|
|
นิลมล มูนจินดา : เรื่อง / บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ : ภาพ
|
|
|
|
นอกจากลมฟ้าอากาศที่ทำให้ผ้าที่ซักตากเอาไว้แห้งหอม หรือชื้นเหม็นแล้ว
แม่ฉันสนใจมดมาก โดยเฉพาะมดบนโต๊ะกินข้าวบ้านเรา
ในฐานะที่เป็นคุณแม่บ้านคนหนึ่งที่ถูกมดแดง มดเหม็น มดละเอียด มดตาลีตาลาน รุกรานอาณาจักรในครัว โดยมีโต๊ะกินข้าวเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่แม่และมดผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ
ชอล์กกันมด ถ้วยรองขาโต๊ะ และระยะห่างจากฝาบ้านและวัตถุอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่รอบโต๊ะกินข้าว คืออาวุธและป้อมปราการสำคัญที่แม่ใช้ต่อกรกับสัตว์ที่แม่ว่า "ไม่มีวันควบคุมได้"
สงครามจึงดูเป็นนิรันดร ไม่เคยมีผลแพ้ชนะที่ยั่งยืน
บางวัน ความหงุดหงิดของแม่ คือผลลัพธ์ที่เกิดจากการเพลี่ยงพล้ำในสมรภูมิโต๊ะกินข้าว
ฉันไม่ค่อยสนใจมดมากนัก ทั้งที่มันคงจะเป็นสัตว์ตัวแรก ๆ (ไล่เลี่ยกับเห็บหมาและบุ้ง) ที่ไต่ขึ้นมาบนตัวของฉันเมื่อหลายสิบปีก่อน
ไม่ว่ามันจะกัดเจ็บ จะเดินไต่ฝาห้อง จะขึ้นถุงขนมเป็นทางยาวอย่างไร ก็ถือว่าต่างคนต่างอยู่เสมอมา
ความประนีประนอมเช่นนั้น อาจจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน ถ้ามดตัวแสบไม่ยกโขยงมาทำรังในโมเด็มข้างคอมพิวเตอร์ฉัน
สามพันห้า คือราคาของโมเด็ม จะกลายเป็นราคารังใหม่ของมดฝูงนี้ ถ้าฉันไม่จัดการมันเสียแต่ต้นมือ
ขอบอกว่า เราจะชนะมันได้ก็ด้วยความอดทน
ที่ถ้านับหน่วยได้ก็คงเป็นจำนวนหนที่ต้องแกะโมเด็มออกเป็นชิ้น ๆ เพื่อเคาะไล่พวกมดออกไปให้หมด
กิจกรรมแกะโมเด็มดังกล่าว อาจทิ้งช่วงห่างกันเป็นสัปดาห์ หรือแค่ ๓ วัน มดหน้าด้านไม่เคยเข็ดกับการถูกไล่ที่ ไม่เข็ดแม้แต่ความตาย |
|
|
|
ระหว่างต่อกรกับมด ฉันก็อดพิศวงในความมุ่งมาดของมันไม่ได้
แล้วฉันก็ยิ่งประหลาดใจขึ้นไปอีก เมื่อเห็นศพพวกของมัน ที่จู่ ๆ ก็นอนงอก่องอขิงตายรอบ ๆ โมเด็ม ทั้งที่ฉันไม่เคยใช้เครื่องทุ่นแรงอย่างดีดีที ยาฉีด ซันเจี่ย หรือไสยศาสตร์อื่นใดในการรบกับพวกมันเลย
ฉันจึงเริ่มต้นหาความรู้เกี่ยวกับมด แล้วก็พบว่าในโลกนี้มีคนศึกษา ค้นคว้า เขียนเรื่อง ถ่ายภาพ
และวาดภาพมดกันมามากแล้วจริง ๆ แต่ในบรรดาหนังสือ นิตยสารพวกนี้ มีอยู่เล่มหนึ่งที่เขียนได้สนุกเกินห้าดาว คือนิยายไซไฟเรื่อง กองทัพมด ของ แบร์นาร์ แวร์แบร์ นักวิจัยและนักข่าวสายวิทยาศาสตร์ของนิตยสารนูแวล ออฟแซร์วาเตอร์ (Nouvel Observateur) เขาเขียนเรื่องนี้หลังจากได้ทุนไปทำวิจัยมดมานญองที่ไอวอรีโคสต์ และได้รับรางวัลหนังสือวิทยาศาสตร์และอนาคตดีเด่น Prix des lecteurs de Sciences et Avenir ใน พ.ศ. ๒๕๓๔
ท่ามกลางความมันโคตรของเนื้อเรื่องที่กระโดดข้ามเส้นไปมาระหว่างความจริงกับจินตนาการ จนทำให้เส้นแบ่งของสองอย่างของผู้อ่านชักจะเบลอ ๆ ไป กองทัพมด ยังมีของชวนคิดชวนขบหลายอย่าง แต่ที่ฉันติดใจมากที่สุดก็คือเรื่อง "ความเป็นสิ่งมีชีวิต" ของมด
แวร์แบร์แสดงความคิดความเชื่อไว้อย่างชัดเจนว่า มดทั้งหมดทั้งรังคือสิ่งมีชีวิต ๑ ตัว
เหมือนกับว่า มดตัวเดียวไม่ใช่มด หรือไม่ใช่ชีวิตที่สมบูรณ์อย่างนั้นแหละ
ขอชวนคุณชมสรีระของมดสักตัวด้วยกันก่อนดีไหม
|
|
|
|
มดตัวเดียวกับมดหลายตัว
|
|
|
|
เล็บตีนของมันช่วยให้เดินเกาะเพดานได้ ตามันมองเห็นเป็นวงกว้างถึง ๑๘๐ องศา หนวดหรือเสาอากาศของมันก็รับข่าวสารที่คนเรามองไม่เห็นได้นับพัน ๆ ชนิด ปลายหนวดยังใช้แทนค้อนได้อีกด้วย ในช่องท้องมีกระเป๋า มีถุง ที่ใช้เก็บสะสมสารเคมีหลายชนิดไว้ได้ กรามของมันก็ใช้ตัด ใช้หนีบ หรือใช้หยิบจับได้เป็นอย่างดี ท่อทั้งหลายในตัวมัน ประสานกันเป็นเครือข่ายที่ช่วยส่งกลิ่นได้สารพัดชนิด
(กองทัพมด แปลเป็นไทยโดย "กัญญา" หน้า ๑๔๖)
เมื่อก้มลงดูมดหนึ่งตัวใกล้ ๆ ฉันสงสัยว่า เหตุใดมดตัวแค่นี้ถึงได้ก่อความเดือดร้อนให้เรานัก มันดูเหมือนจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ด้วยซ้ำ ถ้าเพียงแต่เราจิ้มนิ้วชี้บี้ลงไป มันก็คงดับดิ้นสิ้นชีวาเอาง่าย ๆ
แต่นั่นคงเป็นความคิดโง่ ๆ ของคนที่ยังไม่รู้จักมดดี
ใครที่ไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์มด ชั้น ๔ ของตึกวนศาสตร์ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้วจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะเขาจะได้ชมนิทรรศการ เรื่อง "มดอันตราย" และรู้ว่า
"มดเป็นแมลงขนาดเล็ก แต่จะมองข้ามพิษสงของมันไม่ได้ มันเป็นสัตว์ที่มีอันตรายรอบด้านทีเดียว ถ้าเราเผลอไปจับหรือโดนมันเข้า พิษภัยอาจมาถึงตัวเราเมื่อไหร่ก็ได้ เจ้าสัตว์ตัวน้อยพวกนี้อาจกัดหรือต่อยเรา....ดังนั้น เราไม่ควรเผชิญหน้ากับมดโดยตรง ไม่ควรใช้มือเปล่าจับมด ควรใช้อาวุธหรือปากคีบ ถ้าต้องการเล่นกับมัน จะได้ไม่เจ็บตัว"
มดต่อยได้จริงดิ คุณถาม
ตอบตรง
รศ. เดชา วิวัฒน์วิทยา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมดคนหนึ่งของเมืองไทยและประธานการจัดตั้งเครือข่ายมดในประเทศไทย (ANeT Thai) ยืนยันว่ามดต่อยได้
"มดที่สามารถต่อยได้นั้น ต้องเป็นมดงานที่มีเหล็กไนยื่นออกมาจากปลายส่วนท้อง แท้ที่จริงแล้วเหล็กไนเหล่านี้ คืออวัยวะวางไข่ของมดเพศเมีย แต่มดงานที่เป็นหมัน แทนที่เหล็กไนจะทำหน้าที่วางไข่ กลับเปลี่ยนหน้าที่เพื่อใช้ในการล่าเหยื่อ หาอาหาร และป้องกันตัว มดเหล่านี้ได้แก่มดในวงศ์ย่อย Ponerinae, Cerapachyinae, Pseudomyrmecinae หรือกลุ่มมดตะนอย โชคดีไปที่เรามักไม่ค่อยคุ้น ที่จริงกลุ่มอื่นก็ต่อยได้ เช่น พวกมดคันไฟ มดง่าม แต่ไม่เจ็บปวดรุนแรงเท่ากลุ่มนี้"
|
|
|
|
