นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๗ เดือนมีนาคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๗ เดือนมีนาคม ๒๕๔๖ " ฉากรักของสัตว์โลก"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๑๗ เดือนมีนาคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

สหรัฐอเมริกา-ผู้ก่อการร้าย โรมันใหม่ และด้านมืด

  เรื่อง : กฤษดา เกิดดี
  ๑. สหรัฐฯ จากผู้ก่อการร้ายถึงโรมันใหม่
 (คลิกดูภาพใหญ่)
      ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอยไร้เหตุผลถ้าหากจะกล่าวว่า สหรัฐอเมริกาคือผู้ก่อการร้ายหมายเลขหนึ่ง และทำเนียบขาวกับเพนตากอนคือกองอำนวยการการก่อการร้ายที่มีขนาดใหญ่โตที่สุด และมีชื่อเสียงที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลังเหตุการณ์วันที่ ๑๑ กันยายน สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดถล่มอัฟกานิสถาน โดยอ้างว่าประเทศนั้นเป็นแหล่งพักพิงและเพาะพันธุ์ผู้ก่อการร้าย ซึ่งมีส่วนพัวพันกับการถล่มตึกเวิลด์เทรด มีผู้เสนอแนะว่าถ้าสหรัฐฯ ต้องการที่จะทำลายล้างการก่อการร้ายอย่างจริงจัง สหรัฐฯ ก็ต้องระเบิดถล่มตัวเองเสียก่อนเป็นอันดับแรก หรือด้วยข้ออ้างแบบเดียวกัน เมื่อมีการวางระเบิดที่ลอนดอนโดยฝีมือไออาร์เอ บอสตันและเวสต์ เบลฟาสต์ก็น่าจะโดนระเบิดถล่มให้ราบเป็นหน้ากลอง เนื่องจากเป็นแหล่งสนับสนุนทางการเงินที่สำคัญของนักวางระเบิดไอริช
      ด้วยหลักฐานที่ยากแก่การพิสูจน์ (อย่างมากที่สุดก็เป็นเพียงแค่ "มีเหตุผลพอจะทำให้เชื่อว่า" เท่านั้น) สหรัฐฯ ได้ใช้กองทัพอากาศยานอันเกรียงไกรบดขยี้ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง เหตุผลก็เพราะอัฟกานิสถานเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ผู้ก่อการร้าย แม้สหรัฐฯ มีหลักฐานที่หนักแน่นและสามารพิสูจนได้ การกระทำดังกล่าวก็ยังต้องถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องความชอบธรรม แต่ถ้าหากปราศจากหลักฐาน (และดูเหมือนว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น) จะเรียกการกระทำดังกล่าวว่าอะไร และจากหลักฐานอีกด้านหนึ่ง ดูเหมือนว่าการกล่าวหาอัฟกานิสถานว่าเป็น แหล่งเพาะพันธุ์ผู้ก่อการร้ายได้กลายเป็นเพียงฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งในนิยายเรื่อง "จากเติร์กเมนิสถานถึงทะเลอาหรับ" เท่านั้น
      นิยายเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อหลายปีก่อน ในเบื้องต้นรัฐบาลตาลีบันถูกจัดให้เป็นพันธมิตรทางการค้าของสหรัฐฯ ในปี ๒๕๔๐ ผู้แทนระดับสูงของตาลีบันได้เดินทางไปพบ จอร์จ บุช ที่เทกซัส ระหว่างการรับประทานอาหารริมสระน้ำที่บ้านของบุช ซึ่งมีรองประธานบริษัทยูโนแคล ร่วมวงอยู่ด้วย มีการเจรจาเกี่ยวกับแผนการของยูโนแคลที่จะสูบน้ำมัน 60-270 พันล้านบาร์เรลจากเติร์กเมนิสถานผ่านอัฟกานิสถานแล้วมาออกทะเลอาหรับที่ปากีสถาน หลักการเจรจาครั้งนั้น แผนการลำเลียงน้ำมันผ่าน "สามสถานประเทศ" ไม่คืบหน้า จนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคม ปี 2544 ก็เป็นที่แน่นอนว่าการเจรจาต้องพบกับความล้มเหลว เมื่อพวกตาลีบันถูกโค่นล้มเลยทำให้เกิดคำถามสำคัญติดตามมาว่า ตาลีบันถูกทำลายเพราะเพลิดเพลินกับการเพาะพันธุ์ผู้ก่อการร้าย (ตามความหมายในพจนานุกรมเพนตากอน) หรือว่าเป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถตอบสนองต่อความโลภ และความทะเยอทะยานของมหาเศรษฐีจากเท็กซัส
