|
|
เรื่อง : รัฐพันธุ์ พัฒนรังสรรค์ / ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี
|
|
|
|
|
|
|
|
ในวงสนทนาของคนทำงานสวนสัตว์
สิ่งที่พวกเรามักจะยกมาเป็นหัวข้อพูดคุย ก็คือเรื่องเซ็กซ์ทั้งหลายแหล่ มีทั้งเซ็กซ์ที่เผ็ดร้อน เซ็กซ์ที่เนิบ ๆ เนือย ๆ ไปจนถึงเซ็กซ์ซาดิสม์ที่อาจจบลงด้วยการหอบหิ้วนำส่งโรงพยาบาล หรือบางทีก็อาจถึงกับตายไปข้างหนึ่ง
ไม่ต้องตกใจนะครับ เพราะเรื่องเซ็กซ์ที่เราหมกมุ่น เอ๊ย ! ...ให้ความสนใจกันอยู่ ไม่ใช่เซ็กซ์ของพวกเราชาวสวนสัตว์
แต่เป็นเซ็กซ์ของบรรดาจตุบททวิบาทน้อยใหญ่
ที่เราดูแลกันอยู่ รวมไปถึงบรรดาพวกไม่มีขา ...หนำซ้ำบ้างก็ไม่มีอวัยวะเพศ !
เรื่อง (เซ็กซ์) ที่ว่ามา
เป็นงานสำคัญงานหนึ่งที่ผู้ดูแลสัตว์
และคนในแวดวงสวนสัตว์จะต้องเข้าใจ
เป็นเป้าหมายของการทำงาน
ที่จะต้องประสบความสำเร็จให้จงได้ เป็นการอวดฝีมือกัน และก็เป็นผลงานในการพิจารณาขึ้นเงินเดือนด้วยสิครับ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ สิ่งที่คนทำงานสวนสัตว์ปลูกฝังกันมาตลอด-
-สัตว์ป่าที่เรานำออกมาจากถิ่นอาศัยของมัน จากบ้านของมัน เป็นต้นทุนที่เรายืมมาจากธรรมชาติ เราต้องทำงานให้เกิดความงอกงามของต้นทุน เพื่อที่วันหนึ่งเราจะสามารถส่งคืนทั้งต้นทั้งดอกให้คุ้มค่าแก่เจ้าของทุน อันได้แก่ธรรมชาติที่เราเคารพรัก
ประสบการณ์หกปีที่ผมได้รับจากสวนสัตว์
ทั้งในฐานะนายสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์
ของสวนสัตว์และหัวหน้าหมวดสัตว์ปีก ทำให้พูดได้อย่างเต็มปากว่า
งานของสัตวแพทย์สวนสัตว์ไม่ได้มีเพียงงานในเชิงรับ
อย่างการรักษาชีวิตของสัตว์ที่เจ็บป่วย บาดเจ็บ หรือกำลังจะตาย แต่ยังมีงานในเชิงรุก คือการมุ่งหาวิธีขยายพันธุ์สัตว์ เพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ป่าในกรงเลี้ยงให้ได้มากที่สุด เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องไปหาสัตว์จากป่ามาไว้ในสวนสัตว์กันอีก
หรือหากเราสามารถจำหน่ายสัตว์
ที่เกิดในสวนสัตว์เหล่านี้ออกไปในต่างประเทศได้ บรรดาสวนสัตว์ทั้งไทย-เทศ
ก็จะได้ไม่ต้องหาซื้อสัตว์จากป่า หรือ "สวมตอ" สัตว์ที่ถูกลักลอบนำออกจากป่า ว่าเป็นลูกที่เกิดในกรงเลี้ยงกันอีกต่อไป
|
|
|
|
งานรักษาสุขภาพสัตว์ รักษาชีวิตสัตว์ ตลอดจนงาน (พยายาม) ผสมพันธุ์สัตว์ ที่เรากำลังทำกันอยู่ ก็เหมือนกับผู้รักษาประตูในเกมฟุตบอล ที่นอกจากรักษาประตูให้ดีที่สุดแล้ว ยังวิ่งขึ้นไปทำประตูได้ด้วย แต่ผู้รักษาประตูจะเก่งกาจขนาดนั้นได้ ก็ต้องผ่านการเรียนรู้ฝึกฝน ผ่านประสบการณ์ เพื่อที่จะมองเกมออก เข้าใจเกมทั้งหมด เข้าใจความเด่นของทีมตัวเอง และเข้าใจเกมที่ฝ่ายคู่ต่อสู้กำลังทำกับเรา หรือรู้เขารู้เรานั่นเอง
ปัญหามันอยู่ที่ว่า "เรื่องสำคัญ" ที่เราจะต้องรู้กันให้ได้นี้ มันไม่มีโรงเรียนสอนกันตรง ๆ เสียด้วยสิครับ ทำให้ต้องพยายามขวนขวายดิ้นรนหาข้อมูลความรู้มาให้ได้ ใครไหนที่ชาวบ้านบอกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเซ็กซ์ เราก็ต้องไปกราบกรานขอวิชา หนังสือหรือตำราไหนที่ว่าดี (มีรูปมาก ๆ ยิ่งดี) ก็ต้องไปสรรหามาดูกัน วิดีโอ วีซีดีไหนว่าเด็ด ๆ ก็ต้องหามาดู เมื่อไหร่มี "เหตุ" เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ ไม่ว่าจะดึกดื่นเที่ยงคืนแค่ไหน ก็ต้องอดตาหลับขับตานอน ย่องเข้าไป (แอบ) ดูให้เห็นด้วยตา หรือถ้าถึงกับจะต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดก็อาจจะต้องลงทุน นั่น... คิดกันไปถึงไหนแล้ว ย้ำนะครับว่าเรื่องเซ็กซ์ของสัตว์
เมื่อมีโอกาสได้พบคนผู้สนใจเรื่องเดียวกัน ก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปขอความรู้เป็นวิทยาทาน (ซึ่งบางครั้งก็ต้องทำการอาจาริยบูชาด้วยแอลกอฮอล์) ทำให้มีคลังข้อมูลอยู่พอสมควร อาจารย์ของผมได้แก่ คนที่ทำงานสวนสัตว์ด้วยกัน นักชีววิทยาตามมหาวิทยาลัย นักวิจัยภาคสนาม คนเลี้ยงสัตว์ พราน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตลอดจนหนังสือหนังหา ตำรา วิดีโอ วีซีดี และ "ของจริง" จากบรรดาสรรพสัตว์ที่ผลัดกันมา "สาธิต" ให้ดูโดยไม่ต้องเสียค่าจ้าง
เรื่องที่จะหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังนี้ ความตั้งใจก็เพื่อเป็นการเพิ่มเติมเกร็ดความรู้กัน และเพื่อให้เราได้เข้าใจเพื่อนร่วมโลกของเรามากขึ้น ส่วนใครจะประยุกต์เอาไปใช้ยังไง อันนี้ผมไม่เกี่ยวนะครับ
|
|
|
|
เซ็กซ์ชั้นต่ำ-เซ็กซ์ชั้นสูง
|
|
|
|
ตั้งหัวเรื่องให้ดูหวือหวาไปอย่างนั้นแหละครับ จริง ๆ
แล้วผมกำลังจะพูดถึงเรื่องเซ็กซ์ของบรรดาสัตว์ชั้นสูง
และสัตว์ชั้นต่ำที่มีคำนิยามว่าด้วยเรื่อง "เซ็กซ์" แตกต่างกันไป และที่ว่าชั้นต่ำ-ชั้นสูงนั้น
ก็นับกันที่วิวัฒนาการ
และความซับซ้อนของระบบโครงสร้าง-การทำงานของร่างกาย ไม่ได้นับกันเชิงพฤติกรรม ไม่อย่างนั้นเราอาจจะสับสน เวลาพบสัตว์ "ชั้นสูง" ที่มีพฤติกรรมสวนทางกับวิวัฒนาการจนน่าตกใจ
คำถามหนึ่งที่ได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ก็คือ สิ่งมีชีวิตขั้นเริ่มแรก หรือสัตว์ชั้นต่ำนั้น "มีเซ็กซ์" กันยังไง สัตว์ชั้นต่ำในที่นี้หมายถึงสัตว์ที่มีวิวัฒนาการต่ำ
มีความซับซ้อนของโครงสร้าง
และระบบการทำงานของร่างกายน้อย อย่างเช่นสัตว์เซลล์เดียว ...มันก็น่าสงสัยอยู่หรอกครับ เพราะแค่ว่าไหนตัวผู้ไหนตัวเมีย มีอวัยวะเพศรึเปล่า ถ้ามี-เป็นยังไง ? ยังไม่รู้กันเลย
เท่าที่ค้นคำตอบมา พอจะเล่าคร่าว ๆ ได้ว่า ในสัตว์ชั้นต่ำ อย่างสัตว์เซลล์เดียวนั้น นิยามของการ "ผสมพันธุ์" และ "ขยายพันธุ์" ค่อนข้างจะซับซ้อนและมีความหมายเฉพาะ โดยการผสมพันธุ์คือ การแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรม หรือ "ยีน" (gene) ของสิ่งมีชีวิตสองตัวขึ้นไป อาจเกิดตัวใหม่หรือไม่ก็ได้ ส่วน "การขยายพันธุ์" ก็จะหมายถึงการที่สิ่งมีชีวิตตัวตั้งต้น ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตตัวใหม่ ซึ่งอาจจะเกิดจากตัวตั้งต้นเพียงตัวเดียวก็ได้ เช่นกรณีการแบ่งตัว แตกหน่อ อันเป็นการเพิ่มจำนวนโดยตรงโดยไม่ต้องมีการผสมพันธุ์กัน สัตว์ชั้นต่ำไม่มีอวัยวะเพศ ไม่มีระบบฮอร์โมนที่ซับซ้อน มีเพียงการตอบสนองต่อสารเคมีพื้นฐาน เช่นพบว่าพวกมันจะขยายพันธุ์มากขึ้นเมื่ออยู่ในภาวะ "เครียด" ไม่ได้เครียดเพราะเจ้านายจู้จี้เหมือนคนเรานะครับ แต่เป็นความเครียดที่เนื่องมาจากสิ่งแวดล้อม เช่น ออกซิเจนต่ำ อาหารน้อย เป็นต้น การขยายพันธุ์มากขึ้นในภาวะดังกล่าว นัยว่าเป็นการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ กรณีนี้ก็คล้ายกับพืชส่วนใหญ่ที่มักเร่งขยายพันธุ์ในฤดูแล้ง
แต่ก่อนจะอธิบายถึงการ "ผสมพันธุ์" ของสัตว์ชั้นต่ำ คงต้องกล่าวลึกลงไปในเชิงโครงสร้าง ว่ากันตั้งแต่ระดับโมเลกุล กล่าวคือ เซลล์ทุกเซลล์จะมีสารพันธุกรรมในตัวเอง ประกอบขึ้นจากสารเบสพื้นฐานสี่ชนิด (A T C G) ต่อกันเป็นสาย สายนี้พันกันเป็นเกลียวและม้วนอัดแน่นอยู่ในนิวเคลียส ลำดับเบสที่เรียงกันนับหมื่นนับแสนคู่ประกอบเป็นหนึ่งยีน หรือ "กลุ่มของสารพันธุกรรมพื้นฐาน" ที่สามารถทำหน้าที่จำเพาะของตัวเองได้ ในเซลล์หนึ่ง ๆ จะประกอบด้วยยีนเป็นหมื่นเป็นแสนจนไปถึงหลายล้านยีน เพื่อทำหน้าที่ที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ (ปริมาณยีนที่อยู่ในเซลล์
จึงเป็นตัวบอกความก้าวหน้าของวิวัฒนาการของสัตว์ชนิดนั้น ๆ ได้ระดับหนึ่ง)
ดังนั้นการที่สัตว์เซลล์เดียวหรือสัตว์ชั้นต่ำอย่างแบคทีเรีย เก็บกินสารพันธุกรรมที่ล่องลอยอิสระอยู่รอบ ๆ ตัวมัน เพื่อ "ซ่อมสร้าง" ตัวเอง จึงนับเป็นการ "ผสมพันธุ์" (หรือแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรม) ขั้นพื้นฐานที่สุดที่เราพบ สารพันธุกรรมอิสระดังกล่าวอาจจะมาจากแบคทีเรียตัวอื่นที่ตายแล้ว โดยเซลล์ที่ตายแตกสลาย ปล่อยสารพันธุกรรมให้ล่องลอยอยู่ สารพันธุกรรมนั้นเมื่อถูกกินเข้าไปแล้วยังทำหน้าที่ได้ เมื่อเซลล์เจ้าบ้านต้องการซ่อมสร้างตัวเอง
มันก็จะคลายเกลียวสารพันธุกรรมของตัวออก
และรับสารพันธุกรรมใหม่เข้ามา
เกิดการรวมกันของสารพันธุกรรมแบบใหม่
เข้ากับสารพันธุกรรมของตัวเองที่มีอยู่
นับเป็นวิวัฒนาการเริ่มแรก
ของการรับสารพันธุกรรมจากภายนอก
เข้ามาปรับปรุงพันธุกรรมในตัวเอง
|
|
|
|
ขยับขั้นขึ้นมาอีกหน่อย คือการ "ขยายพันธุ์" แบบไม่มีเพศ อันได้แก่การถ่ายทอดยีนให้เซลล์ใหม่แบบเหมือนเดิมเปี๊ยบ การขยายพันธุ์แบบไม่มีเพศมีด้วยกันหลายแบบ ตั้งแต่แบบที่เรียกว่า ไบนารี ฟิชชั่น (binary fission) ซึ่งเซลล์ที่ได้ออกมาจะมีขนาดเท่ากันทั้งสองเซลล์ การแตกหน่อ (budding) ที่เซลล์หนึ่งมีขนาดเล็กกว่าอีกเซลล์หนึ่ง หรือการแบ่งตัวออกเป็นหลาย ๆ เซลล์ (multiple fission) ที่สารพันธุกรรมจะเหมือนเดิมทั้งหมด แบคทีเรียเองก็อาศัยการขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ โดยอาจมีอุบัติเหตุในพันธะการแยกกันหรือการจับกันใหม่ของลำดับเบส ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยบังเอิญได้บ้าง แต่ก็น้อยมาก
ประมาณว่าแบคทีเรียในยุคเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตในโลก
แทบจะไม่แตกต่างจากแบคทีเรียทุกวันนี้เลย (ใครสะสมของเก่าก็สะสมแบคทีเรียกันนะครับ เก่ามากกก...)