ที่ชาวบ้านอย่างเราคุ้นเพราะเห็นเดินไปมาอยู่ในบ้านและกัดเราตามแต่โอกาสนั้น เป็นมดงานที่ไม่มีเหล็กไน แต่ได้ใช้ประโยชน์จากกรามหรือเขี้ยวทั้งสองสูงสุด บางชนิด เช่น มดแดง มดคันไฟ กัดไม่พอ ยังปล่อยกรดหรือสารที่ทำให้ปวดแสบปวดร้อนเป็นของแถมด้วย ส่วนมดไม้มีกรามใหญ่ กัดทีเป็นแผลเหมือนโดนมีดบาด มดถนัดใช้อาวุธแบบนี้ได้แก่ Formicinae (วงศย่อยของพวกมดแดงส้มและมดไม้ยักษ์) และ Dolichoderinae (วงศ์ย่อยพวกมดเหม็น)
นิทรรศการนั้นบอกต่อไปว่า พิษมดกัดมดต่อยจะแสดงความรุนแรงเมื่อเข้าสู่ร่างกายเรามากน้อยขึ้นอยู่กับอาการแพ้ของแต่ละคน ถ้าแพ้น้อย แค่เจ็บปวดแต่ไม่บวมหรือมีอาการอื่น แพ้ปานกลาง เพิ่มอาการฟกช้ำ หรือเป็นตุ่มใส ๆ ซึ่งจะหายไปเองภายใน ๑ สัปดาห์ ถ้าไม่เกา แพ้รุนแรง จะแน่นหน้าอก เพราะพิษของมันจะเข้าสู่กระแสเลือดและทำให้เลือดไหลเข้าหัวใจไม่สะดวก
มดตัวเดียวว่าร้ายแล้ว มดทั้งฝูงยิ่งร้ายกว่า นึกถึงเวลามดยกฝูงอาละวาดที ข้าวของเครื่องใช้ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย อาหารที่วางทิ้งไว้ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มมันกัดเป็นรูเสียหายหมด คนทุกเพศทุกวัยทุกประเทศย่อมประจักษ์ความจริงข้อนี้แก่ตัว
ข้ามฟากไปสหรัฐอเมริกา เด็ก ๆ แถวอลาบามา ต้องทำใจให้คุ้นเคยกับการที่จู่ ๆ จอทีวีและไฟฟ้าในบ้านดับวูบลงไปเฉย ๆ เพราะเขารู้ว่ามดแดงไฟกัดสายไฟของเมืองพังอีกแล้ว ที่ประเทศนั้น กองทัพมดบุกจากเมืองหนึ่งไปอีกเมือง ทำลายต้นกล้า กัด กิน และขโมยเมล็ดพันธุ์จนพืชผลเสียหาย ชาวบ้านชาวเมืองต้องใช้เงิน ๕ ล้านเหรียญต่อปีต่อสู้กับมด ดีที่มดเมืองไทยไม่โหดขนาดนั้น ถึงมันจะกัดกินต้นกล้าของชาวนาบ้าง แต่ก็ไม่รุนแรงนัก
เป็นที่รู้กันว่าทีมเวิร์คของมดยอดเยี่ยมสมกับเป็นแมลงสัตว์สังคม (social insect) และความเป็นสัตว์สังคมก็ไม่ได้หมายความว่ามดชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเท่านั้น หากเป็นเพราะพวกมันทำกิจกรรมของรังไปในทิศทางเดียวกัน ไปไหนไปด้วยกัน แบ่งวรรณะ แรงงาน และหน้าที่ระหว่างสมาชิกในกลุ่มอย่างดูมีระบบ แล้วยังมีสมาชิกอย่างน้อยสองรุ่นอาศัยอยู่ในรังเดียวกัน ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อพวกมันดูแลน้อง ๆ ภายในรัง ก็เขยิบชั้นเป็นสัตว์สังคมชั้นสูง (eusocial insect) เป็นครอบครัวสุขสันต์แท้ ๆ
|
|
|
|
ราชินีมดผู้เป็นแม่ของรังเป็นมดที่ไม่ต้องทำงานอะไร นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ติดรังคอยออกไข่ตามจำนวนที่รังต้องการ ลูก ๆ มดงานต่างหากที่เป็นคนคอยปรนนิบัติ เช็ดถูตัว ป้อนอาหารให้
มดลูกทุกตัวในรังล้วนมีบทบาทหน้าที่ทั้งสิ้น
มดลูกตัวเมียที่มีปีกสืบพันธุ์ได้ รับภาระใหญ่ของมวลมดชาติคือการสืบเผ่าพันธุ์ของรังต่อไป
มดตัวเมียไม่มีปีก เป็นมดงานและเป็นหมัน ทำหน้าที่หาอาหารและดูแลความสงบเรียบร้อยของรัง มดงานบางชนิดออกไข่ได้เหมือนกัน แต่ไข่ไม่ฟักเป็นตัว บางชนิดเป็นสาวหมันตัวใหญ่ บึกบึน เป็นมดทหาร
ส่วนมดตัวผู้ อันเป็นชนกลุ่มน้อย มีไว้ทำหน้าที่สืบพันธุ์
เรียกได้ว่าบ้านนี้มีหญิงเป็นใหญ่ เป็นสังคมหญิงล้วนแท้ ๆ ส่วนตัวผู้มีชีวิตฉาบฉวยเพื่อทำลูกและตายไปเท่านั้น
ถ้าฉันต้องเกิดเป็นมด ฉันคงไม่อยากเกิดเป็นมดงาน เพราะมันต้องทำงานหลายอย่างเหลือเกิน ตั้งแต่งานทำความสะอาด เลี้ยงดูราชินี ดูแลไข่และตัวอ่อน หาอาหารมาเลี้ยงรัง ฝังศพหรือยกศพออกไปทิ้งข้างนอก ป้องกันตัวเองและรังด้วยอาวุธส่วนตัว สร้างรัง และอื่น ๆ อีกจิปาถะ
มดงานแต่ละวัยทำงานไม่เหมือนกัน งานของมันจะเปลี่ยนไปเรื่อยตามอายุ อาจเป็นเพราะฮอร์โมนและ/หรือการเรียนรู้ที่ทำให้มันเป็นอย่างนั้น งานแรก ๆ ของมดที่เพิ่งออกจากดักแด้กลายเป็นตัวเต็มวัยแล้วเป็นงานภายในรัง เช่น ดูแลราชินี เอาใจใส่และช่วยทำความสะอาดตัวอ่อน พอโตขึ้นหน่อยก็ดูแลดักแด้น้อง ๆ แล้วค่อยเลื่อนฐานะด้วยการเขยิบออกจากศูนย์กลางของรังออกไป จนใกล้ประตู คอยรับเหยื่อและเป็นยามเฝ้า ปีกกล้าขาแข็ง (ที่จริงมดงานไม่มีปีก) เมื่อไหร่ก็ได้ออกไปนอกรัง ทำหน้าที่ป้องกันแหล่งอาหาร ขุดและทำรัง และออกหาอาหารกลับมายังรัง เมื่อใดที่คุณผู้อ่านเห็นมดหาอาหาร แสดงว่าคุณเห็นมดแก่ที่จวนหมดอายุขัยแล้ว
"ถึงวัยที่เขาตาย ก็ตายเลย" รศ. เดชา ว่าอย่างนั้น
"การเปลี่ยนงานของมดเป็นการเรียนรู้ ตัวอ่อนก็พยายามเรียนรู้จากตัวพี่ หรือตัวแก่ว่า ถ้าหาอาหารจะต้องทำอะไรบ้าง ตัวแก่ก็ถ่ายทอด ซึ่งไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่า เขาสอนกันอย่างไร เท่าที่ผมสังเกตดู เขาพาตัวอ่อนออกไปข้างนอก แต่ไม่ได้ไปไกล ระหว่างนั้น มันน่าจะเป็นการเรียนรู้ของตัวอ่อน มดตัวอ่อนมีสีจางคอยดูแลไข่ ดูแลราชินี ส่วนมดสีเจ้าคือตัวที่ออกไปหาอาหาร น่าจะแข็งแรงพอควร และรู้ตัวเองว่าแข็งแรง จึงออกไปได้ แต่เราคงบอกไม่ได้ว่าจังหวะที่เขารู้คืออะไร"
แบ่งงานกันอย่างนี้ งานของเขาถึงได้ลงตัวดูพอเหมาะพอเจาะไปหมด
ว่ากันว่า ในหมู่มดไม่มีมดเซอร์ มดขบถ เพราะมันมีชีวิตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของสังคมมดส่วนใหญ่ ตัวเดียวเพื่อทุกตัว ทุกตัวเพื่อตัวเดียว
มดพระเอกผู้กล้าหาญที่อาสาออกตามหานักรบมาช่วยป้องกันรังมดจากการคุกคามของจั๊กจั่น ในแอนิเมชันเรื่อง อะ บั๊กส์ ไลฟ์ (A Bug's Life) จึงอาจเป็นเพียงเรื่องเล่าสนุก ๆ ประกอบการโชว์ภาพคอมพิวเตอร์การฟฟิกเท่านั้นเองละหรือ
|
|
|
|
สปิริตของรัง
|
|
|
|
ทีมงานหน่วยแรกเจาะหนังบริเวณคอหอยนกได้สำเร็จแล้ว พอเริ่มมีเลือดแดง ๆ หยดออกมา การส่งสัญญาณเฟโรโมนเตือนภัยก็เป็นอันยุติได้ พวกมันถือว่าได้รับชัยชนะแล้ว คอหอยนกเปิดกว้าง กองพันกองแล้วกองเล่ากรูกันเข้าไปในลำคอ ยังมีมดที่ถูกกลืนกินเหลือรอดชีวิตอยู่บ้าง พลพรรคจึงช่วยกันพยุงออกไป
