|
|
เรื่องและภาพ : โทรุ โยโกตะ (Toru Yokota)
แปลและเรียบเรียง : เพ็ญนภา หงษ์ทอง
|
|
|
|
|
|
|
|
แดดกลางเดือนกันยายนร้อนระอุ อุณหภูมิไม่ต่างจากอากาศในเดือนกรกฎาคมที่ผมมาที่นี่เป็นครั้งแรกในรอบปี การเดินทางครั้งที่ ๒ สู่แผ่นดินอัฟกานิสถานภายหลังการถล่มอย่างหนักจากทหารอเมริกันสิ้นสุดลง
ทำให้ผมมองเห็นความเป็นไปของเมือง
และความเปลี่ยนแปลงของคนได้ชัดเจนขึ้น บาดแผลของสงครามยังเป็นสิ่งที่มองเห็นได้เกือบทั่วทุกมุมของประเทศ เคยมีคนพูดว่ากัมพูชาเป็นแผ่นดินต้องคำสาปที่ไม่เคยร้างจากไฟสงคราม สำหรับผม อัฟกานิสถานก็มีสภาพที่ไม่ต่างกัน
ภาพของเด็กกำพร้าที่ออกมาร่อนเร่ขอทานตามถนน ภาพของนักโทษอดีตทหารตอลิบาน (Toliban) ที่แออัดกันอยู่ในเรือนจำ ภาพของเด็กนักเรียนที่นั่งเรียนหนังสือท่ามกลางซากปรักหักพัง
ทำให้ผมนึกไม่ออกว่าประเทศต้องคำสาปแห่งนี้
จะต้องใช้เวลานานเท่าใดในการสร้างความเป็นชาติขึ้นมาใหม่ ใบปิดภาพยนตร์จากตะวันตกที่พบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่สาธารณะ
และเสียงเพลงตะวันตก ที่ดังกระหึ่มมาจากร้านขายเครื่องเล่นเทป
และซีดีข้างถนน ทำให้ผมไม่กล้าจินตนาการอนาคตของชาติ
ที่กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นใหม่บนแผ่นดินผืนนี้ ดูเหมือนสงครามกับโลกทุนนิยมกำลังก่อเกิดขึ้นพร้อม ๆ ไปกับการสร้างชาติ |
|
|
|
วัตถุประสงค์ของผมในการเดินทางมาอัฟกานิสถานครั้งนี้
ไม่ต่างจากการเดินทางครั้งที่ผ่านมา
ในฐานะช่างภาพอิสระที่ได้รับการติดต่อจากทีมงานโทรทัศน์แห่งหนึ่ง
ในประเทศเกาหลี ให้เป็นผู้บันทึกภาพชีวิตและสังคม
ของชาวอัฟกันในหนึ่งปีภายหลังการถูกโจมตีอย่างหนักจากกองทัพอเมริกัน ผมแบกภารกิจพร้อมอุปกรณ์ทำงานมาเต็มบ่า สำหรับผม
ทุกชีวิตที่เคลื่อนไหวผ่านกล้องโทรทัศน์ และเลนส์ภาพนิ่ง มีเรื่องราวความเจ็บปวดซุกซ่อนอยู่ สิ่งที่ผมทำได้ดีในฐานะช่างภาพ คือบันทึกทุกความเคลื่อนไหวเพื่อถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่ไม่ได้มายืนอยู่ ณ จุดเดียวกับผมในเวลานี้
เมื่อนัดหมายกับทีมงานในประเทศเกาหลีเป็นที่เรียบร้อย การเดินทางของผมก็เริ่มต้นขึ้นด้วยการบินตรงจากกรุงเทพฯ เมืองที่ผมใช้เป็นฐานในการทำงานมานานกว่าสามปี มุ่งสู่กรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของประเทศปากีสถาน เพื่อนบ้านของอัฟกานิสถาน ผมพบเพื่อนร่วมงานของผมที่นี่ สำหรับนักข่าวและช่างภาพต่างชาติที่จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในอัฟกานิสถาน อิสลามาบัดเป็นแหล่งนัดพบที่สำคัญเพราะทุกคนต้องขอวีซ่าที่นี่
เมื่อเอกสารการเดินทางทุกอย่างพร้อม การเดินทางที่แท้จริงก็เริ่มต้นขึ้น เราเลือกที่จะเช่ารถยนต์พร้อมคนขับลัดเลาะตามถนนข้ามชายแดนของทั้งสองประเทศ แทนที่จะซื้อตั๋วเครื่องบินโดยสารที่บินตรงจากอิสลามาบัดไปยังกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน เราใช้เวลาเดินทาง ๗ ชั่วโมงจากอิสลามาบัดไปยังแนวชายแดน และอีก ๕ ชั่วโมงจากชายแดนไปยังกรุงคาบูล
|
|
|
|
ที่ค่ายอพยพตามแนวชายแดน ผมเห็นผู้อพยพชาวอัฟกันจำนวนมากพร้อมด้วยสัมภาระ อยู่ในสภาพพร้อมเดินทาง ไม่ไกลกันมีรถบัสขนาดใหญ่และรถบรรทุกจอดเรียงรายอยู่
ผู้อพยพเหล่านี้กำลังจะเดินทางจากค่ายอพยพในอิสลามาบัด
ซึ่งพวกเขาใช้เป็นที่พักพิงหนีภัยสงครามในบ้านเกิดมาเป็นเวลานับปี เพื่อกลับสู่ประเทศของตนเอง
ผู้อพยพเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนค่าเดินทาง
จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ครอบครัวละ ๑๐๐ เหรียญสหรัฐ ผมได้พบกับผู้อพยพเหล่านี้อีกครั้งในกรุงคาบูล (Kabul) ประมาณว่านับแต่ทหารตอลิบานประกาศวางอาวุธ
มีชาวอัฟกันอพยพกลับจากค่ายผู้อพยพ ทั้งในอิสลามาบัด
และจากพรมแดนอิหร่านเป็นจำนวนนับล้านคน
ตลอด ๑๒ ชั่วโมงของการเดินทาง จุดที่ทำให้ผมวิตกกังวล
และรู้สึกทรมานทางร่างกายที่สุด
เห็นจะเป็นช่วงที่รถวิ่งผ่านช่องแคบไคเบอร์ (Khyber Pass) ตลอดระยะทาง ๕๓
กิโลเมตร บนช่องแคบซึ่งเป็นเส้นทางเดินรถเล็ก ๆ ลัดเลาะไปตามแนวเทือกเขาฮินดูกูช (Hindy Kush) ที่ทอดตัวข้ามพรมแดนทั้งสองประเทศ
แรงกระแทกจากพื้นดินพุ่งตรงเข้าสู่ร่างกาย
แทบทุกจังหวะการเคลื่อนตัวของล้อรถ จนผมรู้สึกได้ถึงการสั่นคลอนของอวัยวะภายใน
