|
|
เรื่องและภาพ วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์
|
|
|
|
|
|
|
|
สารคดีนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ "ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์"
โดย อินเตอร์เพรส เซอร์วิส (เอเชีย-แปซิฟิก) และมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์
................................................................................................
หลังสงครามอินโดจีนผ่านไปเกือบสามทศวรรษ
ดินแดนลาวใต้บริเวณที่เคยถูกขนานนาม "เส้นทางโฮจิมินห์"
กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงเนื่องในสงครามยุคใหม่
|
|
|
|
ระหว่างห้วงเวลายาวนานกลางแดดเจิดจ้าที่ล้อรถตะกุยขึ้นภู เพื่อนร่วมทางชาวออสเตรเลียก็ร้องให้ทุกคนได้ยิน "tank...tank"
ห่างออกไปไม่กี่เมตร
ซ้ายมือคือซากรถถังขนาดหนัก
ซึ่งยังคงน่าเกรงขาม แต่พริบตา...ฝุ่นก็ม้วนตลบขึ้นพรางมัน ราวกับฉากสงครามอันระทึก
เพื่อนของเราไม่ยอมผ่อนคันเร่งด้วยเห็นเป็นเนินชัน มีแต่ฝุ่นกับก้อนหิน แล้วเราก็เสียเวลาไปมากตอนหยุดกินกลางวันที่บ้านดักลาน อาจไปถึงเมืองดักจึงไม่ทันค่ำ
ผมมองหาพิกัดเผื่อไว้ขากลับจะได้บันทึกหลักฐานของ "โฮจิมินห์เทรล" แต่ดูเหมือนเปล่าประโยชน์ พอขึ้นถึงบนสันแปก็ปรากฏหลุมระเบิดพรุนอยู่สองฟากทาง บางหลุมลึกพอสำหรับรถจี๊ปทั้งคัน ซึ่งมันจะชี้บอกตำแหน่งได้ดียิ่งกว่าป้ายในอุทยานแห่งชาติ
หมดกังขาถึงฐานะสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของภูดอยเขตลาวตอนใต้ลูกนี้ อันนำมาซึ่งการบอมบ์ปูพรมในสงครามอินโดจีนครั้งที่ ๒ จากปี ค.ศ. ๑๙๖๕-๑๙๗๓ เมื่อผมหยิบแผนที่ขึ้นดูก็พบว่า แนวสันเขาลูกนี้ยาวเหยียดต่อเนื่องจากดักจึงไปถึงเมืองสานไซของแขวงอัดตะปือ และอีกนิดเดียวก็ข้ามพรมแดนสู่เวียดนามใต้-
-เป้าหมายของฝ่ายเวียดกง เพื่อนต่างชาติคนเดิมให้ความเห็นว่า จำนวนหลุมระเบิดบนเนินน่าจะมากกว่าแถบทุ่งไหหิน--สมรภูมิสำคัญทางเหนือเสียอีก
จำนวนเที่ยวบินทิ้งระเบิดของกองทัพสหรัฐฯ ๙๐๐ เที่ยวต่อวัน ในปี ๑๙๖๙ หรือเฉลี่ยหนึ่งเที่ยวในทุก ๆ ๘ นาทีตลอดสงคราม เพื่อหยุดเส้นทางลำเลียงชื่อ
"โฮจิมินห์"* ทำให้หลุมระเบิดในลาวดูเป็น "เรื่องธรรมดา" แต่ถึงอย่างไร ซากรถถัง หลุมระเบิดเหล่านี้นับเป็นอีกจุดที่เราไม่รู้มาก่อน
ที่นี่...การสอบถามข้อมูลง่าย ๆ เรื่องเส้นทางบางครั้งกลับดูยุ่งยาก
เช่นระหว่างทางเราถามคนที่พบในบัก** ถึงเขตอนุรักษ์แห่งหนึ่งซึ่งกำลังจะสร้างเขื่อน เขาได้แต่ส่ายหน้า หนทางอันกันดาร
กอปรกับมีการประกาศเขตอนุรักษ์ใหม่หลายแห่ง
โดยคนในพื้นที่เองก็ไม่รู้ว่ามันตั้งอยู่ตรงไหน ดังนั้นจึงมีการแนะนำกันว่า นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องมีไกด์หรือผู้ชำนาญท้องถิ่นนำทาง
|
|
|
|
* คนเวียดนามเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ยุทธการตรึงซอน (Truong Son) แปลว่า เทือกเขายาว
** แพขนานยนต์ในลาว
|
|
|
|
ไม่เพียงแต่ช่วยให้เราไม่พลาดข้อมูลสำคัญ...
แต่หมายถึงดูแลให้รอดปลอดภัยจากป่าเขาที่มีระเบิดฝังอยู่มากมายด้วย
ครั้งหนึ่ง...เราพบชาวเผ่ากรูออกมาจากป่า หอบกระบุง ตะกร้า มาขายเจ้าหน้าที่ในรถยูเอ็น ไม่ไกลกันยังพบกลุ่มหญิงชาวเผ่าเดินแบกตะกร้าเหมือนว่ากำลังขนพืชไร่หรือท่อนฟืน พอรถผ่านจึงรู้ว่าสิ่งที่อยู่ในตะกร้าคือเปลือกหุ้มระเบิด ที่เรียกว่า "กาบบมบี" (bombie) และเศษอาวุธยุทโธปกรณ์ ...ภาพที่เห็น นำไปตัดต่อกับภาพกองเศษเหล็กหน้าบ้านดักลาน ที่รับซื้อกันกิโลละ ๕๐๐ กีบ (ราว ๒ บาท) รวมถึงเสายุ้งข้าวทำจากกาบบมบีได้พอดิบพอดี
เนินเขาแห่งนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของสงคราม ผมนึกในใจ...ขณะอยู่กับซากรถถัง กระสุนปืนใหญ่ บนผืนไร่ที่รอยจุดไฟเผาไร่ยังอุ่น ๆ ...สงครามนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน แม้แต่โครงการถนนลาดยางที่กำลังเริ่มต้นบนเส้นทาง หรือไม้แปกกองโตที่คนงานเวียดนามชักลากอยู่บนเนิน ซึ่งแต่ละต้นใหญ่โตกว่า ๑ เมตร
ในสงคราม เราต้องปลุกระดมมวลชนให้เชื่อในชาติ อิสรภาพ เสรีภาพหรือความสงบสุขที่จะตามมาหลังชัยชนะ สงครามเศรษฐกิจก็เช่นกัน
ต้องทำให้ประชาชนเชื่อในมายาคติบางอย่าง
และสิ่งที่จะได้รับภายภาคหน้า
|
|
|
|
๑
|
|
|
|
"...ความมั่งคั่งรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ความยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มแม่โขง"
