|
|
เรื่อง : ดร. เพ็ญสุภา
สุขคตะ ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี
|
|
|
|
|
|
|
|
ในบรรดาพระราชวังทั้งหมดที่สร้างขึ้น
ตลอดช่วงรัชสมัยอันยาวนานกว่าสี่ทศวรรษ
ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
"พระราชวังบางปะอิน" ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่รับเอาอิทธิพลตะวันตกเข้ามารุ่นแรกสุด เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี ๒๔๑๕ เมื่อทรงมีพระชันษาเพียง ๑๙ พรรษา หลังจากเสด็จครองราชย์ได้แค่ ๔ ปีเท่านั้น
พระราชวังบางปะอินได้รับแรงดาลใจ
มาจากพระราชวังทรงยุโรปที่เคยทอดพระเนตร ณ กรุงปัตตาเวียอย่างไม่ต้องสงสัย
เนื่องจากปีที่เริ่มก่อสร้างพระราชวังบางปะอินนั้น
เป็นปีรุ่งขึ้นภายหลังจากการเสด็จประพาสชวา
และสิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ เพียงปีเดียว
ฉะนั้นพระราชวังบางปะอินจึงเป็นสถาปัตยกรรมที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ ตอบสนองความใฝ่ฝันขององค์ยุวกษัตริย์ที่ปรารถนาจะยกระดับประเทศขึ้นสู่ความเป็น "ศิวิไลซ์" ทัดเทียมโลกตะวันตกรวมทั้งเพื่อนบ้าน บนเงื่อนไขของการที่ยังไม่เคยเสด็จประพาสยุโรปมาก่อน (ผิดกับการก่อสร้างพระราชวังดุสิตในตอนปลายรัชกาล) อีกทั้งยังไม่ได้มีการจ้างวานนายช่างชาวตะวันตกให้มาทำงานในราชสำนักสยาม (ผิดกับพระที่นั่งอีกหลายองค์ในช่วงกลางรัชกาล)
|
|
|
|
การกำเนิดพระราชวังบางปะอิน
จึงเป็นไปในลักษณะของการมอบหมายให้บริษัทรับเหมาของชาวต่างชาติ
ซึ่งมีเพียงไม่กี่รายในยุคนั้น เป็นผู้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้าง บริษัทนี้มีชื่อว่า Grassi Brothers & Co. มีนายโจคิม หรือจาโคโม กับนายอันโตนิโย กราซี สองพี่น้อง ซึ่งตั้งห้างอยู่ที่ฝั่งธนบุรีใกล้กับปากคลองสาน โดยพวกเขามีประสบการณ์ในสยามมาแล้วเป็นเวลา ๒
ปี
ก่อนหน้าที่จะได้รับการไว้วางพระราชหฤทัย
ให้ดำเนินการก่อสร้างพระราชวังบางปะอิน
สัญชาติของพี่น้องตระกูลกราซีนี้ค่อนข้างคลุมเครือ
เนื่องจากพวกเขาพูดภาษาอิตาเลียน
และมีความเจนจัดในรูปแบบสถาปัตยกรรมของอิตาลีมากเป็นพิเศษ แต่แดนเกิดนั้นอยู่ในรอยต่อระหว่างจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งต่อมาตกเป็นของอิตาลี (ปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของสโลเวเนีย) เมื่อแรกเข้ามายังกรุงสยามพวกเขาถือสัญชาติออสเตรียน แต่แล้วในที่สุดก็ได้โอนสัญชาติเป็นคนบังคับของฝรั่งเศสเนื่องด้วยเหตุผลทางธุรกิจ อย่างไรก็ดี ในความรู้สึกของชาวไทยสมัยนั้น ยังคงมองว่าพี่น้องตระกูลนี้เป็นนายช่างอิตาเลียนอยู่นั่นเอง เห็นได้จากการเรียกพวกเขาว่า "ซินยอร์กราซี"
ผลงานของซินยอร์กราซีในพระราชวังบางปะอิน
ปรากฏอยู่ที่พระที่นั่งวโรภาษพิมาน สภาคารราชประยูร ประตูเทวราชครรไล และพระที่นั่งฝ่ายในบางองค์ รวมทั้งวัดนิเวศธรรมประวัติ บนเกาะบางปะอินอีกฟากหนึ่ง ส่วนที่เหลือเป็นพระที่นั่งทรงไทยประเพณี จีน ญี่ปุ่น และแบบผสม ซึ่งเป็นผลงานของนายช่างคนอื่น
เนื่องจากพระราชวังบางปะอินประกอบด้วยพระที่นั่งมากมายหลายหลัง ในตอนแรกนี้ขอนำเสนอพระที่นั่งหลักสามหลังก่อน อันได้แก่ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน และพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร
