|
|
เรื่องและภาพ : จักรพันธุ์ กังวาฬ
|
|
|
|
ก่อนหน้านี้ สุมัยเยะห์ ซิดดี๊ก เป็นเพียงลูกมือช่วยแม่ของเธอทอพรมมาตั้งแต่เด็ก ๆ กระทั่งอายุครบ ๑๖ ในปีนี้ เด็กสาวจึงได้ทอพรมผืนแรกในชีวิตของตัวเอง
เช่นเดียวกับสตรีชาวอิหร่านคนอื่น สุมัยเยะห์สวมผ้าคลุมศีรษะเรียบร้อย โผล่พ้นเพียงใบหน้าขาวเนียน ประดับด้วยดวงตากลมโตคมวับ เธอกำลังนั่งอยู่หน้ากี่ทอพรม ลักษณะเป็นกรอบโครงไม้สี่เหลี่ยม ด้ายยืนถูกขึงลงมาเป็นแผงสีขาว
สองมือของเด็กสาว ง่วนอยู่กับการดึงด้ายหลากสีมาผูกขมวดเป็นปม
บนด้ายยืนเหนือแนวด้ายเส้นนอน แล้วใช้กรรไกรตัดออกให้เหลือแต่ตัวปม ทำเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างคล่องแคล่ว
พรมผืนแรกของเด็กสาวมีขนาดกว้าง ๑ เมตร ยาว ๑ เมตรครึ่ง สุมัยเยะห์ใช้เวลาทอมาแล้ว ๙ เดือนก็ยังไม่แล้วเสร็จ
บางตำราบอกว่า พรมเปอร์เซียคุณภาพปานกลางจะมีจำนวนปม ๓๐-๕๐ ปม ต่อพื้นที่ ๑ ตารางเซนติเมตร หากนับตามมาตรฐานนี้ หมายความว่าสุมัยเยะห์ต้องผูกปมไม่ต่ำกว่า ๔๕,๐๐๐ หมื่นปม ปมแต่ละปมที่เธอผูก ก็คือจุดสีเล็ก ๆ ที่จะค่อย ๆ ประกอบกันขึ้นเป็นลวดลายอันวิจิตรแห่งผืนพรม
เช่นเดียวกับที่สุมัยเยะห์
คืออีกคนหนึ่งในบรรดาคนอิหร่านรุ่นแล้วรุ่นเล่า
ผู้สืบสานงานทอพรมเปอร์เซีย จากยุคต้นมาจวบจนปัจจุบัน |
|
|
|
พรมเปอร์เซียถือกำเนิดขึ้น
ตั้งแต่ประเทศอิหร่านยังคงเป็นอาณาจักรเปอร์เซียโบราณที่ยิ่งใหญ่
มั่งคั่งทั้งทรัพย์สิน และวัฒนธรรม ผ่านพัฒนาการเป็นเวลายาวนาน จนถึงทุกวันนี้ไม่มีใครปฏิเสธแล้วว่า พรมเปอร์เซียได้ก้าวไปไกลกว่าเป็นแค่วัสดุปูพื้น
สู่ขอบเขตของงานศิลป์ ที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก จากคุณภาพอันยอดเยี่ยม ลวดลายประณีตละเอียดอ่อนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เราจึงสามารถพบพรมเปอร์เซียผืนเก่าแก่
ถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะของหลายประเทศ
พรมเปอร์เซียยังเป็นสินค้าออกที่ทำรายได้เข้าประเทศอิหร่าน
จำนวนมหาศาลตลอดมา ที่สำคัญก็คือ กล่าวได้ว่าพรมเปอร์เซียผูกพันลึกซึ้งกับชีวิตของชาวอิหร่านอย่างแยกไม่ออก นับแต่เกิดจวบจนตาย
กิจกรรมแทบทุกอย่างของคนอิหร่าน ล้วนกระทำบนผืนพรม ทั้งยามกิน ยามนอน ทำงาน ไปเที่ยวพักผ่อน แม้กระทั่งพิธีกรรมทางศาสนา
คณะของเราซึ่งประกอบด้วยผู้เขียน, คุณสุดารา สุจฉายา บรรณาธิการหนังสือโครงการจังหวัด สำนักพิมพ์สารคดี, คุณอัมพร จิรัฐติกร นักวิชาการและนักเขียนสารคดี, และคุณธเนศ ช่วงพิชิต ซึ่งเคยไปศึกษาที่ประเทศอิหร่านเป็นเวลา ๗ ปี ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค( อบศ. ๕) เพื่อค้นคว้าและจัดทำหนังสือสารคดีประเทศอิหร่าน ในหัวข้อที่ครอบคลุมทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ วิถีแห่งความเชื่อ วิถีชีวิต เรื่องเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของอิหร่าน แน่นอนว่าเรื่องพรมเปอร์เซียย่อมอยู่ในรายการที่เราต้องเก็บข้อมูลด้วย
|
|
|
|
พวกเราเดินทางไปสู่ประเทศอิหร่านช่วงกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ เริ่มต้นที่กรุงเตหะราน เมืองหลวงที่ตั้งอยู่เกือบเหนือสุดของประเทศ ใช้เวลากว่า ๒๐ วันเดินทางลงใต้ ผ่านเมืองกุม คาชาน กอมซาร์ อิศฟาฮาน สู่เมืองชีราซ รวมระยะทางมากกว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตร
ประสบการณ์ตลอดการเดินทาง
ช่วยยืนยันให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรมเปอร์เซีย กับคนอิหร่าน เราพบพรมเปอร์เซียแทบทุกสถานที่
ในวังกษัตริย์อันโอ่อ่าโอฬาร ที่บัดนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ปูลาดด้วยพรมเปอร์เซียลวดลายละลานตา ไม่ว่าในมัสยิด ในโรงแรมหรูหรา บ้านหลังใหญ่ของคนมีฐานะ บ้านคนทั่วไป กระทั่งในกระโจมชนเผ่าเร่ร่อนในแดนกันดารที่เรามีโอกาสไปเยือน ล้วนมีพรมปูรองพื้นเช่นเดียวกัน ตลาดหรือบาซาร์ทุกแห่งมีย่านขายพรม ที่ซึ่งผืนพรมทุกขนาดเรียงซ้อนกองพะเนิน หรือแขวนโชว์เรียงรายบนผนัง รอลูกค้ามาเลือกสรร วันหยุดสุดสัปดาห์ที่คนอิหร่านนิยมไปเที่ยวปิกนิกตามสวนสาธารณะ แต่ละครอบครัวก็หอบม้วนพรมไปปูรองนั่ง หรือในภาพยนตร์อิหร่านที่เราไปดู เมื่อผู้ร้ายเปิดกระโปรงท้ายรถยนต์ ยังเห็นว่ามีพรมปูรองพื้นอยู่ในนั้น
ช่วงแรกของการเดินทาง เราเคยขอคำแนะนำชาวอิหร่านที่รู้จักกันว่า พอจะถามข้อมูลเรื่องพรมกับใครได้บ้าง เขาตอบว่าถามใครก็ได้ คนอิหร่านรู้เรื่องพรมเปอร์เซียอย่างแตกฉานกันทุกคน
|
|
|
|
๑.
