สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๒ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๒ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๕ "การเดินทางของก้อนหิน"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๑๒ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๕  
คั ด ค้ า น

สุรเชษฎ์ เชษฐมาส  คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สุรเชษฎ์ เชษฐมาส
คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เมื่อกรมป่าไม้เปิดทางให้เอกชน บริหารบ้านพักและกิจกรรมการท่องเที่ยวในอุทยานฯ
(ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณ คลิกที่นี่)
เกษร สิทธิหนิ้ว : รายงาน / บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ


     "เป้าหมายหลักของการจัดการอุทยานฯ คือการคุ้มครองรักษาระบบนิเวศให้คงอยู่ เพื่อให้คนรุ่นหลังมีโอกาสได้ใช้อย่างยั่งยืน อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ทั้งด้านนันทนาการ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาเรียนรู้ของเยาวชน เพราะพื้นที่อุทยานฯ เป็นห้องเรียนธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด การใช้ประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวก็สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์ป่า
     "การใช้ประโยชน์ของอุทยานแห่งชาติเพื่อการท่องเที่ยว จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์หรือการจัดโซนนิ่งตามหลักวิชาการ เพราะในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งหมด มีความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ หรือในการอนุรักษ์แตกต่างกัน พื้นที่บางส่วนหรือส่วนใหญ่จะต้องเก็บรักษาไว้เพื่อคุ้มครองระบบนิเวศ เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งถือว่ามีความสำคัญยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เราต้องรักษาป่าไว้ให้เป็นที่ขยายพันธุ์หรือเพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงการป้องกันการพังทลายของดินและควบคุมสภาพภูมิอากาศด้วย เพราะฉะนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานฯ ที่แบ่งโซนไว้เพื่อการอนุรักษ์จะไม่มีการแตะต้องเลย ส่วนบริเวณที่อนุญาตให้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวได้ ก็ต้องจัดการให้เหมาะสมว่าส่วนไหนอนุญาตให้พัฒนาเป็นเขตบริการท่องเที่ยว ส่วนไหนเป็นเขตให้จัดกิจกรรมนันทนาได้ ถ้าหากแบ่งโซนไว้ถูกต้องเช่นนี้ ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการรบกวนสัตว์ป่า
     "เมื่อมีการแบ่งโซนแล้ว ต้องพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ทั้งในด้านการพักแรมและการศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ แต่ต้องให้เหมาะสมกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ไม่เป็นตัวเร่งหรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ หรือถ้าจะเกิดก็จะต้องให้น้อยที่สุด โดยมีการศึกษาว่าปริมาณเท่าไรจึงจะเหมาะสม ขีดความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่มีมากน้อยแค่ไหน การศึกษาขีดความสามารถการรับได้ จะเป็นเครื่องมือที่จะบอกว่าพื้นที่ไหนรับได้เท่าไร และจะไม่กระทบต่อระบบนิเวศ
     "การให้เอกชนเข้ามาลงทุนเรียกว่าเป็นดาบสองคม มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ หนึ่ง ภาคเอกชนมีเงินลงทุน เท่ากับเข้ามาผ่อนปรนภาระการเงิน ในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแทนรัฐ รัฐจะได้นำงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ไปใช้ฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ไม่ควรนำงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดไปลงทุนเรื่องการท่องเที่ยวอีก สอง ต้องยอมรับว่าภาคเอกชนมีทักษะในด้านการให้บริการมากกว่าภาครัฐ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายมากกว่า
