปล่า ๆ ด้วยอาวุธสงครามอย่างโหดร้าย ระหว่างวันที่ ๑๗ - ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕
      เคราะห์ดีในช่วงนั้นคนไทยไม่น้อยเปิดรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม คลื่นวิทยุ โทรทัศน์จากต่างประเทศ เมื่อประกอบการสื่อสารชนิดอื่น ๆ อย่างข่าวลือปากต่อปาก โทรศัพท์ โทรสาร การปิดหูปิดตาของรัฐบาลก็ไร้น้ำหนัก
      ทว่าแหล่งข่าวสารที่รอบด้านของคนไทยส่วนมากคือหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ"
      บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา (๒๕๓๕)

      ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ที่บทบาทของสื่อมวลชนในเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาคม ๒๕๓๕ จะได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ 
      บทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงมีข้อเรียกร้องจากสื่อมวลชนและประชาชนที่ชัดเจนคือ การให้หลักประกันด้านสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนและสื่อมวลชน และการปฏิรูปสื่อมวลของรัฐ 
      ประเด็นเรื่องสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้กลับมาอีกครั้งหลังจากเคยพุ่งขึ้นสูงภายหลังเหตุการณ์๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ แต่ในครั้งนี้จากการศึกษาของอุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ และคณะ พบว่ามีข้อเสนอที่แตกต่างอย่างชัดเจนก็คือ
      ๑. การให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในวิทยุและโทรทัศน์ได้ 
      และ ๒. แกนนำในการเรียกร้องเป็นสื่อมวลชนเอง โดยมีนักวิชาการและชนชั้นกลางให้การสนับสนุน
      ทั้งนี้อยู่บนความเชื่อที่ว่า การเปิดเสรีสื่อเป็นรากฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย และเป็นภัยโดยตรงต่อระบอบเผด็จการ
      การปรับปรุงโครงสร้างสื่อของรัฐมีการยกเลิก กบว. และแทนที่ด้วย ระเบียบว่าด้วยการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุแห่งชาติ ๒๕๓๕ ยกเลิกคำสั่งและหนังสือเวียน กบว. ๖๓ ฉบับ ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ ๑๕ และ ๑๗ รวมทั้งมีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นมาอีกหนึ่งช่อง คือสถานีโทรทัศน์ไอทีวีในปัจจุบัน
(คลิกดูภาพใหญ่)       ขณะที่รัฐธรรมฉบับประชาชนที่ยกร่างภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ ห้าปี ก็ได้เปลี่ยนนิยามจากคลื่นความถี่ต่าง ๆ จากที่เป็นสมบัติของรัฐ มาเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และสิทธิของสื่อมวลชนก็ได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญเช่นกัน
      แต่นั่นก็มิใช่เป็นหลักประกันแต่อย่างใดว่าสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนจะไม่ถูกละเมิด เพราะเป็นเพียงการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์จากของรัฐมาเป็นของนายทุนเจ้าของสื่อเท่านั้น ดังนั้นสังคมจึงต้องมีการตรวจสอบสื่อไปพร้อม ๆ กันด้วย

      - ชนชั้นกลางกับพฤษภา : แสวงหาภารกิจใหม่
      "ในสถานการณ์ปัจจุบัน พลังฝ่ายใดช่วงชิงคนชั้นกลางเป็นพวกไม่ได้ พลังนั้นก็ไม่ชนะ" 
      เกษียร เตชะพีระ (๒๕๓๖)

      ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในการเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ คือการปรากฏตัวของกลุ่มที่เรียกว่าชนชั้นกลาง เริ่มจากการชุมนุมใหญ่ในวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๓๕ จำนวนผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมากอาจจะไม่แปลก แต่พาหนะที่พวกเขานำมากลับเป็นสิ่งใหม่ ภาพของรถยนต์ส่วนตัวเป็นจำนวนมาก พร้อมกับเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ (ในขณะนั้น) คือโทรศัพท์มือถือในการติดต่อแจ้งข่าวสารในการชุมนุม จนเป็นที่มาของชื่อเรียก ม็อบมือถือ ในเวลาต่อมา
      จากผลสำรวจของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕ พบว่า ๑๓.๗ % ของผู้ชุมนุม ประกอบอาชีพอิสระ, ๔๕.๗% เป็นลูกจ้าง พนักงานธุรกิจเอกชน ขณะที่มีนักศึกษา ๘.๔% ข้าราชการ ๑๔.๘% และยังพบว่า ๔๕.๕% จัดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้ ๑๐,๐๐๐-๔๙,๐๐๐ บาท, ๓๖.๕ % มีอายุระหว่าง ๓๐.๓๙ % และ ๓๙.๕% มีอายุระหว่าง ๒๐-๒๙ ปี 
