|
|||||||||||||
|
วันชัย ตัน /ภาพประกอบ : Din-Hin |
|||
แต่ก่อน คนจีนเวลาเจอหน้ากันมักจะทักทายกันว่า "กินข้าวหรือยัง" อย่างถ้าเป็นจีนแต้จิ๋วก็ว่า "เจี๊ยะปึ่งบ่วย" ที่ต้องทักกันเรื่องนี้ เพราะสมัยก่อนคนจีนยากจนมาก ต้องอดมื้อกินครึ่งมื้อ ยุคนั้นการได้กินข้าวครบทุกมื้อ ถือเป็นความสุขสุดยอดในชีวิตยิ่งกว่าจับฉลากได้ไปดูบอลโลก เมื่อ ๕๐ ปีก่อน ชาวไต้หวันยังยากจนมาก ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพจับปลา ปลูกข้าวและกล้วยหอม แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ผู้คนยังเป็นโรคขาดอาหาร มองไปทางไหนก็มีแต่คนผอมแห้งแรงน้อย การกล่าวคำอวยพรที่ไพเราะที่สุดในเวลานั้นคือ ขอให้ลูก ๆ ของคุณจงอ้วนท้วนจ้ำม่ำ จนเมื่อ ๓๐ ปีก่อน เศรษฐกิจในไต้หวันเริ่มก้าวกระโดด โรงงานอุตสาหกรรมเปลี่ยนจากการใช้แรงงาน สู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า ในปี ค.ศ. ๑๙๘๐ คนงานที่เคยผลิตตุ๊กตา ก็เปลี่ยนมาผลิตคอมพิวเตอร์ คนงานที่เคยผลิตร่ม ก็เปลี่ยนมาผลิตรถยนต์แทน ในทศวรรษ ๑๙๙๐ ไต้หวันจึงกลายเป็นเสือเศรษฐกิจของเอเชีย เป็นประเทศร่ำรวยที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุด ความฝันของอาป๊าอาม้าที่ต้องการให้เด็ก ๆ ไต้หวันอิ่มหมีพีมันจึงเป็นความจริง แต่มาวันนี้ คำกล่าวอวยพรว่าให้เด็ก ๆ อ้วนท้วนจ้ำม่ำ ดูจะเป็นคำพูดต้องห้ามไปแล้ว คนไต้หวันยุคใหม่อ้วนขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเลิกกินข้าวกินปลา หันมากินแฮมเบอร์เกอร์ เนื้อ และของทอดแทน อ้วนชนิดที่พอเจอหน้ากัน ต่างคนก็ต่างชิงทักกันว่า "ไอ้หยา ! ทำไมลื้ออ้วนเหมือนหมูตอน" แล้วก็เปลี่ยนมาถือคติว่า "ถ้ารักกันจริง ห้ามเชิญไปกินโต๊ะจีน" จากการวิจัยของมูลนิธิจอห์น ตั้ง พบว่า หนึ่งในสี่ของชาวไต้หวันคิดว่าพวกเขามีน้ำหนักเกิน และร้อยละ ๖๐ ของเด็กวัยรุ่น ต้องการลดน้ำหนัก ปัจจุบัน ชาวไต้หวันใช้เงินมากขึ้นเพื่อเข้าคอร์สลดน้ำหนัก ตั้งแต่เข้าฟิตเนส อบไอน้ำ สปา กินยา ฝังเข็ม คุมอาหาร ล่าสุดที่กำลังมาแรงคือ การเย็บกระเพาะอาหาร โรงพยาบาลอัง จู กอง เป็นโรงพยาบาลแห่งแรก ที่ให้บริการเย็บกระเพาะเพื่อลดน้ำหนัก ตั้งแต่เปิดบริการมา มีคนไข้ผ่านการเย็บกระเพาะแล้ว ๗๐๐ คน และได้ผลดี นายแพทย์ ลี ไว เชง รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล อธิบายหลักการง่าย ๆ ว่า "เราเพียงเย็บกระเพาะของคนไข้ให้มีรูปร่างเหมือนขวดน้ำเต้า หลังการผ่าตัด เมื่อคนไข้กินอาหาร อาหารจะผ่านเข้าไปในส่วนคอคอดของกระเพาะที่เย็บไว้ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑ เซนติเมตร ก่อนจะผ่านเข้าไปในกระเพาะส่วนที่เหลือ ทำให้คนไข้รู้สึกอิ่มเร็วกว่าปรกติหลังจากกินอาหารไปเพียงเล็กน้อย" ทางโรงพยาบาลคุยว่า เมื่อผ่าตัดเสร็จ คนไข้จะมีน้ำหนักลดลง ๕-๑๐ กิโลกรัมภายในเดือนแรก น้ำหนักลดลง ๑๒-๓๐ กิโลกรัมภายในเดือนที่ ๒ และน้ำหนักลดลง ๒๐-๕๐ กิโลกรัมภายในครึ่งปี ไก เช็ง-จิ นักค้าหุ้นวัย ๒๒ ปี น้ำหนัก ๑๙๙ กิโลกรัม เข้ารับการผ่าตัดเย็บกระเพาะเมื่อสามปีก่อน ปัจจุบันมีน้ำหนักเพียง ๗๕ กิโลกรัม "หลังผ่าตัดเสร็จ เวลากินมากผมจะรู้สึกอยากอ้วก แต่ชีวิตผมดีขึ้นมากเมื่อมีหุ่นขนาดนี้ สาว ๆ เหล่ผมจนเป็นเรื่องปรกติ" ไก เช็ง-จิ กล่าวด้วยความมั่นใจ ส่วนราคาค่าผ่าตัด ทางโรงพยาบาลไม่ยอมเปิดเผย กลัวคนไข้จะเป็นลมเสียก่อน ปรกติในไต้หวัน การเข้าคอร์สลดน้ำหนักมีราคาค่อนข้างแพง การเข้าคอร์ส ๒ สัปดาห์ โดยเฉลี่ยจะเสียเงินประมาณ ๕ หมื่นบาท แต่ก็ไม่รับประกันว่าน้ำหนักจะลดลงเท่าใด กล่าวกันว่า หากจะลดน้ำหนัก ๑๐ กิโลกรัม ต้องเข้าคอร์สประมาณ ๑๐ สัปดาห์ คิดเป็นเงินประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ บาท หรือเฉลี่ยค่าลดน้ำหนักกิโลกรัมละ ๒๕,๐๐๐ บาท ชาวแอฟริกันผู้หิวโหยอ่านข่าวนี้แล้วคงอยากเป็นลมชักตายให้สิ้นเรื่องไป คนอ้วน (แต่รวย) ทำอะไรไม่น่าเกลียดจริง ๆ |