นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๒ เดือนสิงหาคม  ๒๕๔๖ "นกแต้วแล้วท้องดำ บนเส้นทางแห่งการสูญพันธุ์ ?"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

นกแต้วแล้วท้องดำ บนเส้นทางแห่งการสูญพันธุ์ ?

  เรื่อง : เพชร มโนปวิตร
        "เราไม่ได้รักนกมากกว่ารักคน เราไม่ได้รักป่ามากไปกว่าคนไทยบนผืนแผ่นดินแม่ เราเพียงอยากให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและยั่งยืน และเราเชื่อว่าการอนุรักษ์นก และการรักษาผืนป่าคือผลประโยชน์ในระยะยาวของทุกคน"

โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ (พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๔๒)


 (คลิกดูภาพใหญ่) มิถุนายน ๒๕๒๙
      สิริรักษ์ อารทรากร หรือทิพย์ ในเวลานั้นคือเด็กนักเรียนชั้น ป. ๔ อยู่ที่ปราจีนบุรี เธอยังดูนกไม่เป็น และไม่รู้จักนกแต้วแล้วท้องดำ ทิพย์คงไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ในปีเดียวกันนั้นเอง วงการนักธรรมชาติวิทยาทั่วโลกต่างตื่นเต้นดีใจกับข่าวการค้นพบนกแต้วแล้วท้องดำในประเทศไทย หลังจากเชื่อว่านกชนิดนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ
      ปัจจุบันเด็กนักเรียน ป. ๔ แทบทุกคนในอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ รู้จักนกแต้วแล้วท้องดำ คนไทยจำนวนไม่น้อยเคยได้ยินชื่อนกแต้วแล้วท้องดำในฐานะสัตว์ป่าสงวน ๑ ใน ๑๕ ชนิดของประเทศ และนักดูนกทั่วโลกต่างรู้ว่า หากอยากดูนกชนิดนี้ ต้องเดินทางมาที่ประเทศไทยเท่านั้น ทว่าความโด่งดังของนกแต้วแล้วท้องดำ และความพยายามในการอนุรักษ์นกชนิดนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยังไม่สามารถกอบกู้นกแต้วแล้วท้องดำให้พ้นจากเส้นทางแห่งการสูญพันธุ์ได้ เพราะนกยังคงลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือจำนวนเพียงหยิบมือเดียวในป่าผืนเล็ก ๆ ที่จังหวัดกระบี่
......................
      สิบเจ็ดปีผ่านไปแล้ว ทิพย์จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านชีววิทยา และได้กลายมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยเรื่องนกแต้วแล้วท้องดำ ประจำสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูสถานภาพนกแต้วแล้วท้องดำครั้งใหม่ ซึ่งเป็นความพยายามร่วมกันครั้งล่าสุดระหว่างสมาคมอนุรักษ์นกฯ องค์กรอนุรักษ์นานาชาติกับรัฐบาลไทย ทิพย์กลายเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่คนหนึ่ง ที่ก้าวเข้ามาเผชิญกับความเรื้อรัง และซับซ้อนของปัญหาการอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย
      วันนี้การอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำยังคงถูกผลักดันให้ดำเนินต่อไปข้างหน้า ในขณะที่เวลาของนกแต้วแล้วท้องดำฝูงสุดท้ายเหลือน้อยลงไปทุกที ทิพย์และผู้คนอีกจำนวนหนึ่ง กำลังสานต่อเรื่องราวของการอนุรักษ์ที่โลดแล่นอยู่ในความสนใจของชาวโลกมาเกือบ ๒๐ ปี
      ...เรื่องราวที่กำลังจะกลายเป็นตำนาน และรอคอยการปิดฉากลงอย่างถาวร
 

ปริศนาในรอยอดีต

(คลิกดูภาพใหญ่) พฤษภาคม ๒๔๑๘
      ท่ามกลางความรกชัฎของป่าฝนในเขตเมืองตะนาวศรีทางตอนใต้ของประเทศพม่า นายดับเบิลยู เดวิดสัน (W. Davidson) ซึ่งทำงานสำรวจและเก็บตัวอย่างนกให้แก่นายอัลลัน ฮูม (Allan Hume) เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างสัตว์ของพิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษ ได้พบกับนกลำตัวป้อม ๆ ตัวหนึ่ง ลำตัวสีเหลือง อกและท้องสีดำ หัวสีฟ้า หางสีฟ้า ดูจากรูปร่างแล้ว เขามั่นใจว่าน่าจะอยู่ในวงศ์นกแต้วแล้ว (Pitta) กลุ่มนกตัวกลมป้อมขนาดเล็ก ส่วนใหญ่มีสีสันสดใสและชอบกระโดดหากินไปตามพื้นป่า นายเดวิดสันคิดว่านกตัวนี้อาจจะเป็นนกชนิดใหม่ของโลก แล้วก็เป็นจริง เพราะนั่นเป็นครั้งแรกที่โลกได้รู้จักกับนกแต้วแล้วท้องดำ ตัวอย่างของนกแต้วแล้วท้องดำตัวผู้ตัวนั้น ถูกส่งกลับไปยังพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศอังกฤษและได้รับการตั้งชื่อในเวลาต่อมาว่า Pitta gurneyi หรือ Gurney's Pitta เพื่อเป็นเกียรติแก่นายจอห์น เอช เกอนีย์ (John H. Gurney) นักสะสมตัวอย่างสัตว์และนักเขียนชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียง 
      ต่อมานายฮูมและนายเดวิดสัน ได้รายงานการพบนกแต้วแล้วท้องดำครั้งแรกในประเทศสยาม ในปีเดียวกันว่า พบนกชนิดนี้ครั้งแรกที่เมือง Kenong หรือระนอง ตรงฝั่งแม่น้ำบริเวณชายแดนที่ติดกับเมืองบันกาชองในประเทศพม่า นายอี ซี ดิ๊กคินสัน (E. C. Dickinson) อดีตเลขาธิการกิตติมศักดิ์ของชมรมดูนกกรุงเทพฯ (ปัจจุบันคือสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย) ในช่วงปี ๒๕๑๐ เล่าให้ฟังว่า 
      "ยุคแรก ๆ ที่เริ่มเก็บตัวอย่างนกแต้วแล้วท้องดำส่งให้พิพิธภัณฑ์นั้น บรรดานักเก็บตัวอย่างมักจะมาเริ่มกันตามหมู่บ้านที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟนี่แหละ เพราะสะดวกดี หาคนนำทางและลูกหาบก็ง่าย ข้อดีอย่างหนึ่งของพวกเก็บตัวอย่างนกพวกนี้คือ เขามักบันทึกเรื่องราวของแหล่งที่จับนกได้อย่างค่อนข้างละเอียด ต่อมาเลยกลายเป็นข้อมูลอ้างอิงที่มีประโยชน์ต่อการศึกษา"
      ในบรรดาสถานที่ที่คนกลุ่มนี้ได้บันทึกไว้คือ พื้นที่หลายแห่งในจังหวัดตรัง โดยเฉพาะที่ "ช่อง" หรือ "เขาช่อง" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุสัตว์ป่าเขาบรรทัดในปัจจุบัน นอกจากนี้ท้องที่แถวบ้านเกาะปลาบ จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือเดิมเรียกกันว่า "บ้านดอน" ก็เคยมีการเก็บตัวอย่างได้ ส่วนรังนกแต้วแล้วท้องดำรังแรกของโลกนั้นถูกค้นพบโดยนายซี ชุงแก็ท (C. Chunggat) ที่คลองวังหิน อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในเดือนตุลาคม ปี ๒๔๕๘ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ดร. ไนเจล คอลลาร์ (Nigel Collar) ที่ปรึกษา Birdlife International* (BirdLife International เป็นองค์กรพันธมิตรนานาชาติด้านการอนุรักษ์นกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีภาคีสมาชิกกว่า ๑๐๐ ประเทศทั่วโลก Birdlife International ทำงานเพื่อการอนุรักษ์นกในธรรมชาติ และให้การคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัยของนก สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกของ Birdlife International ในประเทศไทย) กล่าวเอาไว้ในรายงานนกที่ถูกคุกคามของทวีปเอเชีย หนา ๓,๐๐๐ กว่าหน้า เมื่อปี ๒๕๔๔ ว่า "นกแต้วแล้วท้องดำเป็นนกที่มีประวัติศาสตร์น่าทึ่งที่สุดชนิดหนึ่งของโลก" เพราะหลังจากที่มีการค้นพบเมื่อปี ๒๔๑๘ ก็มีการพบนกแต้วแล้วท้องดำ ได้อีกเป็นจำนวนมากในหลายบริเวณ ตั้งแต่บริเวณตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ลงไปถึงเขาช่องที่จังหวัดตรัง ส่วนในพม่าพบตั้งแต่วิกทอเรีย พอยต์ (Victoria Point) ทางตอนใต้สุดขึ้นไปจนถึงเมืองเลงยา (Lenya) ซึ่งอยู่ในแนวเดียวกับเมืองประจวบคีรีขันธ์ แต่แล้วหลังจากรายงาน On Siamese Birds ของนายโรดอล์ฟ ไมเออร์ เดอ เชาเอนซี (Rodolphe Meyer de Schauensee) นักปักษีวิทยาชาวอเมริกัน ในวารสารวิทยาศาสตร์แห่งฟิลาเดลเฟีย เมื่อปี ๒๔๘๙ ก็ไม่มีรายงานการพบนกแต้วแล้วท้องดำในธรรมชาติที่อ้างอิงได้ในทางวิทยาศาสตร์อีกเลย* (มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือระบุว่านายเฮอร์เบิร์ต จี เด็กแนน (Herbert G. Deignan) อดีตอาจารย์ ใหญ่โรงเรียนปรินซ์รอแยล ชาวอังกฤษ เก็บตัวอย่างนกแต้วแล้วท้องดำตัวเมียได้หนึ่งตัวที่ประจวบคีรีขันธ์เมื่อปี ๒๔๙๕ แต่อาจจะไม่ได้มีการตีพิมพ์รายงานดังกล่าวในวารสารทางวิทยาศาสตร์ การตรวจเอกสารล่าสุดโดย ดร. ไนเจล คอลลาร์ จึงไม่ได้นับรวมรายงานชิ้นดังกล่าว) นับเป็นการหายตัวไปอย่างลึกลับ ในขณะที่วงการปักษีวิทยายังแทบไม่มีความรู้ใด ๆ เกี่ยวกับนกชนิดนี้ 
      แม้จะไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับนกแต้วแล้วท้องดำออกมาเลยตั้งแต่นั้น แต่ยังมีนกแต้วแล้วท้องดำถูกจับมาออกมาจากป่าอยู่เป็นระยะ ในปี ๒๔๙๕ ตัวอย่างนกแต้วแล้วท้องดำตัวหนึ่งซึ่งไม่ระบุที่มาถูกส่งไปเก็บที่พิพิธภัณฑ์ของสมิทโซเนียน และอีกตัวหนึ่งถูกเก็บตัวอย่างได้จากบริเวณน้ำตกห้วยยาง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้มีรายงานว่า นกแต้วแล้วท้องดำถูกนำมาขายเป็นนกเลี้ยงในประเทศอังกฤษอยู่เสมอ ๆ จนถึงปี ๒๕๑๘ เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่มีหลักฐานว่า มีผู้นิยมนำมาเลี้ยงตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๑๐ เพราะเป็นนกป่าที่มีสีสันสวยงาม 
      นายฮอร์เนตต์ (Hornett) นักสะสมนกชาวต่างประเทศคนหนึ่งเคยเล่าไว้ว่า "ก่อนหน้าปี ๒๕๑๓ นกแต้วแล้วท้องดำหาซื้อได้ไม่ยากนัก เพราะมีมาให้เห็นอยู่เสมอปีละ ๒๐-๓๐ ตัวในตลาดค้านกในกรุงเทพฯ ผมเองมีนกไทยมากมายที่เลี้ยงอยู่ แต่นกแต้วแล้วท้องดำเป็นชนิดที่ผมชอบที่สุด และมีราคาแพงที่สุด แรก ๆ ก็หาชื้อตามตลาด แต่ต่อมาก็สั่งซื้อได้โดยตรงจากพ่อค้านก" 
(คลิกดูภาพใหญ่)       นายแวน อูสเท็น (Van Oosten) นักเลี้ยงนกอีกคนหนึ่งในอเมริกาเปิดเผยว่า เมื่อเดือนกันยายน ปี ๒๕๑๐ เขาเคยสั่งซื้อนกแต้วแล้วท้องดำ ๓ คู่ในราคาตัวละ ๕๐ ดอลลาร์สหรัฐ คู่หนึ่งถูกส่งต่อไปที่บราซิล ๔-๕ ปีต่อมาก็ตาย ส่วนอีกคู่หนึ่งขายต่อให้เพื่อนในแคนาดา ส่วนอีกคู่เขาเลี้ยงเอง เลี้ยงอยู่ราวสามปีก็ได้มอบต่อให้แก่สวนสัตว์ หลังจากนั้นสี่เดือนนกทั้งคู่ก็ตาย 
      แม้นกแต้วแล้วท้องดำน่าจะเคยมีอยู่ค่อนข้างชุกชุม จากข้อมูลของพ่อค้านกในสมัยก่อน และตัวอย่างนกกว่าร้อยตัวที่ถูกเก็บอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ เฉพาะพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งประเทศอังกฤษ (Natural History Museum) มีนกแต้วแล้วท้องดำสตัฟฟ์อยู่ถึง ๖๒ ตัว แต่การเก็บข้อมูลนับสิบปีของนักปักษีวิทยาในยุค ๒๕๒๐ ไม่มีใครเคยเห็นนกแต้วแล้วท้องดำในธรรมชาติเลย ย่อมเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่า นกแต้วแล้วท้องดำได้ตกอยู่ในภาวะวิกฤตแล้ว ในเวลานั้นไม่มีใครรู้ว่าจะหานกแต้วแล้วท้องดำพบได้ที่ไหน หรือว่าจริง ๆ แล้วยังมีนกแต้วแล้วท้องดำหลงเหลืออยู่หรือเปล่า สถานีโทรทัศน์บีบีซีแห่งประเทศอังกฤษได้ออกแถลงในรายการข่าวประจำปี ว่า "หลังจากมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด มีความเป็นไปได้สูงว่านกแต้วแล้วท้องดำ คงจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว" ข่าวชิ้นดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปในวันคริสต์มาสของปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เพียง ๖ เดือน ก่อนหน้าที่จะมีข่าวดีจากเมืองไทย
 

