สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕ " ๑๐ ตัวพิมพ์กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย "
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๑ เดือน กันยายน ๒๕๔๕  

๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย (ต่อ)

เรียบเรียงโดย ปรีชา สุวีรานนท์
โดยการสนับสนุนของ บริษัท เอส. ซี. แมทช์บอกซ์ และนิตยสาร สารคดี

ตัวพิมพ์กับอุตสาหกรรมการพิมพ์ยุคพัฒนา

  โมโนไทป์ โดย ไทยวัฒนาพานิช พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๑๕
อาคารสำนักงาน บริษัทสำนักพิมพ์ ไทยวัฒนาพานิช ตั้งอยู่ถนนไมตรีจิตต์ (คลิกดูภาพใหญ่)       หลังจากที่จอมพลสฤษณ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ และดำเนินนโยบายร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ ในการทำสงครามเย็นกับค่ายคอมมิวนิสท์ ความช่วยเหลือจากมหามิตรดังกล่าวก็หลั่งไหลเข้ามาสู่ไทย ทั้งในรูปของเงินทุนเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่ "ยุคพัฒนา" อันหมายถึง การเร่งรัดเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ตามกระแสทุนนิยมโลก
      นอกจากการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาแล้ว รัฐบาลยังมีนโยบายกระตุ้นให้เอกชน รวมทั้งบริษัทต่างชาติเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑ คำขวัญของคณะรัฐบาลที่ว่า "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" กระตุ้นให้คนไทยทุกหย่อมหญ้าใฝ่ฝันถึง "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี" และเป็นแรงผลักดันให้เกิดการก่อสร้างถนน ทางหลวงแผ่นดิน เขื่อนและโรงไฟฟ้าต่างๆ มากมาย
 

การพัฒนาตัวพิมพ์โดยโรงพิมพ์ใหญ่

 สติ๊ก เครื่องมือเรียงตัวพิมพ์ด้วยมือ ช่างจะต้องเรียงตัวตะกั่วทีละบรรทัด (คลิกดูภาพใหญ่)       ในยุคนี้ ความเจริญเติบโตของการพิมพ์ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เป้าหมายในเวลานั้นก็คือ ผลิตสร้างงานพิมพ์ให้มีมาตรฐานด้านอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อสนองการขยายตัวของตลาดภายในและมุ่งหน้าสู่การผลิตเพื่อการ "ส่งออก" ในระยะต่อไป
      ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีตัวพิมพ์ที่น่าสนใจในช่วงนี้คือ การสร้างตัวพิมพ์ชุดโมโนไทป์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๐๕ โดยบริษัทไทยวัฒนาพานิช ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพิมพ์หนึ่งที่ทันสมัย และใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ได้ร่วมมือกับบริษัทโมโนไทป์แห่งประเทศอังกฤษ ทำการปรับปรุงรูปแบบตัวพิมพ์ไทย เพื่อใช้กับเครื่องเรียงพิมพ์อัตโนมัติ 
      ระบบโมโนไทป์เป็นการยกเลิกวิธีเรียงพิมพ์ด้วยฝีมือมนุษย์ หันไปใช้การเรียงอักษรด้วยแป้นคีย์บอร์ด เมื่อผู้บังคับแป้นคีย์บอร์ดใส่ข้อความลงไปจนครบ เครื่องเรียงจะดำเนินการเรียงพิมพ์ออกมาทีละหน้าอย่างอัตโนมัติ โดยที่การเรียงพิมพ์แต่ละครั้งจะมีการหล่อและเรียงตัวพิมพ์ขึ้นมาใหม่เสมอ
ถาดใส่แม่ทองแดง (คลิกดูภาพใหญ่)       โจทย์สำคัญสำหรับผู้สร้างแบบตัวพิมพ์โมโนไทป์คือ ทำอย่างไรจึงจะได้ตัวขนาดเล็ก ประหยัดเนื้อที่ แต่ยังอ่านได้สะดวก โจทย์นี้สะท้อนถึงสภาวะของวงการพิมพ์ที่กำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรม และเงื่อนไขของการพิมพ์หนังสือที่มียอดพิมพ์สูงกว่าแต่ก่อน
      ตัว "โมโนไทป์" เป็นผลงานของพีระ ต. สุวรรณ ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาได้เป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตของไทยวัฒนาพานิช เขา สำเร็จการศึกษาวิชาการพิมพ์จาก Liverpool College of Printing ในอังกฤษ พีระมีส่วนในการออกแบบ และดูแลการจัดทำตัวพิมพ์ชุดนี้กับเครื่องโมโนไทป์อย่างใกล้ชิด นอกจากจะปรับปรุงการหล่อให้สะดวกรวดเร็ว และมีคุณภาพดีขึ้นแล้ว ยังได้พยายามปรับปรุงตัวพิมพ์ชุดใหม่ให้สวยงามขึ้นด้วย
 ระบบโมโนไทป์จะเรียงพิมพ์จากการกดคีย์บอร์ดที่เครื่องบังคับ (คลิกดูภาพใหญ่)       ตัวโมโนไทป์มีหลายแบบ บางแบบให้เส้นที่บางกว่าตัวตะกั่วแบบอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีการปรับปรุงด้านอื่นๆ คือ บีบสระบน และวรรณยุกต์ให้เล็กและวางต่ำลง ทั้งนี้เพื่อประหยัดเนื้อที่ ตัวธรรมดาถูกย่อเล็กลงเหลือราว ๑๖ พอยต์ โดยที่ยังคงความสวยงามและอ่านง่ายไว้ได้ ในยุคก่อนหน้านี้ การออกแบบตัวพิมพ์มีข้อจำกัด อันเกิดจากการพิมพ์ระบบเลตเตอร์เพรส เช่น บางมากก็ไม่ได้เพราะจะทำให้ตัวขาด หนามากก็ไม่ได้เพราะจะทำให้ตัวบวม การที่โมโนไทป์กล้าสร้างเส้นที่บางลงได้นั้น เพราะตัวพิมพ์โมโนไทป์เกิดจากการหล่อใหม่ทุกครั้ง จึงกำจัดปัญหาตัวพิมพ์ขาดได้อย่างสิ้นเชิง
      ตัวที่เด่นที่สุดของชุดโมโนไทป์ เรียกชื่อตามระดับความหนาของเส้นว่า ตัว "กลาง" กลายเป็นที่นิยม และก้าวเข้ามาแทนที่ตัวธรรมดาแบบเก่า เส้นของตัวพิมพ์นี้จะมีความสม่ำเสมอกันตลอด ปลายเส้นตัดตรง รวมทั้งมีความสูงตัวพิมพ์ หรือ X-height มากกว่าเดิม จุดเด่นคือไม่หักง่ายเหมือนตัวธรรมดาแบบเก่า อีกทั้งยังอ่านง่ายขึ้นด้วย
      "โมโนไทป์กลาง" เป็นตัวพิมพ์ที่หยิบเอาข้อดีของตัวบรัดเลและฝรั่งเศสมารวมกัน จะเห็นได้จากการใช้เส้นที่หนาสม่ำเสมอแบบบรัดเล และการดึง "หัวกลาง" ให้ลงมาข้างล่างมากขึ้นเช่นเดียวกับฝรั่งเศส นอกจากนั้นมีการออกแบบตัว จ จาน ให้มีเส้นแนวดิ่งสองเส้น และสร้างเส้นฐานโค้งมน เพื่อถ่วงน้ำหนักมาข้างหลังและไม่ให้หัวคะมำไปข้างหน้าจนเกินไป ซึ่งก็เป็นลักษณะเด่นที่ดึงมาจากฝรั่งเศสอีกเช่นกัน
เมื่อเรียงพิมพ์เสร็จ เครื่องหล่อจะหล่อตัวพิมพ์ออกมาทีละหน้า (คลิกดูภาพใหญ่)       ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ศูนย์พัฒนาหนังสือโตเกียว (Tokyo Book Development Center) ด้วยความร่วมมือของยูเนสโก (UNESCO) ได้ให้ทุนเพื่อทำการพัฒนาตัวพิมพ์ของประเทศที่ไม่ใช้อักษรโรมัน และได้มอบทุนให้ทางกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการออกแบบพัฒนาตัวพิมพ์อักษรไทยที่มีชื่อชุดว่า "ยูเนสโก" ขึ้น มีลักษณะคล้ายตัวโมโนไทป์กลาง นั่นคือมีเส้นที่หนาเท่ากันเกือบตลอด กริดหรือระเบียบที่เข้มงวดถูกนำมาใช้ในการกำหนดสัดส่วน เหลี่ยมและคมที่ไม่จำเป็นถูกขัดเกลาจนเรียบราบดูเนียนตา ตัวพิมพ์ชุดนี้เป็นผลงานการออกแบบของมานิต กรินพงศ์ อีกทั้งมีความหนาหรือน้ำหนักต่างกันถึงสองระดับ
อีกตัวหนึ่งซึ่งน่ากล่าวถึงในที่นี้คือตัว "คุรุสภา" ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันคือระหว่างปี พ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๐๕ คุรุสภาเป็นตัวพิมพ์ในระบบเรียงพิมพ์ด้วยแสงแบบหนึ่งซึ่งชื่อว่า Photo-Composing Machine ระบบนี้มีแม่แบบเป็นตัวอักษรบนแผ่นกระจกเนกาตีฟ ใช้ถ่ายภาพตัวอักษรทีละตัวลงบนฟิล์มไวแสง เรียงติดต่อกันไป จากคำจนเป็นหน้า แล้วจึงนำแผ่นกระดาษไวแสงนั้นไปล้างและทำเป็นแม่พิมพ์ออฟเซท
      การถ่ายตัวแบบนี้ใช้วิธีย่อขยายจากแบบเดียวกัน จึงมีหลายขนาด ตั้งแต่ ๘ ถึง ๖๒ พอยท์ ระบบนี้เป็นผลงานร่วมกันระหว่างองค์การค้าของคุรุสภากับบริษัท Shaken ของญี่ปุ่น คุรุสภามีลักษณะที่คล้ายกับตัวกลางและยูเนสโกตรงที่มีเส้นที่หนาสม่ำเสมอกัน คอนทราสท์หรือความแตกต่างระหว่างเส้นตั้งกับเส้นนอนไม่มาก เส้นนอนด้านบนโค้งมน และเส้นนอนด้านล่างตรง
 

