นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๗ เดือนมีนาคม ๒๕๔๖ | ISSN 0857-1538 |
|
เรื่อง : อัมพร จิรัฐติกร/ ภาพ : จักรพันธุ์ กังวาฬ | |||
เมื่อพูดถึงผู้หญิงอิหร่านแล้ว
สิ่งแรกที่คนจำนวนมากนึกถึงก็คือ
ภาพของสตรีภายใต้ผ้าคลุมศรีษะ
และเสื้อผ้าสีทึบที่ปกคลุมเรือนร่างอย่างมิดชิด หลายคนมองภาพของผู้หญิงอิหร่านว่าถูกบังคับให้ต้องอยู่แต่ในบ้าน ต้องสวมใส่ผ้าคลุมศรีษะ และถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว
สถานะของผู้หญิงอิหร่านนั้นกล่าวได้ว่า
ดีกว่าบรรดาผู้หญิงในประเทศแถบตะวันออกกลางทั้งหมดก็ว่าได้ ในด้านการศึกษา อิหร่านได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดในการยกระดับการศึกษาของผู้หญิง ลดช่องว่างของหญิงชายในด้านการศึกษา ในด้านแรงงาน อิหร่านมีผู้หญิงที่ทำงานเป็นข้าราชการถึงหนึ่งในสามของจำนวนข้าราชการทั้งหมด มีผู้หญิงรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกต่างๆนับร้อย และในการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 1999 มีผู้หญิงถึง 5,000 คนลงสมัครรับเลือกตั้ง และในจำนวนนี้ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้นำท้องถิ่นถึง 300 คน ยิ่งไปกว่านั้นความเปลี่ยนแปลงในสถานะของผู้หญิงอิหร่านก็กำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ หลังปี 1997 เป็นต้นมา ประธาธิบดีคาตามิซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง ได้ประกาศต่อชาวโลก ถึงความพยายามที่จะยกระดับสถานะของสตรีอิหร่าน ขจัดระบบเลือกปฏิบัติต่อเพศหญิง และรวมถึงมีการแต่งตั้งผู้หญิงขึ้นเป็นรองประธานาธิบดีอีกด้วย สารคดีบทนี้จึงมุ่งเสนอภาพของผู้หญิงอิหร่าน จากมุมมองปัจจุบันที่ทีมวิจัยได้เดินทางไปพบเห็น และมีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุยกับผู้หญิงอิหร่านจำนวนมาก ในช่วงปีพ.ศ. 2544 จากแง่มุมต่างๆ ทั้งในแง่ของชีวิตครอบครัว การศึกษา เศรษฐกิจ และการเมือง |
|||
ฮิจาบ - ศักดิ์ศรีภายใต้ผ้าคลุมหน้า | |||
ผู้หญิงอิหร่านนั้นเมื่ออายุครบ 9 ขวบบริบูรณ์ จะถือว่าพ้นจากความเป็นเด็กไปแล้ว ก็จะต้องคลุมผ้าเก็บเรือนผมให้มิดชิด ทั้งนี้ผ้าคลุมผม หรือที่เรียกกันว่า "ฮิจาบ" นั้นจะต้องคลุมลงมาจนจรดหน้าอก ต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่เรียบร้อยไม่เปิดเผยให้เห็นส่วนสัดของร่างกาย ดังนั้นเสื้อผ้าของผู้หญิงอิหร่านที่กลายเป็นเสมือน "เครื่องแบบ" ไปแล้วก็คือ เสื้อคลุมตัวยาวหรือโอเวอร์โค๊ดทรงหลวมที่ไม่รัดรูป สีเข้ม กางเกงขายาวสีเดียวกัน และผ้าคลุมผม ส่วนผู้หญิงที่เคร่งมากกว่านั้นก็จะสวม "ชาดอว์" (chador) ทับ ชาดอร์นี้แปลตรงตัวก็คือเตนท์ มีลักษณะเป็นผ้าคลุมสีดำผืนใหญ่รูปครึ่งวงกลม ไม่มีกระดุม หรือตะขอเกี่ยว สวมทับจากหัวลงมาคลุมไหล่ มาบรรจบกันด้านหน้าโดยผู้สวมใช้มือจับใต้คาง ถ้ามือถือของไว้หรืออุ้มเด็กก็จะใช้ปากกัด ผู้หญิงสวมชาโดว์นี้พบเห็นได้ทั่วไป ตามเมืองต่างๆจะเห็นคนแต่งชาดอว์สลับกับชุดเสื้อคลุมตัวยาว แต่ถ้าเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์อย่างเมืองกูม หรือตามมัสยิด สถานที่ราชการ ผู้หญิงทุกคนจะแต่งชุดชาดอว์ ความจริงแล้วกฏที่ว่าผู้หญิงอิหร่านต้องสวมฮิจาบนั้น ยึดถือตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์กุรอ่าน แต่ไม่เคยมีการออกเป็นกฏหมายบังคับมาก่อน ดังนั้นการสวมใส่ผ้าคลุมหน้าจึงขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่พวกเธอจะสวมใส่ผ้าคลุมหน้าเมื่อออกนอกบ้าน แม้แต่ช่วงหนึ่งในสมัยของคิงเรซา ในปี ค.