การค้นพบอันยิ่งใหญ่ 

(คลิกดูภาพใหญ่) ๑๔ มิถุนายน ๒๕๒๙
      หากยึดเอาตามหลักการของไซเตส หรืออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฏหมาย สัตว์ที่ไม่มีรายงานการพบเห็นในธรรมชาติเป็นเวลา ๕๐ ปี จะถูกกำหนดสถานภาพว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ (Extinct from the wild) หากใช้หลักการนี้ก็นับได้ว่า นกแต้วแล้วท้องดำได้สูญพันธุ์อย่างเป็นทางการไปแล้วครั้งหนึ่ง เพราะจนถึงปีกลางปี ๒๕๒๙ หรือ ๕๐ ปีนับตั้งแต่รายงานของนายโรดอล์ฟ ก็ไม่มีเอกสารอ้างอิงใด ๆ ถึงนกแต้วแล้วท้องดำอีกเลย
      ฟิลลิป ดี ราวด์ (Phillip D. Round) หรือ "ฟิล" นักปักษีวิทยาชาวอังกฤษ เป็นผู้หนึ่งที่ไม่เชื่อว่านกแต้วแล้วท้องดำได้สูญพันธุ์ไปแล้วจริง ๆ เมื่อฟิลได้เข้ามาช่วยงานนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล จัดทำ คู่มือดูนกเมืองไทย และต่อมาได้ทำงานที่ศูนย์วิจัยสัตว์ป่า มหาวิทยาลัยมหิดล เขาจึงได้ออกสำรวจและศึกษานกในพื้นที่ป่าทางภาคใต้ของไทยอย่างจริงจังเป็นเวลาถึงสี่ปี แต่ก็ไม่พบนกแต้วแล้วท้องดำเลยในช่วงแรก ในขณะเดียวกันก็ออกสืบเสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับนกแต้วแล้วท้องดำในตลาดค้าสัตว์ป่า จนในที่สุดก็ได้ทราบจากพ่อค้าสัตว์ป่าคนหนึ่งว่า คนที่ส่งนกแต้วแล้วท้องดำมาขายในกรุงเทพฯ คือพ่อค้าชาวจีน อยู่ที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
      ในช่วงเดียวกันนั้นเอง ฟิลได้ร่วมกับ ดร. ไนเจล คอลลาร์ ตรวจสอบข้อมูลจากตัวอย่างนกทั้งหมด ๑๐๓ ตัวที่ถูกเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก ผลปรากฏว่าตัวอย่างนกเกือบทั้งหมดเก็บได้เฉพาะช่วง ๖๐ ปีแรกหลังจากมีการค้นพบ (ระหว่างปี ๒๔๑๘-๒๔๗๙) และเก็บได้จากป่าทางตอนใต้ของประเทศไทยและด้านที่ต่อเนื่องกันในพม่าเท่านั้น ข้อมูลที่สำคัญและน่าตื่นเต้นกว่านั้นคือ ตัวอย่างนกทุกตัวเก็บได้จากป่าที่ราบต่ำ 
      เมื่อปริศนาเรื่องถิ่นที่อยู่ของนกถูกไขออก การออกค้นหานกแต้วแล้วท้องดำครั้งใหม่ จึงพุ่งเป้าไปที่ป่าที่ราบต่ำที่เหลืออยู่ทางภาคใต้ของไทย แม้ในเวลานั้นป่าหลายแห่งได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์แล้ว แต่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นป่าบนภูเขาทั้งสิ้น ป่าดิบชื้นที่ราบต่ำอันกว้างใหญ่ทางภาคใต้ได้หมดสิ้นไปก่อนแล้ว โดยข้อมูลในขณะนั้นบ่งชี้ว่าเหลือป่าที่ราบต่ำทางภาคใต้ไม่ถึง ๕ เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ที่เคยปรากฏ คณะสำรวจจึงต้องเปลี่ยนเป้าหมายการสำรวจไปยังป่าที่ราบผืนเล็กผืนน้อยที่กระจัดกระจายอยู่ และเมื่อตรวจข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและแผนที่แสดงภูมิประเทศก็พบว่า ป่าเขานอจู้จี้ ในจังหวัดกระบี่ คือป่าที่ราบต่ำผืนใหญ่ที่สุดที่เหลืออยู่ ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลที่ได้จากการสอบถามพ่อค้านกป่าในตลาดทุ่งสงว่า ยังมีการดักนกแต้วแล้วท้องดำออกมาขายอยู่ปีละสองสามตัว โดยมากจะดักได้จากบริเวณป่าตรงรอยต่อระหว่างกระบี่ นครศรีธรรมราช และตรัง 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๒๙ ฟิลพร้อมด้วย อุทัย ตรีสุคนธ์ (นักวิจัยร่วมแห่งศูนย์วิจัยสัตว์ป่า มหาวิทยาลัยมหิดล ในเวลานั้น) ได้นัดกับพ่อค้านกคนดังกล่าวให้พาไปพบกับพรานที่จับนกแต้วแล้วท้องดำมาขาย แต่ปรากฏว่าพ่อค้าคนนั้นไม่มาตามนัด พวกเขาจึงต้องเดินทางไปตามหาป่าเขานอจู้จี้กันเอง และด้วยความช่วยเหลือของกำนันจิตร ชนะกุล กำนันตำบลคลองท่อมเหนือในเวลานั้น ทำให้ได้ไปพักกับผู้ใหญ่สาคร มีแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๔ บ้านบางคราม ผู้ใหญ่สาครต้อนรับขับสู้นักสำรวจทั้งสองเป็นอย่างดี และยังช่วยจัดหาชาวบ้านนำทางให้อีกสองคน โดยแนะนำให้ลองไปสำรวจที่ป่าบริเวณบ้านบางเตียว ใกล้เขานอจู้จี้ 
      หลังจากเดินสำรวจด้วยความยากลำบากอยู่สี่วัน เพราะฝนที่ตกลงมาอย่างหนักอยู่เป็นระยะ ฟิลก็ได้พบกับนกแต้วแล้วท้องดำตัวผู้ตัวแรก เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๒๙ นับเป็นรายงานแรกหลังจากที่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดมาเกือบ ๕๐ ปี ฟิลเล่าว่าเป็นการเห็นนกในช่วงพลบค่ำก่อนที่แสงสุดท้ายของวันจะหมดลงพอดี นับเป็นผลสำเร็จของความเพียรพยายามกว่าสี่ปีในการสืบเสาะค้นหานกที่คาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วชนิดนี้ 
      เช้าวันรุ่งขึ้น อุทัยเปิดเทปบันทึกเสียงร้องของนกแต้วแล้วท้องดำ เพื่อค้นหาเจ้าของเสียงตัวจริงที่อาจจะยังอยู่ในบริเวณนั้น ปรากฏว่ามีนกแต้วแล้วท้องดำร้องตอบกลับมา เขาจึงเดินตามเสียงไปเรื่อย ๆ จนพบกับรังนกแต้วแล้วท้องดำพร้อมไข่สามฟองโดยบังเอิญ นี่คือการค้นพบรังนกแต้วแล้วท้องดำครั้งที่ ๒ ของโลกในรอบกว่า ๑๐๐ ปี สองสัปดาห์หลังจากนั้น คณะสำรวจได้เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของพ่อแม่นกที่ผลัดเปลี่ยนกันกกไข่ จนกระทั่งไข่ฟัก แล้วพ่อแม่นกก็ช่วยกันนำอาหารมาป้อนลูกน้อยสองตัวในรัง พวกเขาจึงอาศัยช่วงเวลานั้น ไปออกไปค้นหาว่ายังมีครอบครัวนกแต้วแล้วท้องดำตัวอื่น ๆ อยู่ในบริเวณใกล้เคียงอีกหรือไม่ แต่ก็ไม่พบ สามวันต่อมาเมื่อกลับมาดูที่รังอีกครั้ง ก็พบว่านกแต้วแล้วท้องดำครอบครัวนี้ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยเสียแล้ว พวกเขาไม่รู้ว่านกทั้งครอบครัวถูกล่าเอาไป หรือออกจากรังไปเองโดยธรรมชาติ 
      เมื่อคณะสำรวจเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ ข่าวการค้นพบนกแต้วแล้วท้องดำที่จังหวัดกระบี่ก็ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นข่าวใหญ่ทางหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ท่ามกลางความยินดีของผู้รักธรรมชาติทั่วโลก เพราะเป็นการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า นกแต้วแล้วท้องดำยังไม่สูญพันธุ์ แต่คำถามที่เกิดขึ้นตามมาในขณะนั้นก็คือ จะอนุรักษ์นกชนิดนี้เอาไว้ได้อย่างไร เพราะแม้ป่าเขานอจู้จี้จะยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ไม่น้อย แต่ก็เต็มไปด้วยร่องรอยของปัญหาที่กัดกร่อนความอยู่รอดของผืนป่า อุทัยได้บันทึกสภาพปัญหาและงานหนักที่รออยู่ข้างหน้าไว้ว่า "แทบจะทุกตารางนิ้วในป่าผืนนี้เต็มไปด้วยร่องรอยของคนตัดหวาย หาน้ำมันยาง ตัดไม้หอม หาหน่อไม้ กระทั่งการจับลูกนกไปขาย หรือนกแต้วแล้วท้องดำครอบครัวน้อยๆ ที่ค้นพบนี้จะเป็นครอบครัวสุดท้ายของโลก"
 

