สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๙ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๙ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๕ " World Cup 2002 "
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๙ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๕  

สุชาติ สวัสดิ์ศรี : ศิลป์ของสิงห์ฯ

ศรัณย์ ทองปาน

(คลิกดูภาพใหญ่)

      "ผมจะไปยืนรออยู่กลางถนนเลย..." 
      เขานัดแนะทางโทรศัพท์ หลังจากผมซักไซ้ถึงตำแหน่งแห่งที่ของจุดหมาย
กลางแดดเปรี้ยงใกล้เที่ยง รถแท็กซี่ที่ผมโบกเข้าไปจากปากทางถนนใหญ่ ละเลียดขยี้กรวดหิน และหลุมบ่อของถนนริมทางรถไฟอย่างช้า ๆ
      พลันปรากฏร่างเงาของบุรุษสวมหมวกยืนจังก้ากลางถนน !
      แต่แรกเมื่อได้ข่าวว่าคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี "บอกอเครางาม" แห่ง โลกหนังสือ เมื่อครั้งกระโน้น หันมาเขียนรูปอย่าง "จริงจัง" ผมก็ยังไม่ได้คิดว่าจะจริงจังสักเท่าใด นึกเอาเองเล่น ๆ แต่เพียงว่า "พี่เขา" ก็คงเขียนรูปอะไรบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ พอเป็นงานอดิเรกแบบ "จิตรกรวันอาทิตย์" กระมัง
      มาจนมีงาน นิทรรศการศิลปะกับสังคม ๒๕๔๔ ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ เมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ผมจึงได้เห็นรูปเขียนของคุณสุชาติเป็นครั้งแรก 
      เพียงเท่านั้น ผมก็ต้องออกแรงบุกบั่นไปถึงชายทุ่งรังสิต อันเป็นแหล่งพำนักของเขา ด้วยคำถามในใจว่า "เขาเขียนทำไม ?" เพราะการลุกขึ้นเปลี่ยน "สนาม" ของ "สิงห์สนามหลวง" บุคคลผู้เป็นประหนึ่งเอนไซโคลพีเดียทางประวัติวรรณกรรมของชาตินั้น ย่อมมิใช่เรื่องสามัญ
      ในวันนั้น ปราศจากวี่แววของ "เครา" อันเคยเป็นสัญลักษณ์ของเขา และที่มาของสมญา "บอกอเครางาม" ด้วยน้ำเสียงเบา ๆ นุ่ม ๆ เขาทักทายไถ่ถามเรื่องการเดินทางพักหนึ่ง หลังจากนั้นก็พาเดินลัดเลาะไปตามริมรั้วบ้านใครต่อใคร จนที่สุดก็มาถึงอาณาจักรกลางทุ่ง ที่ประกาศขอบเขตไว้ด้วยลำคู
      ห้องกรุที่เก็บ "งาน" ของเขาอยู่ในบ้านไม้สองชั้น แยกต่างหากจากบ้านชั้นเดียวที่เป็นเรือนนอนของพ่อ-แม่-ลูก อันได้แก่ คุณสุชาติ คุณ "ศรีดาวเรือง" และคุณโมน กับลูกสมุนอีกสองสามหน่วย

(คลิกดูภาพใหญ่)       ก่อนขึ้นไป คุณสุชาติหันมาออกตัวว่า "อย่าหวังอะไรมากมาย... มันไม่มีสไตล์แบบอะคาเดมิกหรอก" แต่เมื่อเปิดประตูห้องชั้นบนที่มีอยู่เพียงห้องเดียวเข้าไป ผมต้องสารภาพว่านี่มันเกินที่คาดหวังเอาไว้มาก...