"วิสัยทัศน์ใหม่" ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงต่อพื้นที่ลุ่มน้ำ จากบันทึกในจดหมายข่าวคณะกรรมาธิการ เดือนธันวาคม ๑๙๙๘
"...แม่น้ำแห่งความทรงจำอันชั่วร้าย"
ภาพสะท้อนจาก โคลิน ทูบรอน เกี่ยวกับแม่โขงระหว่างสงครามเวียดนาม ใน Behind The Wall : A Journey through China ลอนดอน ๑๙๘๗
|
|
|
|
พวกเราขึ้นไปค้างดักจึงคืนหนึ่งก็กลับลงมา...อย่างอาลัยอาวรณ์ความหนาวเย็น ปราศจากเขม่าควันการเผาไร่ นอกจากนั้นใกล้ ๆ ตัวเมือง (หรือ "อำเภอ" ของไทย) ยังมีหมู่บ้านเก่าชื่อเดียวกันตั้งอยู่ เรือนแต่ละหลังปลูกสร้างด้วยไม้ตามรูปแบบ "เรือนยาว" จั่วด้านหน้าและหลังปกคลุมด้วยชายคาทรงกลมป้านแบบกระโจม เหมือนที่เคยเจอตามป่าเขาเขตกะลึมนั่นเอง ถ้าจำไม่ผิด เมื่อคราวสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมายังเซกองในปี ๑๙๙๖ พระองค์ท่านเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมายังดักจึงด้วย
การเดินทางจากแขวงเซกองไปดักจึงเป็นโอกาสที่จะทำความรู้จักเซกองให้ถ่องแท้ขึ้น บางครั้งเราสวนกับรถขับเคลื่อนสี่ล้อขององค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งตัวอักษรข้าง ๆ โชว์ว่า --UXO ของหน่วยเก็บกู้ระเบิด, AusAID ของออสเตรเลีย หรือ UNDP -โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และครั้งหนึ่งเราพบรถบริษัทรับเหมาไทยที่กำลังสำรวจทางและได้สนทนากันเล็กน้อย
ทางสายเซกอง-ดักจึงไปจรดชายแดนเวียดนามระยะทาง ๑๒๒ กิโลเมตร เป็นโครงการพัฒนาถนนเชื่อมต่อระดับภูมิภาคของลาวตอนใต้ นอกเหนือจากโครงการทางหมายเลข ๑๘ บี จากอัดตะปือ (เมืองสามัคคีไซ) ถึงชายแดนเวียดนาม ซึ่งเริ่มขึ้นพร้อม ๆ กันช่วงปีสองปีมานี้ โครงการทาง ๑๘ บี มีมูลค่าถึง ๓๕ ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นโครงการใหญ่โตสุดเท่าที่แขวงเคยมี ทั้งยังเป็นถนนเส้นแรกของลาวตอนใต้ที่จะเชื่อมกับเวียดนามอีกด้วย
ก่อนอื่น เราคงต้องถอยออกมาเล็กน้อยเพื่อจะพบว่า ที่นี่คือ "อินโดจีน" อดีตอาณานิคมฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๘๙๓-๑๙๕๔) บริเวณรอยต่อของแขวงสาละวัน เซกอง อัดตะปือ และจังหวัดกวางหนำ-ดานัง จังหวัดกอนตุม-ยาล่าย ของเวียดนาม มีภูดอยสลับซับซ้อนส่วนหนึ่งของเทือกเขาอันนัม ซึ่งทอดยาวลงมาจากตอนใต้ของประเทศจีนเป็นพรมแดนธรรมชาติแบ่งกั้น
พื้นที่ส่วนใหญ่เกินร้อยละ ๘๕ เป็นภูเขา ลาวใต้จึงเป็นอาณาจักรอันอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าฝนเขตร้อน มีความหลากหลายของชนิดพืชพรรณ สัตว์ป่า และสำรวจพบแร่ธาตุหลากชนิด ข้อสำคัญ เป็นต้นกำเนิดสายน้ำสาขาของแม่โขงไม่น้อยกว่า ๑๐ สาย อาทิ น้ำเทิน น้ำหินบูน น้ำกะดิ่ง เซบั้งไฟ และเซกอง ไหลหล่อเลี้ยงลาวตอนกลางจนถึงตอนใต้
|
|
|
|
ผืนป่าทางตะวันออกที่ยาวต่อเนื่องถึงเวียดนาม
ยังสำรวจพบสัตว์ป่าชนิดใหม่ ๆ เสมอ นักโบราณคดี นักภาษาศาสตร์ พบว่ากลุ่มชนเจ้าของพื้นที่แต่เดิมคือกลุ่มมอญ-เขมร หรือผู้พูดภาษาตระกูลออสโตร-เอเชียติก ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายสิบเผ่า เจ้าหน้าที่รัฐเรียกตามสภาพทำเลอยู่อาศัยว่า ลาวเทิง (เทิง แปลว่า บน) ปัจจุบันลาวเทิงบางส่วนก็ยังคงรักษาวิถีความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมไว้
ในสงครามอินโดจีนครั้งที่ ๒ ซึ่งชาวโลกรู้จักในนามสงครามเวียดนาม แต่ความเป็นจริงไฟสงครามลามไปทั่วทั้งเวียดนาม ลาว กัมพูชา เป็นเวลากว่า ๑๑ ปี ก่อนจะดับมอดลงใน ค.ศ. ๑๙๗๕ ฝ่ายเวียดกงใช้เส้นทางป่าเขาฟากตะวันตกของประเทศลำเลียงพล อาวุธยุทธปัจจัย อ้อมเขตปลอดทหารบริเวณตอนกลางของประเทศ ผ่านเข้าไปในลาวและกัมพูชา ก่อนจะวกกลับออกมาโจมตีเวียดนามใต้ รู้จักกันในนาม "โฮจิมินห์เทรล" (ก็คือเครือข่ายเส้นทางที่ถือกำเนิดคราวสงครามปลดปล่อยกับฝรั่งเศสช่วงทศวรรษ ๑๙๕๐) แม้ว่าตลอดระยะสงคราม ฝ่ายเวียดกงไม่ยอมรับถึงการละเมิดเขตปลอดทหารตามสนธิสัญญาเจนีวา (ค.ศ ๑๙๕๔) ด้วยเส้นทางโฮจิมินห์ก็ตาม
แต่...จะแปลกอันใด เมื่อฝ่ายสหรัฐฯ
ขณะนั้นก็ไม่ยอมรับต่อโลกว่า
มีการบอมบ์เส้นทางดังกล่าวในราชอาณาจักรลาว อันเป็นรัฐซึ่งไม่ได้ประกาศสงคราม หลายปีติดต่อกัน
ประชาชนตาดำ ๆ
โดยเฉพาะชาวเผ่าซึ่งอาศัยบนที่ราบสูงบอละเวน
หรือแนวเส้นทางโฮจิมินห์ ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าใครทิ้งระเบิดใส่พวกเขา และทำไม ?