      ข้อมูลเหล่านี้ชี้ชัดว่าชนชั้นกลางคือมวลชนที่สำคัญของการชุมนุม 
      แต่รัฐบาลในขณะนั้นปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากมาตรการปิดกั้น/บิดเบือนข้อมูลข่าวสารโดยหวังให้ผู้ชุมนุมลดน้อยลง ได้กลายเป็นอาวุธที่มาทิ่มแทงตัวเอง เพราะชนชั้นกลางเหล่านี้มีช่องทางอื่นที่จะเปิดรับข้อมูลได้มากกว่า กลายเป็นว่าการกระทำดังกล่าวกลับทำให้ชนชั้นกลางออกมาชุมนุมมากขึ้น อย่างน้อยก็มาพิสูจน์ความจริงให้เห็นกับตาตนเอง
      ทั้งนี้การกล่าวถึงพลังของชนชั้นกลางก็มิได้ละเลยบรรดาคนงานหรือชนชั้นล่าง ช่วงเวลาวิกฤตบรรดาคนงานและชนชั้นล่างเป็นพลังที่ยืนหยัดไม่ถอยหนี ดังจะเห็นได้จากผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหาย เป็นคนงานหรือชนชั้นล่างเป็นส่วนมาก แต่บทบาทที่สำคัญของชนชั้นกลางก็คือการทำสงครามต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลอย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ โทรสาร วิทยุติดตามตัว หรือจดหมายเวียนในลักษณะต่างๆ นี่เองที่เป็นพลังของชนชั้นกลางในการต่อต้านเผด็จการ
(คลิกดูภาพใหญ่)       ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ บทบาทของชนชั้นกลางได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน วงวิชาการ แต่หลังจากนั้นไม่นานบทบาทชนชั้นกลางที่เคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักก็เงียบหายไปอย่างรวดเร็ว เป็นไปได้ว่าความเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางในครั้งนั้น เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาในทางการเมืองอย่างเดียว โดยไม่เป็นเหตุให้มีคำถามเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจและสังคม จึงทำให้ปัญหาอื่นไม่ได้รับความใส่ใจจากชนชั้นกลาง 
      ดังนั้นหากจะทำให้ประชาธิปไตยมีความหมายที่แท้จริง คือการเป็นเวทีให้ทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น ได้ใช้เวทีนี้ในการแสดงความคิดเห็น เสนอข้อเรียกร้อง และต่อรองอย่างสันติวิธี ก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้ 
      แต่นั่นก็มิใช่จะเป็นเหตุผลในการละเลยบทบาทของชนชั้นกลางไปได้ การเคลื่อนไหว "ธงเขียว" เพื่อให้รัฐสภารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปี ๒๕๔๐ กำลังหลักในการเคลื่อนไหวครั้งนั้นก็มาจากส่วนหนึ่งมาจากพลังของชนชั้นกลาง
      แม้เรามิอาจจะคาดหวังให้ชนชั้นกลางเป็นกองหน้าในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยได้ แต่เราก็มิอาจจะละเลยบทบาทของชนชั้นกลางได้เช่นเดียวกัน 
      บทบาทของชนชั้นกลางในเวทีแห่งนี้ก็ยังมีต่อไป เพียงแต่ว่าจะอยู่ในสถานะใดเท่านั้นเอง
 

๑๐ ปีหลังพฤษภาคม ๒๕๓๕

(คลิกดูภาพใหญ่)
      ประชาธิปไตยไทยจนถึงเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ มิได้ ผ่านหกสิบปีไปเปล่าเปล่า แต่เป็นการสิ้นสุดของระบอบอำมาตยาธิปไตย ประชาธิปไตย ๑๐ ปี หลังพฤษภาคม ๒๕๓๕ ก็มิได้เป็นเพียงเป็นเพียงการต่อสู้เพื่อให้นักการเมืองมาแทนที่ข้าราชการเท่านั้น แต่เป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่สิ่งที่เรียกว่า การปฏิรูปการเมือง 
      บทเรียนของเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ระบอบการเมืองไทย ไม่อาจจะปรับตัวให้ทันกับกระแสเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ได้รับการยอมรับมากขึ้น จนทำให้รัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ และการนองเลือดพฤษภาคม ๒๕๓๕ กลายเป็น สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ 
      แต่การสิ้นสุดของระบอบอำมาตยาธิปไตย เมื่อทหารกลับเข้ากรมกอง ก็มิใช่จุดมุ่งหมายเดียวของการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ เพราะระบอบการเมืองในขณะนั้นก็มิใช่สิ่งที่น่าชื่นชมแต่อย่างใด ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าส่วนหนึ่งของความรุนแรงเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ก็เกิดจากระบอบการเมืองแบบรัฐสภาในขณะนั้นด้วยเช่นกัน 