     "แต่ข้อเสียที่น่าเป็นห่วงคือ เอกชนที่เข้ามาลงทุนมักจะละเมิดสิทธิ ในการดำเนินงานเกินขอบเขตที่กำหนดไว้ เช่น ต่อเติมสิ่งปลูกสร้างเกินกว่าที่ราชการกำหนด บุกรุกและเปิดพื้นที่ ตัดต้นไม้ออกมากไปกว่าที่ควรจะเป็น สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อธรรมชาติหรือรบกวนสัตว์ป่า โดยที่ทางฝ่ายราชการไม่สามารถดำเนินการจัดการได้อย่างเต็มที่ สอง ต้องยอมรับว่าเรามีบทเรียนเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสระหว่างภาครัฐกับเอกชน ภาคเอกชนมักจะมีเครือข่าย มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ กับนักการเมือง ทำให้ต่อรองหรือล็อบบี้ผู้ที่มีอำนาจหรือนักการเมืองได้ สายสัมพันธ์เชิงอำนาจในลักษณะนี้อาจนำไปสู่การกระทำที่ไม่ถูกไม่ควรได้ และก็เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งนั้น ภาคเอกชนมักจะใช้อำนาจหรืออิทธิพลที่มีอยู่เพื่อสร้างโอกาสที่ไม่โปร่งใสให้ตัวเอง โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ มันเป็นเรื่องอึดอัดใจของคนที่ทำงานในพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างไม่สบายใจและมีปัญหาตามมา
     "เคยมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นที่ตะรุเตา รัฐเปิดให้เอกชนเช่าอาคารพาณิชย์ ร้านอาหาร แต่เอกชนได้ต่อเติมบ้านพักออกไป และข้อตกลงที่ว่าจะเปิดบริการร้านอาหารแค่สี่ทุ่มห้าทุ่ม ก็กลับเปิดยาวไปถึงตีสองตีสาม เมื่อเจ้าหน้าที่ไปว่ากล่าวตักเตือนก็ไม่ฟัง จนกระทั่งทางอุทยานฯ ต้องไปฟ้องร้องต่อศาล แต่กว่าศาลจะตัดสินก็ใช้เวลาสามสี่ปี ระหว่างที่คดีความอยู่ในศาลจนถึงวันตัดสินนั้น ผลเสียหายก็ตกอยู่กับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำ อากาศ ขยะ และทัศนียภาพ เกินกว่าจะแก้ไขได้แล้ว
     "ข้อเสียอีกประการคือ การให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ เท่ากับว่ามีการผูกขาดเกิดขึ้น การจัดการอุทยานฯ ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม ทั้งคนที่อยู่ในเมืองและคนที่อยู่ใกล้อุทยานฯ ดังนั้นคนท้องถิ่นน่าจะได้เข้ามามีส่วนร่วมจัดการด้วย ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายกระจายรายได้สู่ชนบท สู่คนท้องถิ่น ถ้าหากว่าให้เอกชนเพียงรายใดรายหนึ่งมาจัดการ แล้วประชาชนที่อยู่รอบ ๆ จะทำอย่างไร นี่คือคำถามที่เปิดกว้างให้คนทั่วไปได้คิดด้วย ถ้าหากรัฐบาลมีนโยบายจะพัฒนารายได้และคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่นให้ดีขึ้นจริง ก็น่าจะเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ จะเป็นรูปแบบไหนก็แล้วแต่ความเหมาะสม นอกจากนี้ยังอาจมีผลเสียที่ตามมาอีกก็คือ ค่าบริการของผู้ประกอบการภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร อาจจะไม่ตั้งราคาตามที่ตกลงกันไว้ก็ได้ อาจจะขึ้นราคาตามอำเภอใจ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มีรายได้น้อยก็จะไม่มีโอกาสเข้าไปใช้
     "เมื่อประเมินข้อดีข้อเสียแล้ว ถามว่าควรจะให้เอกชนเข้ามาทำหรือไม่ ผมคงตอบแบบขาวหรือดำไม่ได้ แต่อยากให้ข้อมูลสำหรับเป็นแง่คิดไว้ว่า การให้เอกชนเข้ามาลงทุนด้านการบริการ ต้องชี้ชัดว่าให้บริการเรื่องอะไร เรื่องที่พัก ร้านอาหาร หรือร้านขายของที่ระลึก ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน หากไม่มีความชัดเจนคงยากที่จะให้สังคมสนับสนุน ดังนั้นต้องตั้งคำถามในทุก ๆ ด้านให้มีความชัดเจนว่า การให้เอกชนเข้ามาลงทุนนั้น ลงทุนเรื่องอะไร เงินลงทุนเบื้องต้นสำหรับสิ่งก่อสร้าง อาคารที่พัก ใครเป็นคนลงทุน