กองทัพมด หน้า ๙๑
คนที่ใฝ่ใจศึกษาเรื่องเกี่ยวกับมด ถูกเรียกว่านักมดวิทยา (myrmecologist) คนพวกนี้วิเคราะห์กันว่า เหตุหนึ่งที่ทำให้เผ่าพันธุ์มดอยู่รอดคู่โลกมาได้เป็นร้อยล้านปี เพราะมันมีระบบสังคมที่ถือว่า "ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์วิวัฒนาการ"
พวกมันทำงานด้วยกัน หาอาหารด้วยกัน รบด้วยกัน บางตัวยอมระเบิดพลีชีพได้ด้วย
บางสปีชีส์ร่วมแรงสู้ภัยร้อนภัยแล้งด้วยการส่งน้ำปากต่อปาก
แล้วคายลงบนผนังและพื้นรังให้บ้านเย็นขึ้นด้วยกัน
ในหมู่มดความสามัคคีจึงดูจะจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อใดที่มดพบว่ามีมดหรือแมลงแปลกหน้าบุกรุกเข้าไปในรัง มดตัวแรกที่ประสบเหตุจะรีบส่งฟีโรโมน หรือสารเคมีเตือนภัยผ่านทางโมเลกุลของอากาศ (บางคนแทนคำว่า "ฟีโรโมน" ด้วยคำว่า "กลิ่น") หลังจากส่งสัญญาณบอกว่ามีผู้ร้ายมาออกไปแล้ว มดตัวนั้นจะตั้งท่าพร้อมสู้อย่างไม่หวาดหวั่น (คุณเคยเห็นมดแดง ยืนท้องตั้ง อ้ากรามกว้าง ๆ ไหม อย่างนั้นนั่นแหละ)
ยิ่งการต่อสู้ดำเนินไปเข้มข้นมากขึ้นเท่าไร ฟีโรโมนเตือนภัยก็จะยิ่งเข้มข้นเท่านั้น ฟีโรโมนชนิดเข้มข้นนี้จะเร่งเร้าให้เพื่อน ๆ ของมันตรงมายังสถานที่เกิดเหตุโดยด่วน แต่ฟีโรโมนเตือนภัยมักจะมีคุณภาพเสมอแค่โคโลญจน์วัยรุ่น คือส่งกลิ่นอยู่ได้แค่ชั่วแป๊บเดียวก็จางหายไปเสียแล้ว มดตัวแรกที่พันตูกับผู้บุกรุกจึงต้องปล่อยฟีโรโมนออกมาเรื่อย ๆ เป็นสัญญาณซ้ำ ๆ ยิ่งมันกัดมันต่อยมากเท่าไร ฟีโรโมนยิ่งถูกปล่อยออกมามากเท่านั้น ถ้ามดตัวนั้นโชคดี มีฝูงเพื่อนอยู่ภายในรัศมีทำการของฟีโรโมน คือ ๑๐ ซม.
มันจะได้กองหนุนเป็นพรรคพวกผู้ตั้งท่าอ้ากรามลุยเดินหน้า
เข้าหาจุดที่ส่งสัญญาณเตือนภัย แบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม |
|
|
|
หากจัดการกับผู้บุกรุกได้สำเร็จ ฉากตอนจบของการต่อสู้ครั้งนี้จะเป็นภาพของหมู่มดกำลังหั่นศัตรูเป็นชิ้น ๆ แล้วยกกลับรังเพื่อเป็นเสบียง
ฟีโรโมนเป็นของอเนกประสงค์ที่มดใช้ทั้งบอกทาง เตือนภัย เป็นบัตรประชาชน และอื่น ๆ อีกหลายสถาน นักมดวิทยาเชื่อว่า เผ่าพันธุ์มดจะไม่เจ๋งถึงขนาดนี้หรอก หากไม่มีฟีโรโมน
สารเคมีฮอร์โมนนี้แหละที่ทำให้มดเกิดอาการและพฤติกรรมต่าง ๆ ได้มากน้อย ตามความเข้มข้นเมื่อลอยละล่องอยู่ในอากาศ เช่น เมื่อมดนักเก็บเกี่ยว Pogonomyrmex ได้รับพีโรโมนเข้มข้น ๑๐๑๐ โมเลกุล ต่อ ลบ. ซม. มันจะบ้าคลั่งวิ่งเข้าประจันบานศัตรูลูกเดียว ส่วนมด Lasius alienus จะเตรียมตัวย้ายรัง ถ้ามันได้รับสัญญาณเข้มข้น ๑๐๗-๑๐๑๐ โมเลกุล ต่อ ลบ. ซม.
ค่าที่มดสามัคคีทำงาน-ต่อสู้กันเป็นสามารถอย่างนี้ คาร์ล มาร์กซ์ จึงถูกนักมดวิทยาแดกดันว่า ทฤษฎีสังคมนิยมของเขาท่าจะเหมาะกับพวกมดมากกว่าพวกมนุษย์ มาร์กซ์หวังลม ๆ แล้ง ๆ กับสัตว์ผิดเผ่าพันธุ์มาเสียนาน
แต่ฉันว่า ที่สังคมมดมันเพอร์เฟ็กต์ขนาดนี้ ก็เพราะหญิงเป็นใหญ่ต่างหาก ; )
นักมดวิทยาหลายคนถึงขนาดคิดว่า มดมันมีสปิริต จิตวิญญาณร่วมแห่งรัง (spirit of the hive) อยู่ในสายเลือด
แต่ก็ไม่ใช่ว่านักมดวิทยาทุกคนจะเชื่อเรื่องสปิริตของรัง Etienne Rabaud เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีคนบรรยายรูปพรรณสัณฐานไว้ว่า "ผมหงอก มีรอยยิ้มอย่างกับพญาปีศาจอยู่ใต้หนวดหงอกบาง ๆ ดูมุ่งร้าย" เขาเสนอมุมมองขวางโลกแต่น่าคิดว่า การที่มดมาอยู่ด้วยกันได้อย่างดี ก็เพราะผลประโยชน์ส่วนตัวกันทั้งนั้น การอยู่ด้วยกันย่อมเป็นการป้องกันตัวเองจากศัตรูได้มากกว่า ความสำเร็จของสังคมมดทั้งรังเป็นแค่ผลพลอยได้ของการที่มดมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเท่านั้น มดเป็น "สัตว์สังคม" ก็เป็นการทำท่าแค่เปลือกนอก โดยไม่มีเหตุผลชัดเจนในการดึงดูดมันให้มาทำงานด้วยกันแบบถวายชีวิตขนาดนี้เลย สังคมของพวกมันจึงเป็นแค่การรวมกันของมดแต่ละตัวเท่านั้น แล้วไม่ได้เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าเศษผงเหล็กที่ถูกแม่เหล็กดูดให้เข้ามารวมกันด้วย
|
|
|
|
อาจารย์เดชาก็ไม่เชื่อว่ามดจะมีสปิริตของรัง แต่คิดว่าความสามัคคีของมดเกิดจาก "คำสั่งของราชินี" มากกว่า
"สิ่งมีชีวิตทุกอย่าง ยกเว้นมนุษย์ สมองของเขาไม่อาจจะเรียนรู้ได้ดี ถ้าไม่มีใครสั่งมด เขาก็ทำไม่ได้ เขาถูกราชินีสั่ง แม้กระทั่งถูกกำหนดเพศ ว่าให้ออกมาเป็นเพศเมียเป็นหมัน ตัวนี้เป็นตัวผู้ ตัวนี้เป็นทหาร ที่ออกมาใหม่ ๆ ต้องดูแลตัวอ่อน ที่แก่ ๆ ต้องหาอาหาร บัญชาการเป็นสารเคมีพวกฟีโรโมน แม้กระทั่งกลิ่นที่ปล่อยให้แต่ละตัวในรังเดียวกันก็มาจากราชินี"
ความสามัคคีแบบอุทิศตนแบบไม่คิดชีวิตเช่นนี้ ทำให้ชารล์ส ดาร์วิน ปวดหัวมาแล้ว เพราะโดยทั่วไป เมื่อสัตว์ตกลงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นฝูง มันต้องมั่นใจแล้วว่ามันจะมีชีวิตที่ดีกว่า และชีวิตที่ดีกว่าก็หมายถึง เจออาหารง่ายกว่า เร็วกว่า เอาชนะศัตรูได้ง่ายกว่า ออกลูกออกหลานได้มากกว่า มีชีวิตอยู่ได้นานกว่า
แต่คุณมดกลับยอมอยู่ด้วยกัน อุทิศตัวทำงานหนักเพื่อรัง เพื่อราชินี และเพื่อน้อง ๆ ลูกอ่อน ทั้งที่พวกมันส่วนใหญ่เป็นหมัน (คืออดทำเรื่องอย่างว่าและอดออกลูกออกหลานเอง) แถมอายุสั้น ตายเร็วกว่าราชินีอีก ดูแล้วไม่เห็นจะดีกว่าการเลือกเป็นมดอยู่อิสระ ปั๊มลูกเองได้ และอยู่ได้จนแก่ เท่าราชินีตรงไหนเลย
ดาร์วินรีบหาคำตอบ กลัวพวกมดจะสั่นคลอนทฤษฎีการคัดเลือกทางธรรมชาติ (natural selection) ของนักวิทยาศาสตร์ใหญ่อย่างเขาสำเร็จ
