สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๙ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๙ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๕ " World Cup 2002 "
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๙ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๕  

อุทยานแดร็กคิวลา

วันชัย ตัน /ภาพประกอบ : Din-Hin

  อุทยานแดร็กคิวลา
        แดร็กคิวลากำลังฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่ง ...แต่คราวนี้มากันเป็นหมู่คณะ
      การท่องเที่ยวแห่งประเทศโรมาเนีย มีโครงการจะสร้างอุทยานแดร็กคิวลา หรือสวนสนุกดูดเลือด มูลค่าพันกว่าล้านบาท บนเนื้อที่ประมาณ ๔๐๐ ไร่ในเมืองซิกไอเซารา บ้านเกิดของแดร็กคิวลา 
      อุทยานดูดเลือดนี้จะจำลองบรรยากาศของโรมาเนียเมื่อ ๗๐๐ ปีก่อน สมัยที่ท่านเคาท์แดร็กคิวลากำลังอาละวาดดูดเลือดผู้คนในยามวิกาล ประกอบด้วยปราสาทผีสิง ห้องทรมานนักโทษ ห้องสยองขวัญ และยังมีภัตตาคารเมนูเปิบพิสดาร อาทิ มันสมองทอด (ทำจากเยลลี่ทอดในน้ำมันเดือด) ค็อกเทลเลือด ฯลฯ
      การท่องเที่ยวโรมาเนียประเมินว่า หากโครงการอุทยานแดร็กคิวลาดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนปีละ ๑ ล้านคน แต่ยังไม่ทันไร ชาวเมืองพากันบ่นแล้วว่า ตอนนี้อาหารและที่ดินราคาแพงขึ้นทันตา เพราะมีนักธุรกิจและชาวต่างชาติ พากันมากว้านซื้อบ้านในเมืองอันเก่าแก่นี้ เพื่อปรับปรุงเป็นโรงแรมขนาดเล็ก เตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยว 
      ชาวเมืองซิกไอเซาราที่อยู่อาศัยกันมาอย่างสุขสงบได้ออกโรงคัดค้าน ไม่ประสงค์จะต้อนรับกองทัพนักท่องเที่ยว พวกเขาบอกว่าแดร็กคิวลาแลนด์ จะทำลายเมืองเก่าแก่ที่มีอายุยืนนานมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ซึ่งกำลังได้รับการคัดเลือกจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
      "สวนสนุกแห่งนี้จะทำลายบรรยากาศความเป็นเมืองที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ยุคกลางลง" อเล็กซานดรู โกตา ผู้นำกลุ่มประชาคมเมืองซิกไอเซาราที่ต่อต้านโครงการนี้ กล่าว
      ทุกปี เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้จะจัดประชุมสภากาแฟแดร็กคิวลาขึ้น โดยแฟน ๆ ของแดร็กคิวลาจากทั่วโลกจะมาพบปะ จิบบรั่นดีลูกพลัม พลางแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน 
      เมืองซิกไอเซาราเป็นบ้านเกิดของเคาท์ วลัด เทเปส ผู้มีฉายาว่า "วลัด นักเสียบหัว" ท่านเคาท์ผู้นี้เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ และเป็นต้นแบบของแดร็กคิวลาที่ บราม สโตเกอร์ นักประพันธ์ชื่อดัง นำมาใช้เป็นตัวละครเอกในวรรณกรรมสะท้านโลกเรื่อง ผีดิบแดร็กคิวลา
      บิดาของ วลัด เทเปส ซึ่งมีชื่อว่า วลัด แดร็กกูล นั้น เคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น "ออร์เดอร์ออฟดรากอน" จากกษัตริย์ฮังการี แต่ไม่มีใครรู้ว่าทำไม "วลัด เทเปส" จึงไม่ถูกเรียกว่า "วลัด ดรากอน" แต่กลับไพล่มาเป็น "วลัด แดร็กกูล" แทน
      รู้แต่ว่า คำว่า "แดร็กกูล" ในภาษาโรมาเนียนั้นแปลว่า ปิศาจ ซึ่งก็สอดคล้องกับนิสัยของ "วลัด นักเสียบหัว" ผู้กระหายเลือด กล่าวกันว่า วลัดผู้นี้ชอบลงโทษเชลยศึกและขโมย โดยฆ่าทิ้งไว้กลางถนน แล้วปล่อยให้เลือดไหลนองไปตามท้องถนน พร้อมกับตัดหัวนักโทษเหล่านี้ เสียบประจานไว้ตามมุมเมืองต่าง ๆ ไม่ให้คนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างด้วย
      บราม สโตเกอร์ จึงได้นำนิสัยกระหายเลือดของท่านเคาท์ผู้นี้ มาแต่งเป็นเรื่องผีดิบดูดเลือดในนาม "แดร็กคิวลา" กลายเป็นนิยายสยองขวัญอันดับหนึ่งของโลกตลอดกาล
      หลังจากที่ประเทศโรมาเนียได้หันหลังให้แก่การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ วลัด นักเสียบหัวผู้กระหายเลือด ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความยุติธรรม เพราะทุกวันนี้โรมาเนียเต็มไปด้วยนักการเมือง ข้าราชการทุกระดับ ที่ตั้งหน้าตั้งตาคอร์รัปชัน
      ชาวโรมาเนียจึงเรียกร้องให้มีผู้นำที่เข้มแข็ง อย่างท่านเคาท์วลัดไว้ปราบคนเหล่านี้ 
      ในอนาคต หัวนักโกงบ้านโกงเมือง อาจถูกเสียบประจานไว้ในสวนสนุกแดร็กคิวลา ตามเจตนารมณ์ที่แท้ของท่านเคาท์แดร็กคิวลาก็เป็นได้