โมโนไทป์กับยุคปลายของตัวตะกั่ว

 ไทยวัฒนาพานิช มีบทบาทสำคัญในการผลิตแบบเรียนของกระทรวงศึกษาฯ (คลิกดูภาพใหญ่)       อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นตัวพิมพ์ที่มีคุณภาพ และสวยงามกว่าตัวพิมพ์ของโรงหล่ออื่นๆ แต่โมโนไทป์เป็นเทคนิคที่มีราคาแพง การใช้จึงอยู่ในวงจำกัด ตัว "ยูเนสโก" และตัว "คุรุสภา" ซึ่งปรากฏขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็ประสบภาวะคล้ายกันคือ ไม่แพร่หลาย และกลายเป็นตัวพิมพ์ที่ใช้กันเฉพาะในกลุ่มโรงพิมพ์ของทางราชการ
      ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อโมโนไทป์เข้ามาสู่เมืองไทย ก็พอดีกับที่การพิมพ์ระบบเลตเตอร์เพรสก้าวมาถึงจุดอิ่มตัว ทุกคนในวงการกำลังพูดถึงการพิมพ์ระบบลิโธออฟเซตซึ่งจะมาแทนที่ระบบเก่า ระบบออฟเซตหมายถึงการพิมพ์ที่ไม่ใช้แรงกดระหว่างแท่นพิมพ์ ตัวพิมพ์ กับกระดาษ แต่ใช้คุณสมบัติทางเคมีของหมึกและน้ำมาทำให้เกิดภาพและตัวอักษรบนกระดาษ ระบบนี้เหนือกว่าเลตเตอร์เพรสทั้งในด้านคุณภาพงานและความเร็วในการพิมพ์
      ที่สำคัญก็คือ การพิมพ์ระบบนี้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวตะกั่ว เพราะต้องการเพียงถ่ายทอดตัวอักษรลงบนแบบ หรืออาร์ตเวิร์ก แล้วนำไปถ่ายลงบนแม่พิมพ์ซึ่งเป็นเพลตสังกะสีบางๆ นั่นหมายความว่าการสร้างตัวพิมพ์อาจหันไปใช้วิธีอื่น เช่น อักษรลอกก็ได้ การก้าวเข้ามาของออฟเซตจึงเป็นสัญญาณว่า ชีวิตของตัวตะกั่วใกล้ถึงเวลาสิ้นสุดลงแล้ว