แต่ความพิเศษของแบคทีเรียซึ่งทำให้ใครหลายคนมองว่าพวกมัน "มีเซ็กซ์" กัน หรือเป็น "เซ็กซ์แรก ๆ ของโลก" นั้น อยู่ที่การผสมพันธุ์แบบที่เรียกว่า "คอนจูเกชั่น" (conjugation) โดยแบคทีเรียจะสร้างบางส่วนของสารพันธุกรรมหรือ "ยีน" ขึ้นมา แล้วส่งไปในผนังเซลล์ที่ปรับตัวเป็นท่อยืดออกมาได้ (และท่อนี้จะหดกลับได้เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ ...ดูคล้ายกับอะไรบางอย่างไหมครับ ?) เมื่อท่อไปแตะกับผนังเซลล์ของแบคทีเรียอีกตัว (หรืออีกชนิด) ก็จะแทงทะลุผนังเซลล์แล้วปล่อยสารพันธุกรรมส่งออกนั้นเข้าไปในเซลล์ของผู้รับ และสารพันธุกรรมนั้นก็จะไปทำหน้าที่ของมันต่อไป แม้การกระทำนี้จะไม่ได้ก่อให้เกิดการ "ขยายพันธุ์" ใด ๆ แต่ก็ทำให้เราเห็นได้ชัดว่า สิ่งที่มันต้องการคือการถ่ายทอดยีนของมันออกไปผสมกับยีนของอีกตัว ซึ่งคล้ายกับจุดประสงค์ของสิ่งที่เรียกกันว่า "การสืบพันธุ์ทางเพศ" ที่ทำให้เกิดความแตกต่างทางพันธุกรรมขึ้นในบรรดาสิ่งมีชีวิต
เมื่อเริ่มมีหลายเซลล์มากขึ้น การขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตก็เริ่มซับซ้อนมากขึ้น กล่าวคือจะมีเซลล์บางส่วนพัฒนาขึ้นมาทำหน้าที่เฉพาะในการสืบพันธุ์ แยกเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย ซึ่งก็มักจะแบ่งออกได้ตามขนาดและการสะสมพลังงานในเซลล์ โดยเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียจะมีขนาดใหญ่ มีพลังงานสะสมมาก บางกรณีมีปริมาตรมากกว่าเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้เป็นหมื่นหรือแสนเท่า
ตัวอย่างเช่น ฟองน้ำ
ฟองน้ำเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์
ที่สามารถขยายพันธุ์ทั้งแบบแตกหน่อ
และแบบอาศัยเพศ ฟองน้ำบางชนิดแบ่งเป็นเพศผู้และเพศเมีย แต่บางชนิดก็มีทั้งสองเพศในตัวเดียว
สเปิร์มหรือเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ที่สร้างออกมา
จะถูกขับออกไปล่องลอยอิสระ
และเมื่อถูกฟองน้ำเพศเมียดูดเข้ามาในช่องลำตัว
ก็จะเกิดการปฏิสนธิกับไข่ ได้เซลล์ใหม่ที่จะแบ่งตัวเพิ่มเซลล์ขึ้นจนเป็นฟองน้ำอันใหม่ (เห็นได้ว่าลักษณะของเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมีย
เริ่มมีลักษณะคล้ายสัตว์ที่มีวิวัฒนาการสูง คือเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้เคลื่อนที่ และเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียอยู่ในตัวแม่)
หนอนโขดหิน แม้จะนับเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการต่ำ แต่ก็มีการแบ่งเพศผู้เพศเมีย มันจะเกาะตัวอยู่กับโขดหินชายหาดที่น้ำขึ้น-ลง เก็บกินสิ่งมีชีวิตที่เล็กมาก ๆ หรือสารอินทรีย์ที่ลอยมาตามน้ำกินทางงวงที่เป็นเสมือนปาก ตัวเมียจะมีลำตัวยาวประมาณ ๑๐ ซม. แต่จะมีท่อคล้ายงวงยืดยาวออกไปได้ถึง ๑ เมตร งวงนี้ยังสามารถหลั่งฟีโรโมนดึงดูดใจตัวอ่อนเพศผู้ (ขนาดประมาณ ๑-๓ มม.) ที่ล่องลอยอยู่ในกระแสน้ำหรือเกาะตามโขดหินให้เข้ามาในงวง เมื่อตัวอ่อนเพศผู้เข้ามาในร่างตัวเมีย มันจะไปอาศัยอยู่ที่อวัยวะคล้ายมดลูก เพื่อทำหน้าที่สร้างสเปิร์มอยู่ในตัวของเพศเมียไปตลอดชีวิต ส่วนตัวอ่อนเพศผู้ที่ไม่มีโอกาสเข้าไปอยู่ในร่างกายของตัวเมียก็จะเกาะอยู่ที่โขดหิน แล้วกลายเป็นตัวเมียไปในวันหนึ่ง
|
|
|
|
แมงกะพรุน ขยายพันธุ์ได้ทั้งโดยการแตกหน่อและแบบอาศัยเพศ โดยบางชนิดเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมียจะผสมกันภายนอกตัวแม่ แล้วล่องลอยไปติดกับหินหรือพื้นทะเล จากนั้นจะเริ่มพัฒนาตัวเป็นท่อ แตกกิ่งก้านขึ้นมา ก้านนั้นจะสร้างชีวิตใหม่ขึ้นเป็นตัวอ่อนรูปทรงจาน หลุดลอยไปใช้ชีวิตอิสระ และเติบโตเป็นแมงกะพรุนอย่างที่เราเห็น
ตัวตืด พยาธิตัวตืดขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ ปล้องแต่ละปล้องของมันทำหน้ากึ่งมีชีวิต โดยในแต่ละปล้องจะมีทั้งรังไข่และอัณฑะ รวมทั้งต่อมสร้างอาหารเลี้ยงตัวอ่อน ในการผสมพันธุ์มันจะผสมกับปล้องของตัวอื่น เมื่อได้รับการผสมแล้ว ไข่ก็จะเติบโต ส่วนอวัยวะอื่น ๆ ในปล้องจะฝ่อลงจนเหลือแต่เปลือกปล้องกับไข่เต็มปล้อง ซึ่งจะหลุดจากตัวแก่ปะปนมากับมูลของสัตว์ที่มันอาศัย รอคอยให้มีสัตว์มากินเพื่อเข้าสู่วงจรชีวิตระยะต่อไป
หนอนปล้อง (เช่น พยาธิตัวกลม)
โดยมากหนอนปล้อง
จะแบ่งเพศชัดเจนแต่บางชนิดก็มีทั้งสองเพศ สเปิร์มและไข่จะถูกสร้างขึ้นและเก็บอยู่ในช่องว่างของลำตัว
เมื่อพัฒนาเต็มที่แล้วจะถูกขับออกมาทางช่องทวาร
หรือแตกออกมาจากช่องของลำตัว บางชนิดก็สร้างเมือกมาให้เซลล์สืบพันธุ์อยู่ แล้วเกิดการผสมกันที่ภายนอกร่างกาย บางชนิดฉลาดและกลัวเสียเวลา เช่น พยาธิ Syngamus trachea ตัวผู้และตัวเมียจะติดกันตลอดเวลา โดยตัวผู้จะยื่นบางส่วนของตัวมันเข้าไปอยู่ในร่างของตัวเมียอย่างถาวรตลอดชีวิต ...ใครอยากภาวนาไปเกิดใหม่เป็นพยาธิชนิดนี้ก็เชิญตามสบายนะครับ
เมื่อวิวัฒนาการสูงขึ้น การขยายพันธุ์ก็จะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เริ่มจากมี "ต่อมเพศ" หรือต่อมสร้างเซลล์สืบพันธุ์ มี "ที่เก็บสะสมเซลล์สืบพันธุ์" ทำหน้าที่รวบรวม สร้างอาหารให้เซลล์สืบพันธุ์ เตรียมความพร้อม และในที่สุดก็มี "อวัยวะสืบพันธุ์" ที่ทำหน้าที่เป็นเส้นทางลำเลียงเซลล์สืบพันธุ์ที่มีแนวโน้มจะเปราะบางมากขึ้น ทนต่อโลกภายนอกไม่ได้มากขึ้น ให้เข้าไปสู่อีกตัว ดังจะเห็นได้ในกลุ่มสัตว์ที่มีแกนกลางหรือสัตว์มีกระดูกสันหลัง ที่จะมีระบบเครื่องเพศค่อนข้างสมบูรณ์ มีต่อมสร้างเซลล์สืบพันธุ์ มีท่อนำส่งเซลล์สืบพันธุ์ มีต่อมเก็บเพื่อให้เซลล์สืบพันธุ์สมบูรณ์เต็มที่ ฯลฯ
ในสัตว์ชั้นสูง นอกจากจะมี "เครื่องมือ" ต่าง ๆ ดังที่ว่ามาแล้ว ยังมีระบบฮอร์โมนที่ซับซ้อนขึ้นด้วย เช่นในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จะมีฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมฮอร์โมนอีกตัวหนึ่ง เพื่อที่จะไปมีผลกับฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งอีกที และมีกลไกของร่างกายซับซ้อน ทำให้เกิดอะไรแปลก ๆ เช่น ถ้าผู้ชายกินฮอร์โมนเพศชายมาก จะทำให้เป็นหมัน เพราะฮอร์โมนเพศชายไม่เพียงพอ งงไหมครับ ? คือ ฮอร์โมนที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมนเพศชายจะถูกยับยั้งเนื่องจากกลไก negative feed back จนร่างกายไม่สร้างฮอร์โมนเพศชาย กลายเป็นการเสียหน้าที่ของฮอร์โมนไป ความซับซ้อนของระบบฮอร์โมนนี้ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ แต่เป็นกลไกที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือหากสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมจริง ๆ ก็จะไม่มีการสร้างรุ่นลูก
ขั้นสุดท้ายของสัตว์ที่มีวิวัฒนาการสูง คือการมีพฤติกรรมการสืบพันธุ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น มีปฏิสัมพันธ์เชิงพฤติกรรมระหว่างกัน เพื่อกระตุ้นการทำงานของต่อม ท่อ การเคลื่อนที่ระดับเนื้อเยื่อ ฯลฯ ให้ช่วยทำงานส่งเซลล์สืบพันธุ์ให้เข้าไปหากัน รวมไปถึงการสร้างความสุข (ในสัตว์วัดได้จากสารกลุ่มให้ความสุข เช่น เอนดอร์ฟืน (endorphins) และเชิงพฤติกรรม ที่จะเห็นได้จากการที่สัตว์แสวงหา ต่อสู้ ครอบครอง เพื่อโอกาสในการผสมพันธุ์) การสร้างความผูกพัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำรงชีพ การเลี้ยงลูก ทั้งนี้ก็เพื่อเป้าหมายสุดท้าย คือความอยู่รอดของลูก อันหมายถึงความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์นั่นเอง
