สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๙ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๙ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๕ " World Cup 2002 "
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๙ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๕  

ความตายลึกลับของกะเหรี่ยงคลิตี้

เรื่องและภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

(คลิกดูภาพใหญ่)

      สองชั่วโมงกว่าบนระยะทางร่วม ๑๐๐ กิโลเมตร จากตัวอำเภอทองผาภูมิ เราเลียบผ่านเส้นทางเข้าป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ป่าใหญ่ทางฝั่งตะวันตก ลึกเข้าไปในเขตป่าสงวนที่กำลังเตรียมประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงู ข้ามเขาหลายลูก ผ่านหมู่บ้านหลายแห่ง ก่อนจะสิ้นสุดการเดินทางที่คลิตี้ล่าง--หมู่บ้านกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นปลายทางของเรา ทางเข้าหมู่บ้านเป็นสะพานไม้ทอดข้ามลำห้วยชื่อเดียวกับหมู่บ้าน พ้นจากสะพานไม้เป็นเนินเขาที่มองลงมาจะเห็นกระท่อมน้อยใหญ่ กระจายตัวเป็นหย่อม ๆ อยู่ในราวป่า แวดล้อมด้วยทิวเขาและแมกไม้ร่มครึ้ม 
      กระท่อมส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ไผ่และมุงหลังคาด้วยใบหวาย มีบ้างที่ปลูกสร้างอย่างมั่นคงด้วยไม้กระดาน กระท่อมแต่ละหลังตั้งอยู่ไม่ไกลจากลำธาร สัมผัสได้ถึงความชุ่มเย็น ของธารน้ำใสที่มีฝูงปลาแหวกว่าย... 
      มองจากภายนอก หมู่บ้านในป่าใหญ่ที่อากาศชุ่มเย็นตลอดปี มีลำธารน้ำใสไหลผ่าน ทั้งยังมีทิวเขาทอดยาวโอบล้อมเป็นฉากหลัง น่าจะเป็นหมู่บ้านในฝันของหลายคนทีเดียว หากจะมองข้ามความจริงที่ว่า เหนือหมู่บ้านคลิตี้ล่างขึ้นไปเพียง ๑๐ กว่ากิโลเมตร เป็นที่ตั้งของโรงแต่งแร่ตะกั่วขนาดใหญ่ ที่นับเป็นแหล่งผลิตหัวแร่ตะกั่วที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
      ที่สำคัญ ลำธารน้ำใสที่ไหลผ่านหมู่บ้านกะเหรี่ยงแห่งนี้ ไม่เพียงเป็นลำน้ำสายเดียวที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวกะเหรี่ยงร่วม ๕๐๐ คนในหมู่บ้านสองแห่ง คือคลิตี้บนและคลิตี้ล่าง หากยังเป็นธารน้ำสายเดียวกับที่รองรับน้ำเสีย จากโรงแต่งแร่แห่งนี้ด้วย 
      เป็นเวลานับสิบปีมาแล้ว ที่หางแร่ตะกั่วความเข้มข้นสูงจากโรงแต่งแร่ ถูกปล่อยลงสู่ลำห้วย และเปลี่ยนหมู่บ้านกลางป่าใหญ่ ที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ให้กลายเป็นหมู่บ้านที่ผืนดินและธารน้ำ เอิบอาบด้วยพิษจากสารตะกั่ว 
      ปริมาณตะกั่วในลำน้ำและผิวดินที่สูงกว่าระดับปรกติหลายพันเท่า ทำให้วัวควาย ตลอดจนชาวบ้านทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ล้มป่วยและตายลงอย่างลึกลับต่อเนื่องกันมาหลายปี จนเมื่อปี ๒๕๔๑ ชาวบ้านคลิตี้ล่าง จึงได้เข้าร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจหาสาเหตุ กระทั่งพบกรณีการปนเปื้อนของสารตะกั่วปริมาณสูง จากการที่โรงแต่งแร่ปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำห้วย 
      เรื่องราวของชาวบ้านคลิตี้กลายเป็นข่าวใหญ่ทางหน้าหนังสือพิมพ์ ส่งผลให้หน่วยงานหลายแห่ง ไม่ว่ากรมทรัพยากรธรณี กรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ ต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด มีบุคคลระดับรัฐมนตรีลงพื้นที่ ก่อนจะมีการแถลงจากทางการในเวลาต่อมาว่า ปัญหาทุกอย่างได้รับการแก้ไขเรียบร้อย โรงแต่งแร่ถูกปิด ลำน้ำได้รับการฟื้นฟู และผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารตะกั่วได้รับการดูแลรักษาอย่างดี...
      ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวปลายเดือนมีนาคม ๒๕๔๕ เรากลับมาเยือนหมู่บ้านคลิตี้ล่างอีกครั้ง ทั้งเพื่อร่วมงานปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยงที่จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี และเพื่อเยี่ยมเยียนถามไถ่ข่าวคราวของชาวคลิตี้ล่าง ว่ายังอยู่ดีมีสุขกันอยู่จริงหรือไม่ ?


 

เหมืองและเมืองตะกั่ว

(คลิกดูภาพใหญ่)
      มนุษย์รู้จักตะกั่วมานานกว่า ๖,๐๐๐ ปี ตะกั่วเป็นโลหะหนัก สีเทาเงิน มีจุดหลอมเหลวต่ำ เปลี่ยนรูปทรงได้ง่าย ทนต่อการสึกกร่อน เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยแทรกตัวอยู่ในแหล่งหินและแร่
      ในประเทศไทย บรรดานักขุดแร่ต่างทราบกันดีว่า แหล่งแร่ตะกั่วที่สำคัญนั้น อยู่ทางด้านตะวันตกของจังหวัดกาญจนบุรี บริเวณนี้มีการทำเหมืองตะกั่วสืบเนื่องกันมายาวนานหลายยุคสมัย ทั้งยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ยืนยันอายุการทำเหมืองย้อนหลังไปได้ถึง ๑,๕๐๐ ปีทีเดียว ปัจจุบันการผลิตแร่และโลหะตะกั่วในบริเวณนี้ มีมูลค่าตกประมาณปีละ ๕๐๐ ล้านบาท
      ในปี ๒๕๑๐ บริษัทตะกั่วคอนเซนเทรตส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้สร้างโรงแต่งแร่ตะกั่วขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณหมู่บ้านคลิตี้บน ตำบลนาสวน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อผลิตตะกั่วคอนเซนเทรตส์หรือหัวแร่ตะกั่วที่มีความเข้มข้นสูง โดยวิธีการลอยแร่ ส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยนำตะกั่วดิบมาจากเหมืองบ่องาม ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ ๖ กิโลเมตร 
      โรงแต่งแร่ขนาดใหญ่แห่งนี้ เปิดดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี เป็นเวลายาวนานพอ ๆ กับที่น้ำเสียจากกระบวนการผลิต ซึ่งรวมถึงสารตะกั่ว ถูกปล่อยลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ที่สำคัญ ตะกั่วเหล่านั้นไม่ได้เพียงตกตะกอนสงบนิ่งอยู่ใต้ท้องน้ำ หากได้แทรกซึมเข้าสู่สัตว์น้ำที่เป็นอาหารหลักของชาวบ้าน ปนเปื้อนไปกับน้ำดื่มน้ำใช้ กลายเป็นมฤตยูที่แฝงตัวรอเวลาคร่าชีวิตชาวคลิตี้ลงทีละน้อย
      หลังจากที่ชาวบ้านกว่า ๓๐ คนทยอยล้มตายลงอย่างลึกลับ มีการร้องเรียนจากชาวบ้าน กระทั่งกรณีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ของโรงแต่งแร่แห่งนี้ตกเป็นข่าวครึกโครมในปี ๒๕๔๑ กรมควบคุมมลพิษจึงได้เข้ามาเก็บตัวอย่างน้ำ และดินตะกอนในลำห้วยคลิตี้ไปตรวจ และพบว่าปริมาณสารตะกั่วในดินตะกอนท้องน้ำ บริเวณเหนือโรงแต่งแร่ มีค่าถึง ๒๒๘-๖๖๕ มิลลิกรัม/กิโลกรัม และบริเวณใต้โรงแต่งแร่ที่มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำห้วย พบปริมาณสารตะกั่วสูงสุดถึง ๖๘,๙๒๐ มิลลิกรัม/กิโลกรัม ขณะที่ปริมาณสารตะกั่วในระดับที่ปลอดภัยตามมาตรฐานนั้น ระบุไว้ว่าไม่ควรเกิน ๑๐๐ มิลลิกรัม/กิโลกรัม 
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       จึงไม่แปลกอะไรที่ชาวบ้านจากหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งอาศัยน้ำจากลำห้วยแห่งนี้หล่อเลี้ยงชีวิต จะกลายเป็นมนุษย์ตะกั่ว ที่มีปริมาณตะกั่วสะสมในร่างกายสูงที่สุดในประเทศ
      ที่น่าทึ่งก็คือ กรมทรัพยากรธรณีได้มีคำสั่งปิดโรงแต่งแร่แห่งนี้ (เป็นการสั่งปิดครั้งที่ ๓ หลังจากที่เคยถูกสั่งปิดมาแล้วสองครั้ง ด้วยข้อหาเดียวกัน) พร้อมทั้งสั่งปรับกรณีปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำห้วย สร้างความเสียหายให้แก่ส่วนรวมเป็นเวลานานกว่า ๒๐ ปี ในอัตราสูงสุดถึง ๒,๐๐๐ บาท ! 