โฮจิมินห์เทรลเป็นดังเส้นทางปิศาจ
ภายใต้ครอบคลุมของป่าทึบและหมอกควัน ทั้งยังเปลี่ยนแปลงเสมอเพื่อหลบหลีกการโจมตีของทหารอเมริกัน ด่านเข้า-ออกก็หลายจุด กินพื้นที่ตลอดทิวเขาซีกตะวันออกของลาวตั้งแต่แขวงคำม่วน สะหวันนะเขต สาละวัน เซกอง จนถึงอัดตะปือซึ่งอยู่ตอนใต้สุด และที่คนนึกไม่ถึงคือ เวียดกงใช้จักรยานลำเลียงข้าวของ แต่ละคันบรรทุกหนักกว่า ๒๐๐ กิโลกรัมตลอดเส้นทางหลายร้อยกิโลเมตร กระทั่งคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นฝ่ายมีชัย พร้อมกับสถาปนารัฐบาลคอมมิวนิสต์ขึ้นในประเทศอินโดจีนถ้วนทั่ว
|
|
|
|
ทุกวันนี้เราอาจพบเห็นรูป ประธานโฮจิมินห์*
ผู้ถูกยกย่องเป็น "ผู้นำแห่งอินโดจีน" เคียงข้างรูป คาร์ล มาร์กซ์ เลนิน ตามฝาเรือนหรือห้องการแขวง เป็นตัวแทนถึง "เส้นทางโฮจิมินห์เก่า" ไม่นับซากยานลำเลียงที่ปล่อยทิ้งร้างข้างสำนักเมือง หรือที่ดัดแปลงไปเป็นบักอีกมาก
โฮจิมินห์เทรลยังคงปรากฏ--ในรูปของทางลาดยาง, เคยลาดยาง, ดินลูกรัง ตลอดจนทางม้าต่าง บางหมู่บ้านก็กลายเป็นเมืองหรือตัวแขวง ช่องทางบางจุดก็เปิดเป็นด่านสากล ไม่มิบเม้มเหมือนก่อน เช่นที่บ้านน้ำพาว (สุดทางหมายเลข ๘) จงหลอ (สุดทางหมายเลข ๑๒) และในอนาคตเมื่อทางสายดักจึงเสร็จก็จะเปิดเป็นด่านสากลเช่นกัน นั่นหมายถึงพ่อค้า คนเดินทางไม่ว่าถือสัญชาติใด หากมีเอกสารตราประทับรับรองก็สามารถผ่านแดนได้
...สิ่งของผ่านทางต่างหากที่เปลี่ยนไป คนลาวจากกลางจรดใต้ในวันนี้ต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอุปโภคจากเวียดนาม หรือจีนผ่านเวียดนาม โดยเข้ามาทางลาวบาว ตามทางหมายเลข ๙ (แขวงสะหวันนะเขต) เป็นหลัก และต้องการปูนซีเมนต์ เครื่องสุขภัณฑ์ เหล็ก อุปกรณ์ก่อสร้าง และของกินบางอย่างจากไทย
ขณะเดียวกัน...ถ้าเราผ่านเส้นทางสายหลักสักเส้น
เป็นต้องได้เห็นรถซุงแล่นเป็นคาราวาน ไม้เหล่านั้นจะถูกนำไปแปรรูปก่อนส่งออกไปยังปลายทาง-ไทยหรือเวียดนาม ลาวมีเพียงไม้ กาแฟ
หมากจอง เปลือกบง** รวมถึงไฟฟ้าพลังน้ำเท่านั้นไว้ถ่วงดุลการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน
หลังจาก (อดีต) สหภาพโซเวียตปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจและการเมือง พร้อมกับลดความช่วยเหลือที่เคยให้ประเทศในค่ายเดียวกัน ในปี ๑๙๘๖ ลาวได้เข้าสู่ยุค "จินตนาการใหม่" (New Thinking Policy) เปิดรับความช่วยเหลือและสร้างความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการปรับนโยบายควบคู่ไปกับการปรับนโยบายของเวียดนาม พร้อมกันนี้รัฐบาลได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่เรียกว่า "กลไกเศรษฐกิจใหม่" มาใช้พัฒนาประเทศ
สาระสำคัญคือเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์
มาสู่การกระจายอำนาจในการตัดสินใจ และเปิด
|
|
|
|
โอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจทั้งภายในและกับต่างประเทศ โดยรัฐเพียงควบคุมหน่วยเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างการเงิน การธนาคาร ฯลฯ เท่านั้น
ในแผนพัฒนาระยะต่อมา
ผู้นำรัฐบาลตั้งปณิธานว่า
จะให้ประชาชนลาวหลุดพ้นภาวะยากจนให้ได้
ภายในปี ๒๐๒๐
ยุทธศาสตร์การพัฒนา
ที่จะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก
มุ่งไปที่ไฟฟ้าพลังน้ำและไม้
ที่มีประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญ
จากตัวเลขที่ผ่านมาจะเห็นว่ารัฐบาลลาว
นำเอาทรัพยากรทั้งสอง
มาพัฒนาก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ผู้นำลาวกังวลเสมอมา คือ ประเทศของเขาไม่มีทางออกสู่ทะเล
คนลาวบอกผมว่า "มองไปไสบ่มีทะเล มีแต่ป่าไม้เขียว"
|
|
|
|
* ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ (๑๘๘๐-๑๙๖๙) อดีตผู้นำคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
** หมากจอง บางคนเรียกพุงทะลาย พบตามป่าดิบในภาคอีสานรอยต่อไทย ลาว กัมพูชา คนจีนนำมาแช่น้ำแล้วดื่ม, เปลือก (ต้น) บงตากแห้ง นำมาบดเป็นส่วนผสมในการทำธูป
|
|
|
|
๒
|
|
|
|
"โครงสร้างการบริการ คมนาคม สื่อสาร แผนการใน ๕ ปี ๑๐ ปี และ ๒๐ ปี ลาวจะสร้างถนนเชื่อมไปหมด ทางเหนือก็เชื่อมต่อเวียดนาม จีน ลงมาผ่านอุดมชัยมาเมืองไทย เป็นถนนดีเพื่อเป็นบริการทางผ่าน"
สุทธิเดช พรหมราช กงสุลใหญ่ สปป. ลาว กล่าวในการสัมมนาเรื่อง "วิสัยทัศน์กัมพูชา สปป. ลาว เวียดนาม และการปรับตัวของนักลงทุนไทย" ธนาคารแห่งประเทศไทย, ๒๐๐๑
เมื่อกลับไปเยือน "เซกอง" อีกครั้งโดยมีโจทย์เรื่องไม้ ๆ เขื่อน ๆ เป็นเพื่อน ผมเดินทางออกจากด่านช่องเม็ก อุบลฯ เข้าเมืองปากเซ จากนั้นจับรถต่อไปตามทางหมายเลข ๑๖ จนถึงตัวเมืองละมาม ศูนย์กลางของแขวงเซกอง ซึ่งทางลาดยางโดยตลอด ทางสายใต้ฝั่งตะวันออกนี้จะไปสิ้นสุดยังเมืองสามัคคีไซ แขวงอัดตะปือ ระยะทาง ๗๗ กิโลเมตรจากเซกอง
บุคคลแรกที่ผมนึกถึงคือท่านวีพอน จออาสาน ปัจจุบัน "ลุงวีพอน" เป็นรองประธานแนวลาวสร้างชาติ แขวงเซกอง ท่านเคยเป็นครูและเคยเป็นเจ้าเมือง (นายอำเภอ) อยู่ที่กะลึม
อาจารย์ที่พาผมไปรู้จักลุงวีพอนเมื่อสามปีก่อนเคยเล่าว่า ผู้นำชนเผ่าทางใต้ที่ต่อสู้อย่างเข้มแข็งในสงครามปลดปล่อยและรอดชีวิต ปัจจุบันได้รับความดีความชอบเป็นระดับบิ๊ก ๆ ของแขวง ลุงวีพอน ชาวเผ่ากะตูก็คนหนึ่ง ท่านมีหน้าที่ดูแลงานหลายภาคส่วน ไม่ว่าโครงการน้ำสะอาดและสิ่งแวดล้อม โครงการต้านเอดส์ ฯลฯ น่าจะช่วยเหลือผมได้