      ขณะที่กระแสภายในประเทศ การเรียกร้องการกระจายอำนาจ, ความโปร่งใสในการบริหารราชการ, สิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร, การมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ตลอดจนประชาธิปไตยทางตรงในรูปแบบต่างๆ กลายเป็นข้อเรียกร้องที่มีกระแสตอบรับมากขึ้นจนนักการเมืองมิอาจจะปฏิเสธได้อีกต่อไป
      สิ่งที่สูญเสียไปในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ จึงมิใช่แค่การเรียกร้องเพื่อให้นายกฯมาจากการเลือกตั้งแล้วบอกว่า"ผมเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา" โดยไม่ยอมรับฟังเสียงจากประชาชนด้วยข้ออ้างที่ว่า "มีอะไรก็ให้พูดกันในสภา" เท่านั้น
      ตรงกันข้ามหลังเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ ได้มีปรากฎการณ์ที่บ่งชี้ว่าประชาธิปไตยที่เป็นอยู่นั้นไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาประชาชนได้ ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ได้มีการนิยาม "สิทธิ" โดยประชาชนเองมากขึ้น
(คลิกดูภาพใหญ่)       ไม่ว่าจะเป็น "สิทธิชุมชน" ที่เกิดมาท่ามกลางสงครามแย่งชิงทรัพยากรระหว่างเมืองกับชนบท ที่ได้ก่อตัวมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๒๕๓๐ ผ่านกรณีพิพาทเกี่ยวกับ ดิน น้ำ ป่า เป็นจำนวนมากและแหลมคมมากขึ้น "สิทธิชุมชน" ได้รับการอ้างถึงและยอมรับมากขึ้น หลังเกิดความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับชาวบ้านห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อรัฐอนุญาตให้นายทุนเช่าพื้นที่ป่าสาธารณะของชาวบ้านเพื่อปลูกสวนป่า ชาวบ้านห้วยแก้วจึงจุดกระแสการเรียกร้องกฎหมายป่าชุมชนเป็นครั้งแรก ๒๕๓๒ ต่อมาเมื่อมีการศึกษาและเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน จนสามารถยกร่างกฎหมายป่าชุมชน (ฉบับประชาชน) จนสำเร็จในปี ๒๕๓๖ แม้ว่าจนถึงปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวจะยังไม่สามารถออกมาได้ แต่อย่างน้อยก็ถือว่าสิทธิชุมชน ได้รับการสถาปนาขึ้นแล้ว
      "สิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร" ก็ได้มีการอ้างถึงและนำมาปฏิบัติจริง จากการที่กลุ่มตาวิเศษ ที่นำโดยคุณหญิงชดช้อย โสภณพาณิช ร่วมกับ กลุ่มทนายอาสา พร้อมกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ กว่า ๙๐๐ คน ได้อ้างมาตรา ๔๘ ทวิ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๓๔ ที่บัญญัติไว้ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลหรือข่าวสารจากหน่วยราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ ในเมื่อการนั้นมีหรืออาจจะมี ผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของตน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อให้เปิดเผยขอดูสัญญาโครงการรถไฟฟ้าธนายง ว่าจะส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ และมีวิธีการแก้ไขอย่างไร ก็นับว่าเป็นก้าวแรกของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ในเวลาต่อมา
      หรือการแก้ปัญหากรณีพิพาทระหว่างชุมชนบ้านครัวกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จากที่เคยเป็นการตัดสินใจโดยรัฐแต่ฝ่ายเดียว รัฐบาลจำเป็นต้องตั้ง คณะกรรมการพิจารณาประโยชน์ของถนนรวมและการกระจายการจราจรต่อระบบทางด่วนขั้นที่ 2 จนนำมาสู่การใช้กระบวนการไต่สวนสาธาณะ (public hearing ซึ่งต่อมาราชบัณฑิตได้นิยามศัพท์ใหม่ว่า ประชาพิจารณ์) แม้ว่ารายงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะชี้ชัดว่าโครงการดังกล่าวไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน ขณะที่ผู้บริหารชุดต่อมาจะไม่ยอมรับมติชุดดังกล่าว แต่ทว่าโครงการก็ดำเนินต่อไปไม่ได้เช่นกัน
      และหลังจากปล่อยนักการเมืองใช้รัฐธรรมนูญเป็นเกม ที่จะชนะคะคานกันในทางการเมือง โดยมิได้มองที่เนื้อหาสาระที่แท้จริงในระยะเวลาสองปี หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร ได้ประกาศอดอาหารประท้วงในปี ๒๕๓๗ โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลที่สำคัญคือ ให้สภาผู้แทนราษฎรยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้นมาจากสภานิติบัญญัติที่แต่งตั้งโดย รสช.
