สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕ " ๑๐ ตัวพิมพ์กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย "
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕  

ไม้กวาดแสงจันทร์แท้ ของแม่แสงจันทร์

เกษร สิทธิหนิ้ว : เรื่อง / ฝ่ายภาพสารคดี : ภาพ

(คลิกดูภาพใหญ่)

      "สวยและทน" ใช่เพียงคุณสมบัติของหญิงที่ชายพึงปรารถนา 
      ไม้กวาดแสงจันทร์ที่จะแนะนำให้คุณรู้จักต่อไปนี้ก็มีคุณสมบัติเช่นเดียวกัน
      ในเบื้องต้นเราอาจต้องยกความดีให้แก่มิสเตอร์หงวน ลุงมนู และแปลงมะเขือหน้าบ้านของแก แล้วค่อยกล่าวถึงป้าแสงจันทร์ (ขวัญใจลุงมนู) เป็นลำดับต่อไป แต่ยังไม่หมดเท่านั้น การที่ไม้กวาดแสงจันทร์ กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์เชิดหน้าชูตาของชาวอำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ได้นั้น เราจะละเลยไม่เอ่ยถึงนายอำเภอ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ธกส. อบต. และพัฒนากรประจำอำเภอ ไม่ได้เด็ดขาด
      บางคนอาจเคยได้ยินชื่อไม้กวาดแสงจันทร์ หรือเคยเห็นตามงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนต่าง ๆ มาบ้างแล้ว และอาจคุ้นตากับไม้กวาดที่มีลักษณะคล้ายกัน วางขายตามซูเปอร์มาร์เกตทั่วไป แต่จากการตระเวนไปสำรวจหลาย ๆ ที่ ในระดับผิวเผิน เราเห็นว่าราคาต่างกันหลายเท่าตัวเลยทีเดียว และจากการแอบดึง แหก ทุบ สะบัด เพื่อทดสอบคุณภาพ จึงได้เห็นว่าคุณภาพของ "ไม้กวาดแสงจันทร์ของแท้" ทิ้งห่างกันหลายขุม
      "ไม้กวาดทั่วไปราคาอันละ ๓๐-๕๐ บาท ใช้สามสี่เดือนก็พัง ไม้กวาดแสงจันทร์อันละ ๑๐๐-๒๕๐ บาท ใช้ได้สองสามปี หลายคนที่ซื้อไปใช้แล้วติดใจ ตามมาซื้อกันถึงที่นี่ โรงแรมบางแห่งก็ซื้อครั้งละ ๑๐ กว่าอัน ทางเทศบาลเมืองเชียงราย ก็เปลี่ยนมาใช้แบบนี้เยอะแล้ว" ลุงมนู จันทพันธ์ คนที่เราเอ่ยถึงในตอนต้น ว่าอย่างนั้น 

(คลิกดูภาพใหญ่)       แกย้อนอดีตเมื่อ ๒๐ ปีก่อนให้ฟังว่า พ.ศ. ๒๕๒๗ มิสเตอร์หงวนนำเมล็ดพันธุ์ข้าวฟ่างจากประเทศไต้หวัน จำนวน ๓-๔ กิโลกรัม มาหาที่ปลูกในประเทศไทย เพื่อส่งไปผลิตไม้กวาดที่ไต้หวัน ซึ่งกำลังประสบปัญหาค่าแรงสูงมาก ตกวันละ ๒๐๐ บาท ขณะที่ค่าแรงในประเทศไทยอยู่ที่ ๒๕ บาทต่อวันเท่านั้น 
      "บังเอิญเขาผ่านมาทางบ้านลุง เห็นแปลงมะเขือหน้าบ้านงอกงามดี คงถูกใจ คิดว่าลุงคงจะดูแลเอาใจใส่อย่างดี เขาก็มาถามว่าอยากลองปลูกข้าวฟ่างส่งออกดูไหม ลุงเป็นคนชอบลองสิ่งใหม่ ๆ อยู่แล้ว พอคุยแล้วรู้สึกว่าน่าจะเป็นไปได้ก็เลยตอบตกลง"