      ...........................................
      ก่อนจะเดินทางเข้าไปที่หมู่บ้านคลิตี้ล่าง เราถือโอกาสแวะไปที่คลิตี้บน เพื่อดูร่องรอยของโรงแต่งแร่ที่ถูกปิดทำการไปตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ 
โรงงานขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในชื่อ "โรงแต่งแร่ตะกั่วคลิตี้" นั้น ตั้งอยู่บนเนินเขาแห่งหนึ่ง ห่างจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเพียง ๖ กิโลเมตร 
      เราเดินเท้าขึ้นไปบนเนินเขา ด้านหน้าโรงงานเราพบบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นเพียงบ่อดินธรรมดา ไม่มีการปูลาดด้วยวัสดุกันน้ำซึมลงสู่ใต้ดิน และไม่มีร่องรอยของระบบบำบัดน้ำเสียใด ๆ 
      เมื่อครั้งที่ตกเป็นจำเลยกรณีปล่อยน้ำเสียลงลำห้วย ทางโรงแต่งแร่อ้างว่า การที่น้ำเสียไหลทะลักลงห้วยคลิตี้ เป็นเพราะคันขอบของบ่อบำบัดน้ำเสียพังลงมา เนื่องจากถูกพายุฝนในช่วงฤดูฝนปี ๒๕๔๑ ขณะที่ชาวบ้านบริเวณนั้นยืนยันว่า ไม่เคยเกิดกรณีฝนชะขอบบ่อดินพัง มีแต่เพียงการต่อท่อจากบ่อบำบัดน้ำเสีย ลงสู่ลำห้วยโดยตรง น้ำเสียจากน้ำยาล้างแร่ น้ำยาลอยแร่ ที่มีกลิ่นเหม็นรุนแรง รวมทั้งตะกั่ว ไหลลงลำห้วยมาเป็นเวลานับสิบ ๆ ปีแล้ว
      เดินต่อไปอีกเราก็เห็นถังสารเคมีใช้แล้วหลายใบ ถูกทิ้งไว้ตามป่าละเมาะข้างทาง โดยไม่มีการฝังกลบแต่อย่างใด ทั้งยังมีตะกั่วดิบกองสูงเป็นเนินเขาขนาดย่อมหลายกอง สภาพที่เห็นสอดคล้องกันดีกับผลสำรวจที่ว่า บริเวณโรงแต่งแร่ที่เราเดินย่ำเท้าไปมาอยู่นั้น มีปริมาณตะกั่วสะสมในดินสูงกว่ามาตรฐานนับพันเท่า ..ปริมาณตะกั่วดังกล่าว คงไม่น่ากลัวนักสำหรับผู้มาเยือนอย่างเรา ที่สัมผัสตะกั่วเพียงไม่กี่ครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความเสี่ยงของชาวบ้านคลิตี้ ซึ่งต้องใช้ชีวิตสัมผัสกับตะกั่วเหล่านี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ! 
(คลิกดูภาพใหญ่)       จากคลิตี้บน เราขับรถมุ่งหน้าต่อไปยังเหมืองบ่องามของบริษัทตะกั่วคอนเซนเทรตส์ ซึ่งอยู่ในหุบเขาไม่ไกลจากโรงแต่งแร่ ปากทางเข้ามีด่านกั้นเขียนว่า "เขตเหมือง คนภายนอกห้ามเข้าเด็ดขาด" เราเสียเวลากับคนเฝ้าด่านเล็กน้อย ก่อนที่เขาจะยินยอมให้เราขับรถผ่านป่าสงวนเข้าไปอีก ๕ กิโลเมตร จนถึงบริเวณเหมืองที่ได้รับประทานบัตร ๓๐๐ ไร่ การตั้งด่านห่างจากตัวเหมืองออกไปหลายกิโลเมตร ได้ทำให้พื้นที่เหมืองแผ่ขยายออกนอกเขตประทานบัตรไปอีกหลายพันไร่โดยปริยาย แต่ดูเหมือนจะไม่มีเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้คนใด สนใจกับการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติของเจ้าของเหมืองแห่งนี้นัก 
      เหมืองบ่องามเป็นเหมืองตะกั่วขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นเหมืองอุโมงค์ที่ขุดลึกลงไป ๑๐๐-๒๐๐ เมตรเพื่อหาสินแร่ เมื่อขุดตะกั่วขึ้นมาได้ จะใช้น้ำมาแยกแร่ตะกั่วออกจากดิน ขั้นตอนนี้จะได้ตะกั่วที่มีความบริสุทธิ์ประมาณ ๓๐ % ตะกั่วเหล่านี้จะถูกนำมากองรวมกันเป็นเนินเขาย่อม ๆ รอขนย้ายไปยังโรงแต่งแร่คลิตี้เพื่อแยกเอาหัวแร่ตะกั่ว โดยใส่สารเคมีที่มีคุณสมบัติทำให้ แร่ตะกั่วที่หนักสามารถลอยน้ำได้ จากขั้นตอนนี้จะได้หัวแร่ตะกั่วที่มีความบริสุทธิ์ประมาณ ๖๐ % จากนั้นจะขนย้ายมายังโรงงานถลุงแร่ ที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองกาญจนบุรี ซึ่งที่นี่จะใช้ความร้อนอัดหัวแร่ตะกั่วเหล่านั้นอีกครั้ง จนได้ตะกั่วที่มีความบริสุทธิ์๙๙.๙๙ % 
      ในความเป็นจริง เหมืองบ่องามที่เราเข้าไปเยือนในวันนั้น หมดอายุประทานบัตรไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๙ แต่เท่าที่เห็น สภาพเหมืองไม่ได้ร้างไร้ผู้คนอย่างที่ควรจะเป็น จากปากทางเข้า ยังมีคนงานหลายคนกำลังซ่อมถนนให้อยู่ในสภาพใช้การได้ โรงงานและบ้านพักก็ยังมีคนอาศัยอยู่ ทั้งยังมีกองสินแร่ตะกั่วสูงขนาดเนินเขาหลายลูก ที่กองรอขนย้ายไปถลุงเป็นหัวแร่ตะกั่ว...
      มนุษย์ใช้ประโยชน์จากตะกั่วในอุตสาหกรรมหลายอย่าง อาทิ การทำแบตเตอรี่ สี ท่อประปา กระสุนปืน ชิ้นส่วนประกอบของรถยนต์ และก่อนหน้านี้ก็นิยมเติมสารตะกั่วลงในน้ำมันเบนซินเพื่อให้การเผาไหม้ดีขึ้น 
      แต่สำหรับร่างกายมนุษย์เอง ตะกั่วไม่เพียงไม่มีประโยชน์ หากยังจัดเป็นสารที่ก่อพิษร้ายให้แก่ร่างกายด้วย พิษของตะกั่วซึ่งเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป ทำให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมัน จำเป็นต้องผลิตน้ำมันไร้สารตะกั่วออกมา เพื่อตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของคนในเมือง ที่ไม่ยอมเสี่ยงต่อการสูดดมควันพิษที่ปนเปื้อนสารตะกั่วอีกต่อไป
      ...เป็นเสียงเรียกร้องที่ต่างสุดขั้วกับเสียงของชาวบ้านคลิตี้ ซึ่งกว่าที่มันจะดังพอให้สาธารณชนได้หันมาใส่ใจ ชาวคลิตี้จำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ห่างไกลจากควันพิษ ก็ต้องกลายเป็นเหยื่อของมฤตยูร้าย ที่ซ่อนตัวอยู่ในลำน้ำซึ่งพวกเขาใช้ดื่มกินมาหลายชั่วอายุคน
 

บ้านเล็กในป่าใหญ่ ลำธารน้ำใส และความตายลึกลับ

(คลิกดูภาพใหญ่)
      จากคลิตี้บน เราเดินทางต่อลงมาอีกราว ๑๒ กิโลเมตร ก็มาถึงตัวหมู่บ้านคลิตี้ล่างได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ซึ่งตรงข้ามหากเป็นหน้าฝน หมู่บ้านแห่งนี้จะแทบถูกตัดขาดจากโลกภายนอก จากสภาพถนนดินที่ถูกฝนชะจนกลายเป็นถนนโคลนตลอดสาย ยากที่รถยนต์จะฝ่าข้ามไปได้ 
      บริเวณหมู่บ้าน นอกจากไม้ผลที่ชาวกะเหรี่ยงปลูกไว้กินแล้ว ยังมีดงหมากสูงใหญ่อายุไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปีขึ้นอยู่รอบ ๆ หมากไม่ใช่ต้นไม้พื้นถิ่นในป่าแถวนี้ ขนาดและอายุของมัน พอจะเป็นหลักฐานได้ว่า กะเหรี่ยงตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว
      ตามประวัติของหมู่บ้านบันทึกไว้ว่า ชาวกะเหรี่ยงโปว์สี่ครอบครัวได้อพยพมาอยู่ที่บ้านคลิตี้ล่างเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๔๐ เวลาผ่านไปร้อยปีเศษ ประชากรกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างได้เพิ่มขยายขึ้นเป็น ๔๘ หลังคาเรือน ๒๓๒ คน แต่ก็ยังดำรงชีพแบบพอเพียง ไม่ต่างจากสมัยปู่ย่าตายาย ด้วยการทำไร่ข้าวชนิดพออยู่พอกิน พอถึงฤดูไร่ข้าว ทุกครัวเรือนจะหยอดเมล็ดข้าวพร้อมเมล็ดผัก อันได้แก่ พริก แตงเปรี้ยว ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักคะน้า ข้าวโพด ฯลฯ เอาไว้หมุนเวียนกินตลอดปี ผักที่กินไม่หมดจะดองใส่ไหไว้กินในหน้าแล้ง พริกนับเป็นรายได้สำคัญ เพราะคนนิยม มีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงหมู่บ้าน ส่วนอาหารโปรตีนหลักของชาวบ้าน ก็คือปลาในลำห้วย
      ชาวกะเหรี่ยงที่นี่เป็นพรานจับปลามือฉกาจ ชาวบ้านกินปลาในห้วยทุกวัน เช่นเดียวกับที่ดื่มและใช้น้ำจากลำห้วย โดยหารู้ไม่ว่ามีสิ่งแปลกปลอมซ่อนเร้นอยู่ในลำน้ำแห่งนี้มานานหลายสิบปีแล้ว
      บ่ายแก่ ๆ ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ อันเป็นช่วงเริ่มต้นงานบุญปีใหม่ ความร้อนแรงของแสงแดดเริ่มคลายลง ชาวคลิตี้ล่างเกือบทั้งหมู่บ้านพากันมาชุมนุมที่วัด เพื่อร่วมพิธีสรงน้ำพระ จากนั้นก็ทยอยกันมารดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ด้วยน้ำผสมขมิ้น เสร็จจากพิธีหนุ่มสาวชาวกะเหรี่ยงก็ลงมาเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน บ้างก็ตั้งวงเล่นสะบ้า ผู้คนมีรอยยิ้มกันถ้วนหน้า 
      โดยปรกติ ชาวกะเหรี่ยงเมื่อแต่งงานแล้วต้องแยกออกไปสร้างบ้านอยู่ใหม่ จะกลับมาพร้อมหน้ากันก็เมื่อมีงานบุญ ตกเย็น ลูกหลานที่แยกครอบครัวออกไปอยู่ที่อื่น จะกลับมากินข้าวที่บ้านพ่อแม่พร้อมหน้าพร้อมตากัน หลังอาหารเย็นลูกหลานจะทำพิธีล้างเท้า โดยผู้เป็นลูกจะใช้น้ำผสมขมิ้นมารดน้ำ และลูบเท้าพ่อแม่ แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ตกค่ำ ชาวบ้านนับร้อยคนกลับมารวมตัวกันที่ศาลาวัดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อร่วมทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้แก่ชาวคลิตี้ล่างกว่า ๓๐ คนที่ล้มตายด้วยโรคลึกลับ เมื่อสิบกว่าปีก่อน หลังจากที่โรงแต่งแร่คลิตี้ เริ่มปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการผลิตลงสู่ลำห้วย พิธีเริ่มต้นเมื่อเจ้าอาวาสวัดนำขวดแก้วหลายใบ ที่บรรจุกระดูกของผู้ตายมาตั้งกลางศาลา และจุดธูปเทียนทำพิธีสวดมนต์อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย 
      หลังจากเสร็จพิธี กลุ่มพ่อบ้านเจ็ดแปดคนก็มาตั้งวงคุยกันกลางแสงจันทร์ริมลำห้วยคลิตี้ ซึ่งหลายปีก่อนนั่งไม่ได้เพราะน้ำในลำห้วยส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง คืนนั้นเดือนเต็มดวง แสงจันทร์กระจ่างฟ้าจนมองเห็นสีหน้า และแววตาของผู้คนในวงสนทนาได้ถนัด ยิ่งดึกอากาศยิ่งหนาว แต่บทสนทนาในคืนนั้นกลับทำให้เราหนาวจับใจมากกว่า...
      ผู้ใหญ่ยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เริ่มต้นเล่าประสบการณ์เมื่อกว่าสิบปีก่อนให้เราฟังว่า
      "ตอนนั้นพวกเรายังชอบเที่ยวป่า ล่าสัตว์ มีครั้งหนึ่งเราไปล่าอีเก้งแถวเหมือง และไปเจอปลาตายลอยน้ำเต็มไปหมด ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร คิดว่าปลาคงตายเพราะเมาน้ำเสียที่ปล่อยมาจากโรงแต่งแร่ ช่วงนั้นน้ำเหม็นมากจนชาวบ้านไม่กล้ากิน หลังจากนั้นไม่นาน ควายที่ชาวบ้านเลี้ยงก็ล้มตายบ่อยโดยไม่รู้สาเหตุ เรารู้แต่ว่าควายชอบไปนอนแช่น้ำในลำห้วย ที่ผ่านมามีควายตายไปแล้ว ๕๐ กว่าตัว และอาการที่ตายก็เหมือนกันหมด คือท้องอืดแข็งแล้วดิ้นตาย ครั้งหนึ่งมีเจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เอาเป็ดมาปล่อยลงลำห้วยหลายสิบตัว ปรากฏว่าอยู่ได้อาทิตย์เดียว เป็ดก็ทยอยตายไปจนหมด แต่ก็ยังไม่มีใครรู้อยู่ดีว่าตายเพราะอะไร จนมาระยะหลัง ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ เป็นต้นมา ชาวบ้านก็เริ่มล้มเจ็บด้วยอาการคล้าย ๆ กัน คือจะปวดหัว ปวดตามข้อ ท้องร่วง ในที่สุดก็ตายไปหลายคนโดยไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร" 
      ถึงตอนนี้ผู้ใหญ่ยะเสอะเงียบไปพักหนึ่งก่อนจะเล่าต่อไปว่า
        "ผมเสียลูกสาวไปเมื่อหกเจ็ดปีก่อน ตอนนั้นแกอายุได้ ๑๒ ขวบ ตัวบวมไปทั้งตัว ผมพาไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอก็บอกว่าที่ตัวบวมเพราะป่วยเป็นโรคไต หมดเงินค่ารักษาไป ๗,๐๐๐ กว่าบาท แต่หมอที่โรงพยาบาลก็ช่วยอะไรไม่ได้ ผมพาลูกไปหาหมอแผนโบราณ ให้กินสมุนไพร ก็รักษาไม่หาย สุดท้ายก็กลับมาตายที่โรงพยาบาล หลังจากป่วยมาได้สามปี ก่อนตายตัวบวมมาก"
      พอผู้ใหญ่ยะเสอะพูดถึงการสูญเสียลูกสาว พ่อบ้านหลายคนก็ทยอยเล่าถึงชะตากรรมของครอบครัวตนเองออกมา
      กำธร ศรีสุวรรณมาลา อดีตทหารเกณฑ์ หยิบใบกระโดนแห้งออกมามวนยาเส้นที่ปลูกเอง จุดไฟสูบใบยาเข้าเต็มปอด ก่อนจะบอกว่า ตัวเขาเองก็สูญเสียลูกไปถึงสองคน 
      "ผมเสียลูกคนแรกไปเมื่อแปดปีก่อน ตอนคลอดออกมาแรก ๆ ก็แข็งแรงดี แต่อยู่ได้ไม่นานตัวก็เขียว ผมไปหาหมอที่อนามัย หมอบอกว่าเด็กขาดออกซิเจน อยู่ได้อีกแค่แปดวันก็ตาย สามปีก่อนเมียผมคลอดลูกคนที่ ๒ แต่พอคลอดออกมาได้ครึ่งตัวก็ตาย เพราะหัวติด ต้องไปผ่าออกที่โรงพยาบาล หมอบอกว่าเด็กพิการหัวโต"
      สมพงษ์ ทองผาไฉไล อายุ ๓๖ ปี เป็นอีกรายหนึ่งที่ต้องเสียลูกชายไป เมื่อ ๑๐ ปีก่อนลูกของเขาซึ่งอายุได้สามเดือน มีอาการตัวบวม สมพงษ์พาไปรักษาที่โรงพยาบาล หมอบอกว่าตับบวม อยู่ได้ไม่นานก็ตาย อาการของลูกชายสมพงษ์ไม่ต่างจากลูกของ กิตติ นาสวนกิตติ ที่คลอดออกมาตัวบวม และหมอบอกว่าเกิดจากตับบวม อยู่ได้ไม่นานก็ตาย กิตติเสียลูกไปเมื่อปี ๒๕๓๒ 
      ในช่วงเวลานั้นไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตผู้คนที่นี่ รู้แต่เพียงว่า การตายและอาการเจ็บป่วยส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงปี ๒๕๓๖-๒๕๓๙ อันเป็นช่วงเดียวกับที่ทางโรงแต่งแร่เดินเครื่องทำงานกันอย่างหนัก ปล่อยน้ำเสียลงสู่ห้วยคลิตี้ตลอดปี จนน้ำในลำห้วยมีสีเหลืองส่งกลิ่นเหม็นเน่าอย่างรุนแรง
