นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๕ เดือนมกราคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๕ เดือนมกราคม ๒๕๔๖ "มายาแห่ลูกปัด"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๕ เดือนมกราคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

มายาแห่งลูกปัด

  เรื่อง : เกษร สิทธิหนิ้ว
ภาพ : สกล เกษมพันธุ์, บุญกิจ สุทธิญาณานนท์
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ความจริงแล้ว ลูกปัดโบราณพวกนี้จะเป็นอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากก้อนหิน แก้ว ซากกระดูก หรือไม่ก็เปลือกหอยเก่า ๆ เท่านั้น
      แต่พอได้สัมผัสและมองมันใกล้ ๆ เต็มสองตา เราจะรู้สึกเหมือนมีพลังบางอย่างซ่อนอยู่ เชิญชวนให้จินตนาการไปว่า ใครกันเป็นคนทำมันขึ้นมา หินแบบนี้ แก้วแบบนี้มีอยู่ที่ใดในโลก พวกเขาคิดอะไรอยู่ขณะที่ขูดขีด แต่งแต้มลวดลายลงบนเนื้อหินเนื้อแก้วพวกนี้ ต้องใช้เวลากี่เดือน กว่าจะบรรจงเจาะรูเล็ก ๆ แต่ละด้านด้วยมือ จนทะลุหากันตรงกลาง แล้วมันข้ามน้ำข้ามทะเลมาอยู่แถวนี้ได้อย่างไร ใครเป็นคนนำมันเข้ามา และด้วยจุดประสงค์อันใด กว่าจะมาอยู่ในมือเรา ณ ขณะนี้ ใครเคยเป็นเจ้าของมันมาแล้วบ้าง แม้จะถูกฝังอยู่ในดินนับพัน ๆ ปี ทำไมยังมีสีสันสดใสชวนมอง
      ลูกปัดเป็นเครื่องประดับที่เก่าแก่ที่สุด และมีความหมายลึกซึ้งต่อมนุษย์มากกว่าที่เราคิดนัก ย้อนหลังไปอย่างน้อย ๔ หมื่นปี มนุษย์ก็รู้จักใช้ลูกปัดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระดูก ฟัน เปลือกหอย พืช หิน แร่ธาตุ จนถึงแก้ว ก็นำมาทำลูกปัดได้ทั้งนั้น
      บรรพบุรุษของเราเคยใช้ลูกปัดเป็นเครื่องรางประจำตัว ใช้ลูกปัดแลกเปลี่ยนสินค้ากับผู้คนจากดินแดนไกลโพ้น ลูกปัดเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่แสดงฐานะ ชนชั้นทางสังคมของผู้สวมใส่ ใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการ ใช้เชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างชนเผ่า บางสังคมลูกปัดถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา 
      นักโบราณคดีเชื่อว่ามนุษย์ในยุคโบราณทุกคน "ใช้" ลูกปัดกันแล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
      ปัจจุบันเราอาจจะไม่ได้ใช้มันในฐานะเครื่องรางของขลัง ไม่เห็นว่ามันเป็นเครื่องประดับที่สูงค่าเหมือนคนยุคโบราณ แต่เพราะลูกปัดเป็นมากกว่านั้น มนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยไหนก็ต้องมนต์เสน่ห์ของลูกปัดเหมือนๆ กัน
 
 (คลิกดูภาพใหญ่)       "ตัวจริงน่ะ ต้องเสี่ยชัย พวกพี่แค่เล่น ๆ เท่านั้น" บรรดานักสะสมลูกปัดมักจะพูดทำนองนี้ เวลาที่ทีมงานของเราแสดงอาการตื่นเต้นไปกับลูกปัดมากมายตรงหน้า
      ทั้งซีบีด (dZi Bead) ลูกปัดมีตา (Eye Beads) อาเกต คาร์เนเลียน เอตช์คาร์เนเลียน (Etched Carnelian) พุนเทก ( Puntek) และอีกมากมายหลายชนิดล้วนเป็นลูกปัดอายุไม่ต่ำกว่าพันปีและหายาก ๆ ทั้งนั้น ขนาดลูกปัดของคนที่สะสม "เล่น ๆ" ยังน่าตื่นตะลึงขนาดนี้ ถ้าไปเจอ "ตัวจริง" จะขนาดไหน
      ใคร ๆ ก็รู้ว่าเสี่ยชัย หรือ ธงชัย อินทรชูศรี --ที่แวดวงพ่อค้าและนักสะสมลูกปัดเมืองไทย ยกให้เป็นเซียนลูกปัดนั้น บ้าและคลั่งไคล้ลูกปัดมากขนาดไหน
      ในแวดวงคนคลั่งลูกปัดโบราณ บทบาทของพ่อค้าและนักสะสม มักจะคาบเกี่ยวเสมอ บางคนเริ่มต้นจากสะสมก่อน เมื่อมีมากเข้าก็จำเป็นต้อง "ปล่อย" ออกไปบ้าง เพื่อให้ได้ของแปลกใหม่มาแทนที่ แล้วก็ผันตัวเองเป็นคนขายในที่สุด บ้างก็เริ่มจากเป็นพ่อค้า พอได้คลุกคลีกับมันมากๆ ก็เริ่มเก็บเม็ดที่เด็ด ๆ เอาไว้ จนกลายเป็นนักสะสมในที่สุด บ้างก็เป็นทั้งพ่อค้าแม่ค้าและนักสะสมไปพร้อมๆ กัน แต่บางคนก็พอใจแค่สะสมไว้ชื่นชมเท่านั้น ไม่ว่าจะค้าหรือสะสม พวกเขาบอกเหมือนกันว่า เก็บอย่างเดียวไม่สนุกหรอก ต้องศึกษาและอ่านมันให้ออก ถึงจะ "มัน" และยิ่งหลงใหลคลั่งไคล้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว
      ลุงธงชัยชอบลูกปัดอย่างฝังใจมาตั้งแต่เด็ก ๆ จนวันหนึ่งที่มีโอกาสและมีกำลัง เมื่อมีคนนำลูกปัดเก่า ๆ มาเสนอขายให้ ก็ไม่รีรอที่จะคว้าเอาไว้
      "ซื้อหมดทุกอย่าง ใครเอามาก็ซื้อ ขายบ้านไปห้าหลังก็ยอม" คุณธงชัยซื้อลูกปัดเก็บไว้มาตลอด ๗ ปี จนวันหนึ่งก็เริ่มทำธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนลูกปัดโบราณอย่างเต็มตัว สิบกว่าปีที่คลุกคลีอยู่กับลูกปัด ได้พบปะกับคนที่สนใจลูกปัดเหมือน ๆ กันทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้คลังความรู้เกี่ยวกับลูกปัดของเขากว้างขึ้นทุกวัน มีโอกาสได้เห็น ได้สัมผัสลูกปัดโบราณจากทั่วสารทิศ ขณะเดียวกับก็แอบเก็บเม็ดที่เด็ด ๆ ไว้