ศ.1935 ที่มีการออกเป็นกฏหมายบังคับให้ผู้หญิงอิหร่าน ถอดผ้าคลุมผมออกโดยประกาศให้การคลุมศรีษะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นัยว่าเพื่อพัฒนาประเทศอิหร่าน ให้ทัดเทียมกับอารยะประเทศ ฮิจาบถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอยุติธรรม และสิ่งที่น่าอับอาย ในช่วงเวลานั้นผู้หญิงอิหร่านจำนวนมากปฏิเสธที่จะออกจากบ้าน ภรรยาของอยาตุลเลาะห์ โคมัยนีถึงกับยอมไม่อาบน้ำเป็นเวลาเกือบปี ดีกว่าที่จะต้องออกไปอาบน้ำในที่อาบน้ำสาธารณะ โดยไม่สวมผ้าคลุมศรีษะ ในช่วงเวลาสั้นๆ หลังการปฏิวัติ ผู้หญิงอิหร่านยังสามารถออกจากบ้านไปไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องสวมฮิจาบ แต่ภายในช่วงเวลาหนึ่งเดือนหลังการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 อยาตุลเลาะห์ โคมัยนีก็ออกคำสั่งให้ผู้หญิงต้องสวมฮิจาบตามกฎอิสลาม ที่ระบุไว้ในคัมภีร์กุรอ่าน "สำหรับหญิงที่ศรัทธาแล้ว พวกเธอจงลดสายตาลงต่ำ รักษาความอ่อนน้อมถ่อมตน และอยู่ในความสำรวมตน พวกเธอควรสวมใส่ผ้าคลุมลงมาจนจรดหน้าอก และไม่โอ้อวดอาภรณ์เครื่องประดับใดๆ" |
|||
ในตอนแรกผู้หญิงอิหร่านจำนวนมากปฎิเสธที่จะสวมผ้าคลุมผม มีคนจำนวนนับพันชุมนุมประท้วงคำสั่งของอยาตุลเลาะห์ โคมัยนี ซึ่งโคมัยนีก็ได้กล่าวคำพูดประนีประนอมว่า "นี่ไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นเพียงข้อแนะนำเท่านั้นว่าผู้หญิงอิหร่านควรจะแต่งตัวอย่างไร" แต่แล้วในที่สุดก็มีการออกประกาศให้ผู้หญิงที่ทำงานในหน่วยงานราชการ ตามมหาวิทยาลัยต้องคลุมผม
ตามร้านอาหารหรือโรงแรม
ก็เริ่มมีการวางตะกร้าใส่ผ้าคลุมผมใกล้ทางเข้า หากใครปฏิเสธที่จะสวมผ้าคลุมผมก็จะไม่ได้รับการบริการ หลังจากนั้นในปี 1982
สามปีหลังการปฏิวัติผู้หญิงอิหร่านทั้งหมด
ก็จำเป็นต้องสวมผ้าคลุมผมในที่สาธารณะ ในช่วงหลังการปฏิวัติใหม่ๆ กฏของการคลุมผมถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวด การไม่คลุมผมหรือคลุมไม่เหมาะสม เปิดให้เห็นผมหรือแต่งหน้าทาปาก จะถูกลงโทษจำคุก 10 วัน ถึง 2 เดือน ผ้าคลุมผมก็อนุญาติให้เฉพาะสีดำหรือสีเข้มที่ไม่มีลวดลาย แต่ในปัจจุบันหลังผ่านการปฏิวัติอิสลามมาแล้วถึง 2 ทศวรรษ กฏระเบียบในการแต่งกายของผู้หญิงเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น ตามเมืองใหญ่ๆ จะพบเห็นผู้หญิงอิหร่านสวมใส่เสื้อผ้าที่แม้จะปกคลุมร่างกายมิดชิด แต่ก็ดูทันสมัย สวมผ้าคลุมผมแบบชนิดเปิดให้เห็นผมถึงเกือบครึ่งหัว กล่าวได้ว่าสิ่งที่ผู้หญิงอิหร่านสวมใส่ทุกวันนี้ เป็นเครื่องระบุอุดมการณ์ระดับความเคร่งครัดทางศาสนาของแต่ละบุคคล หากเธอสวมใส่เสื้อผ้าที่ดูทันสมัย ผูกผ้าคลุมผมที่โชว์ให้เห็นครึ่งหัว ใส่แว่นกันแดด ใส่กางเกงยีนส์ เสื้อคลุมสีอ่อน แต่งหน้าและทาเล็บ เธอกำลังสื่อสารว่าเธอต้องการต่อต้านอำนาจ ต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้หญิงอิหร่านอีกจำนวนมาก ก็เลือกที่จะแต่งกายด้วยเสื้อคลุมแบบหลวมๆ หรือชาดอว์ตามแบบเดิม อันดูเหมือนจะสื่อสารว่าพวกเธอรู้สึกปลอดภัยภายใต้ผ้าคลุมหน้าและเสื้อคลุมชาดอว์ ผู้หญิงอิหร่านจำนวนมากมองว่า การสวมใส่ผ้าคลุมศรีษะหรือฮิจาบนั้น เปิดโอกาสให้พวกเธอทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องกังวลใจ ผ้าคลุมศรีษะทำให้ผู้หญิงถูกตัดสินด้วยความสามารถมากกว่าเรือนร่างหน้าตา ผู้หญิงจำนวนมากที่ทีมงานได้มีโอกาสพูดคุยด้วย จะกล่าวตรงกันว่า มันไม่สำคัญหรอกว่าผู้หญิงอิหร่านจะต้องสวมใส่ชาดอว์ หรือคลุมหน้าหรือไม่ ผู้หญิงจากตะวันตกมักจะให้ความสำคัญกับ "ฮิจาบ" มากเกินไป ประเด็นไม่ใช่เรื่องเสื้อผ้า หรือผ้าคลุมผม พวกเธอมีเรื่องสำคัญกว่านั้นที่จะต้องต่อสู้ อย่างเช่นสิทธิในการจ้างงาน การหย่าร้าง สิทธิในการได้รับมรดก ที่ให้สิทธิแก่ลูกผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และสิทธิในการเลี้ยงดูบุตรกรณีหย่าร้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นข้อที่ผู้หญิงอิหร่านเสียเปรียบอย่างมาก และพวกเธอก็กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกันมากกว่าที่เป็นอยู่ |