เขาเสนอความคิดว่า มดไม่ได้เป็นข้อยกเว้นของทฤษฏีการหาทางอยู่ได้อย่างมีลูกมีหลานมากที่สุด อายุยืน และเอาตัวรอดจากศัตรูหรอก แต่กรณีของมดเป็นการอยู่รอดได้อย่างดีในระดับ "ครอบครัว" หรือ "ตระกูล" ของมันต่างหาก หาได้เป็นกรณีระดับ "ปัจเจก" อย่างเขาอื่นไม่
ถ้าหากเป็นอย่างนั้นแล้ว แสดงว่าพวกมดส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นมดงานสาวหมัน ก็มีความเห็นแก่ตัวอยู่เหมือนกัน แต่เป็นความเห็นแก่ตัวในระดับตระกูล มันจึงสละตัวยอมทุ่มเทเป็นฝ่ายสวัสดิการคอยสนับสนุนราชินีมด และพวกมดที่ออกลูกได้โดยไม่คิดถึงตัวเอง เพื่อให้ตระกูลของพวกมันเพื่อให้อยู่รอดในเวทีโลก
นักมดวิทยารุ่นหลังพยายามคิดให้ลุ่มลึกไปกว่านี้ และเสนอทฤษฎีแสนพิสดารต่าง ๆ นานาน่าปวดหัว แต่ก็ยังไม่มีใครไขปริศนาได้อย่างกระจ่างแจ้งจริง ๆ ว่า ทำไมมดถึงได้สามัคคีกันจนเป็นแบบอย่างที่มนุษย์มักคิดถึงและพูดถึงเสมอ (แต่ไม่เห็นมีใครเอาอย่างจริง ๆ สักที)
|
|
|
|
S U P E R O R G A N I S M
โคตรชีวิตของมวลมด
|
|
|
|
ข้าเป็นสัตว์เซลล์หนึ่งของมวลมดเช่นเดียวกับเจ้าทั้งสอง เรารวมอยู่ในอินทรีย์เดียวกัน
หน้า ๗๘
ทั่วทั้งนครมดจึงดังกระหึ่มไปด้วยเสียงทุบพื้นตุ้บ ตุ้บ ราวกับว่านครมดทั้งร่างกำลังหายใจหอบฮัก ฮัก ฮัก
หน้า ๑๘๙
Bert Holldobler กับ Edward Wilson สองสุดยอดปรมาจารย์มดของโลกเคยพูดเอาไว้ว่า "มดตัวเดียวคือความผิดหวัง มันไม่ใช่มดเลยจริง ๆ"
ทั้งคู่เป็นนักมดวิทยาที่สร้างตำนานให้วงการมดศึกษาด้วยการเขียนหนังสือขนาดใหญ่ยักษ์ ชื่อสั้น ๆ ว่า The Ants หน้าร่วม ๘๐๐ หน้า หนัก ๓.๔ กิโลกรัม ปกแข็งเย็บเชือก เป็นคัมภีร์ก้อนความรู้ขนาดมหึมาว่าด้วยมดที่คนบ้ามดทั้งสองตั้งใจรวบรวมขึ้น เพื่อส่งต่อให้คนบ้ามดรุ่นหลัง ดังที่เขียนไว้ในคำอุทิศแสนสั้นว่า "แด่ นักมดวิทยารุ่นต่อไป" คนบ้ามดและบ้าอ่านพันธุ์แท้เท่านั้นที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้จบ
Holldobler เป็นคนเยอรมัน อายุปัจจุบัน ๖๖ Wilson เป็นอเมริกัน แก่กว่า ๗ ปี ทั้งสองคนเป็นศาสตราจารย์ที่บ้ามดและแมลงมาแต่เด็ก ได้โคจรมาเจอกันที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อ ๓๓ ปีก่อน ทั้งคู่ตอบสนองแรงปรารถนาที่มีต่อมดอย่างดูเข้าท่าด้วยการศึกษาและสอนเรื่องมด ในความคิดของสองคนนี้ พื้นผิวโลกไม่ได้เป็นแค่ผิวโลกอย่างที่คนธรรมดาอย่างเราเห็นตาเปล่ากัน แต่เป็นเครือข่ายสหพันธ์มดอันใหญ่โตมโหฬาร ดังนั้น แผนที่โลกในสมองของพวกเขาจึงคือ แผนที่ถิ่นอาศัยของเผ่าพันธุ์มด เขาไปดูมดกันในทุกที่ รู้สึกว่าทุกแห่งเป็นเหมือนบ้านของประชาชนมดที่เขารู้จักดี เขารู้จักธรรมชาติของพวกมัน รู้จักภาษาของมัน และเข้าใจองค์กรสังคมของมดมากกว่าที่ "คน ๆ หนึ่งจะเข้าใจพฤติกรรมของคนด้วยกันเสียอีก"
|
|
|
|
ทำไมคนบ้ามดทั้งสองจึงคิดว่า มดหนึ่งตัวไม่ใช่มด แต่กลับเห็นว่ามดต้องทำตัวเป็นนิติบุคคลมากกว่าเป็นบุคคลธรรมดา ทำอะไรถึงจะมีค่ามีความหมาย
ก็เมื่อมดอยู่ตัวเดียว ความฉลาดของมันมักเป็นที่ข้องใจ มดทำคะแนนในการทดลองได้แย่กว่าลิง ๑,๐๐๐ เท่า หรือขณะที่มันทำงานขุดดินออกจากรู แล้วเกิดลืมไปว่ามันทำอย่างนั้นไปทำไม มันก็จะหยุดขุดดิน แล้วเดินหนีไปเสียเฉย ๆ
แต่ทำไมเมื่อมดมาอยู่รวมกัน มันถึงได้ดูฉลาดเฉลียว ทำอะไรต่ออะไรได้อย่างมีจุดมุ่งหมาย และทำได้สำเร็จเรียบร้อยได้ด้วยดี
ยกตัวอย่างการที่เป็นรูปธรรม
เริ่มจากการมองหาต้นมะม่วงที่มีรังมดแดงในระดับสายตาสักรัง เมื่อพบแล้วให้ใช้มีดคม ๆ ค่อย ๆ กรีดตรงรอยต่อระหว่างใบไม้ที่เป็นผนังรัง
คุณอาจผิดหวังนิดหน่อยที่ดีกรีความตื่นตกใจ
และความงงงวยของมดแดงไม่สูงอย่างที่หวัง ยังดีที่มีมดแดงหัวไวอยู่สองตัวที่เข้าใจถึงหายนภัยที่เกิดขึ้น มันจึงใช้กรามและขาดึงยึดรอยต่อที่ฉีกขาดเอาไว้ โดยไม่มีทางรู้ว่ามันต้องรอไปอีกนานเท่าไร กว่าเพื่อนมดตัวอื่นจะนึกขึ้นได้ว่าควรมาช่วยกันจับผนังรังเอาไว้ แล้วกว่าจะต้องรอเพื่อนมดที่ต้องไป "เบิก" ตัวอ่อนมาผลิตเส้นใยเย็บซ่อมแซมฝารังให้เชื่อมต่อกันเหมือนเดิมอีกเล่า
ถ้าคุณพังรังมดเอาไว้ตอน ๑๑ โมงครึ่ง เดินไปกินข้าวกะเพราะไข่ดาวแล้วกลับมาที่รังมดอีกครั้งตอนบ่ายโมง คุณจะเห็นว่ารังถูกซ่อมเสร็จแล้ว ทุกอย่างเข้าสู่สภาวะสงบเรียบร้อยอย่างกับไม่เคยเกิดเหตุอะไรมาก่อน
น่าพิศวงไหมว่า รังมดมันทำตัวเหมือนผิวหนังมนุษย์ที่สมานแผลเองได้ตามธรรมชาติ เหมือนกับว่ารังทั้งรังเป็น ซูเปอร์ออร์กานิซึม (super organism)
มดทั้งรังเป็นโคตรชีวิต ๑ ร่าง รวมร่างกายจิ๋ว ๆ ของมดทุกตัวเข้าไว้ด้วยกัน
|
|
|
|
ในหนังสือ ซูเปอร์มด ถั่วยักษ์ และแม่หมี "พี่อ้อย" แปล super organism ว่า "ซุเปอร์สัตว์" พร้อมอธิบายว่า "มดแต่ละตัวมีหน้าที่เปรียบเสมือนอวัยวะแต่ละส่วน เช่น มีราชินีเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ มีมดงานเป็นแขนขา มันจึงผิดกับ 'ราชา' อย่างเสือ ตรงที่ว่าอวัยวะของมันไม่จำเป็นต้องเชื่อมติดต่อกัน แต่สามารถกระจายออกไปได้กว้างไกล หัวใจอยู่ในรัง นิ้วอาจจะยืนออกไปหลายร้อยเมตร เพราะฉะนั้นมดถูกบี้ตายไปตัวก็เหมือนแค่เล็บหัก เลยไม่รู้ว่าระหว่างเสือกับมดใครเป็นราชากันแน่"
เก๋ไหม มดมีร่างกายที่แยกส่วนได้ และไม่ตายถ้าไม่ฆ่าราชินีที่เป็นหัวใจของรัง
คนสนใจมดอย่าง โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการนิตยสาร จีเอ็ม ก็คิดเหมือนกันว่า มดหนึ่งรังเหมือนมือยักษ์หนึ่งมือ
"คิดว่ามดรังหนึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่ง เวลามดมาขโมยอาหารแล้วเรากำจัดมัน มันหายไปตรงนั้น แต่เดี๋ยวมันก็มาอีก รู้สึกว่ามันเป็นมือที่งอกกลับมาใหม่ เพื่อจะกลับออกมาที่เดิมถ้าหากว่าที่เดิมยังมีอาหารอยู่"