|
|
|
|
พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ Master Piece ของเครื่องไม้ไทย
|
|
|
|
พระที่นั่งแห่งนี้อาจถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ
ของงานช่างไทย จัดเป็นงานชิ้นเยี่ยมระดับ Master Piece แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว เคยได้รับการจำลองแบบไปแสดงในงานมหกรรมนานาชาติ (Expositions Universelles) ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ ซึ่งนาน ๆ ทีสถาปัตยกรรมแถบอุษาคเนย์จะได้รับคัดเลือกให้ไปร่วมงานระดับโลกเช่นนี้
ไอศวรรย์ทิพย์อาสน์เป็นพระที่นั่งที่ปลูกสร้างใหม่กลางสระน้ำ
ภายใต้ชื่อเดิมถึงสามครั้งสามคราว
คราวแรกในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี ๒๑๗๕ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ขึ้น
เพื่อเฉลิมฉลองการที่พระราชเทวีประสูติพระนารายณ์ราชกุมาร มูลเหตุแห่งการทรงเลือกเอา "เกาะบางนางอิน" หรือ "บางปะนางอิน" ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของราชธานีศรีอยุธยามาเป็นพระราชนิเวศน์นั้น เนื่องมาจากพระเจ้าปราสาททองประสูติบนเกาะนี้ (ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ กับหญิงชาวบ้านชื่อนางอิน)
คราวที่ ๒
เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี ๒๓๙๔ เมื่อตอนเสด็จประพาสราชธานีเก่าอยุธยา พระองค์ทรงสังเวชสลดพระราชหฤทัยในสภาพของเกาะที่ถูกลืม
พบซากวังเก่าถูกทิ้งร้างรกเรื้อ
บนเกาะบางนางอินอยู่นานกว่าสองศตวรรษ
นับแต่ครั้งเสียกรุง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้แผ้วถางขุดลอกสระ
และก่อสร้างปราสาทเครื่องไม้ขึ้นใหม่ทับที่องค์ก่อน ภายใต้พระนามเดิมว่า "ไอศวรรย์ทิพย์อาสน์"
|
|
|
|
ทว่าพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์องค์ที่เห็นในปัจจุบัน
เป็นผลงานที่สร้างขึ้นใหม่อีกครั้งภายใต้พระราชบัญชาขององค์ยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ ๕ เมื่อปี ๒๔๑๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้รื้อพลับพลาไม้องค์เก่าออก
แล้วขยายสระน้ำนอกกำแพงพระราชวังชั้นในให้กว้างใหญ่ขึ้น
จากนั้นจึงปลูกพลับพลาโถงเครื่องไม้หลังใหม่
ขนาดใหญ่กว่าเดิมกลางสระน้ำ เฉลิมพระนามเดิมว่า พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์
รูปแบบสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งกลางน้ำหลังนี้ จำลองแบบมาจากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วใกล้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง (เป็นพลับพลาที่ใช้ในการส่งเสด็จและใช้ในการโสกันต์) ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถือว่ามีความงามเป็นเลิศทั้งด้านทรวดทรงและรายละเอียดการตกแต่งทางสถาปัตยกรรม กล่าวคือมีลักษณะเป็นพลับพลาโถงแบบปราสาทจตุรมุขลดชั้น หลังคาเป็นเครื่องยอดทรงมณฑปจอมแห
เดิมในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่บำเพ็ญพระราชกุศลและประทับพักผ่อน
ปัจจุบันใช้เป็นที่ประดิษฐาน