|
|
|
|
สารพัดสัตว์ สารพัดเซ็กซ์
|
|
|
|
อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจมีคำถามขึ้นมาบ้างว่า บรรดาสัตว์ต่าง ๆ ไม่ว่าชั้นสูง-ชั้นต่ำ "มีเซ็กซ์" กันทำไม หรือลึก ๆ ลงไปก็คือ ทำไมต้อง "มีเพศ" ในเมื่อสิ่งมีชีวิตสืบพันธุ์แบบไม่มีเพศมาได้ตั้งหลายล้านปี และก็ได้ผลดีด้วย ทำไมจึงต้องมีเพศให้วุ่นวายยุ่งเหยิงกันไปทั้งโลกนี้
ว่าตามข้อสมมุติฐานเบื้องต้นก็ต้องบอกว่า ในเชิงนิเวศวิทยาวิวัฒนาการ
การสืบพันธุ์แบบมีเพศ คือการรวมเอาสารพันธุกรรมหรือยีนของสิ่งมีชีวิตสองตัว มาสร้างตัวใหม่รุ่นลูกขึ้นมาหนึ่งตัวหรือหลายตัว ที่มียีนต่างไปจากรุ่นพ่อ-แม่เล็กน้อย ซึ่งจะสามารถปรับตัวในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดีกว่า หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อหลีกหนี-เอาชนะศัตรูได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (เช่นมีกลไกการป้องกันตัวจากสัตว์ผู้ล่า ปรสิต ตัวเบียนต่าง ๆ) นอกจากนี้ความแปรผันทางยีนยังทำให้เกิดวิวัฒนาการรวดเร็วมากขึ้นด้วย
จากการศึกษาทดลองเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการสืบพันธุ์สองแบบ คือแบบมีเพศและไม่มีเพศ
พบว่าข้อเด่นของการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
คือ
ความรวดเร็วในการขยายพันธุ์ แต่ข้อเสียคือไม่อาจเผชิญการแข่งขันได้ดีนัก ในโลกที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขัน เบียดเบียน โจมตีกัน ทั้งในสปีชีส์เดียวกันและต่างสปีชีส์
การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า
มีความเหมาะสมมากกว่า ตามหลักการ "กฎความอยู่รอดของสิ่งที่เหมาะสมที่สุด" (Survival of the fitness)
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตเพื่อต่อสู้กับศัตรูในธรรมชาติ อาทิ ไวรัส แบคทีเรีย แมลง ที่จัดเป็นตัวเบียนหรือภัยคุกคาม ตัวเบียนเหล่านี้ขยายพันธุ์ได้เร็วและเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้เร็ว ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ สัตว์หลายชนิดจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อหลีกหนีการโจมตี
ทั้งนี้มีหลักฐานทางการทดลอง
ยืนยันว่าตัวเบียนชอบที่จะโจมตีสัตว์เจ้าบ้าน
ที่มันคุ้นเคยมากกว่า
ในการทดลองกับหอยสองกลุ่มประชากร จากแหล่งอาศัยที่ห่างไกลกันมาก โดยใช้พยาธิที่นำมาจากแหล่งเดียว พบว่าพยาธิเลือกโจมตีกลุ่มที่มาจากแหล่งอาศัยเดียวกับมัน และจากการทดลองต่อเนื่องโดยแบ่งประชากรหอยเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่เกิดจากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ กับกลุ่มที่เกิดจากการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ แล้วนำมาปล่อยในแหล่งน้ำที่มีพยาธิ เมื่อเวลาผ่านไป พบว่าหอยกลุ่มที่เกิดจากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ มีจำนวนพยาธิในตัวน้อยกว่ากลุ่มที่เกิดจากการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
เคยมีกรณีการมองต่างมุมว่า หากสัตว์ต้องการ "สืบทอดพันธุกรรมของตัวเอง" คือสืบทอดยีนแบบตัวเองเป๊ะ ๆ การขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศก็นับเป็นความฟุ่มเฟือยที่มีประสิทธิภาพต่ำ เพราะสัตว์ต้องใช้พลังงานและเวลามากมายในการตามหาคู่ ต่อสู้แก่งแย่ง เพื่อให้ได้ผสมพันธุ์ ใช้เวลาและพลังงานมากมายในการขยายพันธุ์ (ที่ควรจะเอาไปใช้ในกิจกรรมหลัก คือ หากินและหลีกหนีการถูกกิน มากกว่า) หนำซ้ำผลที่ได้ก็เป็นเพียงรุ่นลูกที่มียีนไม่เหมือนตัวเอง การทำเช่นนั้นดูเหมือนเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า ?
คำอธิบายสำหรับเรื่องนี้อยู่ที่การหันมามองในกรอบกว้าง การขยายพันธุ์แบบมีเพศถึงแม้จะไม่มีประสิทธิภาพในการถ่ายทอดยีนของตัวเอง แต่มันก็มีค่าในระดับประชากร เช่นที่นักนิเวศวิทยากล่าวถึงพฤติกรรมการเสียสละตนเองเพื่อกลุ่ม กรณีที่สัตว์ในฝูงจะร้องเตือนกันเมื่อมีสัตว์ผู้ล่าเข้ามาใกล้ แม้การร้องเตือนภัยจะทำให้สัตว์ผู้ล่าทราบตำแหน่ง เท่ากับเพิ่มความเสี่ยงของตน แต่ก็ช่วยให้ทั้งกลุ่มปลอดภัยมากขึ้น สัตว์ที่สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศก็เช่นเดียวกัน คือยอมเสียสละพลังงาน เวลา และการเห็นแก่ตัวของยีนตนเอง มาสร้างยีนของรุ่นลูกที่พัฒนาเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น เพื่อการอยู่รอดของประชากรในภาพรวม
และหากพิจารณาตามกฎการคัดเลือกตามธรรมชาติ (Natural selection) แล้ว การขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศก็น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะว่ามันได้พิสูจน์ตัวเองออกมาแล้วด้วยการมีอยู่เต็มไปหมด กล่าวคือการขยายพันธุ์ในลักษณะนี้มีอยู่ประมาณ ๙๙.๙ % ของจำนวนชนิดสัตว์ชั้นสูงทั้งหมด
|
|
|
|
และต่อไปนี้คือ "กรณีตัวอย่าง" ที่น่าสนใจของบรรดาเพื่อนร่วมโลกของเรา
ปลาหมึก ใช้ "หนวด" ผสมพันธุ์ อวัยวะสืบพันธุ์ของปลาหมึกดูพิสดารกว่าเขาอื่น เพราะคือ "มือ" หรือหนวดยาว ๆ ของมันนั่นเอง ปลาหมึกตัวผู้จะสร้างน้ำเชื้อจากเซลล์เยื่อบุช่องลำตัวที่มีหน้าที่เฉพาะ แล้วนำไปเก็บไว้ที่ส่วนหัว เมื่อจะผสมพันธุ์ มันจะส่งถุงน้ำเชื้อนั้นไปตามท่อของหนวดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของช่องลำตัว ไปรวมกันอยู่ที่ตรงปลาย และเนื่องจากปลาหมึกเป็นสัตว์ที่มีช่องเปิดของลำตัวช่องเดียว ดังนั้นช่องทางที่ปลาหมึกเพศผู้จะส่งน้ำเชื้อเข้าไปสู่ตัวเมีย จึงเป็นช่องเดียวกับที่ตัวเมียใช้กินอาหาร ซึ่งก็นับเป็นเรื่องเสี่ยงอยู่เหมือนกัน เพราะเคยมีกรณีที่เกิด "อุบัติเหตุ" ไม่คาดฝัน คือแม่ตัวเมียกัดหนวดเส้นนั้นขาดไป (จะเนื่องจากการ "สปัสซั่ม" หรือเกร็งเนื่องจากความเสียวก็ไม่ทราบได้) ก็เท่ากับโดน "เจี๋ยน" หมดสิทธิ์ผสมพันธุ์ไปเลย ที่น่าแปลกอีกอย่างคือ มีปลาหมึกบางชนิดที่ตัวผู้สามารถ "ปล่อย" หนวดให้ว่ายน้ำไปอย่างอิสระ หนวดนั้นจะว่ายไปหาตัวเมีย (บางตำราก็ว่าตัวเมียว่ายไปเก็บหนวดนั้นกิน) ผลก็คือหนวดที่มีถุงน้ำเชื้อมากมาย ผ่านเข้าไปในช่องลำตัวของตัวเมียได้ และเกิดผลในการผสมพันธุ์
พี่ที่ผมเคารพคนหนึ่งกินปลาหมึกฟรีมามากแล้ว ด้วยการไปถามซื้อปลาหมึกกับแม่ค้าว่าเอาแต่ตัวผู้นะ แม่ค้างง เพราะถ้าบอกเอาแต่ตัวเมีย ยังหาหมึกไข่ให้ได้ พี่เขาก็เลยเฉลยด้วยการเล่าพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของปลาหมึก แล้วนับหนวดกันดูที่แผงเลย แม่ค้าชอบใจยกปลาหมึกให้ไปกินฟรีที่บ้าน บอกว่าขายมา ๒๐ ปีแล้วพึ่งมารู้วันนี้เอง
ตัวเรือด "เจาะไข่แดงไม่ได้ก็เจาะตัวไปเลย" ตัวเรือดตัวผู้มีอวัยวะเพศที่แข็งแรงมาก ใหญ่และโค้งงอ ทำให้ยากในการสอดใส่
ตัวผู้จึงพัฒนาให้ไม่จำเป็นต้องสอดอวัยวะเพศ
เข้าไปทางอวัยวะเพศตัวเมีย แต่ "เจาะ" แล้วฉีดน้ำเชื้อเข้าไปในช่องลำตัวของตัวเมียโดยตรงเลย
ตัวเมียจะเก็บน้ำเชื้อเหล่านั้นไว้ในเนื้อเยื่อพิเศษภายในช่องลำตัวของมัน
จนกระทั่งหาเหยื่อและดูดเลือดได้
ความสมบูรณ์ของร่างกาย
อันเกิดจากอาหารจะทำให้เกิดกลไกกระตุ้นสเปิร์มเหล่านั้น
ให้เดินทางไปหารังไข่เพื่อผสมกับไข่ของตัวเมีย ที่น่าสนใจกว่าคือ มีการพบรอยแผลถูกผสมพันธุ์ตามร่างกายของตัวผู้บางตัวเช่นเดียวกับตัวเมีย ไม่รู้ว่านี่เป็นกรณี "โฮโมเซ็กชวล" ระดับแรก ๆ ของสัตว์กลุ่มที่เริ่มมีวิวัฒนาการสูงขึ้น หรือจะเป็นแค่ความผิดพลาดทางการรับรู้กลิ่นของเพศตรงข้าม ?