ฝุ่นดินที่แห้งแล้งฟุ้งตลบไล่หลังรถเราตลอดเวลา ความแล้งและร้างของบรรยากาศรอบตัวทำให้อากาศที่ร้อนเกิน ๔๐ องศาเซลเซียสอยู่แล้ว ดูเหมือนทวีความร้อนรุนแรงยิ่งขึ้น ตลอดเวลาบนเส้นทาง ๕๓ กิโลเมตร ผมกอดอุปกรณ์กล้องของตนเองแน่น เรื่องราวเกี่ยวกับกองโจรที่ซ่อนตัวอยู่มากมายบนเส้นทางสายนี้ ทำให้ผมไม่กล้าปล่อยมือจากอุปกรณ์ทำกิน ที่มีราคารวมกันแล้วต่ำกว่าราคารถยนต์ที่ผลิตในญี่ปุ่น บ้านเกิดของผม เพียงเล็กน้อย เพื่อนร่วมวิชาชีพหลายคนเอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่เส้นทางสายนี้
เพราะปฏิเสธที่จะหยิบยื่นสิ่งที่มีค่าที่สุดในการทำงานให้แก่กลุ่มกองโจร
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เป็นชาวบ้านยากจน ที่โดนพิษภัยของสงคราม
ทำให้ไม่สามารถหางานสุจริตยังชีพได้ ผมไม่มั่นใจตัวเองเหมือนกันว่า
หากภาวการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นกับผม ผมจะเลือกอะไร ระหว่างกล้องที่เป็นทุกอย่างของชีวิต กับชีวิตจริง ๆ แต่โชคดีที่ไม่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมต้องคิดหนักเกิดขึ้น
การเดินทางข้ามประเทศสิ้นสุดลงที่เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน และงานของเราก็เริ่มต้นขึ้นที่นี่
บทบันทึกจากนี้ไปเป็นการถ่ายทอดเรื่องราว
ที่ผมพบเห็นมาตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือน
ในสี่เมืองหลักของประเทศมุสลิมแห่งนี้
|
|
|
|
เรือนจำเชเบอร์กันแห่งมะซารีชะรีฟ
ปลายทางของขุนศึกตอลิบานและอัลกออิดะห์
|
|
|
|
มะซารีชะรีฟ (Mazar-e-Sharif) เมืองใหญ่ทางภาคเหนือของประเทศ ไม่ใช่เมืองแรกที่เราไปเยือน แต่เรื่องราวที่พบเห็นที่นี่ทำให้ผมต้องกล่าวถึงเป็นอันดับแรก สำหรับผม ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในเมืองนี้เป็นภาพสะท้อนความเป็นจริงของสงครามได้ดียิ่ง เมื่อสงครามสิ้นสุดลงพร้อมด้วยชัยชนะของฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งก็ย่อมเป็นผู้แพ้ มีฐานะเป็นเชลยสงคราม แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะสืบเชื้อสายมาจากเผ่าพันธุ์เดียวกันก็ตาม
ด้วยกำลังทหารและอาวุธของกองทัพอเมริกัน
ที่บุกถล่มฐานที่มั่นของทหารตอลิบานอย่างต่อเนื่องนับจากต้นเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ทำให้รัฐบาลตอลิบานต้องประกาศยอมแพ้ภายในระยะเวลาไม่ถึงสองเดือน
ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจของรัฐบาลตอลิบาน
ที่ปกครองประเทศด้วยหลักศาสนาที่เคร่งครัดจนกลายเป็นความโหดร้ายป่าเถื่อน สำหรับกูนดูซ (Kunduz) ฐานที่มั่นของทหารรัฐบาลตอลิบานและกลุ่มอัลกออิดะห์ (Al-Qaeda) ทางภาคเหนือของมะซารีชะรีฟ มีการประกาศวางอาวุธอย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ นิตยสาร นิวส์วีก ฉบับสุดท้ายของเดือนสิงหาคม ๒๕๔๕ รายงานไว้ว่า หนึ่งวันหลังการประกาศวางอาวุธ ทหารตอลิบานส่วนหนึ่งประมาณ ๔๐๐
คนสามารถหลบหนีการควบคุมตัวของพันธมิตรฝ่ายเหนือ
ที่กลายมาเป็นรัฐบาลของประเทศในปัจจุบันไปได้ ในขณะที่ทหารอีกจำนวนมากถูกต้อนไว้ราวกับ "ฝูงแกะ" และส่วนหนึ่งของ "ฝูงแกะ" ที่ นิวส์วีก อ้างถึง คือกลุ่มคนที่แออัดอยู่ในเรือนจำเชเบอร์กัน (Sheborghan) ที่อยู่เบื้องหน้าผมนี้
|
|
|
|
เชเบอร์กันเป็นหนึ่งในสองเรือนจำขนาดใหญ่ของอัฟกานิสถาน ก่อนหน้านี้เคยใช้เป็นที่คุมขังกองทหารพันธมิตรฝ่ายเหนือที่ถูกจับตัวได้ แต่เมื่อเหตุการณ์กลับตรงกันข้าม คนที่ถูกขังภายในรั้วกำแพงที่สูงถึง ๑๐๐ ฟุตนี้จึงเป็นทหารของตอลิบาน
ปัจจุบันมีอดีตทหารตอลิบาน และสมาชิกกลุ่มอัลกออิดะห์ถูกขังอยู่ประมาณ ๑,๒๐๐ คน ข้อมูลจากนิตยสาร นิวส์วีก ฉบับเดียวกันทำให้ผมทราบว่ามี "แกะ" มากกว่า ๑,๐๐๐ เสียชีวิตระหว่างที่ถูกต้อนมา "รวมฝูง" ยังเรือนจำแห่งนี้ และศพของ "แกะ" เหล่านั้นถูกฝังกลบไว้ใต้พื้นดินในบริเวณที่เรียกว่า Dasht-e Leili
หลังจากวันที่ฐานทัพตอลิบานที่กูนดูซประกาศวางอาวุธ ทุกวันจะมีเชลยสงครามถูกบรรทุกใส่ตู้คอนเทนเนอร์มายังเรือนจำแห่งนี้ แม้ผมจะไม่ได้เห็นภาพเหตุการณ์การขนส่งนักโทษ แต่พาหนะสำหรับเคลื่อนย้ายเชลยสงครามที่ผมเห็นอยู่เบื้องหน้า ทำให้ผมไม่ลังเลใจที่จะเชื่อในข้อมูลของ นิวส์วีก ที่บอกว่าทหารนับพันคนเหล่านั้นเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ
เพราะมันไม่มีอะไรต่างจากคอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้า
ที่ผมเห็นเจนตาบนท้องถนนของกรุงเทพฯ
ชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษในเรือนจำเชเบอร์กันที่ผมเห็นในครั้งนี้