|||
หญิง-ชาย ในสังคมอิหร่าน | |||
สังคมอิหร่านนั้นถือเป็นสังคมที่มีการแยกเพศอย่างชัดเจน โดยหลักการทั่วไปแล้ว พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ของผู้ชาย พื้นที่ในบ้านเป็นพื้นที่ของผู้หญิง ผู้หญิงจะต้องปกปิดใบหน้า ผม และเรือนร่างของเธอเมื่อปรากฏกายในที่สาธารณะ แต่ในบ้านของเธอเองผู้หญิงสามารถแต่งกายอย่างไรก็ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีผู้ชายที่เธอสามารถแต่งงานด้วยได้ (ไม่ใช่บิดา หรือพี่น้องร่วมสายเลือด) เธอจะต้องสวมใส่ผ้าคลุมหน้าและแต่งกายให้เรียบร้อยตามหลักอิสลาม นอกจากนี้ผู้หญิงจะใส่น้ำหอม หรือทาลิปสติกไม่ได้ ถ้ากลิ่นหอมของเธอทิ้งไว้ให้คนอื่นสูดดม ถือเป็นความผิดทันที นอกจากนี้ผู้หญิงก็ห้ามขี่จักรยานหรือมอเตอร์ไซด์ ห้ามดูกีฬาที่ผู้ชายเล่น (กฎข้อนี้เริ่มได้รับการผ่อนปรนหลังอิหร่านได้เข้าร่วมในการแข่งขันฟุตบอลโลก) ในโรงหนัง ที่นั่งหญิงกับชายจะแยกกัน ฟากหนึ่งเป็นที่นั่งครอบครัว ซึ่งหญิงชายในครอบครัวเดียวกันสามารถนั่งด้วยกันได้ อีกฟากหนึ่งเป็นที่นั่งสำหรับผู้หญิงและเด็ก บนรถเมล์ก็จะแยกที่นั่งหญิงชาย ผู้หญิงจะนั่งส่วนท้ายของรถเมล์ ในโรงเรียนผู้หญิงและผู้ชายต้องแยกกันเรียน สถานตากอากาศชายทะเลก็จะมีส่วนที่กั้นแยกหญิงชาย ผู้หญิงอิหร่านจะต้องใส่เสื้อผ้าที่คลุมมิดชิด สวมใส่ผ้าคลุมผมอย่างเรียบร้อยลงเล่นน้ำทะเล รูปผู้หญิงในฉลากยานำเข้าต้องถูกปิดแขนขา รูปผู้หญิงในสิ่งตีพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ ที่เปิดเผยใบหน้าแขนขาหรือเรือนร่าง จะต้องถูกลบด้วยหมึกดำ ถูกฉีกออก หรือไม่ก็ถูกตัดทิ้ง แนวความคิดในการแยกเพศ และการปกปิดใบหน้า หรือเรือนร่างของผู้หญิงนั้นตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานที่ว่า เรือนร่างของผู้หญิงเป็นสิ่งยั่วยุกามารมณ์ การมองเห็นเรือนร่างของผู้หญิง การได้สัมผัส เป็นสิ่งที่จะทำให้เพศชายสูญเสียการควบคุมตน ดังนั้นผู้หญิงจึงควรปิดบังเรือนร่างของเธอให้มิดชิด แนวความคิดนี้อาจเป็นสิ่งที่โลกตะวันตกมองว่าสังคมอิหร่านนั้นกดขี่ผู้หญิงก็เป็นได้ ขณะเดียวกันผู้หญิงในสังคมอิหร่านจำนวนมากก็มองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี เป็นการปกป้องผู้หญิงจากสิ่งที่เลวร้าย การสวมผ้าคลุมศรีษะเป็นการประกาศจุดยืนว่า เธอคือมุสลิมผู้มีบุคลิกที่เพียบพร้อมด้วยศีลธรรมจรรยา มีความสงบเสงี่ยมถ่อมตน ผู้หญิงอิหร่านไม่ได้ต้องการก้าวไปสู่จุดของเสรีภาพในแง่ของการเปิดเปลือยร่างกาย หรือฟรีเซ็กส์เหมือนผู้หญิงตะวันตก แต่สิ่งที่พวกเธอต้องการ คือการมีส่วนร่วมที่มากขึ้นของผู้หญิงในแง่การเมือง การศึกษา และสังคม นอกจากนี้การปกปิดร่างกายอย่างมิดชิด ก็ทำให้หญิงและชายได้ใช้สติปัญญา และทักษะความสามารถ แทนที่จะหมกมุ่นคิดแต่เรื่องเพศ |
|||
ทุกวันนี้ผู้หญิงอิหร่านถือได้ว่าก็มีสิทธิเสรีภาพอย่างมากทีเดียวในหน้าที่การงาน อิหร่านมีผู้หญิงเป็นผู้กำกับหนัง และผู้กำกับละครเวทีจำนวนไม่น้อย มีผู้หญิงทำงานเป็นข้าราชการถึงหนึ่งในสามของข้าราชการทั้งหมด มีผู้หญิงรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกต่างๆนับร้อย และในสมัยประธานาธิบดีคาตามิ ในช่วงปี 1997-2001 คาตามิก็ได้แต่งตั้งผู้หญิงให้ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดี ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม การที่ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น มีบทบาทต่อเศรษฐกิจของอิหร่านมากขึ้นนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามอันยาวนานถึง 8 ปีระหว่างอิรักกับอิหร่านที่ทำให้ผู้ชายต้องออกไปรบเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้หญิงออกมาเป็นแรงงานนอกบ้านมากขึ้น