(คลิกดูภาพใหญ่)       ในที่สุด ปี ๒๕๔๑ หลังจากโรคลึกลับทำให้ผู้คนในหมู่บ้านล้มตายเป็นใบไม้ร่วง และชาวบ้านได้รวมตัวกันร้องเรียนต่อทางการ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ ชาวบ้านจึงได้รับรู้ความจริงที่ว่า ลำห้วยที่ใช้ดื่มกินและหล่อเลี้ยงชีวิตมาหลายชั่วอายุคนนั้น เป็นแหล่งสะสมของสารตะกั่ว--มฤตยูร้ายที่คร่าชีวิตชาวบ้าน และสัตว์เลี้ยงไปตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
      ผู้ใหญ่ยะเสอะเล่าว่า "พอเราร้องเรียน ทางสาธารณสุขมาตรวจ ก็พบว่ามีสารตะกั่วในน้ำสูงมาก พอเขาเจาะเลือดพวกเราไปตรวจ ก็พบว่ามีสารตะกั่วในเลือดสูงมากด้วย จึงสั่งห้ามพวกเราไม่ให้กินน้ำในลำธาร"
      จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษซึ่งเข้ามาตรวจวัดปริมาณสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ล่าง พบว่า มีปริมาณสารตะกั่วปนเปื้อนในน้ำสูงถึง ๐.๕๗๔ มิลลิกรัม/ลิตร ในขณะที่ระดับการปนเปื้อนของสารตะกั่วในน้ำดื่มที่มนุษย์บริโภคเข้าไปไม่ควรเกิน ๐.๐๑ มิลลิกรัม/ลิตร
      นั่นหมายความว่าชาวคลิตี้ล่างที่ดื่มน้ำจากลำห้วยนี้มาโดยตลอด ได้รับสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้สูงถึง ๔๐-๗๕ เท่า
      ในขณะเดียวกัน สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ซึ่งเข้ามาตรวจวัดปริมาณสารตะกั่วในเลือดของชาวบ้านคลิตี้ล่าง ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ก็พบว่าปริมาณสารตะกั่วในเลือดของชาวคลิตี้ล่างอยู่ในเกณฑ์สูงมาก คือ
      เด็กอายุ ๐-๖ ปี มีปริมาณสารตะกั่วในเลือดเฉลี่ย ๒๓.๕๖ ไมโครกรัม/เดซิลิตร 
      เด็กอายุ ๗-๑๕ ปี มีปริมาณสารตะกั่วในเลือดเฉลี่ย ๒๘.๓๐ ไมโครกรัม/เดซิลิตร 
      ผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ ๑๖ ปีขึ้นไป มีปริมาณสารตะกั่วในเลือดเฉลี่ย ๒๖.๓๑ ไมโครกรัม/เดซิลิตร 
        ขณะที่ปริมาณสารตะกั่วในเลือดของคนไทยทั่วไปซึ่งกรมอนามัยสำรวจไว้เมื่อปี ๒๕๓๘-๒๕๓๙ มีค่าเพียง ๔.๙๒ ไมโครกรัม/เดซิลิตร
      โดยทั่วไป มนุษย์มีโอกาสรับสารตะกั่วได้ผ่านทางอาหาร น้ำดื่ม หรือการหายใจ จากนั้นตะกั่วจะกระจายไปทั่วร่างกายผ่านทางเลือด และบางส่วนก็จะถูกกำจัดออกมาทางปัสสาวะ และถ้าร่างกายกำจัดไม่หมด ตะกั่วจะถูกนำไปสะสมไว้ในกระดูก เมื่อเอกซเรย์ก็จะเห็นเป็นแถบสีขาว ตะกั่วบางส่วนอาจไปเคลือบเซลล์ประสาทและสมอง ก่อให้เกิดอาการของโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง ทำให้สมองไม่สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อได้ตามปรกติ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหมดแรง มีอาการข้อมือ ข้อเท้าตก หรือปวดหัวเรื้อรัง อารมณ์แปรปรวน ความจำเสื่อม คิดช้า งุนงง เซื่องซึม ซึ่งถ้าเป็นมากก็อาจถึงแก่ชีวิต ส่วนตะกั่วที่อยู่ในเลือดจะไปยับยั้งการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้ผู้มีตะกั่วในร่างกายมีเลือดน้อย อ่อนเพลียง่าย นอกจากนี้ตะกั่วยังทำลายระบบสืบพันธุ์ ทำให้อสุจิของเพศชายและไข่ของเพศหญิงผิดปรกติ รวมทั้งยังทำลายระบบทางเดินอาหาร ทำลายตับและไต ส่งผลให้มีอาการบวมผิดปรกติด้วย
      กำธร มือจับปลาอันดับต้น ๆ ในหมู่บ้านบอกกับเราว่า ตัวเขาก็ป่วยเป็นโรคพิษตะกั่วเรื้อรังด้วยเช่นกัน
      "ผมมีอาการปวดหลัง ปวดตามข้อ บางทีเสียวขึ้นไปตามท้ายทอย บางทีปวดหัวแทบแตก แต่ไม่มีไข้ บางครั้งเดินได้ ๑๐๐ เมตรจะก้าวขาไม่ออก พับขาไม่ได้ ต้องนั่งพัก ผมไปหาหมอเอกซเรย์ดูก็พบว่ามีเส้นตะกั่วสีขาวเต็มไปหมด หมอให้ยาลดสารตะกั่วในร่างกายมากิน อาการก็ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่หายขาด"
      ส่วน วิจิตร อรุณศรีสุวรรณ ผู้มีปริมาณสารตะกั่วในเลือดสูง ๔๖ ไมโครกรัม/เดซิลิตร กล่าวว่า ลูกคนเล็กวัย ๓ เดือนของเขาเพิ่งตายไปเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายนปีที่แล้วเป็นรายล่าสุด
(คลิกดูภาพใหญ่)       "ลูกผมอายุได้ ๓ เดือน วันหนึ่งอาเจียน หายใจไม่ออก ผมพาไปหาหมอที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา หมอให้ยากินตอนสี่ทุ่ม กินสองครั้ง แต่กินยาแล้วก็ไม่ดีขึ้น ตกดึกปากเริ่มดำ เริ่มมีอาการหายใจไม่ออก มาเสียชีวิตตอนเที่ยงคืน หมอบอกผมว่าลูกผมตายเพราะกินนมมากจนสำลักตาย พอเด็กตายทางโรงพยาบาลก็มาถามทันทีว่า จะส่งเด็กกลับบ้าน หรือให้ทางโรงพยาบาลจัดการ ตอนนั้นผมยังโศกเศร้าเสียใจ และมีเงินในกระเป๋าแค่ ๑,๕๐๐ บาท ไม่พอค่าจ้างเหมารถเอาศพกลับบ้าน ผมไม่รู้จะทำยังไงก็เลยปล่อยให้ทางโรงพยาบาลจัดการ"
      ภายหลังการเสียชีวิต เด็กคนนี้ได้รับการเอกซเรย์ พบแถบเส้นสีขาวปรากฏในกระดูก อันแสดงถึงตะกั่วปริมาณสูงที่สะสมอยู่ในร่างกาย
      แม้ในต่างประเทศจะมีการศึกษาพบว่า ตะกั่วสามารถถ่ายทอดจากมารดามาสู่เด็กได้ทางรกและน้ำนม และเด็กในหมู่บ้านคลิตี้ล่างที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมด จะมีระดับตะกั่วในเลือดสูงกว่าปรกติมาก แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดศึกษาว่า สาเหตุการตายของเด็กสัมพันธ์กับการสะสมสารตะกั่วในร่างกายหรือไม่ เช่นเดียวกับการตาย และอาการป่วยลึกลับของชาวคลิตี้ล่างอีกจำนวนมาก
      อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีการวินิจฉัยอย่างชัดเจนว่า ภาวะความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์กับตะกั่วหรือไม่ แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่า อาการป่วยของผู้คนที่นี่มีลักษณะบางอย่างของโรคพิษตะกั่ว ไม่ว่าจะเป็นอาการบวมตามร่างกาย อาการปวดข้อ ปวดท้อง รวมถึงการที่เด็ก ๆ ที่นี่มีพัฒนาการทางสมองช้า บางคนมีอาการปัญญาอ่อน และที่สำคัญคือเกือบทุกครั้งที่มีการตรวจเลือด ชาวบ้านส่วนใหญ่มีปริมาณสารตะกั่วในเลือดสูงกว่าค่ามาตรฐานทั้งสิ้น
      และผลของมันไม่ได้จบลงเพียงเมื่อโรงแต่งแร่ถูกสั่งปิดจากทางการ หากสารตะกั่วที่ถูกปล่อยลงสู่ลำห้วย ยังคงสะสมตกตะกอนอยู่ใต้ท้องน้ำ ปนเปื้อนอยู่ในผืนดิน แทรกซึมอยู่ในปลาและสัตว์น้ำ ในร่างกาย และถ่ายทอดจากมารดาสู่ทารกในครรภ์...
