|
|
เรื่อง : วารยา พึ่งตนเพียร / ภาพ : พิชญ์ เยาวภิรมย์
|
|
|
|
|
|
|
|
การออกนอกประเทศแต่ละครั้ง
มักเปลี่ยนหรือเพิ่มมุมมองต่อโลกให้แก่คนเดินทางเสมอ แต่การไปอินเดีย--ถิ่นกำเนิดของหลากหลายศาสนาลัทธิความเชื่อ รวมทั้งพุทธศาสนา เป็นมากกว่าการเปิดมุมมองต่อโลก "ภายนอก" หากทำให้ได้คิดทบทวนถึงโลก "ภายใน" ที่หลายคนแสวงหาเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต
สำหรับชาวพุทธ สิ่งซึ่งหลายคนแสวงหานั้นมีเจ้าชายในตระกูลโคตมะทรงค้นพบ และบอกเล่าไว้ในนามของพุทธศาสนานาน ๒๕๔๖ ปีมาแล้ว
เจ้าชายสิทธัตถะเริ่มการเดินทางในวัยหนุ่ม ๒๙ ปี จากนั้นได้ทุ่มเทชีวิตส่วนที่เหลือ ทดลอง ค้นพบ และประกาศตนเป็นศาสดาแห่งพุทธศาสนา ออกเผยแผ่ "ความรู้ใหม่"
ในดินแดนที่ผู้คนส่วนใหญ่
แสวงหาความหลุดพ้นด้วยการสวดหรือร่ายพระเวท พึ่งพาเทพเจ้าและการบวงสรวง มีวรรณะเป็นสิ่งติดตัวมาแต่กำเนิด อันเป็นศรัทธาในแบบฮินดู-พราหมณ์
ที่ฝังรากแน่นมานานก่อนหน้าพุทธศาสนา ตั้งแต่ครั้งอารยันเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชมพูทวีปเมื่อ ๓,๕๐๐ ปีก่อน
และได้สร้างอารยธรรมที่เป็นรากฐาน
รวมทั้งวิถีชีวิตให้หลายประเทศ
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับช่วงไป ไม่ว่าจะเป็นการปกครองแบบเทวราชา หรือวรรณคดีอย่างมหากาพย์มหาภารตะและรามายณะ
ศาสดาผู้มาใหม่ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะบอกว่า มนุษย์หลุดพ้นด้วยการไม่มีอวิชชา สามารถพึ่งพาตนเอง และมีกาลามสูตรเป็นหลักยึด คืออย่าเชื่อโดยไม่ได้พิจารณาด้วยเหตุผลของตนเอง พระองค์ทรงทราบดีว่า สิ่งที่ค้นพบนั้นลึกซึ้งยากที่ใครจะเข้าใจ
หากต้องลงมือปฏิบัติและใช้ความคิดเชิงเหตุผล
ประกอบกับปัญญาที่มนุษย์ทุกผู้มีติดตัวมาแต่กำเนิดในระดับแตกต่างกัน
|
|
|
|
พระพุทธเจ้า ศาสดาแห่งศาสนาพุทธ ผู้มีกำเนิดในวรรณะกษัตริย์ ทรงแสดงธรรมที่ได้ค้นพบตั้งแต่พระชนมายุได้ ๓๕ จนเสด็จปรินิพพานเมื่อ ๘๐ พรรษา ทิ้งสิ่งแทนพระองค์ไว้คือพระธรรม ที่ทรงเปิดช่องไว้ว่า อาจปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย และคำบอกเล่าผ่านพระอานนท์สาวกว่า หากนึกถึงพระองค์ สังเวชนียสถานทั้งสี่อาจเป็นสิ่งแทนความรำลึกถึงนั้นได้
สังเวชนียสถาน มีส่วนคล้ายกับจุดกำเนิดศาสนสถานทั้งหลาย ที่ดำรงอยู่อย่างเรียบง่ายแม้เวลาจะผ่านไปนับพัน ๆ ปี หากสามารถดึงดูดผู้มีศรัทธาทั่วโลกได้ปีละนับล้าน ๆ