เม่น ผสมพันธุ์แบบฝ่าดงหนาม แค่นึกว่าตัวเองเป็นเม่นตัวผู้ โลกก็ดูจะทารุณโหดร้ายขึ้นมาทันที สำหรับสัตว์ที่ทั้งตัวอุดมไปด้วยหนามแหลมนี้ การเข้าพระเข้านางเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับตัวผู้
ตัวเมียนั้นเมื่อต้องการผสมพันธุ์ มันจะเดินยกขาหน้าเข้าไปหาตัวผู้ แตะเบา ๆ ที่ขนของตัวผู้ หรือบางทีก็แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งด้วยการขยับบั้นเอว ตัวผู้ที่ใจตรงกันก็จะแสดงอาการตอบด้วยการยืนสองขา อวัยวะเพศแข็งตัว แล้วฉีดเยี่ยวไปที่ตัวเมียที่อาจอยู่ห่างไปถึงหกฟุต ...เซ็กซี่มากครับ ถ้ายังพอใจกัน ตัวเมียจะหมอบหลุบขนลู่ลง โยกหางไปข้าง ๆ ส่วนตัวผู้จะเดินท่าเดิม โดยให้อวัยวะเพศยื่นไปข้างหน้าให้มากที่สุด จนแตะถึงอวัยวะเพศของตัวเมีย การที่ต้องทำเช่นนี้ ทำให้เม่นตัวผู้ที่มีอายุมากกว่าได้เปรียบเม่นหนุ่ม เพราะอวัยวะเพศยาวกว่า เสี่ยงต่อการถูกตำด้วยขนตัวเมียน้อยกว่า เมื่ออวัยวะเพศผู้เข้าไปได้ มันก็จะเริ่มกระแทกด้วยการใช้หางช่วย และจะผสมกันคราวละ ๒๐ นาทีไปหลาย ๆ ครั้ง จนกว่าตัวผู้จะหมดแรงและจากไปเอง
|
|
|
|
ไส้เดือน กะเทยแท้ ไส้เดือนมีสองเพศในตัวเดียว รังไข่จะอยู่ทางหัวและอัณฑะอยู่ทางหาง เมื่อไส้เดือนสองตัวพบกัน มันจะเคลื่อนตัวมาชิดกันในลักษณะกลับหัวกลับหาง โดยยึดกันไว้ด้วยหนามเล็ก ๆ ที่เอาไว้ใช้คืบคลาน
จากนั้นมันจะขับเมือกออกมา
เพื่อเป็นตัวกลางให้น้ำเชื้อของแต่ละฝ่าย
เดินทางผ่านเข้าไปทางเนื้อเยื่ออ่อนระหว่างปล้อง ก่อนจะไปรวมตัวอยู่ที่ถุงบริเวณใกล้ส่วนหัว เรียบร้อยแล้วไส้เดือนทั้งคู่ก็จะแยกจากกันไป รอจนไข่แก่เต็มที่ซึ่งใช้เวลาอีกช่วงหนึ่ง ปล้องใหญ่ที่เรียกว่า "อาน" จะสร้างเมือกที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารออกมาเคลือบส่วนปล้องนั้นไว้ ปล้องเมือกนี้จะค่อย ๆ เคลื่อนผ่านลำตัวไปยังส่วนหัว เมื่อผ่านปล้องที่สร้างไข่ ไส้เดือนก็จะขับไข่ออกมาอยู่ในเมือกนั้น พอถึงปล้องใกล้ ๆ หัวมันก็จะขับถุงน้ำเชื้อเข้าไปในเมือก ก่อนจะสลัดปล้องเมือกนั้นออกจากตัวและจากไป ปล้องเมือกจะปิดหัวปิดท้ายสนิทและแข็งตัวอย่างรวดเร็วเป็นเสมือนเกราะปกป้อง จากนั้นไข่จะผสมกับน้ำเชื้อและฟักออกเป็นไส้เดือนตัวใหม่ในที่สุด
ม้าน้ำ โลกที่กลับกันไปเกือบทุกอย่าง อย่างที่เราท่านทราบว่าม้าน้ำตัวผู้ทำหน้าที่ของสัตว์เพศเมียในการเป็นผู้อุ้มท้อง แต่ที่จริงการสลับบทบาทยังมีมากกว่านั้น กล่าวคือ ตั้งแต่กระบวนการเกี้ยวพาราสี ม้าน้ำตัวเมียจะดึงดูดความสนใจของม้าน้ำตัวผู้โดยการว่ายไปรอบ ๆ อวดสีสันที่สดใส จับหางของตัวผู้โยกไปมา จากนั้นทั้งคู่จะพากันลอยขึ้นไปที่ผิวน้ำ ตัวผู้จะดูดลมเข้าถุงหน้าท้อง ส่วนตัวเมียก็จะเอาปุ่มฉีดไข่ คลำไปตามร่างกายของตัวผู้จนเจอรูที่กระเป๋าหน้าท้อง ตัวเมียจะดันปุ่มเนื้อเข้าไปแล้วฉีดไข่เข้าไปในท้องม้าน้ำตัวผู้ประมาณ ๖๐๐ ใบ ตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่ และเก็บไข่ไว้ในท้องของมันจนฟักออกเป็นตัว ก่อนจะ "คลอด" โดยพ่นลูกม้าน้ำออกมาทางรูกระเป๋าหน้าท้องนั้นเอง
นกกระสา ไม่มีปีกก็ไม่ได้ขึ้นสวรรค์ ในสัตว์ปีกส่วนใหญ่ เมื่อตัวเมียพร้อมรับการผสม ก็จะหมอบ ย่อตัวลง เพื่อให้ตัวผู้ปีนขึ้นไปทับและประกบช่องทวารรวม (cloaca) ที่พวกเพื่อน ๆ ชาวสวนสัตว์ต่างประเทศเรียกเสียไพเราะเพราะพริ้งว่า "cloacal kiss" แต่ในกลุ่มนกน้ำขายาว เช่น นกกระสา ตัวเมียมักจะยืนกางปีก ตัวผู้ต้องกระโดดกึ่งบินขึ้นไปใช้ตีนเกาะที่หัวปีก จึงจะประกบช่องทวารรวมได้ ทำให้นกกระสาที่ปีกหักไม่สามารถผสมพันธุ์ได้ เพราะร่างกายเสียสมดุล กรณีเช่นนี้สัตวแพทย์ก็ต้องช่วยดามปีกให้เข้าที่เข้าทางที่สุด เพื่อช่วยให้เกิดการผสมพันธุ์
ตั๊กแตนตำข้าว ตัวตายแต่ใจยังอยู่ ตั๊กแตนตำข้าวตัวเมียตัวใหญ่กว่าตัวผู้มาก และมักจะจับตัวผู้กินทั้งระหว่างและหลังสืบพันธุ์ ทำให้ตัวผู้ต้องระวังตัวมากในการเข้าหา เมื่อตัวเมียเข้าใกล้ มันจะทำตัวแข็งเหมือนไม่มีชีวิต รอจนตัวเมียเข้ามาใกล้พอ
มันก็กระโดดขึ้นเกาะหลัง
และสอดอวัยวะเพศเข้าไปในช่องเพศ
เพื่อส่งถุงน้ำเชื้อเข้าไปในร่างของตัวเมีย เมื่อเสร็จกิจ ตัวผู้ต้องหนีให้เร็วที่สุด เพราะหากช้าไปวินาทีเดียวก็อาจจะถูกจับกินได้ ถึงอย่างนั้นตัวผู้ก็ยังสมัครใจเดินเข้าไปหาความตายอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งยังมีบางชนิดที่มีวิวัฒนาการพิเศษ คือหากตัวผู้ไม่หัวขาด ก็จะไม่เกิดการขับน้ำเชื้อ
|
|
|
|
งู จะใช้อันไหน ? อวัยวะเพศของงูตัวผู้มีสองอัน มีลักษณะเป็นติ่งเนื้อที่เต็มไปด้วยหนาม เมื่อต้องการผสมพันธุ์ งูสองตัวจะส่งกลิ่นฟีโรโมนเรียกหากัน เมื่อพบกันแล้ว งูจะกอดรัดกันอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนจะประกบช่องทวารรวมเข้าด้วยกัน ทีนี้ก็แล้วแต่ว่าการประกบกันนั้นใกล้ทางซ้ายหรือทางขวา โดยตัวผู้จะสอดอวัยวะเพศเข้าไปในช่องทวารรวมของตัวเมียเพียงอันเดียว และควบคุมการหลั่งน้ำเชื้อให้หลั่งมาเฉพาะด้านนั้นได้ และอาจด้วยลักษณะทางสรีระ ทำให้การแยกออกจากกันทำได้ยาก ดังนั้นหากงูที่กำลังผสมพันธุ์อยู่ถูกรบกวน มันก็จะหนีไปโดยลากอีกตัวที่ช่องทวารติดกันอยู่ไปด้วย
แมลงปอ ทำให้มันยากขึ้นอย่างงั้นเอง แมลงปอตัวผู้มีช่องเปิดของน้ำเชื้อที่ปลายหาง แต่มันจะเอาถุงน้ำเชื้อมาเก็บไว้ที่อวัยวะเก็บน้ำเชื้อบริเวณหน้าอก เมื่อเจอตัวเมีย มันจะบินไปเอาอวัยวะยึดเกาะที่คอหรือหัวของตัวเมีย แล้วตัวเมียก็จะเอาช่องเพศของตัวเองขึ้นไปแตะที่อวัยวะเก็บน้ำเชื้อของตัวผู้ จากนั้นทั้งคู่อาจแยกกันหรือพากันบินไปในท่าที่เกาะกันอยู่ หยอดไข่ลงในน้ำ แล้วปล่อยให้ไข่ฟักเป็นตัวอ่อน ออกล่าเหยื่อกินในน้ำต่อไป ก่อนจะลอกคราบออกเป็นตัวเต็มวัย
ปลาโลมา ท่ามาตรฐาน ปลาโลมาที่พึงใจต่อกันจะว่ายน้ำไปด้วยกัน มีการเอาจมูก หรือครีบถูร่างกายของเพศตรงข้าม บางครั้งยังมีการเอาครีบใส่เข้าไปในช่องเพศของตัวเมียด้วย อวัยวะเพศผู้จะแข็งตัวให้เห็นได้จากภายนอก โดยตัวผู้จะตั้งตัวขึ้นเพื่ออวดอวัยวะเพศแก่ตัวเมีย และบางทีตัวเมียก็จะตั้งตัวตรงเพื่ออวดอวัยวะเพศเช่นเดียวกัน เมื่อทั้งสองตื่นตัวเต็มที่ จะว่ายประกบเอาท้องชนกันแล้วสอดใส่อวัยวะเพศ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นมาก ปลาโลมาคงคาชอบที่จะกระโดดให้พ้นน้ำแล้วผสมพันธุ์กันกลางอากาศ
ห่าน สามตัวผัวเมีย บางทีห่านตัวผู้จะอยู่เป็นคู่ มีการเกี้ยวพาราสีกัน พยายามปีนขี่กันบ้าง แต่ก็แน่นอนว่าไม่เกิดอะไรขึ้นมา เมื่อห่านตัวผู้หนึ่งในสองตัวนั้นจะไปหาตัวเมีย ก็จะพากันไปทั้งสองตัว หรือเมื่อมีห่านตัวเมียปรากฏตัวขึ้นมาขณะที่ตัวผู้ทั้งสองตัวแสดงท่าทางเกี้ยวกัน ก็อาจเกิดการผสมพันธุ์กันแบบสองต่อหนึ่ง จากนั้นทั้งสามตัวจะช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงลูก คงเห็นว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องเล็ก เรื่องครอบครัวสำคัญกว่ากระมังครับ