      นอกจากหนังสือที่วางเรียงเข้าแถวกันบนชั้นติดฝาแล้ว ตามพื้นในห้องนั้นแออัดไปด้วยกองกระดาษ แต่ละตั้งสูงเกือบถึงเอว มีสมุดที่ใช้สเก็ตช์กองสูงพอ ๆ กันอีกหลายสิบเล่ม กับยังมีเฟรมผ้าใบ และรูปที่ใส่กรอบแล้วอีกนับร้อยวางพิงกันไว้ระเกะระกะ 
      เมื่อได้เผชิญหน้ากับผลงานในรอบหกเจ็ดปีที่ผ่านมา ผมปลงใจได้ทันที่ว่าเขา "จริงจัง" กับการงานศิลปะแขนงใหม่นี้เพียงใด
      ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา สังคมอาจรู้จัก สุชาติ สวัสดิ์ศรี ในฐานะนักเขียน นักแปล บรรณาธิการมืออาชีพ และคลังข้อมูลของแวดวงวรรณกรรมในนาม "สิงห์ สนามหลวง" หากแต่ในฝักฝ่ายของศิลปะแล้ว สุชาติดูจะเป็น "คนนอก" ถึงหากจะวกเวียนเข้าไปใกล้บ้าง ก็ในฐานะของผู้วิจารณ์มากกว่า ทว่าที่จริงแล้ว ความสนใจในเรื่องของศิลปะของเขา กลับแฝงฝังอยู่ในชีวิตมายาวนาน
      สุชาติ สวัสดิ์ศรี รื้อรูปของเขาออกมาให้ดูทีละรูป ๆ เสียงรถไฟกึงกังดังมาในอากาศ สลับกับความทรงจำที่ไล่เลียงมาแต่ครั้งก่อน 
      "ประสบการณ์ทัศนศิลป์" อย่างแรก ๆ เท่าที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี-เด็กอยุธยา จะนึกย้อนไปได้ ก็คงเป็นเช่นเดียวกับเด็กชายชาวไทย ที่เติบโตมาในยุคสมัยเดียวกัน คือปกหนังสือนิยายเริงรมย์ชนิดสิบสตางค์ กับภาพวาดชาดกนรกสวรรค์ของ เหม เวชกร แบบที่มีนางฟ้าเปลือยอก คนปีนต้นงิ้ว ที่แขวนไว้ตามศาลาวัด
(คลิกดูภาพใหญ่)       "ทางแรกต้องมาจากภาพของเหม ที่ติดอยู่ตามวัด ที่เหมวาดให้ ส. ธรรมภักดี ภาพนรกสวรรค์ ภาพทศชาติ ภาพของเหมกระจายมาถึงผมผ่านปกหนังสือยุคเพลินจิตต์ หรืออีกทางอาจจะมาจากภาพประเภทภาพคลาสสิกทั้งหลายของฝรั่ง ที่แสดงกล้ามเนื้อ แสดงการเคลื่อนไหวของคน ในตำราหมอของพ่อ...พ่อผมเป็นเสนารักษ์ ผมจำได้ว่าชอบเปิดดูตำราของพ่อ มันมีภาพกล้ามเนื้อ เส้นเลือด มีภาพหนึ่งที่ผมต้องรีบเปิดผ่าน เป็นภาพ portrait หน้าตาเหยเก มารู้ทีหลังตอนโตว่า เป็นภาพของ Frans Hals ที่เป็นจิตรกร Flemish ร่วมยุคกับ Vermeer เราเคยเห็นภาพพวกนี้มาตั้งแต่เด็กเหมือนกัน... เป็นการปลูกฝังทางทัศนศิลป์ที่นึกย้อนไปได้ไกลที่สุด"
      โลกศิลปะของสุชาติเปิดกว้างขึ้น เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ในทางวรรณกรรม ห้องสมุดธรรมศาสตร์กลายเป็นมหาสมุทร ที่จะได้ตักตวงความลุ่มลึกจากนักเขียนทั้งไทยเทศ ส่วนในทางทัศนศิลป์นั้น ความสนใจใฝ่รู้ชักนำเขาไปพบกับบรรดาศิลปินแห่งยุค