ตัวพิมพ์กับอักษรลอกหรือทางเลือกใหม่

  มานพติก้า โดย มานพ ศรีสมพร พ.ศ.๒๕๑๖-๒๕๓๐
มานพ ศรีสมพร (คลิกดูภาพใหญ่)       หลังจากที่ได้รับใช้กระบวนการพิมพ์หนังสือมายาวนาน ตัวพิมพ์ตะกั่วก็ลดความสำคัญลงอย่างฮวบฮาบในช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐ เนื่องจากเทคโนโลยีแบบอื่นๆ ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเกิดความต้องการแบบตัวพิมพ์ใหม่ๆ เป็นอย่างมาก
      ในด้านหนึ่ง เป็นไปดังที่กล่าวมาแล้วคือ ความต้องการดังกล่าวได้รับการตอบสนองด้วยตัวประดิษฐ์ ที่เกิดจากการวาดโดยนักออกแบบ หรือฝ่ายศิลป์ตามร้านบล็อก และโรงพิมพ์
      ในอีกด้านหนึ่ง เกิดมีตัวพิมพ์ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวพาดหัว (headline) สำหรับหนังสือพิมพ์และโฆษณาได้ดีกว่าตัวประดิษฐ์ และตัวตะกั่ว นั่นคือ อักษรลอก การใช้อักษรลอกเริ่มขึ้นในวงการโฆษณา แล้วต่อมาจึงขยายไปสู่วงการหนังสือพิมพ์
      การพิมพ์ระบบออฟเซต ซึ่งขยายตัวขึ้นในช่วงเดียวกัน เปิดโอกาสให้อักษรลอกได้รับความนิยมขึ้นมา เพราะการพิมพ์ระบบนี้ต้องการเพียงการถ่ายทอดตัวอักษรลงบนแบบหรืออาร์ตเวิร์ก ซึ่งหมายความว่าอาจหันไปใช้วิธีอื่น นอกเหนือจากการพิมพ์ด้วยตัวตะกั่วก็ได้
      อักษรลอก หรือ dry-transfer letter มีชื่อเรียกลำลองว่าตัวขูด เป็นรูปลอกที่ทำเป็นรูปอักษรครบชุด มีขนาดต่างๆ กัน ตั้งแต่ ๔ มม. ไปจนถึง ๒๐ มม. วิธีใช้ก็คือนำมาขูดลงบนอาร์ตเวิร์กทีละตัว ด้วยกรรมวิธีเดียวกับการขูดรูปลอกความยากลำบากของวิธีนี้ อยู่ที่การจัดตำแหน่ง และช่องไฟของตัวอักษรให้สม่ำเสมอ และสวยงาม
 ตัวอย่างอักษรลอกชุด "มานพ๔" และ "มานพ ๕" (คลิกดูภาพใหญ่)       อันที่จริง เราจะเรียกอักษรลอกว่าตัวพิมพ์อย่างเต็มภาคภูมิไม่ได้ เพราะไม่สามารถใช้เป็นตัวพื้น การสร้างตัวอักษรพึ่งพามือมากกว่าเครื่องจักร อีกทั้งการวัดขนาดก็เป็นมิลลิเมตร (ไม่ใช่ระบบพอยต์) อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทยอักษรลอกได้เข้ามาทำหน้าที่ "ทดแทน" ตัวตะกั่ว โดยเฉพาะตัวดิสเพลย์ซึ่งมีอยู่น้อยมาก มันจึงมีบทบาทอยู่เป็นเวลานาน และเป็นแบบอย่างให้แก่การออกแบบตัวพิมพ์ในยุคปัจจุบันหลายแบบ
      อักษรลอกส่วนหนึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทสยามวาลา เกิดจากความร่วมมือกับบริษัทแมคานอร์มา ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในยุคเดียวกันนั้น มีอักษรลอกของบริษัทอื่น เช่น เลตราเซต ประเทศอังกฤษด้วย
      อีกสิ่งหนึ่งที่ควรกล่าวถึงเกี่ยวกับอักษรลอกก็คือ ผลงานออกแบบส่วนมากเป็นของ มานพ ศรีสมพร เขาได้ออกแบบอักษรลอกไว้เป็นจำนวนมากกว่า ๒๐ แบบ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคโฟโต้ไทป์เซตติ้ง และดิจิตอล มานพยังได้มีบทบาทในการออกแบบตัวพิมพ์ที่สวยงามอีกหลายแบบ นับได้ว่าเป็นนักออกแบบคนเดียวที่มีผลงานการสร้างตัวพิมพ์ต่อเนื่องกันถึงสี่ยุค ได้แก่ ยุคตัวประดิษฐ์ อักษรลอก โฟโต้ไทป์เซตติ้ง และดิจิตอล อีกทั้งมีโอกาสร่วมงานกับบริษัทผลิตแบบตัวพิมพ์ที่สำคัญๆ เกือบทุกบริษัท
 ขั้นตอกการใช้อักษรลอก (คลิกดูภาพใหญ่)       อักษรลอกของไทยเกิดจากการริเริ่ม ของผู้กำกับฝ่ายศิลป์ชาวสวิสคนหนึ่ง ของบริษัทดีทแฮล์มซึ่งต้องการตัวพิมพ์แบบใหม่ๆ มาใช้ในงานโฆษณา และได้ดำเนินการชักนำให้บริษัทดี เอช เอ สยามวาลา มาลงทุนในโครงการนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ มานพซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ในแผนกโฆษณาของดีทแฮล์มได้กลายเป็นผู้ออกแบบอักษรลอกหลายชุด ชุดแรกผลิตออกจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ตามด้วยชุดอื่นๆ จนครบ ๒๑ ชุดในปี พ.ศ. ๒๕๒๒
      "มานพติก้า" เป็นหนึ่งในชุดอักษรลอกดังกล่าว ในการออกแบบมานพติก้า มานพมีเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า ต้องการตัวพิมพ์ไทยที่มีบุคลิกที่เหมือนกับเฮลเวติก้า (Helvetica) ตัวพิมพ์ภาษาโรมันที่โด่งดังที่สุดในสมัยนั้น มานพติก้ามีความหนาบางให้เลือกถึง ๔ แบบ ตัวไม่มีหัวของอักษรลอกอีกหลายแบบก็มีเป้าหมายคล้ายมานพติก้า นั่นคือ ใช้เป็นตัวดิสเพลย์ในงานโฆษณา
      ผลงานที่โดดเด่นอีกแบบของมานพได้แก่ตัว "มานพ ๒" ซึ่งดัดแปลงมาจากตัวตะกั่วที่ชื่อ "ฝรั่งเศสดำ" (ย่อว่า ฝ.ศ.ดำ) มานพ ๒ มีความสวยงามลงตัว เป็นที่นิยมใช้ทั้งกับงานราชการ และเอกชนทั่วไป อีกตัวหนึ่งคือ "มานพ ๕" ซึ่งในปัจจุบันจะพบเห็นได้บนป้ายชื่อตรอกซอกซอยถนนหนทาง ทางด่วน และทางหลวงทั่วประเทศ มานพ ๕ เป็นตัวพิมพ์ซึ่งถอดแบบมาจากตัวอักษรที่ใช้ในงานการถไฟ จุดเด่นคือมีหัวที่บอดหรือเป็นวงกลมทึบ สัดส่วนของความหนาบางของเส้นต่างกัน ปลายเส้นตั้งโค้งมน
 ชื่อถนนบนป้ายจำนวนมาก มาจากอักษรลอกชุด มานพ ๕ (คลิกดูภาพใหญ่)       นอกจากนั้น ยุคอักษรลอกยังมีผลงานของนักออกแบบคนอื่นๆ เช่น "สำคัญ" แบบที่โด่งดังของชุดนี้ได้แก่ "สำคัญ ๒" ซึ่งเป็นตัวที่ใช้บนป้ายจราจรมากเช่นเดียวกับมานพ ๕ อักษรลอกชุดนี้ถูกดัดแปลงมาเป็นหัว และพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับในปัจจุบัน อีกแบบหนึ่งคือ "สำคัญ ๕" ซึ่งมีบุคลิกที่โดดเด่นมากตรงที่เส้นหนาเป็นพิเศษ 
      ยุคทองของอักษรลอกน่าจะได้แก่ช่วงสองสามปีหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ อันเป็นช่วงที่นิสิตนักศึกษา และประชาชนประกอบกิจกรรมทางการเมืองอย่างคึกคักยิ่ง ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๙ มีการพิมพ์โปสเตอร์ทางการเมือง และใบปลิวต่างๆ กันขนานใหญ่ การใช้อักษรลอกและการพิมพ์ด้วยระบบออฟเซตช่วยสนองความต้องการด้านความรวดเร็วฉับไว ทำให้กิจกรรมเกิดความคล่องตัว
      จาก พ.ศ. ๒๕๑๖ ถึง พ.ศ. ๒๕๓๐ อักษรลอกแพร่หลายอยู่นานนับเป็นเวลากว่า ๑๕ ปี ก่อนที่ตัวพิมพ์ระบบโฟโต้ไทป์เซตติ้งกับดิจิตอลจะพัฒนาขึ้นมา และสามารถเข้ามาแทนที่ได้