โตมรเคยเห็นยาฆ่ามดที่เป็นอาหารให้มดขนกลับเข้าไปในรังเพื่อฆ่าราชินี "เราเลยยิ่งคิดว่า ถ้าจะฆ่ามดให้ได้ผล ต้องฆ่าข้างใน ไม่ใช่ข้างนอก คือฆ่าที่ต้นตอของชีวิต คือตัวของมัน ไม่ใช่ตัดระยางของมันที่งอกออกมา บางทีรังมันอาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง แต่ละตัวก็มีชีวิตของมัน เหมือนกับเซลล์เม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์ที่มีชีวิตของมันเหมือนกัน และมีเกิดมีดับจนกว่าตัวเราจะตายไป เซลล์เม็ดเลือดแดงนั้นก็จะตายไปด้วย"
อืม ท่าทางคนบ้ามดจะคิดถึงเรื่องความเป็นโคตรชีวิตของรังมดเหมือนกันโดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งชื่อ วิลเลียม นอร์ตัน วีลเลอร์ เคยนำเสนอถึงความสงสัยนี้ไว้ตั้งแต่ร้อยปีก่อนในบทความชื่อ "อาณาจักรมดในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่ง" (The Ant Colony as an Organism)
นักวิทยาศาสตร์หลายคนที่สงสัยในเรื่องนี้และพยายามหาคำตอบให้ได้ เสนอความคิดเรื่องมดทั้งรังเป็นโคตรชีวิตเอาไว้สองแบบ
แบบแรกคือ มด ๑ รัง เท่ากับ ร่างกาย ๑ ร่าง และแบบสองคือ มด ๑ รัง เท่ากับ สมอง ๑ ก้อน
|
|
|
|
มด ๑ รัง เท่ากับ ร่างกาย ๑ ร่าง
|
|
|
|
เมื่อใดที่มดประสบความกลัว ความสุข หรือความโกรธ ฮอร์โมนของมันจะไหลวนไปทั่วกาย แล้วแผ่กระจายออกไปนอกกาย แทรกผ่านเข้าไปในร่างกายของมดตัวอื่นด้วย โดยอาศัยเฟโร ฮอร์โมน หรือเฟโรโมนนี้เอง มดนับล้าน ๆ ตัวจะร้องอุทาน หรือร้องไห้ไปพร้อม ๆ กัน การได้รับรู้สิ่งที่ผู้อื่นประสบ และให้ผู้อื่นได้รับรู้ทุกสิ่งที่ตัวเรารู้สึกด้วย คงเป็นความรู้สึกประหลาดล้ำทีเดียว
หน้า ๒๐๙
ตามความเห็นของนักมดวิทยาบางคน เวลาที่พูดว่ามดทั้งนครเป็นร่างกาย ๑ ร่าง หรือเป็นโคตรชีวิต ๑ ตัวนั้น เขาไม่ได้เปรียบเปรย แต่เขาหมายความตามนั้นจริง ๆ
นั่นเท่ากับว่า มดแต่ละตัวเป็นเพียงหน่วยหนึ่งชีวิต หรือเป็นเซลล์เซลล์หนึ่งที่มีหน้าที่ในร่างกาย
มดงานเป็นเนื้อเยื่อสมานแผลเองได้ เป็นเม็ดเลือดขาวจัดการศัตรู เป็นมือแขนเคลื่อนไหวตะครุบอาหารเข้ารัง
การที่มดแต่ละตัวขย้อนอาหารจากกระเพาะ "สังคม" ถ่ายเทผ่านปากสู่ปาก (Trophallaxi) ให้เพื่อนที่หิวโซนั้น ก็เป็นดังการหมุนเวียนของเลือดและน้ำเหลือง
ราชินีเป็นอวัยวะเพศสำหรับสืบพันธุ์และควบคุมจำนวนประชากรของรังในฐานะ "ผู้ให้กำเนิดทุกกายใจของมวลมด" เป็นสมองควบคุมทิศทางของรัง และเป็นชีวิตของรัง
นครมดที่มีราชินีครองราชย์อยู่ตัวเดียว เมื่อใดที่ราชินีตายลง เมื่อนั้นหมายถึงกาลอวสานของมดทั้งรัง
รังจะ "กลายเป็นรังร้าง เพราะมดงานธรรมดาจะกระจัดกระจายไปที่อื่นเหมือนแตกทัพ โดนแมลงตัวอื่นกินไปหมด เพราะไม่มีใครบัญชาการ เหมือนบ้านแตกสาแหรกขาด ถ้ามองว่ารังมดเป็นซูเปอร์ออร์กานิซึม ก็ถือว่าสติแตก เพราะมันมีสมองเป็นราชินี" รศ. เดชา คิดว่าอย่างนั้น
การเทียบมดแต่ละตัวเป็นอวัยวะในร่างกายเป็นความคิดของนักมดวิทยาในยุคแรกเริ่ม นักวิทยาศาสตร์ถือตามความคิดนี้มานานถึง ๕๐ ปี
แต่ไม่นานมานี้ นักมดวิทยาคิดให้ซับซ้อนขึ้นด้วยการเพิ่มมิติด้านลักษณะและพัฒนาการของรังมด
ในทวีปอเมริกามีมดที่ "ปลูกอาหาร" ไว้กินเอง ชื่อว่ามดนักตัดใบไม้ (leaf cutting ant) อันเป็นมดสกุล Atta มดพวกนี้ทำสวนเห็ดราในห้องขนาดใหญ่ในรังใต้ดินของมัน แล้วเห็ดราพวกนี้ก็ไม่ยอมเติบโตในสถานที่อื่นด้วย จึงได้ชื่อว่า Attamyrces ซึ่งเป็นญาติกับพวกเห็ดกินได้ มดนักตัดใบไม้จะหอบเศษใบไม้กลับรังเพื่อ "ปลูก" เห็ดในห้องต่าง ๆ ภายในรัง
|
|
|
|
เอ็ดเวิร์ด วิลสัน เป็นคนค้นพบว่ามดนักตัดใบไมัรังที่เขาเก็บมาเลี้ยงไว้ในห้องแล็บ ทำงานเหมือนกับเป็นโรงงาน มดแต่ละตัวแบ่งหน้าที่กันทำอย่างลงตัว ไม่มีการก้าวก่ายกัน
สายพานโรงงานของมดรังนี้ อาจเขียนเรียงลำดับได้ว่า
๑. มดงานที่ออกไปหาใบไม้กลับมาที่รัง มันวางของที่ได้มาลงบนพื้น
๒. มดงานตัวเล็กกว่าเก็บชิ้นใบไม้นั้นไปตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ
๓. มดอีกพวกรับใบไม้ชิ้นเล็กพวกนั้นมานวดบดจนเป็นก้อนใบไม้ขนาดจิ๋ว เสร็จแล้วยกไปกองรวมกันให้ราขึ้นฟู ดูเป็นฟองน้ำ
๔. มดขนาดเล็กลงไปอีกจะดูว่า "ก้อนรา" บริเวณไหนอัดแน่นกันเกินไป มันจะคอยจัดวางยักย้ายให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม
๕. มดอีกกลุ่มจะนำราที่ได้ที่แล้ว มาบรรจุหีบห่อให้เป็นก้อน ทำความสะอาด แล้วส่งป้อนเพื่อนร่วมรัง
ทั้งหมดนี้ ราชินีจะเป็นผู้ควบคุมดูแลจำนวนประชากรให้เหมาะสมตามปริมาณอาหารที่มีอยู่ โดยไม่ออกไข่มาเป็นมดทหารมากเกินไป ไม่อย่างนั้นพวกมันจะกินอาหารจนมดงานหาอาหารให้ไม่ทัน จนระบบรวน และจะเลยเถิดไปถึงขนาดเป็นหายนะของรังทั้งหมดก็ได้
คุณนายราชินีจึงไม่มีสิทธิ์คำนวณพลาด แต่โอกาสพลาดของราชินีก็มีน้อยมาก เพราะทุกอย่างในรังถูกขับเคลื่อนด้วยระบบที่มีเสถียรภาพสุดยอด มดแต่ละตัวไม่มีทางเบี้ยวหรือนัดหยุดงานได้เลย หากมีมดสักตัวเกิดเบี้ยวงานขึ้นมา สายพานโรงงานของพวกมันจะติดขัด ทำให้เกิดสถานการณ์ "กดดัน" ขึ้นภายในรังได้
ระบบอันสมบูรณ์ที่ว่านี้จึงดูเหมือนระบบการทำงานของร่างกายเดียวกันมากกว่าจะเป็น "สังคม" ตามความคิดแบบมนุษย์ เพราะในสังคมของมนุษย์ที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนนั้น คนแต่ละคนยังคงเอกลักษณ์และความสนใจส่วนตัวที่แตกต่างกันไป แต่มดไม่เคยแสดงความสนใจส่วนตัวออกมาให้ใครเห็นเลย ทุกตัวทำงานตามหน้าที่ไปในทิศทางเดียวกันเป็น "ขบวนแถวของชีวิตซึ่งกำลังดำเนินอย่างสง่าผ่าเผยและภาคภูมิ" เหมือนมันรู้ว่า "ในการประกอบการงานนั้น คือการที่เธอ (= พวกมด) รักชีวิตอย่างแท้จริง" นั่นแหละ