|
|
|
|
รถของเราวิ่งอยู่บนถนนที่พุ่งตรงไปสู่เทือกเขาซาโกรสอันสูงตระหง่าน แม้ขณะนี้อยู่ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน กำลังจะเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศอิหร่าน ทว่าบนยอดเขาแต่ละลูกยังมีหิมะสีขาวปกคลุมเป็นลายพร้อยตัดกับสีเข้มของดินหิน เทือกเขาซาโกรสทอดตัวยาวเหยียดจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือสู่ตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามแนวสันเขาไปก็จะเข้าเขตเมืองชาฮ์ริคอร์ดอันเป็นจุดหมายของเรา
วันนั้นเราเช่ารถและจ้างไกด์ชาวอิหร่าน จากอิศฟาฮาน--เมืองสำคัญทางตอนกลางของประเทศ มุ่งสู่ชาฮ์ริคอร์ด ที่อยู่ห่างทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นระยะทางประมาณ ๙๐ กิโลเมตร เพื่อตามหาชนเผ่าบักเตียร์ริ ซึ่งอยู่ระหว่างอพยพมาตั้งกระโจมเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่แถบนี้
รถไต่ระดับความสูงของถนนขึ้นไปบนภูเขา จนถึงบริเวณที่มีกระโจมตั้งเรียงรายอยู่ตามไหล่เขา เมื่อลงจากรถ เรามองเห็นคนต้อนฝูงแกะเดินเป็นแถวยาวเหยียดในหุบเขาเบื้องล่าง ไกด์พาเราเดินไปยังกระโจมหนึ่ง ใกล้ ๆ กันมีทั้งแพะ แกะ ยืนรวมกลุ่มหลายตัว บางตัวนอนผึ่งแดดอย่างสบายอารมณ์
พวกเราหลบแดดจัดจ้าเข้าไปนั่งในกระโจม เด็ก ๆ เข้ามาดูด้วยความสนใจ ผู้หญิงนำน้ำชารสเข้มมาเลี้ยง เจ้าของกระโจมเป็นชายวัยกลางคน ค่อนข้างท้วม ไว้หนวด บุคลิกกระฉับกระเฉง พูดเสียงดังและรัวเร็ว พลอยทำให้ผู้ฟังคึกคักตามไปด้วย
ชาวบักเตียร์ริมีภาษาพูดของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่พูดภาษาฟาร์ซี (ภาษาประจำชาติอิหร่าน) ได้ ล่ามซึ่งเป็นนักเรียนไทยในอิหร่านแปลคำพูดเจ้าของกระโจมให้เราฟังว่า กระโจมหลังหนึ่งอยู่อาศัยหนึ่งครอบครัว แต่ละกระโจมในละแวกนี้ส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน และเคลื่อนย้ายไปด้วยกันเป็นกลุ่มบนเส้นทางที่ใช้มาทุกปี เพื่อต้อนฝูงแพะแกะไปตามแหล่งที่มีหญ้าน้ำอุดมสมบูรณ์
|
|
|
|
ชาวบักเตียร์ริจะทอพรมช่วงฤดูหนาว เพราะแพะแกะไม่ได้ออกไปสู่ทุ่งหญ้า พวกผู้หญิงจึงมีเวลาว่างมาทอพรม โดยนำขนแกะที่ตัดแล้วมาตีให้ฟู นำไปปั่นเป็นเส้นด้าย ย้อมสีเคมีผสมเปลือกไม้บางชนิดเพื่อให้สีคงทน แล้วนำด้ายไปทอ กี่ทอพรมของชาวบักเตียร์เป็นเช่นเดียวกับกี่ของชนเผ่าอื่น ๆ คือเป็นกี่ตามแนวนอน วางราบกับพื้น ส่วนกี่ทอพรมของคนในเมืองเป็นกี่ตามแนวตั้ง
แม้ทุกวันนี้โลกก้าวสู่ยุคคอมพิวเตอร์
แต่อิหร่านยังคงมีชนเผ่าเร่ร่อน เช่นเดียวกับบักเตียร์ริอีกหลายกลุ่ม เช่น เผ่ากาซกออี, บาลูจิส, ลูร์, เตอร์กโคมาน และเผ่าเคอร์ดิช กระจัดกระจายอยู่แทบทุกส่วนของประเทศ พวกเขายังใช้ชีวิตอยู่ไม่เป็นที่ แต่ละปีจะต้องอพยพไปตามแหล่งที่มีอาหารสำหรับฝูงสัตว์ บางเผ่าอาจใช้รถยนต์หรือรถบรรทุกบ้างแล้ว แต่หลายกลุ่มยังคงเดินเท้า และใช้ม้าลาในการขนสัมภาระ ถึงที่ก็ปักหลักกางกระโจม ใช้ชีวิตเรียบง่าย ก่อไฟจากไม้ฟืนเพื่อทำอาหาร
รูปแบบเช่นนี้
คงแทบไม่แตกต่างจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของบรรพบุรุษชาวอิหร่านเท่าไหร่นัก
กว่า ๒,๐๐๐ ปีมาแล้วที่ชาวอารยันกลุ่มแรก ๆ อพยพเข้ามาสู่ที่ราบสูงอิหร่าน
อากาศเยือกเย็นจัดในฤดูหนาว ทำให้ภายในกระโจม
หรือที่พักจำเป็นต้องมีวัสดุอบอุ่นปูรองพื้น นักวิชาการบางคนเชื่อว่าจากเดิมที่เป็นเพียงผืนหนังแกะ เนื่องจากแกะเป็นสัตว์เลี้ยงดั้งเดิมของถิ่นนี้
พวกเขาได้เรียนรู้การทอพรม จากด้ายที่ปั่นจากขนแกะ ต่อมาค่อย ๆ พัฒนาทักษะด้านการทอ ลวดลาย และสีสัน พร้อมกับที่ชนเผ่าเร่ร่อนบางส่วนเริ่มตั้งถิ่นฐาน สร้างบ้านเรือนเป็นหลักแหล่ง กระทั่งพรมเปอร์เซียได้รับความนิยมใช้อย่างแพร่หลายในที่สุด
|
|
|
|
ทว่าเนื่องจากพรมเปอร์เซียส่วนใหญ่ทอจากด้ายขนสัตว์หรือใยฝ้าย ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่ผุเปื่อยไปตามกาลเวลา จึงไม่มีพรมเปอร์เซียยุคแรกเหลือให้เห็น ทำให้ไม่มีหลักฐานระบุได้แน่ชัดว่าพรมเปอร์เซียถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาใด
กระทั่ง ค.ศ. ๑๙๔๙ กลุ่มนักโบราณคดีชาวรัสเซีย
ได้ขุดพบพรมผืนหนึ่งจากหลุมศพใต้ผืนน้ำแข็งในหุบเขาพาซิลิก (Pazyryk) เขตไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย
ต่อมามันถูกตั้งชื่อว่า พรมพาซิลิก ตามสถานที่ที่พบ การทดสอบโดยรังสีคาร์บอน ๑๔ แสดงผลว่ามันเป็นพรมที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกเท่าที่ถูกค้นพบ เพราะถูกทอขึ้นในช่วง ๕๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล แต่ที่สำคัญก็คือ ลวดลายบนผืนพรม ไม่ว่าลายม้า กวาง หรือลวดลายเรขาคณิต
ล้วนเป็นรูปแบบเดียวกับรูปปั้น ที่ประดับประดาตามโครงสร้างสถาปัตยกรรม
ของพระราชวังเปอร์ซีโปลิส พระราชวังนี้ สร้างในสมัยอาร์คีมีนิด- -ราชวงศ์แรกที่ปกครองอาณาจักรเปอร์เซีย
เมื่อ ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล หลักฐานเหล่านี้บ่งว่า พรมผืนนี้เป็นพรมเปอร์เซีย และการทอพรมถือกำเนิดในอิหร่านไม่ต่ำกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว
พรมพาซิลิกมีขนาด ๑.๘๓ คูณ ๒ เมตร โทนสีเหลืองและส้ม มีจำนวน ๓๖ ปมในพื้นที่ ๑ ตารางเซนติเมตร เราได้เห็นพรมพาซิลิกจำลองที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์พรมแห่งอิหร่าน (Carpet Museum of Iran) ที่กรุงเตหะราน
ในหนังสือนำเที่ยวประเทศอิหร่านทุกเล่ม ไม่ว่าเขียนโดยชาวตะวันตกหรือชาวอิหร่านเอง ล้วนแนะนำพิพิธภัณฑ์พรมแห่งอิหร่านว่าเป็นสถานที่ที่ทุกคนไม่ควรพลาด เพราะพิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมพรมเปอร์เซียที่มีคุณค่าทางศิลปะ ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ ๑๖ จนถึงปัจจุบันกว่า ๒๐๐ ผืน ทั้งยังจัดแสดงวัสดุอุปกรณ์ และให้ความรู้เกี่ยวกับการทอพรมอย่างละเอียด
|
|
|
|
๒.
