สารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๔ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๔ เดือน ธันวาคม ๒๕๔๕ "หมาสมัยใหม่, ความรัก, และผลประโยชน์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๕  
คั ด ค้ า น

รองศาสตราจารย์วัชรี ทรัพย์มี
รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ไม่เห็นด้วยกับกรณีนักศึกษาชาย สวมชุดนักศึกษาหญิง เพราะจะทำให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา ประเด็นสำคัญ คือไม่เหมาะสม

  • เมื่อยังอยู่ในสังคม ซึ่งมีกฎระเบียบ เราต้องยอมรับ และปฏิบัติตาม

  • เราทุกคนต่างก็มีเสรีภาพ แต่เสรีภาพทั้งหลายทั้งปวง ต้องมีขอบเขต 

"ชุดนักศึกษาหญิง" กะเทยมีสิทธิ์ไหมคะ ?
(ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณ คลิกที่นี่)
เกษร สิทธิหนิ้ว : รายงาน / บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ


     "ดิฉันไม่เห็นด้วยกับกรณีนักศึกษาชายสวมชุดนักศึกษาหญิง เพราะจะทำให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา แม้จะไม่มากมาย แต่ประเด็นสำคัญคือความไม่เหมาะสม ในเมื่อสามารถสอบเข้าสถานศึกษา มาได้ด้วยการใช้คำนำหน้าชื่อว่านาย ก็ควรจะแต่งตัวเป็นผู้ชายต่อไป ไม่ใช่ว่ามาแต่งตัวเป็นผู้หญิง แต่งหน้าทาปาก เดินก้นบิดก้นเบี้ยวอยู่ในมหาวิทยาลัย ขณะยังอยู่ในสถาบันการศึกษา ก็ควรปฏิบัติตัวตามกฎระเบียบ ส่วนเวลาที่พ้นไปจากรั้วมหาวิทยาลัย จะไปอยู่ที่ไหน จะไปทำอะไรก็ได้ ถ้าสิ่งนั้นไม่ผิดกฎหมาย ก็เป็นสิทธิของเขา
     "แม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่หากปล่อยให้นักศึกษาที่เป็นกะเทย แต่งตัวอย่างนี้ได้ต่อไป จะทำให้เกิดการทำตามอย่างกัน พอรุ่นพี่แต่งตัวตามใจชอบได้ รุ่นน้องก็แต่งบ้าง ยิ่งสมัยนี้กะเทยเฟื่องฟู รายการทางโทรทัศน์ก็ชอบแต่งตัวผู้ชายเป็นกะเทยแล้วแสดงตลก ในโรงเรียนเอง เวลามีงานการแสดงครูก็มักจะเอาพวกกะเทยมาแต่งตัวเป็นผู้หญิง แม้จะทำให้งานสนุก แต่มันไม่ดี เพราะเท่ากับว่าไปส่งเสริมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ให้เป็นเรื่องธรรมดาขึ้นไปอีก
     "ปัญหาเบื้องต้นที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาชายแต่งตัวเป็นนักศึกษาหญิง เช่น ขณะไปติดต่อราชการ ลงทะเบียนเรียน เจ้าหน้าที่อาจแยกไม่ออก ว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ครั้งหนึ่งดิฉันเข้าใจผิดคิดว่านักศึกษาที่มาติดต่อเป็นผู้หญิง จึงบอกเขาว่า ผู้หญิงต้องติดต่อทางโน้น ก็ปรากฏว่าเป็นผู้ชาย อย่างนี้เป็นต้น และแม้ว่าปัจจุบันสังคมไทยจะยอมรับ และเข้าใจคนที่มีพฤติกรรมผิดเพศมากขึ้น แต่การปล่อยปละละเลยเรื่องเหล่านี้ จะเกิดปัญหาต่อนักศึกษาเองได้ในอนาคต เมื่อจบจากสถาบันการศึกษานั้นไป บางคนเรียนครูมา พอเรียนจบก็คงไม่สามารถไปประกอบอาชีพครูได้ เพราะเป็นครูจะมาแต่งตัวผิดเพศไม่ได้ สังคมภายนอกมีทั้งคนยอมรับ และคนที่ไม่เข้าใจกะเทย ถ้าจบออกไปแล้วยังแต่งตัวอย่างนี้ใครจะเข้าใจ ใครจะให้อภัย เห็นอกเห็นใจ บางคนอาจสามารถไปประกอบอาชีพได้อย่างเจริญรุ่งเรือง แต่ที่ทำงานบางแห่งก็ไม่ยอมรับเข้าทำงาน ถ้าปล่อยให้นักศึกษาแต่งตัวอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จะกลายเป็นปัญหาของสังคมต่อไป หากปรับตัวไม่ได้ในอนาคต มันถึงเกิดกลุ่ม supporting group คือกลุ่มที่คนที่มีปัญหามารวมตัวกัน แสดงความเห็นอกเห็นใจ ปรับทุกข์กันขึ้น