      "ผมคุ้นเคยกับพวกหน้าพระลานมาตั้งแต่เด็ก ตอนอยู่ธรรมศาสตร์ผมเป็นเด็กวัดมหาธาตุ มีพรรคพวกที่เป็นนักศึกษาศิลปากรพักที่คณะเดียวกัน เวลามีงานเลี้ยงน้องใหม่ที ผมก็ตามเขาไปงาน ด้วยจุดประสงค์อยากได้หนังสืออนุสรณ์ของศิลปากร เพราะเขาไม่สนใจหนังสือ แต่เราสนใจ ได้ยินชื่อ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ) เห็นงานของอังคาร (อังคาร กัลยาณพงศ์) ครั้งแรก ๆ ก็จากหนังสือพวกนี้ ตั้งแต่ประมาณปี ๐๗-๐๘-๐๙"
      หลังสำเร็จการศึกษาจากรั้วเหลืองแดง สุชาติไปเป็นครูโรงเรียนราษฎร์อยู่พักหนึ่ง แล้วจึงได้เข้าร่วมงานในกองบรรณาธิการของ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ วารสารที่ทรงพลังยิ่งในกลุ่มหนุ่มสาวหัวก้าวหน้า ผู้รักเสรีภาพและเกลียดชังเผด็จการทหาร
      สำนักงานของ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เมื่อครั้งกระโน้น เป็นบ้านไม้สองชั้น ตั้งอยู่บริเวณลานจอดรถของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ปัจจุบัน และที่นี่เอง โลกศิลปะของสุชาติก็ได้รับการเคี่ยวให้เข้มข้นยิ่งขึ้นอีก อย่างที่เขาเล่าว่า
      "ส่วนเพื่อนศิลปินผมมาเริ่มรู้จักตั้งแต่ทำหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ สมัยนั้นปก สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ก็ใช้ภาพของศิลปินต่าง ๆ ทำให้ได้รู้จักทั้งศิลปินอาวุโส อย่าง อังคาร กัลยาณพงศ์ เฟื้อ หริพิทักษ์ แล้วก็พวกศิลปินหนุ่ม ๆ ที่ต่อมาเป็นเพื่อนกันด้วย... ผมรู้จักกับ นันทะ เจริญพันธุ์ ประวัติ เล้าเจริญ ก็ตามไปพบ ดำรง วงศ์อุปราช ปรีชา อรชุนกะ จนได้รู้จักกับคนที่เพิ่งเข้าวงการแล้วยังไม่ได้รับการยอมรับ อย่าง ประเทือง เอมเจริญ จ่าง แซ่ตั้ง ช่วงปี ๑๐-๑๑-๑๒"
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       "หนังสือเกี่ยวกับศิลปะที่ผมอ่านตอนช่วงอยู่ปีแรก ๆ ของมหาวิทยาลัย คือหนังสือของ น. ณ ปากน้ำ บันไดเข้าถึงศิลป ของโอเดียนสโตร์ เล่มละห้าบาทเจ็ดบาท ผมเห็นคำนี้ก็กระโจนเข้าไปหาเลย มันให้พลังบางอย่าง สิ่งที่อาจารย์เจตนา (ศาสตราจารย์เจตนา นาควัชระ) พูดว่า "ศิลปะส่องทางให้กัน" น. ณ ปากน้ำ ก็พูดว่าศิลปะแต่ละสาขาเป็นพี่น้องกัน มันมีปฏิสัมพันธ์กัน มันให้พลังข้ามกันได้ มันคงอยู่ในความคิดของผม ผมไม่ได้ชอบวรรณกรรมอย่างเดียว ผมอ่านหนังสือทำนองนี้ อ่านประวัติศิลปิน แต่โดยหน้าที่ โดยการแสดงออก แม้จะมีเพื่อนศิลปินรอบข้าง แต่มันไม่ได้เริ่มต้นตรงนั้น... มันเริ่มต้นเป็นงานเขียนหนังสือก่อน"
      "แล้วคุณสุชาติมาเริ่มเขียนรูปเมื่อไหร่ครับ ?" ผมถามพลางปาดเหงื่อ เนื่องจากในห้องน้อยนั้นยามตะวันตรงหัว มันก็แทบจะเป็นเตาอบ