|
|
|
|
พิพิธภัณฑ์พรมแห่งอิหร่านตั้งอยู่ในย่านกลางกรุงเตหะราน
พวกเราไปเที่ยวที่นั่น ตั้งแต่มาถึงอิหร่านได้อาทิตย์แรก
ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์รูปทรงทันสมัย สีขาวสะอาดตาท่ามกลางสนามหญ้าและแมกไม้สีเขียว ภายในอาคารตกแต่งแบบสมัยใหม่ โปร่งโล่งเป็นระเบียบ พรมเปอร์เซียหลายขนาด ตั้งแต่ผืนเล็กจนถึงใหญ่โตมโหฬาร ประดับอยู่บนผนังและแผงบอร์ดจัดแสดง รวมทั้งปูลาดบนแท่นยกพื้น เรียงรายตลอดแนวทางเดิน
สีสันและลวดลายแต่ละผืน ละลานตาอยู่ในแสงไฟสปอตไลท์ที่ส่องต้อง
วิทยากรนำชมเป็นสตรี ชื่อ ซะห์รอ รอฮัต เป็นคนพูดจาคล่องแคล่วและมีความรู้เรื่องพรมเป็นอย่างดี อันดับแรกเธอพาเราไปดูเครื่องไม้เครื่องมือ และอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ของการทอพรม
เราได้รู้ว่าด้ายที่ใช้ทอพรมทำจากวัสดุสามประเภท ด้ายขนสัตว์มีคุณภาพดีที่สุด ด้ายปั่นจากใยฝ้ายมีราคาต่ำกว่า แต่ทอง่ายกว่า ส่วนพรมทอจากเส้นไหมมักใช้แขวนประดับตกแต่ง
"ขนสัตว์ที่ใช้ทอพรมก็มีหลายชนิด พรมเมืองส่วนใหญ่ทอจากขนแกะ พวกชนเผ่าอาจใช้ขนแพะ หรือขนอูฐ ซึ่งแข็งกว่าขนแกะ หรือแม้แต่ขนแกะด้วยกันก็มีคุณสมบัติแตกต่างกัน ขนลูกแกะจะให้เส้นใยที่นุ่มและละเอียดกว่าแกะโตเต็มวัย ขนแต่ละส่วนบนร่างกายของแกะตัวเดียวกันก็ไม่เหมือนกัน หรือขนแกะจากต่างพื้นที่ เช่นแกะจากอาเซอร์ไบจันก็ให้ขนที่มีคุณภาพต่างจากขนแกะเมืองโคราซาน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สามารถบอกได้ว่าพรมผืนนี้ทอจากที่ไหน"
ด้ายที่ปั่นเป็นเส้นแล้วจะถูกนำไปย้อมสี ในสมัยก่อนสีย้อมทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่นสีน้ำเงินได้จากคราม สีแดงได้จากรากไม้บางชนิด หรือจากแมลงชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในลำต้นไม้ สีเหลืองมาจากหญ้าฝรั่น ผู้ย้อมต้องนำวัสดุเหล่านี้มาบด ต้ม กระทั่งให้สีออกมา ทว่าปัจจุบันคนนิยมใช้สีเคมีเพราะหาซื้อง่าย ใช้สะดวก แต่ความคงทนของสีไม่เท่าสีธรรมชาติ พรมเมืองทุกวันนี้ทอจากด้ายย้อมสีเคมีเกือบหมดแล้ว ชนเผ่าบางกลุ่มยังคงใช้สีธรรมชาติอยู่ แต่บางกลุ่มก็ใช้สีเคมีผสมเปลือกไม้เพื่อให้สีมีความคงทน
|
|
|
|
ซะห์รอพาเราไปยังกี่ที่มีผู้ชายกำลังนั่งสาธิตวิธีทอพรมอยู่ เธออธิบายว่า
"พรมประกอบด้วยด้ายเส้นยืน (wrap) กันเส้นนอน (weft) ผู้ทอจะนำด้ายสีต่าง ๆ ผูกปมบนด้ายยืน เรียงไปตามขวางเหนือแนวด้ายเส้นนอน ตามลวดลายที่ออกแบบไว้"
เธอชี้ให้เราดูแผ่นพับไม้ขนาดกว้างยาวประมาณหนังสือใบลานของไทย วางที่ชั้นวางบนกี่ใกล้ผู้ทอ แต่ละหน้าแปะกระดาษซึ่งตีเป็นช่องตารางเล็กละเอียด ลงสีวาดเป็นลวดลายเครือเถาม้วนพัน ประดับด้วยใบและดอกไม้ งดงามอ่อนช้อย เหมือนกับลายที่ปรากฏอยู่บนผืนพรม
ปมที่ใช้ทอพรมเปอร์เซียมีสองชนิด คือปมตุรกี (Turkish Knot) เป็นปมแบบสมมาตร (Symmetrical knot) เรียกอีกชื่อว่า Ghiordes knot โดยให้ปลายเส้นด้ายที่ผูกปมโผล่ออกมาตรงกลางระหว่างด้ายยืนสองเส้นที่มันพันรอบอยู่ ส่วนปมเปอร์เซีย (Persian knot) หรือ Senneh knot เป็นปมแบบไม่สมมาตร (asymmetrical knot) ผูกโดยสอดด้ายเข้าด้านหลังด้ายยืนเส้นหนึ่ง แล้วม้วนเข้ากับด้ายยืนเส้นถัดไป (ดูภาพประกอบ)
พรมที่ทอด้วยปมตุรกีส่วนใหญ่มาจากทางภาคตะวันตกของประเทศอิหร่าน เช่น จากแคว้นอาร์เซอร์ไบจัน ขณะที่ปมเปอร์เซียมีผู้ใช้ทอพรมแพร่หลายกว่า พรมจากเมืองอารัก เคอร์มาน อิศฟาฮาน และกุม ล้วนทอด้วยปมเปอร์เซีย
ซะห์รอกล่าวว่า พรมยิ่งมีจำนวนปมมากเท่าไรยิ่งมีคุณภาพดี เพราะมันแสดงถึงความละเอียดและความแน่นหนาของพรมผืนนั้น ตำราพรมบางเล่มระบุว่าพรมทั่ว ๆ ไปมีจำนวน ๓๐ ปมขึ้นไปต่อ ๑ ตารางเซนติเมตร พรมคุณภาพปานกลางมี ๓๐-๕๐ ปมต่อ ๑ ตารางเซนติเมตร พรมคุณภาพดีมี ๕๐ ปมขึ้นไปใน ๑ ตารางเซนติเมตร และพรมในระดับคุณภาพยอดเยี่ยมที่มีราคาสูงมากอาจมี ๕๐๐ ปมขึ้นไปใน ๑ ตารางเซนติเมตร