ผนวกกับช่วงหลังสงครามอิหร่านมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงมาก ทำให้รัฐบาลต้องเร่งขยายส่วนราชการเพิ่มมากขึ้นด้วย เช่นเดียวกับโรงเรียน การให้บริการสาธารณสุข และการบริการทางสังคมอื่นๆ ก็ทำให้มีความต้องการผู้หญิงในฐานะแรงงานมากขึ้น ผนวกกับหลังสงครามเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมาก ทำให้ผู้หญิงออกมาทำงานช่วยครอบครัวมากขึ้น องค์ประกอบเหล่านี้ช่วยเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงออกนอกบ้าน ออกสู่พื้นที่สาธารณะมากขึ้น ในแง่ของการศึกษาแล้ว ผู้หญิงอิหร่านถึง 95 % ผ่านการศึกษาชั้นต่ำในระดับประถม ส่วนในระดับอุดมศึกษา ทุกวันนี้มีผู้หญิงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นสัดส่วนที่มากกว่าผู้ชาย ถึงร้อยละ 60 ต่อ 40 เทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อนที่มีผู้หญิงเพียง 28 % เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ในทางการเมือง ในปี 1996 มีผู้หญิงถึง 200 คนลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอิหร่าน และในจำนวน 270 ที่นั่งในสภานั้น มีผู้หญิง 14 คนได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาฯ และดังที่กล่าวไปแล้ว อิหร่านมีผู้หญิงเป็นผู้นำท้องถิ่นถึง 300 คน และในปี 1997 หลังได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรก ด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นจากผู้หญิง ประธานาธิบดีคาตามิก็ได้แต่งตั้ง มัสซูเมะ เอบเตคาร์ (Massoumeh Ebtekar) อดีตนักต่อสู้ในช่วงของการปฏิวัติอิสลามให้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี มีอำนาจกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม |
|||
อย่างไรก็ตาม แม้ในบางแง่มุม ผู้หญิงอิหร่านจะถือได้ว่าค่อนข้างได้รับสิทธิเสรีภาพอย่างมากทีเดียว ทั้งในหน้าที่การงาน การศึกษา และการมีส่วนร่วมในทางการเมือง แต่ในทางกฎหมายแห่งรัฐอิสลามแล้ว สถานะของผู้หญิงอิหร่านยังตกเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบอยู่มาก อย่างเช่นรัฐบาลจะเลือกปฏิบัติในการให้ทุนการศึกษาต่อต่างประเทศแก่ผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงไม่มีสิทธิที่จะได้รับทุนอันนี้
ผู้หญิงจะเดินทางออกนอกประเทศได้
ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุญาติจากสามี หรือผู้ปกครองของเธอ ในทางการศาล ผู้หญิงเป็นพยานมีน้ำหนักเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ชาย นอกจากนี้อิหร่านยังไม่มีผู้พิพากษาหญิงหรือตำรวจหญิง ในแง่ของครอบครัว ก่อนหน้านี้ผู้ชายสามารถทิ้งภรรยาได้ เพียงแค่กล่าวคำว่าต้องการหย่าร้าง 3 ครั้งเท่านั้น ก็ถือว่าการหย่าร้างนั้นมีผลทันที ซึ่งเรื่องนี้เป็นจุดที่ผู้หญิงเสียเปรียบเป็นอย่างมาก ทำให้มีความพยายามตลอดมาที่จะแก้กฎหมายฉบับนี้ ในปี 1993 จึงมีการแก้กฎหมายใหม่ระบุให้การหย่าที่ถูกกฎหมายทำโดยศาลเท่านั้น ถ้าสามีต้องการหย่าโดยที่ภรรยาไม่ยินยอม ทรัพย์สินครึ่งหนึ่งจะต้องตกเป็นของภรรยา เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการเลี้ยงดูบุตรที่ผ่านมา นอกจากนี้กฎหมายของรัฐอิสลามอย่างอิหร่านยังระบุด้วยว่า ลูกของคู่สามีภรรยาที่หย่าร้างกันจะต้องไปอยู่กับฝ่ายชายเท่านั้น แม้แต่ภรรยาม่ายที่สามีตาย ลูกก็อาจจะต้องตกไปอยู่ในความดูแลของญาติฝ่ายชาย สังคมอิหร่านนั้นเรียกได้ว่าดำรงอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้ง โดยเฉพาะในเรื่องของสถานะและบทบาทของผู้หญิง ประเทศนี้ ผู้หญิงเป็นพยานในศาลมีน้ำหนักเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ชาย แต่คนอย่างมัสซูเมะ เอบเตการ์ สามารถดำรงตำแหน่งเป็นถึงรองประธานาธิบดีได้เท่าเทียมกับผู้ชาย