บทเริ่มต้นของการอนุรักษ์

(คลิกดูภาพใหญ่) ตุลาคม ๒๕๓๐
      วงการอนุรักษ์ทั่วโลกได้ให้ความสนใจกับข่าวการค้นพบนกแต้วแล้วท้องดำอย่างมาก ถึงขนาดที่เจ้าชายฟิลลิปส์แห่งราชวงศ์อังกฤษ เคยประสานงานเรื่องการอนุรักษ์ป่าผืนนี้ผ่านพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสด็จมาเยือนของราชวงศ์จักรีคือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รวมถึงมกุฎราชกุมารแห่งประเทศเดนมาร์ก 
      เมื่อต้องการที่จะอนุรักษ์สัตว์ป่าชนิดใดเอาไว้ นั่นหมายความว่าจะต้องเข้านิเวศวิทยาของสัตว์ชนิดนั้น ๆ และให้การคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ดังกล่าว ก้าวแรกของการอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำจึงเป็นการสำรวจ และเก็บข้อมูลนกแต้วแล้วท้องดำในเวลานั้นให้ได้มากสุด โดยทาง Birdlife International (ในเวลานั้นคือ ICBP หรือ International Council for Bird Preservation) ได้ให้การสนับสนุนเงินทุน รวมทั้งส่งนักวิจัยมาช่วยสำรวจศึกษาอย่างละเอียด ทั้งในด้านชีววิทยาและการกระจายพันธุ์ จนกล่าวได้ว่า เราทราบข้อมูลด้านนิเวศวิทยาของนกแต้วแล้วท้องดำดีมาก เมื่อเทียบกับนกแต้วแล้วของเอเชียชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจากฟิลและอุทัยแล้ว คณะศึกษาในเวลานั้นประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ ที่ต่อมาได้มีบทบาทสำคัญในวงการอนุรักษ์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกหลายท่านอาทิ ดร. ไนเจล คอลลาร์ (Dr. Nigel Collar) เคร็ก ร็อบสัน (Craig Robson) อดัม เกร็ทตัน (Adam Gretton) จอห์น พารร์ (John Parr) และสุรพล ดวงแข 
      เมื่อรวบรวมข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง องค์กรอนุรักษ์จึงเริ่มเคลื่อนไหว เพื่อให้มีการประกาศให้ป่าเขานอจู้จี้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่มีกฏหมายอนุรักษ์อย่างเข้มงวด ชมรมดูนกกรุงเทพฯ และศูนย์วิจัยสัตว์ป่า มหาวิทยาลัยมหิดล (ปัจจุบันคือสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และศูนย์ชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ตามลำดับ) ได้ร่วมกันทำหนังสือถึงกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งถึงความสำคัญของป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ อันเป็นแหล่งอาศัยของนกแต้วแล้วท้องดำอย่างน้อย ๔๐ คู่ รวมถึงนกและสัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์อีกกว่า ๒๕๐ ชนิด โดยขอให้ช่วยดำเนินการประกาศให้พื้นที่ป่าแห่งนี้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยเร็ว นายไพโรจน์ สุวรรณกร รองอธิบดีกรมป่าไม้ในเวลานั้น ให้ความสนใจและตอบรับด้วยดี จึงสั่งการให้มีการสำรวจป่าบริเวณเขาจอจู้จี้ และได้มีการประกาศกฎกระทรวงให้พื้นที่ป่าเขานอจู้จี้ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนเขาประและป่าสงวนบางคราม เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาประ-บางคราม ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๑๑๖,๕๐๐ ไร่ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๐ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ปัญหาสำคัญที่พบและกลายเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ขอบเขตของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ นั้นไม่ครอบคลุมถึงพื้นที่ป่าที่ราบต่ำอันเป็นบ้านของนกแต้วแล้วท้องดำและสัตว์หายากหลายชนิด แม้ภายหลังคือปี ๒๕๓๖ จะได้มีการประกาศเลื่อนสถานภาพให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งมีกฏหมายที่เข้มงวดกว่า แต่ปัญหาเดิมก็ยังคงอยู่ เพราะพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้นครอบคลุมป่าที่ราบต่ำที่เหลืออยู่ประมาณ ๑๘,๐๐๐ ไร่ เพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทั้งยังกันพื้นที่บริเวณบ้านแผ่นดินเสมอ ตรงใจกลางออกไปเพราะมีชาวบ้านมาจับจองที่ดินอยู่ก่อนแล้ว ทำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเหลือพื้นที่เพียง ๙๗,๗๐๐ ไร่ และมีรูปร่างกลวงตรงกลาง ยากต่อการดูแลรักษาเป็นอย่างยิ่ง 
      ในเมื่อกฎหมายไม่ได้ให้การคุ้มครองป่าที่ราบต่ำเท่าที่ควร ประกอบกับการให้สัมปทานป่าไม้ และมีการทำไม้เถื่อนกันอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการบุกรุกแผ้วถางป่าที่ราบต่ำอย่างต่อเนื่อง แม้ในปี ๒๕๓๒ รัฐบาลไทยจะประกาศยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศ แต่ปัญหาบุกรุกป่า ล่าสัตว์ ดักนกขาย ทำไม้เถื่อน ยังปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป ดูเหมือนว่าการมีสถานภาพเป็นเขตป่าอนุรักษ์ ยังไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำอย่างที่ควรจะเป็น 
      ระหว่างนั้นมีความพยายามที่จะสำรวจนกแต้วแล้วท้องดำในป่าแห่งอื่น ๆ ด้วย แต่ก็พบว่า ป่าเขานอจู้จี้ เป็นป่าสำคัญเพียงแห่งเดียวที่ยังมีนกแต้วแล้วท้องดำ มากพอที่น่าจะอนุรักษ์ไว้ได้ในระยะยาว จนเดือนมีนาคม ปี ๒๕๓๓ โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ จึงเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ และศูนย์ชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยระยะแรก (๒๕๓๓-๒๕๓๗) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก Birdlife International และกองทุนอนุรักษ์ธรรมชาติของประเทศญี่ปุ่น (Keidanren Nature Conservation Fund) ส่วนระยะที่ ๒ (๒๕๓๘-๒๕๔๒) ได้รับทุนจากความร่วมมือเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแห่งประเทศเดนมาร์ก (Danced) ผ่านทางองค์กรอนุรักษ์นกแห่งประเทศเดนมาร์ก (Danish Ornithological Society หรือ Birdlife Denmark) 
(คลิกดูภาพใหญ่)       วัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ คือการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าเขานอจู้จี้ที่ถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่อง โดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในท้องถิ่น ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปี โครงการฯ ได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้การอนุรักษ์ประสบผลสำเร็จ โดยในส่วนงานด้านการป้องกันรักษาป่า โครงการฯ ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์ ยานพาหนะ และสร้างหน่วยพิทักษ์ป่าให้แก่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม รวมทั้งรวมรวบข้อมูลด้านชีววิทยาของพืชและสัตว์เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนการอนุรักษ์พื้นที่ต่อไป ส่วนงานฟื้นฟูป่านั้น โครงการฯ ได้จัดตั้งเรือนเพาะชำ และดำเนินการเพาะกล้าพันธุ์ไม้พื้นเมือง และสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกหวาย ระกำ ต้นเหรียง มังคุด เสริมในพื้นที่เกษตรกรรมเดิมเพื่อเพิ่มรายได้ และเป็นการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำรงอยู่ของนกและธรรมชาติโดยรวมมากขึ้น พร้อมกับนำชาวบ้านไปดูงานด้านการเกษตรยั่งยืนในพื้นที่อื่น ๆ 
      การให้การศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมถือเป็นหัวใจสำคัญอีกด้านหนึ่ง โครงการฯ ได้มีการจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติทุ่งเตียว และจัดค่ายเยาวชนรักษ์แต้วแล้ว จดหมายข่าว "แต้วแล้ว" รายสามเดือน และจัดทีมเผยแพร่ไปบรรยาย และจัดนิทรรศการตามโรงเรียนรอบผืนป่า มีการมอบทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนภายใต้ชื่อ "กองทุนบ้านบางเตียว หรือกองทุนนกแต้วแล้วท้องดำ" โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากนักดูนกทั้งชาวไทยและต่างประเทศ และกองทุน "Save the Children Fund" แห่งประเทศอังกฤษ 
      ข่าวคราวการเกี่ยวกับความพยายามอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำ ถูกเผยแพร่ออกมาตามสื่อมวลชนต่าง ๆ เป็นระยะ ทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และเมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ นกแต้วแล้วท้องดำก็ได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวนของชาติ เคียงคู่กับกระซู่ พะยูน นกกระเรียน และสัตว์ป่าอื่น ๆ รวม ๑๕ ชนิด เพื่อให้การปกป้องคุ้มครองในระดับสูงสุด
 

บทเรียนที่ยังไม่ถูกสรุป

(คลิกดูภาพใหญ่) ๑๔ มิถุนายน ๒๕๓๙
      วันนั้นเป็นวันครบรอบ ๑๐ ปีพอดีนับตั้งแต่มีการค้นพบนกแต้วแล้วท้องดำในประเทศไทย อากาศร้อนอบอ้าวของฤดูร้อนเริ่มบรรเทาลงบ้างแล้วหลังการกลับมาของสายฝน เมฆก้อนทะมึนปกคลุมไปทั่วบริเวณป่าเขานอจู้จี้ เย็นวันนั้นเจ้าหน้าที่โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าที่ราบต่ำฯ เดินทางกลับที่พักตามปรกติ พวกเขาอาจกำลังคิดถึงงานฉลองเล็ก ๆ เพื่อรำลึกถึงข่าวดีในอดีต แต่คืนเดียวกันนั้นเอง มีชาวบ้านใช้รถแทร็กเตอร์ไถโค่นป่าชั้นในเป็นบริเวณกว้าง ไม้ใหญ่ ต้นพ้อ ต้นชิง และหวาย ล้มตายระเนระนาด นกแต้วแล้วท้องดำราว ๖ คู่ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นหนีตายกันสุดชีวิต ไม่มีใครรู้ชะตากรรมของนกกลุ่มนี้ในเวลาต่อมา เรารู้แต่เพียงว่าบ้านของพวกมันได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว
      สิบปีหลัง ความพยายามที่จะอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำ กลับไม่ได้ช่วยให้นกชนิดนี้รอดพ้นจากภัยคุกคามรอบทางแต่อย่างใด พื้นที่อาศัยของนกถูกทำลายและเปลี่ยนเป็นสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และไร่กาแฟ อย่างต่อเนื่องทุกปี และนกแต้วแล้วท้องดำยังถูกจับส่งไปขายในตลาดค้าสัตว์ป่าเป็นระยะ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้นิยมเลี้ยงนกหายากและสวนสัตว์ มีรายงานว่าพบนกแต้วแล้วท้องดำตัวผู้ ๒ ตัวในกรงที่สวนสัตว์เขาเขียวเมื่อปี ๒๕๓๙ และในปีเดียวกันนั้นเอง สวนสัตว์ดุสิตก็จัดพิมพ์ปฏิทินซึ่งมีรูปนกแต้วแล้วท้องดำ ๓ ตัวอยู่ในกรง สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ของนกแต้วแล้วท้องดำไม่มีทีท่าว่าจะกระเตื้องขึ้น ในขณะที่ป่าเขานอจู้จี้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกบุกรุกทำลายเหมือนเช่นที่เป็นมา และในที่สุดโครงการพื้นฟูและอนุรักษ์ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ก็ปิดตัวลงไปในปี ๒๕๔๒