      "ก่อนหน้านี้เป็นเพียงการเก็บสะสมอะไรไว้ในตัวเอง อย่างน้อยความชอบความรักในเรื่องนี้ก็อยู่ในจิตใต้สำนึก จากการดูภาพ จากการมีความรู้สึกว่าศิลปะทำให้เรามีความสุขได้-ในฐานะผู้เสพ 
      "ปี ๒๘ เริ่มทำละคร (คณะละคร ๒๘) พอปี ๓๘ เริ่มจะมาทางภาพเขียน เริ่มลงมือจริงจัง แล้วทำค่อนข้างต่อเนื่อง ก่อนนี้ทำบ้างแต่ไม่ค่อยต่อเนื่อง...มีเป็นสเก็ตช์" 
      "เกิดอะไรขึ้นในปี ๒๕๓๘ หรือครับ ?" ผมถามอีก
      เครื่องบินที่กำลังจะลง หรือเพิ่งขึ้นมาจากดอนเมืองก็ไม่รู้ได้ พ่นไอเสียงหวีดหวิว
      "งานเขียนในลักษณะวรรณกรรมสร้างสรรค์แบบเดิม... จะว่าถึงจุดอิ่มตัวก็ไม่ถูก ยังอยากเขียนเรื่องสั้น บทกวี นิยาย แต่งานในลักษณะแสดงพลัง มันไม่ออกมาเป็นตัวหนังสือ ถึงออกมาก็ไม่พอใจ การมาทำหน้าที่บรรณาธิการ มาเป็นคนที่อยู่ข้างหลังคอยผลักดันคนอื่น ทำให้พลังสร้างสรรค์ของผมมันกลายเป็นอีกเรื่อง... เป็นคนทำงานวิชาการไป
      "ผมเลยลองข้ามสื่อดู มาใช้เครื่องมืออีกแบบ ไม่ได้คิดว่ามันจะได้ผลหรือไม่ได้ผล แต่เมื่อเริ่มแล้ว รู้สึกว่าทำได้ต่อเนื่อง ผมรู้สึกว่ามันทดแทนสิ่งที่ผมไม่ได้แสดงออกด้วยตัวหนังสือ มันสามารถแสดงออกทางอะไรบางอย่างได้
      "เมื่อเริ่มต้นแล้วก็ไม่อยากให้ขาดช่วงไป ก็เลยทำมาโดยตลอด..."
(คลิกดูภาพใหญ่)       ทุกวันนี้ การจะไปแขวนป้ายระบุสกุลศิลปะให้แก่รูปเขียนร่วมสมัย คงกลายเป็นเรื่องชวนหัวไปแล้ว แต่ถึงแม้กระนั้น ผมก็อดเทียบเคียงไม่ได้ว่าบางภาพของ "สิงห์สนามหลวง" ดูจะมีกลิ่นอายแบบอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) อยู่ในที บ้างก็ดูเฟื่องฝันแบบเซอร์ ๆ (Surrealism) แต่ก็มีอีกมากมายที่เป็นงานเชิงนามธรรม อย่างที่อาจพอเรียกว่าเป็นแอ็บสแตร็กเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Abstract Expressionism) ซึ่งทั้งหมดนี้ คุณสุชาติอธิบายว่ามันคือ
      "...รูปแบบของการพูดกับตัวเอง สู้กับตัวเอง ทดลองสิ่งต่าง ๆ"
      "การทดลอง" ของเขานั้น ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากการที่เขามิได้มีประสบการณ์ในสถาบันศิลปะใด ๆ มาก่อน หากแต่ลงมือไปด้วยความรู้สึกที่อยากจะทำ อย่างที่เรียกว่า "ทำตามความเรียกร้องของธรรมชาติ" โดยวิธีการและอุปกรณ์ต่าง ๆ สารพัด ทั้งอุ้งมือ นิ้ว และเล็บ ไม้ขนไก่ แปรงสีฟันเก่า ๆ ผ้าขาวบาง กระดาษหนังสือพิมพ์ กระเบื้องปูพื้น ถุงพลาสติก ไปจนถึงใบไม้นานาชนิดรอบบ้าน 