 

เด็กหัวโต ผู้ใหญ่ตาบอด

(คลิกดูภาพใหญ่)
      เช้าวันต่อมา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ วันปีใหม่ของกะเหรี่ยงโปว์ ชาวบ้านพากันอุ้มลูกจูงหลานมาร่วมทำบุญตักบาตรที่วัดตั้งแต่เช้า บริเวณลานวัด หนุ่มสาวช่วยกันก่อเจดีย์ทรายล้อมรั้วด้วยไม้ไผ่อย่างเรียบง่าย ท่ามกลางต้นลั่นทมที่มีดอกสีขาวบานสะพรั่ง
      หนุ่มสาวกะเหรี่ยงแต่งงานกันตั้งแต่อายุยังน้อย เราจึงได้เห็นสาวรุ่นวัย ๑๗-๑๘ ปีอุ้มท้องมาในชุดผ้าซิ่น กับเสื้อลายพื้นสีแดง อันเป็นชุดของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เดินเข้ามาพร้อมสาวแม่ลูกอ่อนที่อุ้มลูกอายุไม่กี่เดือน เข้าร่วมงานบุญสำคัญประจำปีบนศาลาวัด
      เพื่อนที่ไปด้วยกันชี้ให้ดูเด็กทารกคนหนึ่ง ซึ่งมีรูปร่างผอมบางและหัวโตผิดปรกติ เราเข้าไปสอบถามทราบว่าชื่อเด็กหญิงตุ๊กตา นาสวนกิตติ อายุ ๒ ขวบกว่า แรกคลอดออกมาน้ำหนักเพียง ๑,๐๐๐ กว่ากรัม เด็กหญิงมีสุขภาพไม่แข็งแรงมาตลอด หมอที่โรงพยาบาลตรวจพบว่า มีพัฒนาการทางสมองช้า ทั้งยังเอกซเรย์ร่างกายพบว่า ตรงเส้นประสาทส่วนปลายมีรอยเส้นตะกั่วสีขาวหนา ที่แสดงว่าเด็กมีปริมาณสารตะกั่วสะสมในร่างกายสูงมาก
      ในงาน เรามีโอกาสได้รู้จักเด็กหญิงอีกคนหนึ่ง คือเด็กหญิงบุญศรี อรุณศรีสุวรรณ นักเรียนชั้น ป. ๖ วัย ๑๒ ขวบ บุญศรีกำลังจะขึ้นเรียนชั้น ม. ๑ ที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พนมทวน วันนี้เธอเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิด ในระหว่างช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน บุญศรีเป็นเด็กสาวบุคลิกร่าเริงแจ่มใส น่าเสียดายที่ตาข้างขวาของเธอเริ่มมองไม่ชัด คุณหมออรพรรณ์ เมธาดิลกกุล แห่งคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเคยตรวจรักษาบุญศรี สันนิษฐานว่าอาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากพิษของสารตะกั่วที่สะสมในร่างกาย และโอกาสที่จะหายกลับเป็นปรกตินั้นเป็นไปได้ยากมาก 
      ระหว่างที่เราพูดคุยกัน จู่ ๆ ก็มีเด็กชายคนหนึ่งวิ่งทะเล่อทะล่าเข้ามากลางลานวัด แต่ดูเหมือนทุกคนจะคุ้นเคยกับท่าทางแปลก ๆ ของเด็กคนนี้ดี บุญศรีบอกเราว่า เด็กคนนี้ชื่อ โจ่ทิไผ่ เราแปลกใจเมื่อบุญศรีบอกว่าโจ่ทิไผ่อายุได้ ๑๗ ปีแล้ว เพราะท่าทางของเขาเหมือนเด็กเล็กอายุไม่เกิน ๑๐ ขวบ บุญศรีเล่าว่าตามปรกติแม่ของโจ่ทิไผ่ต้องล่ามโซ่เขาไว้ในบ้าน เพื่อป้องกันเหตุร้าย เพราะโจ่ทิไผ่เคยกระโดดออกนอกชานบ้านที่ยกพื้นสูงจนขาหักมาแล้ว และด้วยเหตุที่เขามีระดับสติปัญญาต่ำกว่าอายุมาก จึงไม่สามารถเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนได้
      เช่นเดียวกับ โจ่หล่อพ่อ เด็กชายวัย ๖ ขวบ รูปร่างอ้วน น่ารัก แต่แพทย์ระบุว่ามีอาการผิดปรกติในการใช้กล้ามเนื้อ และการเจริญเติบโตทางสมอง พูดแบบชาวบ้านก็คือเป็นเด็กปัญญาอ่อนนั่นเอง
        และเช่นเคยที่ไม่มีหมอคนใดวินิจฉัยว่า ระดับการพัฒนาทางสติปัญญาของเด็กทั้งสอง สัมพันธ์กับปริมาณสารตะกั่วในร่างกายหรือไม่ 
      ตกสาย ชาวกะเหรี่ยงก็มารวมตัวกันที่ต้นโพใหญ่ เพื่อทำพิธีค้ำต้นโพ โดยชาวบ้านจะนำกิ่งไม้มาพิงหรือค้ำต้นโพ ผู้อาวุโสจะบนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ช่วยคุ้มครองชาวบ้านให้รอดพ้นจากภยันตราย จากนั้นทุกคนก็เทน้ำจากกระบอกไม้ไผ่มาลูบต้นโพ แล้วทำการปล่อยนกปล่อยเต่าเพื่อเป็นสิริมงคล ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปที่สะพานข้ามลำห้วยใหญ่ เพื่อช่วยกันล้างสะพานและทำพิธีขอบคุณสะพานที่ได้รับใช้พวกเขาทุกวัน
      หลังงานบุญ บุญศรีและผู้ใหญ่ยะเสอะอาสาพาเราไปสำรวจลำห้วยคลิตี้ ที่ไหลคดเคี้ยวผ่านเกือบทุกหลังคาเรือน คลิตี้เป็นลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดปี แม้ในหน้าแล้ง น้ำในลำห้วยนี้ยังไหลค่อนข้างแรง แตกต่างจากลำห้วยส่วนใหญ่ที่แห้งขอด ยืนยันได้ว่าป่าบริเวณนี้มีความสมบูรณ์มาก ต้นน้ำของลำห้วยคลิตี้มาจากตาน้ำในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ไหลผ่านหมู่บ้านสองแห่ง คือ หมู่บ้านคลิตี้บนและหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ก่อนจะลงสู่น้ำตกคลิตี้ น้ำตกที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง ไปบรรจบกับลำคลองงู แล้วไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ที่กั้นแม่น้ำแม่กลอง สายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยฝั่งตะวันตกหลายสิบล้านคน และในอนาคตก็อาจกลายเป็นแหล่งน้ำประปาอีกแหล่งหนึ่งของคนกรุงเทพฯ ด้วย
      ทุกวันนี้ลำธารน้ำใสที่ชาวบ้านเคยใช้ดื่มใช้กิน และจับปลาเป็นอาหารมาช้านาน มีป้ายเตือนไม่ให้ชาวบ้านนำน้ำมาอุปโภค บริโภค และห้ามไม่ให้ชาวบ้านจับปลาในลำน้ำกิน ชาวบ้านส่วนใหญ่เองก็เชื่อฟังคำเตือนนี้ เพราะเห็นตัวอย่างจากหลายคนในหมู่บ้าน
      "ทุกวันนี้ชาวบ้านดื่มน้ำจากประปาภูเขา ที่ทางการต่อท่อมาจากลำห้วยเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ห่างจากหมู่บ้านไปประมาณ ๒-๓ กิโล" บุญศรีบอกกับเรา
      ระหว่างปี ๒๕๔๒-๒๕๔๔ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาทำการตรวจเฝ้าระวังแหล่งน้ำ ลำห้วยคลิตี้บริเวณใต้โรงแต่งแร่คลิตี้ หมู่บ้านคลิตี้ล่าง และน้ำตกคลิตี้ ผลการตรวจพบว่า หลายจุดยังมีปริมาณสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐาน
      เช่นเดียวกับการตรวจหาปริมาณสารตะกั่วในปลาและสัตว์น้ำทั่วไป ซึ่งผลการตรวจพบว่า ปริมาณสารตะกั่วปนเปื้อนในสัตว์น้ำ ยังเกินค่ามาตรฐานทุกปี คือมีค่าปนเปื้อนระหว่าง ๑.๒๑๕-๑.๒๗๕ มิลลิกรัม/กิโลกรัม ขณะที่ค่ามาตรฐานกำหนดไว้ไม่เกิน ๑ มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่ถึงอย่างนั้นผู้ใหญ่ยะเสอะก็ยอมรับว่า ไม่สามารถเรียกร้องให้ชาวคลิตี้ล่างทุกคนเลิกจับปลาได้ เพราะชาวบ้านไม่ได้มีทางเลือกมากนัก 
(คลิกดูภาพใหญ่)       "ชาวบ้านอดอยากมานาน บางคนที่ไม่มีเงินซื้อกับข้าว ก็จำเป็นต้องจับปลากิน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีอันตราย"
      ในปี ๒๕๔๔ มีการสำรวจพบว่า ค่าใช้จ่ายในการซื้อกับข้าวของชาวคลิตี้ล่าง ๔๘ ครัวเรือน มีจำนวนสูงถึง ๒ แสนกว่าบาท ทั้ง ๆ แต่ก่อนชาวบ้านแทบจะไม่เคยมีค่าใช้จ่ายด้านนี้เลย ที่ผ่านมาชาวบ้านจับปลาและปลูกผักโดยใช้น้ำจากลำห้วยรดผัก แต่ปัจจุบันทั้งปลาในลำห้วยและผักที่เคยปลูกได้ กลายเป็นสิ่งต้องห้าม ชาวบ้านจึงต้องเสียเงินซื้อหาอาหารจากรถขายสินค้า 
      และก็อาจด้วยเหตุนี้ ที่ทำให้ชาวบ้านบางส่วน ต้องลักลอบเข้าป่าล่าสัตว์มาเป็นอาหารมากขึ้น ระยะหลังชาวบ้านยิงสัตว์เกือบทุกชนิด ไม่ว่าหมูป่า เก้ง ฯลฯ แต่ก็ยังละเว้นสัตว์บางชนิด ด้วยความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ
      "โดยปรกติกะเหรี่ยงไม่ล่าสัตว์บางชนิด อย่างช้างที่เราถือว่าเป็นสัตว์ตระกูลสูง คนที่ฆ่าช้างจะมีบาปหนา ตายแล้วเกิดใหม่ไม่ได้ สมเสร็จเราก็ไม่ล่า เพราะกะเหรี่ยงเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีเนื้อของสัตว์หลายชนิดปนกัน รวมทั้งคน ถ้าเรายิงถูกบริเวณเนื้อที่เป็นคน มันก็จะส่งเสียงร้องเป็นเสียงคน เราเชื่อว่าใครฆ่าสมเสร็จ ชีวิตจะล่มจม ชะนีเราก็ไม่ล่า ชะนีเป็นจ้าวป่ายิ่งใหญ่ ใครล่าจะมีอันเป็นไป ส่วนนกเงือกชาวกะเหรี่ยงก็เชื่อว่าเป็นสัตว์ที่พระพุทธเจ้าเคยนั่ง หัวจึงเป็นสีเหลือง กะเหรี่ยงเชื่อว่าฆ่านกเงือก ๑ ตัว เท่ากับฆ่าเณร ๑ องค์" ผู้ใหญ่ยะเสอะอธิบายให้เราฟัง
      เราเดินสำรวจต่อไปตามลำห้วย ผ่านไร่พริกของชาวบ้าน ก่อนจะไปโผล่ทางท้ายหมู่บ้าน บุญศรีพาเราไปหยุดอยู่ที่หน้าบ้านเล็ก ๆ ที่สร้างด้วยไม้ไผ่หลังหนึ่ง ตรงลานบ้านมีผู้หญิงสี่ห้าคนกำลังช่วยกันตำข้าวเหนียวที่นึ่งจนสุกในครกไม้ใบใหญ่ เมล็ดข้าวเหนียวที่จับตัวเป็นก้อน โรยด้วยงาคั่ว ส่งกลิ่นหอมตลบอบอวลขึ้นมา คือขนมที่แม่บ้านจะช่วยกันทำในงานเทศกาลสำคัญ เรียกว่า ขนมทองโยะ
      บุญศรีแนะนำให้เรารู้จักกับ มะนุเมีย นาสวนเจริด วัย ๓๐ ปี เธอเป็นอีกคนหนึ่งที่มีรูปร่างบวมผิดปรกติ มะนุเมียเล่าว่าเธอเข้าออกโรงพยาบาลมาแล้วหลายครั้ง ก่อนที่คุณหมอจะบอกว่าอาการบวมของเธอมีสาเหตุมาจากโรคไต ซึ่งรักษาไม่หาย
      "เมื่อก่อนดิฉันน้ำหนักแค่ ๕๐ กิโล เดี๋ยวนี้น้ำหนัก ๘๐ กว่าแล้ว ยิ่งบวมมากยิ่งปวดหลังมาก ดิฉันพยายามถามหมอว่าโรคไตเกิดจากสาเหตุอะไร แต่ก็ไม่มีใครยอมบอก" มะนุเมียแบ่งขนมทองโยะให้เราลองชิม
(คลิกดูภาพใหญ่)       สองปีก่อนมะนุเมียคลอดลูกคนที่ ๒ เด็กออกมาได้ แต่รกไม่ยอมหลุดออกมาด้วย เส้นทางที่จะไปโรงพยาบาลนั้นก็ทุลักทุเลเกินไป มะนุเมียจึงได้แต่นอนรอความช่วยเหลืออยู่ในบ้าน ด้วยความเจ็บปวดนานถึงสามวัน โชคดีที่หน่วยแพทย์อาสาในสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ บินมาตรวจชาวบ้านในหมู่บ้านพอดี จึงรีบนำมะนุเมียขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปผ่าตัดเอารกออก ที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนาในตัวเมืองกาญจน์ มะนุเมียต้องอยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการบวมอีกหนึ่งเดือน เมื่ออาการทุเลาลงจึงได้กลับบ้าน พร้อมด้วยความจริงที่ว่า โรคร้ายที่เธอประสบอยู่นี้ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ และเช่นเคยที่หมอระบุเพียงว่า เธอป่วยเป็นโรคไตวาย แต่ไม่ยอมตอบคำถาม หรือสืบหาสาเหตุต่อไปว่า ภาวะไตวายนั้น มีส่วนสัมพันธ์กับปริมาณสารตะกั่วในร่างกายของเธอ ที่สูงกว่าปรกติหรือไม่
      "ดิฉันยังโชคดีกว่าพี่สาวที่ตาบอด" มะนุเมียบอก ก่อนจะพาเราไปรู้จักกับมะอ่องเส่ง พี่สาวแท้ ๆ วัย ๓๙ ปี มะอ่องเส่งเดินกลับจากงานบุญที่วัด โดยมีลูกชายสองคนจูงมา เธอเล่าให้เราฟังว่า เมื่อก่อนสายตาเธอดีมาตลอด จนเมื่อสามปีก่อน ตาเธอเริ่มมองไม่เห็นโดยไม่ทราบสาเหตุ ค่อย ๆ เลือน มองไม่ชัดมาเรื่อย ๆ จนเดี๋ยวนี้ตาเธอบอดเกือบสนิท ตาขวามองไม่เห็นแสง ตาซ้ายมองเห็นเล็กน้อย ไปหาหมอมาหลายแห่งแล้ว แต่หมอทุกคนก็ลงความเห็นว่าคงช่วยอะไรไม่ได้ ในที่สุดเธอก็ได้ไปพบคุณหมออรพรรณ์ เมธาดิลกกุล คุณหมอให้ยาลดสารตะกั่วมากิน อาการปวดหัว ปวดตา และอาการคลื่นไส้ ก็ลดลงไปมาก แต่โอกาสที่จะกลับมองเห็นคงเป็นไปไม่ได้แล้ว
      "ทุกวันนี้ดิฉันช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ ตาบอดเกือบสนิท ต้องให้ลูกสองคนช่วยจูงเดินไปไหนมาไหน" มะอ่องเส่งกล่าวด้วยน้ำเสียงราบเรียบราวกับยอมรับชะตากรรมของตัวเอง
      ไม่เพียงชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างที่รับน้ำทิ้งจากโรงงานโดยตรง หากชาวบ้านบริเวณโรงแต่งแร่ที่คลิตี้บนเอง ก็ได้รับผลจากพิษของสารตะกั่วไม่ต่างกัน
(คลิกดูภาพใหญ่)       บริเวณโรงแต่งแร่ มีบ้านพักของคนงานชาวกะเหรี่ยง ที่อาศัยและใช้น้ำในลำห้วยแห่งนี้มาเป็นเวลานาน นางมีทิว เผืองเผือ วัย ๒๙ ปี เป็นหนึ่งในบรรดาคนงานโรงแต่งแร่ซึ่งเพิ่งได้รับการตรวจเลือดเมื่อไม่นานมานี้ และพบปริมาณสารตะกั่วในเลือด ๕๑ ไมโครกรัม/เดซิลิตร ส่วนลูกชายคนโต คือเด็กชายธรรมาวดี วัย ๔ ขวบนั้น มีปริมาณสารตะกั่วในเลือดสูงถึง ๖๙ ไมโครกรัม/เดซิลิตร ขณะที่ประเทศไทยกำหนดไว้ว่าปริมาณสารตะกั่วในเลือดของเด็กไม่ควรเกิน ๒๕ ไมโครกรัม/เดซิลิตร และผู้ใหญ่ไม่เกิน ๔๐ ไมโครกรัม/เดซิลิตร (ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ว่า ปริมาณสารตะกั่วในเลือดของเด็กไม่ควรเกิน ๑๐ ไมโครกรัม/เดซิลิตร) ที่น่าสลดใจก็คือ ลูกชายคนสุดท้องของนางมีทิว คือ เด็กชายอรรถชัย วัย ๒ ขวบ มีส่วนศีรษะบวมโตมาก เด็กคนนี้เคยถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลเด็กในกรุงเทพฯ และตรวจพบว่ามีปริมาณสารตะกั่วในเลือดสูงถึง ๙๙ ไมโครกรัม/เดซิลิตร (สูงกว่ามาตรฐานปริมาณสารตะกั่วในเลือดของเด็กในสหรัฐอเมริกาถึง ๑๐ เท่า) แพทย์หญิงรัตโนทัย พลูบรูการ เจ้าของไข้สันนิษฐานว่า ปริมาณตะกั่วในเลือดที่สูงมาก อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ศีรษะบวม ต้องให้ยาลดสารตะกั่ว ทุกวันนี้เด็กชายอรรถชัยมีพัฒนาการช้ามาก คือยืนได้ แต่ยังเดินไม่ได้ ไม่สามารถเรียกชื่อพ่อแม่ได้ และด้วยความยากจน ครอบครัวของนางมีทิว จึงไม่สามารถส่งลูกชายไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่องได้ ต้องเลี้ยงกันไปตามยถากรรม 
      นางมีทิวไม่ยอมบอกอะไรแก่เรามากนัก เพราะเป็นห่วงสวัสดิภาพของตัวเอง ที่ยังต้องอาศัยบ้านพักในโรงแต่งแร่เป็นที่ซุกหัวนอน นางตอบคำถามเพียงสั้น ๆ ว่า
      "มีคนบอกว่าน้ำในห้วยคลิตี้มีตะกั่ว เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกป่วย ไม่ควรใช้ แต่ทุกวันนี้เวลาหน้าแล้ง น้ำฝนไม่พอ เราก็ต้องใช้น้ำในลำห้วยคลิตี้ เพราะไม่รู้จะเอาน้ำที่ไหนมาใช้" 
        มกราคม ๒๕๔๕ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เข้ามาตรวจวัดปริมาณสารตะกั่วในเลือดของชาวบ้านคลิตี้บน พบว่าในเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ ๑๔ ขวบ มีค่าเฉลี่ย ๓๖.๒๙ ไมโครกรัม/เดซิลิตร และในผู้ใหญ่อายุ ๑๕ ปีขึ้นไป มีค่าเฉลี่ย ๒๔.๙๕ ไมโครกรัม/เดซิลิตร
      มีนาคม ๒๕๔๕ เด็กอายุระหว่าง ๑-๗ ขวบจากหมู่บ้านคลิตี้บน ๘ รายได้ล้มป่วย ต้องนำส่งโรงพยาบาลในเมืองกาญจนบุรี เนื่องจากระดับสารตะกั่วในเลือดที่เพิ่มสูงขึ้น