ปลากระพง เกิดเป็นชาย โตไปเป็นหญิง มีปลาหลายชนิดที่เป็นได้ทั้งสองเพศในตัวเดียว เพียงแต่ไม่ได้มีสองเพศในเวลาเดียวกันอย่างกะเทยแท้ ปลากระพงนั้นเมื่อเกิดมาใหม่จะมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่ตัวผู้นั้นเมื่อถึงวัยที่มีความสมบูรณ์ของร่างกายมากพอ ก็จะเปลี่ยนเป็นตัวเมีย ทั้งนี้เพราะตัวเมียต้องใช้พลังงานมากมายในการสร้างไข่ กรณีนี้เป็นการเปลี่ยนเพศตามวัยและขนาดของร่างกาย
คนละแบบกับคนเรา
ที่บางคนเกิดมาเป็นผู้ชายแต่กลายเพศไปเมื่ออายุมากขึ้น
แล้วบอกว่าเพิ่งค้นพบตัวเอง
ปลาการ์ตูน เปลี่ยนเพศได้ตามสถานการณ์ ปลาการ์ตูนเป็นปลาตัวเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ตามกอดอกไม้ทะเล มีรูปร่างสีสันน่ารักคล้ายการ์ตูน ปลาการ์ตูนมักอาศัยอยู่ในกลุ่มหนวดของดอกไม้ทะเลเป็นคู่ ๆ โดยมีตัวรุ่น ๆ ซึ่งไม่ใช่ลูก อาศัยร่มใบบุญอยู่ด้วยสองสามตัว เมื่อตัวเมียตายไป ตัวผู้จะกลายเป็นตัวเมียแทน
และตัวผู้รุ่นเล็กก็จะกลายเป็นตัวผู้คู่ผสมพันธุ์ไป กรณีปลาการ์ตูนเป็นการเปลี่ยนเพศไปตามสถานการณ์ ความขาดแคลน ถ้าคนเราเปลี่ยนเพศเป็นหญิงได้ยามขาดแคลนก็คงดี แต่อาจจะวุ่นพิลึกนะครับ
|
|
|
|
ปลาพยาบาล มีตัวเมียมากนัก เป็นตัวผู้ให้ก็ได้ ปลาพยาบาลเป็นปลาทะเลตัวเล็ก ๆ หากินเศษอาหารในปากของปลาใหญ่ โดยไม่ถูกปลาใหญ่กิน ปลาพยาบาลตัวผู้ตัวเดียวจะคุมฝูงตัวเมียราว ๕-๖ ตัว หากตัวผู้ตายไป ตัวเมียที่ใหญ่ที่สุดจะกลายเป็นตัวผู้ ปรับตัวสร้างสเปิร์มได้ภายในเวลาอันสั้นเพียงอาทิตย์เดียวเท่านั้น
กิ้งก่า Whiptail ไม่ต้องอาศัยน้ำเชื้อตัวผู้ แต่ก็ยังต้องมีการผสมพันธุ์ กิ้งก่า Whiptail (รูปร่างคล้ายจิ้งเหลนตัวเล็ก ๆ) นับเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการสูงที่สุดที่สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ตัวลูกที่เกิดมาทุกตัวเป็นตัวเมีย ออกไข่ที่สมบูรณ์พันธุ์ในตัวเอง แต่มันยังต้องอาศัยตัวผู้ของชนิดที่ใกล้เคียงกันมาผสมพันธุ์ มีการถ่ายทอดสเปิร์มแต่ไม่ได้ผสมกับไข่ เพราะไข่สมบูรณ์อยู่แล้ว หรือบางกรณีก็จะมีตัวเมียของชนิดเดียวกันมาทำท่าเกี้ยว และมีการทำท่าผสมพันธุ์ด้วยการประกบช่องทวารรวม ๕-๑๐ นาที กระบวนการที่กล่าวมานี้เป็นไปเพื่อการกระตุ้นระบบฮอร์โมน แต่ไม่มีผลในการ "ผสม" พันธุ์ และหากเก็บตัวเมียไว้เดี่ยว ๆ ก็จะไม่มีการวางไข่
แรดขาว ไม่เหนื่อยไม่ยอม ในธรรมชาติ แรดจะไม่ยอมกันง่าย ๆ ทั้งคู่จะต้องวิ่งไล่กันไป ชนกันไป จนเหนื่อยที่สุดแล้วจึงจะผสมพันธุ์กัน ทำให้การขยายพันธุ์แรดในสวนสัตว์ทำได้ยาก เพราะพื้นที่ไม่พอให้วิ่งไล่กัน และหากชนกันเจ็บ ๆ แล้วฝ่ายหนึ่งหนีไม่ได้ ก็อาจพลาดพลั้งถึงเจ็บหนัก ที่สวนสัตว์แห่งหนึ่ง เคยมีคนเลี้ยงพยายามเสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วยแรดประกอบกิจกรรม (ลองคิดดูนะครับ เอาตัวเข้าไปอยู่ระหว่างแรดที่กำลังต่อสู้และพยายามจะผสมพันธุ์กัน) โดยพยายามจะจับอวัยวะเพศตัวผู้ให้เข้าช่องคลอด ปรากฏว่าเจ้าหนุ่มสะกดกลั้นไม่อยู่ เกิดการล่มปากอ่าวคามือ บ่อยครั้งเข้าแรดตัวผู้ก็หันมาติดใจคนเลี้ยงแทน ระยะหลัง ๆ เลยกลายเป็นว่าสวนสัตว์ต้องให้คนเลี้ยงเก็บน้ำเชื้อสดด้วยมือ เอามาทำน้ำเชื้อแช่แข็งไว้ผสมเทียม ซึ่งก็ดูจะง่ายและปลอดภัยมากกว่า ส่วนคำถามว่าทำไมแรดถึงไม่ค่อยยอมกันง่าย ๆ คงต้องดูที่อวัยวะเพศของตัวผู้ ...ที่ปลายอวัยวะเพศมีสามกลีบครับ
ช้าง โอ้โลมปฏิโลม
กลุ่มคนเลี้ยงช้างมักไม่นิยมให้ช้างตัวผู้ของตัวเอง
ผสมพันธุ์เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ดุ ไม่เชื่อฟัง และช้างจะใช้เวลาอยู่กันเป็นคู่นาน จนเสียการเสียงาน จะมีเพียงบางตัวเท่านั้นที่ "สั่งได้" ถึงกับเป็นพ่อพันธุ์เดินสายรับจ้างผสมทั่วราชอาณาจักร วิธีการคือจะผูกช้างเข้าใกล้ ๆ กัน ค่อย ๆ ดูใจกัน ขั้นนี้จะมีบางตัวที่ "ไม่ผ่าน" คืออีกตัวพยายามตื๊อแล้วก็ยังไม่ยอมกัน หากว่าพอใจกัน ก็จะมีการโอ้โลมปฏิโลม ใช้งวงกอด แตะอวัยวะเพศของอีกตัวแล้วมาดม การโอ้โลมนี้มักใช้เวลาหลายวัน จนตัวเมียเป็นสัดจึงจะเข้าผสมพันธุ์ เวลาผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเดินยกขาหน้า (นึกภาพตามนะครับว่าสัตว์ขนาด ๓-๔ ตัน เดินยกขาหน้าเข้าหา จะน่ากลัวขนาดไหน) ขึ้นคร่อมตัวเมีย อวัยวะเพศของตัวผู้จะมีกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ "ควาน" หาช่องทางเข้าได้ ซึ่งจะหายาก เพราะช่องคลอดของตัวเมียอยู่ที่ใต้ท้อง แถมยังชี้ไปข้างหน้า ความสามารถในการควานจึงต้องน้อง ๆ งวงเลยครับ แต่เมื่อเข้าไปข้างในได้ก็จะใช้เวลาไม่นานในการหลั่งน้ำเชื้อ เสร็จไปครั้งหนึ่ง ๆ ทั้งคู่ก็จะคลอเคลียกัน เมื่อมีแรงก็จะผสมซ้ำอีก สำหรับช้างตัวเมียที่ไม่ยอมก็จะมีกลเม็ดโดยการล้มตัวลงนอน แค่นี้ตัวผู้ก็ทำอะไรไม่ได้แล้วครับ
|
|
|
|
นกมาคอว์ นกมาคอว์เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์
จะเริ่มกระตุ้นกันและกัน
ด้วยการกลับหัวไปใช้ปากและลิ้น
กระตุ้นที่ช่องทวารรวมของคู่ผสมพันธุ์ นี่เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมปรกติในการผสมพันธุ์ ไม่ใช่เรื่องตลกโปกฮา เพราะถ้าไม่กระตุ้นกันตั้งแต่ต้นฤดู ความสำเร็จในการออกไข่และการที่ไข่จะฟักเป็นตัว จะต่ำลง
ปักษาสวรรค์ ชีวิตเพื่อความหล่อและการผสมพันธุ์เท่านั้น นกปักษาสวรรค์ หรือ Bird of paradise นั้น เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะมารวมตัวกัน แล้วแข่งกัน "โชว์" ความงาม ซึ่งก็งามน่าทึ่งสมกับที่อวดจริง ๆ จากนั้นตัวเมียก็จะพากันมาเลือก "ชอปปิง" ตัวที่ชอบ โดยยอมให้ผสมพันธุ์ เมื่อเสร็จธุระ ตัวเมียก็จะกลับไปที่รัง ออกไข่ เลี้ยงลูก ส่วนบรรดาตัวผู้ซึ่งไม่มีหน้าที่อื่นใด ก็จะตั้งหน้าตั้งตาทำตัวหล่อทรมานใจสาวกันต่อไป
เสือลายเมฆ เซ็กซ์ซาดิสม์ เสือลายเมฆขึ้นชื่อเรื่องการทำร้ายตัวเมีย โดยจะไล่ต้อนจนตัวเมียจนมุมแล้วจึงผสม ถ้าตัวเมียไม่ยอมจะไล่กัด จนบางครั้งตัวเมียเจ็บหนักต้องช่วยเย็บแผลกันอลหม่าน และอาจถึงกับตายถ้าไม่เฝ้าคอยแยก สวนสัตว์บางแห่งถึงกับต้องตัดฟันเสือออก เพื่อป้องกันการทำร้ายกันถึงตาย
เสือโคร่ง ใครว่าโด๊ป ?
นักนิยมยาโป๊ว
มักจะไปสรรหาอวัยวะเพศเสือโคร่งตากแห้งมาเข้ายา คงเห็นว่าเสือเป็นสัตว์ผู้ล่าที่ทรงอำนาจ น่าจะเป็นนักรักผู้ยิ่งใหญ่ แต่ที่จริงแล้วเสือก็เหมือนกับแมวทั้งหลาย คือขึ้นผสมพันธุ์เร็วมาก เท่าที่จับเวลากันก็ประมาณ ๒๐ วินาทีต่อหนึ่งครั้ง ระวังนะครับ ใครที่โด๊ปอวัยวะเสือมาก ๆ จะเหลือแค่ ๒๐ วินาที เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน
|
|
|
|
กามวิตถารของสัตว์
|
|
|
|
คำถามหนึ่งที่คนทำงานอย่างพวกเราได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อย ๆ ก็คือ ในหมู่สัตว์นั้น มีพฤติกรรมทางเพศอย่างที่เรียกว่า "กามวิตถาร" กันบ้างไหม ?