ประเทศนี้ผู้หญิงไม่สามารถออกนอกประเทศได้ หากไม่ได้รับอนุญาติอย่างเป็นทางการจากสามี แต่ประเทศเดียวกันนี้ ผู้หญิงก็มีอำนาจปิดอุตสาหกรรมใดๆ ก็ได้ ที่แม้จะจ้างงานผู้ชายนับร้อย แต่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ในประเทศนี้ผู้หญิงจับต้องตัวผู้ชายไม่ได้ ต้องนั่งในรถบัสส่วนท้ายที่แยกขาดจากส่วนของผู้ชาย แต่บนรถแท็กซี่สาธารณะ ซึ่งถือเป็นรูปแบบการเดินทาง ที่ได้รับความนิยมอย่างมากตามเมืองทั่วไป ผู้หญิงก็กลับนั่งเบียดกับผู้ชายแปลกหน้าได้ และเช่นเดียวกันที่ผู้หญิงเป็นแบบโฆษณาไม่ได้ เป็นนักร้องไม่ได้ แต่แสดงหนังหรือเล่นละครเวทีได้ |
|||
และในประเทศเดียวกันนี้ที่เคร่งครัดอย่างมาก
ในเรื่องชู้สาวและการผิดประเวณี แต่อิหร่านก็มีการแต่งงานชั่วคราว ที่เรียกว่า "ซิเค" (Siqeh) ในประเทศนี้ผู้หญิงจะต้องถูกโบย 70 ครั้งหากไม่สวมใส่ผ้าคลุมและแต่งกายให้เหมาะสม
และบทลงโทษสำหรับการผิดประเวณีคบชู้ไม่ว่าหญิงหรือชาย
ก็คือการถูกลงโทษโดยเอาหินเขวี้ยงจนตาย แต่ประเทศเดียวกันนี้ก็อนุญาติให้มีการแต่งงานแบบ "ชั่วคราว" ได้ ซึ่งคำว่าชั่วคราวนั้นกินความหมายตั้งแต่หนึ่งชั่วโมงไปจนถึงหลายสิบปี
เรื่องนี้ฟังดูแปลกและดูเหมือนรัฐอิสลามอย่างอิหร่าน
จะให้เสรีภาพแก่ผู้หญิงอย่างน่าประหลาดใจ
แต่แท้จริงแล้วการแต่งงานแบบชั่วคราวนี้
เอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายชายมากกว่า
เพราะฝ่ายชายนั้นจะมีภรรยาอยู่แล้ว
หรือไม่มีก็ได้ และสามารถจะแต่งงาน "ชั่วคราว" กี่ครั้งก็ได้ ในขณะที่สำหรับผู้หญิง หากเป็นหญิงที่แต่งงาน (อย่างถาวร) แล้ว จะไม่สามารถกระทำการแต่งงานชั่วคราวได้ และหลังจากที่ผู้หญิงครบกำหนดในการแต่งงานชั่วคราวกับชายใดๆ
ผู้หญิงคนนั้นจะสามารถแต่งงานชั่วคราวครั้งที่สองได้
ก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 3 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าเธอมิได้ตั้งครรภ์ นอกจากนี้ฝ่ายชายจะยกเลิกการแต่งงานแบบชั่วคราวนี้เมื่อไรก็ได้ แต่ฝ่ายหญิงไม่สามารถกระทำได้
นอกไปจากนี้กฎที่ฟังดูแปลกอีกข้อหนึ่ง
ของการแต่งงานแบบชั่วคราวนี้ก็คือ
ผู้หญิงที่ยังบริสุทธิ์อยู่จะต้องได้รับอนุญาติ
ในการแต่งงานชั่วคราวจากบิดาของพวกเธอ แต่หากเป็นหญิงที่ไม่บริสุทธิ์แล้ว ไม่จำเป็นต้องขออนุญาติบิดาเพื่อเข้าพิธีแต่งงานชั่วคราว เรื่องที่ยกมาเหล่านี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า สถานภาพของผู้หญิงในสังคมอิหร่านนั้น ขัดแย้งกันอยู่ค่อนข้างมาก ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีความพยายามที่เปลี่ยนแปลงสถานะของผู้หญิงอิหร่าน เพื่อสิทธิเสรีภาพที่มากขึ้น ผนวกกับนโยบายของประธานาธิบดีคาตามิที่ชูเรื่องสิทธิสตรีเป็นประเด็นใหญ่ ทำให้ในช่วงสี่ห้าปีหลังมานี้ มีความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับสถานภาพของผู้หญิงอิหร่านเกิดขึ้นไม่น้อย |
|||
ทศวรรษใหม่กับความเปลี่ยนแปลง | |||
ในช่วงที่ทีมวิจัยเดินทางไปเก็บข้อมูลที่ประเทศอิหร่านในช่วงเดือนมิถุนายน 2544 เป็นช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีคาตามิ เพิ่งได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีเป็นครั้งที่สอง ด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น สังคมอิหร่านในช่วงเวลานั้น ได้เกิดปรากฎการณ์ที่น่าสนใจหลายประการ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องของผู้หญิงที่น่าหยิบยกมาวิเคราะห์ ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นบ้างกับผู้หญิงอิหร่านทุกวันนี้ ประการแรก ทีมงานได้มีโอกาสไปเดินเล่นตามย่านวัยรุ่นของเมืองเตหะราน ได้ไปรับประทานอาหารในร้านอาหารที่วัยรุ่นอิหร่านนิยมไปนั่งกัน ตามสวนสาธารณะซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมที่คนอิหร่านใช้สำหรับการพักผ่อน