      ร้านขายลูกปัดของเขาที่อยู่ในซอกเล็ก ๆ ของตลาดจตุจักรกลายเป็นที่ที่นักสะสมลูกปัดทั้งหลายแวะเวียนมาคุย มาสืบร่องรอยของลูกปัดโบราณที่หมุนเวียนอยู่ในตลาด
      เสี่ยชัยเลิกกิจการค้าลูกปัดในปี ๒๕๔๑ และเก็บลูกปัดในคลังทั้งหมดเอาไว้ที่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่
      ลำพังจำนวนมหาศาลอย่างเดียวคงไม่ทำให้ "ฝรั่งพวกนั้น" ลงทุนมาตามหาเขาและทำทุกวิถีทางเพื่อให้เขายอมขายลูกปัดบางเม็ดให้ หรือถ้าไม่ได้กลับไปสักเม็ด อย่างน้อยแค่ได้ยลโฉมก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว
      เราโชคดีกว่า "ฝรั่งพวกนั้น" ตรงที่ไม่ต้องข้ามฟ้าข้ามทะเลมาไกลเพื่อจะได้เห็นคลังลูกปัดของเสี่ยชัย แค่เดินทางจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ไม่กี่ชั่วโมง ก็มาถึงบ้านที่เป็นทั้งคลังลูกปัด เป็นที่นัดพบ แลกเปลี่ยนลูกปัดจากหลายแหล่งของบรรดานักสะสมลูกปัดหลายเชื้อชาติ
 
 (คลิกดูภาพใหญ่)       เจ้าของบ้านหยิบ "เอตช์คาร์เนเลียน" เม็ดเล็ก ๆ ออกมาให้ดู ลายเส้นสีขาวที่ฝังบนเนื้อหินส้มแดงเป็นลักษณะเฉพาะของลูกปัดชนิดนี้ เขาบอกว่าได้มาจากชาวพม่าเมื่อ ๗ ปีที่แล้ว อายุคงไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปี
      คาร์เนเลียนเป็นหินชนิดหนึ่งมีสีส้มแดง มีแหล่งใหญ่อยู่ในเขตทางใต้ของอินเดียและอัฟกานิสถาน ดังนั้นก็อาจเป็นไปได้ว่ามันถูกผลิตขึ้นที่เมืองอริกาเมดุ ทางฝั่งตะวันออกของอินเดียใต้ อันเป็นเมืองท่าสำคัญซึ่งบรรดาพ่อค้าทั่วโลกเดินทางมาที่เมืองท่าแห่งนี้ เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าก่อนจะส่งต่อไปที่อื่น
      บางทีมันอาจเดินทางมากับเรือสินค้าของพ่อค้าอินเดียเมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีที่แล้ว รอนแรมอยู่กลางมหาสมุทรนานนับเดือน แล้วมาขึ้นฝั่งที่เมืองท่าชายฝั่งภาคใต้ของไทย ขณะนั้นเอตท์คาร์เนเลียนคงเป็นของมีค่าและหายากทีเดียว ไม่เช่นนั้นคงไม่มีใครยอมเอางาช้าง ดีบุก ไปแลกกับลูกปัดพวกนี้ และพ่อค้าอินเดียต้องมั่นใจว่าลูกปัดพวกนี้เป็นที่ต้องการของผู้คนในอารยธรรมอื่นๆ ด้วย ไม่อย่างนั้นคงไม่กล้าลงทุนขนใส่เรือ เสี่ยงภัยอยู่กลางมหาสมุทร เพื่อเอาไปแลกกับสิ่งที่มีค่าพอกันในดินแดนอื่น ๆ อาจจะเป็นแร่ธาตุ ทองคำ ทาส พริกไทย และทุกสิ่งทุกอย่างที่หาไม่ได้ในอินเดีย
      ไม่เพียงพ่อค้าจากอินเดียเท่านั้น แต่ก่อนจีนก็เคยเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าในดินแดนแถบนี้ ในสมัยนั้นคงจะมีลูกปัดแปลก ๆ พรั่งพรูเข้าสู่ดินแดนแหลมทองจำนวนมาก
      เอตช์คาร์เนเลียนเม็ดนี้อาจเปลี่ยนเจ้าของมาไม่รู้กี่หน ก่อนถูกฝังอยู่ใต้ผืนดินนานหลายพันปี จนมีคนมาขุดพบและนำมันขึ้นมา ก่อนจะอยู่มือเจ้าของคนปัจจุบัน
      ลูกปัดเพียงเม็ดเดียวยังพาเราย้อนอดีตไปได้ไกลถึงขนาดนี้ แล้วอีกกว่าแสน กว่าล้านเม็ดที่เก็บอยู่ทุกซอกทุกมุมของบ้านหลังนี้ จะพาเราไปรู้จักอะไรอีกบ้าง คุณธงชัยบอกว่า เขาเป็นคนที่เคยมีลูกปัดโบราณมากที่สุดในโลก ก่อนจะขายลูกปัดโบราณจำนวนหนึ่งให้ฝรั่งที่บ้าลูกปัดเหมือนกัน ๆ คนหนึ่ง
      "ตอนนั้นบ้านหลังนี้ไม่มีที่เดินเลยละ มีแต่ลูกปัด พวกฝรั่งมาเห็นตกใจกันใหญ่ เพราะไม่คิดว่าลุงจะมีเยอะขนาดนี้ ของเขามีเม็ดหนึ่งเก็บใส่กล่องรองสำลีอย่างดี แต่ของลุงวางเต็มบ้านเลย"
      จริงของแก ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหน เราก็จะเห็นถาด โหล กล่อง กระบะ ขวด ที่อัดแน่นไปด้วยลูกปัดวางอยู่ตรงนั้น
 (คลิกดูภาพใหญ่)       คิดเล่น ๆ --ถ้าเราแอบขยุ้มไปแค่กำมือเดียว คงเปลี่ยนเป็นเงินได้มากพอจะซื้อรถยนต์หรู ๆ ได้สักคันหนึ่ง
      "มีฝรั่งคนหนึ่งมาขอดู ลุงก็เอาออกมาให้ดู นั่งได้สักพักคงเมื่อย เขาก็ลุกขึ้นเดิน แต่ไม่รู้เดินอีท่าไหน ลื่นกำลังจะล้ม ลุงก็วิ่งไปคว้ากลัวเขาจะล้ม ปรากฏว่าลูกปัดร่วงออกมาจากกระเป๋าเสื้อเยอะเลย โอ้โห มันหน้าแดง หูแดงซ่านเลย แต่ลุงก็ไม่ว่าอะไร พอจะกลับลุงขับรถไปส่ง ลงจากรถเท่านั้นแหละ ที่เบาะรถมีลูกปัดที่ร่วงมาจากกระเป๋ากางเกงของมันอีกนะ แสบจริง ๆ อีกไม่กี่เดือนก็มาอีก" ลุงธงชัยเล่าพลางหัวเราะลั่น