คำตอบไม่ใช่แค่มี แต่มี "หลายแบบ" เสียด้วยซีครับ จากการระดมความคิด ข้อมูล ประสบการณ์ ในหมู่นักสัตวศาสตร์ พบว่ามีหลายเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าคนเราเลย ไม่ว่าจะเป็นการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง การใช้วัตถุอื่น ๆ ช่วยในการทำให้ตัวเองมีความสุขทางเพศ การใช้อวัยวะอื่นนอกเหนือจากอวัยวะเพศช่วยประกอบกิจกรรมทางเพศ ไปจนถึงท่าทางในการร่วมเพศที่ผิดจากกลุ่มของตน การมีกิจกรรมทางเพศผิดไปจากเพศของตน การร่วมเพศข้ามชนิดพันธุ์ ทั้งนี้ไม่นับการผสมพันธุ์ที่ดูแปลกแต่พบได้ทั่วไปในภาวะปรกติ ตัวอย่างเช่น การมะรุมมะตุ้มร้อยต่อหนึ่งของงูบางชนิด เป็นต้น
การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองในหมู่สัตว์นั้นมีตั้งแต่การป้ายกลิ่นเพื่อสื่อสารกับตัวอื่น แล้วเกิดความมันในอารมณ์ เช่น แรดขาวอัฟริกาตัวเมียในสวนสัตว์ ที่จะถูอวัยวะเพศของมันเข้ากับสิ่งของต่าง ๆ ไปจนถึงการถูไถส่วนที่ไวต่อความรู้สึกของอวัยวะเพศจนถึงจุดสุดยอด เช่นช้างตัวผู้ที่เอาจู๋ตีท้องตัวเองเวลาคึก ๆ จนบางครั้งถึงกับหลั่งน้ำกามออกมา
ส่วนใหญ่การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองพบได้มากในกลุ่มลิง เช่น ชะนีตัวเมียที่ถูกขังแยกในกรงที่ไม่มีตัวผู้ (หรือมีตัวผู้แต่ไม่ยอมรับตัวผู้) จะมีการถูอวัยวะเพศกับกรง ส่วนในตัวผู้จะมีทั้งการถูอวัยวะเพศกับกรง ใช้มือ (อย่างเดียวกับคนนั่นแหละครับ) ไปจนถึงการใช้ปากกับอวัยวะเพศของตัวเอง และคงจะถึงจุดสุดยอดด้วยเพราะเห็นหงายหลังลงไปนอน ในธรรมชาติยังพบลิงตัวผู้ตัวเล็ก ๆ ที่ไม่มีโอกาสผสมพันธุ์ "ช่วยตัวเอง" เหมือนกัน แต่ต้องแอบ ๆ ทำนะครับ ถ้าทำประเจิดประเจ้ออาจโดนบรรดาผู้อาวุโสที่ขัดหูขัดตาไล่กัดเอาได้ เพราะการที่อวัยวะเพศแข็งตัวต่อหน้าผู้ใหญ่นั้นถือเป็นการแสดงความห้าวเกินงาม คล้าย ๆ จะแข่งหรือคุกคามสถานภาพตลอดจนอำนาจในการผสมพันธุ์ของตัวที่อาวุโสกว่า
จากการสังเกตพฤติกรรมสัตว์ในกรงเลี้ยง
พบว่าสัตว์จะใช้การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง
เป็นเครื่องมือในการระบายความเครียด ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากการถูกขัง หรือความเครียดเรื่องเพศที่ไม่มีโอกาสปลดปล่อย โดยอนุมานจากที่พบพฤติกรรมเช่นนี้ในธรรมชาติน้อยมาก เพราะฉะนั้นสวนสัตว์ไหนมีสัตว์สำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองมาก ก็เท่ากับมีฝีมือ (ในการดูแลสัตว์) น้อย
การใช้วัตถุต่าง ๆ เพื่อสร้างความสุขทางเพศก็พบได้ในสัตว์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บ้านหรือสัตว์ป่า
ในสัตว์บ้านก็ได้แก่สุนัขเลี้ยง
ที่เจ้าของมักมาบ่นกับสัตวแพทย์ว่า
สุนัขตัวผู้บางตัวชอบถูอวัยวะเพศกับโซฟาหรือข้าวของอื่น ๆ เคยมีเจ้าของบางคนเล่าให้ฟังว่าทนไม่ได้ ต้องช่วย "ปลดปล่อย" ให้ เป็นตารางเวลาปรกติอาทิตย์ละสองครั้ง ...ไม่วิจารณ์นะครับ คิดกันเอาเอง
|
|
|
|
มีเรื่องเล่ากันมาว่า ในสวนสัตว์แห่งหนึ่ง
เคยมีอุรังอุตังตัวผู้ตัวหนึ่งเข้ากับฝูงไม่ได้
เลยต้องอยู่เดี่ยวในกรง และต้องเอาแตงกวามาแก้เหงา คนเลี้ยงสงสารก็เลยช่วยอำนวยความสะดวกโดยการผ่าแตงตามขวาง แคะเอาส่วนที่เป็นไส้ออกเป็นช่อง เจ้าอุรังอุตังก็มีกิจกรรมประจำวันสม่ำเสมอ แต่เรื่องจบแบบไม่แฮปปี้เอ็นดิ้งเมื่อคนเลี้ยงเปลี่ยนงานไปเลี้ยงสัตว์อื่น คนที่มาเลี้ยงแทนไม่รู้ ไม่ได้เตรียมแตงแบบพิเศษไว้ให้ แต่หั่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เจ้าลิงก็เฉาไปจนล้มป่วย อันนี้เรื่องเล่านะครับ ถ้าอยากตามล่าหาความจริงก็ต้องไปสืบกันเอาเอง
ส่วนการใช้อวัยวะอื่น ๆ ช่วย ก็กลุ่มลิงนั่นอีกแหละครับที่เป็นกลุ่มเด่น มีตั้งแต่การใช้นิ้วเขี่ยอวัยวะเพศ แต่ก็ไม่เขี่ยนานจนถึงจุดสุดยอดนะครับ อาจเขี่ยเป็นการโหมโรง หรือเขี่ยเพราะยังขี้เกียจผสมก็ได้ เขี่ยแล้วก็มาดม ๆ
กรณีนี้ในเชิงกายภาพก็อาจเป็นการเอากลิ่นตัวเมียที่ติดสัด
มาเช็กว่าพร้อมรับการผสมพันธุ์หรือยัง เช่นเดียวกับที่สุนัขชอบเลียอวัยวะเพศของเพศตรงข้าม หรือช้างที่เอางวงไปดม ๆ แตะ ๆ ที่อวัยวะเพศของเพศตรงข้าม
ส่วนการใช้อวัยวะที่ไม่ใช่อวัยวะเพศกับอีกตัวจนถึงจุดสุดยอด
ก็เห็นจะมีแต่พวกลิงชั้นสูงหรือเอป เช่น โบโนโบ ชิมแปนซี เท่านั้น
การใช้อะไร "อื่น ๆ" อีกแบบที่เห็นได้บ่อย ก็คือในกรณีของการทำปศุสัตว์ที่จะมีการเก็บน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ที่มีลักษณะดีมาก ๆ เพื่อใช้ในการผสมเทียม เพราะจะนำน้ำเชื้อมาผสมกับตัวเมียได้หลายตัวมากกว่าให้ผสมจริง
การฝึกพ่อพันธุ์เพื่อการนี้
จะเริ่มจากการนำตัวเมียที่กำลังติดสัดมาให้พ่อพันธุ์ขึ้นทับ แล้วนำ "โยนีเทียม" (artificial vagina) มาสวม พอเกิดการหลั่งน้ำเชื้อแล้ว ก็จะเอาไปผ่านกระบวนการต่อไป ตัวพ่อพันธุ์เองก็คิดว่าตัวเองได้ผสม พอทำไปนาน ๆ เข้า จะใช้ตัวเมียที่ไม่ต้องติดสัดก็ได้ นานขึ้นไปอีกจะใช้ตัวผู้มาผูกให้ขึ้นทับก็ได้ กรณีหลังนี้เคยมีเจ้าหน้าที่เก็บน้ำเชื้อมือใหม่ คว้าจู๋พ่อพันธุ์ไม่ทัน เลยพลาดเกิดการผสมพันธุ์ทางทวารหนัก ตัวที่โดนทับก็โดนไป... และหากฝึกมานานพอจะใช้หุ่น dummy แทน เพราะพ่อพันธุ์จะ "รู้งาน" แค่เห็นคนจูง เห็นคอกผสม ก็รู้หมดแล้วว่าต่อไปจะต้องทำอะไร
สัตว์ที่มีลีลาท่าทางในการผสมพันธุ์
ที่ผิดปรกติไปจากพรรคพวก
ก็ไม่พ้นกลุ่มลิงอีกเช่นกัน
จากการติดตามสังเกตพฤติกรรมชะนีในธรรมชาติ
ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ของนักวิจัย พบว่านอกจากจะมีท่าทางในการผสมพันธุ์ตามแบบมาตรฐานลิง คือท่าที่ตัวเมียโก้งโค้ง ตัวผู้ยืนผสมจากด้านหลัง แล้ว ยังพบท่ามาตรฐานคนด้วย คือตัวเมียนอนหงายและตัวผู้คร่อมทับ ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ พบท่าที่ตัวผู้นอนหงายอยู่ทางด้านล่างด้วย คำอธิบายอาจอยู่ที่กายวิภาคของอวัยวะเพศของตัวเมียด้วย เช่น โบโนโบซึ่งเป็นเอปชนิดหนึ่ง
อวัยวะเพศของตัวเมีย
มีช่องเปิดที่ค่อนมาทางด้านหน้ามากกว่าด้านหลัง
การเริ่มการผสม
จึงมักจะเริ่มด้วยการที่ตัวผู้เข้าประกบจากทางด้านหลัง จากนั้นตัวเมียจะเปลี่ยนมานอนหงาย ซึ่งทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงจุดที่ไวต่อการสัมผัส
|
|
|
|
การผสมข้ามชนิดพันธุ์ก็พบได้ในสัตว์บางชนิด แต่มักไม่ค่อยเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะในธรรมชาติสัตว์จะมีการ "ป้องกัน" กรณีเช่นว่านี้ไว้หลายชั้น ตั้งแต่ขนาดตัวที่ต่างกัน การเข้ากันได้ของอวัยวะเพศที่มีรูปร่างต่างกันมาก (เช่นหมูจะมีอวัยวะเพศเป็นรูปเกลียว
อวัยวะเพศของตัวผู้ที่จะเข้าไปถึงคอมดลูกของตัวเมียได้
ก็ต้องเป็นรูปเกลียวเท่านั้น) พฤติกรรมฝังใจ เช่นเกิดมาแล้วเห็นสัตว์ชนิดใดเป็นชนิดแรก ก็ฝังใจว่าเป็นชนิดเดียวกับตน (เช่น
ในกลุ่มนกที่ธรรมชาติของลูกนก
ที่แม่ฟักออกมาก็ย่อมต้องเห็นแม่ก่อน เคยมีการแยกไข่นกกระเรียนมาฟักในตู้ แล้วนกกระเรียนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นนกกระเรียน แต่เข้าใจว่าตัวเองเป็นคน เลยพยายามเต้นรำจีบคน) การตอบสนองต่อเสียง กลิ่น แสง ท่าทาง ที่จำเพาะต่อชนิด กลิ่น เสียง แสง และท่าทางเหล่านี้ จะมีลักษณะที่เกิดขึ้นเองตามสัญชาตญาณ และจะตอบสนองแบบจำเพาะชนิด ซึ่งหากเกิดการผสม (ข้าม) พันธุ์ได้จริง ๆ ก็ยังมีตัวล็อกอีกชั้นหนึ่ง คือการเข้ากันไม่ได้ของสารพันธุกรรม ที่ทำให้ไม่เกิดการปฏิสนธิ หรือตัวอ่อนไม่สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้
แต่จะอย่างไรก็ยังมีการผสมข้ามพันธุ์ปรากฏให้เห็นอยู่ไม่น้อย
ทั้งโดยธรรมชาติ
และโดยมนุษย์บังคับ หรือแม้แต่การผสมเทียมข้ามชนิด ตัวอย่างในธรรมชาติได้แก่ ชะนีที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีชะนีลูกผสมระหว่าง ชะนีมือขาวกับชะนีหัวมงกุฎ
ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการที่ตัวพ่อ
และตัวแม่หาคู่ที่เป็นชนิดเดียวกันไม่ได้ นอกจากนี้ก็มีกรณีที่คนทำขึ้น ได้แก่ Tion (เสือตัวผู้กับสิงโตตัวเมีย), Liger (สิงโตตัวผู้กับเสือโคร่งตัวเมีย ), ฬ่อ (ม้าตัวผู้กับลาตัวเมีย) หรือสัตว์ในสวนสัตว์ที่เคยนิยมในช่วงปี ๑๙๗๐-๑๙๘๐ บางชนิด ซึ่งเดี๋ยวนี้เลิก "ฮิต" กันไปแล้ว
นอกจากนี้ก็มีกรณีผสมข้ามชนิดในสัตว์เลี้ยงเช่น เป็ดบางชนิด เมื่อเข้าฤดูผสมพันธุ์แล้วจะเมามันมาก ไล่ขี่สัตว์ทุกชนิดที่ขี่ได้ ไม่ว่าสุนัข แมว หรือไก่ฟ้า บางชนิดก็จะไล่ขี่แม้กระทั่งกระต่าย หรือที่เห็นในภาพข่าวหัวค่ำว่า ลิงพยายามผสมพันธุ์กับสุนัข ...ก็เป็นแค่ความพยายามน่ะครับ ไม่ใช่ว่าจะทำได้จริง
พูดกันมาก็หลายแบบหลายเรื่อง แต่ที่เห็นจะพิสดารพันลึกกันจริง ๆ ก็เห็นจะมีแต่คนนี่แหละครับ หรือใครจะค้าน ?