      สามสิบวันนับจากตัดสินใจหย่อนเมล็ดพันธุ์พืชต่างถิ่นลงบนผืนดิน ข้าวฟ่างจากไต้หวันสูงแค่คืบ แต่อีก ๒๐ วันต่อมาก็โตพรวด ๆ ได้ฤกษ์ตัดขาย โดยมีบริษัทต่างประเทศเป็นผู้จัดการเรื่องส่งออกให้ ราคาขายกิโลกรัมละ ๒๕ บาทในสมัยนั้นก็ถือว่ามากโขอยู่ เมื่อเห็นว่าราคาดีพอจะยึดเป็นอาชีพได้ ลุงมนูจึงชักชวนชาวบ้านให้มาปลูกข้าวฟ่างส่งออกด้วยกัน
      "เขาบอกว่าเป็นข้าวฟ่างพันธุ์ที่ไม่มีในประเทศไทย ปลูกไม่ยากอย่างข้าวโพด เป็นพืชที่ชอบน้ำ แค่ได้น้ำดี ๆ ก็งามแล้ว แต่ว่าต้องอยู่ในสภาพอากาศที่เหมาะสมด้วยนะ ช่วงที่เริ่มให้ชาวบ้านนำไปปลูกแรก ๆ บางปีฝนทิ้งช่วง ข้าวฟ่างคุณภาพไม่ค่อยดี ส่งไปขายต่างประเทศไม่ได้ ลุงก็ต้องเอาเงินตัวเองรับซื้อข้าวฟ่างจากชาวบ้านไว้ ต้องขนไปทิ้ง เอาไปเผาก็มี ถือว่าเป็นการซื้อใจชาวบ้าน อยากให้มาปลูกกัน เพราะถ้าฝนตกดีจะมีรายได้แน่นอน ชาวบ้านจะลืมตาอ้าปากได้" 
      ปัจจุบันราคาข้าวฟ่างไต่ระดับมาที่กิโลกรัมละ ๔๕ บาท การปลูกข้าวฟ่างแทบจะถือเป็นรายได้หลักของชาวบ้าน ก่อนที่ "ไม้กวาดแสงจันทร์" จะถือกำเนิดเสียอีก
      "ถ้าผ่านมาแถวนี้ในหน้าฝน จะเห็นอำเภอขุนตาลและบางตำบลในอำเภอเชียงของ เต็มไปด้วยไร่ข้าวฟ่าง" ลุงมนูอธิบายว่า สภาพอากาศบางแห่งเท่านั้น ที่เหมาะกับการปลูกพืชชนิดนี้ เคยเอาไปลองปลูกที่ลำปาง แพร่ น่าน แต่ดอกข้าวฟ่างที่ได้ก็ไม่มีคุณภาพอย่างที่งอกงามในอำเภอขุนตาล ไม้กวาดแสงจันทร์ จึงเป็นสินค้าที่ผลิตได้เฉพาะอำเภอขุนตาลเท่านั้น
(คลิกดูภาพใหญ่)       นี่เพียงแค่รายได้จากการปลูกวัตถุดิบเท่านั้น เรายังไม่ได้พูดถึงป้าแสงจันทร์และไม้กวาดของเธอเลย
      "ป้าแสงจันทร์เห็นรูปไม้กวาดที่ไต้หวันทำ เลยลองทำดู จนสำเร็จ เขาเป็นคนคิด ก็เลยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาว่า ไม้กวาดแสงจันทร์" ลุงมนูพูดถึงภรรยาด้วยความภาคภูมิใจ ในขณะที่ป้าแสงจันทร์ออกตัวว่า
      "ลองผิดลองถูกมาเรื่อย ตอนแรกถักแค่ลายพื้น ๆ ป้าลองทำมาเรื่อย ๆ พัฒนารูปแบบจนมีลวดลายสวยงามอย่างที่เห็น ที่สำคัญมันแข็งแรงมาก ไม่มีทางหลุด เพราะเวลาเราสานก็ตัดมาทั้งต้นไม่ได้แยกเป็นเส้น ๆ แล้วเอามาสานอย่างไม้กวาดที่ทำจากดอกก๋ง (อย่างที่ใช้กันทั่วไป) ซึ่งมันจะหักและหลุด แต่ข้าวฟ่างพันธุ์นี้มันเหนียวมาก ไม่ขาดไม่หัก" ว่าแล้วป้าแสงจันทร์ก็ส่งต้นข้าวฟ่างมาให้เราลองขยี้แรง ๆ ทดสอบความเหนียว เมื่อทั้งดึง และขยำอย่างแรงก็ไม่อาจทำให้มันขาดจากกัน จึงพอนึกออกว่าทำไมไม้กวาดแสงจันทร์ จึงมีอายุการใช้งานนานขนาดนั้น 