      ทุกวันนี้แม้เรื่องราวการเจ็บป่วยและการตาย ของชาวบ้านคลิตี้ล่าง และคลิตี้บน จะกลายเป็นข่าวใหญ่ทางหน้าหนังสือพิมพ์มาหลายครั้ง มีการตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาระดับชาติ มีคนระดับรัฐมนตรีลงพื้นที่ เพื่อดูข้อเท็จจริง และมีการแถลงข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขยอมรับว่า ชาวบ้านคลิตี้ล่างจำนวนมาก มีระดับตะกั่วในเลือดสูงกว่าปรกติ มีการให้ยาลดตะกั่วกับชาวบ้านหลายราย แต่กลับไม่มีการติดตาม หรือเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วยที่มีปริมาณสารตะกั่วในเลือดสูงอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญคือ กระทรวงสาธารณสุขได้สรุปว่า การตายและความเจ็บป่วยของชาวบ้านที่ผ่านมา ไม่สามารถระบุได้ว่าเกี่ยวข้องกับพิษตะกั่ว และไม่พบอาการผิดปรกติจากสารตะกั่วแต่อย่างใด นานวันเข้า จึงมีเพียงเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข เข้ามาเจาะเลือดชาวบ้านไปตรวจทุกปี ส่วนการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยของชาวบ้าน ก็เป็นการรักษาตามอาการเป็นครั้งคราว ไม่ได้มีการสอบสวนหาสาเหตุการเจ็บป่วยของชาวบ้านอย่างแท้จริง ว่าเกิดจากอะไร สัมพันธ์กับปริมาณสารตะกั่วที่ได้รับหรือไม่ 
      ศศิน เฉลิมลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งทำวิจัยการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ และมีโอกาสเข้าไปในหมู่บ้านหลายครั้ง เคยตั้งข้อสังเกตว่า
      "แม้ว่าจะมีผลการตรวจเลือด และมีผู้ป่วยหลายคนในหมู่บ้านที่แสดงอาการของการได้รับพิษตะกั่ว แต่ก็ไม่เห็นมีความช่วยเหลืออะไรมากนัก ทั้ง ๆ ที่หมอก็เข้าไปเจาะเลือด เก็บตัวอย่างเลือดจากเด็ก ๆ และชาวบ้านไปตรวจวัดปริมาณสารตะกั่วกันบ่อย จนเด็ก ๆ กลัวหมอและชาวบ้านก็ไม่อยากเอาด้วย เพราะไม่เห็นมีการรักษาอะไรที่เป็นรูปธรรม นอกจากนำยาขับพิษตะกั่วมาให้เฉพาะเด็กเล็ก ๆ กินอยู่ ๗-๘ คน ซึ่งส่วนใหญ่พอพ่อแม่เอายาให้กิน เด็กก็ท้องเสีย แล้วก็ไม่ทำอะไรอีก บอกชาวบ้านแค่ว่าตะกั่วขับออกได้เองทางเหงื่อ"
 

ความเจริญที่พาดผ่านหมู่บ้าน

(คลิกดูภาพใหญ่)
      วันรุ่งขึ้น เราออกจากหมู่บ้านพร้อมกับผู้ใหญ่ยะเสอะ มุ่งหน้าเข้าป่าลึก คราวนี้พาหนะที่ใช้คือรถอีแต๊ก ซึ่งเป็นรถที่ชาวบ้านดัดแปลงเอาเครื่องยนต์ขนาด ๙.๕ แรงม้าที่ใช้ทำไร่ไถนามาติดเข้ากับล้อรถ และมีที่นั่งบรรทุกของอยู่ข้างหลัง อีแต๊กเป็นรถขนาดเบา แต่บุกลุยไปได้ทุกสภาพภูมิประเทศ ทุกฤดูกาล ชาวบ้านเคยขับรถอีแต๊ก ลุยเข้าไปใจกลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวรระยะทางร่วม ๑๐๐ กิโลเมตรได้ จึงไม่แปลกอะไรที่รถอีแต๊กจะเป็นรถคู่ใจของคนแถวนี้
      ช่วงที่ลาดชันขึ้นเขา กำลังแรงม้าของรถไม่พอ ผู้โดยสารรวมทั้งคนขับรถอีแต๊ก ก็จะลงมาช่วยเข็นรถขึ้นยอดเนิน เป็นการเดินทางแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ผู้โดยสารก็ได้ออกกำลัง ขณะที่รถอีแต๊กก็ไม่ถูกใช้งานจนโทรมมากเกินไป
      เรามุ่งหน้าสู่น้ำตกคลิตี้ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ทางป่าแห่งนี้เป็นเส้นทางทรหด ที่บรรดานักขับรถออฟโรดรู้จักกันดี เพราะได้รับการกล่าวขวัญว่า เป็นเส้นทางสุดแสนทรหดเส้นหนึ่งของเมืองไทย โดยเฉพาะในหน้าฝน ที่เส้นทางในป่าจะกลายสภาพเป็นทะเลโคลน สะใจบรรดานักขับโฟร์วีลทั้งหลาย แม้หลายครั้งรถขับเคลื่อนสี่ล้อเครื่องยนต์แรงราคาหลายล้านบาท จะต้องไปตามรถอีแต๊กของชาวบ้านมาช่วยลากก็ตาม 
      นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวน้ำตกคลิตี้ ยอมรับว่าน้ำตกแห่งนี้เป็นน้ำตกที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย มีน้ำไหลแรงตลอดปี และเนื่องจากบริเวณนี้เป็นเขาหินปูน น้ำจึงเป็นสีเขียวใสราวมรกต ลำห้วยคลิตี้ล่างที่ไหลผ่านระดับความสูงต่ำของพื้นที่ กลายเป็นน้ำตกลดหลั่นกันไปถึงสามชั้น ทำให้น้ำตกแห่งนี้งดงามเกินคำบรรยาย
      แต่จะมีนักท่องเที่ยวสักกี่คนที่รู้ว่า น้ำตกที่พวกเขาลงเล่นนั้น  เป็นลำห้วยสายเดียวกับลำห้วยที่ปนเปื้อนสารตะกั่ว จากน้ำเสียของโรงแต่งแร่คลิตี้ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
      เราลงรถอีแต๊กที่น้ำตกคลิตี้ และมุ่งหน้าเดินเท้าเข้าป่าเลียบไปตามลำห้วยคลิตี้ล่างอีกประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร เพื่อไปดูพื้นที่ที่เตรียมจะสร้างเขื่อนพลังน้ำห้วยคลิตี้
(คลิกดูภาพใหญ่)       ทุกวันนี้ปัญหาตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่ชาวคลิตี้ล่างกำลังเผชิญกับสิ่งที่พวกเขาไม่คาดคิดมาก่อน
      แม้จะอยู่ในป่าลึกเพียงใด แต่ลำห้วยคลิตี้ที่น้ำไหลแรงตลอดปี ได้ดึงดูดให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความเป็นไปได้ ในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก โดยจะทำการก่อสร้างเขื่อนกั้นบริเวณตอนล่างของน้ำตกคลิตี้ อันเป็นพื้นที่ป่าสงวนที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำคลองงู เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในอ่าง และส่งน้ำไปตามท่อความยาว ๒ กิโลเมตร เพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด ๔,๓๗๐ กิโลวัตต์ยังโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ด้านล่าง
      โครงการไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้มีมูลค่าประมาณ ๕๐๐ ล้านบาท มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเจริญให้แก่ชุมชน ตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของหมู่บ้านสี่แห่งบริเวณนี้ หากดูเหมือนว่าจุดประสงค์ดังกล่าวจะขัดแย้งกับความเป็นจริงที่ว่า หมู่บ้านสองในสี่แห่ง คือบ้านห้วยเสือและบ้านทุ่งนางครวญ ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ตอกเสาไฟฟ้าแรงสูง เตรียมจ่ายไฟฟ้าเข้าหมู่บ้านแล้ว ขณะที่อีกสองหมู่บ้าน คือบ้านคลิตี้บนและบ้านคลิตี้ล่าง ทุกวันนี้ก็มีไฟฟ้าใช้แล้วจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
      ผู้ใหญ่ยะเสอะเล่าให้เราฟังว่า เมื่อประมาณสองปีก่อน กรมส่งเสริมและพัฒนาพลังงานได้มาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวนสี่แผง เพื่อผลิตไฟฟ้าให้แก่ชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล โดยแต่ละวันชาวบ้านคลิตี้ล่าง จะนำแบตเตอรี่มาชาร์ตไฟฟ้าที่โรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
      "แบตฯ ลูกหนึ่งพวกผมใช้ได้ประมาณ ๔ คืน ทุกวันนี้แต่ละครัวเรือนเสียค่าชาร์ตไฟฟ้าเดือนละ ๑๕ บาท เราไม่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าครับ" ผู้ใหญ่ยะเสอะยืนยันกับเรา
      ดังนั้นการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำมูลค่า ๕๐๐ ล้านบาทเพื่อชาวกะเหรี่ยงแถวนี้คงไม่ใช่จุดประสงค์หลัก นอกเสียจากเพื่อขายกระแสไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ป้อนเข้าสู่ระบบไฟฟ้าส่วนกลางที่มีความต้องการใช้มากกว่า
      เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ชาวบ้านคลิตี้ล่างที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนแห่งนี้ ได้ลงมติว่าไม่อยากได้เขื่อน เพราะไม่เห็นความจำเป็นใด ๆ โดยเฉพาะเมื่อป่าสงวนที่ชาวบ้านช่วยกันรักษาจะต้องกลายเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ทั้งยังกลัวว่าการตัดถนนและความเจริญที่จะติดตามเข้ามาภายหลังการสร้างโรงไฟฟ้า จะส่งผลกระทบถึงวิถีชีวิตของพวกเขาด้วย