...........................
      บทเรียนจากความพยายามอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำในช่วงนั้น สะท้อนภาพรวมที่ชัดเจนหลายอย่างเกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ผ่านมา เริ่มจากจัดตั้งเขตอนุรักษ์ที่ไม่ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศ ป่าที่ราบต่ำบริเวณเขานอจู้จี้เป็นตัวแทนของระบบนิเวศที่หาไม่ได้อีกแล้วในที่อื่นใด นอกจากนกแต้วแล้วท้องดำแล้วป่าเล็ก ๆ แห่งนี้ ยังเป็นบ้านของนกป่าที่ราบต่ำหลายชนิดที่แทบจะไม่พบในที่อื่นใดอีกแล้ว อาทิ นกโพระดกหลากสี (Red-crowned Barbet) นกเงือกดำ (Black Hornbill) นกจู๋เต้นตีนใหญ่ (Striped Wren Babbler) และนกส่วนใหญ่ที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์นั้นคือกลุ่มนกที่อาศัยอยู่เฉพาะในป่าที่ราบต่ำ นกเหล่านี้เป็นตัวแทนของระบบนิเวศป่าที่ราบต่ำ อันหมายถึงสัตว์กลุ่มอื่น ๆ พันธุ์พืช สมุนไพร เห็ดรา และทรัพยากรชีวภาพอีกมากมาย ควรมีการทบทวนและตรวจสอบ แนวเขตของพื้นที่อนุรักษ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้การคุ้มครองระบบนิเวศหายากเหล่านี้ หากไม่ต้องการสูญเสียทรัพยากรอันมีค่าไป
(คลิกดูภาพใหญ่)       อีกประเด็นที่ใหญ่ขึ้นมาคือ ปัญหาโครงสร้างของระบบราชการ และความซ้ำซ้อนของกฎหมาย กรณีตัวอย่างจากเขานอจู้จี้ดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างที่คลาสสิกที่สุดตัวอย่างหนึ่งของการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ เพราะในพื้นที่ป่าเล็ก ๆ บริเวณนั้นมีหน่วยงานราชการของกรมป่าไม้ดูแลอยู่ถึง สี่ห้าหน่วย แต่ปรากฏว่าแต่ละหน่วยล้วนขาดแคลนทั้งกำลังคนและงบประมาณในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้แนวเขตที่ค่อนข้างสับสน ยังทำให้ขาดความชัดเจนว่าหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดขอบพื้นที่ใด 
      นอกจากนี้ยังมีสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของราชการ และสหกรณ์นิคม ที่ส่งเสริมพื้นที่นิคมสร้างตนเอง โดยหลักการแล้ว สำนักงาน สปก. และสหกรณ์นิคม มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมในการครอบครองที่ดิน แต่บ่อยครั้งที่ช่องว่างของกฏหมายและความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทำให้เกิดปัญหาลูกโซ่ในการทำลายป่า ดังปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ เพราะในความเป็นจริง ไม่เฉพาะพื้นที่เสื่อมโทรมเท่านั้นที่ถูกนำมาออกเอกสารสิทธิ  หากแต่มีความพยายามออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ป่าไม้ โดยเฉพาะเขตป่าสงวนฯ อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากสำนักงาน สปก. มีอำนาจตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในการออกเอกสารสิทธิในที่ป่าสงวน หรือให้เช่าที่ดินดังกล่าวได้โดยไม่ต้องเพิกถอนพื้นที่จากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ การดำเนินการที่ซ้ำซ้อนเหล่านี้สร้างความสับสนแก่เจ้าพนักงาน ทั้งยังยากแก่การตรวจสอบ
      กระบวนการถือครองป่าสงวนฯ นั้นในสมัยก่อนเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ โดยผู้มาก่อนอาจจับจองปากเปล่าเอาไว้และให้เป็นที่รับรู้กันในท้องถิ่น น่าทึ่งตรงที่ว่าผู้จับจองที่ป่าแบบไร้เอกสารสิทธิ์ใด ๆ ลักษณะนี้ สามารถขายและโอนย้ายกรรมสิทธิให้แก่ผู้ต้องการซื้อได้ด้วย ป่าบางบริเวณที่เห็นเขียว ๆ ที่เขานอจู้จี้ จึงอาจมีเจ้าของจับจองแล้ว เผลอ ๆ อาจเปลี่ยนเจ้าของมาหลายครั้ง หรือถ้าต้องการจะได้ที่ดินแบบสำเร็จรูปพร้อมทำกิน ก็อาจมีนายหน้าบริการทำให้ป่าเสื่อมโทรมให้พร้อมสรรพ แต่นั่นต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงขึ้น บริการอย่างนี้ส่วนใหญ่เป็นแบบ ตัดฟัน ไถโค่น และเผา พอโทรมเข้าก็เอาพืชเกษตรไปลงแทรกไว้ รออีกไม่กี่ปีก็เตรียมทำเรื่องขอเอกสารสิทธิ์ได้ เพราะสามารถอ้างได้ว่าครอบครองที่ดินผืนนั้นมาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ โดยมีหลักฐานคือพืชอาสินที่เติบโตงอกงาม... นับเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพมาก และเป็นเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีเงินหมุนเวียนมหาศาล คนซื้อได้ที่ คนขายได้เงิน เชื่อกันว่าทุกฝ่ายมีความสุขเพราะแทบไม่มีผู้เสียผลประโยชน์ เว้นเสียแต่ว่ามันเป็นการทำลายล้างป่าไม้และสัตว์ป่าของส่วนรวมที่ผิดกฎหมาย
(คลิกดูภาพใหญ่)       การทำให้เรื่องผิดกฎหมายเป็นเรื่องถูกกฎหมายได้ นั้นย่อมต้องมีการจ่ายสินบน หรือค่าจ้างรางวัลให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เรื่องนี้ชาวบ้านธรรมดา ๆ ทำไม่ได้ ต้องเป็นบรรดาผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เพราะรู้ดีว่าจะต้องหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ตงฉินอย่างไร แล้วอาศัยเส้นสายภายในที่รู้ขากัน เรื่องราวก็จะราบรื่นโดยง่าย บางครั้งคนดี ๆ ที่อยู่ในระบบจึงต้องอยู่อย่างเจ็บปวด ถ้าไม่กินตามน้ำก็ต้องเอาหูไปนาเอาตาไปไร่แล้วกัดก้อนเกลือกิน หากเปรียบเทียบให้ทันสมัยก็ไม่ต่างอะไรกับที่มาของส่วย หรือการคอร์รัปชันที่แฝงตัวแต่ฝังลึกอยู่ในระบบข้าราชการไทย 
      หากมองในภาพกว้างขึ้นมาอีกชั้น นับได้ว่าความล้มเหลวของการอนุรักษ์ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ที่ผ่านมา เป็นผลพวงหนึ่งของแนวทางการพัฒนาประเทศที่ไม่ยั่งยืนของรัฐไทย ระหว่างปี ๒๕๑๖-๒๕๒๗ มีผู้คนอพยพเข้ามาบุกป่าฝ่าดงทำการเกษตรในบริเวณนั้นเพียง ๒๐ กว่าครอบครัว แต่พอเข้ายุคที่กาแฟราคาดีช่วงปี ๒๕๒๗-๒๕๒๙ มีการย้ายครอบครัวเข้ามาใหม่เพิ่มอีกถึง ๒๓ ครอบครัวภายในเวลาเพียงสองปี ครั้นถึงยุคที่ปาล์มน้ำมันได้รับการส่งเสริม ปรากฏว่ามีจำนวนครอบครัวเข้ามาตั้งบ้านเรือนใหม่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์เขาประ-บางคราม ถึง ๕๐ ครอบครัว ระหว่างปี ๒๕๓๘-๒๕๓๙ และจากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปี ๒๕๔๕ พบว่า มีจำนวนครัวเรือนในหมู่ ๒ และหมู่ ๗ อำเภอคลองท่อม ซึ่งเคยเป็นป่าที่ราบต่ำที่อุดมสมบูรณ์ รวมกันมากกว่า ๒๓๐ ครัวเรือน หรือเกือบพันคนแล้ว และในจำนวนนี้มีคนพื้นถิ่นจริง ๆ อยู่ราวร้อยละ ๓๐ เท่านั้น 
      ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวของรัฐบาล นโยบายดังกล่าว ทำให้วิถีชีวิตของเกษตรกรเปลี่ยนรูปแบบจากการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย และไม่มีหนี้สิน มาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตที่มีกลไกของตลาดเป็นเครื่องกำหนด เมื่อพืชเศรษฐกิจตัวไหนราคาดี รัฐก็จะส่งเสริมให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด จึงมีการขยายพื้นที่การเพาะปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน พื้นที่ป่าจำนวนมากในประเทศนี้จึงถูกแปรสภาพให้กลายเป็นสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง อย่างไร้การควบคุม 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ครั้นเมื่อที่ดินในชุมชนเดิมไม่เพียงพอ หรือราคาแพงขึ้น จึงเริ่มมีการอพยพเพื่อหาที่ทำกินแหล่งใหม่ ในสมัยก่อนอาจไปบุกป่าที่ไหนก็ได้ แต่ปัจจุบันป่าไม้ส่วนใหญ่ได้รับการคุ้มครองหมดแล้ว ที่ดินที่ชาวบ้านยังมีโอกาสจับจองหรือซื้อขายได้ในราคาถูกที่สุดที่เหลืออยู่ก็คือป่าสงวนแห่งชาติ ประชาชนหลายครอบครัวที่ย้ายเข้ามาจากนครศรีธรรมราชหรือสุราษฎร์ธานี ยอมรับว่า ที่ดินบริเวณบริเวณเขานอจู้นี้ราคาถูกกว่าที่อยู่เดิมมาก ขายที่ดินเก่าเพียง ๓-๕ ไร่ ก็มาซื้อที่ที่นี่ได้ถึง ๒๐-๓๐ ไร่ ส่วนใหญ่ถูกนายหน้าหลอกว่าเป็นที่ถูกกฎหมาย ปัญหาป่าไม้-ที่ดินในเมืองไทย จึงไม่ใช่ผลของการที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างเดียว แต่เป็นเพราะนโยบายการเกษตร และการจัดสรรที่ดินที่ผิดพลาด นอกจากนี้การจับจองที่ดินสาธารณะได้อย่างผิดกฎหมาย ยังทำให้เกิดวงจรของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นและการคอร์รัปชัน เพราะผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากการครอบครองที่ดินเป็นจำนวนมาก หรืออาจมาซื้อต่อที่ดินจำนวนมากในภายหลัง แผ่นดินส่วนใหญ่ของประเทศนี้จึงตกอยู่ในกรรมสิทธิของคนเพียงกลุ่มน้อย 
      ในแง่นี้นโยบายส่งเสริมปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างขาดการวางแผน จึงไม่ได้ทำลายแต่เพียงความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ของผืนป่าเท่านั้น หากยังทำลายวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิม โดยเฉพาะกรณีของป่าเขานอจู้จี้ ครอบครัวที่อพยพเข้ามาใหม่โดยการซื้อที่ดินผิดกฎหมาย มีความสัมพันธ์กับชุมชนเก่าน้อยมาก หนึ่ง อาจเพราะไม่แน่ใจในสถานภาพของตัวเองว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่ สอง เพราะวิถีการเกษตรแผนใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากันมากนัก ทุกวันนี้ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ได้มากที่สุดเพื่อส่งขายให้ตลาด ความเกี่ยวโยงของคนในสังคมจึงเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจและผลประโยชน์ แม้จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่สภาพสังคมเช่นนี้ย่อมไม่ส่งเสริมให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูล หรือทำให้คนในชุมชนรู้สึกรักและภูมิใจในถิ่นฐานตัวเอง 
      ไกด์นำเที่ยวท้องถิ่นคนหนึ่งเล่าถึงเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นว่า "...ปีสองปีก่อนยังมีชาวบ้านในหมู่ ๒ จับนกแต้วแล้วท้องดำได้อยู่เลย เห็นว่าเจอเข้าโดยบังเอิญตอนกลางคืน แล้วเขาทำยังไงรู้ไหม เขาจับมาใส่ไว้ในตุ่มรวมกับนกแต้วแล้วอีกตัวหนึ่ง รู้สึกจะเป็นแต้วแล้วธรรมดา ตัวไล่ ๆ กัน จับมาได้พร้อม ๆ กันนั่นแหละ ตุ่มมันเล็ก กระโดดชนกันไปชนกันมา ตอนหลังเลยตีกัน อีกตัวมันดุกว่า ปรากฏว่าแต้วแล้วท้องดำโดนไล่จิกจนตายอยู่ในตุ่มนั่นแหละ"

      โศกนาฏกรรมเช่นนี้คงไม่ต้องเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ถ้าเพียงคนในท้องถิ่นรักและหวงแหนธรรมชาติ ถ้าเพียงระบบราชการไทยมีประสิทธิภาพ และนโยบายของชาติดำเนินมาถูกทาง การแก้ไขปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นภาระหนักหนาที่ไม่อาจแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น... หรือว่าจะไม่มีวันพรุ่งนี้สำหรับนกแต้วแล้วท้องดำ
 

