|
|||||||||||||
|
วันชัย ตัน /ภาพประกอบ : Din-Hin |
|||
ใครจะนึกออกว่า เบื้องหลังห้างสรรพสินค้าอันหรูหรา ภัตตาคารชั้นหนึ่ง และถนนที่สะอาดตา ในมหานครสิงคโปร์ จะมีสลัมคนจนไม่ต่างจากสลัมคลองเตย อาล้อ พ่อหม้ายชาวสิงคโปร์หาเลี้ยงชีพลูก ๆ อีกสี่คน ด้วยการรับจ้างแบกโลงศพและหาปลา เขามีรายได้ประมาณเดือนละ ๔๐๐ เหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ ๙,๓๖๐ บาท ในขณะที่รายได้เฉลี่ยแต่ละครอบครัว ของประเทศสิงคโปร์ ตกประมาณ ๕,๐๐๐ เหรียญสิงคโปร์ต่อเดือน หรือประมาณ ๑๑๗,๐๐๐ บาท " ช่วงหลัง ๆ นี้ ไม่ค่อยมีงานทำมาก เมื่อก่อนผมจะได้เดือนละ ๕๐๐ ถึง ๗๐๐ เหรียญ แต่ช่วงนี้เศรษฐกิจมันแย่" พ่อหม้ายวัย ๓๕ กล่าว ที่อยู่ของเขามีเพดานเป็นรูโหว่ แม่ผู้แก่เฒ่าของเขาช่วยเลี้ยงดูลูกทั้งสี่คนของเขา ในอพาร์ทเม้นท์ที่แออัดและเสื่อมโทรม และเด็กทั้งสี่ได้เรียนหนังสือด้วยเงินบริจาค เพื่อนบ้านที่อยู่ไม่ห่างไกลของอาล้อ คือคุณยายอาโปวัย ๗๒ ปี ยังต้องทำงานรับจ้างทำความสะอาด เพื่อหาเงินวันละไม่ถึง ๓ เหรียญ ( ๗๐บาท ) เพื่อหาเลี้ยงตัวเองและพี่สาวคนหนึ่ง อาหารอย่างหรูในชีวิตที่คุณยายทั้งสองมีปัญญาซื้อกินได้ก็คือ ผักสดในตลาดเท่านั้น ส่วนเนื้อสัตว์ทั้งหลายเลิกฝันไปหลายสิบปีแล้ว "พวกเราต้องหากินให้อยู่รอดไปวัน ๆ " คุณยายเล่าให้ฟัง หญิงชราทั้งสองไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มการกุศล หรือรัฐบาลเลย และเงินสะสมก้อนสุดท้ายในชีวิตของทั้งคู่ หมดไปกับการรักษาพยาบาลเมื่อปลายปีที่แล้ว ทั้งอาล้อและคุณยายเป็นตัวอย่างของคนจน ที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแล จากรัฐบาลสิงคโปร์ เช่นเดียวกับผู้ตกงานคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ไม่มีงานทำ ในปีค.ศ. ๒๐๐๒ รัฐบาลสิงคโปร์ใช้จ่ายเงินเกือบ ๑๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสิงคโปร์ (๒๓๔,๐๐๐ ล้านบาท) เพื่อใช้ในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ในการรักษาความมั่นคงทางการทหาร แต่ใช้เงินเพียง ๖๔๘ ล้านเหรียญสิงคโปร์ (๑๕,๐๐๐ ล้านบาท) ในการพัฒนาชุมชน และการกีฬา ซึ่งรวมทั้งสวัสดิการสังคม ทุกวันนี้เศรษฐกิจของสิงคโปร์ถดถอยมากที่สุดในรอบ ๔๐ ปี โอกาสที่รัฐบาลสิงคโปร์จะหันมาสนใจกลุ่มคนจนในประเทศ ก็ไกลออกไปมากขึ้น "นี่เป็นภาวะใหม่ที่เรากำลังเผชิญ รัฐบาลจะสร้างเครือข่ายความมั่นคงได้อย่างไร ในขณะที่เสาหลักทางเศรษฐกิจยังไม่มั่นคง " ผ.ศ.เงียม ต้า เหลียง คณะสังคมสงเคราะห์มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ให้ความเห็น อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีแผนให้เงินช่วยเหลือในระยะสั้นแก่คนจน โดยเน้นหนักว่า ชาวสิงคโปร์เหล่านี้ จะต้องพยายามยืนด้วยตัวเองให้ได้ "เราพยายามที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือคนที่ลำบาก แต่ไม่ใช่เข้าไปทำลายสำนึกในการช่วยเหลือตัวเองของพวกเขา " นายกรัฐมนตรี โก๊ะ จ๊ก ตง กล่าว "ในการช่วยเหลือ เราต้องระมัดระวังในการคัดเลือกคน ที่สมควรจะได้รับความช่วยเหลือจริงๆ " รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาชุมชนของสิงคโปร์กล่าวสำทับ แต่ในความเป็นจริงการช่วยเหลือระยะสั้น อาจใช้ไม่ได้ผล สำหรับคนยากจนสิงคโปร์ ที่ส่วนใหญ่เป็นคนชราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และหัวหน้าครอบครัวที่พิการ ไม่สามารถทำงานได้ " ความช่วยเหลือทั้งหมดจะเป็นเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น จึงไม่มีหลักประกันว่าพวกเขาจะอยู่ในสภาพที่มั่นคง ซึ่งคนยากจนเหล่านี้ ส่วนใหญ่ได้เรียนหนังสือมาน้อยมาก" แพทรีเซีย คอง เจ้าหน้าที่สวัสดิการสังคมกล่าว คนจนสิงคโปร์จึงดูเหมือนจะไม่มีอำนาจต่อรอง หรือเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐบาลได้เต็มที่ ว่าง ๆ คงต้องลองมาดูงานปีนทำเนียบรัฐบาลของสมัชชาคนจนที่เมืองไทย |