      แม้บางส่วนจะถูกขายไปแล้ว แต่เท่าที่มีก็มากพอที่จะบอกว่า เขามีลูกปัดเกือบทุกชนิดที่ปรากฏอยู่ในแผนผังลูกปัดท้ายเล่มของหนังสือ The History of Beads from 30,000 B.C. to the Present ซึ่งถือเป็นคัมภีร์ที่นักสะสมลูกปัดจะต้องมี Lois Sherr Dubin ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ใช้เวลาหลายปี กว่าจะรวมเอาลูกปัดที่พบทั่วโลกนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเอาไว้ แล้วบรรจุมันลงในแผนผังได้อย่างน่าสนใจ
      ลุงธงชัยศึกษาเรื่องราวของลูกปัดจากหนังสือที่เขียนขึ้นโดยนักวิชาการ นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านลูกปัดจากหลายสำนัก (ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติทั้งนั้น ในประเทศไทยยังไม่มีผู้ศึกษาเรื่องลูกปัดอย่างจริงจัง) เขาบอกว่าเรื่องราวเกี่ยวกับลูกปัดทั้งหมดก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ไม่มีอะไรแน่นอนตายตัว ในโลกของลูกปัดมีสิ่งเร้นลับอยู่มากมาย การค้นพบลูกปัดที่ไม่เคยพบมาก่อน อาจจะทำให้ประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
      นี่กระมังที่เป็นเหตุให้บรรดาคนคลั่งลูกปัดทั้งหลาย ทำทุกอย่างเพื่อจะได้เห็น ได้สัมผัส ได้เป็นเจ้าของลูกปัดเหล่านี้ สำหรับเสี่ยธงชัยให้เหตุผลส่วนตัวว่า
      "บอกไม่ถูกว่ามันมีเสน่ห์ดึงดูดอย่างไร มันไม่น่าหลงใหลหรอกหรือ ทั้งรูปร่าง สีสันลวดลายและเทคโนโลยีที่คนโบราณทำมันขึ้นมา มันต้องมีความเชื่อมีพลังอะไรบางอย่างอยู่ในนั้นแน่ ๆ ไม่อย่างนั้นคงไม่ยอมเสียเวลาเป็นเดือน หรืออาจจะหลายเดือนทำลูกปัดพวกนี้ขึ้นมา มันมีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกเยอะแยะ ทำไมคนทั่วโลกถึงใช้ลูกปัด บางยุคมันก็หยุดพัฒนาเหมือนจะเลิกผลิต แล้วอยู่ ๆ มันก็โผล่มาอีกยุคสมัยหนึ่ง ลูกปัดบางชนิดที่ยังไม่รู้ว่าคนโบราณทำขึ้นมาได้อย่างไร ตอนนี้ก็ยังเลียนแบบไม่ได้"
 
 (คลิกดูภาพใหญ่)       การพยายามหาคำตอบว่า ลูกปัดมีต้นกำเนิดที่ไหนและเมื่อไร คงไม่มีใครตอบได้อย่างมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ จากหลักฐานการค้นพบลูกปัดที่ทำด้วยฟันและหอยอายุเกือบ ๔ หมื่นปีในดินแดนของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน พอบอกได้ว่า มนุษย์รู้จักใช้ลูกปัดอย่างน้อย ๔ หมื่นปีมาแล้ว แต่ใครจะกล้ายืนยันว่าก่อนหน้านี้มนุษย์ไม่เคยทำและใช้ลูกปัดมาก่อน
      ในเมืองไทย พบหลักฐานจำพวกเครื่องมือหินกะเทาะขนาดต่างๆ ที่มนุษย์ใช้ในการทุบ หั่น สับ ตัด และขูด เมื่อประมาณ ๔ หมื่นปีแล้วที่เพิงหินหลังโรงเรียน อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ แต่ไม่มีร่องรอยการใช้ลูกปัดของมนุษย์สมัยนั้นหลงเหลือให้เห็น
      ดร. พรชัย สุจิตต์ ให้ความเห็นว่า การไม่พบนั้นไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ที่อาศัยอยู่ในเพิงหิน และถ้ำธรรมชาติเหล่านั้นจะไม่รู้จักใช้ลูกปัด แต่พวกเขาอาจใช้ลูกปัดที่ทำด้วยอินทรียวัตถุ ซึ่งอาจสลายตัวไปหมดแล้ว
      ตั้งแต่มนุษย์รู้จักการทำลูกปัดจากฟัน กระดูก เขาสัตว์ เปลือกหอย เมื่อ ๔ หมื่นปีก่อน ในยุคต่อมาก็มีการทำลูกปัดจากหิน แร่ และแก้ว โดยทำมันขึ้นมาเท่าที่ความสามารถทางเทคโนโลยีของคนในสมัยจะทำได้ ใส่ความเชื่อ สะท้อนมุมมองเรื่องความงามไว้ในการแต่งแต้มลวดลาย และการเลือกใช้วัสดุต่าง ๆ
      การพบลูกปัดในแหล่งที่อยู่ของมนุษย์โบราณทุกแหล่ง ทำให้เชื่อว่ามนุษย์โบราณทุกแหล่งอารยธรรมล้วนใช้ลูกปัด โดยทำจากวัสดุที่มีในท้องถิ่นของตัวเอง ด้วยเทคโนโลยีที่มีในขณะนั้น ออกแบบมันด้วยมุมมองทางศิลปะและจินตนาการ แฝงเร้นไปด้วยความเชื่อของชุมชนในดินแดนนั้น ๆ
      มีข้อสันนิษฐานต่าง ๆ มากมายว่า มนุษย์คิดค้นลูกปัดขึ้นมาทำไม อะไรทำให้ลูกปัดเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะในฐานะเครื่องประดับ เครื่องรางของขลัง หรือตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า กระทั่งในยุคปัจจุบัน คนเราก็ยังใช้ลูกปัด แม้ว่าจะ "มอง" มันต่างออกไปจากคนในยุคอื่น 