ก็จะเห็นหนุ่มสาวนั่งคุยกันเป็นคู่ๆ จับไม้จับมือกันมากขึ้น คนขับรถแท็กซี่ในเตหะรานมักจะชี้ชวนให้เราดู และกล่าวว่าหากเป็นสมัยก่อนจะต้องมีตำรวจคอยเข้ามาซักถาม ขอดูบัตรประชาชน ซึ่งหากมิใช่สามีภรรยากันก็อาจจะถูกตำรวจจับได้ แต่หลังประธานาธิบดีคาตามิเข้าดำรงตำแหน่ง (ตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา) ตำรวจก็เริ่มไม่เข้มงวดเหมือนก่อน เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น นอกจากนี้เรายังได้เห็นผู้หญิงที่เดินตามถนน ในเตหะรานคลุมผมแบบเปิดให้เห็นเรือนผม และลำคอมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อน พวกเธอก็อาจจะถูกตำรวจเข้ามาตักเตือน และตามร้านขายเสื้อผ้าผู้หญิงเราได้เห็นเสื้อผ้าทันสมัย เสื้อแขนกุด เสื้อสายเดี่ยว กางเกงขาสามส่วนตั้งโชว์หน้าร้านด้วย (เสื้อผ้าเหล่านี้สำหรับใส่ไว้ข้างใน แล้วสวมโอเวอร์โคดทับอีกที หรือไว้สวมใส่ยามที่อยู่ในบ้าน) นี่เป็นบรรยากาศที่แสดงให้เห็นว่า กฎระเบียบทางสังคมอันเข้มงวดสำหรับผู้หญิงเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น |
|||
ประการที่สอง ระหว่างที่ทีมวิจัยเก็บข้อมูลในประเทศอิหร่านนั้น ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์อิหร่านหลายเรื่อง มีข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ หนังอิหร่านหลายเรื่องที่ออกฉายในช่วงเวลาดังกล่าวสะท้อนปัญหาผู้หญิงเป็นประเด็นใหญ่ อย่างเช่น เรื่อง A Thousand Women like Me เสนอเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่หย่ากับสามี แต่มีลูกชายที่ป่วยซึ่งตามกฎหมายอิหร่านแล้วลูกต้องอยู่กับพ่อ ตัวผู้หญิงซึ่งเป็นแม่ก็สงสารลูกอยากได้ลูกไปดูแล เพราะพ่อดูแลไม่ดี ก็พยายามอ้อนวอนต่อศาล เอาหลักฐานว่าลูกป่วยให้ดู ศาลก็ไม่ยอมรับฟัง ผู้หญิงคนนี้ในที่สุดก็ตัดสินใจพาลูกหนี ตำรวจก็ตามจับ
หนังเดินเรื่องให้เห็นถึงความพยายามของแม่
ในการที่จะเก็บตัวลูกชายที่ป่วย
ไว้ในความดูแลของเธอ กับตำรวจและฝ่ายพ่อที่พยายามจะตามล่าจับตัว ในที่สุดตำรวจก็จับได้
ตอนจบเป็นฉากที่ผู้หญิงคนที่เป็นแม่
เดินออกมาจากบ้านอดีตสามี ทิ้งลูกไว้กับอดีตสามีอย่างจำยอมตามกฎหมาย เดินเหม่อลอยบนถนนจนในที่สุดก็ถูกรถชน
ระหว่างพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
เธอให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม เธอจะต่อสู้ต่อไปเพื่อให้มีการแก้กฎหมายฉบับนี้ เพราะมีผู้หญิงอิหร่านอีกจำนวนมาก ที่ต้องทนทุกข์เหมือนกับเธอ และเมื่อทีมวิจัยได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นิกกี้ คาริมิ ดาราดังของอิหร่านที่มารับบทนำในหนังเรื่องนี้ นิกกี้กล่าวว่าเธอรับเล่นหนังเรื่องนี้เพราะชอบในเนื้อหา
และหวังว่าเนื้อหาในหนังเรื่องนี้
คงจะช่วยจุดประเด็นใหม่ๆ
ที่ทำให้ปัญหานี้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ประการสุดท้าย ทีมวิจัยได้มีโอกาสสัมภาษณ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิง ฟาติเมะ ฮากิกาจู ซึ่งเป็นคนที่ทีมงานตั้งใจติดต่อขอสัมภาษณ์ตั้งแต่แรก เนื่องจากทราบว่าเธอเป็นนักการเมืองหญิงหัวก้าวหน้าของอิหร่าน และในที่สุดเราก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์เธอ แต่เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น เมื่อทีมงานเดินทางกลับมาถึงเมืองไทย หลังเสร็จสิ้นการเก็บข้อมูลในประเทศอิหร่าน เราก็ได้รับข่าวว่า ฟาติเมะ ฮากิกาจู ถูกจับ ด้วยข้อกล่าวหา 4 ข้อคือ 1) จงใจตีความคำพูดของผู้นำรัฐอิสลาม (อันหมายถึงอยาโตเลาะห์ โคมัยนี) ผิดๆ 2) กล่าวคำพูดต่อต้านอิสลาม 3) ดูหมิ่นสภาผู้ชี้นำ และ 4) ดูหมิ่นหัวหน้าศาลปฏิวัติเตหะราน แต่เหตุผลที่แท้จริงแล้วคือการที่ เมื่อหลายเดือนก่อน ฮากิกาจูออกมากล่าวคำพูดกล่าวหาศาลปฏิวัติ ในการใช้ความรุนแรงเข้าทุบตี เพื่อจับกุมจับนักข่าวหญิงหัวก้าวหน้าของอิหร่าน |