ถือว่าดีกว่าที่ผมเห็นคราวเดินทางมาในเดือนกรกฎาคมหลายเท่า ผมไม่มั่นใจว่าเป็นเพราะการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือขององค์การกาชาดสากล หรือเป็นเพราะการจัดฉากของเจ้าหน้าที่เรือนจำ การตีแผ่เรื่องราวการขนส่ง "ฝูงแกะ" และภาพหลุมศพที่ Dasht-e Leili ของนิตยสาร นิวส์วีก ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในเรือนจำแห่งนี้สองประการ คือ ทหารพันธมิตรฝ่ายเหนือที่เป็นผู้ปกครองประเทศในปัจจุบัน ยอมให้องค์การกาชาดสากลเข้ามาดูแลยกระดับความเป็นอยู่ของนักโทษในเรือนจำได้ และอีกประการหนึ่งคือ
ทางเรือนจำประกาศห้ามทุกคน แม้แต่สมาชิกในครอบครัวของนักโทษเข้าเยี่ยม นัยว่าเพื่อป้องกันข้อมูลภายในเรือนจำรั่วไหลออกสู่สังคมภายนอก
|
|
|
|
สำหรับผมและเพื่อนร่วมงาน
ภายหลังติดต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล
และแจ้งความประสงค์ในการทำสารคดี เรื่องราวของเชเบอร์กัน เราก็ได้รับอนุญาตในเวลาไม่นาน
เมื่อเดินทางมาถึงเรือนจำ
เราก็พบว่ามีนักโทษชั้นดีสามคนถูกจัดเตรียมไว้สำหรับเป็นผู้นำทาง
แน่นอนว่าการสำรวจเชเบอร์กันในครั้งนี้ เราไม่สามารถทำได้ทุกซอกทุกมุม
เหมือนที่ผมเคยทำในการเดินทางมาเยือน เมื่อสองเดือนก่อนหน้า
จากความช่วยเหลือขององค์การกาชาดสากล ทำให้วันนี้นักโทษทุกคนมีอาหารกินวันละสองมื้อ พร้อมน้ำสะอาดสำหรับดื่ม ภาพของนักโทษที่ถือชามข้าวเบียดเสียดยื้อแย่งอาหารที่มีปริมาณไม่พอ หรือภาพนักโทษที่ต้องกินเหงื่อต่างน้ำอย่างที่ผมเคยเห็น ไม่ปรากฏอีกในการสำรวจเชเบอร์กันครั้งนี้
อย่างไรก็ดีมีนักโทษบางส่วนบอกผมว่า พวกเขาอยากได้วิตามินเสริมบ้าง
เพราะอาหารสองมื้อที่พวกเขาได้รับในแต่ละวัน
มีเพียงข้าวต้มและซุปมันฝรั่งเท่านั้น
ด้วยอุณหภูมิที่สูงกว่า ๔๐ องศาเซลเซียสในตอนกลางวัน
นักโทษบางคนจึงเลือกที่จะออกมานั่งนอกบริเวณอาคาร
เพื่อให้สองขาได้สัมผัสผืนดินบ้าง ขณะที่ส่วนใหญ่เลือกที่จะปูผ้านอนพักอยู่ตามระเบียงทางเดินระหว่างห้องนอน ภายในตัวอาคารที่เป็นพื้นที่คุมขังถูกแบ่งซอยเป็นห้องเล็ก ๆ ขนาดประมาณ ๓x๔ เมตรจำนวนมากมาย ห้องเล็ก ๆ เหล่านี้เป็นที่นอนของนักโทษในเวลากลางคืน โดยแต่ละห้องจะมีนักโทษแออัดอยู่ไม่ต่ำกว่า ๑๐ คน ตลอดเวลาที่ผมย่ำเท้าไปในตัวอาคาร ผมมองเห็นแมลงตัวเล็ก ๆ เดินอยู่ตามพื้นเต็มไปหมด และเมื่อเห็นท่าทางของเหล่านักโทษ
ผมก็ตระหนักดีว่าแมลงเหล่านี้ก่อความรำคาญ
และทรมานให้พวกเขามากเพียงใด เมื่อเข้ามาอยู่ที่นี่
นักโทษทุกคนจะได้รับแจกผ้าคนละหนึ่งผืน สำหรับใช้ปูนอนในตอนกลางวัน
และห่มในตอนกลางคืน ส่วนหมอนจะได้รับเพียงบางคนเท่านั้น เพราะทางเรือนจำมีหมอนไม่พอสำหรับทุกคน
กิจกรรมของนักโทษซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เคร่งครัดศาสนา
คือการอ่านคัมภีร์คำสอนทางศาสนา และจับกลุ่มพูดคุยกัน พวกเขาไม่มีกิจกรรมอื่นใดให้ทำมากไปกว่านี้ และก็ไม่รู้ว่าชีวิตภายในเรือนจำจะยาวนานไปถึงเมื่อไร พวกเขาเพียงแค่ใช้ชีวิตให้หมดไปวัน ๆ หนึ่งเท่านั้น หน้าตาที่ซูบเซียวดูไร้เรี่ยวแรงของนักโทษแห่งเชเบอร์กัน ทำให้ผมยากที่จะเชื่อว่าเมื่อ ๑๐ เดือนก่อนหน้า
คนกลุ่มนี้เคยจับปืนในฐานะนักรบของรัฐบาลตอลิบาน
และขบวนการอัลกออิดะห์ ร่องรอยของนักรบถูกกลบด้วยคราบเคราของนักโทษจนหมดสิ้น
|
|
|
|
ผมจากเชเบอร์กันมาด้วยใจที่ไม่เป็นสุขนัก
ไม่มั่นใจว่าเมื่อถ้อยคำและภาพถ่ายที่บันทึกเรื่องราว
ของเรือนจำแห่งนี้ถูกเผยแพร่ออกไปอีกครั้ง อะไรจะเกิดขึ้นกับทั้ง ๑,๒๐๐ ชีวิตที่อยู่ที่นี่
นอกเหนือจากเชเบอร์กันแล้ว
ผมมีโอกาสได้ไปเยือนมัสยิดแห่งหนึ่ง
ที่ว่ากันว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในมะซารีชะรีฟ นกพิราบสีขาว สัญลักษณ์แห่งสันติภาพที่เกาะอยู่โดยรอบมัสยิด ทำให้ผมนึกถึงชีวิตที่อิสรภาพถูกตีกรอบอยู่ภายในกำแพงสูง ๑๐๐ ฟุตของเชเบอร์กัน
ทุกวันจะมีประชาชนมากมาย
มาละหมาดและสวดมนต์ประจำวันที่มัสยิดนี้ สำหรับผู้หญิง
วันเวลาในการประกอบพิธีกรรมในมัสยิดแห่งนี้ มีขึ้นได้เฉพาะในวันพุธ
ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นวันของผู้หญิงเท่านั้น ส่วนวันอื่น ๆ พวกเธอเป็นบุคคลต้องห้าม ภายในมัสยิดนอกจากจะมีประชาชนมาประกอบศาสนกิจแล้ว
ยังมีเด็กกำพร้าที่สูญเสียพ่อแม่ไประหว่างสงคราม
มาจับกลุ่มขอทานจากคนที่มาสวดมนต์ด้วย สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศนับแต่ทศวรรษ ๑๙๗๐ เรื่อยมาจนถึงสงครามกับกองทัพอเมริกัน ทำให้เด็กกำพร้าไร้บ้านที่ต้องออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่บนถนน ไม่เฉพาะในมะซารีชะรีฟแต่ทั่วทั้งประเทศ ทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยไม่มีใครทราบจำนวนที่แน่นอน ของเด็กที่ฝากชีวิตไว้กับเศษสตางค์