ตัวพิมพ์ยุคโฟโต้ไทป์เซตติ้ง

  ทอมไลท์ โดย ทองเติม เสมรสุต พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๓๐
ทองเติม เสมรสุด (คลิกดูภาพใหญ่)       ตัวพิมพ์ในระบบโฟโต้ไทป์เซตติ้งมีวิธีการสร้างเหมือนเทคนิคการอัดรูป กล่าวคือ ใช้ฟิล์มเนกาตีฟและกระดาษอัดรูปหรือแผ่นเคลือบน้ำยาที่มีความไวต่อแสง การสร้างฟิล์มเนกาตีฟที่มีรูปอักษร ทำโดยถ่ายรูปแบบตัวอักษรลงบนฟิล์ม ส่วนการทำงานของเครื่องเรียงพิมพ์ระบบนี้ เริ่มจากการบังคับเครื่องด้วยแป้นพิมพ์ ให้แสงฉายผ่านฟิล์มเนกาตีฟ ไปตกลงบนกระดาษอัดรูป หลังจากนั้นเมื่อเรียงพิมพ์จนจบแผ่นตามขนาดของหน้าหรือคอลัมน์ที่ต้องการแล้ว ก็นำกระดาษนั้นไปล้างน้ำยา จะได้กระดาษที่มีตัวอักษรปรากฏอยู่ และพร้อมจะนำไปทำเป็นแม่พิมพ์ในระบบออฟเซต
      จุดเด่นของการเรียงพิมพ์แบบโฟโต้ไทป์เซตติ้งคือ สามารถลดทอนระยะเวลาในการเรียง อีกทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับช่างเรียง ตัวพิมพ์ และห้องเก็บตัวพิมพ์ เพราะเครื่องเรียงพิมพ์ระบบใหม่เพียงหนึ่งเครื่องสามารถทำงานได้เร็วเท่ากับช่างเรียงนับสิบคน การลดระยะเวลาเรียงพิมพ์ย่อมมีประโยชน์แก่กิจการหนังสือพิมพ์มาก เพราะจะทำให้การผลิตรวดเร็วทันต่อสถานการณ์มากขึ้น 
ก่อนเปลี่ยนเป็นระบบออฟเซต ไทยรัฐ พิมพ์ด้วยระบบโรตารี ซึ่งต้องหล่อหนังสือทั้งหน้าเป็นแท่นพิมพ์ทรงกระบอก (คลิกดูภาพใหญ่)       ด้วยเหตุผลนี้ ไทยรัฐ ในฐานะที่เป็นหนังสือพิมพ์ใหญ่ จึงร่วมมือกับบริษัทอีเอซีในฐานะผู้จำหน่ายเครื่องเรียงพิมพ์ "คอมพิวกราฟ" ทำการพัฒนาตัวพิมพ์เพื่อนำมาใช้ในกิจการของตน
      ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ทองเติม เสมรสุต หัวหน้ากองการผลิตของ ไทยรัฐ ได้ร่วมมือกับบริษัท Compugraphic ผู้ผลิตเครื่องเรียงพิมพ์ระบบนี้ สร้างตัวพิมพ์ชุดอีเอซีขึ้นมา ผลงานชุดนี้ส่วนหนึ่งเป็นงานแกะแบบตัวพิมพ์ยุคตัวตะกั่วจำนวนกว่าสิบแบบ อีกส่วนหนึ่งเป็นงานออกแบบใหม่เช่น C1 ที่กลายมาเป็นอีเอซี ทอมไลท์ ในยุคต่อมา
      ทักษะและความสามารถของทองเติม เสมรสุตนั้นมีหลายด้าน ก่อนที่จะหันมาเอาจริงเอาจังกับเรื่องการพิมพ์และการออกแบบ เขามีประสบการณ์ในวงการหนังสือพิมพ์มาอย่างโชกโชนมาก่อน ทองเติมเคยเป็นทั้งบรรณาธิการ (หนังสือ พิมพ์เสียงอ่างทองรายวัน สายธาร ฯลฯ ) นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักทำโฆษณา นักออกแบบสิ่งพิมพ์ และศิลปินวาดภาพประกอบ ในเวลาต่อมา เขายังได้มีบทบาทในการสอนฝึกอบรม และสร้างความรู้ด้านทฤษฎีเกี่ยวกับตัวพิมพ์และการพิมพ์ มีผลงานเป็นหนังสือและตำรามากมายเช่น ตำราของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและคู่มือการพิมพ์ออฟเซต
 ต้นแบบตัวพิมพ์ของตัวพิมพ์คอมพิวกราฟิก (คลิกดูภาพใหญ่)       อีเอซี ทอม ไลท์ มีลักษณะคล้ายกับตัวพื้นแบบธรรมดาที่มีเส้นบาง แต่มีการลากเส้นแบบเรขาคณิตมากขึ้น เช่น ลากเส้นนอนด้านบนของตัวอักษรบางตัว เช่น ค ควาย จ จาน ล ลิง ด เด็ก ว แหวน และ อ อ่าง ให้มีความโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม และมีปลายเส้นที่ลากตกลงมาเป็นเส้นตรง เส้นทะแยงของบางตัวอักษรที่เคยโค้งงอเข้าหาเส้นทะแยง ก็เปลี่ยนเป็นหักเข้าเป็นมุมแหลม (เช่นในตัว ท ทหาร ร เรือ และล ลิง) ลักษณะนี้ทำให้ทอมไลท์มีบุคลิกแบบ "สมัยใหม่" (modern) เพราะดูประหนึ่งว่าต้องการจะลดทอนองค์ประกอบของอักษรไทย ให้เหลือเพียงรูปทรงเชิงเรขาคณิตขั้นพื้นฐาน เช่น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และวงกลม ทอมไลท์เป็นการบุกเบิกแนวทางใหม่ที่เน้นเป็นเหตุเป็นผล และเป็นระบบระเบียบมากกว่าตัวรุ่นก่อนๆ ในเวลาต่อมา ทองเติม เสมรสุตได้สร้าง ทอม โบล์ด หรือตัวหนาของชุดนี้ขึ้นมาด้วย