(คลิกดูภาพใหญ่)       เซียนลูกปัดเมืองไทยอย่างลุงธงชัย มีข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจว่า แรกเริ่มเดิมทีลูกปัดถูกมนุษย์อุปโลกน์ให้เป็นเครื่องรางก่อน ยุคที่มนุษย์ยังไม่ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ย้ายที่อยู่ตามแหล่งอาหาร ในช่วงนั้นยังไม่มีศาสนา มนุษย์แทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับจักรวาลนี้เลย --ทำไมฟ้าร้อง ทำไมคนคนหนึ่งจึงตายตั้งแต่ยังเด็ก มีปรากฏการณ์ธรรมชาติน่าพรั่นพรึงมากมาย ที่พวกเขาอธิบายไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร มนุษย์จึงคิดว่าปรากฏการณ์ทั้งหลายแหล่ เกิดจากการกระทำของภูตผีปีศาจหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ และในยุคนั้นการล่าสัตว์คงเป็นเรื่องยาก เมื่อใครคนหนึ่งสามารถล่าสัตว์ใหญ่อย่างเก้ง กวาง ได้สักตัวหนึ่ง หลังจากกินเนื้อมันแล้ว ก็ทุบกระดูกดูดกินไขกระดูกจนเหลือรูอยู่ตรงกลาง มนุษย์เอากระดูกหรือซากสัตว์ที่เหลือพกติดตัวไว้ เพื่อให้วิญญาณของสัตว์เหล่านี้คิดว่ามนุษย์เป็นพวกเดียวกับมัน หรืออาจจะเชื่อว่ากระดูกของสัตว์พวกนี้ จะช่วงป้องกันภูตผีปิศาจ หรือวิญญาณของสัตว์ตัวนั้นได้
      ต่อมามนุษย์เริ่มตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชน มีหัวหน้าที่แข็งแรง มีพละกำลังกว่าใคร ในบริเวณที่อยู่อาศัยอาจมีสัตว์ดุร้ายอย่างเสือเข้ามาทำร้ายคนในหมู่บ้าน คนที่ฆ่าเสือได้ก็เอาเขี้ยวเสือมาทำลูกปัดห้อยคอ เป็นการประกาศศักดาเพื่อให้คนอื่นยกย่อง
      ลุงธงชัยสันนิษฐานว่า ลูกปัดเริ่มมีฐานะเป็นเครื่องประดับ เมื่อมนุษย์มีการตั้งถิ่นฐานที่แน่นอน ในชุมชนย่อมมีคนอ่อนแอ มีคนพิการที่ไม่สามารถออกไปล่าสัตว์ หาอาหารด้วยตัวเอง นอกจากหาอะไรแถว ๆ ชุมชนกินประทังชีวิต ซึ่งอาจจะทำให้คนพวกนี้ได้เจอวัตถุที่มีความพิเศษ ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน จึงเก็บไปให้หัวหน้าเผ่า หัวหน้าเผ่าอาจจะตอบแทนความดีความชอบกลับมาเป็นอาหาร เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต ในสมัยนั้นอะไรก็ตามที่หายากและมีความพิเศษ จะถูกนำมาเจาะรูแล้วห้อยเป็นเครื่องประดับ เป็นเครื่องแสดงอำนาจ ฐานะทางสังคม ลูกปัดในยุคนี้ไม่ได้คำนึงถึงความสวยงาม แต่เป็นของแปลกเท่านั้น
      ต่อมาเมื่อมนุษย์สามารถกะเทาะหินนำมาทำเป็นอาวุธได้ มนุษย์ก็เอาหินมีสีสันสวยงามแปลกตามาขัดมาฝนให้มีรูปทรงสวยงาม ไปไหนก็เอาติดตัวไปด้วย แต่วิธีการที่จะเอาหินติดตัวไปด้วยนั้นก็ไม่ง่ายนัก มนุษย์จึงเริ่มคิดหาวิธีการเจาะหิน ทำให้หินเป็นรูเพื่อใช้เชือกร้อยและห้อยติดตัวไปไหนต่อไหน
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมามนุษย์ก็รู้จักทำลูกปัดจากหิน พัฒนาเทคโนโลยีจนผลิตลูกปัดแก้วได้ และใช้มันในบทบาทที่หลากหลาย --นี่คือข้อสันนิษฐานของนักวิชาการลูกทุ่งอย่างลุงธงชัย
      ในขณะที่ โจน โมวัต เอริกสัน ผู้เขียนหนังสือชื่อ ลูกปัดแห่งจักรวาล (The Universal Bead) ย้อนรอยการประดับร่างกายด้วยลูกปัดว่า เป็นเพราะมนุษย์ต้องการความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ซึ่งเชื่อมโยงกับดวงตาและการมองเห็นนั่นเอง
      "ดวงตาอาจเป็นร่องรอยพื้นฐานในเรื่องพลังธรรมชาติที่มีอยู่ในวัตถุทรงกลม ไม่ใช่ดวงตาหรอกหรือที่แม่และลูกใช้สื่อสารถึงกัน ก่อนที่ลูกจะสามารถสื่อสารด้วยคำพูดได้ การประสานกันของสายตา ก็ทำหน้าที่เสริมในการพูดเมื่อการใช้ภาษาล้มเหลวหรือขัดข้อง เราเริ่มต้นชีวิตด้วยความสัมพันธ์ทางสายตา เราได้รับการปกป้องด้วยการมอง รู้สึกปลอดภัยเมื่อมีแสงสว่าง ดวงตายังถูกพรรณนาเช่นเดียวกับลูกปัดว่า ส่องแสง หัวเราะ เต้นรำ สดใส เจิดจ้า เป็นประกาย ดวงตายังเหมือนลูกปัดตรงมีสีฟ้า เขียว เทา น้ำตาล และทองอีกด้วย"
      ในทางกลับกัน จิตแพทย์อย่าง โรเบิร์ต บรอส ไม่เชื่อเรื่องการมองเห็น เขาเชื่อว่าความรู้สึกแรกที่ทารกได้รับคือการสัมผัสไม่ใช่สายตา ดังนั้น แรงปรารถนาต่อลูกปัด อาจเชื่อมโยงกับการได้รับความพอใจจากการสัมผัส ขณะกินนมจากอกและหัวนมแม่
      แม้ว่าข้อสันนิษฐานทั้งหมดนี้จะแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือต้นเหตุในการ "ใช้" ลูกปัดของมนุษย์เกี่ยวข้องกับความเชื่อและความมีพลังบางอย่างอยู่แน่นอน
 
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ลูกปัดมีตา เริ่มปรากฏครั้งแรกที่อียิปต์เมื่อประมาณ ๓,๓๐๐ ปีมาแล้ว ต่อมาก็ปรากฏในแหล่งอารยธรรมอื่น ๆ และยังคงทำสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ คนโบราณเชื่อว่าในโลกนี้มีดวงตาอันชั่วร้ายของปิศาจจ้องมองอยู่ มนุษย์จึงทำลูกปัดมีตาขึ้นมา โดยเชื่อว่าจะเป็นดวงตาของเทพเจ้า เป็น "ดวงตาที่มองเห็นทุกทิศทาง" เพื่อคอยปกป้องมนุษย์จากความชั่วร้ายเหล่านั้น