ของคนที่มาประกอบศาสนกิจตามมัสยิด
|
|
|
|
คาบูล ศูนย์กลางแห่งจังหวะชีวิต
|
|
|
|
ในฐานะที่เป็นเมืองหลวง และเป็นเมืองใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ คาบูลมีเรื่องราวมากมายซ่อนเร้นและเปิดเผย สำหรับผม คาบูลเป็นเมืองแห่งสีสันของชีวิต
ทั้งสีสันที่สดใสและหมองหม่นสลับทับซ้อนกันอยู่ในเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเป้าหมายหลัก
ในการถล่มของกองทัพอเมริกัน
บนท้องถนนที่อึกทึกครึกโครมไปด้วยเสียงเพลงสากลจากร้านขายเทปและซีดีข้างถนน มีภาพของรถถังคันใหญ่เคลื่อนตัวผ่านให้เห็นเป็นระยะ ๆ เด็กกลุ่มใหญ่ยืนอออยู่หน้าร้านขายของที่เต็มไปด้วยสินค้าจากอเมริกา โคคา-โคล่า ช็อกโกแลต อุปกรณ์ยังชีพของทหาร มองปราดเดียวผมก็รู้ว่าสินค้าที่วางขายล่อตาล่อใจเด็ก ๆ อยู่นี้เป็นสินค้าที่ทหารอเมริกันนำติดตัวมา ภาพที่อยู่เบื้องหน้าผม ทำให้ผมต้องถามตัวเองหลายครั้งว่า
ผมยืนอยู่ที่เมืองหลวงของประเทศในตะวันออกกลาง
ที่คุกรุ่นด้วยไฟสงครามกลางเมืองมาตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๗๐ จริงหรือ เสียงตะโกนภาษาอังกฤษแปร่ง ๆ ของเจ้าหนูอัฟกันที่ร้องขอช็อกโกแลตจากทหารอเมริกันทำให้ผมยืนอมยิ้มอยู่พักใหญ่ อย่างน้อยนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นเด็ก ๆ ที่นี่พูดภาษาอังกฤษ
ก่อนเดินทางมายังอัฟกานิสถานในครั้งนี้ ผมคิดว่าบ้านเมืองจะเข้าสู่ความสงบแล้ว จนเมื่อมาถึงที่คาบูลผมจึงได้รู้ว่าผมคิดผิด เพราะวันหนึ่งขณะที่กำลังเดินอยู่บนถนน ไกลออกไปเบื้องหน้าก็เห็นผู้คนวิ่งกันอลหม่าน พอเดินเข้าไปใกล้ ๆ ก็พบว่ามีเศษกระจกแตกกระจายอยู่เกลื่อนพื้นกับเลือดที่ไหลนอง ทำให้ผมรู้ว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ชาวบ้านเล่าว่าเมื่อประมาณหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านมามีเหตุระเบิดเกิดขึ้น โดยดังมาจากรถที่จอดอยู่หน้าอาคารที่ผมยืนอยู่ในเวลานี้ ผมไม่เห็นผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ชาวบ้านบอกว่ามีคนประมาณ ๓๐ คนที่ได้รับบาดเจ็บ และถูกลำเลียงไปยังโรงพยาบาลแล้ว พวกเขายังบอกอีกด้วยว่า เหตุระเบิดเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งแม้จะผ่านช่วงสงครามมาแล้วก็ตาม
|
|
|
|
ด้วยความที่คาบูลเป็นเมืองใหญ่ เราจึงใช้เวลาที่เมืองนี้นานที่สุด สิ่งแรกที่เราทำเมื่อมาถึงคือหาที่พัก เราได้ที่พักเป็นเกสต์เฮาส์เล็ก ๆ ที่ราคาไม่เล็กตามขนาด ๔๐ เหรียญอเมริกันคือราคาค่าห้องต่อคืน
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมไม่ต้องนอนพัก ในโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล โรงแรมที่ดีที่สุดในกรุงคาบูล เพราะเมื่อครั้งที่ตอลิบานยังเรืองอำนาจ คนต่างชาติทุกคนที่เข้ามายังคาบูลจะต้องเข้าพักยังโรงแรมแห่งนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมติดตามของรัฐบาล
ช่วงแรกของการบันทึกเรื่องราวในเมืองคาบูล เราใช้เวลาโดยการเดินสำรวจเมืองไปเรื่อย ๆ ตลาดเช้าคึกคักไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายซื้อหาของกินและเสื้อผ้าเครื่องใช้ สิ่งที่แปลกตาผมมากอย่างหนึ่งคือ มีเสื้อชั้นในของผู้หญิงวางขายอย่างเปิดเผยด้วย การสิ้นสุดของรัฐบาลตอลิบานถือเป็นการปลดแอกผู้หญิงอัฟกัน
ผมได้เห็นภาพหลายอย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น
บนแผ่นดินที่ผู้หญิงถูกกำหนดให้เป็นประหนึ่ง
พลเมืองชั้นสองมาไม่ต่ำกว่าห้าปี ตามระยะเวลาการปกครองประเทศของตอลิบาน
ในร้านไอศกรีม
หญิงสาวสองคนในชุดเครื่องแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม
นั่งพูดคุยหยอกล้อกันอย่างมีความสุข เพียงแต่ทุกครั้งที่จะลิ้มรสไอศกรีมโคนในมือ เธอต้องใช้มืออีกข้างเลิกชายผ้าที่คลุมถึงคางขึ้นเพื่อเอาไอศกรีมเข้าปาก ผมไม่อาจหาญที่จะวิพากษ์วิจารณ์หลักคำสอนของศาสนา แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า หากไม่มีผ้าคลุมหน้ามิดชิดขนาดนี้ รสชาติไอศกรีมในมือเธอคงจะอร่อยขึ้น
|
|
|
|
การถล่มอย่างหนักของอเมริกาและพันธมิตรฝ่ายเหนือ ทำให้หลายส่วนของคาบูลมีสภาพไม่ต่างจากซากเมือง ผมเดินไปยังพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียน แม้วันนี้จะกลายสภาพจากอาคารที่สมบูรณ์เป็นซากตึก