|
|
|
|
เมื่อเราเดินดูพรมที่จัดแสดง เห็นบนป้ายระบุคุณสมบัติของพรมแต่ละผืน หน่วยที่บอกจำนวนปมเรียกว่าราดจ์ (Radj) ซะห์รออธิบายว่าเป็นหน่วยวัดของอิหร่าน หมายถึงจำนวนปมต่อแนวยาว ๗ หรือ ๖.๕ เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่หรือแต่ละเมือง เช่นพรมที่มี ๕๐ ราดจ์ หมายถึงมี ๕๐ ปมในความยาว ๗ หรือ ๖.๕ เซนติเมตร
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมพรมผืนสำคัญที่ทอจากทั่วประเทศอิหร่าน ทั้งจากเตหะราน อาเซอร์ไบจัน จากเคอร์ดิสถาน จากคาชาน อารัก คุรอซาน อิศฟาฮาน เคอร์มาน และพรมจากชนเผ่าต่าง ๆ
พวกเราได้เห็นลวดลายอันหลากหลายของพรมเปอร์เซีย และเพราะพรมก็เหมือนกับผ้าทอ ลวดลายบนพรมได้รับการสืบทอดและพัฒนาโดยผู้ทอรุ่นแล้วรุ่นเล่า ผืนพรมจึงกลายเป็นพื้นที่แสดงตัวตน ทัศนคติ วิถีชีวิต และความทรงจำของคนอิหร่านด้วย
เหนืออื่นใด ลวดลายพรมที่งดงามอ่อนช้อย ประดับดอกดวงละเอียดอ่อน สลับซับซ้อน บ่งบอกว่าชาวอิหร่านมิใช่เป็นกลุ่มชนที่ป่าเถื่อนหยาบกร้าน แต่มีความสามารถทางศิลปะ และมีรสนิยมสุนทรีย์ พรมลายดอกไม้ใบไม้ เถาไม้เลื้อย แสดงว่าชาวอิหร่านเป็นผู้มีใจรักธรรมชาติ สีเขียวของพืชพรรณ ดังที่สวนเปอร์เซียมีชื่อเสียงไปทั่วโลก พรมลายล่าสัตว์ก็จำลองเหตุการณ์ที่บรรดาชาห์และขุนนางในยุคต่าง ๆ นิยมจัดขบวนออกไปล่าสัตว์ ทั้งยังแสดงถึงชนิดพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ของอิหร่าน ยังมีพรมลวดลายคล้ายภาพวาด แสดงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์หรือความเชื่อทางศาสนา หรือพรมที่มีจารึกอักษรข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอาน บ่งบอกถึงอิทธิพลของศาสนาอิสลามที่มีต่อจิตใจของคนอิหร่าน
|
|
|
|
พรมของแต่ละชนเผ่าก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง เช่นพรมของเผ่าบาลูจิสจะมีสีเข้ม ส่วนใหญ่สีแดงเข้ม เพราะพวกเขาเชื่อว่าสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของสุขภาพ ความมีชีวิตชีวา แต่บางคนกล่าวว่าเพราะชนเผ่าบาลูจิสอาศัยอยู่ในทะเลทราย จึงแทบไม่มีสีเขียวหรือสีอื่น ๆ ให้เห็น ขณะเผ่ากาซกออีเคลื่อนย้ายระหว่างภูเขากับที่ราบ ได้เห็นทุ่งหญ้าและธารน้ำ พรมของเผ่านี้จึงมีสีสดใสหลากสี
พรมของชนเผ่าอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า เกบเบ้ (gabbeh) ทอโดยเผ่ากาซกออี มีลักษณะพิเศษคือหนาและนุ่มกว่าพรมทั่วไป เพราะทอด้วยปมขนาดใหญ่ เสน่ห์ของมันอยู่ที่สีสันอันอ่อนหวาน และลวดลายที่จำลองชีวิตของชนเผ่า เช่นลายภูเขา ท้องฟ้า ก้อนเมฆ สายน้ำ ต้นไม้แผ่กิ่งก้าน สัตว์เลี้ยงเช่น แกะ แพะ ม้า ลา สุนัข อยู่ในทุ่งหญ้าสีเขียว คนขี่ม้า หรือล้อมวงเต้นรำรอบกองไฟ ภาพเหล่านี้เป็นลายเส้นง่าย ๆ แต่น่ารัก ชวนให้นึกถึงภาพประกอบนิทานสำหรับเด็ก
เราถามว่าพรมของแต่ละเมืองมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองหรือไม่ ซะห์รอตอบว่า
"ในสมัยก่อนเป็นแบบนั้น แต่ในปัจจุบันเมื่อการคมนาคมขนส่งพัฒนาขึ้น แต่ละท้องถิ่นมีการแลกเปลี่ยนลวดลายกัน ใครเห็นว่าพรมลายใดสวย ขายดี ก็นำลายนั้นไปทอพรมของตัวเองบ้าง"
ซะห์รอเห็นว่าปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะพรมแต่ละท้องที่ควรจะรักษาเอกลักษณ์และลวดลายเฉพาะของตนเอาไว้ เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า
"อย่างไรก็ตาม พรมเปอร์เซียได้รับการยอมรับไปทั่วโลก แม้ภายหลังมีหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย ปากีสถาน ได้ลอกเลียนแบบลวดลายของพรมเปอร์เซีย แล้วขายสู่ท้องตลาดในราคาต่ำกว่า แต่คุณภาพก็สู้พรมเปอร์เซียไม่ได้"
หลังจากได้เดินดูพรมในพิพิธภัณฑ์ที่เงียบสงบแล้ว ต่อไปเราจะเปลี่ยนบรรยากาศไปเดินย่านขายพรมในบาซาร์ที่ผู้คนพลุกพล่าน เต็มไปด้วยชีวิตชีวากันบ้าง
|
|
|
|
๓.