      ส่วนพู่กันนั้น "ผมไม่ค่อยได้ใช้...ดูสิ ยังใหม่อยู่เลย" เขายกพู่กันด้ามเท่านิ้วหัวแม่มือให้ดู "ที่ผมใช้ ไม่ใช่ Ruben หรือ Rembrant (ยี่ห้อพู่กันอย่างดี-ศรัณย์) (แต่) เป็นแปรงที่ขายเป็นแผง สามแผงร้อย สามแผงยี่สิบ ผมมาเลือกเอาเองตามขนาด"
      แม้ว่าอุปกรณ์ศิลปะบางส่วนของเขาจะหาหยิบฉวยเอาได้รอบตัว แต่ก็มีอีกหลายส่วนที่กลายเป็นปัญหาในชีวิต
      ครั้งแรก ๆ ภาพของชายร่างใหญ่ แบกม้วนกระดาษขนาดซุงต้นย่อม ๆ เดินเหงื่อแตกมาตามทางรถไฟ ก็สร้างความแตกตื่นให้แก่ชาวบ้านในละแวกนั้นพอควร หรือเมื่อชายคนเดียวกันนั้น อุ้มเฟรมผ้าใบขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีขายในท้องตลาด ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้ามา ก็สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อย ก่อนที่มันจะกลายเป็นภาพชินตาไปในที่สุด 
      คุณสุชาติหันไปมองสมุดวาดเขียน ที่กองพะเนินเทินทึกอยู่รอบตัว
      "คงเห็นว่าค่าอุปกรณ์ ค่าสี ค่ากระดาษก็หลายเงินแล้ว... ที่จริงผมอยากลองทำอะไรที่มันใหญ่ ๆ แต่ หนึ่ง สถานที่มันจำกัด สอง อุปกรณ์ไม่พร้อม รูปผมใหญ่ที่สุดก็ได้แค่เท่าที่เขามีขาย ตอนนี้พยายามหัดขึ้นเฟรมเอง  จะได้ทำรูปใหญ่ขึ้น ได้ยินว่ามีร้านลุงแถววัดระฆัง เขารับทำตัวเฟรมไม้ ก็ว่าจะไปให้เขาทำให้แล้วเอามาขึงผ้าใบเอง..."
(คลิกดูภาพใหญ่)       ผลงานของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี จะมีเป็นชุดเป็นยุค แล้วแต่ความสนุก ว่าช่วงไหนเพลินอยู่กับอะไรก็จะทำแบบนั้นออกมาเป็นร้อย ๆ เริ่มจากลายเส้นสเก็ตช์ด้วยปากกา ต่อมาใช้สีอะครีลิก แล้วกลายเป็นภาพพิมพ์หมึกจีน สีสเปรย์กระป๋อง จนมาถึงยุคที่เริ่มเล่นกับสีโปสเตอร์ในปี พ.ศ. ปัจจุบัน
      ภาพส่วนใหญ่ล้วนแต่กระทำให้สำเร็จไปได้ใน "โอเพ่นแอร์สตูดิโอ" คือระเบียงของบ้านชั้นสองหน้าห้องกรุเก็บภาพนั่นเอง ผลงานในแต่ละยุคยังคงทิ้งร่องรอยไว้เป็นหลักฐานอยู่ทั่วไป ฝุ่นฝอยของสีอะครีลิกสเปรย์ที่จับกรังอยู่ตามผนัง คราบหมึกดำฝังแน่นอยู่ในพื้นไม้ ชนิดที่เจ้าของบ้านต้องรีบเตือนว่าอย่านั่งลงไปนะครับ ไม่อย่างนั้น กางเกงดำหมดแน่ ! 
      "แล้วถ้าทำรูปมาตั้งหกเจ็ดปีแล้ว ทำไมถึงคุณสุชาติถึงเพิ่งเปิดตัวครับ ?" ผมถามระหว่างออกมานั่งพักจากการดูรูปที่หน้าห้อง
      "พอเริ่มมาทำจริงจัง ส่วนหนึ่งก็คงจะมีความรู้สึกว่า มันไม่ได้เริ่มต้นด้วยการที่เราอยากเรียกตัวเองว่า "ศิลปิน" อยากมีชื่อเสียง หรือจะไปประชันขันแข่งกับใคร ผมเลยทำต่อเนื่องมาโดยไม่ได้ไปแสดงข้างนอก ต่อมามีคนมาเห็นมารู้ ก็ปิดไม่ได้ บางคนเขาเชิญให้ไปแสดงเพราะว่าผมมีสถานะอย่างอื่น เป็นคล้าย ๆ ดาราเขียนรูป... มันยังไง ๆ ก็ไม่รู้ ผมมักจะปฏิเสธ จะบอกเขาว่าขอคิดดูก่อน เว้นแต่แบบที่คุ้นเคยกันจริง ๆ เคยช่วยงานกันมา แบบที่สถาบันปรีดี...อย่างนั้นก็ได้ ส่วนหนึ่งผมก็เจียมตัวว่ายังต้องศึกษา ต้องขอดูไปอีกระยะหนึ่ง...ยังเป็นขั้นอนุบาลอยู่" 