ตัวพิมพ์กับเศรษฐกิจยุคฟองสบู่

  ดีบี เอราวัณ พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๔๐
        มักมีการกล่าวเปรียบเทียบว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิตอล เป็นการปฏิวัติทางเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ พอๆ กับการคิดค้นระบบตัวพิมพ์ของกูเทนแบร์ก เทคโนโลยีนี้ได้ส่งผลสะเทือนอย่างมหาศาลให้แก่โลกของตัวพิมพ์ นับตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงหลักวิชาและศิลปะในการใช้ตัวพิมพ์
 

ตัวพิมพ์กับเศรษฐกิจฟองสบู่

สุรพล เวสารัชเวศย์ แห่งบริษัทเดียร์บุ๊ก (คลิกดูภาพใหญ่)       ระบบดิจิตอลยังได้เข้ามาสู่ประเทศไทย ในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูสุดขีด ดังที่เรียกอย่างลำลองว่า ยุคฟองสบู่ เทคโนโลยีดังกล่าว จึงเข้ามาสนองความต้องการที่เกิดจากการขยายตัวอย่างฉับพลัน ของเศรษฐกิจภาคบริการ ในด้านการใช้สิ่งพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อธุรกิจ โฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือการกระจายข้อมูลข่าวสาร ผลกระทบต่อตัวพิมพ์จึงยิ่งรุนแรงเป็นเท่าทวี
      ในที่นี้ เราอาจยกกรณีที่ตัวพิมพ์ในยุคนี้ถูกเรียว่า "ฟอนต์" มาเป็นตัวอย่าง เพราะเป็นสิ่งที่ยืนยันให้เห็นว่า การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลนั้น มีผลกระทบต่อตัวพิมพ์ตั้งแต่ระดับพื้นฐานที่สุด นั่นคือ เข้าไปเปลี่ยนแปลงความหมายของตัวพิมพ์
      อันที่จริง ฟอนต์ (font) เป็นคำเก่าที่ใช้เรียกชุดของตัวตะกั่วที่ประกอบด้วยอักษร อันได้แก่ พยัญชนะ สระ ตัวเลข และเครื่องหมายพิเศษครบทั้งชุด ที่สำคัญคือมีขนาดที่แน่นอน เช่น ฝรั่งเศสขนาด ๑๒ พอยต์ กับฝรั่งเศสขนาด ๑๙ พอยต์ ถือว่าเป็นคนละฟอนต์กัน แต่ในยุคตัวดิจิตอล ฟอนต์ หมายถึงข้อมูลที่เกิดจากการถ่ายทอดแบบตัวพิมพ์แต่ละแบบแล้วบันทึกไว้ในรูปของชุดคำสั่ง ชุดคำสั่งที่ว่านี้จะทำให้การแปรรูป เปลี่ยนขนาด และแสดงผลหน้าจอของตัวพิมพ์เป็นไปได้ นอกจากนั้นยังสามารถเรียกตัวพิมพ์ให้มาทำงานร่วมกับโปรแกรม และระบบปฏิบัติการต่างๆ ได้ด้วย ฟอนต์บางชนิดเช่นของ อโดบี เขียนด้วยภาษาโพสต์สคริปต์ แบบตัวพิมพ์ถูกบันทึกไว้ในรูปของเส้นเอาต์ไลน์ และประมวลผลด้วยค่าของจุดตัดและเวกเตอร์
 