      หลังหมดยุคตาลีบัน คำตอบเริ่มปรากฏ อัฟกานิสถานได้ผู้นำประเทศคนใหม่ รัฐบาลชุดใหม่ถูกบรรยายว่าเป็นรัฐบาลที่สนับสนุนการค้าน้ำมัน เหตุผลที่น่าเชื่อถือก็คือชายผู้มักปรากฏกายในชุดเขียวที่ชื่อ ฮาร์มิด คาร์ไซ เคยเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาของยูโนแคล
        นิยายเรื่อง "จากเติร์กเมนิสถานถึงทะเลอาหรับ" มีฉากการสู้รบที่ทำให้คนอเมริกันตื่นเต้นจนน่าจะถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดยเจอร์รี บรัคไฮเมอร์ นอกจากนั้น การขนระเบิดไปถล่มอัฟกานิสถาน ยังช่วยบรรเทาอาการโกรธแค้นอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ 11 กันยายน แต่สำหรับผู้ที่อยู่วงนอกและสังเกตการณ์ความเป็นไปด้วยปัญญา ย่อมพบว่านิยายเรื่องนี้มีแต่เรื่องน่าเวทนา มาร์ค เฮอโรลด์ ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิว แฮมป์ไชร์ได้พยายามศึกษาหาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการสูญเสียของอัฟกานิสถานระหว่างวันที่ 7 ตุลาคมถึง 10 ธันวาคม 2544 ผลการศึกษาแสดงให้ทราบว่า อย่างน้อยที่สุดและด้วยการประเมินอย่างใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด มีชาวอัฟกันเสียชีวิตอันเนื่องมาจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ จำนวน 5,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่ายอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึกเวิล์ดเทรดถล่มเกือบสองเท่า
      ในจำนวน 5,000 คนนั้น มีอยู่ 3 คนที่เสียชีวิตเพราะเป็นเป้าของขีปนาวุธ ชายทั้งสามถูกสังหารที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้ชายแดนปากีสถาน เหตุผลที่ทำให้พวกเขาต้องตกเป็นเหยื่อของขีปนาวุธก็เพราะหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นชายร่างสูง "อาจจะเป็นบินลาเดน" เพนตากอนอธิบาย ( ข้อเท็จจริงก็คือชายคนที่ตกเป็นเหยื่อนั้นสูง 180 เซ็นติเมตร เตี้ยกว่า บิน ลาเดน ถึง 16 เซนติเมตร)
      หลังพ้นช่วงเวลาในการศึกษาของเฮอโรลด์ อัฟกานิสถานยังคงถูกลงโทษอย่างไม่หยุด เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2545 เครื่องบิน บี 52 ทิ้งระเบิดพลาดเป้าหมายไปถูกงานวิวาห์ของชาวบ้าน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ผลก็คือมีผู้เสียชีวิต 40 คน ในจำนวนนี้มีเด็กอายุ 5 ขวบรวมอยู่ด้วย
      นิยายเรื่อง "จากเติร์กเมนิสถานถึงทะเลอาหรับ" ยังมีภาคต่อ ฉากสำคัญย้ายไปอยู่ที่แบกแดด ในเบื้องต้น สหรัฐ มีความประสงค์จะจำกัดอันตรายที่อาจจะคุกคามโลก และผลประโยชน์ของตน โดยให้เหตุผลว่าอิรักครอบครองอาวุธร้ายแรง สิ่งที่ทุกคนทราบกันดีก็คือเรื่องอาวุธร้ายแรงยังพิสูจน์ไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ อิรักมีปริมาณน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับสองของโลก และมันก็น่าจะมากพอ สำหรับการสนองความโลภของมหาเศรษฐีจากเท็กซัส และเหล่าบริวารได้