     "การแต่งตัวเป็นผู้หญิง ก็คือการแสดงออกในเพศที่เขาต้องการอย่างหนึ่ง สนองในสิ่งที่เขาไม่อาจเป็นได้ในชีวิตจริง แต่สถาบันการศึกษาของประเทศไทย มีเครื่องแบบที่กำหนดไว้ตั้งแต่ชั้นประถม และมัธยมแล้ว ระดับอุดมศึกษาก็เช่นกัน เมื่อเราอยู่ในสถาบันใดสถาบันหนึ่ง ซึ่งก็มีข้อกำหนดเรื่องเครื่องแบบอยู่แล้วว่า นักศึกษาชายแต่งตัวอย่างนั้น นักศึกษาหญิงแต่งอย่างนี้ ก็ต้องแต่งตัวตามระเบียบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีระเบียบของนักศึกษาชัดเจน และเราก็พยายามจะให้อาจารย์เตือนลูกศิษย์ในเรื่องนี้ด้วย นักศึกษาที่แต่งตัวไม่สุภาพ หรือแต่งตัวผิดเพศ เราก็ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียน ตอนมาสอบสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัย ยังทำตัวเป็นผู้ชายแท้ ๆ ได้ พอเข้ามาแล้วทำไมถึงควบคุมตัวเองไม่ได้ เขาก็รู้ว่าระเบียบของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างนี้ เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องควบคุมตัวเองต่อไปได้ให้ได้ แต่ถ้าพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัย เขาจะแต่งตัวอย่างไรมันก็เรื่องของเขา ในวัน ๆ หนึ่งมาเข้าเรียน ฟังเล็กเชอร์ มาเข้าห้องสมุด เพียงไม่กี่ชั่วโมง การแต่งตัวตามระเบียบไม่ถึงกับทำให้ตาย
     "ถ้าเพียงแค่ต้องการเรียกร้องความสนใจ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัย หลุดจากรั้วมหาวิทยาลัยไปแล้ว จะแต่งตัวอย่างไรก็ไม่มีใครตามไปควบคุม แต่อยู่ในมหาวิทยาลัยต้องหักห้ามจิตใจให้ได้ อีกหนึ่งปีสองปีก็จะจบแล้ว เราทุกคนต่างก็มีเสรีภาพ แต่เสรีภาพทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ต้องมีขอบเขต มีข้อจำกัด เมื่อเรายังอยู่ในสังคมซึ่งมีกฎระเบียบ เราต้องยอมรับและปฏิบัติตาม
     "การให้สิทธิให้นักศึกษาคิดเองว่า จะแต่งหรือไม่แต่ง ไม่ถือว่าเป็นการลองผิดลองถูกหรือเรียนรู้เอง หากกฎระเบียบที่ตั้งไว้มันดีอยู่แล้ว นักศึกษาควรปฏิบัติตาม ถ้าเห็นนักศึกษาทำผิด ครูบาอาจารย์ต้องว่ากล่าวตักเตือน สถาบันที่มีนักศึกษาแต่งตัวไม่สุภาพเรียบร้อย ก็สะท้อนว่าครูบาอาจารย์ไปไหนกันหมด ไม่มาดูแลลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็เลยเตลิดเปิดเปิงไปใหญ่ ตอนที่ดิฉันยังทำงานอยู่ที่ศูนย์ให้การปรึกษาของมหาวิทยาลัย เคยเจอนักศึกษาชายสองคนที่แต่งชุดนักศึกษาหญิง อาจารย์ของเขาก็ส่งมาคุยกับดิฉัน พอคุยกันไปก็ทราบว่า เขาไม่ได้อยากจะทำ แต่ห้ามใจตัวเองไม่ได้ พออธิบายให้เขาฟังว่ามันไม่เหมาะสมอย่างไร การแต่งตัวเช่นนี้ อาจส่งผลต่อเขาอย่างไรในอนาคต เขาก็เข้าใจและเลิกแต่งตัวอย่างนั้นในที่สุด
     "มหาวิทยาลัยต่างประเทศ นักศึกษาไม่ต้องแต่งเครื่องแบบก็จริง แต่จะเอามาเปรียบเทียบกับบ้านเราไม่ได้ การแต่งเครื่องแบบเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาเอง เพราะขณะที่ยังอยู่ในชุดนักศึกษา เวลาคิดจะทำเรื่องไม่เหมาะสม เช่นไปกินเหล้าเมายา ก็จะทำให้ฉุกคิดว่าเรายังสวมชุดนักศึกษาอยู่ ก่อนทำอะไรก็จะคิดมากขึ้น อีกอย่างเป็นการประหยัดด้วย มีชุดนักศึกษาแค่สามชุดก็ใส่ได้ทั้งปี แต่ถ้าเราแต่งตัวตามใจชอบ จะมีแค่สามชุดไม่ได้ แฟชั่นเปลี่ยนไปตลอดเวลา ทำให้สิ้นเปลืองและฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุ การใส่ชุดนักศึกษาจึงดีกว่ามาก อย่างที่จุฬา ฯ ถ้าสวมรองเท้าสีขาวก็รู้เลยว่าอยู่ปี ๑ ฝรั่งมังค่ามาเที่ยวเมืองไทยก็ได้จะเห็นว่า นักศึกษาไทยสวมเครื่องแบบ เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ
     "อย่างไรก็ตาม เราควรจะยอมรับและเห็นใจคนที่มีความผิดปรกติ โดยเฉพาะความผิดปรกตินั้น เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้แกล้งทำ ไม่ควรจะไปรังเกียจอะไรเขา เพราะจริง ๆ แล้วเขาก็มีปมด้อยและก็ตระหนักอยู่ในใจว่าเขาไม่ได้เป็นที่ยอมรับ ครูเองก็ไม่ได้รังเกียจว่าลูกศิษย์คนนี้เป็นกะเทย เพียงแต่นักศึกษาที่เป็นอย่างนี้ ในขณะที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ขอให้สวมเครื่องแบบตามปรกติ ควรจะอดใจสักนิดในช่วงที่อยู่ในอาณาจักรของมหาวิทยาลัย แต่พ้นไปจากมหาวิทยาลัยแล้วจะทำอะไรก็ไม่มีใครว่า"


 แสดงความคิดที่ สารคดีกระดานข่าว (Sarakadee Board) วาย
นักศึกษาชั้นปีที่ ๔
ภาควิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !
ต้องการ แสดงความคิดเห็นเพิ่ม คลิกที่นี่

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*