     "ผมเคยเสนอในที่ประชุมนโยบายป่าไม้แห่งชาติว่า น่าจะมีพื้นที่นำร่องภาคละหนึ่งแห่ง ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ อีสาน ภาคกลาง เพื่อทดลองและติดตามประเมินผล ว่าเอกชนเข้ามาลงทุนแล้วสร้างผลกระทบให้แก่สิ่งแวดล้อมหรือไม่ ช่วยปลดเปลื้องภาระของภาคราชการได้จริงหรือ สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับทางราชการไหม เช่น ละเมิดข้อตกลงต่าง ๆ แล้วต้องถามนักท่องเที่ยวด้วยว่าพอใจกับการบริการของภาคเอกชนไหม สุดท้ายนำประเด็นหลัก ๆ เหล่านี้มาหาข้อสรุปว่าควรขยายผลให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานต่อไปในที่อื่น ๆ หรือไม่
     "ในต่างประเทศเช่นออสเตรเลีย ไม่อนุญาตให้เอกชนเข้าไปบริหารจัดการอุทยานฯ เลย เขาอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปในอุทยานฯ เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น รัฐบาลออสเตรเลียจึงไม่มีภาระที่จะต้องจัดการดูแลนักท่องเที่ยวในตอนกลางคืน รัฐก็ดูแลเรื่องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมให้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ เน้นไปที่การจัดการเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยว คนที่เข้าไปก็พึงพอใจเพราะได้ความรู้และได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ส่วนสหรัฐอเมริกาและแคนาดาก็เหมือนกัน มีเฉพาะอุทยานฯ เก่า ๆ เท่านั้นที่มีเอกชนเข้าไปสัมปทาน อุทยานฯ ที่เกิดขึ้นเมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ให้เอกชนเข้าไปบริหารจัดการ ไม่มีโรงแรมหรือรีสอร์ตให้เข้าไปพักแรมได้ แต่อนุญาตให้ไปกางเต็นท์นอนได้ เพราะเขาเน้นให้นักท่องเที่ยวเข้าไปพักค้างแรมเพื่อศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ ดังนั้นก็จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการกางเต็นท์เท่านั้น ไม่มีโรงแรมใหญ่โต หรือห้องสัมมนาอย่างที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 
     "ประเด็นเรื่องการหารายได้เข้าประเทศผมไม่มีข้อโต้แย้งหรือคัดค้าน แต่การเปิดอุทยานฯ ให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการนั้นผมเป็นห่วงพอสมควร เพราะยังไม่มีความชัดเจน ยังไม่มีแผนมีกลยุทธ์ ไม่มีระเบียบว่าด้วยการเข้ามาร่วมจัดการที่ดีพอ การหารายได้จะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของระบบนิเวศด้วย ต้องระมัดระวังไม่ให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวหารายได้ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่จะตามมา เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ก็เท่ากับว่าเรามุ้งเน้นแต่เศรษฐกิจหรือตัวเงินอย่างเดียว ไม่มองในเรื่องการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เท่ากับเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง เพราะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้น รายได้ที่เกิดขึ้น ก็จะได้ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืนต่างหาก" 


 แสดงความคิดที่ สารคดีกระดานข่าว (Sarakadee Board) อภิวัฒน์ เศรษฐรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้อภิวัฒน์ เศรษฐรักษ์
ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้
  click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !
ต้องการ แสดงความคิดเห็นเพิ่ม คลิกที่นี่

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*