      สิ่งที่มิอาจมองข้ามก็คือ ตลอดระยะเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษ ที่อิรักถูกกดดันโดยมาตรการลงโทษ ประชาชนชาวอิรักหลายแสนคนต้องเสียชีวิต จำนวนผู้เสียชวิตนั้นมากกว่าจำนวนผู้ถูกสังหารด้วยอาวุธร้ายแรงครั้งใดในประวัติศาสตร์
      เหตุการณ์ที่อัฟกานิสถานมิใช่ของแปลกใหม่ ในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศที่มากมายด้วยกำลังและเล่ห์กล นอกเหนือจากการก่อการร้ายต่ออินเดียนแดง สหรัฐฯ ยังได้ดินแดนมาจากเม็กซิโก และสเปนโดยการใช้กำลัง หลังจากนั้นสหรัฐฯ ก็ไม่เคยหยุดขยายอำนาจและอิทธิพล หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สถิติใหม่ๆ เกี่ยวกับการแผ่ขยายอำนาจของสหรัฐฯ เกิดขึ้นตลอดเวลา ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ สงครามเวียดนาม
(คลิกดูภาพใหญ่)       ด้วยความเชื่อคล้อยตามทฤษฎีโดมิโนของ จอร์จ เอฟ. เคนแนน (ซึ่งเปรียบประเทศด้อยพัฒนาเป็นเหมือนไพ่โดมิโน หากไพ่ตัวใดตัวหนึ่งล้มก็จะทำให้ตัวอื่นล้มตามไปด้วย) และอาการหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ชนิดขึ้นสมองทำให้สหรัฐฯ ก้าวเท้าเข้ามาในอินโดจีน "ยุทธการค้นหาและทำลาย (search and destroy operation) ถูกออกแบบมาใช้ให้เข้ากับสถานการณ์สงครามในเวียดนาม และมันได้สร้างสถิติที่สุดแสนสกปรกในหน้าประวัติศาสตร์สงคราม ชาวเวียดนามผู้บริสุทธิ์ถูกยิงทิ้งเพราะถูกสงสัยว่าเป็นเวียดกง (เช่น เหตุการณ์สังหารโหดที่หมู่บ้านมายไล เมื่อปี พ.ศ. 2512 ซึ่งพระ เด็ก สตรีและคนชราถูกสังหารกว่า 500 คน) 6 เมืองใหญ่ 100 เมืองเล็ก และ 4,000 ชุมชนถูกถล่มยับเยิน ระเบิดร้ายแรงนานาชนิด อาทินาปาล์ม ถูกใช้อย่างไร้ขอบเขต (อิทธิฤทธิ์ของมันถูกพรรณนาให้เห็นใน Apocalypse Now และ We Were Soldiers) โดยรวมแล้ว สหรัฐฯ ขนระเบิดมาถล่มเวียดนามมากกว่า 6.7 ล้านตัน (แถมด้วยอีกมากกว่าครึ่งล้านตันในการถล่มเขมรเพื่อหนุน นายพลลอนนอล ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่อง) ใช้สารเคมีทำลายป่าและมนุษย์ 19 ล้านแกลลอน ซึ่งมีผลทำให้ป่าอินโดจีนถูกทำลายกว่า 5 ล้านเอเคอร์ (ประมาณ 12.5 ล้านไร่) และที่สำคัญที่สุด มีชาวอินโดจีนเสียชีวิตมากกว่า 1.5 ล้านคน
      และสิ่งที่หลายคนไม่รู้คือ สหรัฐ ยังได้ก่อสงครามในลาว ซึ่งเรียกกันว่าเป็น "สงครามลับ" หรือ "สงครามปกปิด" ในสงคราม สหรัฐอเมริกาได้ปฏิบัติการ "ทิ้งระเบิดแบบลับๆ" ขึ้นทางตอนเหนือของลาว เป้าหมายของปฏิบัติการคือการทำให้ทุกอย่างแหลกเป็นผุยผง เพื่อไม่ให้พวกคอมมิวนิสต์มีที่อาศัย ผลปรากฏว่าพื้นที่ของลาวกลายสภาพเป็นเถ้าถ่าน และคนลาวเกิดอาการ "หวาดผวาต่อท้องฟ้า" เฉพาะสงครามลับและการทิ้งระเบิดอย่างลับๆ ในครั้งนั้นทำให้คนลาวเสียชีวิต ราว 300,000 คน
      ก่อนสงครามเวียดนามพุ่งถึงขีดสุด สหรัฐฯ ยังมีเวลาขยายอิทธิพลในภูมิภาคอื่น ในปี พ.ศ. 2508 คณะทหารนิยมฮวน บอสช์ โค่นล้มรัฐบาลเผด็จการขวาจัดของสาธารณรัฐโดมินิกัน จนนำไปสู่สงครามกลางเมือง ด้วยความเชื่อว่ามีคอมมิวนิสต์เข้ามาเกี่ยวข้อง ประธานาธิบดีจอห์นสัน จึงส่งกำลังทหารกว่า 20,000 คน บุกสาธารณรัฐโดมินิกัน แต่ความจริงก็คือไม่มีหลักฐาน แสดงให้เห็นว่าคอมมิวนิสต์ ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว
      ประธานาธิบดี แฮร์รี่ เอส ทรูแมน ตั้งซีไอเอ (Central Intelligence Agency) ในปี พ.ศ. 2490 ต่อมา ซีไอเอกลายเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในหลายประเทศ เช่น การรัฐประหารในอิหร่าน (2496) การรัฐประหารในกัวเตมาลา (2497) รวมทั้งการรัฐประหารในประเทศไทยในปี 2519 ด้วย
      หลังปี 2521 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในนิคารากัว รัฐบาลโซโมซาถูกโค่นล้มโดยขบวนการฝ่ายซ้ายซานดินิสตา ทางวอชิงตัน เห็นว่าซานดินิสตามีแนวโน้มว่าจะฝักใฝ่คิวบา จึงใช้มาตรการทางเศรษฐกิจลงโทษ แต่พอถึงสมัยประธานาธิบดี เรแกน ความรุนแรงและการใช้กำลังคือยุทธวิธีที่วอชิงตันเลือก วอชิงตันตั้งกองกำลังเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อขัดขวางซานดินิสตา แม้ถูกประฌามว่าใช้กำลังอย่างผิดกฎหมาย แต่ทำเนียบขาวก็เดินหน้าต่อไปโดยอนุมัติให้ซีไอเอตั้ง "กองทัพผู้ก่อการร้าย" (terrorist army) เพื่อปฏิบัติการในนิคารากัว การแทรกแซงของสหรัฐฯ และผลงานของกองทัพผู้ก่อการร้ายทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคน
      ในปี 2528 ซีไอเอวางระเบิดที่สุเหร่าในกรุงเบรุต เลบานอน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 80 คน และบาดเจ็บ 250 ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก 4 ปีต่อมาเหยื่อเปลี่ยนจากเบรุตเป็นปานามา ซิตี สหรัฐฯ โจมตีทางอากาศโดยอ้างอย่างเป็นทางการว่า ปานามาเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางลำเลียงยาเสพติด แต่เหตุผลที่รู้กันและน่าจะสำคัญกว่าคือความปรารถนาที่จะควบคุมคลองปานามา
      ต่อมาในเดือนสิงหาคมปี 2541 บิลล์ คลินตัน ส่งขีปนาวุธโทมาฮอว์กไปถล่มซูดาน เป้าหมายเป็นโรงงานที่เพนตากอนเชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตอาวุธเคมี แต่ความจริงกลับกลายว่าโรงงานแห่งนั้นเป็นศูนย์ผลิตยาที่สำคัญแห่งหนึ่งในซูดาน เป็นแหล่งผลิตยาที่ใช้รักษาโรคร้ายอย่างมาลาเรียและวัณโรค ไม่เพียงแต่เล่นงานด้วยโทมาฮอว์ก ทางวอชิงตันยังกดดัน โดยการเข้าควบคุมบัญชีธนาคารที่ลอนดอน ของผู้เป็นเจ้าของโรงงาน ดร.ไอดริส เอลตาเย็บ ประธานบริหารโรงงานแสดงความเห็นว่าการกระทำของสหรัฐฯ เป็นการก่อการร้าย เมื่อเกิดเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน ดร.เอลตาเย็บได้เปรียบเทียบว่ามันเป็นการก่อการร้ายเหมือนๆ กัน แต่ความแตกต่างมีอยู่อย่างเดียวคือกรณีซูดานทุกคนรู้ดีว่าใครเป็นคนทำ
      จากเวียดนามถึงนิคารากัว จากเลบานอนถึงปานามา และจากซูดานถึงอัฟกานิสถาน ทั้งหมดเป็นเพียง "ส่วนหนึ่ง" แต่ก็หนักแน่นเพียงพอ ที่จะยืนยันฐานะผู้ก่อการร้ายของเหล่าขุนพลของเพนตากอน และนักบริหารประจำทำเนียบขาว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเหตุการณ์เหล่านั้น ไม่มีบทสัมภาษณ์ผู้ตกเป็นเหยื่อ ไม่มีภาพสโลว์โมชั่น และปราศจากการเผยแพร่ภาพรีเพลย์ไปทั่วโลก โลกจึงยังคงถูกมองว่า "เหมือนเดิม"