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หล่อด้วยสำริด ฉลองพระองค์เต็มยศจอมพลทหารบก ขนาดเท่าองค์จริง
ณ
วันนี้พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์
ได้กลายเป็นจุดเด่น
หรือสัญลักษณ์สำคัญที่สุดยามเอ่ยถึงพระราชวังบางปะอิน
เนื่องจากเป็นสถาปัตยกรรมไทยเพียงหลังเดียว
ที่ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นท่ามกลางภูมิทัศน์อันร่มรื่น
ของมวลพฤกษชาติ กอปรด้วยไม้มงคลและไม้ผล ได้แก่ ต้นประดู่ขนาดใหญ่อายุร้อยปีกว่า และต้นมะม่วง นอกจากนี้ฉากหลังยังรายล้อมด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก และบรรดาเก๋งจีนต่างๆ
|
|
|
|
พระที่นั่งวโรภาษพิมาน จากวิหารกรีกสู่ท้องพระโรง
|
|
|
|
ถัดจากประตูเทวราชครรไลเข้ามาสู่เขตพระราชฐานชั้นนอก จะพบสถาปัตยกรรมแบบยุโรปทาสีส้มแซมเขียวหลังงามองค์หนึ่ง จัดเป็นพระที่นั่งประธานท่ามหมู่พระที่นั่งทั้งหมดในพระราชวังบางปะอิน เป็นผลงานการออกแบบและก่อสร้างของนายช่างอิตาเลียนนาม ซินยอร์กราซี (มิสเตอร์กราซี) ซึ่งดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อปี ๒๔๑๙ พร้อม ๆ กับพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์
ซินยอร์กราซีเลือกเอาศิลปะนีโอคลาสสิก
ในรูปแบบนีโอเรอเนซองซ์
ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอยู่ทั่วโลกในขณะนั้น
มาใช้กับพระที่นั่งองค์นี้ หัวใจของสถาปัตยกรรมสมัยนีโอคลาสสิกก็คือ การหวนกลับไปเลียนแบบความรุ่งโรจน์แห่งอดีตในยุคคลาสสิก "กรีก-โรมัน" ดังปรากฏที่มุขด้านหน้าของพระที่นั่งได้ทำเลียนแบบวิหารของกรีกสมัยเฮเลนนิสติก (หรือกรีกตอนปลาย) นั่นคือการใช้หัวเสาแบบโยนิก (ตกแต่งด้วยวงโค้งก้านขด) และหัวเสาแบบคอรินเธียน (เป็นรูปใบอะคันธัสซ้อนกันหลายชั้น) รองรับหน้าบันรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ในขณะเดียวกันก็ได้มีการนำเอาศิลปะเรอเนซองซ์สกุลช่างฝรั่งเศส มาผสมผสานด้วยในส่วนของหอคอยขนาดย่อมที่มีหลังคาทรงพีระมิดตัด ปลายยอดเป็นมงกุฎซึ่งประดับอยู่ตามมุมอาคาร
ทั้งนี้ซินยอร์กราซีคงเห็นว่า
ลำพังเพียงแค่ชาลามุขแบบนีโอคลาสสิกกรีกนั้น ยังดูไม่หรูหราพอสำหรับสถานภาพของ "ท้องพระโรง"
พระที่นั่งวโรภาษพิมานมีความสูงเพียงชั้นเดียว ลักษณะเป็นห้องโถงแบบใช้รับรองแขก
ปัจจุบันยังคงใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และพระบรมวงศานุวงศ์ในคราวเสด็จแปรพระราชฐาน
สำหรับการตกแต่งภายในของพระที่นั่งวโรภาษพิมานนั้น เป็นผลงานการออกแบบของหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ภายในมีสิ่งที่น่าดูน่าชมคือ อาวุธโบราณ ตุ๊กตาหินสลักด้วยงานฝีมือประณีต ภาพเขียนสีน้ำอิงพระราชพงศาวดาร ภาพเขียนจากวรรณคดีไทยเรื่อง อิเหนา พระอภัยมณี สังข์ทอง จันทโครพ และสิ่งประดับอันล้ำค่ายิ่ง ได้แก่ แจกันสลับสีเขียนลายทองขนาดใหญ่ฝีมือช่างชิ้นเอกอุของญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งล้วนเป็นของบรรณาการแด่องค์ยุวกษัตริย์ทั้งสิ้น
|
|
|
|
พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร อาลัยชาเลต์สวิส
|
|
|
|
ถัดจากพระที่นั่งวโรภาษพิมานเข้ามาทางด้านตะวันออกของสระ จะพบพระที่นั่งขนาดใหญ่ชื่อว่า "อุทยานภูมิเสถียร"