|||
สิ่งที่พวกเราได้พบเห็นเหล่านี้บอกอะไรได้บ้าง มันบอกว่าสถานะและบทบาทของผู้หญิงอิหร่านกำลังเริ่มเปลี่ยนแปลง ผู้หญิงอิหร่านเข้ามามีบทบาทในการต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเปลี่ยนแปลง เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกันมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีแรงต้านของฝ่ายที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ยังคงกุมอำนาจในการบริหารประเทศเป็นส่วนใหญ่ บนสนามของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันมากขึ้นของผู้หญิงอิหร่านนั้น
แรงผลักระหว่างฝ่ายที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง
กับฝ่ายที่ต้องการรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้คงเดิม
เป็นสนามอันน่าจับตามองเป็นพิเศษ ที่น่าสนใจคือทุกวันนี้ ความรู้สึกทั่วๆไปในตัวผู้หญิงนับล้านที่เปลี่ยนไป ผู้หญิงอิหร่านกำลังแสวงหาหนทางของตนที่เบี่ยงเบนไปจากกรอบเดิมๆ อิหร่านมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้หญิงมากขึ้นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง สัดส่วนนักเรียนหญิงในมหาวิทยาลัยมีมากกว่าผู้ชายมากขึ้นทุกปี ในปี 2000 อิหร่านมีสัดส่วนนักศึกษาหญิงและชาย 60:40 และกำลังจะเพิ่มขึ้นถึง 70: 30 ในปีต่อๆมา นั่นหมายถึงว่าผู้หญิงกำลังยกระดับการศึกษาของตน ถึงขั้นก้าวล้ำหน้าชายในสัดส่วนที่สูงกว่ากันมากทีเดียว ในทางกฎหมาย มีความพยายามที่จะแก้กฎหมายเพื่อให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้หญิงมากขึ้น และด้วยแรงผลักของผู้หญิงทั้งในสภาและนอกสภา ทำให้กฎหมายหลายฉบับที่ผู้หญิงต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ได้รับการแก้ไข อย่างกรณี Mehr เงินสินสอดที่ตกลงกันตั้งแต่ตอนแต่งงานว่าจะจ่ายให้เมื่อมีการหย่าร้างกัน ผู้หญิงจำนวนมากพบว่าตัวเองไม่มีอะไรติดตัวเลยหลังหย่าร้างกัน เพราะค่าเงินที่เปลี่ยนไป จากเงินที่เคยตกลงกันไว้เมื่อ 20 ปีก่อน 12,000 เรียล ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่มากเอาการ ปรากฏว่า 20 ปีต่อมา เงิน 12,000 เรียลนั้นยังไม่พอค่าแท็กซี่จากศาลกลับบ้านด้วยซ้ำ ด้วยการต่อสู้เรียกร้องเรื่องนี้ของบรรดาส.ส.หญิง และองค์กรต่างๆเพื่อสิทธิสตรี ทำให้ในที่สุดราวปี 1995 กฎหมายก็ออกมาว่าให้ปรับค่าของ mehr โดยเอาค่าเงินปัจจุบันเข้าไปเทียบ แบงก์ถูกสั่งให้จัดหาตารางเทียบค่าเงินปีต่างๆออกมาเป็นค่าเงินปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อมิให้หญิงที่หย่าร้างตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ นอกจากนี้ก็มีการแก้กฎหมายใหม่ อนุญาติให้หญิงที่มีลูกอ่อน มีสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยต้องดูแล สามารถทำงานครึ่งเวลาโดยได้รับเงินค่าจ้างครึ่งเวลา หรือหากพนักงานหญิงประสงค์จะทำงานเพียง 2 ใน 3 ของเวลาเต็ม กฎหมายแรงงานฉบับนี้ก็บังคับให้นายจ้างต้องอนุญาติให้เช่นกัน |
|||
นอกจากนี้ก็ยังมีความพยายามที่จะแก้กฎหมาย เพื่อเพิ่มอายุของผู้หญิงที่สามารถแต่งงานได้ตามกฎหมาย จากเดิมที่อนุญาติให้ผู้หญิงที่มีอายุครบ 9 ปีบริบูรณ์สามารถแต่งงานได้ตามกฎหมาย ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า 9 ขวบถือว่าเด็กเกินไป รวมถึงกฎหมายที่ให้สิทธิการเลี้ยงดูบุตรแก่ฝ่ายชาย ซึ่งกฎหมายอิหร่านยึดตามประเพณีที่ถือกันมาตามหลักอิสลามที่ว่า หญิงที่หย่าสามีมีสิทธิที่จะเอาเด็กผู้หญิงไว้กับตน จนกว่าเด็กจะมีอายุครบ 7 ขวบ สำหรับลูกผู้ชายแม่มีสิทธิเลี้ยงดูจนกว่าจะอายุ 2 ขวบ พ้นไปจากนั้นลูกจะต้องไปอยู่ในความดูแลของฝ่ายชาย แม่ไม่มีสิทธิแม้แต่จะไปเยี่ยมนอกเสียจากได้รับอนุญาติจากสามี