(คลิกดูภาพใหญ่)       วิลเลียม บลัม บรรณาธิการ ผู้ก่อตั้งวอชิงตัน ฟรี เพรสส์ (Washington Free Press-หนังสือพิมพ์ใต้ดินยุค 60) ได้นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ จากการรวบรวมของบลัม นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงต้นศตวรรษใหม่ รัฐบาลประเทศต่างๆ มากกว่า 40 คณะได้ตกเป็นเหยื่อที่สหรัฐฯ พยายามโค่นล้ม และยังมีขบวนการชาตินิยมและขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมากกว่า 30 ขบวนการที่ถูกสหรัฐฯ หยุดยั้งและทำลาย ผลพวงของการ "โค่นล้ม-หยุดยั้ง-ทำลาย" ของสหรัฐอเมริกาทำให้มีคนล้มตายหลายล้านคน
      บลัมได้ชี้ให้เห็นว่า คนอเมริกันนั้นถูกสอนให้เชื่อว่าการปล้น การฆ่าและการข่มขืนเป็นสิ่งที่ผิด แต่พวกเขาถูกทำให้เชื่อว่าโค่นล้มรัฐบาลประเทศอื่น การสังหารพวกสังคมนิยม และการเอาระเบิดไปทิ้งใส่คนในประเทศอื่นนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว
      ในสหรัฐฯ เองก็มีค่ายฝึกผู้ก่อการร้าย (แน่นอนว่าต้องเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นจะผลิตการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร) พวกผู้ก่อการ้ายที่ผ่านการฝึกฝนได้ถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ในหลายประเทศ ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ค่ายฝึกที่มีชื่อเสียงก็คือที่ฟอร์ต เบนนิง ในจอร์เจีย ด้วยขนาดและลักษณะของการฝึกของค่ายแห่งนี้ทำให้มีผู้กล่าวว่า เมื่อเทียบกันแล้ว ค่ายของพวกอัล-เคดา กลายเป็นเพียงแค่ "กิจกรรมปิคนิคของเทเลทับบีส์" เท่านั้น
      ด้วยลักษณะการคุกคามและขยายอิทธิพลทำให้สหรัฐอเมริกาถูกพิจารณาว่าเบ็น "อาณาจักรโรมันใหม่" เบ็นอาณาจักรที่สามารถครอบครองความเป็นใหญ่ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และเทคโนโลยี อเมริกากำลังพิสูจน์สิ่งที่ชาวโรมันเคยรู้และเชื่อมาก่อน นั่นคือ "เมื่ออาณาจักรหนึ่งก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกในพื้นที่หนึ่ง มันจะครอบครองพื้นที่ส่วนอื่นด้วยในไม่ช้า"
        โรมันมีกำลังกองทัพอันเกรียงไกร มีอาวุธร้ายแรง มีกองทหารที่ผ่านการฝึกมาอย่างดีเยี่ยม และมีงบประมาณทางทหารมหาศาล สหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน นอกจากมีกองทัพที่ไร้ผู้ต้านแล้ว อเมริกายังมีฐานทัพและสิทธิ์ที่จะใช้ฐานทัพใน ๔0 ประเทศ 
      โรมันมีการใช้การโฆษณาชวนเชื่อ โดยใช้การต่อสู้ในโคโลสเซียม เพื่อบอกให้โลกรู้ว่าพวกเขาแกร่งกว่าใคร ทางอเมริกาก็ใช้วิธีการคล้ายกันเพื่อบอกสิ่งเดียวกัน การโฆษณาชวนเชื่อของอเมริกา กระทำผ่านทางสินค้าจากฮอลลีวูด คนดูทั่วโลกได้เห็นแสนยานุภาพทางทหาร ในภาพยนตร์สงครามจำนวนมากมาย มันทำให้ทุกคนได้ประจักษ์ว่า "ข้า -อเมริกา-นั้นแกร่งและไร้เทียมทาน" 
      แต่นอกจากกำลังรบ อเมริกายังมีอาวุธอย่างแม็คโดนัลด์ สตาร์บัคส์ และ โคคา โคลา ซึ่งทำให้การครอบครองความเป็นใหญ่นั้นเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทุกพื้นที่ 
      อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งซึ่งทางอเมริกาคงไม่ปรารถนาจะให้เหมือนโรมัน ก็คืออาณาจักรมีรุ่งเรืองและตกต่ำ สิ่งที่ผู้ต่อต้านอเมริกากำลังคิดก็คือ เหตุการณ์ในอิรัก อาจจะเป็นจุดแรกที่นำอเมริกาไปสู่การสิ้นสุด และล่มสลายแห่งอาณาจักรในอนาคตอันไม่ไกลนัก
  สรุป
 
      ข้อความที่มีชื่อเสียงที่สุดข้อความหนึ่งในสมัยสงครามเวียดนามคือ Hey! Hey! LBJ! How many kids did you kill today? ซึ่งผู้ประท้วงสงครามเวียดนามตะโกนประฌามประธานาธิบดีจอห์นสัน เกี่ยวกับนโยบายในเวียดนาม หลายทศวรรษต่อมา ข้อความดังกล่าวถูกนำมาใช้อีกครั้ง โดยกลุ่มผู้เดินขบวนประท้วงสหรัฐ กับอิสราเอลที่ท้องถนนกลางซิดนีย์ โดยผู้เดินขบวนได้เปลี่ยนข้อความจาก "แอล.บี.เจ." (ลินดอน บี จอห์นสัน) มาเป็น "ยู.เอส.เอ" เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ (เปลี่ยนแล้วเป็น Hey! He! USA! How many kids did you kill today?) และดูเหมือนข้อความที่เปลี่ยนแล้ว ยังสอดคล้องกับทุกสถานการณ์ตั้งแต่เวียดนาม อิรัก และอัฟกานิสถาน (ส่วนเด็กที่ถูกสังหารก็อาจเปลี่ยนสัญชาติไปตามสถานการณ์ด้วยเช่นกัน และอาจจะกล่าวได้ว่าประโยคดังกล่าวน่าจะเป็นประโยคอมตะ ที่จะสามารถหยิบยกมาใช้ได้อีกนานในอนาคต
  2. ด้านมืดของอเมริกา
 
      "อเมริกาที่แสนสวยงาม" อาจเป็นจุดหมายปลายทางของคนจำนวนมาก ดินแดนแห่งเสรีภาพ และโอกาสคือสิ่งดึงดูดคนจากประเทศอื่นให้เข้ามาใช้ชีวิต และกลายเป็นเครื่องหมายการค้าอย่างหนึ่ง อเมริกายังถูกมองว่าเป็นดินแดนแห่งประชาธิปไตยและการเชิดชูสิทธิมนุษยชน แต่ทั้งหมดที่กล่าวมามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ
      อเมริกาเป็นดินแดนเสรี? ในประเทศสหรัฐฯ ชาวพื้นเมืองอเมริกัน (อินเดียนแดง) ไม่เคยได้รับความเสมอภาคและความยุติธรรมไม่เพียงแต่ถูกขับไล่ให้พ้นจากบ้านเกิด พวกเขายังต้องถูกแยกไปไว้ในเขตสงวน ดูแล้วก็ทำให้เกิดความสงสัยว่าพวกเขาเป็นมนุษย์หรือไบซันกันแน่ นอกจากนั้น อเมริกายังเป็นดินแดนแห่งการเหยียดเพศ เหยียดผิว ผู้หญิงอเมริกันไม่ได้รับสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจนกระทั่งปี พ.ศ. 2464 และกฎหมายคุ้มครองชนกลุ่มน้อยก็เพิ่งออกมาบังคับใช้ได้เพียง 48 ปีเท่านั้น อเมริกายังเป็นดินแดนที่แม้แต่นักวิ่งทีมชาติยังเคยถูกแยกไปนั่งในรถบัสอีกคัน และมีปัญหาในการเข้าห้องน้ำระหว่างการเดินทางภายในประเทศเหตุเพราะเธอเป็นคนดำ
      แม้แต่ผู้นำสูงสุดของประเทศ คือประธานาธิบดีก็ไม่ใช่มนุษย์ผู้ที่มีทางเลือกเสรี ในกรณีของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ด้วยการสนับสนุนและช่วยเหลือทางการเงิน จากบริษัทน้ำมันอย่างเอ็กซ์ซอน โมบิล ทำให้จอร์จ ดับเบิลยู. บุช แทบไร้เสรีในการเลือกสำหรับการดำเนินนโยบายพลังงาน บุช คงต้องแสวงหาแหล่งน้ำมันอย่างไม่หยุดพักและไม่สนใจว่าจะต้องเสียระเบิดอีกกี่ลูก แม้แต่เขตสงวนในอาร์คติกก็เคยเป็นเป้าหมายของบุชมาแล้ว