แต่มันก็ยังคงทำหน้าที่ในฐานะแหล่งความรู้ ให้แก่ชาวคาบูลอยู่ นักเรียนนั่งเรียนหนังสือกันบนพื้น ไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ มีเพียงแผ่นไม้ขนาดเล็กที่รับบทเป็นกระดานดำวางอยู่หน้าชั้นเรียน โรงเรียนบางแห่งโชคดี โต๊ะ เก้าอี้ไม่ได้ถูกทำลายในระหว่างสงคราม แต่ก็มีจำนวนไม่พอสำหรับนักเรียน ดังที่ทราบกันดีว่าในช่วงที่ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลตอลิบาน
ผู้หญิงจะถูกกำหนดบทบาทให้เป็นเพียงแม่และเมีย
ซึ่งต้องขังตัวเองอยู่ภายในบ้านเท่านั้น โรงเรียนไม่ได้เป็นสถานที่สำหรับเธอ เมื่อสิ้นยุคแห่งการกดขี่ ผู้หญิงจึงมีโอกาสเดินเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง
และนั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมผมจึงเห็นหญิงสาวหลายคน
ร่วมชั้นเรียนกับเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ ในห้องเรียนระดับประถมศึกษา ระบบโรงเรียนในอัฟกานิสถานจะไม่มีการเรียนรวมหญิงชาย โรงเรียนจะแบ่งเป็นโรงเรียนชายล้วนและหญิงล้วน
แม้จะมีเศษซากของสงครามตกค้างให้เห็นอยู่ทั่วไป
แต่พื้นที่ย่านธุรกิจของคาบูล
ก็มีชีวิตชีวาและมีกลิ่นอายของความเป็นเมือง ในนิยามแบบตะวันตก ท้องถนนในย่านตัวเมืองของคาบูลดูคึกคักกว่าคราวก่อนที่ผมมาเยือน รถยนต์วิ่งขวักไขว่ หลังสงครามยุติและมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศมาที่นี่มาก
ส่วนใหญ่เป็นรถขององค์การสหประชาชาติ และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน
ที่เข้ามาร่วมมือกันทำงานฟื้นฟูเมืองและสังคมให้คาบูล
|
|
|
|
ตึกรามที่รอดพ้นจากภัยสงครามหลายแห่ง
ถูกปรับแต่งเป็นสถานเสริมความงามสำหรับสุภาพสตรี
ผมมีโอกาสแวะเข้าไปที่ร้านเสริมสวยแห่งหนึ่ง
ในเวลาเดียวกับที่สาวคนหนึ่งกำลังนั่งให้ช่างแต่งหน้าอยู่ มีคนบอกผมว่าเธอกำลังจะเป็นเจ้าสาวในเย็นวันนั้น ด้านนอกร้านมีหญิงสาวหลายคนยืนมุงดูเธออยู่
หากร้านเสริมสวยจะเป็นพื้นที่ของหญิงสาว โรงภาพยนตร์ก็น่าจะเป็นที่รวมตัวกันของผู้ชายคาบูล
ตลอดยุคของตอลิบาน มหรสพนับเป็นสิ่งต้องห้ามของชาวอัฟกัน วันนี้เมื่อเสรีภาพไม่ได้ถูกจองจำ ภาพยนตร์จึงกลับมาได้รับความนิยมอย่างสูง ในขณะที่เดินผ่านไปหน้าโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่กลางเมือง ผมเห็นคนจำนวนมากยืนอออยู่หน้าโรงเพื่อรอเวลาหนังฉาย การห้ามชมมหรสพในยุคของรัฐบาลตอลิบาน ทำให้วงการภาพยนตร์ของอัฟกานิสถานถูกจองจำไปด้วย ในวันนี้พวกเขาไม่มีภาพยนตร์ที่ผลิตเองมาฉาย หนังส่วนใหญ่จะนำมาจากอินเดีย หรือไม่ก็เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด ผมเห็นรูปของแจ็กและโรสจาก ไททานิก ประดับอยู่ตามร้านอาหารและทางเดินในที่สาธารณะหลายแห่ง ผมได้คุยกับหนุ่มที่เป็นช่างตัดต่อภาพยนตร์คนหนึ่ง เขาบอกกับผมว่าอยากยกระดับโรงภาพยนตร์ในคาบูลให้ดียิ่งขึ้น อย่างน้อยก็เป็นการสานต่อความฝันของพ่อเขาที่เป็นอดีตคนฉายหนัง และต้องเสียชีวิตด้วยกระสุนปืนจากสงครามที่หน้าโรงภาพยนตร์ที่ตนเองทำงานอยู่
กว่าสองสัปดาห์ในกรุงคาบูล ผมมีโอกาสไปเยือนสถานที่หลายแห่ง
ที่ผมตั้งใจว่าจะต้องไปให้ได้ ขณะเดียวกันผมก็ได้ไปเยือนสถานที่บางแห่งที่ผมไม่อยากไปด้วย
|
|
|
|
จากสภาพอากาศที่ร้อนรุนแรงในตอนกลางวัน และหนาวถึงกระดูกในตอนกลางคืน ประกอบกับอาหารที่ไปกันไม่ค่อยได้กับระบบการย่อยของผม ทำให้ผมต้องระเห็จเข้าไปนอนในโรงพยาบาลคาบูลหนึ่งคืน แม้ผมไม่เต็มใจที่จะมาที่นี่ในครั้งแรก แต่เมื่อได้รับอนุญาตจากคุณหมอให้กลับบ้านได้
ผมกลับต้องรีบกลับมาที่โรงพยาบาลแห่งนี้อีกครั้ง
พร้อมด้วยอุปกรณ์ในการทำงาน โดยมีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
จากการเหยียบกับระเบิดแห่งโรงพยาบาลคาบูล เป็นเป้าหมาย
ศูนย์ฟื้นฟูแห่งนี้มีภาระหน้าที่หลักคือ
ผลิตขาเทียมสำหรับผู้ที่สูญเสียขา จากการเหยียบกับระเบิด
ที่ถูกฝังไว้มากมาย และการฝึกให้ผู้ใช้ขาเทียมเหล่านี้เดินได้คล่องตัว
โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การกาชาดสากล ให้ผลิตขาเทียมให้แก่ผู้ป่วย เบื้องหน้าผมมีคนทุกเพศทุกวัยรวมกันอยู่ที่ศูนย์แห่งนี้ บ้างอยู่ระหว่างการพักฟื้นรอแผลแห้ง บ้างอยู่ระหว่างการรอขาเทียม บ้างอยู่ในช่วงของการหัดเดิน
เด็กน้อยวัยไม่เกินเจ็ดขวบคนหนึ่ง
ร้องไห้จ้าเมื่อเจ้าหน้าที่พยายามใส่ขาเทียมให้
พื้นที่รอบ ๆ กรุงคาบูลเป็นแหล่งรวมของกับระเบิดใต้ดิน