      ลุงมนูยกตัวอย่างว่า เทศบาลเมืองเชียงราย ที่แต่ก่อนใช้ไม้กวาดก้านมะพร้าว กวาดถนนสามอันต่อเดือน ตอนนี้หันมาใช้ไม้กวาดแสงจันทร์ อันหนึ่งใช้ได้ถึงห้าเดือน แต่ถ้าใช้งานในบ้าน อายุการใช้งานก็นานถึงสองสามปีทีเดียว
      ปัจจุบันป้าแสงจันทร์ ลุงมนู และชาวบ้าน รวมกลุ่มกันผลิตไม้กวาดแสงจันทร์ โดยรับซื้อข้าวฟ่างจากสมาชิก และให้สมาชิกเป็นคนผลิตไม้กวาดแสงจันทร์ โดยใช้บ้านของลุงและป้า เป็นที่ทำการกลุ่ม หรือบางคนที่ทำเองที่บ้านก็เอามาขายด้วยกันได้ โดยหักรายได้ส่วนหนึ่งเข้ากลุ่ม ไม้กวาดส่วนใหญ่ส่งจำหน่ายไต้หวันและญี่ปุ่น ขณะนี้กำลังพยายามหาตลาดเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยด้วย
(คลิกดูภาพใหญ่)       ปัญหาอย่างหนึ่งของการส่งสินค้าหัตถกรรมไปจำหน่ายต่างประเทศคือ งานแต่ละชิ้นจะไม่เหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว อย่างที่ผลิตจากโรงงาน อย่างที่รู้กันว่า บริษัทต่างประเทศส่วนใหญ่ จะมีข้ออ้างในการกดราคา เช่น ความถี่ ห่าง ของลวดลายที่ต่างกันเพียงนิดหน่อย หรือสีของด้ามไม้กวาดที่ผิดเพี้ยนกัน สิ่งที่ลุงมนูบอกเราได้ แต่ไม่สามารถใช้เป็นข้อต่อรองกับต่างประเทศได้ก็คือ งานที่ทำจากมือคน ย่อมไม่เหมือนงานที่ออกมาจากเครื่องจักร แต่ถ้าวัดกันที่คุณภาพการใช้งาน รับรองว่าไม่มีชิ้นไหนด้อยไปกว่ากัน แต่เมื่อไรก็ตามที่ยังหาตลาดในประเทศได้ไม่มาก ก็จำต้องส่งไปขายต่างประเทศต่อไป
      "อยากให้เทศบาลและเกษตรกรที่ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ได้ลองใช้ไม้กวาดแสงจันทร์ของชาวขุนตาลดู รับรองเลยว่าคุ้มค่า ไม่ต้องซื้อใหม่บ่อย ๆ ประหยัดกว่าเยอะ คนไทยจะได้ไม่เสียเปรียบต่างประเทศอีก" คือทางออกที่ทางกลุ่มอยากให้เป็น หากคนไทยช่วยคนไทยด้วยกันเอง ปัญหานี้คงหมดไป เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ ที่ทางกลุ่มผ่านมาได้ เพราะความช่วยเหลือร่วมมือกันของหน่วยงานต่าง ๆ วันที่เราไปนั่นดูป้าแสงจันทร์ และสมาชิกกลุ่มนั่งถักไม้กวาดอย่างขะมักเขม้น เผอิญเป็นวันประชุมของบุคคลต่าง ๆ ที่มีส่วนส่งเสริมผลิตภัณฑ์นี้ ทั้งนายอำเภอ, ประธานกรรมการบริหาร อบต. ยางฮอม อำเภอขุนตาล, เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้, เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์, พัฒนาการอำเภอขุนตาล และใครอีกหลายคน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมชาวขุนตาล จึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากจาก ๒๐ ปีก่อน