      ผู้นำคนสำคัญอีกคนในรัฐบาลคือ โดนัล รัมสเฟลด์ก็เจอสถานการณ์คล้ายๆ กัน นอกจากมีภูมิหลังเกี่ยวกับสื่อ (ทรีบูน คอมปานี ผู้พิมพ์ ลอส แอนเจลิส ไทม์สและชิคาโก ทรีบูน) รัมสเฟลด์ยังเป็นผู้บริหารกัลฟ์สตรีม แอโรสเปซ (Gulfstream Aerospace) ซึ่งต่อมาตกเป็นของเจเนรัล ไดนามิกส์ (General Dynamics) ในปี 2542 การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นทำให้รัมสเฟลด์มีรายได้ 11 ล้านเหรียญ การที่เจเนรัล ไดนามิกส์ เป็นคู่สัญญารายสำคัญของกระทรวงกลาโหม ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการค้าขายอาวุธ และการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และยังยืนยันให้เห็นว่า แม้แต่บุคคลชั้นนำในรัฐบาลก็ยังไม่มีเสรีในการเลือก เนื่องจากถูกควบคุมโดยบริษัทน้ำมันและบริษัทค้าอาวุธ
      อเมริกาเป็นดินแดนแห่งโอกาส? สิ่งที่เล่าสืบต่อกันมาก็คือทุกคนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของบริษัท ภายในเวลาข้ามคืน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง คนร่ำรวย 1% ครอบครองทรัพย์สินทางการเงินมากกว่าคน 90% รวมกัน เฉพาะเครือข่ายของบิลล์ เกตส์ คนเดียวก็เท่ากับ ของคน 120 ล้านคน บริษัทยักษ์ใหญ่ 4 บริษัทควบคุมธุรกิจค้าเนื้อถึง 87% มีเพียง 6 บริษัทหรือน้อยกว่านั้น ที่เป็นผู้นำกิจการค้าขายสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน สื่อ น้ำมัน และอุตสาหกรรมบันเทิงล้วนตกอยู่ในกำมือของบริษัทเพียงไม่กี่แห่ง และที่น่าตกใจก็คือคนอเมริกันประมาณ 40 ล้านคน ไม่ได้รับการคุ้มครองจากการประกันสุขภาพทุกรูปแบบ และตัวเลขนี้มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นในแต่ละปี
      อเมริกาเป็นดินแดนแห่งการเชิดชูสิทธิมนุษยชน? คนที่ชื่นชมอเมริกาอาจจะไม่เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ "กวนตานาโม เบย์" ที่นั่นถูกบรรยายว่าเป็นสถานที่ซึ่ง "เลวร้ายที่สุดของที่สุด" มีผู้กล่าวว่าสนธิสัญญาเจนีวาไม่มีความหมายที่กวนตานาโม เบย์ พวกเชลยจะถูกปฏิบัติในลักษณะที่เกินกว่าจะจินตนาการได้ ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายและ/หรือมีส่วนพัวพันกับอัล-เคดาได้ถูกส่งตัวมาที่กวนตานาโม เบย์ ที่ซึ่งการทรมานอยู่เหนือกฎหมาย นักการทูตผู้หนึ่งยอมรับว่ามีวิธีทรมานสารพัดวิธี ถูกใช้เพื่อรีดข้อมูลจากเหยื่อที่ถูกจับ และนำตัวมาคุมขัง สำหรับในต่างประเทศ สิทธิมนุษยชนตามความหมายของอเมริกาคือ สิทธิที่จะให้ตนทำการค้าขาย และให้ผู้อื่นต้องเลือกซื้อสินค้าของตน 
(คลิกดูภาพใหญ่)       อเมริกาเป็นแม่แบบของการแสดงบทบาทหน้าที่ของสื่อ? แน่นอน อเมริกาได้เป็นแบบอย่างในแง่ของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นแบบจำลองของการควบคุมตัวเองของสื่อ (media self-regulation) และสื่อต้องมีหน้าที่นำเสนอสัจจะ แต่หลายเหตุการณ์แสดงให้เห็นไปในทิศทางตรงข้าม ตัวอย่างล่าสุดได้แก่การทิ้งระเบิดถล่มอัฟกานิสถาน รายงานการศึกษาของมาร์ค เฮอโรลด์ (ว่าด้วยยอดผู้เสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ) ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วยุโรป แต่ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดในสหรัฐนำเสนอรายงานนี้ แม้แต่หนังสือพิมพ์ที่ถูกประทับตราว่าเป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพ เมื่อถูกถามว่าทำไมจึงละเลยข่าวสำคัญเช่นนี้ นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งจาก เดอะ วอชิงตัน โพสต์ ตอบว่า "คนส่วนใหญ่ที่นี่สนใจเฉพาะคนของเราที่เสียชีวิต" ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เหมือนกับที่สะท้อนผ่านภาพยนตร์หลายเรื่อง นั่นคือชีวิตของคนในประเทศอื่นไร้ความหมาย และไม่มีค่า หรือถ้ามี ก็มีค่าน้อยกว่าชีวิตคนอเมริกัน