น่าทึ่งยิ่งไปกว่านั้น คือการที่มดงานเปลี่ยนหน้าที่และตำแหน่งที่อยู่ในรัง จากศูนย์กลางขยับออกไปข้างนอกเรื่อย ๆ เมื่อมันแก่ขึ้นนั้น ก็เป็นดังการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและกระบวนการทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตเลย
คุณชักจะเชื่อเรื่องโคตรชีวิตของมวลมดแล้วไช่ไหมล่ะ
|
|
|
|
มด ๑ รัง เท่ากับ สมอง ๑ ก้อน
|
|
|
|
เซลล์ในสมองของคนเราแต่ละเซลล์ หรือมดแต่ละตัวในรัง ต่างก็ประมวลสารสนเทศหรือข้อมูลไว้ครบถ้วน แต่จำเป็นต้องอาศัยการรวมกันของเซลล์ทุกเซลล์หรือมดทุกตัว จึงจะเกิดจิตสำนึก หรือ 'ความคิดนูน' ขึ้นมาได้
หน้า ๒๖๔
Remy Chauvin เรมี โชแวง เป็นนักมดวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่แปลคำว่า myrmecologist ไว้อย่างน่ารักว่า "คนรักมด"
เขาเห็นว่าการที่คนเป็นนักมดวิทยานั้น เพราะเหตุผลสองข้อ ข้อแรกคือ การสำนึกได้ว่า มนุษย์ไม่ได้เป็นเผ่าพันธุ์ที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์วิวัฒนาการ ข้อสองคือ ความอยากจะเข้าใจองค์กรที่ดูลึกลับและเป็นปริศนาของมด
เขาและลูกศิษย์ ชื่อ Jean Meyer คิดอีกอย่างหนึ่งว่า การทำงานของมดเหมือนการทำงานของสมอง แต่เขาก็ไม่กล้าฟันธงไปเสียทีเดียวว่านครมดที่เชื่อมโยงกันเป็นสหพันธ์ คือสมองขนาดยักษ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างหลวม ๆ หรือเปล่า ทั้งคู่เพียงแต่สังเกตความเหมือนกันอย่างน่าประหลาดของของ ๒ สิ่งนี้
โรแวงบอกว่า มดมีปฏิกิริยาตอบต่อสิ่งที่มันสัมผัสซับซ้อนเหลือประมาณ การตอบสนองต่อประสาทสัมผัสได้อย่างดีทำให้มันสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยกันก่อร่างสร้างนครมดขึ้นมาได้ พวกมันทำงานกันเป็นเครือข่ายเหมือนสมอง เหมือนชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติที่ไม่ต้องมีโอปะเรเตอร์คอยคุม
เขาอธิบายถึงสมองของมนุษย์ก่อนว่า ภายในสมองนั้นมีกระแสไฟฟ้าส่งข้อมูลที่ไม่สม่ำเสมอไหลตามกันไปโดยไม่มีแบบแผนเฉพาะ กระแสไฟฟ้าที่ว่าสามารถไหลไปในทิศทางต่าง ๆ ได้แทบจะทุกเส้นทาง แม้เปลือกสมองสีเทาบางส่วนถูกตัดออกไป ข้อมูลในสมองก็ยังส่งต่อไปได้
|
|
|
|
รังมดก็เหมือนกัน ถึงเราจะฆ่ามดงานสักครึ่งหนึ่งทิ้งไป รังทั้งรังก็ไม่สะเทือน เพราะราชินีจะออกมดงานล็อตใหม่ขึ้นมาทดแทนในจำนวนที่มากกว่าเก่าด้วยซ้ำ
Meyer ยังค้นพบอีกด้วยว่า สมองของมดแต่ละตัวมีกลไกแยกแยะข้อมูลจริงกับข้อมูลเท็จออกจากกันได้ สมมติว่า มดมันรู้ว่าจะต้องยกศพเพื่อนไปทิ้ง เมื่อศพ :
๑. ส่งกลิ่น
๒. แข็ง
๓. มีลักษณะทั่วไปที่บอกว่าไม่มีชีวิตแล้ว
ถ้าหากมดที่นอนแน่นิ่งอยู่แสดงความเป็นศพตามลักษณะข้างต้นอย่างน้อย ๒ ใน ๓ ข้อ มดจะขนศพไปทิ้งเสีย แต่ถ้าเกิดข้อมูลขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง มดจะหยุดการขนย้าย จนกว่าจะถูกกระตุ้นด้วยข้อมูลชุดใหม่อีกครั้ง
ขยายสเกลออกมาหน่อย รังมดทั้งรังก็ทำงานตามกลไกเดียวกันนี้ เพียงแต่เปลี่ยนจากสัญญาณกระตุ้นจากกลิ่นหรือภาพ มาเป็นเพื่อนร่วมรังเป็นตัว ๆ
มดอย่างน้อยสองตัวที่ส่งข่าวอย่างเดียวกัน สามารถกระตุ้นให้เพื่อนอีกตัวหนึ่งทำงานได้ ด้วยวิธีนี้เองที่มดทุกตัวจะทำงานไปในทิศทางเดียวกันอย่างพร้อมเพรียง จนโชแวงเปรียบได้ว่า มด ๑ ตัว = เซลล์ประสาท ๑ เซลล์
ว่าแต่ว่า ถ้ามดทั้งรังทำงานเป็นสมองหนึ่งก้อนจริง ๆ แล้ว มันจะมีความรู้สึกนึกคิด มีจิตสำนึก หรือมีความมุ่งมาดอย่างที่สมองคนมีด้วยหรือเปล่านั้น
ยังไม่มีใครตอบได้
|
|
|
|
สหพันธ์มด
|
|
|
|
สหพันธ์มด - การรวมกันของนครมดที่มีชาติพันธุ์เดียวกัน โดยเฉลี่ย
สหพันธ์มดแดงป่าสนแต่ละแห่งประกอบด้วยรังมด ๙๐ รัง ครอบคลุมเนื้อที่ ๖ เฮคตาร์ มีรอยทางเดินเห็นเป็นแนว ๗.๕ กิโลเมตร และเส้นทางประกลิ่น ๔๐ กิโลเมตร
หน้า ๔๕๗
เพื่อทำตนให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด คนเราได้ทำให้สมองพองโตเสียจนมีขนาดใหญ่มโหฬารราวกับดอกกะหล่ำสีออกชมพู
เพื่อผลลัพธ์เดียวกันนี้ มดเลือกใช้วิธีทำให้สมองจิ๋ว ๆ หลายหมื่นหลายพันสมองมารวมตัวกันเป็นระบบสื่อสารอันละเอียดอ่อนซับซ้อน
หน้า ๔๓๗
นักมดวิทยาอย่างโชแวงรู้สึกเอาจริง ๆ ว่า ถ้ามันอยู่ตัวเดียวน่ะ มดมันโง่แบบไม่มีทางรักษา แต่เมื่อไรที่รวมเป็นรังเมื่อไหร่ล่ะเป็นอีกเรื่อง
คุณผู้อ่านที่มีประสบการณ์รบกับมดมาบ้าง ย่อมรู้ดีว่า ไม่ว่าเราจะใช้ไม้ไหน พวกมดก็เอาตัวรอดได้ทุกที นักวิทยาศาสตร์ที่ทดลองเอายาฆ่ามดไปโรยรอบ ๆ ต้นไม้ เพื่อไม่ให้มันขึ้นไปเก็บน้ำหวานจากเพลี้ยที่อยู่บนต้นไม้นั้นยังต้องตะลึง เมื่อพบว่าพวกมดขุดอุโมงค์รอดใต้ดินที่มียาโรยไว้ขึ้นต้นไม้ไปได้อย่างสบายใจเฉิบ
ในอเมริกามีมดแสนฉลาดมี "อาชีพ" หลายหลากอย่างกับเป็นมนุษย์ มดบางพวกเลี้ยงเพลี้ยเอาน้ำหวาน บ้างออกไปเก็บเมล็ดพันธุ์มาสะสมไว้ในรัง บ้างรู้จักทอเส้นใยซ่อมรังเอง บ้างตัดใบไม้เอามาไว้เพาะปลูกนรัง บ้างฝงกายขออาศัยอยู่ในรังมดอื่น ก่อนจะลงมือฆ่าตัวอ่อนและดักแด้ของเจ้าบ้านกิน บ้างก็ทำตัวเป็นนายทาสขโมยตัวอ่อนจากรังอื่นจนฟักออกมาเป็นตัวแล้วใช้ให้เป็นทาสทำงานในรังของมัน และบางพวกก็เป็นนักรบเร่ร่อน
|
|
|
|
คงจะมีแต่เผ่าพันธุ์มดเท่านั้นแหละที่ทำอะไรหลายอย่างคล้ายคนขนาดนี้ หรือว่ามันมีภูมิปัญญา
โชแวงยังเชื่อด้วยว่า มดที่ฉลาดที่สุดหากพวกมันเอาสมองมารวมกันให้ได้มากที่สุด นั่นคือเมื่อมันอยู่ด้วยกันเป็นสหพันธ์ และสหพันธ์ที่น่าจะฉลาดที่สุดจึงควรเป็นอาณาจักรที่มีมดมากที่สุด
เห็นไหมว่าธรรมชาติไม่ปล่อยให้มดถูกขังอยู่ในร่างกายเล็ก ๆ เสมอไปหรอก ถ้าคิดจากฐานที่ว่า ความฉลาดจะพัฒนาต่อไปไม่ได้ ถ้าขนาดสมองไม่ได้ใหญ่ตามไปด้วย แต่ถ้ามีคนเกิดสงสัยว่ามดเอาสมองมารวมกันและเพิ่มเข้าไปได้เรื่อย ๆ ไม่หยุดล่ะ