ซึ่งเป็นพระที่นั่งอีกองค์หนึ่งที่มีประวัติการสร้างใหม่
ทับซ้ำพระที่นั่งองค์เดิมหลายครั้งหลายครา
คราวแรกสุดเคยมีลักษณะเป็นเรือนไม้สองชั้นแบบชาเลต์สวิส ซึ่งองค์ยุวกษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ออกแบบเมื่อปี ๒๔๒๐ เพื่อใช้เป็นที่ประทับพักผ่อน
ในช่วงต้นรัชกาลองค์ยุวกษัตริย์
เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน
มาประทับที่นี่ปีละถึงสามครั้ง
นอกจากนี้ยังโปรดให้ใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศอีกด้วย อาทิ ใช้รับรองดุ๊กและดัชเชสโยฮัน อัลเบรตแห่งเยอรมนี และแกรนด์ดุ๊กซาร์วิตส์แห่งรัสเซีย ในปี ๒๔๓๓
จากการที่ใช้ไม้ก่อสร้างทั้งหลัง ขณะที่กำลังซ่อมแซมพระที่นั่งองค์ต่างๆ ภายในพระราชวังบางปะอิน ณ วันศุกร์ที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๘๑ พระที่นั่งองค์นี้ได้รับความเสียหายถูกไฟไหม้หมด คงเหลือแต่หอน้ำข้างองค์พระที่นั่ง ซึ่งสร้างด้วยสถาปัตยกรรมรูปแบบเดียวกัน
|
|
|
|
กระทั่งปี ๒๕๓๑ สำนักพระราชวังได้สร้างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับจัดแสดงภาพเขียนและโบราณวัตถุ โดยอาศัยข้อมูลจากภาพถ่ายเก่าและจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่แถบนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่
ด้วยการใช้ไม้มะฮอกกานีทาสีเขียวอ่อนสลับสีเขียวแก่
เลียนแบบให้เหมือนองค์เดิมทุกประการ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทอดพระเนตรพระที่นั่งองค์ใหม่นี้
ได้ทรงมีแนวพระราชดำริว่า
พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรน่าจะใช้เป็นสถานที่รับรอง
พระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ จึงทงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงพระที่นั่งขึ้นใหม่ให้งดงามและโอ่โถงขึ้น โดยหม่อมหลวงท้าวเทวา เทวกุล ได้เป็นสถาปนิกออกแบบต่อเติมอาคารหลังใหม่เมื่อปี ๒๕๓๖ สร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๓๘ ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบเรอเนซองซ์ของฝรั่งเศส
ในคราวที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปในตอนปลายรัชกาล ทั้งสองครั้งคือเมื่อปี ๒๔๔๐ และอีกครั้งในปี ๒๔๕๐ จากพระราชหัตถเลขาในพระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้าน
หลายต่อหลายคราทีเดียวยามที่พระองค์ทอดพระเนตรพระราชวังประทับพักผ่อนฤดูร้อน
ท่ามกลางแมกไม้รุกขชาติ
ของพระเจ้าแผ่นดินยุโรป
ไม่ว่าที่ใดก็ตาม
พระองค์มักต้องทรงรำพึงในเชิงรฦก
ถึงพระราชวังบางปะอิน
คิมหันต์อุทยานอันแสนรมณีย์
ที่พระองค์เนรมิตขึ้นมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่เนืองๆ
|
|
|
|
|
|
|
|
พระราชวังบางปะอิน
|
|
|
|
ที่ตั้ง |
อ. บางปะอิน จ. พระนครศรีอยุธยา |
โทร. |
๐-๓๕๒๖-๑๕๔๘ และ ๐- ๓๕๒๖-๑๐๔๔ |
เปิดเวลา |
๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น. ทุกวัน |
ค่าเข้าชม |
ชาวไทย ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท
นิสิต นักศึกษา
และเด็ก ๒๐ บาท
ชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท |
ข้อพึงระวัง |
ควรแต่งกายสุภาพ |
|
|