(คลิกดูภาพใหญ่)       "เราไม่ต้องการเขื่อน เราไม่ต้องการความเจริญ แต่เราต้องการให้รัฐบาลเอาเงินที่จะสร้างเขื่อน มาฟื้นฟูลำน้ำคลิตี้ที่มีตะกั่วปนเปื้อนมากกว่า เพราะสี่ปีผ่านไปยังไม่มีอะไรคืบหน้าเลย" ผู้ใหญ่ยะเสอะกล่าวทิ้งท้าย
      ภายหลังเกิดเรื่องโรงแต่งแร่ปล่อยสารตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ กรมควบคุมมลพิษได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาการสะสมของตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ แนวทางหนึ่งคือ การทำเขื่อนดักตะกอน โดยนำหินมาถมขวางลำห้วย เพื่อให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนสูงขึ้น น้ำจะไหลช้าลงและทำให้ตะกั่วตกตะกอนบริเวณหน้าเขื่อน จากนั้นก็จะทำการขุดลอกตะกอนตะกั่วต่อไป โดยจะมีการเสนอให้ทางโรงแต่งแร่รับผิดชอบ ในการขุดหรือดูดเอาตะกอนเหล่านี้ออกไปกำจัดให้ถูกวิธี 
      ทว่าเวลาผ่านไปสี่ปี ก็ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมาบังคับให้ทางบริษัทดังกล่าว จัดการตามแนวทางที่ว่าได้ และถึงวันนี้ตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ซึ่งคาดว่ามีปริมาณราว ๑๕,๐๐๐ ตันก็ยังคงตกตะกอนอยู่ใต้ผืนน้ำ รอคอยที่จะแพร่พิษร้ายของมันต่อไป
      เดือนเมษายน ๒๕๔๕ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดเผยผลสำรวจการปนเปื้อนของสารตะกั่วบริเวณลำห้วยคลิตี้ และพบว่าในปัจจุบัน คุณภาพน้ำในห้วยคลิตี้ มีปริมาณตะกั่วลดลงจากที่เคยปนเปื้อนอย่างมาก จนอยู่ในช่วงใกล้เคียง ๐.๐๕ มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่ามาตรฐานน้ำผิวดิน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ตะกั่วตกตะกอน ไม่ฟุ้งกระจายปนเปื้อนในลำห้วย แต่ตะกอนตะกั่วที่นอนก้นในลำห้วยนั้นไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ยังคงอยู่ในช่วงสูง ๒๐,๐๐๐-๔๙,๐๐๐ มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานมาก
      ดูเหมือนว่าสภาพการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ไม่ได้แตกต่างจากการดูแลสุขภาพ ของชาวบ้านคลิตี้ล่างแต่อย่างใด คือพอเป็นข่าวใหญ่ทางหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อไร ก็จะมีหน่วยงานรัฐบาลให้ความสนใจเป็นอย่างดี ครั้นเวลาผ่านไป ข่าวเริ่มจางหาย มาตรการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ก็ไปไม่ถึงฝั่ง 
      คงต้องนับเป็นความโชคดีของหน่วยงานรัฐบาล ที่เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับชาวเมือง ซึ่งเสียงร้องทุกข์มักจะดังกว่าเสียงของชาวบ้านในป่าเขา ที่ห่างไกลความยุติธรรมเสมอ
      ทุกวันนี้ระดับตะกั่วในเลือดของชาวคลิตี้ล่าง ก็ยังสูงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งยังเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่จะมีปริมาณสารตะกั่วในเลือดอยู่ในช่วง ๓๐-๕๐ ไมโครกรัม/เดซิลิตร
      ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองระบาดวิทยาได้ลงพื้นที่สำรวจปริมาณสารตะกั่วในเลือด ของเด็กในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง พบว่าในเด็ก ๓๐ คน มีปริมาณสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐาน ๑๕ คน พบเด็กที่มีพัฒนาการทางสมองช้า ๘ ราย ส่วนที่หมู่บ้านคลิตี้บน ในเด็ก ๓๓ คน พบว่ามีปริมาณสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐานถึง ๓๒ คน และเมื่อทำการตรวจเลือด ของประชากรในหมู่บ้านใกล้เคียงอีกหลายแห่ง ก็พบปริมาณสารตะกั่วที่สูงเกินค่ามาตรฐานเช่นกัน
      .................................................
(คลิกดูภาพใหญ่)       ก่อนเดินทางกลับ เราแวะเข้าไปในเหมืองสองท่อ หรือเหมืองเค็มโก เหมืองขุดและแต่งแร่ตะกั่วขนาดใหญ่ ที่มีเจ้าของเหมืองเป็นน้องชายของเจ้าของโรงแต่งแร่งคลิตี้ ด้านหน้าเหมืองเป็นป่ารกร้างมีพื้นที่ประมาณร้อยกว่าไร่ เจิ่งนองไปด้วยน้ำสีเทาเงิน สมกับที่ชาวบ้านแถวนี้เรียกบริเวณนี้ว่า ทะเลตะกั่ว เห็นได้ชัดว่า ทางเหมืองเค็มโกใช้ที่ดินบริเวณนี้ เป็นพื้นที่รองรับน้ำเสียจากการถลุงแร่ตะกั่วมานานหลายปี
      ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ วิศวกรสิ่งแวดล้อมและประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งเคยเข้ามาดูสภาพทะเลตะกั่วที่นี่ ให้คำอธิบายว่า วิธีการดังกล่าวเป็นการบำบัดน้ำเสียอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า land treatment คือปล่อยของเสียทิ้งไปในบริเวณกว้าง ๆ เพื่อให้พืชเป็นตัวดูดสารตะกั่ว ถือเป็นการบำบัดโดยธรรมชาติ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้คิดวิธีการดังกล่าวจะเป็นวิธีที่เหมาะสม 
      "การที่เขาทิ้งจนกลายเป็นทะเลตะกั่วนั้น เป็นการทิ้งสะเปะสะปะ ผมคิดว่าพืชคงดูดสารพิษเข้าไปไม่ทัน เมื่อฝนตกลงมามันก็ชะออกไป ยิ่งแพร่กระจายมลพิษออกไปในวงกว้าง วิธีการนี้คงจะไม่ถูกต้องนัก"
      จากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณีในปี ๒๕๓๘ พบว่า ระดับตะกั่วในน้ำจากกระบวนการแต่งแร่ของเหมืองแห่งนี้ เกินค่ามาตรฐานน้ำทิ้ง แต่เนื่องจากไม่มีข้อร้องเรียนของชาวบ้าน เพราะไม่มีชุมชนใดใช้น้ำจากลำห้วยที่ไหลผ่าน จึงยังไม่มีการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด แม้ว่าน้ำเสียจากทะเลตะกั่วนี้ จะระบายลงสู่ลำห้วย และไหลลงลำคลองงู ซึ่งเป็นลำห้วยใหญ่ ที่จะไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ก็ตาม 
      และอีกไม่นานก็จะมีการย้ายกองสินแร่ตะกั่วจำนวน ๓,๕๐๐ ตันจากโรงแต่งแร่คลิตี้ และสินแร่ตะกั่วแสนกว่าตัน จากเหมืองแร่บ่องาม มาเก็บไว้ที่เหมืองเค็มโก ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการแต่งแร่ และปล่อยน้ำเสียลงสู่ป่าและลำห้วยมากขึ้น ทั้งนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้อนุญาตให้ทางเหมืองเค็มโก ใช้พื้นที่ป่าสงวนบริเวณดังกล่าวได้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของบรรดาองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ 
      ไม่มีใครรู้ว่า ในอนาคต ความตายและความเจ็บป่วยลึกลับ จะเกิดขึ้นที่ลำคลองงู เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในหมู่บ้านคลิตี้ล่างหรือไม่ 
      รู้เพียงว่า สี่ปีผ่านไป แม้จะมีการปิดโรงแต่งแร่คลิตี้ มีมาตรการฟื้นฟูลำห้วย แต่อาการเจ็บป่วยและความตายลึกลับของชาวบ้าน ก็ยังดำเนินต่อไป ในขณะที่ผู้ก่อมลพิษ ยังคงเดินเชิดหน้าอย่างมีเกียรติในสังคม และกำลังเริ่มเดินเครื่อง เปิดเหมืองแร่ตะกั่วขึ้นใหม่อีกครั้ง