      ชาวทิเบตเชื่อว่ามีวิญญาณชั่วร้ายสิงสถิตอยู่ในธรรมชาติ ในฝูงสัตว์เลี้ยง ในสิ่งที่มองไม่เห็น หรือแม้กระทั่งภายในตัวมนุษย์เอง พวกเขาจึงต้องใส่ลูกปัด เพื่อเป็นเครื่องปกป้องตัวเอง จากเภทภัยที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของวิญญาณร้าย 
      ชาวทิเบตใส่ลูกปัดหินหรือลูกปัดแก้วสีฟ้าซึ่งหมายถึง น้ำ ท้องฟ้า อากาศ ใส่ปะการังสีแดงอันมีความหมายถึงเลือด ไฟ และแสงสว่าง ใส่โมราที่มีสีเหลือ ให้เป็นตัวแทนของโลกภพ เพื่อป้องกันพวกเขาจากสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ การที่ชาวทิเบตใช้ลูกปัดที่มีสี ช่วยยืนยันความผูกพันของมนุษย์กับโลกวิญญาณ และเทพเจ้าต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน
      นอกจากลูกปัดจะรับใช้มนุษย์ในฐานะเครื่องรางของขลังแล้ว บทบาทของลูกปัดยังเปลี่ยนไปเป็นอะไรอื่นอีกมาก
      ชาวแอฟริกาตะวันตก ใช้ลูกปัดประดับตกแต่งเสื้อผ้าอาภรณ์ เพื่อสวมใส่ให้แก่รูปปั้นของพระมหากษัตริย์ และบัลลังก์ของพระมหากษัตริย์ก็ตกแต่งด้วยลูกปัด ลูกปัดเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมการปลูกสร้างบ้านใหม่ของ Kogi ประเทศกัมพูชา ชาวฟิลิปปินส์จะใส่ลูกปัดในถ้วยของคู่บ่าวสาวในวันแต่งงาน เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งคู่จะครองคู่กันตลอดไป ในบางสังคม ลูกปัดยังทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธไมตรีทางการเมือง 
      ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗-๑๙ ลูกปัดใช้เป็นวัตถุแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าของคนทั้งโลก อาทิ ใช้ลูกปัดแลกพริกไทยกับประเทศอินโดนีเซีย และแลกทอง งา และทาสในแอฟริกา ชาวยุโรปแลกเปลี่ยนลูกปัดแก้วกับขนตัวบีเวอร์ของทวีปอเมริกาเหนือ 
      ลูกปัดยังสะท้อนมุมมองและนิยามความงามของผู้คนในแต่ละยุค แต่ละสังคมได้ดีอีกด้วย ในปัจจุบันบางสังคมยังคงวัดความงามจากการสวมใส่ลูกปัด ผู้หญิงชาวมาไซในแอฟริกาตะวันออกยังคงประดับร่างกายด้วยลูกปัด และเชื่อกันว่ามันจะทำพวกเธอดูสวยขึ้นได้
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       เราอาจนึกไม่ถึงว่า เมืองไทยก็เป็นแหล่งที่มีลูกปัดโบราณหลงเหลืออยู่จำนวนมาก นักสะสมลูกปัดทั่วโลกรู้ดีว่าเมื่อประมาณ ๓,๕๐๐-๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว ดินแดนแถบนี้เคยเป็นศูนย์กลางทางการค้า พ่อค้าหลายเชื้อชาติได้ขนลูกปัดมาไว้ที่นี่จำนวนมาก ความเชื่อที่ว่ามนุษย์ยังต้องการนำลูกปัดไปใช้ในโลกหน้าของคนบางสังคม ทำให้พวกเขาฝังลูกปัดไปพร้อมกับศพผู้เป็นเจ้าของ ขณะที่ศพผู้ตายย่อยสลายไปจนหมดสิ้น หลงเหลือแต่กระดูกและลูกปัดให้คนยุคหลังอย่างพวกเราได้เห็น ช่วง ๓๐ กว่าปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วงที่ลูกปัดถูกฝนชะจนโผล่ขึ้นมาบนผิวดิน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแหล่งชุมชนโบราณไม่ว่าจะเป็น ที่บ้านดอนตาเพชร อู่ทอง คลองท่อม บ้านเชียง ก็พากันเก็บเอาไว้ บ้างก็ขุดเจอ เมื่อปรากฏว่าสามารถเอาไปขายได้ ชาวบ้านก็พากันขุดไปขายกันเป็นจำนวนมาก
      ลุงธงชัยเล่าให้ฟังว่า ในสมัยที่ขุดพบลูกปัดโบราณใหม่ ๆ มีการซื้อขายกันทีละเป็นกระสอบๆ บางคนขนาดเอารถกระบะมาขนไปเลยทีเดียว
      "เพื่อนลุงคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ลูกปัดขึ้นใหม่ ๆ เขาตระเวนไปทั่ว ที่ภาคใต้เยอะมาก ขนาดว่ายืนฉี่ใต้ต้นไม้ ลูกปัดมันกระเด็นขึ้นมาเลย"
      ในแวดวงนักสะสมลูกปัดรู้ดีว่า ตลาดจตุจักรเป็นแหล่ง "ปล่อยของ" มาตั้งแต่ช่วงที่คนเริ่มเห่อลูกปัดเมื่อ ๔๐-๓๐ ปีที่แล้ว ลูกปัดจากแหล่งโบราณคดี ทั้งบ้านเชียง บ้านดอนตาเพชร คลองท่อม อู่ทอง ต่างมารวมกันอยู่ที่นี่ (หากไม่นับที่กระจายไปอยู่ตามคอลเล็กชันส่วนตัวของผู้มีอันจะกิน เจ้านาย เจ้าหน้าที่)
      "ของที่เหลืออยู่ที่พิพิธภัณฑ์โหลยโท่ยทั้งนั้น ของดี ๆ นะหรือ อย่าให้พูดเลยว่าไปอยู่ที่ไหน"
      "หลายปีที่แล้วพี่เคยไปดูที่พิพิธภัณฑ์ ยังเห็นสร้อยลูกปัดเด่น ๆ ตั้งหลายชิ้น กลับไปอีกปีไม่รู้หายไปไหนแล้ว"
      "เมื่อก่อนชาวบ้านเขาขุดได้ก็จับเขา ยึดเอาไป แต่ก็ไม่เห็นว่าจะเอาไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์เลย"
      นอกจากคำพูดเหล่านี้แล้ว เรายังได้ยินพ่อค้าของเก่าอีกคนหนึ่งพูดตบท้ายว่า ถ้าอยากดูลูกปัดที่เก่าและหายากจริงๆ ก็ให้มาที่นี่-สวนจตุจักร ใช้แค่ความพยายามมองหาและมาบ่อย ๆ เท่านั้น
      ..................