ถ้าเป็นอย่างนั้นได้จริง ความฉลาดของมดจะก้าวกระโดดไปเลยใช่ไหม คิดดูว่า ถ้ามดมาอยู่รวมกันสักล้านตัว แล้วเราเอาสมองของทุกตัวมารวมกันทั้งหมดจะหนักราว ๑๐๐ กรัม เป็นขนาดที่สมบูรณ์พอที่จะเชื่อมโยงเส้นประสาทเข้าด้วยกันอย่างซับซ้อนมากกว่าสมองของหนูเสียอีก
และถ้าหากอาณาจักรต่าง ๆ มารวมกันจนกลายเป็นสหพันธ์ที่มีมดเป็นสิบ ๆ ล้านตัว จะอัศจรรย์ขนาดไหน
แต่ในความเป็นจริง เรื่องมันออกจะธรรมดา ไม่แฟนตาซีพาฝันอย่างที่นึกไว้
สหพันธ์มดที่โชแวงใฝ่ฝันไว้นั้นถึงมีอยู่จริง แต่ก็น้อยมาก ๆ แถมยังไม่มีใครศึกษาอย่างลึกซึ้ง เท่าที่มีข้อมูลอยู่ก็อาจพอทำให้คุณ ๆ ตื่นเต้นได้บ้างว่า
***** สหพันธ์มดชานเมืองฟิลาเดลเฟียมีรังมดประกอบเป็นสหพันธ์หนึ่ง อยู่มากถึง ๑,๓๐๐ - ๑,๕๐๐ รัง ในพื้นที่เพียงไม่กี่เฮกตาร์ ประมาณได้ว่ามีมดรวมกันอยู่มากถึง ๔๕๐ ล้านตัว ข่าวร้าย...นักมดวิทยายังกังขาข้อมูลชุดนี้อยู่ ความน่าตื่นเต้นจึงลดลงมาเหลือ * ดาวเดียว
*** มีคนพบสหพันธ์รังมดในป่าแดง มีรังมดรวมกันทั้งหมด ๘๙ รัง ภายในรัศมี ๗.๙ กิโลเมตร คาดว่าจะมีประชากรมดเกือบ ๓ ล้านตัว
** พบสหพันธ์มดขนาด ๑๐๐ รัง บนที่ราบระหว่าง Namur กับ Dinant ครอบคลุมพื้นที่ ๓๐ เฮกตาร์
|
|
|
|
นักมดวิทยาที่เข้าไปเก็บข้อมูลในสหพันธ์เหล่านี้ เอาข้อมูลมารวมกัน และพบว่าภายในสหพันธ์มีระบบระเบียบพอจะสรุปออกมาได้เหมือน ๆ กันว่า :
๑) มดงานในสหพันธ์เดียวกัน แม้จะอยู่ต่างรังกันจะไม่มีการทำร้ายกัน แม้ว่ารังจะอยู่ห่างกันถึง ๒๐๐ - ๓๐๐ เมตร ก็ตาม
๒) ภายในสหพันธ์หนึ่ง ๆ รังที่มีราชินีครองราชย์ติดต่อกันไปเรื่อย ๆ จะตั้งอยู่ที่เดิมได้นานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะรังที่ตั้งบนที่ราบและในบริเวณปลอดต้นไม้ นอกจากรังจะยังอยู่แล้ว เส้นทางหาอาหารสายสำคัญ ๆ ของรังก็ยังอยู่เหมือนเดิมด้วย
๓) จะไม่มีผู้บุกรุกเข้าไปในสหพันธ์ได้ โดยไม่ถูก "เตือน" จากมด นักมดวิทยาหลายคนมีประสบการณ์ถูกฝูงมดห่าใหญ่ "หล่น" ใส่ตัวมาแล้ว
๔) รังมดในสหพันธ์ไม่จำเป็นต้องมีขนาดเท่ากัน แต่จะมีรังขนาดยักษ์ที่สูงราว ๑ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓-๔ เมตร ตั้งอยู่ที่ศูนย์กลาง
๕) นักมดวิทยาทุกคนได้ยินเสียงคล้ายฝนตก ที่เกิดจากมดเป็นล้าน ๆ ตัวคลานบนใบไม้
และบัดนี้ เริ่มมีคนเริ่มสงสัยแล้วว่า มดมันจะ "รู้" ขนาดรู้จักแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างรัง ภายในสหพันธ์เดียวกันหรือไม่ ในเมื่อมันทำอะไรต่ออะไรมาแล้วตั้งแยะ ทั้งการเกษตร ทั้งปศุสัตว์ และทำไมมันถึงจะทำการค้าบ้างไม่ได้
ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ใช่ไหม ใครจะรู้ว่าพวกมดกำลังก้าวหน้าไปขนาดไหน
|
|
|
|
กรณีคนถือสิทธิ์ทับที่มด
|
|
|
|
แมลงนั้นต่างปรัชญา ต่างมิติ มิติแห่งพื้นที่กับเวลาของมันก็ต่างกับของสัตว์อื่น ๆ โดยสิ้นเชิง แมลงนั้นมีวิธีแก้ลำสารเคมีที่เป็นพิษทุกชนิด ด้วยการทำตัวให้ดื้อยา มันรู้จักสร้างภูมิต้านทานสารพิษ...ด้วยเหตุนี้เอง ช่องสองร้อยปีที่แล้วมานี่ เราพลาดไปถนัดใจที่เอาแต่เพิ่มสารพิษในยาฆ่าแมลงไม่ได้หยุดหย่อน จนกระทั่งยาฆ่าแมลงนี่ฆ่าคนเสียมากกว่าแมลง พวกเราเองแหละที่สร้างสรรค์แมลงพันธุ์ที่ทนทานขนาดหนัก สามารถบริโคภพิษชนิดร้ายแรงที่สุดได้โดยไม่สะทกสะท้าน
หน้า ๑๐๖
ในที่ดินผืนหนึ่ง ๆ ที่คนมีเอกสารสิทธิ์ในการเข้าครอบครองนั้น มดกลับไม่มีของที่ว่า ทั้งที่มันก็ควรแสดงสิทธิ์ในฐานะเป็นผู้อยู่อาศัยเหมือนกัน แถมมันยังมาอยู่ก่อนเราด้วยซ้ำ
แต่เราก็กลับหงุดหงิดรำคาญเมื่อพวกมันทำในสิ่งที่เราชอบหรือไม่อยากให้มันทำ โดยเฉพาะเวลาที่ปัจจัยสี่ของเราถูกมันกัดทำลาย แทรกตัวอยู่ หรือขโมยไปได้แทบทุกอย่าง
เมื่อฉันวิ่งโร่ไปถามอาจารย์เดชาเรื่องที่ว่าทำไม มดมันต้องเข้าไปอยู่ในโมเด็มด้วย อาจารย์บอกว่า "มดละเอียดชอบขึ้นตามปลั๊กไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะมันมีความชื้นที่เหมาะสม อุ่น มีซอกเล็ก ๆ สำหรับหลบซ่อน ป้องกันตัวเองได้"
ว่าแต่มันจะย้ายวิกมาอยู่ในเครื่องไฟฟ้าเราตลอดกาลเลยล่ะหรือ
"มดไม่ได้ทิ้งรัง มันมาอยู่ชั่วคราว ที่จริงมดก็อยู่รอบบ้านเรา แต่ที่มดเข้าบ้านเรามีอยู่ด้วยกัน ๒ สาเหตุคือ ต้องการหาอาหาร และต้องการหาที่อยู่อาศัยใหม่ แต่ที่อยู่อาศัยใหม่ไม่ได้เป็นที่อยู่ถาวร เพราะฉะนั้น ถ้าเราดูแลบ้านให้สะอาด เก็บของให้เข้าที่ อย่าให้มันรก หรือเป็นที่อับชื้น ปิดขยะให้มิดชิด มดจะเข้าบ้านน้อยมาก ถ้าเข้ามาเดี๋ยวเดียวก็ออกไปแล้ว"
อาจารย์เดชากำลังสีซอให้กุลสตรีอย่างฉันฟังอยู่นี่นา
ดีที่อาจารย์ปลอบให้ฉันอุ่นใจขึ้นนิ้ดหนึ่งว่า ที่มดขึ้นเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายในบ้านคนเรา จนทำให้แอร์ คอมพิวเตอร์ เครื่องทำน้ำอุ่น สวิทซ์ไฟ สแกนเนอร์ และอื่น ๆ อีกมากพังกันไปเป็นเครื่อง ๆ นั้น เป็นเรื่องเล็ก
"ที่ขึ้นตามบ้านเป็นเครื่องใช้เสียหายไม่กี่สตางค์ แต่ผมมีบริษัทที่มาหาหลายบริษัทแล้ว เป็นบริษัทที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าส่งไปญี่ปุ่น พอของไปถึงญี่ปุ่นแล้วเกิดเจอมดอยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้า เขาตีสินค้ากลับมาเสียหายเป็นหลายร้อยหลายพันล้าน เขาจึงให้เราเช็คว่าเป็นมดไทยหรือมดญี่ปุ่น" จะได้หาว่าฝ่ายไหนจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด แน่นอนว่าไม่ใช่ฝ่ายมด
"ปรากฏว่าเป็นมดญี่ปุ่น"
|
|
|
|
แล้วเรื่องที่มดนอนตายข้างโมเด็มล่ะคะ
"มดตายเพราะถูกไฟในโมเด็มชอร์ต พอมันตาย พวกมันก็ขนเพื่อนมาทิ้งเป็นการทำความสะอาด เหมือนกับเราทิ้งขยะ