ความหวังที่ขอบฟ้า

(คลิกดูภาพใหญ่)       ถ้าอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วคุณท้อใจ เตรียมโบกมือลาให้นกแต้วแล้วท้องดำ ลองหลับตาแล้วลืมปัญหาอันยุ่งเหยิงของการอนุรักษ์ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ไว้ชั่วคราว มองไปไกล ๆ มองไปที่ขอบฟ้าถึงเกาะเซเชลส์ในแอฟริกา ที่นั่นมีนกอีกชนิดหนึ่งที่มีชะตากรรมคล้ายคลึงกับนกแต้วแล้วท้องดำ... นกกางเขนแห่งเกาะเซเชลส์ (Seychelles Magpie Robin)
      เซย์เชลส์เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กในทวีปแอฟริกา ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดียระนาบเดียวกับเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย นกกางเขนเซเชลส์เป็นนกเฉพาะถิ่นที่อาศัยอยู่บนเกาะต่าง ๆ ของเซเชลส์ รวมแปดเกาะ และไม่พบในที่อื่นใดอีก นกกางเขนชนิดนี้ถูกพบครั้งแรกตั้งแต่ปี ๒๔๐๘ โดยทั่วไปชอบอาศัยอยู่ในป่าทึบที่ราบต่ำตามแนวชายฝั่ง นกกางเขนชนิดนี้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจากสามสาเหตุหลัก คือ การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย การมาถึงของสัตว์ผู้ล่าต่างถิ่น และการดักจับนกมาขาย 
      ตั้งแต่ปี ๒๔๕๓ ป่าที่ราบต่ำผืนใหญ่ในหมู่เกาะเซเชลส์หลายแห่ง ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงเพื่อการเกษตร นอกจากนี้สัตว์ที่ติดตามมากับมนุษย์โดยเฉพาะแมวและหน ูก็ได้กลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของนกกางเขนชนิดนี้ พอนกกางเขนเซย์เชลส์เริ่มหายากขึ้น ราคาในตลาดก็แพงตาม จึงเป็นแรงจูงใจให้มีการดักนกมาขายอย่างต่อเนื่อง หลังจากปี ๒๕๐๕ ที่มีรายงานการพบนกครั้งสุดท้าย บนเกาะอัลฟองเซ (Alphonse) นกกางเขนเซเชลส์จึงสูญพันธุ์ไปหมดจากเกาะต่าง ๆ จนเหลือประชากรนกบนเกาะฟริเกต (Fregate) เพียงแห่งเดียว และตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะการสำรวจเมื่อปี ๒๕๐๘ พบว่า มีนกเหลืออยู่ทั้งหมดเพียง ๘-๑๒ ตัวเท่านั้น 
      เกาะฟริเกตในเวลานั้นเหลือป่าเป็นหย่อมเล็ก ๆ อยู่ไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซนต์ ทางตอนใต้และเหนือสุดของเกาะ และนอกจากนี้แมวและหนู ที่ถูกนำเข้ามาโดยมนุษย์ยังล่าแม่นก และลูกนกกางเขนเซเชลส์เป็นจำนวนมาก จนกระทั่ง Birdlife International นำโครงการควบคุมสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาใช้ในปี ๒๕๒๕ จำนวนของนกจึงกลับมาอยู่ที่ประมาณ ๒๕ ตัว ต่อมาในปี ๒๕๓๑ Birdlife International เริ่มเก็บข้อมูลทางด้านนิเวศวิทยาของนกกางเขนชนิดนี้โดยละเอียด เพื่อวางแผนฟื้นฟูสถานภาพอย่างเป็นระบบ การดำเนินงานของโครงการฯ ได้รับความร่วมมือจากประชาชน และรัฐบาลของประเทศเซเชลส์เป็นอย่างดี มีการนำมาตรการหลายอย่างมาใช้ เช่น การปรับปรุงและฟื้นฟูสภาพถิ่นที่อยู่ของนก การให้อาหารเสริม และจัดทำรังเทียมให้นก รวมไปถึงการศึกษาความเป็นไปได้ ในการเคลื่อนย้ายนกไปปล่อยบนเกาะแห่งอื่น ๆ ที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม 
(คลิกดูภาพใหญ่)       สตีฟ พารร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศ ของสมาคมอนุรักษ์นกแห่งอังกฤษ หรือ RSPB* (Royal Society for the Protection of Birds หรือ RSPB เป็นองค์กรการกุศลของอังกฤษ ที่ทำงานเพื่อการอนุรักษ์นกในธรรมชาติ โดยการศึกษา วิจัย ทำการรณรงค์ และจัดการพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ รวมไปถึงการให้การศึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับการอนุรักษ์นก ทั้งในอังกฤษและในต่างประเทศ RSPB มีสมาชิกมากกว่า ๑ ล้านคน ในประเทศอังกฤษและยุโรป RSPB เป็นตัวแทนของ Birdlife International ในประเทศอังกฤษ) ผู้ประสานงานโครงการนี้เล่าบรรยากาศการทำงานให้ฟังว่า "การทำงานประสบความสำเร็จดีมาก จำนวนนกเพิ่มสูงขึ้นจนถึง ๕๐ ตัว ในช่วงปี ๒๕๓๘-๓๙ แต่เรารู้ว่านกเพิ่มจำนวนขึ้นขนาดนั้นเนื่องจากมนุษย์เข้าไปช่วยให้อาหาร และเสริมรังให้ เพราะข้อมูลจากการสำรวจบ่งชี้ว่ามีอาณาเขตที่นกใช้หากินได้อยู่ราว ๙-๑๔ แห่งเท่านั้น หมายความว่า ตามความเป็นจริงพื้นที่สามารถรองรับนกได้ไม่เกิน ๑๔ คู่ ยกเว้นจะมีการฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับคืนมา ในระหว่างที่มีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมซึ่งต้องใช้เวลานาน เราจึงริเริ่มโครงการเคลื่อนย้ายนกบางส่วนไปยังเกาะอื่น ๆ ที่ยังมีสภาพธรรมชาติที่เหมาะสม ปรากฎว่าแนวทางนี้ได้ผล ปัจจุบันมีนกกางเขนเซเชลส์เพิ่มขึ้นกือบ ๑๑๕ ตัว ประมาณ ๕๐ ตัวอยู่บนเกาะฟริเกต ที่เหลือกระจายอยู่ในพื้นที่ ๓ เกาะที่เรานำไปคืนสู่ธรรมชาติ 
      "ความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากนานาชาติ ทำให้การอนุรักษ์นกกางเขนเซเชลส์เป็นที่สนใจของคนทั่วไป คนท้องถิ่นก็เริ่มเห็นความสำคัญของนกชนิดนี้ มีการจัดตั้งองค์กรอนุรักษ์นกแห่งชาติ (Birdlife Seychelles) และกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าขึ้นหลายแห่ง มีการคำนวณว่านกกางเขนเซเชลส์ช่วยทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นดีขึ้น เพราะทำให้ มีการพัฒนาเกิดขึ้นหลายอย่าง และ เป็นตัวดึงดูดสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์... หัวใจของการทำงานที่นี่คือการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยอาศัยข้อมูลด้านนิเวศวิทยาที่ครบถ้วนมาใช้สร้างแผนฟื้นฟูฯ ที่ทุกฝ่ายยอมรับ ล่าสุดรัฐบาลเซเชลส์และองค์กรอนุรักษ์ภายในประเทศ เป็นผู้ดำเนินงานอนุรักษ์ส่วนใหญ่เอง ตามแผนปฏิบัติงานสำหรับปี ๒๕๔๔-๒๕๔๙ โดยมี RSPB คอยให้คำปรึกษาด้านเทคนิค" 
      อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะยืนยันได้ว่า ความหวังในการอนุรักษ์ไม่เคยสิ้นสูญ คือเรื่องของนกเขนน้อยสีดำเกาะแชตทัม (Chatham Black Robin) นกเขนน้อยชนิดนี้เป็นนกประจำถิ่นที่พบเฉพาะบนเกาะแชตทัม เกาะเล็ก ๆ กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ของประเทศนิวซีแลนด์ ประชากรของนกเขนน้อยเกาะแชตทัมเริ่มถูกคุกคาม และลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ภายหลังการมาถึงของมนุษย์ รัฐบาลนิวซีแลนด์จึงเริ่มพยายามอนุรักษ์นกชนิดนี้ในปี ๒๕๑๙ ซึ่งเหลือนกอยู่เพียงไม่กี่สิบตัว ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องพยายามทำทุกวิถีทางทั้งศึกษาหาข้อมูล วางมาตรการปกป้องที่อยู่ของนก รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการอพยพนกชนิดนี้ไปสู่พื้นที่อื่นที่มีความปลอดภัยและเหมาะสมมากกว่า แต่ดูเหมือนว่ามาตรการต่าง ๆ จะไม่ประสบความสำเร็จได้โดยง่าย เพราะพอถึงปี ๒๕๒๒ มีนกเขนน้อยชนิดนี้เหลืออยู่เพียง ๕ ตัวเท่านั้น และในจำนวนนี้มีตัวเมียแก่ ๆ อยู่เพียงตัวเดียวชื่อว่า "โอลด์บลู" ทุกคนเชื่อว่ารออีกไม่กี่ปี เรื่องราวทุกอย่างคงจบลงเมื่อโอลด์บลูตาย และนกชนิดนี้คงถูกขึ้นบัญชีว่าสูญพันธุ์อย่างแน่นอน... แต่แล้วปาฎิหาริย์ก็เกิดขึ้นด้วยความมานะพยายามของเจ้าหน้าที่อนุรักษ์สัตว์ป่า
(คลิกดูภาพใหญ่)       โอลด์บลูในเวลานั้นมีอายุ ๙ ปี ซึ่งถือว่าผ่านเลยวัยหนุ่มสาวที่เหมาะแก่การเป็นแม่พันธุ์ไปนานแล้ว แต่ด้วยความเอาใจใส่อย่างดีของนักวิจัย โอลด์บลูจึงผสมพันธุ์วางไข่ได้เป็นผลสำเร็จ และเพื่อเป็นการช่วยให้โอลด์บลูผลิตทายาทให้ได้มากที่สุดในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เจ้าหน้าที่จึงทดลองเอาไข่ของโอลด์บลูไปให้นกทอมติ๊ด (Tomtit) นกเขนน้อยอีกชนิดหนึ่งช่วยฟักแทน ปรากฏว่านกทอมติ๊ดยอมร่วมมือฟักไข่ให้ด้วยดี ปล่อยให้แม่โอลด์บลูตั้งหน้าตั้งตาผสมพันธุ์วางไข่ต่อไปเรื่อย ๆ โอลด์บลูตายลงเมื่ออายุ ๑๓ หลังจากมีลูกมาทั้งหมด ๑๑ ตัว โอลด์บลูได้กอบกู้เผ่าพันธุ์ของมันเอาไว้ด้วยความช่วยเหลือของมนุษย์ การจากไปของเธอได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการในรัฐสภาของนิวซีแลนด์ 
      ห้าปีต่อมาประชากรของนกเขนน้อยสีดำเกาะแชตทัมเริ่มขยับขึ้นมาเป็น ๑๙ ตัว และเพิ่มเป็นสองเท่าในปีถัดมา นกทอมติ๊ดยังคงรับบทเป็นแม่เลี้ยงช่วยฟักไข่ให้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกระทั่งนกชนิดนี้รอดพ้นวิกฤตมาได้ และมีประชากรอยู่ราว ๓๐๐ ตัวในปัจจุบัน ชาวเกาะแชตทัมซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวประมงและชาวไร่ชาวนาต่างภูมิใจกับนกตัวเล็ก ๆ ชนิดนี้ถึงขนาดนำชื่อไปตั้งให้กับเบียร์ท้องถิ่น และนำเอานกเขนน้อยสีดำแชตทัมมาเป็นสัญลักษณ์นำโชคของเกาะ 
      น่าคิดว่าเราจะมีโอกาสทำให้เรื่องจริงชวนฝันเหล่านี้ เกิดขึ้นกับกรณีของนกแต้วแล้วท้องดำได้หรือไม่ โอกาสที่อาจต้องแลกมาด้วยเงินงบประมาณ และความรู้ความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือสัตว์ใกล้สูญพันธุ์... ใครจะรู้ว่าโอกาสนั้นได้เดินทางมาถึงแล้ว มาพร้อมกับความพยายามครั้งใหม่
 