(คลิกดูภาพใหญ่)       เราเจอป้าจิมและลูกชายในบ่ายวันหนึ่ง บริเวณซอกเล็ก ๆ ของตลาดนัดจตุจักร กระเป๋าถือสีน้ำตาลขนาดย่อมอัดแน่นไปด้วยลูกปัดอาเกต คาร์เนเลียนรูปทรงและขนาดต่าง ๆ ที่เพิ่งได้มาสดๆ ร้อน ๆ นอกจากนี้ยังมีลูกปัดแก้วขนาดเล็กๆ หลายสีอย่างที่เรียกกันว่า ลูกปัดลมสินค้า หรือลูกปัดทวารวดี ผลิตที่อินเดียและแพร่สะพัดไปทั่วโลก เข้ามาเมืองไทยเมื่อ ๑,๕๐๐ ปีที่แล้ว
      ในรอบ ๒-๓ เดือนหรืออาจจะมากน้อยกว่านั้น ป้าจิมและลูกจะนั่งรถไฟเที่ยวเช้าจากนครราชสีมา มาถึงกรุงเทพฯ ในช่วงบ่าย ๆ เพื่อนำลูกปัดที่รับซื้อจากชาวบ้านแถบนั้น มาให้ร้านขายลูกปัดขาประจำสองสามร้านที่ตลาดนัดจตุจักร ลูกปัดของป้าจิมเชื่อได้ว่าเป็นของขุดและเก่าจริง ไม่ย้อมแมวขายเหมือนบางเจ้าและบางร้าน
      "ชาวบ้านเขาเก็บไว้ตั้งแต่ลูกปัดมันขึ้นแล้ว เมื่อก่อนชาวบ้านเขาเจอกันมาก บางทีไปทำไร่ทำสวน ขุดดินอยู่ดีๆ เผลอๆ ก็เจอ บางคนก็ขายไปนานแล้ว บางคนก็เก็บไว้ ตอนนี้เขาขัดสนก็ฝากพี่เอามาปล่อย มีไม่มากนักหรอก นานๆ จะได้เข้ามาที" ป้าจิมคุยให้ฟังระหว่างที่เดินเข้าร้านโน้นออกร้านนี้ ไม่ได้มีการต่อรองราคายืดเยื้อให้มากความ ถ้าพอใจก็เอา ไม่พอใจก็ไปร้านอื่น
      พ่อค้าที่รับซื้อไปอาจจะเลือกบางเม็ดที่เด็ด ๆ เอาไว้ ที่เหลือก็ปล่อยขายให้คนที่ต้องการต่อไป ธุรกิจนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครมีเงินมากหรือน้อย แต่ขึ้นอยู่กับ "ใจกับใจ" เท่านั้น เพราะถ้าเจ้าของลูกปัดไม่ "พอใจ" ต่อให้เสนอราคาเท่าไรก็ไม่มีทางได้ไป 
      ในบรรดาลูกปัดโบราณ "ซีบีด" ของทิเบตถือเป็นสุดยอดลูกปัดที่ทั้งหายาก และราคาแพงที่สุดก็ว่าได้ ลุงธงชัยให้เหตุผลว่า ซีบีดเป็นเครื่องรางอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวทิเบต และชาวหิมาลายัน คนธรรมดาสามัญไม่สามารถมีลูกปัดชนิดนี้ได้ นอกจากนักบวชหรือชนชั้นกษัตริย์เท่านั้น หลังจากที่ทิเบตล่มสลายก็ไม่ได้ทำขึ้นมาอีกเลย ลูกปัดชนิดนี้จึงมีจำนวนจำกัด จะพบในทิเบตและบริเวณใกล้เคียงเช่น ภูฏาน ลาดัก และสิกขิมเท่านั้น 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ซีบีดเป็นลูกปัดที่ทำจากอาเกตสีดำหรือน้ำตาล มีทำลายเส้นและวงกลมซึ่งเป็นตัวแทน "ดวงตา"ลงบนเนื้อหิน ยิ่งมีตามากเท่าไรก็ยิ่งแสดงว่าเคยเป็นของบุคคลสำคัญมากเท่านั้น ด้วยเหตุที่เป็นของหายากยิ่ง จึงมีความพยายามที่จะทำเลียนแบบขึ้นมา ลุงธงชัยเล่าให้ฟังว่า ๔-๕ ปีที่แล้วพ่อค้าหัวใสชาวไต้หวัน มากว้านซื้อลูกปัดอาเกตจากเมืองไทยไปจำนวนมาก ไม่กี่ปีหลังจากนั้น ซีบีดเก๊ก็ถูกปล่อยออกมา คนที่ว่าแน่ ดูของเป็น หลายคนก็ยังโดนหลอก 
      "พวกนั้นคงไปศึกษาวิธีทำลายแบบทิเบตได้ ก็เลยทำลงไปในเนื้ออาเกตที่เป็นของเก่าจริงๆ เพราะเนื้ออาเกตและคาร์เนเลียนที่ผ่านการใช้งานมานานๆ จะโดนเหงื่อของคนซึ่งจะไปทำปฏิกิริยากับเนื้อหิน จนสึกเป็นลายตัวหนอนเล็กๆ มองด้วยตาเปล่าไปไม่เห็น พอเราส่องดูก็นึกว่าเป็นซีบีดของเก่าจริง เพราะมันมีร่องรอยการใช้มาก่อน ความจริงแล้วก็เป็นของเก่านั่นแหละ แต่ไม่ใช่ซีบีดของทิเบต เป็นลูกปัดอาเกตธรรมดา
      "อย่าไปพูดถึงราคาเลย ลูกปัดเป็นสินค้าพิเศษหามาตรฐานราคาไม่ได้ เพชร ๕ กะรัตเราพอจะรู้ว่าราคาควรอยู่ที่เท่าไร แต่ลูกปัดไม่ใช่ ทุกเม็ดคือหนึ่งเดียวในโลก ถ้าผมไม่ขายซะอย่าง คุณเป็นมหาเศรษฐีมาจากไหนก็ไม่มีทางซื้อได้"
      นอกจากซีบีดแล้ว ลูกปัดมีตา ลูกปัดแก้วที่ทำเป็นหน้าคน ก็ถือเป็นอีกประเภทที่หายากและมีราคาสูง แต่ทั้งลูกปัด อาเกต คาร์เนเลียน ลูกปัดแก้วแต่งแต้มลวดลายต่างๆ ก็ถือว่าเป็นของมีค่าและหายากทั้งนั้น เพียงแต่มูลค่าในการซื้อขายแลกเปลี่ยนอาจจะไม่สูงเท่า
(คลิกดูภาพใหญ่)       คุณปรียา สุวรรณกูล นักสะสมลูกปัดตัวยงอีกคนหนึ่ง เคยเอาลูกปัดแก้วสีเขียวเม็ดเป้งให้ดู 
      "มันเป็นแก้วธรรมชาติ อาจจะเกิดจากการแข็งตัวของลาวา แต่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างไรก็สุดจะเดา ซื้อมา ๖ หมื่น แต่คุณค่ามันยิ่งกว่านั้นมาก ทลายภูเขาทั้งลูกก็ไม่มีทางเจอลูกปัดอย่างนี้อีกแล้ว" 
      ในยุคสมัยที่มนุษย์มีเงินเป็นวัตถุแลกเปลี่ยนสินค้า มีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีอัญมณีอย่างเพชร พลอยเป็นเครื่องประดับสูงค่า ลูกปัดเก่า ๆ พวกนั้นก็ยังเป็นยอดปรารถนาของใครหลายคน 
      นักสะสมลูกปัดกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ความคลั่งไคล้ในมนต์เสน่ห์ของลูกปัด เปิดโลกให้เขาได้เห็นผู้คนในอดีต ได้เห็นชีวิต ความเชื่อ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และนิยามความงามของคนในยุคต่าง ๆ 