|
|
|
|
ถนนที่มุ่งสู่เมนบาซาร์หรือตลาดใหญ่กลางกรุงเตหะราน มีสภาพจราจรคับคั่งจอแจไม่ผิดจากเมืองใหญ่ของประเทศอื่น รถแท็กซี่ที่เรานั่งตกอยู่กลางวงล้อมแน่นหนาของรถยนต์ที่แออัดกันอยู่ ขบวนรถทั้งหมดเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างช้า ๆ ควันจากท่อไอเสียโชยเข้ามาทางหน้าต่างรถ เสียงแตรดังขึ้นตรงโน้นตรงนี้เป็นระยะ ลงรถได้เราก็รีบเดินฝ่าแดดร้อนจนแสบผิวไปยังทางลงบาซาร์
เพราะมีหลังคาคลุม ภายในบาซาร์จึงมืดและเย็นกว่ากลางแจ้ง ทางเดินที่มีผู้คนพลุกพล่านไม่ขาดสายถูกขนาบด้วยร้านรวงเรียงรายทั้งสองฝั่ง เมนบาซาร์กรุงเตหะรานเป็นตลาดอายุเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่มาก ทางเดินไปสู่ส่วนต่าง ๆ เชื่อมกันเป็นโครงข่ายเส้นทางที่ซับซ้อนวกเวียน อาจทำให้คนที่มาครั้งแรกหลงทางได้ง่าย ๆ แต่ลูกค้าประจำย่อมรู้ดีว่าจะหาสินค้าที่ต้องการได้ที่ไหน เพราะร้านค้าที่ขายสินค้าประเภทเดียวกันจะตั้งอยู่ติดกันเป็นหย่อมย่าน
บาซาร์แห่งนี้เป็นแหล่งรวมสินค้าแทบทุกประเภท ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง เครื่องเทศ ผลไม้ ภาชนะเครื่องครัว งานฝีมือ เสื้อผ้า เครื่องมือโลหะ ของใช้เบ็ดเตล็ด และอีกสารพัด รวมทั้งพรมเปอร์เซียด้วย
ตลาดพรมคึกคักไม่แพ้ส่วนอื่น ร้านขายพรมเรียงเป็นแนวยาวเหยียดตลอดสองฝั่งทางเดิน แขวนพรมสารพัดสีและลวดลายดึงดูดสายตาคนผ่านไปมา คนงานเข็นรถเข็นบรรทุกม้วนพรมร้องบอกเสียงดังให้คนข้างหน้าหลีกทาง คนหอบพรมเก่าเดินเร่ขาย โถงกลางขนาดกว้างขวางมีพรมผืนใหญ่เรียงซ้อนเป็นตั้ง กองกระจัดกระจายเกือบเต็มพื้นที่ คนหนาตาแวะเวียนมาดู บ้างยืนพูดคุยกัน
พวกเราบางคนเปรยขึ้นว่า หากเกิดเพลิงไหม้ย่านขายพรม ไม่รู้ว่ามูลค่าความเสียหายจะมหาศาลขนาดไหน ? ภายหลังพอจะทราบคำตอบเมื่อได้เข้าไปพูดคุยในร้านขายพรมของเมตัส
|
|
|
|
ร้านดังกล่าวอยู่บนชั้นสองของอาคารร้านค้า ส่วนใหญ่ขายพรมของชนเผ่า ราคามีตั้งแต่ผืนละหมื่น แสน จนถึงหลายแสนบาท พรมในร้านมีมากกว่าร้อยผืน ร้านนี้ร้านเดียวจึงมีมูลค่าซื้อขายนับล้านบาท คนในร้านให้ข้อมูลว่าบาซาร์แห่งนี้มีร้านขายพรมมากกว่าร้อยร้าน จึงพอประเมินได้ว่าพรมทั้งตลาดมีมูลค่าซื้อขายหลายร้อยล้านบาท
เมตัสยังอยู่ในวัยหนุ่ม ตระกูลเขาทำธุรกิจเรื่องพรมมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ ตัวเขาเดิมไม่ได้สนใจนัก แต่เป็นคนชอบล่าสัตว์ ปีนเขา และเดินทางอยู่เสมอ บ่อยครั้งเข้าไปถึงที่อยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ เห็นคนเหล่านี้ทอพรม จึงเริ่มสนใจและศึกษา กระทั่งทำธุรกิจขายพรมชนเผ่าในที่สุด
เมตัสหยิบพรมอีกประเภทให้เราดู มันคือกีลีม (kilim) เป็นพรมที่ทอขึ้นโดยไม่มีการผูกปม มีเพียงด้ายยืนและด้ายนอนสอดสลับกันเป็นลวดลาย กีลีมจึงบางกว่าพรมทั่วไป แต่มีความนุ่ม มักใช้เป็นพรมสำหรับการทำละหมาด
เมตัสกล่าวว่าชนเผ่าต่าง ๆ ทอลายพรมโดยอาศัยความทรงจำและจินตนาการ ไม่ต้องมีแบบ ขณะพรมเมืองผู้ทอจะทอจากลวดลายที่มีผู้ออกแบบไว้ให้ เขาพาเราไปรู้จักกับ มาร์เซล มูซาวียอน นักออกแบบลายพรมวัย ๔๗ ปี
ห้องทำงานของมาร์เซลอยู่บนชั้นสองของอาคาร ไม่ไกลจากร้านของเมตัสนัก ขนาดประมาณห้องแถวเล็ก ๆ สองคูหาต่อกัน โต๊ะของมาร์เซลตั้งอยู่ด้านหน้าใกล้กับประตูทางเข้า เป็นทั้งโต๊ะทำงานออกแบบและติดต่อลูกค้า โต๊ะทำงานลูกน้องของเขาตั้งอยู่ลึกเข้าไปด้านใน ระหว่างกลางตั้งโต๊ะอีกตัว บรรดาขวดสี พู่กันเบอร์ต่าง ๆ และถ้วยใส่น้ำวางอยู่เต็มโต๊ะ ตู้ไม้แบ่งเป็นช่องบรรจุม้วนกระดาษวาดลายพรมตั้งอยู่ชิดผนังด้านหนึ่ง ผนังส่วนอื่น ๆ มีกระดาษวาดลายพรมแปะติดรอบห้อง ส่วนใหญ่เป็นลายดอกไม้ใบไม้ พัดลมเพดานหมุนช้า ๆ ไล่ความร้อนอบอ้าว
มาร์เซลและลูกน้องเงยหน้าขึ้นจากแผ่นกระดาษบนโต๊ะ
เมื่อเห็นเมตัสพาเราเข้าไปหา
|
|
|
|
มาร์เซลกล่าวว่า อาชีพคนออกแบบลายพรมเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ ๓๐๐ ปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้นเวลาใครจะทอพรม เขาจะดูจากแบบที่เป็นผ้าปักผืนเล็ก ๆ ปัจจุบันคนออกแบบวาดลวดลายลงบนกระดาษที่ตีเป็นช่องตารางขนาดเล็กละเอียด เขาอธิบายว่า ๑ ช่องตารางแทนปม ๑ ปม เมื่อคนทอพรมถึงตำแหน่งนั้น ก็จะเลือกด้ายสีตรงกับแบบมาผูกปม
มาร์เซลทำงานออกแบบลวดลายพรมมา ๓๐ ปีแล้ว เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้จากพี่ชาย ส่วนพี่ชายเขาเรียนจากอาจารย์หลายคน
เพราะสมัยก่อนยังไม่มีโรงเรียน
หรือสถาบันทางศิลปะที่เปิดสอนออกแบบลวดลายพรม
อย่างเป็นทางการเช่นปัจจุบัน ทุกวันนี้มาร์เซลยังเป็นอาจารย์ที่แผนกทอพรม มหาวิทยาลัยอัซซะห์รอ เมืองวานักด้วย
"ขั้นตอนการทำงาน เริ่มลงลายด้วยดินสอก่อน แล้วลงสีน้ำ"
มาร์เซลกล่าวว่าสมัยก่อนลวดลายพรมเปอร์เซียมีลักษณะแบน เป็นสองมิติ จำพวกลายดอกไม้ ลายเรขาคณิต หรือแม้แต่ลวดลายสัตว์ต่าง ๆ ต่อมาในระยะหลังเริ่มมีลายที่มีระยะใกล้ไกล ลายภาพคนในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ มีแสงเงาคล้ายของจริง
"ทุกวันนี้ยังมีพรมลายภาพเหมือนบุคคล (portraie) ด้วย" เขาชี้ให้เราดูกระดาษวาดลายแผ่นหนึ่งบนผนัง เป็นภาพวาดลงสีใบหน้าชายผู้หนึ่ง เห็นได้ว่าต้นแบบคือชายในภาพถ่ายใบที่ใช้คลิปหนีบอยู่กับมุมหนึ่งของกระดาษวาดลาย
"ลายพวกนี้ลูกค้าจะเป็นคนเอาภาพถ่ายมาให้เราวาด บางคนก็ให้วาดภาพของตัวเอง
หรือภาพคนรู้จักที่เขาจะเอาแบบไปทอพรมเป็นของขวัญให้ พรมภาพเหมือนพวกนี้จะนำไปใส่กรอบประดับบ้าน"
ลูกค้าส่วนใหญ่ของนักออกแบบลายพรมคือกลุ่มนายทุนขายพรม เมื่อได้ลายแล้ว พวกเขาจะนำไปให้คนทอพรมที่เป็นเครือข่ายของตนเอง นายทุนจะสนับสนุนกี่ทอ เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ และด้ายให้ผู้ทอ โดยมีข้อผูกมัดว่าคนทอต้องขายพรมผืนนั้นให้กับนายทุน นายทุนจะนำพรมไปขายในราคาที่สูงขึ้นอีก
พวกเรามีโอกาสได้พูดคุยกับนายทุนคนหนึ่งที่เมืองกุม
|
|
|
|
๔.