ลุงแกคุยถึงถนนเซกอง-ดักจึงที่กำลังจะสร้างว่า ปรกติทางเส้นนี้จะใช้ได้เฉพาะหน้าแล้ง พอหน้าฝนจะถูกตัดขาดเนื่องจากเป็นโคลนลื่น น้ำในลำธารไหลแรง ช่วงฝนตกหนักจึงขนสินค้าจากเวียดนามไม่ได้ หากมีถนนก็จะสะดวก สินค้าราคาถูกลง แต่ด้านหนึ่งก็กังวลว่า นักท่องเที่ยว กรรมกรสร้างทางที่หลั่งไหลเข้ามาจะนำโรคเอดส์มาด้วย ระยะนี้จึงต้องรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน
"ครั้นมีทางใหญ่แล้ว บ่แม่นหมายถึงความสะดวกอย่างเดียว จะต้องมีอันสับสน มีนักท่องเที่ยวที่อาจเข้าไปกระทำบ่ดี หรือโฆษณาใส่ร้ายป้ายสี" แกพูดและบอกด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นถนน ชลประทาน เขื่อนไฟฟ้า เมื่อจะทำเราก็ต้องเสียพื้นที่ป่าไม้ไป ถ้าเป็นไปได้ก็น่าจะมีการปลูกไม้ทดแทน
|
|
|
|
นอกจากนี้ ที่โรงแรมเซกองสุกสำลาน ที่พักระดับมาตรฐานแห่งเดียวของแขวง ผมยังได้พบนายวิทยากร ทองเสน นักการเมืองท้องถิ่นจากกาฬสินธุ์ เดินทางมาในนามของวิทยากรกรุ๊ป อินเตอร์เนชันแนล คู่สัญญาก่อสร้างถนนของรัฐบาล ระยะเวลาก่อสร้าง ๕ ปี ตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๒-๒๐๐๗ ในลักษณะทุนให้กู้ยืม ชำระคืนภายใน ๑๕ ปี
"จากที่นี่จะตรงไปท่าเรือน้ำลึกดานัง ประเทศเวียดนาม ระยะทางประมาณ ๒๐๐ กว่ากิโลเมตรเท่านั้น" นายวิทยากรให้ความเห็น "ต่อไปถนนสายนี้จะเป็นเส้นทางหลักออกสู่ทะเลของลาวใต้ และเซกองจะไม่ใช่เมืองปิดอีกต่อไป
"ในอนาคตแม้แต่ไม้ก็ต้องส่งออกทางท่าเรือดานัง...ไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หมายถึงว่าผลผลิตทางการเกษตรทางภาคอีสานของไทยที่ขายให้จีน ญี่ปุ่นออกทางนี้จะลัดมาก น้ำมันที่จะเข้ามาก็ผ่านมาทางเวียดนาม ลาว ทำให้ต้นทุนสินค้าต่ำลง"
เขาเห็นว่าการที่ญี่ปุ่นลงทุนสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ปากเซ แขวงจำปาสัก มูลค่ากว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท
ก็ถือเป็นการวางแผนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้
เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้าทางทะเลผ่านลาว เขมร เข้าภาคอีสานของไทยโดยไม่ต้องอ้อมลงอ่าวไทย
สำหรับข้อวิจารณ์ว่ารัฐบาลลาวใช้ไม้ที่มีอยู่มากมายแลกกับสัญญาสร้างทาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นายวิทยากรยืนยันว่าไม่จริง "เมื่อก่อนอาจมีการเอาไม้แลกทาง แต่ตอนนี้องค์กรระหว่างประเทศไม่ยอมหรอก ไม้ส่วนที่ตัดจากการสร้างถนนนั้นเปิดให้เอกชนเข้าไปสัมปทาน ถ้าได้รับอนุมัติก็สามารถนำออกนอกประเทศ หรือความเป็นจริงรัฐบาลลาวอาจขายไม้แล้วนำเงินมาจ่ายเป็นค่าสร้างถนนก็ได้"
|
|
|
|
เป้าหมายของโครงการหมายเลข ๑๘ บี ก็คล้ายคลึงกัน คือการนำแขวงอัดตะปือ "ออกสู่ทะเล" ทางด้านท่าเรือกวางงายของเวียดนาม ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ลาวเห็นคล้อยตามกันแต่ในด้านดีของถนน แม้มันตัดผ่านป่าเขา ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์มากมาย พวกเขาเห็นว่าน่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น โดยปราศจากผลกระทบทางวัฒนธรรม
"ถนน ๑๘ บีจะกว้าง ๙ เมตร แต่ระหว่างก่อสร้างต้องเปิดหน้าดินกว้างประมาณ ๒๐ เมตร" ท่านอัมพอน ไซมะนี รองหัวหน้าโครงการหมายเลข ๑๘ บี กล่าวกับผมที่แคมป์สร้างทางเมืองไซเสดถา (ไชยเชษฐา) สำหรับงบประมาณการก่อสร้างนั้นกู้ยืมจากเวียดนาม และมีบริษัทจากเวียดนามเป็นแกนหลักในการก่อสร้าง
น่าสนใจว่า ระยะทาง ๑๑๓ กิโลเมตรภายในลาวของถนนเส้นนี้จะตัดผ่าน "ดงอัมพาม" เป็นระยะทาง ๕ กิโลเมตร ป่าผืนนี้ดำรงสถานะเขตอนุรักษ์ชีวะนานาพันธุ์แห่งชาติ (National Biodiversity Conservation Area / NBCA) เนื้อที่ ๒ แสนเฮกตาร์ ถือว่าเป็น NBCA ที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และมีความสมบูรณ์มั่งคั่งของชีวิตพันธุ์ รวมทั้งเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญ
เหตุผลที่รัฐกรลาวอธิบายว่าทางหมายเลข ๙ (สะหวันนะเขต-ชายแดนเวียดนาม) ใช้ขนถ่ายสินค้าห้าแขวงทางภาคกลาง ส่วนทางหมายเลข ๑๘ บี จะรับใช้สี่แขวงภาคใต้ เพื่อการพัวพันค้าขายกับเวียดนามนั้น เจ้าหน้าที่องค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) ผู้คร่ำหวอดพื้นที่ลาวใต้ซึ่งผมพบที่เวียงจันทน์ วิจารณ์อย่างน่าฟังว่า
"นอกเหนือจากทางหมายเลข ๙ ลาวจะต้องการถนนไปออกทะเลอีกกี่สาย มีสินค้าอะไรมากมายที่ต้องส่งออก งบประมาณอันมหาศาลในการก่อสร้าง เหตุใดไม่นำไปพัฒนาด้านอื่นที่ยังขาดแคลนมาก เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล" เขาตั้งคำถามด้วยว่า ได้มีการดูแลผลกระทบที่จะเกิดกับคนในท้องถิ่นนั้นหรือไม่ ความไม่รู้เท่าทันอาจทำให้พวกเขาต้องสูญเสียที่ดินซึ่งถนนตัดผ่าน "และประเด็นสำคัญคือโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้จะต้องกู้เงินต่างประเทศ ลาวจะชดใช้คืนอย่างไร...ถ้าไม่ขายทรัพยากรไม้อีก
"ถนนจะถูกใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการตัดไม้และขนไม้ออกไปเสมอ"
|
|
|
|
๓
|
|
|
|
"ประเทศเราพื้นฐานเป็นกสิกรรม...สิ่งที่ธรรมชาติกำหนดให้ประเทศลาวมีมา คือ ภูผา ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร รัฐบาลจึงมีแผนใช้ต้นทุนเหล่านี้"