เหยื่อส่วนใหญ่ของกับระเบิดเหล่านี้
เป็นเกษตรกรที่พาแกะไปเลี้ยงตามที่ว่างชานเมือง
ภัยจากกับระเบิดเป็นควันหลงของสงคราม
ที่คุกคามชีวิตพลเรือนอัฟกันอยู่ตลอดเวลา องค์กรเอกชนระหว่างประเทศชื่อ Halo Trust กำลังพยายามอย่างเต็มที่ในการกู้กับระเบิดให้ได้มากที่สุด โดยมีสุนัขที่ผ่านการฝึกมาอย่างดีเป็นผู้ช่วย
ระหว่างเดินทางออกนอกเมืองเพื่อดูการกู้กับระเบิด
ผมได้เห็นเด็กจำนวนมาก ต้องกลายเป็นผู้ใช้แรงงาน องค์กร Save the Children ของอเมริกาที่มาเปิดสำนักงานในกรุงคาบูลรายงานว่า ปัจจุบันมีเด็กไม่ต่ำกว่า ๕
หมื่นคน ที่ต้องออกมาทำงานบนท้องถนนของกรุงคาบูล
ที่เชิงเขาชานเมือง เด็กอายุประมาณ ๗-๑๐ ขวบกลุ่มหนึ่งกำลังเดินเรียงหนึ่งขึ้นไปบนยอดเขา
และหายไปพักใหญ่ ก่อนจะกลับมาพร้อมด้วยก้อนน้ำแข็งบนบ่า ถึงแม้ช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงฤดูร้อน แต่ภูเขาบางแห่งก็ยังคงปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ผมบรรยายความรู้สึกตัวเองไม่ถูก
เมื่อทราบภายหลังว่า เด็กกลุ่มนั้นรับจ้างร้านอาหารแห่งหนึ่ง
ในกรุงคาบูลให้มาขนน้ำแข็ง เพื่อไปทำไอศกรีม ด้วยค่าแรงน้อยกว่าวันละ ๑ เหรียญสหรัฐ
|
|
|
|
ภาพความรันทดในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพฯ และการใช้แรงงานเด็ก
ทำให้ผมและเพื่อนร่วมงาน
ตกลงกันว่าเราควรเดินทางไปหาสีสันที่สดใสของคาบูลกันบ้าง
สำนักงานกองบรรณาธิการนิตยสารผู้หญิงฉบับแรกและฉบับเดียว
ของอัฟกานิสถานเป็นเป้าหมายของเรา นิตยสารเล่มนี้มีชื่อที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Day หรือกลางวัน บรรณาธิการสาววัย ๓๒ ปี ผู้มีอดีตเป็นผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ บอกกับเราว่า สำหรับชาวอัฟกัน
ช่วงเวลาภายใต้การปกครองของตอลิบาน เปรียบเหมือนกลางคืนที่ยาวนาน เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองจากการยอมแพ้ของตอลิบาน ทำให้ชาวอัฟกันได้สัมผัสกับกลางวันอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับผม สำนักงานที่มีลักษณะเป็น Home Office ของนิตยสารแห่งนี้จัดเป็นพื้นที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของเมืองคาบูล
ซึ่งแน่นอนว่ามันยังเทียบไม่ได้กับความทันสมัย
ของสำนักงานนิตยสารที่ใดในโลก คอมพิวเตอร์สามเครื่อง
และโต๊ะตัวใหญ่สำหรับประชุมกองบรรณาธิการที่มีกันอยู่ ๑๐ คน เป็นอุปกรณ์การทำงานที่สำคัญ
ด้วยการสนับสนุนทางการเงิน และคำแนะนำในการทำนิตยสารจาก Elle นิตยสารแฟชั่นชั้นนำระดับโลก
ทำให้หนังสือผู้หญิงรายเดือนฉบับแรก และฉบับเดียวของประเทศ
มีรูปร่างหน้าตาไม่ต่างจาก Elle เท่าใดนัก ปัจจุบันนิตยสารเล่มนี้มียอดพิมพ์ประมาณ ๕,๐๐๐ เล่ม และวางขายเฉพาะในกรุงคาบูลเท่านั้น
การเดินทางมายังคาบูลในเดือนกันยายน ทำให้ผมมีโอกาสเข้าร่วมงานรำลึกการจากไปของนายพลมาซูด (General Ahmed Shah Masood) อดีตผู้นำกองทหารพันธมิตรฝ่ายเหนือ วันที่ ๙ เดือนเดียวกันของปีที่แล้ว
นายพลมาซูดถูกลอบสังหาร จากกลุ่มคนที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นทหารตอลิบาน
ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ถล่มตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์
ในนิวยอร์กเพียงไม่กี่วัน มาซูดเป็นกำลังสำคัญของพันธมิตรฝ่ายเหนือ
ในการต่อสู้เพื่อปลดแอกประเทศ จากการกดขี่ของตอลิบาน เขาเป็นวีรบุรุษในใจของชาวอัฟกันทั่วประเทศ แม้จะเสียชีวิตไปแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ตามบ้านเรือนของชาวอัฟกันก็ยังคงมีรูปเขาประดับอยู่
|
|
|
|
งานรำลึกหนึ่งปีแห่งการจากไปของนายพลมาซูด
จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่สนามกีฬากลางเมืองโดยรัฐบาล ประชาชนนับหมื่นมารวมงานที่อาจจะถือว่าใหญ่ที่สุดนับจากตอลิบานถูกโค่นล้ม
ภาพของนายพลมาซูดขนาดใหญ่ ประดับอยู่รอบสนามกีฬากลางแจ้ง
และอีกจำนวนไม่น้อย ชูอยู่ในมือของประชาชนที่มาร่วมงาน สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจที่สุดในงานรำลึกนี้ ไม่ใช่การเดินขบวนของกองทหารเกียรติยศ หรือเครื่องบินจากกองทัพที่บินฉวัดเฉวียนอยู่เหนือศีรษะ แต่เป็นขบวนจักรยานของชาวเมืองที่ศรัทธาในตัวมาซูด
ขบวนจักรยานประมาณ ๓๐ คันประดับด้วยธงหลากสี เคลื่อนตัวจากกรุงคาบูลในเวลาไล่เลี่ยกับแสงแรกของพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า มุ่งหน้าสู่หุบเขา Panjshir บ้านเกิดของมาซูด