|
|
|
|
เมืองกุมมีอาณาเขตติดกับด้านทิศใต้ของกรุงเตหะราน เชื่อมต่อกันด้วยถนนไฮเวย์กว้างขวางราบเรียบ พวกเราเดินทางจากเตหะรานโดยรถยนต์สภาพดี ใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษก็ถึงเมืองกุม
กุมเป็นเมืองสำคัญทางศาสนาของอิหร่าน ในสมัยปฏิวัติอิสลามเพื่อโค่นล้มราชวงศ์ปาห์ลาวี เมื่อปี ๑๙๗๘-๑๙๗๙ การลุกฮือของประชาชนเริ่มต้นที่นี่ ปัจจุบันกุมเป็นที่ตั้งของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยสอนศาสนาอิสลาม เป็นศูนย์กลางของนักการศาสนาและนักเรียนศาสนานับหมื่นคน ทั้งชาวอิหร่านเองและนักศึกษาจากนานาประเทศ
ชาวเมืองกุมยังได้ชื่อว่าเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด ผู้หญิงต่างเมืองอาจเพียงคลุมศีรษะ แต่สวมชุดมีสีสันบ้าง ขณะที่ผู้หญิงกุมแทบทุกคนเมื่อออกจากบ้าน ล้วนสวมชุดยาวสีดำคลุมทั้งตัว โผล่แต่เพียงใบหน้า ที่เรียกว่าชุด "ชาดอร์" มองดูคล้ายเงาดำเคลื่อนไปมาเต็มถนนหนทาง
แต่กุมก็เป็นเช่นเมืองอื่น ๆ มีย่านตลาดขายพรมที่คึกคัก
เราพบ อบุลฟัดล ฮายาตบัคช ในบาซาร์ของเมืองกุม เขาเป็นนายทุนที่มีเครือข่ายคนทอพรมของตนเองถึง ๒๕๐ ครอบครัว เขากล่าวว่าธุรกิจประเภทนี้ใช้เงินลงทุน ๕๐-๑๐๐ ล้านโตมาน (อัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น ๑ ดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ ๘๐๐ โตมาน)
อบุลฟัดลพาเราไปบ้านย่านชานเมืองของ สุมัยเยะห์ ซิดดี๊ก ครอบครัวเธอเป็นหนึ่งในเครือข่ายของเขา
สุมัยเยะห์กำลังนั่งทอพรมอยู่หน้ากี่บนชั้นสองของบ้าน พรมผืนนี้มีลายดอกไม้ หากทอเสร็จนายทุนจะรับซื้อที่ราคา ๒ ล้าน ๕ แสนเรียล ถึง ๓ ล้านเรียล และนำไปขายในบาซาร์ในราคา ๗ ถึง ๘ ล้านเรียล (๑ ดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ ๘,๐๐๐ เรียล)
|
|
|
|
จากเมืองกุม เราเดินทางลงใต้ไปที่เมืองกำซา เมืองเล็ก ๆ เมืองนี้เต็มไปด้วยสีเขียวของแมกไม้ อากาศเย็นสดชื่น ไม่ร้อนแล้งเหมือนกุมหรือเตหะราน
เราได้ไปบ้านผู้หญิงทอพรมชื่อ นอฮี รอฟีอี เธออายุ ๓๕ ปี แต่งงานและมีลูกชาย ๒ คน ลูกสาว ๑ คน ลูกทุกคนยังเล็กอยู่
นอฮีกำลังทอพรมขนาด ๒ คูณ ๓ เมตร กี่ที่ใช้มีขนาดใหญ่กว่ากี่บ้านสุมัยเยะ เป็นกี่แนวตั้ง สูงไม่เกิน ๒ เมตร แต่กว้างกว่า ๒ เมตร กินเนื้อที่เกือบเต็มความกว้างผนังด้านหนึ่งของห้องที่มันตั้งอยู่ พรมผืนใหญ่เช่นนี้อาจมีผู้ทอร่วมกันหลายคน ขณะนี้ทั้งนอฮี ลูกชายอายุ ๑๐ ขวบ และลูกสาวอายุ ๗ ขวบ นั่งเรียงกันอยู่หน้ากี่ ช่วยกันทอพรมอย่างคล่องแคล่ว ต่างคนต่างดึงด้ายสีมาผูกปมโดยแทบไม่ต้องดูแบบ ภาพที่เห็นทำให้เราเข้าใจได้ว่า คนอิหร่านเติบโตขึ้นมากับพรมอย่างไร ทั้งเด็กหญิงเด็กชายสามารถทอพรมได้ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ
"ลูก ๆ ชอบมาช่วยทอพรม บางครั้งถึงกับแย่งกันทอ" นอฮีบอกยิ้ม ๆ
นอฮีกล่าวว่า ชาวเมืองกำซาทอพรมกันประมาณ ๗๐-๘๐ เปอร์เซนต์ เธอไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร แต่ลงทุนซื้ออุปกรณ์และด้ายเอง พรมผืนนี้ทอจากด้ายขนแกะ ลงทุน ๘๕,๐๐๐ โตมาน คาดว่าใช้เวลาทอประมาณ ๑ ปี จึงเสร็จ มีพ่อค้าเจ้าประจำมาจองไว้แล้วในราคา ๒๕๐,๐๐๐ โตมาน
"เวลาที่ทอพรมคิดถึงอะไร" พวกเราคนหนึ่งถาม
"ก็คิดเรื่องของศิลปะ ความงาม แล้วก็คิดเรื่องอนาคตของลูก ๆ ว่าที่ทำไปก็เพื่อเป็นทุนการศึกษาของลูก แล้วเด็ก ๆ เมื่อมีเวลาว่างก็จะได้มานั่งดู นั่งทอ ไม่ไปทำสิ่งที่ไม่ดี"
พรมผืนหนึ่งอาจใช้เวลาทอหลายเดือนหรือเป็นปี การทอพรมจึงเปรียบเหมือนเป็นการออมทรัพย์ของครอบครัวชาวอิหร่านอีกทางหนึ่ง เมื่อแม่บ้านนั่งอยู่หน้ากี่ทอ ปมแต่ละปมที่เธอผูก จึงไม่เพียงทำให้ลวดลายปรากฏขึ้น แต่หมายถึงมูลค่าของพรมผืนนั้นค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทุกขณะอีกด้วย
มีกลุ่มคนทอพรมอยู่ทุกเมืองทั่วประเทศอิหร่าน แต่นอกจากพรมทอมือแล้ว อิหร่านยังมีพรมทอจากเครื่องจักรด้วย ต่อไปเราจะไปดูโรงงานทอพรมที่เมืองคาชาน
|
|
|
|
๕.