บุนเลือน จันทะจัก แห่งกระทรวงคมนาคม สปป. ลาว ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียน ที่แคมป์สร้างทางไซเสดถา แขวงอัดตะปือ, พฤษภาคม ๒๐๐๒
วันหนึ่งผมและเพื่อน ๆ รอข้ามบักเข้าเมืองสามัคคีไซ
ข้างรถของเรามีขบวนจักรยานค้าเร่
ของพ่อค้าเชื้อสายญวน
ที่กลับจากตระเวนขายกระป๋องพลาสติกตามหมู่บ้าน
บางครั้งผมเห็นจักรยานเร่ขายเปลญวน
แล้วอดนึกยกย่องความมานะของพวกเขาไม่ได้--นี่แหละ
...อดีตที่ยังมีลมหายใจของทางลำเลียงโฮจิมินห์ของจริง
แต่รถถีบคันหนึ่งน่ะสิ...ด้านท้ายบรรทุกหม้อสำริดใบเขื่อง ลายตรงขอบด้านบนคุ้นตา คาดเดาไม่ยากว่า "บาร์เตอร์" มาจากหมู่บ้านชาวเผ่า เขาเห็นผมถ่ายรูปเลยบอกขาย ๑ แสนกีบ--ไม่เต็ม ๕๐๐ บาทด้วยซ้ำ ผมนึกไม่ออกว่าโบราณวัตถุอายุอาจเก่าถึง ๑,๐๐๐ ปี สภาพดีชิ้นนี้ หากตกถึงปากเซ, กรุงเทพฯ ราคาจะทวีเป็นกี่สิบเท่า
เมืองสามัคคีไซ เขตเทศบาลของแขวงอัดตะปือ ตั้งอยู่เกือบจะกลางโอบล้อมของน้ำเซกอง บริเวณน้ำเซกะมานไหลลงสบเซกองพอดี ทัศนียภาพแคมเซยามเย็นจึงงดงาม...จนอดไม่ได้ที่จะนึกถึงบรรยากาศเหงา ๆ ของแคมเซสายเดียวกันที่เมืองกะลึม
บางวันผมถึงกับออกมารอริมน้ำตั้งแต่ตะวันเริ่มคล้อย และบางวัน...ใจก็เต้นโครมครามกับภาพรถบรรทุกไม้
กำลังทยอยข้ามบัก ไม้ซุงแต่ละต้นใหญ่ขนาด ๒-๓ ต้นต่อคันรถสิบล้อทั้งนั้น
"ฤดูแล้งจะต้องรีบขนไม้ข้ามน้ำ พอถึงฤดูฝนแล้วทำไม่ได้" คนของบริษัทสัมปทานแห่งหนึ่งบอก
ทุกวันจึงมีรถซุง รถไม้แปรรูปรอเข้าคิวข้ามแม่น้ำ โดยมาจากสองทาง คือ ไซเสดถา (ซึ่งกำลังสร้างทาง ๑๘ บี) และภูวง อันเป็นแหล่งสัมปทานไม้ที่สำคัญ และในอนาคตอันใกล้ อัดตะปือก็จะมีสะพานข้ามเซกองเกิดขึ้นเพื่อเชื่อมต่อทางหมายเลข ๑๘ บี (เช่นเดียวกับจุดข้ามแม่น้ำเซกอง บนทางสายเซกอง-ดักจึง) หลังจากตอม่อสะพานอันแรกเริ่มโผล่ให้เห็น
|
|
|
|
ไม้ซุงที่ยังไม่แปรรูปจะถูกส่งเข้าโรงเลื่อยในเมืองหรือส่งไปยังปากเซ ส่วนไม้แปรรูปจะส่งสู่ชายแดนทันที ตอนนี้ลาวมีนโยบายให้ส่งออกเฉพาะไม้แปรรูปเท่านั้น เพื่อที่ภายในประเทศจะได้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
ที่บอกว่า "ใจเต้นโครมคราม"
ก็เนื่องมาจากในเมืองไทย
และอีกหลายประเทศหมดโอกาสเห็นภาพเช่นนี้แล้ว และผมก็ไม่นึกว่า พ.ศ. นี้จะมีใครหน้าไหนอนุญาตให้สัมปทานทำไม้
โดยเฉพาะไม้เนื้อแข็งจากป่าเขตร้อนในประเทศตัวอีกต่อไป
มันทำให้ผมเชื่อมโยงกับที่นักธุรกิจไทยคาดการณ์ว่า
ทรัพยากรป่าไม้ของลาว
สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อีก ๒๐ ปี นึกถึงผลการสำรวจทางดาวเทียมล่าสุด ในปี ๑๙๘๙ ระบุว่าประเทศลาวเหลือพื้นที่ป่า ๔๗ เปอร์เซ็นต์เศษของเนื้อที่ทั้งหมด หรือคิดเป็น ๑๑.๖ ล้านเฮกตาร์
ตามรายทางตั้งแต่เซกองถึงดักจึง, อัดตะปือ, ภูวง หรือดงอัมพาม ทุก ๆ ที่จะเห็นไม้ซุงกองเป็นภูเขาเลากา ไม่ว่าจะเป็นไม้แดง ไม้แคน หรือไม้ดู่ ล้วนเป็นแม่ไม้ ขนาดใหญ่โตจนไม่น่าเชื่อว่าในชีวิตจะได้เห็นซุงท่อนขนาดนี้อีก แล้วก็โยงไปถึงเหตุแห่งการตัดถนน เด็ก ๆ ก็เดาออกว่า ระหว่างถนนดินกับถนนลาดยาง อย่างไหนควรจะเอื้ออำนวยต่อรถสิบล้อบรรทุกซุงมากกว่ากันในฤดูฝน แต่ขณะเดียวกัน เจ้าพนักงานของรัฐต่างพูดว่า การทำลายป่าส่วนใหญ่เกิดจากการทำไร่หมุนเวียนของคนลาวเทิง ซึ่งใช้วิธีแผ้วถางป่าแล้วเผา
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่กองขุดค้นไม้ของรัฐ แขวงอัดตะปือ ได้ความว่าตั้งแต่ปี ๑๙๙๙ เป็นต้นมา แขวงทางใต้ คือ จำปาสัก สาละวัน เซกอง และอัดตะปือให้สัมปทานไม้แขวงละประมาณ ๒๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร (เมตรก้อน) ต่อปี โดยปี ๒๐๐๑ แขวงอัดตะปือ ให้สัมปทานไม้ไป ๖๓,๕๐๐ เมตรก้อน ปี ๒๐๐๒ เสนอแผนการขุดค้นทั้งสิ้น ๑ แสนเมตรก้อน สัมปทานไม้ของลาวจะเริ่มจากแขวงต่าง ๆ ทั้ง ๑๗ แขวงให้กองขุดค้นไม้ฯ ทำการสำรวจพื้นที่ป่าแล้วยื่นขออนุมัติไปยังส่วนกลางที่เวียงจันทน์ รัฐบาลเป็นผู้อนุมัติและตั้งราคาขาย จากนั้นทางแขวงก็เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาซื้อโควตาสัมปทาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากประเทศไทย ลาว และเวียดนามบางส่วน
|
|
|
|
รัฐกรบางคนบอกว่าตัวเลขที่อนุมัติ เมื่อตัดจริง ๆ อาจไม่ได้ครบตามจำนวน เนื่องจากขณะนี้ป่าไม้เหลือน้อยลง (ไม้ใหญ่กระจายตัวทำให้ไม่คุ้มค่าการตัด) ไม้ราคาแพง ไม่คุ้มต่อการส่งออก ขณะที่คนจากองค์กรเอกชนพูดประเด็นนี้ว่า ในทางปฏิบัติจริง หลายพื้นที่มีการตัดไม้เกินกว่าที่ระบุในโควตาไปมาก
แม้โดยหลักการ
การตัดและชักลากไม้
จะต้องเป็นอำนาจหน้าที่หรือทำในนามของกองขุดค้นไม้ฯ บริษัทสัมปทานจะเข้าไปตัดเองไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติแทบเป็นจริงไปไม่ได้ เพราะคนและเครื่องไม้เครื่องมือของกองขุดค้นไม้ฯ มีจำกัด ไม่อาจสนองความต้องการของสัมปทานได้ทั่วถึงและทันการณ์ จึงเป็นบริษัทเอกชนเองนั่นละเป็นผู้ลงมือตัด
ไม้ที่มีราคาเป็นที่ต้องการของตลาด คือ ไม้แดง ไม้ดู่ ไม้แคน (ตะเคียน) ไม้ยาง ไม้จิก ไม้บาก รวมทั้งไม้เนื้ออ่อน อย่างไม้แปก (สน) ไม้แต ไม้แตะคา ส่วนไม้คะยูง ไม้ปะดง ไม้โลงเล็ง เป็นไม้หวงห้ามตามกฎหมาย ลูกจ้างคนหนึ่งของบริษัทจูงดง (เวียดนาม) สัมปทานรายใหญ่ของแขวงเล่าว่า บริษัทเขามีโรงเลื่อยแปรรูปไม้ในพื้นที่ สัปดาห์หนึ่ง ๆ จะขนไม้ออกมาราว ๒๐-๓๐ เที่ยว ราคาขายไม้แปรรูป เมตรก้อนละประมาณ ๙,๐๐๐ บาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สูง