เมื่อตัวพิมพ์หลุดจากข้อจำกัดทางกายภาพ

 ตารางอักษรแบบ ASCII ของแมคอินทอช สร้างโดยสหวิริยา พ.ศ. ๒๕๒๘ (คลิกดูภาพใหญ่)       เทคโนโลยีแบบดิจิตอลได้ปลดปล่อยตัวพิมพ์ออกจากข้อจำกัดด้านการผลิต การออกแบบและสร้างตัวพิมพ์กลายเป็นของง่ายและไม่ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะ หรือเงินทุนสูง อาศัยเพียงคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง และโปรแกรมที่มีชื่อว่า Fontographer นักออกแบบ หรือบุคคลทั่วไปก็สามารถเนรมิตตัวพิมพ์แบบใดก็ได้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเอง
      ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากตัวพิมพ์ในยุคดิจิตอลไม่มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิตและเครื่องมือ จึงถือได้ว่าเป็นการปลดปล่อยตัวพิมพ์จากข้อจำกัดด้านรูปลักษณ์ การดัดแปลงรูปทรงให้แปลกตารวมทั้งการผสมผสานแบบและสไตล์ต่างๆ เข้าด้วยกัน กลายเป็นเรื่องง่ายอย่างที่ ไม่เคยปรากฏมาก่อน
      คุณภาพและความสวยงามของตัวพิมพ์ กลายเป็นสิ่งที่ผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ สามารถกำหนดได้ด้วยตนเอง หรืออีกนัยหนึ่ง นักออกแบบทั้งมืออาชีพและสมัครเล่น สามารถควบคุมกระบวนการผลิตตัวพิมพ์ทั้งกระบวนการได้โดยลำพัง สิ่งที่เกิดตามมาคือ การเบ่งบานของรูปแบบตัวพิมพ์ มีแบบตัวพิมพ์ใหม่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่เป็นพัฒนาการจากแบบเก่าและผลของการบุกเบิกแนวทางใหม่ๆ
      ตัวพิมพ์ดิจิตอลเริ่มขึ้นเมื่อแมคอินทอช คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ของบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ ถูกนำเข้ามาในปี ๒๕๒๘ บริษัทสหวิริยา โอ.เอ. ผู้แทนจำหน่ายแมคอินทอชในสมัยนั้น เล็งเห็นว่าสินค้าตัวนี้เหมาะที่จะบุกเข้าไปในตลาดสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะ และด้วยเหตุนี้จึงได้บุกเบิกการสร้างตัวพิมพ์แบบโพสต์สคริปต์ชุดแรก
 แบบร่างตัวอักษร "ดีบีสุรวงศ์ โมเดิร์น" ผลงานของ ปริญญา โรจน์อารยานนท์ (คลิกดูภาพใหญ่)       อย่างไรก็ตาม กว่าที่ตัวพิมพ์แบบดิจิตอลจะเริ่มต้นขึ้นจริงๆ ก็เมื่อบริษัทเดียร์บุ๊คสร้างตัวชุด ดีบี ชุดแรกขึ้นมาในปี ๒๕๓๐ นอกจากจะสวยงามและหลากหลายไปด้วยแบบใหม่ๆ ถึงกว่า ๒๐ แบบแล้ว ดีบียังมีการปรับปรุงเทคโนโลยี และกำหนดมาตรฐานใหม่ในการสร้างตัวพิมพ์ เช่น วิธีการวัดขนาด 
      จุดเด่นของดีบี คือเป็นตัวพิมพ์ที่เกิดจากนักออกแบบกราฟิกดีไซน์มืออาชีพ ซึ่งได้แก่ สุรพล เวสารัชเวศย์ และ ปริญญา  โรจน์อารยานนท์ แห่งบริษัทเดียร์บุ๊ค นอกเหนือจากมีความรอบรู้เรื่องตัวพิมพ์ และเทคโนโลยีการพิมพ์แล้ว เขายังเข้าใจปัญหาและความต้องการของผู้ใช้ตัวพิมพ์เป็นอย่างดี
      โครงการสร้างตัวพิมพ์ดิจิตอลของเดียร์บุ๊คสำเร็จลงในเวลาเพียงหนึ่งปี ตัวพิมพ์ชุดแรกออกมาในช่วงเวลาที่ตรงกับความต้องการของท้องตลาดพอดี ตัวพิมพ์หลายแบบเช่น "ดีบี นารายณ์" "ดีบี ฟองน้ำ" และ "ดีบี ไทยเท็กซ์" จึงเป็นที่ยอมรับอย่างสูง ส่วนตัวดิสเพลย์แบบใหม่ๆ เช่น "ดีบี เอราวัณ" ก็เช่นกัน ทั้งหมดนี้ผลักดันให้ดีบีทั้งชุดกลายเป็นฟอนต์ยอดนิยมในเวลาอันสั้น
      การที่ระบบดิจิตอลก้าวเข้ามาแทนที่ระบบโฟโต้ฯ ได้นั้น นอกจากอาศัยระบบเดสก์ทอปพับลิชชิง และซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เป็นจุดแข็งแล้ว ตัวพิมพ์แบบใหม่ๆ ก็เป็นแรงเสริม ที่ทำให้ระบบนี้เป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็วด้วย อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์ทางการตลาดยังไม่อนุโลมให้ตัวพิมพ์เป็นสินค้าที่ซื้อขายได้ สิ่งที่ผู้ผลิตตัวพิมพ์สามารถทำได้ในช่วงนี้ คือใช้ตัวพิมพ์เป็นแรงจูงใจให้ลูกค้าที่เริ่มใช้คอมพิวเตอร์ มาใช้บริการการพิมพ์งานออกมาด้วยพรินเตอร์แบบ Imagesetter ที่มีความละเอียดสูง
 ภาพแบบตัวอักษรและเครื่องมือที่ใช้โปรแกรม Fontographer (คลิกดูภาพใหญ่)       แบบที่เด่นที่สุดในชุดดีบี คือ ดีบี เอราวัณ ซึ่งคล้ายคลึงกับ Futura Extra Bold ของอักษรโรมัน ถือเป็นตัวพิมพ์ที่มีความหนาและน้ำหนักมากที่สุดเท่าที่เคยทำกันมา 
      ส่วนดีบี นารายณ์เป็นการนำเอาตัวฝรั่งเศส หรือฝ.ศ. มาปรับปรุงให้มีเส้นที่หนาขึ้น และพร้อมจะเป็นตัวดิสเพลย์ได้มากขึ้น ส่วนดีบี ฟองน้ำเป็นการพัฒนารูปทรงไปในแนวทางเดียวกับของอีเอซี ทอมไลท์ คือกำหนดให้มีเส้นและรูปทรงที่เป็นแบบเรขาคณิตมากขึ้น
      ในช่วงต้นของระบบดิจิตอล ตัวพิมพ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น ชุดที่แกะมาจากตัวโฟโต้ไทป์เซตติ้งทั้งชุดเป็นผลงานของอีเอซี คอมพิวกราฟิก ชุด "ศิริชนะ" เป็นผลงานของบริษัทโวตร้า ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของไลโนโทรนิกส์ และชุด "พี.เอส.แอล." ซึ่งเป็นผลงานของบริษัทพี.เอส.แอล. สมาร์ทเลตเตอร์ ในช่วงเดียวกัน ตัวพิมพ์แบบดิสเพลย์ หรือตัวประดิษฐ์ก็ถูกสร้างขึ้นมาอีกมากมาย บางชุดเป็นของบริษัท เจ.เอส.เทคโนโลยี ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่เอาชื่อตัวละคร หรือดารายอดนิยมสมัยนั้นมาตั้งเป็นชื่อแบบตัวพิมพ์ เช่น เรียกตัวพาดหัวของ ไทยรัฐ ว่า "โกโบริ"

ตัวพิมพ์ดิจิตอลกับสภาวะลอยตัว

  ฟอนต์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐-ปัจจุบัน
ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของเนคเทค (คลิกดูภาพใหญ่)       เมื่อหันมามองดูสภาพของตัวพิมพ์ในปัจจุบันนี้ เราจะพบว่าปัจจัยด้านเทคโนโลยีอันได้แก่ การหันมาสู่ระบบดิจิตอล ได้ส่งผลกระทบต่อตัวพิมพ์มากที่สุด กล่าวคือมันได้เอื้อให้การออกแบบตัวพิมพ์ กลายเป็นเรื่องที่สะดวกง่ายดาย การสร้างตัวพิมพ์แบบใหม่ รวมทั้งการชุบชีวิตให้แก่ตัวพิมพ์แบบเก่า เป็นไปได้ง่ายขึ้น แผ่นดิสก์ ซีดี และอินเทอร์เน็ต ทำให้การกระจายจ่ายแจกตัวพิมพ์ไปตามที่ต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เคยกระจุกตัว" อยู่ในวงวิชาชีพด้านการพิมพ์ บัดนี้ ตัวพิมพ์จึงตกอยู่ในภาวะ "กระจายตัว" อย่างไร้ขอบเขต
 