|
|
|
|
เมืองคาชานอยู่ทางใต้ของเตหะรานประมาณ ๒๔๐ กิโลเมตร และอยู่ทางเหนือของอิศฟาฮานประมาณ ๒๒๐ กิโลเมตร นอกจากเป็นเมืองใหญ่ที่สวยงามแล้ว คาชานยังมีชื่อในฐานะแหล่งผลิตงานฝีมือ ไม่ว่า เซรามิก ภาชนะทองแดง มีโรงงานทอผ้าไหม โรงงานทำน้ำกุหลาบ
แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้คณะของเรามาที่นี่
ก็เพราะคาชานเป็นที่ตั้งของโรงงานทอพรมจำนวนมาก
โรงงานที่พวกเราเข้าเยี่ยมชมเป็นเพียงหนึ่งในโรงงานทอพรมกว่า ๕๐๐ แห่งในเมืองคาชาน
"โรงงานทอพรมมีอยู่หลายเมืองในอิหร่าน เช่น มาร์ชาด เคอร์มาน ย้าด แต่เมืองที่มีโรงงานทอพรมมากที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดคือคาชาน"
เจ้าของโรงงานบอก เขาสืบทอดกิจการโรงงานทอพรมจากรุ่นพ่อ
ที่ผ่านมาเราได้เห็นเพียงผู้หญิงทอพรม แม้สองมือทำงานคล่องแคล่วแต่ให้ความรู้สึกแช่มช้อย อยู่ภายในบ้านอันเงียบสงบ วันนี้จึงได้มาอยู่ในโรงงานทอพรมที่บรรยากาศต่างกันลิบลับ
อาคารโรงงานมีขนาดใหญ่ พื้นที่ภายในกว้างขวาง เพดานสูงลิ่ว แต่อากาศค่อนข้างอบอ้าว มีเครื่องจักรทอพรม ๕ เครื่องตั้งเรียงราย แต่ละเครื่องเป็นแท่นสี่เหลี่ยมใหญ่โต กว้างยาวด้านละกว่า ๒ เมตร ส่วนสูงประมาณ ๓ เมตร ดูทึบตันหนักแน่นด้วยเนื้อโลหะแข็งแกร่ง ม้วนด้ายหลากสีเรียงเป็นแผงอยู่บนแท่นที่ห่างออกไป เส้นด้ายพุ่งเป็นสายสู่ตัวเครื่องจักร ขณะเครื่องทำงาน ก้านโลหะต่าง ๆ ขยับขึ้นลงส่งเสียงกึงกังสนั่นหวั่นไหว ทำให้เวลาพวกเราคุยกันต้องส่งเสียงดังแทบจะตะโกน
เครื่องจักรแต่ละเครื่องมีคนควบคุมสองถึงสามคน มันทำงานตามโปรแกรมซึ่งเป็นกระดาษเจาะรูที่ติดตั้งอยู่ส่วนบนของเครื่อง ชักนำด้ายแต่ละสีมาสอดถักเป็นลายตามแบบที่ต้องการ
|
|
|
|
เจ้าของโรงงานอธิบายว่า กลไกของเครื่องทอพรมไม่สามารถผูกปมได้ พรมทอเครื่องจึงเป็นเพียงเส้นด้ายที่สอดสลับกันอยู่เท่านั้น
"พรมทอมือที่ผูกปมจึงเหนียวแน่นทนทานกว่าพรมทอเครื่อง" เจ้าของโรงงานกล่าว "ขณะพรมทอเครื่องมีอายุการใช้งาน ๑๕-๒๐ ปี แต่พรมทอมือมีอายุการใช้งานถึงร้อยปี"
ข้อเปรียบเทียบอีกอย่างคือ ขณะที่พรมทอมือสามารถทอด้วยด้ายกี่สีก็ได้ แล้วแต่ผู้ทอจะเลือกสรร แต่เครื่องจักรไม่อาจทำเช่นนั้นได้ เครื่องจักรทอพรมรุ่นใหม่ที่สุดและทันสมัยที่สุดสามารถทอพรมจากด้ายจำนวน ๗ สี ส่วนเครื่องจักรของโรงงานแห่งนี้ทอพรมจากด้าย ๕ สี
แต่เครื่องจักรมีข้อได้เปรียบตรงที่ทอพรมได้อย่างรวดเร็ว พรมทอมือผืนหนึ่งอาจใช้เวลาทอครึ่งปีถึงหนึ่งปี ขณะเครื่องจักรสามารถทอพรมขนาด ๓ คูณ ๔ เมตร ได้เดือนละ ๕๐๐ ผืน หรือประมาณวันละ ๕-๖ ผืน
ลักษณะที่แตกต่างกันหลายประการ ทำให้ราคาพรมทอมือและพรมทอเครื่องแตกต่างกันด้วย โดยพรมทอมือจะมีราคาแพงกว่าพรมทอเครื่องที่มีขนาดเท่ากันถึง ๑๐ เท่า แต่ถ้าเป็นพรมทอมือคุณภาพดีมาก อาจมีราคาแพงกว่าพรมทอเครื่อง ๒๐-๓๐ เท่า แต่เจ้าของโรงงานพรมให้ข้อมูลว่า ชาวอิหร่านโดยทั่วไปนิยมใช้พรมทอเครื่องมากกว่า เพราะราคาถูกกว่า
"พรมไม่ได้ขายดีตลอดเวลา มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจด้วย แต่โดยทั่วไปถ้าใครมีโรงงานพรมในอิหร่านก็สามารถอยู่ได้สบาย มีฐานะดี"
นอกจากเมืองเตหะราน กุม กำซา และคาชาน เรายังได้ไปเก็บข้อมูลเรื่องพรมที่เมืองอิศฟาฮานอีกด้วย
|
|
|
|
๖.