การกลับมาของนักรบสายรุ้ง 

(คลิกดูภาพใหญ่) กรกฎาคม ๒๕๔๓
      อาคารที่ตั้งเก่าของโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ถูกทิ้งร้าง โครงการพื้นฟูฯ ปิดตัวลงไปได้หนึ่งปีพอดี ถัดไปไม่ไกลนักคือที่ทำการของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางครามอันเงียบเหงา บรรยากาศโดยทั่วไปของเขานอจู้จี้ยามนี้เปล่าเปลี่ยวอย่างผิดปรกติ... ความจริงเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่นกแต้วแล้วท้องดำกำลังวุ่นวายที่สุด เพราะเป็นช่วงของการเลี้ยงดูลูกน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลก นกตัวพ่อและแม่ต่างผลัดกันออกไปหาไส้เดือน และแมลงอื่น ๆ มาป้อนลูกในรังอย่างไม่รู้เหนื่อย ในเวลาเดียวกันนั้น ณ อีกซีกโลกหนึ่งที่ประเทศอังกฤษ มีผู้มาร่วมลงชื่อและบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำกว่า ๓,๐๐๐ คนในงานเทศกาลดูนกประจำปี (British Bird Watching Fair) ภายใต้สโลแกน Extinction is not an option! หรือ "การสูญพันธุ์ไม่ใช่ทางเลือก" 
      การสำรวจนกแต้วแล้วท้องดำอย่างไม่เป็นทางการในระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน พบรังนกแต้วแล้วท้องดำทั้งสิ้นเพียง ๑๓ รัง ซึ่งลดจำนวนลงจากครั้งที่มีการค้นพบครั้งแรกอย่างมาก การดำเนินการอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำในช่วงปี ๒๕๔๓-๒๕๔๔ เป็นการดำเนินงานโดยหน่วยงานของกรมป่าไม้เองเป็นหลัก โดยเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในเวลานั้น ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ และสำนักงานป่าไม้จังหวัดกระบี่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ป่าเขานอจู้จี้นั้นเป็นผืนป่าที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยเป็นพิเศษ ถึงกับรับสั่งให้ ฯพณฯ องคมนตรี ดร. อำพล เสนาณรงค์ ติดตามความคืบหน้าในการอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำอย่างใกล้ชิด ในฤดูแล้งปี ๒๕๔๓-๒๕๔๔ ได้มีการสนธิกำลังระหว่างหน่วยงานป่าไม้หน่วยต่าง ๆ รวมทั้งตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อช่วยในการลาดตระเวนป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ตำรวจตระเวนชายแดนบางส่วนได้เข้าไปประจำอยู่ในพื้นที่ป่าเขานอจู้จี้ทางด้านอ่าวตง ในเขตจังหวัดตรัง ซึ่งมีประชาการนกแต้วแล้วท้องดำอยู่ประมาณสองสามคู่ การปฏิบัติงานปราบปรามการลักลอบตัดไม้อย่างจริงจัง ของตำรวจตระเวนชายแดนช่วยให้สถานการณ์ในพื้นที่ด้านจังหวัดตรังดีขึ้นมาก ระหว่างเดียวกันนั้น ความพยายามในการอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำโดยภาคเอกชน ก็ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง 
(คลิกดูภาพใหญ่)       พฤษภาคม ๒๕๔๕ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) และ OBC สององค์กรอนุรักษ์นานาชาติ ซึ่งสนใจให้การสนับสนุนการอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำ ได้ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานป่าไม้ทั้งหมด ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ขึ้น นอกเหนือไปจากเป็นการให้ความรู้และเทคนิคด้านการป้องกันรักษาป่าแล้ว ยังเป็นเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์อย่างกว้างขวาง การอบรมครั้งนั้นมีนายสมาน กลิ่นเกสร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมกับยืนยันว่า จังหวัดกระบี่พร้อมให้ความช่วยเหลือในการอนุรักษ์ป่าผืนนี้ทุกด้าน ภายหลังการอบรมไม่กี่เดือน ตำรวจตระเวนชายแดนก็ได้เข้าไปตั้งหน่วยชั่วคราว ในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประสานงานการป้องกันรักษาป่า และด้วยการผลักดันของนายสมปราชญ์ ผลชู หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่า คลองท่อม และนายสมชาย เปรมพาณิชย์กุล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประฯ ทำให้เกิดโครงการสนธิกำลังเพื่อปฏิบัติงานป้องกันรักษาป่าอย่างจริงจัง โดยมี OBC และ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าเป็นผู้ช่วยประสานงานและสนับสนุนงบประมาณ ความกระตือรือร้นและจริงจังของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ทำให้มีความหวังว่าสถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนไป
      อีกด้านหนึ่ง RSPB ได้ประสานงานกับสมาคมอนุรักษ์นกและประเทศไทย ถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนงานอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำเต็มรูปแบบอีกครั้ง ในเดือนมิถุนายน ๒๕๔๔ เจ้าหน้าที่จาก RSPB สองคน พร้อมด้วย อุทัย ตรีสุคนธ์ กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ได้ลงพื้นที่ที่เขานอจู้จี้ และพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนในท้องถิ่น หน่วยงานป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงในกรมป่าไม้ รวมทั้งเข้าพบ ฯพณฯ องคมนตรี เพื่อหาแนวทางในการจัดทำโครงการอนุรักษ์ครั้งใหม่ ผลจากการประสานงานอย่างต่อเนื่องภายหลังการลงพื้นที่ครั้งนั้น ทำให้เกิดการลงนามร่วมกันอย่างเป็นทางการ ในบันทึกความเข้าใจระหว่าง RSPB สมาคมอนุรักษ์นกฯ และกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลไทย (ต่อมาได้เปลี่ยนโครงสร้างเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตั้งแต่ พฤศจิกายน ๒๕๔๕) ในเดือนกรกฎาคมปี ๒๕๔๕
(คลิกดูภาพใหญ่)       เป้าหมายแรกของบันทึกความเข้าใจดังกล่าว คือ การจัดประชุมเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูสถานภาพนกแต้วแล้วท้องดำ สตีฟ พารร์ และ ดร. พอล โดนัลด์ สองเจ้าหน้าที่ประสานงานจาก RSPB เน้นถึงความสำคัญของการจัดทำแผนฟื้นฟูฯ โดยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายว่า "เราหวังว่าแผนฟื้นฟูฯ ที่ได้ออกมาจะเป็นเหมือนกับลายแทง ที่ทำให้รู้ว่าเราจะไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร และตัวแผนฯ อันนี้จะช่วยกำหนดแผนการปฏิบัติงาน (Action Plan) ในแต่ละปี ซึ่งแผนดังกล่าวจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับทุกฝ่าย ลำพัง RSPB ย่อมไม่มีกำลังพอที่จะดำเนินการทุกอย่างได้ อีกนัยหนึ่งแผนนี้จะเป็นตัวช่วยบอกว่า น่าจะมีใครอีกบ้างที่ควรดึงเข้ามาร่วมอยู่ในโครงการ... ในระยะแรกนี้เราตั้งกรอบเวลาการทำงานไว้ห้าปี" สตีฟ พารร์ หวังอยู่ลึก ๆ ว่า กระบวนการทำงานที่เคยช่วยกู้ชีพนกกางเขนเซเชลส์สำเร็จมาแล้ว จะช่วยทำให้การอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำประสบผลสำเร็จเช่นกัน 
      การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูสถานภาพนกแต้วแล้วท้องดำซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๖-๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ เป็นการรวบรวมเอานักวิชาการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำทุกฝ่าย มารวมกันมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม คณะทำงานและสื่อมวลชนทั้งสิ้นราว ๔๘ คน ทั้งนักวิชาการไทยและต่างประเทศ หน่วยงานอนุรักษ์ของกรมอุทยานฯ ทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ องค์กรอนุรักษ์ทั้งระดับชาติและนานาชาติ ทั้งตัวแทนชาวบ้านและนักการเมืองท้องถิ่น ทั้งทหารระดับรองแม่ทัพภาค ๔ ไปจนถึงผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ผลการประชุมร่วมกันสี่วัน ถูกนำมาประมวลและจัดทำเป็นกรอบแผนงานของโครงการฟื้นฟูสถานภาพนกแต้วแล้วท้องดำระยะห้าปี และจัดให้มีเวทีประชาพิจารณ์ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่กว่าหนึ่งร้อยคนอีกครั้งหนึ่งในเดือนมกราคม ๒๕๔๖
      อาจารย์ทวีเกียรติ ประเสริฐเจริญสุข ประธานสถาบันพัฒนาภูมิปัญญาตะวันออก ผู้ดำเนินรายการประชุม เล่าให้ฟังถึงบทสรุปว่า "แม้เป้าหมายหลักของโครงการนี้ จะอยู่ที่การเพิ่มจำนวนนกแต้วแล้วท้องดำให้พ้นจากการสูญพันธุ์ แต่การทำงานก็ต้องทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนท้องถิ่นด้วย รัฐต้องจัดการปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของราษฎรให้เรียบร้อย หมายความว่าต้องให้นกอยู่ได้ ในขณะเดียวกันคนก็อยู่ได้และมีความสุข 
      ความเห็นของอดีตผู้ใหญ่บ้านบางเตียว เจริญ มีแก้ว ซึ่งแสดงไว้ในที่ประชุม เป็นการให้ความหวังกับความพยายามครั้งใหม่นี้ "ผมเคยเจอนกแต้วแล้วท้องดำ นานแล้วล่ะ นั่งคิดในใจว่าถ้ามันพูดได้เหมือนคนมันคงว่า ...สวัสดีครับคุณลุง ขออยู่ด้วยคนนะ... น่าสงสาร เป็นนกหายากมีคุณค่าแต่ไม่มีบ้านจะอยู่ มันนำเงินเข้าประเทศเยอะแยะ ทำให้เขานอจู้จี้โด่งดังไปทั่ว ขอวิงวอนให้พรรคพวกมีจิตเมตตา กรุณา อุเบกขา ช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ นกมันไม่ได้เบียดเบียนเรา คนกับนกอยู่ร่วมกันได้ ถ้านกอยู่ไม่ได้ ก็หมายความว่าไม่มีป่า..  เดี๋ยวนี้บางปีฝนแล้ง น้ำขาด อากาศวิปริตไปหมด แล้วคนเราจะอยู่ได้อย่างไร"
 

วันพรุ่งนี้ของนกแต้วแล้วท้องดำ

(คลิกดูภาพใหญ่) ปลายมกราคม ๒๕๔๖
      สื่อมวลชนยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่งรายงานว่า "..เจ้าหน้าที่ป่าไม้นำโดยนายสมปราชญ์ ผลชู หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่า กบ. ๒ (คลองท่อม) และตำรวจตระเวนชายแดน กองร้อย ๔๒๖ จังหวัดกระบี่ นำกำลังเข้าจับกุม ขณะผู้ต้องหาขณะใช้รถแทร็กเตอร์ไถปรับพื้นที่ ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติเขาประ-บางคราม ผู้ต้องหาคือนายถาวร อักษรคง อายุ ๔๐ ปี ให้การสารภาพว่า ทำตามคำสั่งของ "โกยุทธ" นายจ้างผู้เป็นเจ้าของรถ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางสักขีพยานเกือบ ๒๐ คน ทั้งเจ้าหน้าที่ อบต. คลองท่อมเหนือ เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรมอุทยานฯ ฯพณฯ องคมนตรี พร้อมด้วยตัวแทนของสมาคมอนุรักษ์นกฯ RSPB กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) และคณะสื่อมวลชน ภายหลังการจัดเวทีประชาพิจารณ์แผนฟื้นฟูฯ นกแต้วแล้วท้องดำร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้มีการเข้าตรวจสอบการทำลายป่าขนาดใหญ่เกือบ ๕๐๐ ไร่ โดยมีชาวบ้านหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การบุกรุกพื้นที่ขนาดใหญ่แปลงนี้อาจจะมี "คนมีสีระดับไม่ธรรมดา" อยู่เบื้องหลัง เพราะเป็นการบุกรุกพื้นที่ขนาดใหญ่โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย เป็นที่น่าจับตาว่า เจ้าหน้าที่จะสามารถสาวไปถึงผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังได้หรือไม่ 
      เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นการยืนยันถึงความรุนแรงและเลวร้ายอันไม่จบสิ้นของการบุกรุกป่าสงวนฯ ภายในเขตอำเภอคลองท่อม แม้เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติงานอย่างเต็มที่แต่ด้วยกำลังและงบประมาณที่จำกัด ทำให้เกิดช่องว่างในการทำลายป่าขึ้นได้อีก หนทางข้างหน้าของแผนฟื้นฟูฯ นกแต้วแล้วท้องดำดูจะเต็มไปด้วยอุปสรรค 

      อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีการสนธิกำลังระหว่างหน่วยงานป่าไม้ และตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นมา สถานการณ์บุกรุกทำลายป่าเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน RSPB สมาคมอนุรักษ์นกฯ ร่วมกับกรมอุทยานฯ ได้เริ่มโครงการสำรวจสถานภาพและศึกษานิเวศวิทยานกแต้วแล้วท้องดำ โดยได้เปิดรับเจ้าหน้าที่วิจัยประจำโครงการ เพื่อทำงานติดตามนกแต้วแล้วท้องดำอย่างละเอียด 
      ดร. พอล โดนัลด์ ที่ปรึกษาโครงการวิจัยแห่ง RSPB ผู้เชี่ยวชาญการศึกษานกหายากในหลายประเทศ กล่าวว่า "หลายคนบอกว่าเรามีข้อมูลเกี่ยวกับนกแต้วแล้วท้องดำเยอะแล้ว ไม่ต้องเสียเวลาศึกษาอีก แต่ความจริงไม่ใช่ เรามีข้อมูลด้านชีววิทยาเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ยังมีคำถามอีกหลายข้อ โดยเฉพาะสถานภาพและด้านนิเวศวิทยา เช่น ปัจจุบันมีนกแต้วแล้วท้องดำเหลืออยู่กี่คู่ และอยู่ที่ไหนบ้าง นกแต้วแล้วท้องดำคู่หนึ่งต้องการพื้นที่หากินเท่าไหร่ ปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่ออัตราการอยู่รอดของนกฯ เหล่านี้เป็นคำถามที่เราต้องหาคำตอบให้ได้
(คลิกดูภาพใหญ่)       "อีกส่วนหนึ่งคือแนวคิดเรื่องการเพาะเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ ซึ่งผมคิดว่าค่อนข้างจำเป็นสำหรับการอนุรักษ์สัตว์หายากที่เหลือน้อยมาก ๆ อย่างไรก็ตาม การเพาะเลี้ยงสัตว์ที่เรายังมีความรู้ด้านนิเวศวิทยาไม่ดีพอ จะทำให้มีโอกาสล้มเหลวค่อนข้างสูง และด้วยความที่นกแต้วแล้วท้องดำนั้นมีจำนวนน้อยมากอยู่ การนำเอานกสักคู่สองคู่ออกมาทดลองเพาะ จะมีผลกระทบต่อประชากรที่เหลือได้ง่าย ฉะนั้นต้องมั่นใจว่าเรามีข้อมูลเพียงพอเสียก่อน และควรดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ... 
      "องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าเดอเรลล์ (Durrell Wildlife Conservation Trust) เป็นหน่วยงานที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้านการเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายาก ในส่วนนี้ RSPB ได้ประสานกับผู้เชี่ยวชาญมาช่วยศึกษาความเป็นไปได้ และถ้าเราสามารถเพิ่มจำนวนนกแต้วแล้วท้องดำได้จริง อาจมีการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ที่มีศักยภาพรองรับนกแต้วแล้วท้องดำได้ โดยเฉพาะที่เคยมีรายงานการพบนกแต้วแล้วท้องดำในอดีต เช่นที่เขาช่อง จังหวัดตรัง หรือน้ำตกห้วยยาง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำนกแต้วแล้วท้องดำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง แต่ตอนนี้ต้องใจเย็น ๆ เพราะเราเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ระหว่างนี้คงต้องเก็บข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับนกให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับงานเร่งด่วนอื่น ๆ"
      เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดร. สตีฟ อีเลียต (Dr. Steve Elliott) ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูป่าธรรมชาติ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร. จอร์จ เกล (Dr. George Gale) อาจารย์ประจำคณะการจัดการทรัพยากรชีวภาพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่เขานอจู้จี้ เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูป่าที่มีประสิทธิภาพ
      ดร. สตีฟ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า "การฟื้นฟูป่าไม่ได้หมายถึงการปลูกป่าเท่านั้น เพราะป่านั้นมีความสามารถในการฟื้นตัวเองได้อยู่แล้ว สิ่งที่เราควรทำคือศึกษาสภาพพื้นที่และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ก่อนว่าเป็นอย่างไร แล้วจะวิธีไหนมีความเหมาะสมที่สุด สำหรับเขานอจู้จี้ที่ได้ไปสำรวจคราวนี้ พบว่าแปลงที่ถูกบุกรุกหลายแปลงไม่ได้ถูกไถและเผาทำลายจนหมดเสียทีเดียว ยังเหลือตอไม้ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป อันนี้ถือเป็นข้อดี เพราะตอไม้ที่เห็นส่วนใหญ่นั้นมีระบบรากแข็งแรงไม่ตายง่าย ๆ การดูแลตอไม้เช่นการกำจัดวัชพืช หรืออาจมีการให้ปุ๋ยเพิ่ม จะช่วยให้มีไม้ใหญ่กลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว และควรมีการเสริมไม้พื้นล่างและไม้บางอย่างที่ไม่มีตอเหลืออยู่เข้าไปด้วย เพื่อช่วยให้ป่าที่ฟื้นตัวกลับมามีโครงสร้างใกล้เคียงกับป่าดั้งเดิมมากที่สุด"
(คลิกดูภาพใหญ่)       การที่ผืนป่าที่ราบต่ำถูกตัดขาดเป็นหย่อม ๆ ไม่ต่อเนื่องกัน มีผลอย่างไรต่อนกแต้วแล้วท้องดำ ดร. จอร์จกล่าวในเรื่องนี้ว่า "เมื่อป่ามีขนาดเล็กลงและล้อมรอบไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรม ก็เหมือนนำสัตว์ไปปล่อยเกาะไว้นั่นเอง นกแต้วแล้วท้องดำย่อมประสบปัญหามากขึ้นในการหาอาหาร และที่ทำรังวางไข่ ความจริงมีวิธีช่วยให้นกมีโอกาสอยู่รอดได้มากขึ้น คือการทำคอร์ริดอร์ (corridor) หรือแนวเชื่อมต่อระหว่างหย่อมป่าที่กระจัดกระจาย การทำคอร์ริดอร์นั้นทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่น่าจะเหมาะกับพื้นที่เขานอจู้จี้ คือการปรับปรุงพื้นที่เกษตรกรรมบางส่วนของชาวบ้าน ให้มีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด เช่นปลูกไม้พื้นล่าง หรือลงไม้ป่าบางชนิดเสริมเป็นแนว วิธีนี้ก็เหมือนทำสะพานเชื่อมให้กับนกแต้วแล้วท้องดำได้เดินทางไปหาอาหาร หรือหาคู่ในป่าแห่งอื่น ๆ บ้าง วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาการผสมพันธุ์กันเองในหมู่เครือญาติ (inbreeding) ที่ทำให้เกิดยีนด้อย ปัญหานี้พบมากในสัตว์ที่มีประชากรน้อย ๆ อย่างนกแต้วแล้วท้องดำ"
      ภายหลังการลงพื้นที่ดังกล่าว สำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๙ และสำนักปลูกป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ร่วมกันจัดทำโครงการฟื้นฟูป่าสงวนฯ ที่ถูกบุกรุก ในเนื้อที่ประมาณ ๖๐๐ ไร่ โดยจะดำเนินงานทั้งในส่วนของการปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น การดูแลตอไม้ และการเฝ้าระวังรักษาพื้นที่อย่างจริงจัง โดยมีกำหนดที่จะดำเนินการในเดือนสิงหาคมนี้
      ในขณะที่องค์ประกอบต่าง ๆ ในแผนฟื้นฟูฯ ค่อย ๆ ได้รับสานต่อ และขยายผลไปสู่การปฏิบัติ ก็ได้มีกลุ่มอนุรักษ์กลุ่มใหม่เกิดขึ้นภายใต้ชื่อ "กลุ่มรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำ" โดยตัวแทนของกลุ่มฯ ได้ทำหนังสือยื่นต่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้หยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ และอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำ กลุ่มคนในวันนั้นได้ทำให้นกแต้วแล้วท้องดำเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศอีกครั้งหนึ่ง 
      อวยพร ขวัญแพ ตัวแทนกลุ่มรักษ์แต้วแล้วท้องดำ เล่าให้ฟังว่า "กลุ่มรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำจริง ๆ แล้วคือตัวแทนของนักดูนกจำนวนหนึ่งที่ติดต่อสื่อสารกันเป็นประจำทางอินเทอร์เน็ต พวกเรามีหลากหลายอาชีพมากตั้งแต่แพทย์ พยาบาล วิศวะ นักธุรกิจ หรือแม้แต่นักศึกษา พอใครมีข่าวอะไรก็จะแจ้งถึงกันให้ทราบ ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีบางคนลงไปดูนกกันที่เขานอจู้จี้ แล้วเห็นการทำลายป่าอย่างรุนแรง จนแทบจะล้ำเข้ามาในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เราก็รู้สึกว่าเอ๊ะ นี่มันพื้นที่อนุรักษ์ไม่ใช่หรือ แล้วนกแต้วแล้วท้องดำนี่มันสำคัญมาก เรียกว่าไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยแต่ขึ้นอันดับโลก ทำไมถึงยังมีการบุกรุกป่าอย่างนี้ เลยปรึกษากันว่าน่าจะต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง ในที่สุดก็เลยล่ารายชื่อและทำหนังสือยื่นถึงนายกฯ"
(คลิกดูภาพใหญ่)       ในขณะที่การอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ได้มีการนำเสนอทางเลือกอีกหลายทาง เช่น การซื้อที่ดินคืนจากชาวบ้านที่มีความเต็มใจ และนำมาฟื้นฟูเป็นที่อยู่ของนก อันเป็นแนวทางการอนุรักษ์ขององค์กรเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลก ผู้เสนอแนวทางนี้ยืนยันว่าเงินลงทุนมหาศาลไม่ใช่อุปสรรค เพราะมีนักดูนกทั่วโลกพร้อมที่จะบริจาคเงินให้ หากมีหลักประกันว่าจะช่วยนกแต้วแล้วท้องดำได้จริง เมื่อได้ที่คืนแล้วก็ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดการพื้นที่โดยเฉพาะ รุ่งโรจน์ จุกมงคล อุปนายกสมาคมอนุรักษ์นกฯ กล่าวว่า "หากได้ที่คืนแล้ว เราสามารถนำมาปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะกับนิเวศวิทยาของนกได้ เพราะความจริงนกแต้วแล้วท้องดำปรับตัวได้เก่งกว่าที่เราคิด เขาอยู่รอดในป่าชั้นรองที่ไม่สมบูรณ์นัก เคยมีรายงานว่าพบนกทำรังในป่าหย่อมเล็ก ๆ ขนาดเพียง ๑๒ ไร่ ที่ล้อมรอบไปด้วยสวนยางได้ นอกจากนี้อาจช่วยเหลือนกฯ ด้วยการให้อาหารเสริมในระยะแรก โดยเฉพาะไส้เดือนซึ่งเป็นอาหารหลัก หรืออาจปลูกต้นระกำ หรือกอหวาย ซึ่งเป็นไม้มีหนามที่นกใช้อาศัยทำรัง ก็น่าจะช่วยให้นกมีโอกาสรอดมากขึ้น อันนี้เป็นไปตามหลักการจัดการสัตว์ป่าทั่วไป คือมีที่อยู่ ที่กิน ที่ขยายพันธุ์ สัตว์ก็อยู่ได้"
      จอห์น พารร์ (John Parr) ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ได้เสนออีกทางเลือกหนึ่ง คือการประกาศให้พื้นที่ในอำเภอคลองท่อมและใกล้เคียงทั้งหมด เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมปี ๒๕๓๕ เพื่อเป็นการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีความเหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศธรรมชาติ จอห์น กล่าวว่า "พื้นที่ราบบริเวณเขานอจู้จี้นั้นเป็นระบบนิเวศที่พิเศษมาก แต่เขตอนุรักษ์ตามกฎหมายให้การคุ้มครองไม่ทั่วถึง และค่อนข้างมีความสับสน การประกาศให้ทั้งบริเวณเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม จะทำให้ทุกคนยอมรับในหลักการเดียวกันว่าพื้นที่ทั้งหมดบริเวณนี้มีความสำคัญมาก ต้องมีการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การจะมาถางป่า ๔๐๐-๕๐๐ ไร่เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน นั้นย่อมทำไม่ได้"
      หลายคนที่ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอดเชื่อมั่นว่า แนวทางการอนุรักษ์ใหม่ ๆ จะช่วยแก้ปัญหาของนกแต้วแล้วท้องดำในระยะยาวได้ แต่บางคนก็เห็นว่า แผนฟื้นฟูฯ นี้ไม่ได้แตกต่างไปจากแนวทางที่เคยพยายามมาแล้ว จึงไม่แน่ใจว่าการอนุรักษ์จะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ดร. เจริญวิชญ์ หาญแก้ว ตัวแทนของสมาคมอนุรักษ์นกฯ ในคณะกรรมการอำนวยการแผนฟื้นฟูฯ ยืนยันว่า "เชื่อว่าเรามาถูกทางแล้ว แม้ปัญหาจะค่อนข้างใหญ่และซับซ้อนมาก แต่ตอนนี้เรามีกระบวนการที่เปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมพูดคุยกันอย่างเต็มที่ ทั้งชาวบ้าน เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ นักวิชาการ และยังมีองค์กรอนุรักษ์นานาชาติให้การสนับสนุน บอกได้เลยว่าตอนนี้คนทั่วโลกเขาจับตาดูเราอยู่ เป็นโอกาสอันดีแล้วนะ ตอนนี้เรายังมีโอกาสก็ต้องทำให้ถึงที่สุด การแก้ไขปัญหาการอนุรักษ์สัตว์ป่านั้นต้องอดทน เพราะมันไม่ง่าย มันโยงใยถึงปัญหาโครงสร้างอื่น ๆ หมด แต่ถ้าเราไม่เผชิญกับปัญหา ไม่พยายามแก้ไข ทุกอย่างก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่ใช่เฉพาะนกแต้วแล้วท้องดำหรอกนะ แต่หมายถึงสังคมโดยรวมทั้งหมด"
(คลิกดูภาพใหญ่) กรกฎาคม ๒๕๔๖
      ทิพย์ตื่นแต่เช้าตรู่ เธอเริ่มต้นภารกิจของวันใหม่ด้วยการเตรียมอุปกรณ์ภาคสนาม กล้องส่องทางไกล เครื่องบอกพิกัดทางภูมิศาสตร์ สมุดโน้ต เครื่องอัดเสียง และยาทากันยุง อากาศที่ร้อนอ้าวราวเตาอบ ฝนที่พร้อมจะเทลงมาทุกขณะ กับแมลงนับล้านที่คอยกัดรบกวนในป่า ทำให้การทำงานภาคสนามที่ป่าเขานอจู้จี้ยากลำบากไม่แพ้ป่าที่ไหน ๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องคอยสังเกตนกที่พบเห็นตัวได้ยากยิ่ง อย่างนกแต้วแล้วท้องดำบนพื้นป่าที่รกชัฎไปด้วยพันธุ์ไม้น้อยใหญ่นานาชนิด ทุกวันทิพย์จะต้องเดินตามเส้นทางเพื่อติดตามพฤติกรรมของนกแต้วแล้วท้องดำทุกตัวที่สำรวจพบ ทิพย์และทีมงานอันประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานฯ และที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจาก RSPB เริ่มเก็บข้อมูลนกแต้วแล้วท้องดำอย่างจริงจังมาได้สามเดือนแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพล่าสุดนี้จะเป็นกุญแจสำคัญ ที่ช่วยกำหนดทิศทางของมาตรการเร่งด่วนต่าง ๆ ในการอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำ ข่าวที่น่ายินดีล่าสุด คือ ทีมงานได้สำรวจพบนกแต้วแล้วท้องดำแล้วทั้งหมด ๑๓ คู่ และคาดว่ามีตัวที่ไร้คู่ อีก ๓ ตัว อย่างไรก็ตามคณะสำรวจยังไม่พบรังนกแม้แต่รังเดียวในฤดูผสมพันธุ์ปีนี้ ไม่มีใครตอบได้ว่าเป็นเพราะการสำรวจยังทำได้ไม่ครอบคลุม หรือเพราะนกหลายคู่ถูกผลักดันให้มาอยู่รวมกันอย่างหนาแน่นเกินไป หรือเพียงเพราะมีนักท่องเที่ยวผ่านเข้าออกในพื้นที่อาศัยของนกมากเกินไป 
      แม้การค้นหารังเพื่อเก็บข้อมูลในปีนี้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่โดยทั่วไปก็นับได้ว่าโครงการสำรวจเบื้องต้นดำเนินไปได้ด้วยดี และมีการวางแผนการศึกษาอย่างละเอียด เพื่อตอบคำถามในเรื่องของการอนุรักษ์ให้ได้มากที่สุด ทิพย์เล่าว่างานสำรวจประชากรและพฤติกรรมของนกที่เธอกำลังทำนั้นเป็นเพียงบันได้ขั้นแรกเท่านั้น ข้อมูลสำคัญหลายอย่างจะไม่มีทางได้มา หากไม่มีการใช้เทคนิคอื่น ๆ ช่วย เช่น การติดห่วงขานก หรือติดวิทยุส่งสัญญาณและติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทราบอย่างแน่ชัดว่านกใช้พื้นที่อาศัยหากินอย่างไร ขนาดเท่าไร และอะไรคือปัจจัยหลักในการกำหนดความอยู่รอดของนกแต้วแล้วท้องดำ ทักษะบางอย่างอาจจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ อุปสรรคที่สำคัญในขณะนี้คือขั้นตอนการขออนุญาตการทำวิจัย เพราะร่างโครงการดังกล่าวจะต้องผ่านการพิจารณาจากสภาวิจัยแห่งชาติ และคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติเสียก่อน เนื่องจากนกแต้วแล้วท้องดำเป็นสัตว์ป่าสงวนที่มีการคุ้มครองทางกฏหมายอย่างเคร่งครัด ทิพย์และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้แต่รอคอยด้วยความหวังว่า ร่างโครงการจะผ่านการพิจารณาโดยเร็ว และโครงการวิจัยจะได้เดินหน้าอย่างเต็มรูปแบบสำหรับฤดูผสมพันธุ์ปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการเก็บข้อมูล ทุกฝ่ายจำเป็นต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะรู้ดีว่าพวกเขาเหลือเวลาอีกไม่มากนัก 
....................
(คลิกดูภาพใหญ่)       สิบเจ็ดปีเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน กาลเวลายังคงไหลเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างซื่อสัตย์ พร้อมกับการจากไปของป่าที่ราบต่ำ และนกแต้วแล้วท้องดำตัวแล้วตัวเล่า ณ วันนี้ แผนงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำกว่า ๔๐ โครงการยังคงรอคอยให้มีคนนำไปเริ่มต้นปฏิบัติอย่างจริงจัง ความพยายามครั้งนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ชะตากรรมของนกแต้วแล้วท้องดำจะเป็นอย่างไร คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับทิพย์ ไม่ได้ขึ้นกับองค์กรอนุรักษ์ หรือกรมอุทยานแห่งชาติฯ บทเรียนที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า ความพยายามแต่เพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่มีทางทำให้การอนุรักษ์ประสบความสำเร็จ นกแต้วแล้วท้องดำจะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความร่วมมืออย่างจริงจัง และความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย ตั้งแต่ระดับชาวบ้านไปจนถึงผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความพยายามครั้งนี้คือการตัดสินใจของคนไทยว่าจะปกป้องนกแต้วแล้วท้องดำเอาไว้ หรือปล่อยให้มันสูญพันธุ์ไปตลอดกาล... 
      ณ นาทีนี้ การอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำยังคงถูกผลักดันให้ดำเนินต่อไปข้างหน้า ในขณะที่เวลาของนกแต้วแล้วท้องดำฝูงสุดท้ายเหลือน้อยลงไปทุกที ทิพย์และผู้คนอีกจำนวนหนึ่ง กำลังสานต่อเรื่องราวของการอนุรักษ์ ที่โลดแล่นอยู่ในความสนใจของชาวโลกมาเกือบ ๒๐ ปี เรื่องราวที่กำลังจะกลายเป็นตำนาน และด้วยหวังว่าจะปิดฉากลง...อย่างศานติ 