มดก็เหมือนกัน ถ้ามีใครตายก็เอาออกมาข้างนอก ถ้าเป็นรังที่สมบูรณ์แบบจะมีห้องทิ้งขยะ ห้องของมดงานตัวอ่อน มดงานตัวแก่ ห้องไข่ เมื่อในโมเด็มไม่มีห้อง มันก็เอาออกมาทิ้งข้างนอก"
พูดได้ว่า ระหว่างคนกับมดเป็นเรื่องของผลประโยชน์ล้วน ๆ คนเดือดร้อนเพราะต้องเสียผลประโยชน์ ขนาดบางประเทศต้องตรากฎหมายว่ามดเป็นสัตว์แห่งภัยพิบัติมาตั้งแต่ ๑๐๐ ปีก่อนแล้ว มดยังเป็นสัตว์ที่เดินไปเดินมาอยู่ในบ้าน โดยที่เราไม่ได้เลี้ยงมัน หรือตั้งใจจะให้มันอยู่ในบ้าน เมื่อมดไม่ได้เป็นสัตว์เลี้ยง ไม่ว่ามันจะทำอะไร เราก็เดือดร้อนรำคาญใจไปหมด ไม่เหมือนแมวหมาที่เราเลี้ยงไว้ด้วยความรักความหลง ถึงจะหมดเปลืองเงินทองไปเท่าไร จะทำสกปรกขนาดไหน จะดื้อแพ่งอย่างไร เราก็ยังรักมันอยู่ดี ฐานันดรของมดในบ้านคนจึงเทียบได้กับแมลงสาบ แมลงวัน ยุง และปลวก แม้ว่ามดจะมีคุณกับระบบนิเวศนอกบ้านมากเพียงใด
มดควรจะรังเกียจมนุษย์มากกว่าหรือเปล่า (ถ้ามันรังเกียจเราเป็นน่ะนะ) เพราะมดในบ้าน เช่น มดละเอียด มดฝอย มดคันไฟ ที่จริงเป็นก็มดที่เคยอยู่ในป่าเสื่อมโทรม ป่าถูกทำลาย หรือพื้นที่เปิดโล่งมาก่อน ว่าแต่ใครที่มาตั้งบ้านทับที่ของมันกันละหนอ
"จากการสำรวจมดในบ้านมีไม่ถึง ๑๐ ชนิด เช่น มดเหม็น มดละเอียด มดตาลีตาลาน (มดดำที่วิ่งเร็ว ๆ - มันกัดแต่เราไม่รู้สึกเจ็บ หลบศัตรูโดยการวิ่งหนีอย่างเดียว) มดคันไฟ ส่วนมดไม้สีน้ำตาลจะเจอตอนกลางคืนเท่านั้น มดตะนอยกับมดแดงไม่เข้าบ้าน จะเข้าบ้านก็ต่อเมื่อเรากวนมันหรือมันไม่มีอาหาร มดตาลีตาลานชอบกินน้ำตาล แต่มดเหม็นกินอาหารทั่วไป มดละเอียดกัดด้วย และกินได้หมด มดคันไฟจะเข้าบ้านต่อเมื่อมีเศษเนื้อ ซากสัตว์ ส่วนมดไม้อยู่รอบบ้าน แต่ไม่ยุ่งกับเรา ค่อนข้างแยกตัวต่างหาก"
คุณและคุณแม่บ้านหลายคนอาจเคยนึกฝันถึงว่า ถ้าในโลกนี้ไม่มีมดอยู่จะเป็นอย่างไร
"มดเป็นสัตว์ที่ปรับตัวค่อนข้างเก่ง ง่าย ถ้าเป็นพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ มดจะเป็นกลุ่มแรกที่เข้าไปก่อน ถ้ามดปรับตัวไม่ได้ในที่นั้น ก็ไม่ต้องไปมองหาสัตว์อื่น แต่การที่มดเข้าไปก็ไม่ถึงกับเป็นสัญญาณอะไร เป็นการเข้าไปหาอาหารหรือลองผิดลองถูก สัตว์อื่นต้องรอเวลาให้สภาพแวดล้อมเหมาะเสียก่อนถึงจะเข้าไปอยู่ได้ มดเองถ้าหากไม่มีอาหารมันก็ออกไปหาที่อื่นต่อ ขนาดที่แห้งหรือร้อนมันก็ยังเข้าไปอยู่อาศัยได้
"แม้แต่มนุษย์ก็ต้องมองว่าเราจะอยู่ได้หรือไม่ ถ้าตรงนั้นไม่มีมดอาศัยอยู่เลย" (โดยสภาพแวดล้อมเป็นตัวบังคับ ไม่ใช่เพราะเรากำจัดมัน)
นั่นซี
|
|
|
|
แม่
|
|
|
|
ช่วงเวลาที่มนุษยชาติธำรงอยู่ในโลกนี้เป็นเพียง 'เหตุการณ์สั้น ๆ ตอนหนึ่ง' ในยุคขัยอันยาวนานที่พวกเขาครองความเป็นเจ้าโลกอยู่อย่างไม่มีหน้าไหนจะทาบติด
พวกมดต่างหากที่มีจำนวนมากมายมหาศาล มากมายกว่าเราอย่างมิอาจเทียบกันได้ พวกเขามีนครมากกว่าเรา เขาครอบครองแหล่งนิเวศมณฑลมากกว่าเราหลายเท่า พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ไ้ด้ทั้งในเขตแห้งแล้งกันดาร เขตที่เยือกเย็น เขตที่ทั้งร้อนทั้งชื้น เขตที่ไม่มีมนุษย์หน้าไหนจะรอดชีวิตอยู่ได้ ไม่ว่าสายตาของคนเราจะกวาดไปทางไหน เราจะเห็นมดอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง
พวกเขาอยู่ในโลกนี้มาก่อนเราร่วมร้อยล้านปี ถ้าคำนึงถึงว่ามดเป็นหนึ่งในจำนวนสิ่งมีชีวิตเพียงหยิบมือเดียวที่รอดชีวิตมาได้จากระเบิดนิวเคลียร์ อีกร้อยล้านปีข้างหน้า เมื่อมนุษย์สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว พวกเขาก็ยังมีหวัง ยังยืนยงคงอยู่ต่อไปได้อีก
หน้า ๔๔๔-๔๔๕
เกิน ๓๐ ปีมาแล้วที่แม่ของฉันขับเคี่ยวกับมดในฐานะเป็นคุณแม่บ้านคนหนึ่ง น้ำร้อน ชอล์กกันมด ถ้วยรองขาโต๊ะ ยาฉีดมดเคมี ยาฉีดมดออร์กานิคสูตรทำจากส้ม แป้งมัน และอะไรอีกหลายแหล่ แม่ฉันใช้มาแล้วทั้งนั้น แต่ไม่เห็นจะปราบมดหมู่ให้อยู่หมัดได้เลย
วันหนึ่ง ไม่ทันที่ฉันจะเขียนสารคดีเรื่องนี้จบ ฉันเห็นมดคันไฟมหาศาลกำลัง "ตกถังข้าวสาร" ของบ้านเรา พวกมันกำลังหลงระเริงยุ่บยั่บกับข้าวสารจำนวนมากในถัง ฉันโวยวาย แม่ แม่เห็นหรือยังนี่ พวกมดเอาอีกแล้ว
แม่กลับตอบมาว่า "ไม่เป็นไรหรอก แม่บอกมันแล้วว่าแบ่งกันกินก็ได้"
"แต่ถ้าตักลงไปโดนตัวกัน ต้องจมน้ำตายตอนซาวข้าว ก็อย่ามาว่ากันล่ะ"
แม่จะทำใจได้จริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่มดในห้องฉันได้ถอยทัพไปจากโมเด็มมาได้หลายเดือนแล้ว
การเข้ามารุกรานในระยะใกล้ของพวกมัน ทำให้ฉันสนใจมันขึ้นอีกนิดหน่อย
แต่ถ้าจะเรียกว่าบ้ามด รักมด มองเห็นสุนทรียภาพในร่างกายของมันแล้ว
ยังอีกไกล
|
|
|
|
ขอขอบคุณ
|
|
|
|
รศ. เดชา วิวัฒน์วิทยา ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ "พี่อ้อย" และ โตมร ศุขปรีชา
|
|
|
|
หนังสือประกอบการเขียน
|
|
|
|
- แบร์นาร์ แวร์แบร์ (๒๕๓๙), กองทัพมด, กัญญา แปล, สำนักพิมพ์ตรัสวิน เชียงใหม่.
- Bert Holldobler and Edward O. Wilson (1990), The Ants, Springer-Verlag Berlin Heidelberg London Paris Tokyo and Hongkong.
- Bert Holldobler and Edward O. Wilson (1994), Journey to the Ants, Harvard University Press Massachusetts USA. and London England.
- Niko Tinbergen (1971), Animal Behaviour, Life Nature Library, Time Inc. USA.
- Peter Farb (1971), The Insects, Life Nature Library, Time Inc. USA.
- Ray North (1996), Ants, Whittet Books London England.
- Remy Chauvin (1971), The World of Ants: A Science Fiction Universe, translated by George Ordish, Hill and Wang New York USA.
|
|