นับจากเขื่อนปากมูลที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งกั้นขวางแม่น้ำมูน สร้างเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าในปี ๒๕๓๗ ชาวบ้านที่เคยทำประมงในแม่น้ำมูนก็ได้รับความเดือดร้อน เพราะพันธุ์ปลาและปริมาณปลาลดลง ซึ่งชาวบ้านได้ต่อสู้เรียกร้องเรื่องนี้ตลอดมา มิถุนายน ๒๕๔๔ คณะรัฐมนตรีมีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทดลองเปิดประตูเขื่อนปากมูลทั้ง ๘ บานเป็นเวลา ๑ ปี และตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อศึกษาทางด้านนิเวศวิทยา ชนิดของพันธุ์ปลา เปรียบเทียบระหว่างปิดและเปิดเขื่อนว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ในอีกด้านหนึ่ง คณะนักวิจัยไทบ้าน (ชาวบ้าน) ของกลุ่มสมัชชาคนจนกรณีปากมูน อันเกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารวบรวมชนิดพันธุ์ปลาต่าง ๆ ที่กลับเข้ามายังแม่น้ำมูนหลังการเปิดประตูเขื่อน โดยมีชาวบ้าน ๒๐๐ คนจากหมู่บ้านตลอดสองฝั่งแม่น้ำมูนเข้าร่วมเป็นนักวิจัย การจำแนกชนิดปลา กระทำโดยพรานปลาท้องถิ่น ผู้เป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่จำนวน ๒๐ คน โดยมีเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-ประเทศไทย เป็นผู้ช่วยวิจัย และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มมีการเปิดประตูเขื่อนปากมูล เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๔ ถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๕ ครอบคลุมพื้นที่ ๖๕ หมู่บ้านบริเวณปากแม่น้ำมูน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเขื่อนปากมูล พ่อดำ ชาตะพันธ์ พรานปลาคนหนึ่งแห่งลุ่มน้ำปากมูนกล่าวว่า "เราเป็นเจ้าของปัญหา เป็นคนที่ได้รับผลกระทบ ทรัพยากรของเรา ชีวิตของเราถูกทำลาย เมื่อเปิดเขื่อน ปลากลับมา ธรรมชาติกลับมา ชีวิตเราก็กลับมาด้วย ทำยังไงให้คนอื่นได้เห็น ได้เชื่อในสิ่งที่เราอยากจะบอก ก็เลยคิดว่าต้องจดบันทึก ต้องรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าให้คนอื่นมาทำ ก็กลัวเขาจะทำได้ไม่ถูกต้องครบถ้วน เพราะคนในเมืองเขาไม่เข้าใจวิถีชีวิตอย่างเรา ไม่รู้เรื่องปลา เรื่องแก่ง เรื่องแม่น้ำเหมือนเรา ก็ต้องมาถามเราอยู่ดี ก็เลยคิดว่าทำเองดีกว่า..."