      "ในท้ายที่สุด อนาคตของมนุษยชาติมิได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราสรรค์สร้างขึ้นเท่านั้น หากยังหมายรวมถึงสิ่งที่เรา...ไม่ยอมให้ถูกทำลาย"
      จอห์น ซี ซอว์ฮิลล์ (๒๔๗๙-๒๕๔๓) 
      ประธาน The Nature Conservancy ระหว่าง ๒๕๓๓-๒๕๔๓
 

ขอขอบคุณ 

        คุณพันทิภา พัฒนแก้ว คุณศิรประภา บุญลือ คุณสิริรักษ์ อารทรากร คุณรุ่งโรจน์ จุกมงคล ดร. เจริญวิชญ์ หาญแก้ว คุณสมปราชญ์ ผลชู คุณอุทัย ตรีสุคนธ์ คุณกวิน ชุติมา ดร. วิโรจน์ พิมมานโรจนกูร คุณนพรัตน์ นาคสถิตย์ คุณบุษบง กาญจนสาขา คุณสมชาย เปรมพาณิชย์กุล พ.ต.ท. สว่าง แสงแก้ว คุณจิตร ชนะกุล คุณเจริญ มีแก้ว คุณอิศร์ สวัสดิภาพ คุณนลินพร วนิชกุล Phillip Round, Dr.Antony Lynam, Steve Parr, Dr. Paul Donald, Brian Sykes, Dr. Stephen Elliott, John Parr และ Dr. George Gale 
 

เอกสารอ้างอิง

(คลิกดูภาพใหญ่)       ทวีเกียรติ ประเสริฐเจริญสุข. ๒๕๔๕. รายงานผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟู สถานภาพนกแต้วแล้วท้องดำ. สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ ๑๓๑ น.
      พลอยแม่น้ำ. ๒๕๔๕. ความหวังของนกแต้วแล้วท้องดำ และคนเฝ้าป่าที่เขานอจู้จี้ . "นกกางเขน" วารสารสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย. ปีที่ ๑๙ ฉบับที่ ๗
      วิภา สุนันท์สถาพร. ๒๕๔๖. ฟังชาวบ้านคิดต่อชีวิตนกแต้วแล้วท้องดำ. หนังสือพิมพ์ ข่าวสด. ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖
      สมาคมอนุรักษ์นกแห่งประเทศไทย. ๒๕๔๖. อนาคตนกแต้วแล้วท้องดำของไทย หลังการค้นพบ นกในพม่า. แถลงข่าว ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖.
      สุพรรณี ไทรนรา. ๒๕๔๒. "เขานอจู้จี้" ป่าดิบชื้นที่ราบต่ำผืนสุดท้าย. โครงการพื้นฟูและอนุรักษ์ ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้. ศูนย์ชีววิทยาเชิงอนุรักษ์. มหาวิทยาลัยมหิดล. ๑๕๐ น.
      อวยพร แต้ชูตระกูล. ๒๕๔๖. โครงการฟื้นฟูนกแต้วแล้วท้องดำ เมื่อที่อยู่ของนกทับซ้อนผืนดิน ทำกินของคน. นิตยสารโลกสีเขียว. ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๑
      อุทัย ตรีสุคนธ์. ๒๕๓๑. นกแต้วแล้วท้องดำ จากครอบครัวสุดท้ายของโลกสู่การค้นหาครอบครัว
      อื่น ๆ. ใน สัตว์ป่าเมืองไทย ก่อนจะเหลือเพียงความทรงจำ. สุดารา สุจฉายา บรรณาธิการ. สำนักพิมพ์สารคดี กรุงเทพฯ น. ๑๖๑-๑๘๒ 
      Birdlife International. 2003. Gurney's Pitta rediscovered in Myanmar. News release June 3, 2003. 
Collar. N.J., A.V. Andreev, S. Chan, M.J. Crosby, S. Subramanya and J.A. Tobias. 2001. Threatened Birds of Asia. The Birdlife International Red Data Book. Birdlife International. Cambridge. 3038 p. 
      Parr, S. 2001. Species conservation assessment & action plan 2001-2006 for Seychelles Magpie-Robin Copsychus sechellarum. Seychelles Magpie-Robin Recovery Team (SMART). RSPB and Birdlife Internation. UK. 
      Lambert, F. and M. Woodcock. 1996. Pittas, Broadbills and Asities. Pica Press, Sussex. 
      Langley N. 2003. Building a stronghold for Gurney's Pitta. Birdlife International. Features Archive. 6 June 2003 
      Manopawitr. P. 2002. Saving the Pitta. The Nation. July 13, 2002
      Millet, J. 2001. Rats' loss is magpie-robins' gain. World Birdwatch. Vol 23:2 
      Round, P.D. and U. Treesucon. 1986. the rediscovery of Gurney's Pitta Pitta gurneyi. Forktail 2: 53-66.
      Round, P.D. 1996. Jewels of the Forest. Protecting Gurney's Pitta in the lowland forest of Thailand. World Birdwatch 18(3): 12-15. 
      Round, P.D. 1998. Gurney's Pitta: its current status and future conservation aspect. Journal of Wildlife in Thailand. 6 (1): 9-25. 
      Sykes, B. 2003. Re-discovery of Gurney's Pitta in Myanmar. Oriental Bird Club. News Release June 4, 2003.
      Warne, K. 2002. Hotspots: New Zealand. National Geographic. Vol. 202 No. P. 75-101
      Wilson, E.O. 2003. The Future of Life. Vintage books. New York. 229 p.