(คลิกดูภาพใหญ่)       การต่อสู้ครั้งแม้ว่าจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ แต่ก็เป็นที่มาของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ที่ได้ทำข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางของการปฏิรูปการเมือง จนเป็นที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเมื่อตุลาคม ๒๕๔๐ 
      ทั้งนี้สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ คือการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทยเสียใหม่ ด้วยการเปิด "พื้นที่" ทางการเมืองให้แก่การเมืองภาคประชาชนด้วยการ
      ๑. การเพิ่มอำนาจประชาชน โดยรับรองสิทธิต่าง ๆ ที่ประชาชนได้เคยเรียกร้องและปฏิบัติการมาก่อนหน้านี้ เช่น การรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา ๔๖ และ ๕๖, สิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๕๘, การฟ้องหน่วยงานราชการให้รับผิดชอบเนื่องจากกระทำหรือไม่กระทำการใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนตามมาตรา ๖๒ , สิทธิที่จะได้รับข้อมูล คำชี้แจงก่อนการอนุญาตให้ดำเนินโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งการที่รัฐจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามกระบวนการประชาพิจารณ์ตามมาตรา ๕๙ 
      ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มเติมสิทธิใหม่ ๆ ขึ้นมาเช่น สิทธิของประชาชน ๕๐,๐๐๐ คนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามมาตรา ๑๗๐, การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และการมีองค์กรอิสระที่มีตัวแทนองค์กรผู้บริโภคให้ความเห็นในการตรากฎหมายใด ๆ ที่จะกระทบต่อผู้บริโภคตามมาตรา ๕๗, เสรีภาพในการประกอบอาชีพ โดยการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรมตามมาตรา ๕๐ 
      การเพิ่มอำนาจในการตรวจสอบ ถ่วงดุล ทั้งในส่วนบุคคล และโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการให้อำนาจประชาชนไม่น้อยกว่า ๕ หมื่นคน เข้าชื่อกันถอดถอนนักการเมืองและข้าราชการประจำที่มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปรกติ, การทุจริตต่อหน้าที่, การจงใจใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๓๐๓ และ ๓๐๔ 
      ๒. การปรับโครงสร้างทางการเมือง ไม่ว่าจะกำหนดให้วุฒิสภา ที่เดิมมาเป็นฐานอำนาจของกลุ่มอำมาตยาธิปไตย มาเป็นการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน, การจัดตั้งศาลปกครอง ที่รอคอยมากกว่า ๖๐ ปี เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด เกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่, การเพิ่มองค์กรอิสระไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง แทนกระทรวงมหาดไทย, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาตรวจสอบ รายงาน และเสนอมาตรการแก้ไข การกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ทำหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตต่อหน้าที่ หรือทำความผิดต่อหน้าที่ราชการหรือไม่, ศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่วินิจฉัยข้อกฎหมายที่อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฯลฯ
      รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแม้ว่าจะมีข้อบกพร่องที่จะต้องแก้ไขอยู่บ้าง แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทย ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเราจึงได้เห็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญ ๆ ผ่านการใช้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นได้จากตลอดระยะเวลาเกือบ ๕ ปีที่ผ่านมา ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ ก็มีการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน ที่ได้อาศัยหมุดหมายที่สำคัญ
(คลิกดูภาพใหญ่)       -๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๐ ชาวบ้านตำบลบ้านกรูด ยื่นหนังสือคัดค้านมติของ อบต. ธงชัย อ. บางสะพาน จ. ประจวบคีรีขันธ์ ที่อนุมัติให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านหินกรูด และเปิดปราศรัยให้มีการทำประชาพิจารณ์อย่างโปร่งใส