      คุณเริงพล มุกดาสนิท นายอำเภอขุนตาล เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมีการปลูกข้าวฟ่างและผลิตไม้กวาดแสงจันทร์ ชาวขุนตาลยากจนมาก พอหมดฤดูทำนาก็อพยพไปอยู่ที่อื่นถึง ๔,๐๐๐ กว่าคน จากทั้งหมด ๓๔,๐๐๐ คน
      "สมัยนั้นเจอคนขายซาลาเปาที่ไหนลองถามดูเถอะ ๑๐ คนจะเป็นคนขุนตาลเสียครึ่งหนึ่ง ใคร ๆ ก็ดูถูกว่าคนขุนตาลหนีบ้านไปขายซาลาเปา พอเห็นช่องทางที่จะทำให้ชาวขุนตาลมีอาชีพ มีความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างที่ลุงมนูทำ ทางการก็สนับสนุนเต็มที่"
(คลิกดูภาพใหญ่)       ข้าวฟ่างเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ดังนั้นหากมีน้ำพอเพียงอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเพิ่มศักยภาพการผลิตได้อีกมาก สามารถปลูกได้มากกว่าปีละ ๓ ครั้งในฤดูฝน นายอำเภอจึงผลักดันให้มีการขุดบ่อน้ำตื้นเพื่อใช้ร่วมกันแห่งละ ๓-๔ ครัวเรือน
      "ทาง อบต. เข้ามาช่วยประสานเรื่องแหล่งทุนและเรื่องการตลาด โดยประสานกับหน่วยงานที่จัดงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน พาไปออกงาน เปิดตัวในที่ต่าง ๆ 
      "ส่วนกรมป่าไม้เข้ามาช่วยเรื่องพื้นที่เพาะปลูก ในอำเภอขุนตาลมีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่มาก ก็อะลุ่มอล่วยให้ชาวบ้านมาใช้พื้นที่เหล่านี้ปลูกข้าวฟ่าง ดีกว่าปล่อยไว้เปล่าประโยชน์
      "ทาง ธกส. ได้ช่วยเรื่องเงินลงทุน ลดเงื่อนไขการกู้ให้กู้ได้ง่ายขึ้น ได้เงินมากขึ้น เกษตรกรที่กู้ไปปลูกข้าวฟ่างจะส่งเงินตรงเวลา มีเงินหมุนเวียนอยู่ในอำเภอนี้จำนวนมาก"
      ชีวิตความเป็นอยู่ ณ วันนี้ต่างจากเมื่อ ๒๐ ปีก่อนลิบลับ ชาวขุนตาล อ. ขุนตาล จ. เชียงราย มีอาชีพมั่นคงอยู่กับบ้าน อาจไม่ใช่เพราะมีผลิตภัณฑ์ไม้กวาดแสงจันทร์อย่างเดียว แต่ยังมีว่านหางจระเข้ในน้ำเชื่อมแสนอร่อย แชมพูจากว่านหางจระเข้และมะคำดีควาย และมีอะไรอื่นอีกมากมายที่กำลังจะทำ
      อย่างไรเสีย ก็ต้องยกความดีให้แก่ไม้กวาดแสงจันทร์ ที่เบิกทางให้ผู้คนที่นี่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถส่งลูกหลานเรียนจนจบปริญญาตรีได้ด้วยการปลูกข้าวฟ่างขาย ที่สำคัญพวกเขาไม่ต้องไปหางานทำที่ไหนไกล
      และต่อไปนี้คงไม่มีใครเยาะเย้ยถากถางคนขุนตาลว่า "หนีบ้านไปขายซาลาเปา" ได้อีกแล้ว