แม้รัฐบาลกำหนดให้เจ้าของสัมปทานเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการปลูกไม้ทดแทน ๒ เหรียญสหรัฐต่อเมตรก้อน และในห้องการป่าไม้แขวงเองมีตารางแจงยอดพื้นที่การปลูกป่าแต่ละปี เป็นต้นว่าปีละ ๗๐ เฮกตาร์บ้าง ๑๕๐ เฮกตาร์บ้าง หรือล่าสุด ปี ๒๐๐๑ ปลูกไป ๔๑๕ เฮกตาร์ก็ตาม ทว่ากิจกรรมนี้ก็ถูกแย้งว่าไม้ที่ปลูกทดแทนส่วนใหญ่เป็นไม้สัก ไม้วิก (ยูคาลิปตัส) ซึ่งไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพ จึงไม่ใช่ป่า ควรเรียกว่า "สวน" มากกว่า และเป็นแต่เพียงเพิ่มตัวเลขพื้นที่ป่าขึ้นตบตาเท่านั้น ข้อสนับสนุนเรื่องนี้มาจากการศึกษาชุมชนแถวเซบั้งไฟ แขวงสะหวันนะเขต ซึ่งประชาชนเคยเก็บเห็ดเผาะส่งขายไทยเป็นอาชีพเสริม เมื่อให้สัมปทานไม้และมีการปลูกป่าทดแทน ก็ไม่สามารถเก็บเห็ดเผาะได้ต่อไป
ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า (TERRA) เปรมฤดี ดาวเรือง ได้แสดงความเห็นว่า นโยบายปลูกไม้ทดแทนยิ่งทำให้พิจารณาได้ถึงแนวคิดแบบตลาดเสรีที่ไหลบ่าเข้ามา ซึ่งรัฐมองป่าไม้ว่าเป็น "ทรัพยากรป่าไม้" มองการใช้ป่าอย่างยั่งยืนว่าหมายถึงการทำไม้ (logging) อย่างยั่งยืน ต่างจากชาวบ้านที่มองการใช้ป่าไม้อย่างยั่งยืนไปถึงลูกถึงหลาน
|
|
|
|
และเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอในเวียงจันทน์เสนอความเห็นว่า เรามักจะมองกันที่ตัวเลข จำนวนเปอร์เซ็นต์เนื้อที่ป่า ซึ่งจะทำให้พลาดประเด็นสำคัญ เพราะในการสัมปทานจะตัดเฉพาะไม้ใหญ่หรือขนาดที่เหมาะสม เหลือไว้แต่ไม้เล็ก ๆ ซึ่งชาวบ้านน่าจะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ดังนั้นตัวเลขของพื้นที่ป่าอาจยังคงที่หรือไม่ลดลง "แต่คุณภาพของป่าไม้เปลี่ยนไป"
นอกจากนี้ ช่วงสองปีที่ผ่านมาสัมปทานไม้ของรัฐยังกระทบถึงโครงการ "แบ่งดินแบ่งป่า" ซึ่งเป็นการมอบป่าไม้ให้ประชาชนดูแล (ป่าชุมชน)
เพราะมีการอนุมัติให้ผู้ได้สัมปทานเข้าตัดไม้
ในผืนป่าสงวนของชุมชนมากมายทั่วประเทศ
โดยที่ประชาชนไม่อนุญาต ซึ่งบางทีเหตุของการทำเช่นนั้นอาจเนื่องมาจากป่าไม้ที่สมบูรณ์ (และตัดสะดวก) เหลืออยู่ไม่เพียงพอแล้ว ผลคือทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นนโยบายอนุรักษ์ป่าไม้ของรัฐอีกต่อไป
เอ็นจีโอผู้นี้กล่าวด้วยว่า
การที่รัฐใช้นโยบายกระจายอำนาจให้แต่ละแขวง
จัดการทรัพยากรของตนตามนโยบาย ๐๑*
น่าจะเป็นผลดีในแง่การป้องกันป่าไม้ไม่ให้ถูกทำลาย แต่มีจุดอ่อนตรงแต่ละแขวงจำเป็นต้องหารายได้ของตัวเองมาใช้ (ผสมกับงบฯ จากส่วนกลาง) ในโครงการพัฒนาต่าง ๆ แล้วแผนพัฒนาของแขวงมักไม่สอดคล้องกับรายได้ในกระเป๋า เมื่อต้องหาเม็ดเงินให้พอเพียงโดยเร็ว วิธีดีที่สุดคือ "ตัดไม้" โดยการเร่งสำรวจและขออนุมัติโควตาจากส่วนกลาง จึงกลายเป็นว่าปริมาณไม้ที่ขึ้นบัญชีตัดในแต่ละปีขึ้นอยู่กับตัวเงินตามแผนพัฒนา ไม่ใช่ตัดตามหลักวิชาการ
เขาสรุปว่า "สิ่งที่ถูกที่ควรคือการสำรวจป่าไม้ก่อนว่ามีไม้ที่ควรตัดปริมาณเท่าไหร่ ทว่าวิธีคิดแบบที่เป็นอยู่ทำให้ต้องผลาญป่าในทุกที่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา"
.......................................
โดยนโยบายแล้ว แม้ความต้องการไม้ในตลาดโลกจะไม่จำกัด ราคาก็ดีดสูงขึ้นทุกขณะ แต่ดูเหมือนว่าผู้นำรัฐบาลไม่สบายใจนักต่อแรงต้าน แรงกดดันจากองค์กรเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนบางแขนง
ดังนั้นการสนับสนุนธุรกิจป่าไม้จึงไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเมื่อเทียบกับ "เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ" ในความคิดของผู้นำลาว
|
|
|
|
* นโยบายการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นของรัฐบาลลาว เริ่มต้นในปี ๒๐๐๑
|
|
|
|
๔
|
|
|
|
"ช่วยปลา แต่ฆ่าทารก !"
คำขวัญเย้ยหยันนักสิ่งแวดล้อมจากรัฐกรลาวที่โกรธแค้น
โต้ตอบการคัดค้านแผนสร้างเขื่อนของลาว
บนสาขาแม่โขง--ซึ่งบางทีอาจไร้หลักฐานยืนยัน
คุณคงจำลำน้ำเซกะมานได้--ในอิริยาบถที่เธอไหลเอื่อย ๆ ลงซบเซกองที่เมืองสามัคคีไซ บริเวณคุ้มเมืองใหม่ ทั้งสองถือเป็นลำน้ำสาขาใหญ่ที่สุดของแม่โขงตอนล่าง เมื่อรวมกับน้ำเซซานในประเทศเขมร ตัวเลขปริมาณน้ำที่ผันเข้าสู่แม่โขงสูงถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำแม่โขงทั้งหมด (สาขาแม่โขงในลาวทั้งหมดป้อนน้ำไม่น้อยกว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์ลงสู่แม่โขงตอนล่าง)
แต่ภาพที่ผมยังไม่ได้ฉายให้เห็นโดยละเอียดได้แก่เหล่าคนหาปลา ซึ่งหาอยู่หากินด้วยสวิง ซอง ตาข่าย ฯลฯ สามารถกล่าวได้ว่าปลาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนทุกเพศทุกวัยแถบนี้ ชาวป่าที่ตัดไม้ไผ่จากดงลึกแถบต้นน้ำ แล้วผูกแพล่องลงมาเพื่อสานแคร่ สานเล้าไก่ขายยังเมือง ที่ขาดเสียมิได้ คือกลุ่มสตรีเพาะถั่วงอกบนหาดทรายชายน้ำ เหมือนกับบางจังหวัดริมฝั่งโขงของไทย
จุดที่เซกะมานไหลผ่านช่องเขา ห่างจากเทศบาลเมืองสามัคคีไซทางตะวันออกราว ๕๒ กิโลเมตร คือจุดที่โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ "เซกะมาน ๑" จะอุบัติขึ้นในไม่ช้า...