จากการกระจุกตัวสู่การกระจายตัว

 มาตรฐานโครงสร้างตัวอักษรไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๐ (คลิกดูภาพใหญ่)       การเปิดพรมแดนของตัวพิมพ์ด้วยระบบดิจิตอลในช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐ ส่งผลในด้านสร้างสรรค์มิใช่น้อย เช่น ก่อให้เกิดฟอนต์แปลกใหม่มากมาย การใช้ตัวพิมพ์ก็พัฒนารูปแบบและสไตล์ไปได้อย่างแทบไร้ขีดจำกัด ทั้งนี้รวมถึงการที่ตัวพิมพ์แบบไม่มีหัว กลายเป็นที่ยอมรับมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ตัวพิมพ์อักษรภาษาท้องถิ่น และภาษาของชนกลุ่มน้อย ก็ได้มีโอกาสปรากฏโฉมขึ้นมาในช่วงนี้เอง
      อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ตลอดช่วงทศวรรษดังกล่าวก็ชี้ให้เห็นว่า ภาวะการกระจายตัวของตัวพิมพ์ ก็ส่งผลในด้านที่ไม่พึงปรารถนาด้วยเช่นกัน
 

ปัญหาด้านศิลปะของตัวพิมพ์

 คอมพิวเตอร์กับฟอนด์ เป็นสิ่งที่คุ้นเคยของผู้ใช้ในปัจจุบัน (คลิกดูภาพใหญ่)       ในแง่สุนทรียศาสตร์ แม้เราจะยอมรับว่า ดิจิตอลได้ทำให้ใคร ๆ ที่มีคอมพิวเตอร์สามารถใช้ตัวพิมพ์ได้ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ศิลปะการสร้างสรรค์ตัวพิมพ์ถูกละเลยไป 
      ในยุคของตัวตะกั่ว ซึ่งตัวพิมพ์ยังกระจุกตัวอยู่ในวิชาชีพ การสร้างสรรค์ออกแบบตัวพิมพ์ เป็นภาระหน้าที่ของ "มืออาชีพ" กลุ่มหนึ่งซึ่งต้องผ่านการฝึกฝน และมีประสบการณ์มานานพอสมควร เมื่อสิ้นยุคดังกล่าว องค์ความรู้และทักษะที่สั่งสมไว้นี้ก็ค่อย ๆ สลายตัวไป
      การเข้ามาของระบบดิจิตอล ทำให้เกิดตัวพิมพ์แปลกใหม่มากมายเพียงในระยะแรก และความคึกคักดังกล่าวที่จริงแล้วก็เป็นเพียงภาพลวงตา เพราะเป็นการนำเอาแบบตัวพิมพ์ที่เกิดขึ้นในยุคตัวตะกั่ว และตัวขูดมาลอกเลียน และปรับปรุง มิได้มีการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่อย่างจริงจังมากนัก
      ความสะดวกใช้ของคอมพิวเตอร์ อาจทำให้คนเข้าใจไปว่า การออกแบบ และสร้างตัวพิมพ์เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่ในความเป็นจริง การสร้างฟอนต์ที่ดี และสวยงามยังขึ้นต่อทักษะและความเชี่ยวชาญเช่นเดิม ส่วนศิลปะการใช้ตัวพิมพ์ก็ยังขึ้นต่อความเข้าใจในเทคนิควิธีการ รวมทั้งเป้าหมาย ประโยชน์ใช้สอย และสุนทรียศาสตร์ของตัวพิมพ์ ดังที่เคยเป็นในยุคของช่างเรียง
      หัวใจของปัญหาอยู่ที่การไม่สามารถรวบรวมจัดระบบองค์ความรู้ และทักษะ หรือกระทั่งการบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปัญหาในวงวิชาชีพ นักออกแบบตัวพิมพ์ อันได้แก่ การที่ต่างคนต่างทำ ไม่มีการถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิด ในการแก้ปัญหาสู่กันและกัน
 

ปัญหาด้านมาตรฐาน และความสอดคล้องระหว่างระบบต่าง ๆ

 พ.ศ. ๒๕๔๒ "เอสอาร์ ฟ้าทะลายโจร" โดยไพโรจน์ ธีระประภา ออกแบบขึ้นเพื่อใช้ในภาพยนตร์เรื่องฟ้าทะลายโจร (คลิกดูภาพใหญ่)       ในยุคตัวดิจิตอล เทคโนโลยีสารสนเทศกินความไปถึงการเคลื่อนย้ายข้อมูลข้ามสื่อข้ามระบบ เช่น การแปรรูปจากหนังสือไปสู่สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น ซีดีรอมและอินเทอร์เน็ต ตัวพิมพ์ไม่เพียงมีความหมายเป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข้อมูล หรือเอาไปใช้ในการพิมพ์หนังสือ ศักยภาพของตัวพิมพ์กินความกว้างไปถึง ความสามารถในการถูกแปรรูปเพื่อข้ามสื่อ และข้ามระบบ
      คำว่า "มาตรฐานตัวพิมพ์" จึงหมายถึงความสามารถในการทำงานร่วมกับฟอนต์ และโปรแกรมอื่นๆ ทั้งที่เป็นภาษาไทยและต่างประเทศ อีกทั้งสามารถดำรงบทบาทหน้าที่ การนำพาข้อมูล โดยไม่ถูกกระทบกระเทือนโดยโปรแกรม หรือระบบปฏิบัติการที่ต่างกัน
      ปัญหามาตรฐานที่เกิดขึ้นในยุคนี้มีหลายประการ ปัญหาแรกซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดคือ ชื่อของฟอนต์ เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ว่าฟอนต์หลายแบบ ถูกเรียกชื่อต่างๆ กันไป ทั้งๆ ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน เรื่องนี้สร้างความไม่สะดวกในการใช้งาน โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการถ่ายโอนงานไปสู่อีกเครื่องหนึ่งหรืออีกหน่วยการผลิตหนึ่ง
      อันที่จริง ชื่อตัวพิมพ์เป็นปัญหามาตั้งแต่ยุคตัวตะกั่ว ตัวพิมพ์แบบเดียวกันมีชื่อตามแต่โรงพิมพ์หรือโรงหล่อจะตั้งขึ้นมาถึงยุคดิจิตอล ปัญหานี้แทนที่จะลดลงกลับมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า เพราะฟอนต์ถูกนำไปก๊อปปี้และเปลี่ยนชื่อได้ง่ายขึ้น ผู้ใช้ทุกคนจึงสามารถผลิตและตั้งชื่อฟอนต์ได้ตามใจชอบ
      อีกปัญหาหนึ่งเกิดจากการที่ยุคดิจิตอลมีระบบปฏิบัติการใหญ่ๆ สองระบบอันได้แก่แมคอินทอช กับวินโดว์หรือพีซี การมีสองระบบทำให้ตัวพิมพ์ซึ่งแยกกันพัฒนามาตั้งแต่ต้นนั้น มีชื่อไม่ตรงกันและไม่สามารถนำไปใช้ข้ามระบบกันได้
 