และฐานที่มั่นทางทหารที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่ง
ของกองทัพพันธมิตรฝ่ายเหนือ เด็กหนุ่มที่ร่วมขบวนบอกว่า พวกเขาต้องใช้เวลาปั่นจักรยานประมาณ ๑๐ ชั่วโมงจึงจะถึงที่หมาย
วัตถุประสงค์ที่ทำให้พวกเขาอุทิศเวลา
ปั่นจักรยานลัดเลาะไปตามหุบเขาที่ร้อนและแล้ง
ก็เพื่อไปสวดมนต์แสดงความเคารพ
และขอพรพระเจ้าให้ปกป้องดวงวิญญาณของมาซูด นายทหารที่อุทิศตน
เพื่ออิสรภาพและเสรีภาพของอัฟกานิสถาน
|
|
|
|
กันดะฮาร์และจะลาลาบาด
จากฐานที่มั่นสู่สุสานอัลกออิดะห์
|
|
|
|
กันดะฮาร์ (Kandahar) และจะลาลาบาด (Jalalabad) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศ ไม่ไกลจากแนวชายแดนที่แยกอัฟกานิสถานออกจากปากีสถาน กันดะฮาร์เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ
และเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของตอลิบานที่ถูกตีแตก
จากการผนึกกำลังกันของทหารอเมริกันกับพันธมิตรฝ่ายเหนือ ผมเลือกบันทึกเรื่องราวของสองเมืองนี้ควบคู่กันไป ไม่เพียงเป็นเพราะทั้งสองเมืองมีอาณาเขตติดต่อกัน แต่ยังเป็นเพราะเห็นว่าทั้งสองเมืองมีเรื่องราวที่ไม่แตกต่างกัน เป็นเรื่องของความเศร้าและความตาย
สิ่งแรกที่ผมเห็นในการเดินทางระหว่างสองเมืองนี้ คือซากรถถังที่ถูกทิ้งเรียงรายตามถนนและที่ว่างเปล่า ครั้งหนึ่งรถถังเหล่านี้เคยเป็นอาวุธสงครามที่ทรงประสิทธิภาพ บัดนี้มันกลายสภาพเป็นของเล่นให้บรรดาเด็กชายชาวอัฟกันปีนป่ายกันอย่างสนุกสนาน เด็กบางคนยืนยิ้มโพสต์ท่าให้ผมถ่ายรูปคู่กับอนุสรณ์ของสงครามอย่างภูมิใจ รถถังบางคันมีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นของตกค้างจากอดีตสหภาพโซเวียต รัสเซีย สมัยที่ทำสงครามกลางเมืองกับอัฟกานิสถานในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐
ดังที่ผมเกริ่นไว้แต่แรกว่า สำหรับผม อัฟกานิสถานเป็นดินแดนต้องคำสาปของสงคราม
สงครามระหว่างอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย
กับชาวพื้นเมืองของอัฟกานิสถานเปิดฉากขึ้นช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐
ตอนนั้นโซเวียตรัสเซียต้องการขยายอาณาเขตลัทธิคอมมิวนิสต์
และต้องการครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน ขณะที่สหรัฐฯ เองก็เกรงว่าลัทธิคอมมิวนิสต์จะขยายตัว สหรัฐอเมริกาในวันนั้นจึงให้การสนับสนุนทั้งทางด้านอาวุธ กำลังเงิน และการฝึกทหารให้แก่อัฟกานิสถาน จากนั้นกองโจรมูจาฮีดีนที่ขึ้นชื่อก็เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลอเมริกัน
และภายหลังกองโจรมูจาฮีดีนก็ได้กลายมาเป็นกลุ่มอัลกออิดะห์
ที่รัฐบาลอเมริกาในวันนี้พยายามกวาดล้าง
ในข้อหาเป็นผู้ก่อการร้ายของโลก
|
|
|
|
นับจากสงครามกับอดีตสหภาพโซเวียตเป็นต้นมา อัฟกานิสถานก็ต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองมาโดยตลอด แม้กระทั่งเมื่อรัฐบาลตอลิบานเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศในช่วงกลางทศวรรษ ๑๙๙๐ ควันไฟของสงครามก็ยังไม่จางหาย เพิ่งจะมีช่วงเวลา ๑๐ เดือนหลังจากตอลิบานประกาศวางอาวุธนี่เอง ที่ดูเหมือนความร้อนแรงของสงครามจะทุเลาลง
บริเวณเทือกเขาสลับซ้อนซ้อนระหว่างทั้งสองเมือง เป็นที่ตั้งของโตรา โบลา (Tora Bola) เทือกเขาที่เต็มไปด้วยถ้ำเล็กถ้ำน้อยภายใน
วันนี้ถ้ำที่ซ่อนอยู่ตามหลืบเขาเหล่านั้น
ถูกเปิดจนพรุนด้วยกำลังอาวุธของอเมริกา และพันธมิตรฝ่ายเหนือ ด้วยความเชื่อว่าน่าจะเป็นที่ซ่อนตัวของ อุซามะห์ บิน ลาดิน (Usama bin ladin) ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ ที่อเมริกาเชื่อว่าเป็นผู้ก่อเหตุโศกนาฏกรรมช็อกโลกในวันที่ ๑๑ กันยายน
บริเวณที่ราบแห่งหนึ่งในโตรา โบลา เป็นที่ตั้งของหลุมศพขนาดใหญ่
ชาวบ้านบอกว่าซากศพที่ถูกฝังอยู่ในหลุมนั้น
เป็นอดีตทหารของตอลิบานและอัลกออิดะห์
ที่เสียชีวิตในระหว่างสงครามครั้งล่าสุด ทหารตอลิบานที่รอดชีวิตได้
นำศพของเพื่อนร่วมกองทัพมาฝังรวมกันไว้ รอบ ๆ หลุมศพมีธงผ้าหลากสีประดับอยู่
ผมได้เห็นหลุมศพในลักษณะเดียวกันนี้อีกหนึ่งหลุม ที่ชานเมืองกันดะฮาร์
สภาพในเมืองกันดะฮาร์ไม่ต่างจากเมืองอื่นที่ผมพบมา
ซากปรักหักพังของตึก ยังคงเป็นฉากที่สำคัญของเมือง ผมหยุดยืนอยู่หน้าซากอาคารสีขาวหลังหนึ่ง คนที่นี่บอกผมว่าครั้งหนึ่งมันเคยเป็นบ้านพักของ มุลลาห์ โมฮัมมัด โอมาร์ (Mullah Mohammad Omar) ผู้นำตอลิบาน
|
|
|
|