กฎหมายประเพณีข้อนี้ทำให้เกิดปัญหาอย่างมากหลังสงครามกับอิรัก ที่ทำให้เกิดหญิงม่ายสามีตายเป็นจำนวนมาก ที่ลูกต้องตกไปอยู่ในความดูแลของปู่ หรือญาติฝ่ายชาย นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า หญิงที่หย่าสามีคนหนึ่งมีสิทธิเลี้ยงดูลูกหญิง จนกระทั่งอายุครบ 7 ขวบ หลังครบวันเกิดอายุครบ 7 ปี เด็กผู้หญิงคนนี้ต้องไปอยู่ในความดูแลของพ่อตามกฎหมาย ทั้งที่พ่อคนนี้ติดยา มีประวัติอาชญากรรม และประวัติทุบตีทำร้ายเด็ก เด็กผู้หญิงคนนี้เสียชีวิตใน 18 เดือนต่อมา ด้วยร่างกายแหลกเหลว กระดูกหักทั้งร่าง กะโหลกศรีษะแตก และเพราะว่าตามกฎหมาย แม่ถูกห้ามมิให้เยี่ยมลูก แม่ของเด็กผู้หญิงคนนี้พบว่า ลูกตัวเองตายจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องสะเทือนใจของคนจำนวนมาก และทำให้เกิดการผลักดันให้มีการแก้กฎหมาย ว่าด้วยสิทธิในการเลี้ยงดูเด็กของคู่หย่าร้างขึ้น ในปี 1998 แต่กฎหมายใหม่นี้ก็ได้รับการแก้ไขในประเด็น เพียงแค่อนุญาติให้ลูกไปอยู่กับฝ่ายแม่ ในกรณีที่พ่อไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะดูแลลูกได้ | |||
อาจจะจริงอย่างที่ผู้หญิงอิหร่านหลายๆ
คนกล่าวไว้ตรงกันว่า มันไม่สำคัญหรอกเรื่องเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ผ้าคลุมผมนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ
กฎหมายของอิหร่านที่ยึดถือตามประเพณี อันทำให้สิทธิของผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชาย สิ่งนี้ต่างหากที่พวกเธอต้องต่อสู้
และแม้นโยบายของประธานาธิบดีคาตามิ
จะชูประเด็นเรื่องสิทธิสตรีเป็นสำคัญ แต่บนสนามของการต่อสู้นั้นก็มิใช่จะราบรื่นเสมอไป
ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง
มักจะถูกแรงต้านจากฝ่ายอนุรักษ์
ที่ต้องการรักษาทุกอย่างไว้คงเดิม
ผลักกลับอยู่ตลอดเวลา
สถานะและบทบาทของผู้หญิงอิหร่าน
จะก้าวเดินไปทางใดในศตวรรษใหม่
ที่อิทธิพลจากโลกภายนอกกำลังบุกทะลวงอิหร่านเข้าไปในทุกๆด้าน เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะต้องติดตามดูกันต่อไป ดูเหมือนสิ่งที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในบทบาท และสถานะของผู้หญิงอิหร่านได้มากที่สุดก็คือ คนรุ่นใหม่ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อิหร่านมีอัตราการเกิดสูงมาก อิหร่านเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรในวัยรุ่นสูงอันดับต้นๆ ของโลก นักการศาสนาระดับสูงคนหนึ่งเคยกล่าวว่า อิหร่านต้องการเพิ่มประชากรจำนวนมาก เพื่อธำรงรักษาอุดมการณ์การปฏิวัติ แต่ทศวรรษต่อมา นักการศาสนาทั้งหลาย ก็ได้ตระหนักว่า การเพิ่มขึ้นของประชากร กลับเป็นตัวการทำลายอุดมการณ์ปฏิวัติมากกว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้ จะนำพาอิหร่านไปสู่ทิศทางใด เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดเดาได้ |
|||
บรรณานุกรม | |||
AFP. (2001). "Iran: Female reformist MP sentenced in prison." 21 August 2001. From http://www.arabia.com/life/article/print/english/0,4973,64316,00.html Afshar, Haleh (1998). Islam and Feminism: An Iranian Case Study. New York: ST. Martin's Press. CNNs.com (2001). "Iranian woman reformist jailed" 22 August 2001. http://www.cnn.com/2001/WORLD/meast/08/21/iran.reformist/ Esfandiari, Haleh. (2001). "The Politics of the "Women's Question" in the Islamic Republic, 1979-1999" In Iran at the Crossroads. John L. Esposito and R. K. Ramazani eds. New York: PALGRAVE. Sciolino, Elaine. (2000). Persian Mirrors. New York: The Free Press. Wright, Robin. (2001). The Last Great Revolution: Turmoil and Transformation in Iran. New York: Vintage Books. |