เดิมทีแผนนโยบายแม่บทเพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติของลาว ปี ๑๙๙๓-๒๐๐๐ กำหนดให้มีการ "พัฒนา" แหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ๑๒ โครงการ แบ่งออกเป็นโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจำนวน ๓๐ แห่งทั่วประเทศ จากการประมาณการเบื้องต้นของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) คาดว่า เขื่อนเหล่านี้จะมีศักยภาพผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ ๘,๕๒๐
เมกะวัตต์* ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอินโดจีนและไทย โดยมูลค่าเงินลงทุนก่อสร้าง ๙,๗๘๙ ล้านดอลลาร์นั้นจะเปิดให้บริษัทเอกชนต่างชาติเข้ามาลงทุน รัฐบาลลาวต้องการให้ทุกโครงการสำเร็จภายในปี ๒๐๐๗ ซึ่งถ้าสามารถพัฒนาแหล่งไฟฟ้าพลังน้ำได้บรรลุตามเป้าหมาย
คาดกันว่าจะทำให้ลาวมีรายได้
เฉพาะการส่งออกกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้ต่างประเทศ
อย่างน้อยปีละ ๒,๕๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ
|
|
|
|
* โดยเฉลี่ยกระแสไฟฟ้า ๑ เมกะวัตต์เพียงพอสำหรับใช้ในบ้านเรือนชาวอเมริกัน ๑,๐๐๐ หลังใน ๑ ปี
|
|
|
|
มีข้อสังเกตว่า ในรายชื่อเขื่อน ๓๐ แห่งนั้น ส่วนใหญ่เทมาลงบริเวณตอนกลางและตอนใต้ เฉพาะบนสายน้ำเซกองและเซกะมานมีอย่างละสี่รายชื่อ รวมกับห้วยเฮาะและเซเปียน-เซน้ำน้อย ใกล้ ๆ กันอีกสองเขื่อน ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากสภาพฝนฟ้าที่เอื้ออำนวย บวกกับภูมิประเทศลาวตอนกลางและตอนล่างส่วนใหญ่เหมาะสม ที่ว่าเหมาะสมคือภูเขามีลักษณะถูกตัดเป็นลูก ๆ ไม่ติดกันเป็นเทือกเขายาว ทำให้เกิดหุบเขารูปตัววี (V-shape) และมักมีสายน้ำไหลผ่าน ส่วนที่เป็นที่ราบสูงมักเกิดเป็นคอคอดระหว่างเขาซึ่งมีลำน้ำสายใหญ่ไหลผ่าน ว่ากันว่าลักษณะเช่นนี้ทำให้การสร้างเขื่อนใช้พื้นที่ไม่มากนัก แต่สามารถกักเก็บน้ำได้เป็นจำนวนมาก
นอกจากลักษณะทางกายภาพเหมาะต่อการสร้างเขื่อนแล้ว สิ่งสำคัญที่ผลักดันให้ลาวมุ่งขยายการก่อสร้างเขื่อนอย่างจริงจังอีกประการ ได้แก่ความต้องการรายได้เพื่อการพัฒนาประเทศ ในปี ๑๙๙๕ ลาวมีรายได้ประชากรเฉลี่ย ๓๘๐ ดอลลาร์ต่อหัวต่อปี แต่ปี ๒๐๐๐ ลดเหลือเพียง ๓๕๐ ดอลลาร์ (ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ) ถือว่าต่ำเกือบจะที่สุดในเอเชีย
ส่วนหนึ่งของรายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
เป็นผลมาจากการส่งกระแสไฟฟ้าออกจำหน่ายต่างประเทศ
ลูกค้ารายใหญ่ของลาวก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้กำลังดำเนินแผนแสวงหาแหล่งพลังงานสำรองในอนาคต ในปี ๑๙๙๖ ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลทั้งสอง เรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าในลาว ซึ่งจะขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก ๑,๕๐๐ เมกะวัตต์ เป็น ๓,๐๐๐ เมกะวัตต์ ภายในปี ๒๐๐๖ ภาวะฟองสบู่แตกนับแต่กลางปี ๑๙๙๗ ทำให้การใช้ไฟฟ้าของไทยไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ คณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าในลาว (คปฟ.-ล) จึงขอเจรจาเลื่อนการรับซื้อไฟฟ้า จากเดิมที่กำหนดรับซื้อจำนวนทั้งสิ้น ๓,๐๐๐ เมกะวัตต์ภายในปี ๒๐๐๖ ปรับเปลี่ยนเป็นแบ่งการรับซื้อออกเป็นสองช่วง คือภายในปี ๒๐๐๖ ประมาณ ๑,๖๐๐ เมกะวัตต์ และกลางปี ๒๐๐๘ รับซื้ออีกประมาณ ๑,๗๐๐ เมกะวัตต์ (ปัจจุบันลาวส่งไฟฟ้าขายไทยได้แล้ว ๕๐๐-๖๐๐ เมกะวัตต์)
|
|
|
|
ครั้งหนึ่งในการพูดคุยเรื่องเขื่อนสามหุบ เขื่อนยักษ์ในจีน ดร. สุบิน ปิ่นขยัน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาบริษัทวิศวกรรมชลประทานแห่งหนึ่ง บอกผมว่า ทุกวันนี้ภายในประเทศสามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว ๒๐,๐๐๐ เมกะวัตต์ ขณะที่ฤดูร้อนช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ามากสุดจะตก ๑๖,๐๐๐ เมกะวัตต์เศษ อัตราการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๒๐๐ เมกะวัตต์ หากเป็นเช่นนี้ ไทยจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรองในอีก ๑๐ หรือ ๒๐ ปีข้างหน้าอย่างเร่งด่วน
เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของแขวงอัดตะปือสองโครงการ คือ เขื่อนเซกะมาน ๑ และเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย อยู่ในแผนการรับซื้อช่วงที่ ๒ ด้วย โดยเฉพาะเซกะมาน ๑ ถือเป็นโครงการนำร่องสำหรับเขื่อนบนลุ่มน้ำเซกองด้วย ตามความคาดหมายของเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ของแขวง หลังจาก "อนามัยอ่างน้ำ" หรือตัดไม้เหนืออ่างเก็บน้ำไปบางส่วนแล้วหยุดชะงักลง โครงการเซกะมานก็น่าจะเริ่มเดินหน้าต่อไปได้ในต้นปี ๒๐๐๓ ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามข้อตกลง จะทำให้ลาวมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น ๑,๐๕๐ ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ ๔๔,๖๐๐ ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน)
ตามข้อมูลเดิม เขื่อนเซกะมาน ๑ ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น ๕๐๐ ล้านดอลลาร์ มีกำลังผลิตติดตั้ง ๔๖๘ เมกะวัตต์ แนวสันเขื่อนเป็นคอนกรีตอัดหิน สูง ๑๘๗ เมตร ซึ่งจะสูงเป็นอันดับสองของโลก สำหรับเขื่อนประเภทนี้ เมื่อกักเก็บน้ำเต็มปริมาณความจุ น้ำจะเอ่อท่วมเป็นอาณาบริเวณราว ๒๓๐ ตารางกิโลเมตร (เทียบกับเขื่อนน้ำเทิน ๒ แขวงคำม่วน น้ำจะท่วมพื้นที่ ๔๕๐ ตารางกิโลเมตร) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณตอนเหนือของเขตอนุรักษ์ฯ ดงอัมพาม และที่สำคัญได้แก่การอพยพคนพื้นถิ่นกลุ่ม "มอญ-เขมร" ออกไปประมาณ ๙ หมู่บ้าน ๘๑๒ คน
|
|
|
|
เท่าที่ผมมีโอกาสพูดคุยถามความเห็นคนลาว พบว่าไม่เพียงแต่ผู้บริหารประเทศเท่านั้นที่มีความหวังจาก "ไฟฟ้าน้ำตก" ความคาดหวังนั้นแผ่ซ่านทั่วไปในหมู่คน ไม่ว่าจะในเขตเทศบาลของแขวงเซกองหรืออัดตะปือ รัฐกร ร้านค้า เจ้าของโรงแรม ทุกคนคิดถึงแต่ข้อดีของการขายไฟ เพื่อจะนำเงินมาพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจจะดีขึ้น รัฐกรผู้ใหญ่บางคนตั้งความหวังลึก ๆ ว่า "ลาวจะเป็นศูนย์ส่งออกกระแสไฟฟ้าแห่งเอเชียในอนาคต"
"เวียงไซ" นักธุรกิจทำไม้บริษัทสีลาวง เห็นว่า ถ้าทำเขื่อนเซกะมานจะได้เอาไม้ออกอีก ๒-๓ แสนเมตรก้อนทีเดียว ขณะที่ผู้จัดการเกสต์เฮาส์สุกสมพอน ที่พักเล็ก ๆ หนึ่งในสี่แห่งภายในแขวง ถึงกับอ้างคำพูดของคนในรัฐบาลว่า "อีกหน่อยลาวจะเป็นอย่างประเทศบรูไน
ที่ขายแต่น้ำมันอย่างเดียว ลาวขายแต่ไฟฟ้าก็รวย"
สำหรับชนเผ่าตามชนบทแล้วไม่ค่อยมีปากเสียง ราวกับว่าแค่วุ่นวายกับปัญหาปากท้องเฉพาะหน้า หรือการต้องอพยพย้ายถิ่นอยู่บ่อย ๆ ก็ไม่เป็นอันต้องคิดเรื่องอื่น
สิ่งที่จะกระทบพวกเขาอย่างกว้างขวางขณะนี้
อาจมิใช่การที่บางส่วนต้องอพยพจากบริเวณอ่างเก็บน้ำของเขื่อน หากเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะอพยพชนเผ่าบนภูดอยซึ่งเคยทำไร่หมุนเวียน ลงมาทำนาบนพื้นราบให้หมดภายในปี ๒๐๐๕ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า และความอดอยาก แต่ปัญหาสำคัญคือ จะหาที่ราบจากไหนเพียงพอให้ชาวลาวเทิง
.........................................