ขณะเดินอยู่บนถนน ผมมองเห็นคนมุงอะไรบางอย่างอยู่จึงเดินเข้าไปร่วมมุงกับเขาบ้าง ที่เห็นอยู่เบื้องหน้า เป็นกล่องสี่เหลี่ยมขนาดความสูงระดับสายตา มีเด็กหนุ่มนั่งอยู่บนเก้าอี้ทางด้านหนึ่งของกล่อง อีกด้านมีชายหนุ่มอีกคนหนึ่งยืนอยู่ ด้วยสัญชาตญาณผมรู้ได้ทันทีว่ากล่องไม้สี่เหลี่ยมนั้นคือกล้องถ่ายภาพ แม้จะเป็นช่างภาพมืออาชีพที่นิยมอุปกรณ์ทันสมัย
แต่ผมก็อดทึ่งในความเก่าแก่คลาสสิก ของกล้องโบราณตรงหน้าผมไม่ได้ ภาพที่ได้ออกมาจากกล้องนั้นจะเป็นภาพหน้าตรงสำหรับติดบัตร กล้องรุ่นคลาสสิกนี้ถ่ายภาพติดบัตรได้ครั้งละหนึ่งภาพ หากต้องการมากกว่านี้ก็ต้องถ่ายใหม่ ในช่วงระหว่างการฟื้นฟูเมือง
การเปิดรับถ่ายภาพติดบัตร
เป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้แก่คนท้องถิ่นที่มีกล้องมาก
เพราะแต่ละวันจะมีคนจำนวนมาก
มาถ่ายภาพเพื่อใช้สมัครงานในองค์กรของต่างชาติ หน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชนที่เริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศ
ผมแวะไปดูร่องรอยของสงครามที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ที่ที่ทำให้ผมต้องเดินออกมาด้วยความรันทดใจ ในห้องพักฟื้นผู้ป่วยห้องหนึ่ง ผมเห็นเด็กชายอายุไม่น่าจะเกิน ๑๒ ขวบกำลังยืนเฝ้าไข้น้องชายที่ขาหัก เด็กชายเล่าผ่านล่ามให้ผมฟังว่า
น้องชายของเขาเป็นหนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายจำนวนหลายร้อยคน
ที่ได้รับบาดเจ็บ จากการทิ้งระเบิดผิดเป้าหมายของเครื่องบินอเมริกัน
วันหนึ่งขณะที่น้องชายพร้อมด้วยสมาชิกในครอบครัว
ไปร่วมงานแต่งงานที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนใต้ ระเบิดก็หล่นลงมากลางงาน ทำให้มีคนมากกว่า ๔๐ คนต้องเสียชีวิต
โชคดีที่เขาไม่ต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัว
ไปด้วยความสะเพร่าทางการทหารของมหาอำนาจ มีเพียงน้องชายของเขาเท่านั้นที่ต้องรับเคราะห์ ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้เคราะห์ร้ายรายอื่นจากเหตุการณ์เดียวกันแล้ว ก็ยังถือว่าโชคดีมาก
|
|
|
|
ที่จะลาลาบาด แม้จะไม่มีซากรถถังทิ้งไว้เป็นของเล่นให้เด็กมากเท่าที่กันดะฮาร์
แต่ที่นี่เด็กวัยรุ่นยังคงใช้ชีวิต
วนเวียนอยู่กับอาวุธที่ใช้ประหัตประหารกัน จะลาลาบาดมีร้านขายปืนเปิดใหม่เป็นจำนวนมาก
ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมรัฐบาลอัฟกัน
จึงยอมให้ประชาชนครอบครองอาวุธปืนได้ง่าย ๆ ใครมีเงินก็สามารถมีปืนได้
ผมเห็นเด็กวัยรุ่นหลายคนใช้ชีวิตในตอนกลางวัน
ให้หมดไปด้วยการเดินดูร้านขายปืน ซึ่งแต่ละร้านจะมีคนมุงดูอยู่เป็นจำนวนมาก
ก่อนออกจากจะลาลาบาด ผมและทีมงานมีโอกาสแวะไปที่บ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัด
ที่นี่ผมเห็นเด็กวัยรุ่นนั่งเล่นปืน
ราวกับมันเป็นของที่ผลิตมาเพื่อเป็นของเล่นสำหรับเขา เด็ก ๆ
เหล่านั้นเป็นลูกหลานของอดีตทหารพันธมิตรฝ่ายเหนือ
ที่ไม่อยากจับปืนในฐานะทหารอาชีพอีกต่อไป
จึงลาออกมาประกอบอาชีพเป็นฝ่ายรักษาความปลอดภัยส่วนตัว
ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด นอกเหนือจากความเบื่อที่พวกเขาบอกผมแล้ว
ผมเชื่อว่าเหตุผลหลักอีกประการหนึ่ง
ที่ทำให้มีอดีตทหารของกองทัพพันธมิตรฝ่ายเหนือ (ที่ปัจจุบันมีฐานะเป็นกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน)
หันหลังให้กองทัพ แล้วมาเป็นฝ่ายรักษาความปลอดภัย
น่าจะเป็นเพราะเงินเดือนของทหารอาชีพ แห่งกองทัพรัฐบาลนั้นน้อยมาก เพียงเดือนละ ๓๐ เหรียญสหรัฐเท่านั้น
......................................................
หากจะให้ผมเทียบเรื่องราวความเคลื่อนไหว
ที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานตลอดหนึ่งเดือนของการเดินทางครั้งนี้
กับการเดินทางครั้งก่อนแล้ว ผมว่าผมเห็นพัฒนาการทางด้านบวกของประเทศนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้หลายอย่างจะยังแสดงให้เห็นถึงการคงอยู่ของความขัดแย้งและความรุนแรง แต่ผมก็ได้เห็นถึงความพยายามในการฟื้นฟูและสร้างชาติ
ยังไม่มีใครทำนายได้ว่าอัฟกานิสถานจะมีโฉมหน้าอย่างไรในวันพรุ่งนี้ สิ่งเดียวที่ผมคาดหวังก็คือ ขอให้พวกเขาได้หลุดพ้นจากคำสาปของสงครามเสียที
|
|
|
|
เกี่ยวกับผู้เขียน
|
|
|
|
โทรุ โยโกตะ เป็นช่างภาพข่าวอิสระชาวญี่ปุ่นที่เดินทางไปแล้วทั่วโลก ภายหลังการวางอาวุธของกองทัพตอลิบาน เขาได้เดินทางไปที่อัฟกานิสถานสองครั้ง โดยใช้เวลาอยู่ที่นั่นครั้งละประมาณหนึ่งเดือน
|
|