|
|
|
|
เบื้องหลังฉากรัก
|
|
|
|
จากฉากรักที่โลดโผนเร่าร้อน มาดูเรื่องราวเบื้องหลังเบื้องลึกของการตกลงปลงใจ "เลือกคู่ครอง" หรือแม้แต่การยอม "มีเซ็กซ์" ชั่วครั้งชั่วคราวของพวกมันกันบ้าง
ในสัตว์ส่วนใหญ่ ตัวเมียจะเป็นผู้เลือกตัวผู้ "เลือก" คือตัดสินใจที่จะยอมรับมาเป็นคู่ หรือยอมรับการผสมพันธุ์ในขณะนั้น ๆ ขณะที่ตัวผู้ไม่ค่อยเลือก แต่มักจะ "เอาหมด" คงเป็นเพราะไม่ต้องใช้พลังงานมากเท่าตัวเมีย (นั่น ! อย่าเพิ่งเถียงนะครับ
ใช้พลังงานในที่นี้หมายถึง
พลังงานในการผลิตเซลล์สืบพันธุ์ต่อหนึ่งเซลล์ หรือหนึ่งครั้งของการผสมพันธุ์ รวมถึงพลังงานในการเลี้ยงลูก ดูแลลูก) และหัวข้อที่บรรดาตัวเมียใช้ในการ "ประเมิน" ตัวผู้ เท่าที่สรุปรวบรวมมาได้ มีดังต่อไปนี้ (ในสัตว์บางชนิดอาจใช้มากกว่าหนึ่งข้อ)
ความสามารถในการหาอาหาร ในสัตว์หลายชนิด ตัวผู้จะเป็นฝ่ายหาอาหารมากำนัล ทั้งเพื่อเป็นการแสดงความสามารถ ซึ่งมักพบได้ในสัตว์ที่จับคู่อยู่ด้วยกันเป็นเวลายาวนาน เช่น นกเงือก หรือนำเหยื่อมาเบนความสนใจตัวเมียเพื่อให้ตัวเองมีโอกาสผสมพันธุ์ เช่น แมลงวันห้อย (Hanging fly) หรือในสัตว์ชั้นสูงอย่างโบโนโบ ตัวผู้จะเอากิ่งไม้ที่มีผลติดอยู่มาให้ เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ตัวเมีย ก่อนที่จะได้ผสมพันธุ์ อาหารยังช่วยให้ตัวเมียมีความสมบูรณ์เพศและสมบูรณ์พันธุ์มากพอด้วย เทียบกับสังคมคนก็คือ "รวย" นั่นเองครับ
การมีรูปร่างใหญ่/เสียงดัง
ในสัตว์ที่ครอบครองอาณาเขต
และสื่อสารด้วยการร้อง เช่นกลุ่มนกส่วนใหญ่ ตัวที่เสียงดังกว่าจะข่มตัวที่เล็กกว่าให้ล่าถอยไปเอง ขณะที่สัตว์อีกหลายชนิดข่มกันด้วยขนาดและพละกำลัง เช่น แพะภูเขา ที่วัดความแกร่งด้วยการวิ่งชนกัน ตัวใหญ่กว่าก็จะได้เปรียบด้านโมเมนตัม ตัวที่แพ้ก็จะล่าถอยไป ไม่ทำกันถึงตาย ส่วนตัวที่ทำร้ายร่างกายกันถึงตายก็มี เช่น ฮิปโปโปเตมัส สิงโต ฯลฯ แต่เจ้า Stalked eyes flies ในออสเตรเลียนั้น ไม่ต้องต่อสู้กันให้เหนื่อย แค่วัดกันว่าก้านตาใครยาวกว่ากันเท่านั้นก็รู้ผลแล้ว โดยตัวที่ก้านตาสั้นกว่าก็จะยอมแพ้และล่าถอยไปโดยดี การมีรูปร่างแข็งแรงก็เป็นการรับประกันยีนได้ระดับหนึ่ง ในคนก็คงจะเป็นเรื่องของการมีรูปร่างดี สุขภาพดี
การมีรูปกายสวยงาม สีสันสดใส ภายนอกอาจแค่ดูสวย แต่ภายในหมายถึงการมียีนที่ดี มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน การมีสีสันสวยงามยังช่วยให้สัตว์ตัวเมียมองเห็นตัวผู้ได้ง่าย ขณะเดียวกันสัตว์ผู้ล่าก็จะเห็นได้ง่ายเช่นกัน
ดังนั้นการที่มีสีสันสดใส
จึงเป็นการพิสูจน์ความสามารถในการเอาตัวรอดของตัวผู้นั้นไปด้วยในตัว ในระดับของฮอร์โมน
พบว่าสีสันของตัวผู้โดยมาก
จะขึ้นกับอิทธิพลของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนของเพศผู้ นักวิทยาศาสตร์พบว่าสิงโตตัวเมียจะชอบสิงโตตัวผู้ที่มีขนคอขาว นัยว่าผ่านการต่อสู้มาและไม่เคยเสียขนคอไปในการต่อสู้ ขนาดที่เอาหุ่นสิงโตตัวผู้ที่มีขนคอสีขาวมาตั้ง ก็ดึงดูดใจสิงโตตัวเมียได้มากกว่าสิงโตจริง นอกจากนี้สีสันสดใสยังบ่งถึงสุขภาพที่ดี เช่นในกลุ่มไก่ที่มีเหนียงสีแดง หากไก่มีพยาธิเม็ดเลือด หรือป่วย สีแดงก็จะซีดลง ตัวเมียจึงไม่เลือกตัวที่สีซีด ในคนอาจจะหมายถึงความหล่อ ความเนี๊ยบ ดูดี ทำนองนั้น
|
|
|
|
การต่อสู้เก่ง สิ่งที่ได้โดยตรงจากการต่อสู้คือทรัพยากร ทั้งที่มาในรูปของอาหารและการยึดครองพื้นที่ (ซึ่งบางครั้งอาจหมายถึงการกำจัดคู่แข่งด้านอาหารออกไปด้วย) การต่อสู้เก่งสะท้อนถึงการมียีนที่สมบูรณ์ ร่างกายสมบูรณ์ มีความฉลาดในการเอาตัวรอด ในคนก็อาจเทียบได้กับบรรดาฮีโร่ เช่น ดารา นักกีฬา หรือคนที่มีอำนาจเชิงตำแหน่ง เชิงการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ที่มักจะได้รับความสนใจ
การเคลื่อนไหวร่างกายที่ดึงดูดใจ ในนกหรือสัตว์หลายชนิดจะมีการเต้นรำหรือแสดงลีลาท่าทาง ทั้งเพื่อจุดประสงค์ในการอวดสีสัน อวดเครื่องเพศ อวดความพร้อมในการผสมพันธุ์ นกบางชนิดยังใช้การเต้นรำและการร้องประสานเสียง ในการเลือกคู่ที่เหมาะกับตัวเอง เช่น นกกระเรียน หากตัวไหนร้องประสานกันไม่ลงตัว อัตราการผสมติดก็จะลดน้อยลง เรื่องนี้ในคนอาจเห็นได้จากท่าเต้นรำอันเซ็กซี่ของวัยรุ่น คนหนุ่มสาว ที่มักมีการสั่นไหวโยกย้ายส่วนสำคัญ ส่ายอก ส่ายสะโพก ขยับเอว ขณะที่การรำไทเก๊กนั้นสวยงามก็จริง แต่ไม่เซ็กซี่ครับ
การครอบครองพื้นที่สำคัญและเหมาะสม ในที่นี้มักหมายถึงพื้นที่แหล่งสารอาหาร หรือพื้นที่ที่เหมาะสมในการเลี้ยงลูกอ่อน ซึ่งมักจะดึงดูดตัวเมีย ดังนั้นสัตว์ตัวผู้หลายชนิดจึงเลือกที่จะครอบครองทำเลทองเหล่านี้ เช่น กบ กบตัวใหญ่จะครองพื้นที่ใจกลางบึง ที่น้ำอุ่นกว่า อัตราความสำเร็จในการฟักไข่ให้เป็นตัวจะดีกว่า ตัวเมียจึงมักจะแก่งแย่งกันเข้าไปที่ใจกลางบึง ดังนั้นตัวผู้ที่ครองทำเลนี้ก็จะมีโอกาสในการผสมพันธุ์สูงกว่า ในคนก็คงเทียบได้กับการครอบครองทรัพยากร
การตกแต่งพื้นที่ขยายพันธุ์ให้สวยงาม ถือเป็นการสร้างแรงดึงดูดใจและเป็นการแสดงความสามารถทางอ้อมอีกวิธีหนึ่ง เช่นนก Bower ที่จะใช้สิ่งตกแต่งที่มีสีสันสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นขนนกชนิดอื่น หรือสิ่งที่ไม่มีอยู่ในธรรมชาติที่มีสีสด มาตกแต่งรัง เช่นเดียวกับที่คนเรานิยมไปฮันนีมูนกันในที่ที่มีบรรยากาศงดงาม
สรุปรวมคือ ในการผสมพันธุ์และสืบทอดเผ่าพันธุ์ สัตว์ตัวเมียต้องการยีนที่ดี ต้องการทรัพยากร และต้องการสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย มั่นคง ซึ่งเราเองในฐานะสัตว์โลกชนิดหนึ่งก็คงไม่ต่างกันไปเท่าไรนัก
..............................................................
Mark Mansperger อาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน กล่าวไว้ว่า
"แรงขับดันทางเพศเป็นตัวผลักดันให้เกิดการขยายพันธุ์ เป็นแรงขับดันที่ต้องการการปลดปล่อย ไม่ว่าจะเป็นการปลดปล่อยกับคู่ของตัวเองอย่างถูกต้องตามวัฒนธรรมหรือไม่ก็ตาม แรงขับดันนี้ส่วนหนึ่งได้เป็นพลังงานให้แก่กิจกรรมอื่น ๆ ด้วย เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา และงานแสดงอื่น ๆ หากไม่มีเพศเสียแล้ว โลกคงมีการสร้างสรรค์และความเปลี่ยนแปลงน้อยกว่านี้"
หากฟังความข้างต้น "เซ็กซ์" ก็ดูเปี่ยมไปด้วยความหมาย แต่ในเวลาเดียวกัน ก็กลับมีคำถามสวนทางขึ้นมาว่า หากจุดประสงค์เบื้องต้นของ "เซ็กซ์" แรก ๆ ของโลก เกิดขึ้นจากเจตจำนงในการสืบทอด "ยีน" เล่า ...เรา และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในโลก จะแตกต่างอะไรจาก "อวัยวะสืบพันธุ์" ของมัน ?