เป็นที่รับรู้กันในปัจจุบันว่า
การสร้างเขื่อนไม่อาจคิดได้ว่า
เป็นโครงการเพื่อการพัฒนาภายในของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นกิจการข้ามพรมแดน ประกอบไปด้วยประเทศผู้ขายไฟฟ้า-ผู้ซื้อไฟฟ้า วิศวกร ผู้ก่อสร้าง ผู้ได้สัมปทานไม้บริเวณอ่างเก็บน้ำ และผู้ออกเงินกู้สำหรับโครงการ ซึ่งได้แก่ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย เป็นหลัก ทั้งหมดเกี่ยวโยงกันด้วยผลประโยชน์และถูกเรียกขานในนามของ "บริษัทเขื่อนโลก"
|
|
|
|
เช่นเดียวกับเขื่อนน้ำเทิน ๒ (แขวงคำม่วน) เขื่อนปากมูลของประเทศไทย หรือเขื่อนใหญ่แห่งอื่น ๆ เขื่อนเซกะมาน ๑ จะสร้างหายนะใหญ่หลวงต่อสภาพแวดล้อมของป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณ สัตว์ป่า ผืนป่าที่เต็มไปด้วยแม่ไม้ โดยยังมิได้ประเมินคุณค่าของป่าไม้อย่างแท้จริง นอกเสียจากจะเป็นไม้เศรษฐกิจที่ตีราคาได้เท่านั้น และโดยตัวของมันเอง โครงการนี้ย่อมขัดแย้งกับแผนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของรัฐบาลลาว โดยการประกาศเขตอนุรักษ์ชีวะนานาพันธุ์แห่งชาติ (NBCA) ๒๐ แห่ง เพื่อจะได้มีพื้นที่อนุรักษ์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่ประเทศอีกด้วย
สำหรับหายนะต่อพันธุ์ปลา ตลอดจนสัตว์น้ำอื่น ๆ ดอกเตอร์ไทสัน โรเบิร์ต และ เอียน แบรด์ ผู้ศึกษาวิจัยพันธุ์ปลาในลุ่มน้ำโขงและผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาในเขตร้อน รายงานตรงกันว่า
แม่โขงและลำน้ำสาขาเป็นสายน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลามาก
เป็นอันดับสองของโลกรองจากแม่น้ำแอมะซอน อาจมีถึง ๑,๒๐๐ ชนิด แม้ยังไม่มีการสำรวจความหลากหลายของพันธุ์ปลาในน้ำเซกอง เซกะมาน อย่างละเอียด แต่คาดว่าจะมีมากกว่า ๒๐๐ ชนิด หากประเด็นสำคัญก็คือ ภาพรวมของปลาในประเทศเขตร้อนส่วนใหญ่จะเป็นปลาอพยพ ซึ่งมักอพยพจากท้ายน้ำขึ้นไปเหนือน้ำเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ นอกจากเขื่อนจะตัดวงจรอพยพของปลาและวิถีธรรมชาติแล้ว มันยังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงต่อถิ่นอาศัย (habitat) ของเหล่าสัตว์น้ำ ด้วยการเปลี่ยนระดับ หรือคุณภาพความขุ่น ความใสของน้ำ ทำให้ปลาต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างรุนแรง
"เวลาคนพูดถึงผลกระทบจากเขื่อนต่อพันธุ์ปลา จะนึกถึงแต่อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน แต่ใต้เขื่อนมักไม่พูดถึง..." เอียนพูด เขาหมายถึงชาวบ้านที่ทำประมง หรือหาปลายังชีพเป็นหลัก
ทางท้ายน้ำจะได้รับความเดือดร้อน
เหมือนที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างแล้วมากมาย ไม่ว่าเขื่อนปากมูล เขื่อนน้ำเทิน-หินบูน
|
|
|
|
พาทริก แม็กคูลี ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมอันทรงคุณค่า Silenced River ได้กล่าวว่า บ่อยครั้งการอ้างประโยชน์ของเขื่อนขนาดใหญ่ได้กล่าวเกินจริงไปมาก เขายกหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า
โดยเปรียบเทียบแล้วโคลนที่น้ำพัดพามาเหนือเขื่อน
สามารถลดประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำได้อย่างรวดเร็ว ประเด็นโต้แย้งเรื่องโลกร้อน ไม่ใช่เรื่องการทดแทนการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินด้วยพลังน้ำ เพราะว่าเขื่อนขนาดใหญ่สามารถสร้างสภาพทางนิเวศที่ทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งสามารถทำให้มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากขึ้น
และปลายปี ๒๐๐๐ คณะกรรมการเขื่อนโลก องค์กรที่ริเริ่มโดยธนาคารโลกและสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์
ได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวแล้ว
การรายงานถึงความไม่เหมาะสม
ในการก่อสร้างเขื่อนน้ำเทินสองประเด็นสำคัญคือ
การกักเก็บน้ำจะทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ซึ่งเป็นตัวการทำให้โลกร้อนขึ้น นอกจากนี้ยังจะทำให้ประชากรแถบนั้นสูญเสียที่อยู่อาศัย เผชิญกับความเสี่ยงภัยด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น เนื่องจากสารเคมีและพาหะนำโรคจะไหลลงขังในอ่างเก็บน้ำ
สิ่งนี้อาจจะเป็นนิมิตหมายที่ดี หากรัฐบาลลาว (รวมทั้งรัฐบาลไทย)
นำมาพิจารณาถึงนโยบายการพัฒนาของตนว่า
การมุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
และข้อบกพร่องของมันอาจทำให้ละเลยปัญหาสังคมและการเมืองขั้นพื้นฐาน
ที่มีอยู่จริงในประเทศแถบที่ราบลุ่มแม่โขงก็เป็นได้ ไม่ว่าจะปัญหาด้านการศึกษาหรือสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่ต้องใช้เงินมากมาย แต่ให้ผลการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างแท้จริง
|
|
|
|
หมายเหตุ : คำพูดเปิดของบทที่ ๑ และ ๔ มาจาก หนังสือ Mekong ของ มิลตัน ออสบอร์น
|
|
|
|
ขอขอบคุณ
|
|
|
|
เปรมฤดี ดาวเรือง
วิทยากร ทองเสน
ทศพร โชคชัยผล
จิรวรรณ ตั้งจิตเมธี
และเพื่อนร่วมทาง ภัทรพงศ์ คงวิจิตร ธานินทร์ นนธะระ แซลลี ไรต์
|
|
|
|
อ้างอิง
|
|
|
|
Mekong by Milton Osborne, 2001.
The Ho Chi Minh Trail by Hoang Khoi, 2001.
Watershed, Vol.๗ No. 2 November 2001 - February 2002, Vol. 6 No. 1 July - October 2000, Vol. 5 No. 3 March - June 2000, Vol. 3 No. 2 November 1997 - February 1998
ความร่วมมือไทย-ลาว ในกรณีการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลาว (๑๙๙๓-๑๙๙๗) โดย พาฝัน นิลสวัสดิ์, ๒๕๔๒.
ปาพื้นเมืองอยู่พากใต้ของลาว เอียน แบรด์ บรรณาธิการ, ๑๙๙๙.
|
|