      "ลูกปัดที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ก็พยายามทำเลียนแบบลูกปัดโบราณทั้งนั้น เทคนิคบางอย่างที่คนโบราณทำได้ คนปัจจุบันก็ยังไม่รู้ว่าเขาทำอย่างไร ทุกวันนี้ชาวญี่ปุ่นและชาวไต้หวัน ก็ยังมาตามหาลูกปัดโบราณในบ้านเราเอาไปศึกษาวิธีทำ ญี่ปุ่นยังเอาลายลูกปัดไปทำเป็นลายผ้าด้วย"
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ถ้าเปิดหนังสือเกี่ยวกับการใช้ลูกปัดของผู้คนในที่ต่างๆ เราจะเห็นว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ลูกปัดถูกนำมาใช้ในรูปแบบที่หลากหลายมาก
      ในยุคหลังๆ มานี้ ลูกปัดแก้วหลากสีขนาดเล็กๆ เท่าเมล็ดพืชอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า "seed bead" นั้นเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลก เพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่จำกัดรูปแบบ 
      แถวบ้านเรามีแหล่งผลิตที่จีน อินเดีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น โดยเฉพาะลูกปัดของญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อในเรื่องคุณภาพมากที่สุด แต่ที่นำเข้ามาขายในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นลูกปัดจากอินเดีย ซึ่งช่างอินเดียยังใช้กรรมวิธีการผลิตแบบเดียวกับช่างสมัยโบราณเมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีที่แล้ว --ถ้ายังจำได้ ก็ช่างทำลูกปัดที่เมืองอริกาเมดุ ที่ทำเอตช์คาร์เนเลียนของลุงธงชัยนั่นล่ะ
      ลูกปัดเม็ดเล็ก ๆ พวกนี้ถูกส่งไปขายในหลายประเทศทั่วโลก ชาวเขาเผ่าต่างๆ ในบ้านเราก็ใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยอาจจะนำเข้ามาจากจีนผ่านเข้ามาทางชายแดนภาคเหนือ 
      ชนเผ่าที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งให้ความสำคัญกับอาภรณ์เป็นอย่างมาก จะสวมใส่เสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ตกแต่งด้วยลูกปัดหลากสี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่และงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ พวกเขาจะสวมเสื้อผ้าที่ประดับประดาด้วยลูกปัดที่สวยงามเป็นพิเศษ ผู้หญิงชาวเมี่ยน นำลูกปัดมาทำเป็นที่สวมศีรษะ
(คลิกดูภาพใหญ่)       ชาวนากาที่อาศัยอยู่แถบตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็ยังคงใช้ลูกปัดจากเปลือกหอย ปีกแมลง กระดูก หิน และแก้ว นำมาทำเป็นสร้อยคอและเข็มขัด ชนเผ่าต่าง ๆ ในปากีสถาน อัฟกานิสถาน เนปาล มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ยังคงใช้ลูกปัดกันอย่างแพร่หลาย
      ขณะที่วัฒนธรรมการใช้ลูกปัดของชนเผ่าต่าง ๆ เริ่มเลือนหายไปทีละน้อย ในฮ่องกงก็มีการนำลูกปัดมาทำเป็นกระเป๋าถือแสนเก๋สไตล์อเมริกา ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง
      จีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ผลิตลูกปัดชนิดนี้และนำมาประดิษฐ์ของใช้ เช่น กระเป๋า รองเท้า และประดับตกแต่งเสื้อผ้าส่งไปขายทั่วโลก
      ในบ้านเรา นอกจากลูกปัดเม็ดเล็กๆ พวกนี้ ยังมีลูกปัดใหม่ ๆ ที่พยายามทำเลียนแบบลูกปัดโบราณมาขายจำนวนมาก โดยเฉพาะลูกปัดที่ทำจากหินชนิดต่างๆ เช่น อะแมทิสต์ จาสเปอร์ ทูมาลีน ลาปิซลาซูรี ควอร์ต หยก เจต เทอร์ควอยซ์ มาลาไคล์ มาเบิล ลูกปัดที่ทำจากหินพวกนี้ล้วนำเข้าจากต่างประเทศทั้งนั้น เช่น อินเดีย อัฟกานิสถาน บราซิล จีน และฮ่องกง เป็นต้น
      เมื่อลูกปัดพวกนี้มาถึงมือพ่อค้าส่งในประเทศไทย ก็จะขายต่อให้แก่ผู้ค้าปลีกที่มาซื้อไปทำเป็นสร้อยคอ ต่างหู สร้อยข้อมือ และสิ่งอื่น ๆ แล้วแต่ว่าใครจะสามารถคิดสร้างสรรค์ได้ ในขณะคนไทยก็เริ่มผลิตลูกปัดจากกะลามะพร้าวและไม้ต่าง ๆ นำมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น นำมาถักเป็นที่คลุมเบาะรถ เป็นลูกประคำ เม็ดกลม ๆ ในรางลูกคิดก็ถือเป็นลูกปัดเช่นกัน
      ลูกปัดน้องใหม่ล่าสุดก็คือพวกพลาสติก ที่ช่วงหนึ่งบ้านเรานิยมนำมาทำเป็นกระเป๋านั่นเอง อย่างไรก็ตามเราก็ยังใช้ประโยชน์จากลูกปัดในอีกหลายรูปแบบ เช่น ร้อยเป็นสายประกอบเป็นม่าน นำไปร้อยกับเส้นผม เป็นต้น
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       จากอดีตถึงปัจจุบัน ความหมายและการ "ใช้" ลูกปัดของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดนิ่ง หากเรา "อ่าน" ชีวิต ความเชื่อ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ของบรรพบุรุษของเราจากลูกปัดได้ อีก ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ปีข้างหน้า คนในสมัยนั้นก็คงรู้จักเรา ผ่านลูกปัดที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันได้เช่นกัน
      และเขาจะรู้สึกแปลกใจบ้างไหม ทำไมมนุษย์ทุกแหล่งอารยธรรมจึงหลงใหลลูกปัดเหมือนกันมาทุกยุคทุกสมัย
