นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๗ เดือนมีนาคม ๒๕๔๖ | ISSN 0857-1538 |
|
ฉบับหน้า ๔๘ ปี พระเทพฯ |
จูดี้ เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยแทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย เธอเป็นคนร่าเริง แจ่มใสและมีอารมณ์ขันตลอดเวลา เมื่อสิบกว่าปีก่อน เธอเคยทำงานในกองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ DK หรือ A Dorling Kindersley Book สำนักพิมพ์ชื่อดังที่คนไทยหลายคนรู้จักดีในกรุงลอนดอน ก่อนจะมาพบรักกับปีเตอร์ อาจารย์มหาวิทยาลัย จึงตัดสินใจมาใช้ชีวิตร่วมกันบนเกาะแทสมาเนีย ทั้งคู่เพิ่งเก็บเงินซื้อบ้านหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่ง และมีรถนิสสันเก่าๆ คันหนึ่งเป็นพาหนะ จูดี้เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพราะสอนหนังสือเก่ง และสนุก ให้เวลากับลูกศิษย์สม่ำเสมอ จนวันหนึ่งทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้เรียกเธอเข้าพบ ขอร้องให้เธอเพิ่มชั่วโมงการสอนหนังสือต่อสัปดาห์ให้มากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงเม็ดเงินในแต่ละเดือนที่เพิ่มขึ้น แต่จูดี้กลับปฏิเสธการสอนหนังสือเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ไม่มีเวลาพอ "ใคร ๆ ก็ต้องการเงินทั้งนั้น เงินเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา แต่ไม่สำคัญที่สุด" จูดี้บอกกับผม จูดี้ในวัยสี่สิบกว่า ๆ เล่าให้ฟังต่อว่า เวลาในการใช้ชีวิตของเธอนั้นหมดไปกับสามสิ่งด้วยกัน คือ การหาเงินเพื่อเลี้ยงชีพ การเดินทางท่องเที่ยว และการทำงานให้กับองค์กรสาธารณะกุศล หรือที่รู้จักกันในชื่อ เอ็นจีโอ ในหนึ่งสัปดาห์ จูดี้สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเพียง ๓ วัน อีกสองวัน เธอเป็นอาสาสมัครทำบัญชีให้กับองค์กรที่ทำงานเด็กแห่งหนึ่ง โดยไม่ได้รับค่าจ้างใด ๆ และเสาร์อาทิตย์ที่เธอจะแบกเป้แบกเต็นท์เดินทางเข้าป่าพร้อมสามี เมื่อทางมหาวิทยาลัยเสนอเงินพิเศษให้เธอสำหรับการสอนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวัน เธอจึงตอบปฏิเสธไปอย่างสุภาพ "ได้เงินมากขึ้นก็ดี แต่ฉันรู้ว่างานอาสาสมัครที่ทำเป็นงานที่ฉันสนุก และต้องรับผิดชอบ จึงต้องให้เวลากับมันอย่างเพียงพอ" จูดี้ไม่ใช่ฝรั่งคนแรกที่ผมรู้จักและใช้ชีวิตแบบนี้ |
||
ปีเตอร์ สามีของเธอก็เป็นอาสาสมัครของอุทยานแห่งชาติ คอยซ่อมแซม เส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่า ผมมีเพื่อนฝรั่งหลายคนที่มีปรัชญาการใช้ชีวิตสามสิ่ง คือทำงานหาเงิน ทำงานให้สังคม และเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้โลกและผู้คน เพื่อนเหล่านี้บางคนเป็นวิศวกร นักบริหาร นักการเงิน หมอ ที่ใช้เวลาในวันเสาร์อาทิตย์มาเป็นอาสาสมัครคอยเก็บขยะในสวนสัตว์ บางคนลาพักร้อนบินมาเป็นอาสาสมัคร รักษาคนไข้ชนกลุ่มน้อยตามชายแดนไทยพม่าปีละหนึ่งครั้ง ในช่วงที่มีการต่อต้านสงครามอิรัก คนเหล่านี้ทำงานอย่างเงียบ ๆเพื่อติดต่อ โยงใยให้คนทั่วโลกสามารถออกมาชุมนุมคัดค้านสงครามได้ถึง ๓๐ ล้านคน คนอย่างจูดี้ และอีกหลายคนเชื่อว่า ชีวิตคนเราเกิดมานอกจากทำงานเพื่อตัวเองแล้ว ควรจะมองออกไปให้พ้นตัวเอง และคิดถึงคนอื่น คิดถึงคนส่วนใหญ่ในสังคมที่เสียเปรียบกว่าเรา จูดี้ไม่ใช่คนมีเงินมากมาย แต่จูดี้บอกว่าเธอใช้เงินเป็นมากกว่า เธอไม่ปฏิเสธว่า เงินให้ความสุขกับเธอ แต่การทำงานช่วยเหลือสังคม การได้มีโอกาสคิดถึงคนอื่น กลับทำให้ชีวิตเธอมีความสุขมากขึ้นไปอีก เพราะมันทำให้เธอเห็นถึงคุณค่าของตัวเอง มันเป็นการเติมชีวิตให้เต็มอิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับการเดินทางท่องเที่ยวพบปะผู้คนและสถานที่ที่เปลี่ยนไป ผมเชื่อว่าการใช้ชีวิตของมนุษย์ควรจะมีหลายด้าน สำคัญที่ว่า เรากล้าพอที่จะออกตามหาด้านที่ขาดหายไป หรือหลงใหลกับด้านที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ จนไม่ยอมโผล่หัวออกมาค้นหาด้านอื่น ๆ อย่าลืมนะครับ ความสุขของมนุษย์ คือการได้ค้นพบคุณค่าของตัวเอง คุณพร้อมหรือยัง |
|||
|