      "แล้วถ้าไม่ได้คิดจะแสดง คุณสุชาติเอารูปใส่กรอบทำไมครับ ?" ผมย้อนถาม
      คุณสุชาติหัวเราะ ก่อนจะตอบยิ้ม ๆ ว่า "บางคนเคยมาเห็นรูปที่ผมวาด ยังถามว่า "บ้าหรือเปล่าพี่" ผมบอก ไม่ใช่...เป็นความสุข เหมือนคนทำหนังสือ หนังสือเสร็จก็พลิกดูอยู่นั่นแหละ เลือกมาร้อยกว่าภาพ ...รูปนี้ชอบ...รูปนี้ชอบ เอามาใส่กรอบ เสร็จแล้วค่ากรอบสี่หมื่นกว่า เห็นตัวเลขแล้วรู้เลยว่าบ้าจริง ๆ" 
      "ปูด...ปูด...ปูด..." เสียงนกกะปูดแว่วมาไกล ๆ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       คุณสุชาติให้อรรถาธิบายต่อด้วยเสียงนุ่มนวล
      "ราคาการเป็นศิลปินในประเทศนี้แพงเหมือนกัน เพราะมันต้องจัดการ แกลเลอรี่มันเป็นร้านขายกรอบรูป ...ในบ้านเรา งานแสดงศิลปะเป็นปาร์ตี้ประเภทหนึ่ง ก็แค่เปิดตัวให้รู้จักกัน รูปแบบนี้ก็เห็น ๆ กันอยู่ ถ้าจะสร้างภาพตัวเองให้มีราคาก็ต้องทำแบบนี้ ผมคงลำบากใจไม่น้อย ถ้าผมจะไปเปิดตัวที่ lobby โรงแรม... คงต้องฝึกกำลังใจให้หน้าหนาอีกสักหน่อย (หัวเราะ) ตอนนี้กำลังเรียนรู้อยู่ ไปดูงานศิลปะส่วนใหญ่ ผมพบแต่เรื่องอื่น ถ้าผมจะไปดูงานใคร ผมมักจะไปเอง ไปหลังงานเปิดไปแล้ว ไปใช้เวลาอยู่กับเขาจริง ๆ ...ศิลปินใหม่ ๆ หลายคนทำงานกันเก่ง ๆ "
      "แล้วคุณสุชาติจะขายงานไหมครับ ?" ผมลองแหย่ดู 
      คำตอบสวนมาทันที "เป็นคำถามที่ทุกคนจะถาม... ตอนนี้ผมยังไม่ตอบ ไว้ถึงเวลาแล้วผมจะตอบ"
      หลังจากหกชั่วโมงผ่านไป กับภาพนับร้อยและถ้อยคำนับไม่ถ้วน ในตอนเย็น คุณสุชาติพาผมเดินโผเผออกจากบ้าน ตัดข้ามทางรถไฟไปยัง "โลคัลโรด" เพื่อส่งกลับขึ้นรถสองแถว พักเดียว "โลคัลบัส" ก็โผล่เข้ามาในสายตา เราร่ำลากัน...
      ครั้งหลังสุด ผมพบ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่หอศิลป์ในมหาวิทยาลัยศิลปากร เขายังคงทำอย่างเคย... เพราะนั่นคือวันท้าย ๆ ของนิทรรศการภาพพิมพ์ไม้จากญี่ปุ่น ในโถงใหญ่แอร์เย็นที่ไร้วี่แววสิ่งมีชีวิตอื่นใด หลังจากทักทายกันในระยะไกล คุณสุชาติเดินรี่เข้ามาหาผม กวาดตามองภาพบนผนัง แล้วกระซิบบอกว่า "เรายังไม่รู้เทคนิคเขานะ...แต่ดู ๆ แล้วก็ไม่น่ายาก"
      และบทต่อไปสำหรับ "ศิลป์ของสิงห์ฯ" อาจเริ่มต้นขึ้นที่ตรงนี้...
 

ขอขอบคุณ :

 
         คุณ "ศรีดาวเรือง" และคุณโมน สวัสดิ์ศรี