      เป้าหมายของสื่อมวลชนในอเมริกาจึงมิใช่อยู่ที่การนำเสนอสัจจะ หากแต่เป็นอะไรก็ได้ที่สามารถตอบสนองความพึงพอใจของมวลชน คำกล่าวที่ว่า "ความเป็นกลางทางศีลธรรมของหนังสือพิมพ์เป็นสิ่งไม่เหมาะสมในขณะนี้" ดูมีหลักฐานสนับสนุนหนักแน่นและกลายเป็นบรรทัดฐานของสื่อไปแล้ว
      ยังเป็นเรื่องน่าสงสัยสำหรับการเป็นดินแดนแห่งโอกาสเสรีภาพและสื่อที่มีความรับผิดชอบ แต่สิ่งที่ไม่ต้องสงสัยเลยก็คือ การเป็นดินแดนแห่งการบริโภคและทำลายทรัพยากรโลก
      สหรัฐฯ มีประชากรไม่ถึง 5% ของจำนวนประชากรโลกแต่ใช้ทรัพยากรเกือบ 30% จากโลกใบนี้ คนอเมริกันใช้น้ำมันถึง 1 ใน 4 ของปริมาณการใช้น้ำมันในโลกทั้งหมด ใช้กระดาษถึง 1 ใน 3 และบริโภคเนื้อถึง 40% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของการบริโภคเนื้อในโลก ที่แย่กว่านั้น คนอเมริกันทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 22% ในโลก และผลิตกาซกรีนเฮาส์ ถึง 20 ตันต่อคนต่อปี นำหน้าเป็นอันดับหนึ่ง (ออสเตรเลียนมาอันดับสองคือ 18 ตันต่อคนต่อปี)
      เมื่อเทียบกับประเทศที่มีประชากรมากอย่างจีนกับอินเดีย ทำให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยเฉลี่ยแล้วคนอเมริกันบริโภคพืชจำพวกข้าวมากกว่าคนอินเดีย 4 เท่า และใช้น้ำมันมากกว่าถึง 27 เท่า คนอเมริกันใช้ถ่านหินมากกว่าคนจีน 10 เท่า และก่อให้เกิดกาซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากกว่าถึง 50 เท่า
      อาหารที่คนอเมริกันบริโภคทุกวันนี้ส่วนมากผ่านการปรุงแต่งทางวิทยาศาสตร์ และด้วยปริมาณการรับประทานที่น่าตกใจทำให้คนอเมริกันมิใช่ดินแดนที่เสรี (free) แต่เป็นดินแดนแห่งไขมันและคนอ้วน (fat)
      นอกจากอาหารแล้วก็ยังมีเครื่องแต่งกาย อาภรณ์เลิศหรูตามร้านในเมืองกรุงของอเมริกาทำจากสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ เสื้อโคททำจากหนังงูเหลือมป่าฝน ของอีฟ แซงต์โลรองต์ราคาตัวละ 9,250 ดอลลาร์ แจ็คเก็ตทำจากหนังงูเหลือมของแชนเนลราคาตัวละ 8,455 ดอลลาร์ มีงูเหลือมมากกว่า 10 ล้านตัวถูกจับออกจากป่าตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยกว่าครึ่งมาจากอินโดนีเซีย ในขณะเดียวกัน เหล่าพ่อค้าแม่ค้าอาภรณ์ราคาแพงเหล่านั้นไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่า หนังที่กลายสภาพเป็นเสื้อนั้นมันมาจากไหนกัน
  สรุป
 
      ในภาพยนตร์เรื่อง 15 Minutes ผู้ร้ายในเรื่องได้กล่าวว่า "ข้ารักอเมริกา ไม่มีใครต้องการรับผิดชอบต่อสิ่งที่พวกเขาได้กระทำ" แม้ข้อความดังกล่าวข้างต้นมาจากเรื่องสมมติ แต่อย่างน้อยที่สุด มันน่าจะสะท้อนให้เห็นบางด้านของความจริงได้บ้าง และเมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่บรรยายไปแล้วข้างต้น ประโยคในภาพยนตร์ที่ถูกยกมา อาจใกล้เคียงกับความเป็นจริง ชนิดเกินจินตนาการของคนเขียนบทภาพยนตร์เลยทีเดียว