|
|
|
|
อิหร่านมีคำกล่าวว่า อิศฟาฮานคือครึ่งหนึ่งของโลก ด้วยเมืองนี้คือศูนย์กลางทางอารยธรรมที่สำคัญของอิหร่าน
อิศฟาฮานเป็นเมืองขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยพระราชวัง มัสยิด และสถานที่สำคัญต่าง ๆ บรรดายอดโดมอันโอฬาร หอคอยสูงตระหง่าน และอาคารทั้งภายนอกภายใน ล้วนประดับตกแต่งด้วยลวดลายวิจิตรตระการตา เป็นแหล่งผลิตงานฝีมือชั้นเลิศ ตั้งแต่อดีตจวบปัจจุบัน ทั้งงานโลหะประดิษฐ์ งานไม้แกะสลัก งานถักลูกไม้ จิตรกรรมที่เขียนบนภาชนะวัตถุเครื่องใช้ งานฝังมุก กระเบื้องเคลือบ รวมทั้งพรมเปอร์เซีย
ประวัติพรมเปอร์เซียช่วงที่สำคัญก็เกี่ยวเนื่องกับความเป็นมาของอิศฟาฮาน
นับแต่ ค.ศ. ๑๒๒๐ ถึง ๑๕๐๗ เป็นเวลาเกือบ ๓๐๐ ปีที่ชาวมองโกล ทั้งราชวงศ์ข่านที่ ๒ ของเจงกีสข่าน และราชวงศ์ติมูร์ของตาเมอเลน เข้ามารุกรานและปกครองเปอร์เซีย นับเป็นยุคมืดที่ประชาชนตกอยู่ในความหวาดกลัว ศิลปวิทยาการต่าง ๆ เสื่อมถอย
ผู้ปกครองชาวเปอร์เซียสามารถกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง เมื่อชาฮ์อิสมาอิลได้เข้ายึดเมืองตะบริ๊ซ ตั้งตนเป็นกษัตริย์ สถาปนาราชวงศ์ศอฟาวียะฮ์ปกครองเปอร์เซีย ชาฮ์องค์ต่อ ๆ มาของราชวงศ์นี้ได้ให้การสนับสนุนผู้ทอพรม พรมเปอร์เซียจึงถึงยุครุ่งเรืองอีกครั้ง โดยเฉพาะในสมัยของชาฮ์ตามาบส์ที่ ๑ และชาฮ์อับบาสที่ ๑
ชาฮ์อับบาสที่ ๑ เป็นกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ได้กำหราบขุนศึกกลุ่มต่าง ๆ ที่สู้รบและก่อความวุ่นวาย จนอาณาจักรกลับสู่ความสงบและเป็นปึกแผ่น รวมถึงทรงริเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับประเทศทางยุโรป พระองค์ได้ย้ายเมืองหลวงจากกาซวินมาที่อิศฟาฮาน ทำให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางของการค้า อุตสาหกรรม และทางวัฒนธรรม ในสมัยดังกล่าวศิลปกรรมเปอร์เซียได้ถึงซึ่งความเจริญสูงสุดเกือบทุกด้าน ไม่ว่างานจิตรกรรม วรรณกรรม ดนตรี และงานฝืมือต่าง ๆ ทั้งยังเป็นยุคทองของพรมเปอร์เซียอีกด้วย
ทุกองค์ประกอบของพรมเปอร์เซีย ไม่ว่าวัสดุที่ใช้ทอ เทคนิคการทอ ลวดลาย สีสัน และคุณภาพความทนทาน ล้วนพุ่งสู่จุดสูงสุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต คนทอพรมกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน พรมเปอร์เซียเป็นที่รู้จักทั่วโลก ถูกส่งไปยังพระราชวังกษัตริย์หลาย ๆ ประเทศ พรมเปอร์เซียที่มีชื่อเสียงซึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สำคัญทั่วโลกในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นพรมจากยุคศอฟาวียะฮ์
หลังสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ คุณภาพพรมเปอร์เซียเริ่มคงที่ และตกต่ำลง สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการรุกรานของพวกอัฟกัน กระทั่งเริ่มเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งในศตวรรษที่ ๑๙
จากอิศฟาฮาน เราได้เดินทางไปเยือนชนเผ่าบักเตียร์ที่ตั้งกระโจมบนเทือกเขาซาโกรส ชานเมืองชาฮ์ริคอร์ด บ่ายวันเดียวกันเราเดินทางต่อเข้าไปในตัวเมือง เพื่อชมงานแสดงวิถีชีวิตชนเผ่าที่จัดในระหว่างนั้นพอดี ภายในงานเต็มไปด้วยกระโจมตั้งเรียงราย ชนเผ่าต่าง ๆ ทั้งกาซกออี บัคเตียร์ริ เตอร์กโคมาน ฯลฯ อยู่ในเครื่องแต่งกายหลากสีสัน เราได้เห็นพวกเขาสาธิตการทอพรมด้วยกี่แนวนอนอยู่ในกระโจม
|
|
|
|
๗.
|
|
|
|
การเดินทางมาเยือนอิหร่านครั้งนี้ เราได้เห็นทั้งพรมชนเผ่าที่ทอแบบดั้งเดิม พรมที่ทอโดยคนในเมือง และพรมโรงงานทอจากเครื่องจักร
ปัจจุบันพรมทุกประเภทยังถูกผลิตอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ ทั้งประเทศในทวีปยุโรป ประเทศอเมริกา ประเทศแถบตะวันออกกลาง และหลายประเทศในทวีปเอเชีย นับเป็นสินค้าออกที่ทำรายได้เข้าประเทศอิหร่านมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี
ระหว่างปี ๒๐๐๐-๒๐๐๑ พรมขนสัตว์ทอมือของอิหร่านมีสถิติการส่งออกถึง ๒๕,๕๗๐,๕๘๘ กิโลกรัม มูลค่า ๖๑๙,๔๙๖,๔๗๐ ดอลล่าร์สหรัฐ(ข้อมูลจากเวบไซต์ WWW.IRANEXPORTERS.ORG)
กล่าวได้ว่าจากยุคเริ่มต้นของพรมเปอร์เซียในสมัยโบราณ สู่ยุคทองในสมัยซาฟาวิด จวบจนปัจจุบัน แม้โฉมหน้าและลวดลายพรมเปอร์เซียอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เนื่องจากระบบอุตสาหกรรมและธุรกิจ แต่คุณค่าและเอกลักษณ์ของพรมเปอร์เซียยังไม่สูญหาย
พรมเปอร์เซียยังคงเป็นแกนสำคัญของวัฒนธรรม และสัมพันธ์แนบแน่นกับวิถีชีวิตของคนอิหร่านไม่เสื่อมคลาย
|
|
|
|
หมายเหตุ : สารคดีเรื่องนี้ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และความเห็นในหนังสือสารคดีนี้เป็นของคณะผู้จัดทำ สกว. ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป
|
|
|
|
เอกสารประกอบการเขียน
|
|
|
|
Arberry Arthur John, THE LEGACY OF PERSIA, Imprint Oxford, Clarendon Press, 1953
The Indigenous Elegance of Persian Carpet, The Carpet Museum of Iran, Andishe Zand Publising Co.Ltd., 2001
ไรน่าน อรุณรังษี, อิหร่านอู่แห่งอารยธรรม, ศูนย์วัฒธรรมสถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน, พ.ศ.๒๕๔๔
|
|