ความจริงเป็นอย่างไรคงไม่มีใครล่วงรู้ และปริศนาแห่งการสืบ (เผ่า) พันธุ์ ก็คงจะยังดำเนินต่อไป ทั้งหมดคงขึ้นกับเราเองว่าจะเลือก "ให้ค่า" แก่เรื่องนี้อย่างไร แค่ไหน หรือจะยอมตัวเป็นแค่อวัยวะเพศของยีนอย่างมืดบอด
|
|
|
|
เซ็กซ์พิสดารของโบโนโบ
|
|
|
|
"โบโนโบ" จัดอยู่ในกลุ่มของเอป (ape) สัตว์ตระกูลไพรเมตที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่ามีวิวัฒนาการใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด โดยมีบรรพบุรุษร่วมกันก่อนจะมาแยกสายวิวัฒนาการ นอกจากโบโนโบแล้ว สัตว์ในกลุ่มนี้ยังได้แก่ ชะนี อุรังอุตัง กอริลลา และชิมแปนซี
มีการศึกษาพฤติกรรมเพศในสัตว์กลุ่มนี้มากมาย ทั้งโดยนักวิทยาศาสตร์และนักสังคมวิทยาสายมานุษยศาสตร์ เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมเพศของเอปกับมนุษย์ และได้พบว่าในกลุ่มเอปเอง โบโนโบนับเป็นชนิดที่มีพฤติกรรมเพศ "ผิดธรรมชาติ" มากที่สุด หากจะนับเอาว่า สัตว์มีพฤติกรรมเพศเพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพันธุ์เท่านั้น
เมื่อเทียบกับชิมแปนซี ที่ตัวเมียจะมีอาการ "ติดสัด" หรือยอมรับการผสมพันธุ์และมีความต้องการทางเพศเพียงช่วงที่ตกไข่ ประมาณสองอาทิตย์ต่อช่วง หลังจากนั้นจะไม่มีพฤติกรรมเพศเลย
แต่โบโนโบจะมีพฤติกรรมเพศกับเพศตรงข้าม
หรือเพศเดียวกันได้โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นกับการตกไข่
จากการศึกษาพบว่า โบโนโบใช้พฤติกรรมเพศเป็นเครื่องมือทางสังคม และยังพบว่ามันใช้เครื่องมือนี้ "บ่อย" และ "พิสดาร" กว่าสัตว์ใด ๆ แม้กระทั่ง "มนุษย์" กล่าวคือเมื่อใดก็ตามที่ตัวผู้ประกบตัวเมีย ตัวเมียก็จะประกบตัวผู้กลับ มีการถูไถอวัยวะเพศระหว่างตัวเมียด้วยกัน ลูกโบโนโบตัวผู้เมื่อยังเล็กก็มีพฤติกรรมเพศโดย "ดูด" อวัยวะเพศผู้ของตัวอื่น หรือเมื่อสองตัวกำลังประกอบกิจกรรมทางเพศกัน ตัวที่ ๓ ก็จะแหย่นิ้วไปยังเครื่องเพศของทั้งสองตัวที่ประกอบกิจกันอยู่ ฯลฯ
นักไพรเมตวิทยา (primatologist) ตีความพฤติกรรมเพศของโบโนโบแบบแปลก ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ว่า เป็นไปเพื่อการลดความเคร่งเครียดของความบาดหมาง ซึ่งโดยมากเป็นความบาดหมางที่เกิดจากการแก่งแย่งอาหาร
นักวิจัยพบว่า เมื่อโบโนโบพบอาหาร ก็จะเกิดอาการคล้ายมีอารมณ์เพศ
การแลกเปลี่ยนพฤติกรรมเพศแบบไม่จำกัดเพศ
และอายุนี้เป็นทางหนึ่งที่จะลดความกดดันในความสัมพันธ์
เมื่อจะต้องแก่งแย่งอาหารของทั้งกลุ่มฝูง โดยพบว่าหลังจากพบอาหาร โบโนโบจะมีพฤติกรรมเพศต่อกัน และเมื่อเวลาผ่านไปราว ๑๐ นาที ความเข้มข้นของการมีพฤติกรรมเพศจะลดลงถึงครึ่งหนึ่ง จากการทดลองยังพบว่า อาหารยิ่งมาก ยิ่งมีการตอบสนองทางพฤติกรรมเพศมากขึ้น ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่อาหาร แต่เป็นเรื่องความเครียดจากการขัดแย้งแข่งขันเรื่องอาหาร (?) ในความเข้าใจของโบโนโบ เซ็กซ์เป็นเรื่องสนุก เซ็กซ์ทำให้รู้สึกสบาย เซ็กซ์ช่วยประสานความขัดแย้ง และทำให้กลุ่มฝูงอยู่ร่วมกันได้
หากเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวต่อกัน ซึ่งมักเกิดในตัวผู้ หลังจากการต่อสู้สักพักหนึ่ง ตัวผู้ตัวหนึ่งจะมาขอคืนดีด้วยการหันก้นให้ ถอยก้นเข้ามาถูกับอัณฑะของอีกตัว หรือบางทีก็จับอวัยวะเพศของอีกตัวแล้ว "ชัก" ให้ เหมือนเป็นการจับมือ แสดงออกว่าความขัดแย้งจบแล้ว
|
|
|
|
ส่วนเพศเมียก็ใช้พฤติกรรมเพศเป็นเครื่องมือในการควบคุมความเป็นไปของกลุ่มฝูง พฤติกรรมเพศที่พบบ่อยที่สุด คือการถูอวัยวะเพศระหว่างตัวเมียด้วยกัน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเป็นมิตรกับตัวเมียอื่น และผลที่ตามมาคือ โอกาสและลำดับที่จะได้เข้าถึงแหล่งอาหาร ตัวเมียที่มีเพื่อนมากจะแก่งแย่งเข้าถึงอาหารได้ก่อน การ "เป็นเพื่อน" กับตัวเมียที่มีอำนาจในฝูง เป็นการยกระดับทางสังคมของโบโนโบ
ในธรรมชาติ ตัวเมียที่ถึงวัยเจริญพันธุ์ มีอายุประมาณ ๘ ปี จะออกจากกลุ่มไปหากลุ่มใหม่ เคยพบว่าตัวเมียที่มาใหม่ต้องไปถูอวัยวะเพศกับตัวเมียห้าตัว (หรือทุกตัวที่พบในขณะนั้น) ก่อนจะกินอาหาร
ในสวนสัตว์ก็พบว่า โบโนโบมีพฤติกรรมเพศแบบไม่ธรรมดา เคยมีกรณีที่ตัวผู้เดินเข้าหาตัวเมียด้วยอวัยวะเพศที่แข็งตัว แสดงความต้องการผสมพันธุ์ แต่ตัวเมียกลับหนีไปถูอวัยวะเพศกับตัวเมียด้วยกัน บางครั้งตัวเมียที่มีอำนาจในฝูง นำฝูงไปกับตัวผู้ แล้วไปพบต้นไม้ที่มีผลอยู่เต็ม ตัวเมียใหญ่กลับร้องเรียกตัวเมียที่เป็นเพื่อนใกล้ชิดมา แล้วถูอวัยวะเพศกัน ชวนกันกินผลไม้แบบไม่สนใจตัวผู้ที่มาด้วยเลย
ในเชิงสังคมแล้ว ทั้งสองเพศดูจะเท่าเทียมกัน แต่ตัวเมียจะรวมตัวเป็นพันธมิตรกันและมีอำนาจในฝูง และหากรวมตัวเป็นกลุ่มได้จำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้มีอำนาจต่อรองในฝูงมาก นักวิจัยพบว่าไม่ค่อยมีพฤติกรรมต่อสู้ระหว่างตัวเมียและตัวผู้มากนัก ทั้งยังพบว่าตัวผู้ไม่สามารถที่จะบังคับขืนใจตัวเมีย ซึ่งต่างจากไพรเมตชนิดอื่น ๆ ที่ตัวผู้มักนิยมใช้กำลังบังคับ ในโบโนโบ ตัวผู้ได้แต่แสดงท่าทาง แสดงอวัยวะเพศที่แข็งตัว เดินผ่านหน้าตัวเมียกลับไปกลับมา แต่หากตัวเมียไม่ยอมรับก็จะไม่มีการผสมพันธุ์ แม้ว่าตัวผู้จะใหญ่กว่ามากและ (น่าจะ) สามารถบังคับการผสมพันธุ์ได้ แต่ก็ไม่บังคับกัน นอกจากนี้ยังพบกรณีไม่ธรรมดาที่ตัวผู้ถืออาหารเข้าไปหาตัวเมีย เป็นกิ่งไม้ที่มีผลติดอยู่ ตัวเมียยอมรับการผสมพันธุ์ และเมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้ว ตัวเมียก็เอากิ่งไม้นั้นไป เหมือนว่าตัวเมียรับอาหารแลกกับการผสมพันธุ์ นัยว่าเป็นไปเพื่อสร้างความยอมรับ ความพอใจให้คู่ผสมพันธุ์ มากกว่าจะมีความหมายในการ "ซื้อ" อย่างมนุษย์
การใช้พฤติกรรมเพศเป็นเครื่องมือในการรักษาความสัมพันธ์ในกลุ่มฝูง ความเท่าเทียมระหว่างเพศ การรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนของเพศเมียในโบโนโบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่พบในชิมแปนซีซึ่งก็ถือเป็นเอปที่มีสติปัญญาสูง ทำให้เกิดคำถามเชิงวิวัฒนาการว่า โบโนโบจะมีความเกี่ยวเนื่องกับวิวัฒนาการของมนุษย์ยุคแรกหรือไม่
และเราจะสามารถใช้พฤติกรรมเหล่านี้อธิบายโครงสร้างสังคม
และพฤติกรรมของมนุษย์ยุคแรกได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป
|
|
|
|
เกี่ยวกับผู้เขียน
|
|
|
|
น.สพ.รัฐพันธ์ พัฒนรังสรรค์
เกิด ก.ค.2513 ริมแม่น้ำโขง จ.นครพนม ที่บ้านอาม่า ยังใช้บริการหมอตำแยอยู่
จบ ป. 4 โรงเรียนเครือ คาทอลิก ที่ จ.อุดรธานี รร.ดอนบอสโกวิทยา อุดรธานี
จบ . 6 ที่ โรงเรียนประจำที่ได้ชื่อว่าระเบียบเข้มงวดที่สุด รร.อัสสัมชัญ ศรีราชา
จบ ม.6 โรงเรียนมัธยมของรัฐที่เก่าแก่ที่สุด รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย
ปริญญาตรี สัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สะสมรางวัลจากการประกวดเรื่องสั้น ประกวดโฟล์คซอง
รับใช้เพื่อนๆนักศึกษา ในตำแหน่ง สาราณียากร ชมรมวรรณศิลป์ สจม., ประธานฝ่ายศิลปวัฒนธรรม องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาฯ , อุปนกยกสโมสรนิสิต คณะสัตวแพทยศาสตร์ พร้อมทั้งการมีรายชื่ออยู่ในรายการบัญชีนิสิตนักศึกษา ในช่วงพฤษภา 35 และการคัดค้านประเด็นสิ่งแวดล้อม บางรายการ ยังไม่เข้าใจจนปัจจุบันว่ามีรายชื่ออยู่ได้ยังไง ก็เพราะเป็นแค่ลูกหาบในกระบวนการนิสิตนักศึกษา ไม่เคยออกหน้าเท่าไรเลย
ทำงาน นายสัตวแพทย์ ประจำโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ 1 ปี เพราะรู้สึกว่าเรียนมา 6 ปี ยังมีความรู้ไม่พอที่จะเป็นสัตวแพทย์ที่ดีได้
ทำงาน สวนสัตว์เปิดเขาเขียว 6 ปี ตำแหน่งนายสัตวแพทย์ และ ปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้าหมวดสัตว์ปีก
งานปัจจุบัน สอนวิชาเกี่ยวกับอายุรศาสตร์สัตว์ป่า โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์ ในหนังสือโลกสีเขียว ลองตีพิมพ์หนังสือทำมือบ้าง
รับใช้วงการวิชาชีพ ประสานงาน และ เลขานุการ ชมรมสัตวแพทย์สัตว์ป่าและสวนสัตว์แห่งประเทศไทย
จำพรรษา ที่วัดธารน้ำไหล จ.สุราษฎร์ธานี 1 พรรษา
เคยเดินในประเทศ ไทย ลาว พม่า เขมร จีน อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ มาเก๊า ฮ่องกง สหรัฐอาหรับ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหพันธรัฐอัฟริกาใต้ อูกันดา เคนยา
ปัจจุบัน ทะเบียนบ้านอยู่ที่ บ้านหมอแปง ต.แม่นาเติง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน
อนาคต กำลังจะแปลหนังสือ เขียนหนังสือ เพื่อทำให้วิชาการด้านสัตวศาสตร์ หรือ ธรรมชาติวิทยา เป็นเรื่องสาระบันเทิง และเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมีพื้นความรู้สูงมาก่อน
|
|