  เอกสารประกอบการเขียน
        ๑. Caroline Crabtree & Pam Stallebaass (2002 ), Beadwork A world guide, Thames & Hudson London.
      ๒. Lois Sherr Dubin (1987) The History of Beads from 30,000 B.C. to the Present, Harry N. Abrams, Inc. New York.
      ๓. "แก้วโบราณในเอเชีย", เมืองโบราณ ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มีนาคม ๒๕๓๘, พรชัย สุจิตต์ 
      ๔. "ลูกปัดโบราณ", ศิลปากร ปีที่ ๒๘ ฉบับที่ ๔ กันยายน ๒๕๒๗, ณัฏฐภัทร จันทวิช
  ขอขอบคุณ
        คุณธงชัย-คุณน้อย อินทรชุศรี
      คุณปรียา สุวรรณกูล
      ดร.วีณา เชิดบุญชาติ
      ดร.พรชัย สุจิตต์
    ลูกปัดในประเทศไทย  
(คลิกดูภาพใหญ่)       ๕,๕๐๐-๖,๕๐๐ ปี เริ่มมีหลักฐานการใช้ลูกปัดที่ทำจากกระดูก หอย และหินในรูปแบบธรรมดา เช่นที่ถ้ำทะลุ จังหวัดกาญจนบุรี และถ้ำเบื่องแบบ ถ้ำปากอม จังหวัดสุราษฎร์ธานี 
      ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ปี พบลูกปัดในหลุมฝังศพพร้อมเครื่องประดับอื่น ๆ ที่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ที่โคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี พบลูกปัดตัว I และตัว H ทำเป็นแผ่นกลมบาง ๆ จากเปลือกหอย และมีการขุดพบลูกปัดหอยแบบเดียวกันที่เขาวงพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี
      ๒,๐๐๐-๓,๕๐๐ ปี พบลูกปัดที่ทำจากหินหลายประเภท รวมถึงลูกปัดแก้วที่ถูกส่งมาจากดินแดนโพ้นทะเลทั้งทางด้านตะวันตกและตะวันออก ในยุคนี้ลูกปัดในประเทศไทยมีความหลากหลาย ถูกส่งมาจากหลาย ๆ ที่ แหล่งโบราณคดีที่น่าสนใจและเป็นที่รู้จักกันดีคือที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี พบลูกปัดที่ทำจากหินคาร์เนเลียนและอาเกต ลูกปัดแก้วเป็นแท่ง ลูกปัดแก้วเป็นแผ่นกลม ๆ เล็ก ๆ สีส้ม และลูกปัดแก้วสีน้ำเงินอมฟ้าอมเขียวซึ่งพบที่บ้านเชียงแห่งเดียวเท่านั้นในโลก นอกจากนี้ยังพบร่องรอยลูกปัดที่ยังทำไม่เสร็จดี ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเคยมีการทำลูกปัดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน 
      ๑,๗๐๐-๒,๓๐๐ ปี พบลูกปัดทองคำ ลูกปัดหินคาร์เนเลียน อาเกต และลูกปัดประเภทอื่น ๆ ที่ทำด้วยแก้ว ฟันเสือ และหอย ในหลุมฝังศพที่โนนอุโลก บริเวณแอ่งโคราช 
      ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ ปี พบลูกปัดหินคาร์เนเลียน อาเกต ลูกปัดแก้ว ที่มาจากดินแดนโพ้นทะเลหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งแบบที่เป็นรูปสิงโตซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากอินเดีย ที่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
(คลิกดูภาพใหญ่)       ในระหว่างปี ๑,๕๐๐-๑,๙๐๐ ที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร เป็นเมืองท่าโบราณที่มีการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าจากทางตะวันตกและตะวันออก พบลูกปัดหินอาเกต ควอตซ์ คาร์เนเลียน เอตช์คาร์เนเลียน ลูกปัดทองคำ และหินที่ยังไม่ได้ทำลูกปัดอีกด้วย
      อีกแหล่งที่สำคัญในยุคนี้คือที่ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ พบลูกปัดแก้วที่เขียนเส้นสีหน้าคน และแผ่นหินคาร์เนเลียนที่มีรูปสลักผู้หญิงแบบศิลปะโรมัน สันนิษฐานว่าถูกส่งเข้ามาจากแถบเมดิเตอร์เรเนียนกับพ่อค้าในสมัยนั้น นอกจากนี้ก็พบลูกปัดแก้วและหินที่มีขั้วสีต่าง ๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะขุดพบที่ฝั่งตะวันออกใกล้เมืองปอนดิเชรีของอินเดียเท่านั้น
      ๑,๐๐๐ กว่าปี มีเมืองท่าเกิดขึ้นในภาคใต้หลายแห่งทางฝั่งตะวันตกของทะเลอันดามัน เช่นที่เกาะคอเขา จังหวัดพังงา ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยที่อำเภอท่าชนะ และแหลมโพธิ์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และที่สทิงพระ จังหวัดสงขลา พบลูกปัดหินที่ทำจากอะแมทีสต์ ลูกปัดแก้วเป็นตา ลูกปัดแก้วหลายสีผสมกัน ลูกปัดแก้วที่มีขั้ว และลูกปัดแก้วแบบเกลียวซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะมาจากจีนอีกด้วย
(คลิกดูภาพใหญ่)       ดินแดนในประเทศไทยนับตั้งแต่จังหวัดสุโขทัย หรือช่วงล่างของภาคเหนือลงมาถึงภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ มีหลักฐานทางศิลปะวัฒนธรรมที่เรียกว่า "ศิลปะวัฒนธรรมทวารวดี" ร่วมกัน หลักฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ลูกปัดหินคาร์เนเลียน อาเกต ควอตซ์ ทองคำ และลูกปัดแก้วที่มีขนาดเล็ก ๆ หลาย ๆ สีแบบที่เรียกว่า ลูกปัดทวารวดี หรือลูกปัดลมสินค้า
      หลังสมัยศิลปะวัฒนธรรมทวารวดีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๑-๑๘ ลูกปัดหินและแก้วแบบที่เคยพบในสมัยทวารวดีและก่อนหน้านั้นได้ค่อย ๆ หายไป สันนิษฐานได้ว่า การค้าลูกปัดระหว่างชุมชนบ้านเมือง ในดินแดนประเทศไทยโบราณกับอินเดียได้ค่อย ๆ ลดลง ซึ่งอาจจะมาจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ขาดช่างฝีมือ ไม่มีผู้ค้าและไม่มีผู้ใช้
      อย่างไรก็ดี การติดต่อค้าขายกับจีนก็ยังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ในช่วงนี้มีสินค้าจากจีนเข้ามาขายในประเทศไทยมากมาย ที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก พบลูกปัดแก้วที่ต่างจากของที่พบในสมัยศิลปะวัฒนธรรมทวารวดี ที่ฝังลงไปพร้อมกับศพ ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าลูกปัดพวกนี้มาจากไหน
      สมัยปัจจุบัน ลูกปัดแก้วและดินเผาจากจีนเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะลูกปัดที่ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ นิยมใช้กัน