      -๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๑ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาคม ๒๕๓๕ และ สนนท. ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ. เชษฐา ฐานะจาโร เพื่อขอให้เปิดเผยผลสอบกรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ ชุด พล.อ. พิจิตร กุลละวณิชย์
      -๑๑ กันยายน ๒๕๔๑ เครือข่าย ๒๘ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุข ได้จัดสัมมนาเรื่อง "กลไกทางสังคมและกฎหมายในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน : กรณีการทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในกระทรวงสาธาณสุข" และเริ่มต้นการรวบรวมรายชื่อประชาชน ๕ หมื่นคนเพื่อถอดถอนนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง
      -๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๒ คณะกรรมการผลักดันการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ได้ร่วมกับกลุ่มองค์กรแรงงานกว่า ๒๐๐ องค์กร ใช้สิทธิตามมาตรา ๑๗๐ ของรัฐธรรมนูญเสนอร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ต่อประธานรัฐสภา
      -๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒ วีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ยื่นหนังสือต่อ ปปช. เพื่อให้ตรวจสอบทรัพย์สินของ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ 
      -๑๐ มีนาคม ๒๕๔๓ จัดตั้งเครือข่ายเหล้าพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เพื่อรวมตัวปกป้องภูมิปัญญาการผลิตเหล้าพื้นบ้าน และทวงสิทธิและภูมิปัญญาการผลิตเหล้าพื้นบ้าน ที่ถูกยึดไปตั้งแต่การออก พ.ร.บ. สุรา ๒๔๙๓ พร้อมทั้งรณรงค์ให้มีการเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. จดแจ้งการผลิตเหล้าพื้นบ้าน ฉบับประชาชน
      -๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ตัวแทนเครือข่ายป่าชุมชน ๔ ภาค ได้เข้าไปแถลงเจตนารมณ์ ร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ฉบับประชาชน ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และที่ประชุมมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน วาระที่ ๑ 
      -๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ โครงการรณรงค์เพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุข ประกาศเจตนารมณ์ผลักดันร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ด้วยการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอต่อรัฐสภา
      แม้ว่าจะเป็นการเรียกร้องต่างกรรมต่างวาระ บางกรณีอาจจะไม่ได้รับชัยชนะ บางกรณียังยืดเยื้อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แต่ใครจะปฏิเสธได้ว่า มาถึง ณ วันนี้ การเมืองไทยหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ยังเหมือนเดิม
 

บทส่งท้าย

(คลิกดูภาพใหญ่)
      ถึงแม้เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ก็แลกกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับคนเป็นจำนวนมาก "ความตายไร้ชื่อ?" ข้อเขียนของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในโอกาสฌาปนกิจศพชายนิรนามสามคน ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ได้เตือนให้เราระลึกอยู่เสมอว่า
      "ไม่ว่า (ผู้เสียชีวิต) จะชื่ออะไร จะมีเจตจำนงอย่างไร จะมีทัศนะคติต่อความตายชนิดไหน แต่บรรดาผู้ตายเพราะถูกสังหารในคืนแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้น ความตายของพวกเขาก็มีความหมายในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยหน้าใหม่ เพราะความตายเช่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่สังคมไทยต้องจ่าย เพื่อการเปลี่ยนแปลง คงเป็นหน้าที่ของคนที่ยังอยู่ ต้องหาวิธีให้ความตายของผู้คนที่ไม่ทราบชื่อนั้น มีความหมายด้วยการใช้สติปัญญาสร้างสรรค์บ้านเมืองนี้ต่อไป"
      และขอให้เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ เป็นครั้งสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ต้องแลกมาด้วยความสูญเสีย