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์

 ตัวพิมพ์ในสภาวะลอยตัว กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อมีการจับกุมกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ (คลิกดูภาพใหญ่)       ประวัติศาสตร์ของตัวพิมพ์ชี้ให้เห็นว่า เนื่องจากตัวตะกั่วเป็นสิ่งที่จับต้องได้ หรืออีกนัยหนึ่งชั่งตวงวัดในเชิงปริมาณได้ การถือครองกรรมสิทธิ์จึงเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อน เทคนิคการหล่อโลหะซึ่งต้องลงทุนสูงและใช้ทักษะเฉพาะ กำหนดให้แบบตัวพิมพ์และแม่ทองแดงเป็นสมบัติของเจ้าของกิจการโรงพิมพ์ และโรงหล่อไปโดยปริยาย
      แม้ในยุคของโฟโต้ไทป์เซตติ้งก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่พัฒนาตัวพิมพ์ก็คือ ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์ที่กำลังยกระดับยอดจำหน่ายไปสู่หลักแสน หรือก้าวไปสู่ความเป็น "ยักษ์ใหญ่" ในสมัยนั้น ไทยรัฐสามารถอ้างกรรมสิทธิ์เหนือตัวพิมพ์ได้ ก็เพราะแบบตัวพิมพ์ยังอยู่ในสภาพที่รวมศูนย์ คือมีไว้สำหรับผู้ที่สามารถซื้อเครื่องเรียงพิมพ์แบบนี้เท่านั้น
      มองในแง่นี้ จะเห็นได้ว่าแม้ในยุคตัวตะกั่ว มูลค่าของแบบตัวพิมพ์ก็มีอยู่ เพียงแต่ถูกซ่อนเร้นไว้ในราคาของวัตถุดิบ เครื่องจักร และกระบวนการผลิต ในยุคดิจิตอล เครื่องจักรไม่ได้เป็นหลักประกันการถือครองกรรมสิทธิ์อีกต่อไป ตัวพิมพ์กลายสภาพจากสินค้าที่ผูกติดอยู่กับเครื่องจักรไปสู่ซอฟต์แวร์ นั่นหมายความว่า เป็นเรื่องยากที่คนจะเห็นและยอมรับว่ามันมีมูลค่า
      นอกจากนั้น การลอกเลียนหรือทำซ้ำได้ง่าย ทำให้การควบคุมลิขสิทธิ์ หรือหาประโยชน์จากตัวพิมพ์แทบจะเป็นไปไม่ได้ เมื่อยุคดิจิตอลเริ่มขึ้น ผู้ที่สร้างตัวพิมพ์จึงไม่สามารถทำให้ตัวพิมพ์มีฐานะเป็นสินค้า หากกลายเป็นสิ่งที่แจกจ่ายหรือไม่ก็เป็นของแถมสำหรับผู้ใช้
      ทุกวันนี้ ลิขสิทธิ์ตัวพิมพ์ดูจะเป็นปัญหาใจกลางของทุกปัญหา เช่น เมื่อไม่สามารถหาประโยชน์จากตัวพิมพ์ที่สร้างสรรค์ได้ ย่อมทำให้ไม่มีใครอยากจะคิดค้นหรือพัฒนาตัวพิมพ์แบบใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสองข้อแรกอันได้แก่เรื่องศิลปะและมาตรฐานของตัวพิมพ์ก็ยังมีความสำคัญอย่างสูง เพราะเป็นรากฐานของความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ การจะบอกว่าตัวพิมพ์แบบใดเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ และแบบใดที่เป็นเพียงการดัดแปลงหรือลอกเลียนได้นั้น จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ด้านศิลปะ เทคโนโลยี และมาตรฐานตัวพิมพ์เป็นเครื่องมือในการวินิจฉัย องค์ความรู้เหล่านี้เองที่จะกอบกู้ตัวพิมพ์ให้มีสถานภาพของศิลปะและประดิษฐกรรมเชิงปัญญา
 

ฟอนต์แห่งชาติ

        อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัญหาอันสลับซับซ้อนที่เกิดจากภาวะลอยตัวของตัวพิมพ์ดังกล่าว องค์กรของรัฐ อันได้แก่ เนคเทค หรือศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้หันมาสนใจปัญหานี้ มีการตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับการออกแบบและสร้างตัวพิมพ์ เช่น ความถูกต้องของอักขรวิธี ขนาดของตัวพิมพ์โรมันที่เข้ากันได้กับของไทย และการแบ่งหมวดหมู่ของแบบตัวพิมพ์
      นอกจากนั้น เนคเทคยังได้สร้างตัวพิมพ์แม่แบบขึ้น ๓ ชุด ได้แก่ กินรี ครุฑ และนรสีห์ ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่า "ฟอนต์แห่งชาติ" ตัวพิมพ์ชุดนี้มีเป้าหมายที่ประกาศไว้อย่างชัดแจ้งว่า เพื่อให้เป็นสาธารณสมบัติ หรืออนุญาตให้ใครๆ นำไปใช้ได้โดยอิสระ ทั้งนี้เพราะ เนคเทคเล็งเห็นว่าต่อไปในอนาคตอันใกล้ ตัวพิมพ์จำนวนมากอาจจะต้องมีการจดลิขสิทธิ์ การมีตัวพิมพ์ปลอดลิขสิทธิ์สำหรับใช้ในงานพื้นฐาน เช่น เอกสารของราชการและสำนักงานทั่วไป น่าจะเป็นการทุเลาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ โครงการฟอนต์แห่งชาติดำเนินมาหลายปี ก่อนจะถูกประกาศและเผยแพร่ออกไปอย่างเงียบๆ นับแต่กลางปี พ.ศ. ๒๕๔๔

  อ่านต่อคลิกที่นี้คลิกอ่านหน้าแรก