นักแสวงบุญมุสลิมมุ่งสู่นคร เมกกะ-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อจุมพิตกาบาห์-ก้อนหินศักดิ์สิทธิ์สีดำสักครั้งในชีวิต
ชาวคริสต์ ยิว และมุสลิมบางกลุ่ม หวังว่าจะได้ไปเยือนนครเก่าแก่นับพันปี เยรูซาเล็ม-อิสราเอล
ส่วนชาวพุทธ สังเวชนียสถานทั้งสี่
สถานที่ประสูติ ณ ป่าลุมพินี เมืองกบิลพัสดุ์ เนปาล
สถานที่ตรัสรู้ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พุทธคยา อินเดีย
สถานที่แสดงปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สารนาถ อินเดีย
สถานที่ปรินิพพาน ณ ป่าสาลวัน กุสินารา อินเดีย
คือจุดหมายของผู้มีศรัทธาปสาทะแรงกล้าในพุทธศาสนาจากทุกทวีปทั่วโลก
|
|
|
|
สถานที่ประสูติ
ป่าลุมพินี เมืองกบิลพัสดุ์ เนปาล
|
|
|
|
ลุมพินี ตำบลประสูติของสิทธัตถะกุมาร ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล จากอินเดียสามารถทำวีซ่าที่ชายแดนและไป-กลับได้ในวันเดียว ช่วงเวลารอทำวีซ่านานพอจะให้ลงรถไปเดินสำรวจห้องแถวตามซอกซอยบริเวณนั้น
ที่ถนนดิน มีลูกเล็กเด็กแดงและแพะเดินเล่นอยู่ไปมาอย่างมีความสุข ที่ถนนใหญ่มีร้านขายของเรียงรายตลอดสองฝั่ง ขายทั้งเสื้อผ้าส่าหรีรองเท้ารีบ็อค ที่นอนหมอนมุ้ง ผักพริกมะเขือสีสด ไปจนถึงบะหมี่มาม่าจากไทย ยาย้อมผมบีเง็น จากพม่า รวมทั้งอาหารทอดเคล้าผงกะหรี่และโรตีแกงแขก กลิ่นรสน่าลิ้มลอง
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ นักหนังสือพิมพ์ชาวไทยผู้หนึ่งเดินทางโดยลำพังเล่าว่า การไปลุมพินียังไม่ต้องทำวีซ่า แต่การเดินทางระหกระเหินไม่น้อย ต้องรอนแรมไปในรถไฟ ต่อเรือข้ามแม่น้ำคงคา ขึ้นรถไฟอีกครั้ง แวะพักที่ธรรมศาลาของภิกษุลังกา ครั้นตีสามต้องตื่นออกเดินเท้าไปอีก ๑๖ กิโลเมตรกับผู้นำทาง ผ่านทุ่งที่ยังมีลิงป่าม้าลายให้ได้เห็น ผ่านดงอ้อย สวนมะม่วง ได้พบเด็กแขกขายนมก็เรียกขอซื้อดื่มเพิ่มกำลัง สมัยนั้นมีบ่อขุดทุกระยะไว้ให้คนเดินทางได้อาศัยใช้น้ำ บริเวณนั้นใกล้ชายแดนมาก ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ซ้ำโจรเรียกค่าไถ่ก็ชุกชุม ต้องเดินทางให้ถึงที่หมายก่อนค่ำมืดจึงปลอดภัย
นอกจากเดินเท้าก็มีลาให้โดยสาร แต่เป็นลาผอมแกร็นนั่งไปก็สงสารไม่สบายใจ พาหนะอื่นคือช้าง ซึ่งราคาแพง ม้า ซึ่งต้องรอคอยอย่างไม่รู้ว่าจะมาเมื่อใด สุดท้ายคือให้แขกหาบไป ปัจจุบันไม่มีข้อเลือกหลากหลายเช่นนั้นแล้ว
ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ภิกษุไทยรูปหนึ่งเคยจ้างสามล้อถีบจากท่ารถไปส่งลุมพินี ไป-กลับ ๑๐ รูปี นั่งไปได้สักระยะหนึ่งเกิดสงสารสารถี จึงลงเดินเองเพื่อช่วยทุ่นแรงคนถีบสามล้อ
ทุกวันนี้การเดินสะดวกขึ้น มีรถโดยสารพาไปถึงที่หมาย แต่สิ่งหนึ่งซึ่งยังคงเดิมคือฝุ่นฟุ้งตลบหลังรถไปตลอดทาง
เมื่อเข้าเขตตำบลลุมพินี มีวัดไทย (Lumbini, The Royal Thai Monastry) สถานที่ประสูติอยู่ไม่ไกลจากวัดนัก เป็นทุ่งกว้างเวิ้งว้าง ด้านหน้าเป็น วิหารพระนางมหามายาเทวี ภายในมีหินสลักรูปพระพุทธมารดามีประสูติกาล ประทับยืนเหนี่ยวกิ่งรัง กับพระพุทธเจ้าองค์น้อย (Little Buddha) ย่างก้าวไปบนดอกบัว
|
|
|
|
ภาพสมัยพุทธกาลบอกเล่าว่า ลุมพินีเป็นอุทยานสวยงามในฤดูใบไม้ผลิ ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างกบิลพัสดุ์เมืองข้างฝ่ายพระบิดา กับเทวทหะเมืองข้างฝ่ายพระมารดาของพระพุทธองค์ ในช่วงทรงครรภ์แก่ พระนางสิริมหามายาเสด็จจากกบิลพัสดุ์ เตรียมกลับสู่บ้านเกิดตามธรรมเนียมฮินดู มาได้ครึ่งทางก็ประชวรพระครรภ์ แล้วมีประสูติกาล ณ ใต้ต้นรังที่ลุมพินีนี้ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ วิสาขะ
นอกจากชาวพุทธที่มาสักการะ ชาวฮินดูซึ่งเชื่อว่าพระพุทธเจ้าคือปางหนึ่งของพระนารายณ์ ก็มาบนบานศาลกล่าวเพื่อขอลูกจากรูปแทนองค์เทพของเขาองค์นี้ด้วย
เลยวิหารไปเป็นร่มโพธิ์ใหญ่ มีธงราวแบบทิเบตหลากสีติดระโยงระยางเต็มกิ่งก้านสาขา เพราะเป็นช่วงเวลาที่พระทิเบตนับร้อย เดินทางมาจากหลังคาโลก จาริกไปตามสังเวชนียสถาน
และร่วมกันสวดภาวนาเพื่อสันติภาพโลก
ที่ลุมพินีนี้ยังมีสระน้ำที่พระพุทธมารดาลงสรงสนาน และใช้น้ำสรงพระกุมารสิทธัตถะ ไกลออกไปเห็นโดดเด่น คือเสาหินพระเจ้าอโศก-เอกอัครศาสนูปถัมภก
พระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดียปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ หลังจากช่วงชิงบัลลังก์กับพี่น้อง ในต้นรัชสมัยของพระองค์ ราชสำนักมีแต่ความฟุ้งเฟ้อ เพราะพระองค์โปรดการฆ่าสัตว์และงานเฉลิมฉลอง ทั้งโปรดการแสวงอำนาจรุกรานไปเกือบทั่วอินเดีย ในการสงครามทำให้มีผู้ล้มตายนับแสน
และความวิบัตินี้เอง
ที่ทำให้ทรงมีดวงตาเห็นทุกข์ของผู้อื่น และเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา
พระเจ้าอโศกได้ผนวชในปี พ.ศ. ๓๐๓
ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
อย่างที่ไม่เคยมีผู้ใดทำมาก่อนไปทั่วแคว้นอินเดีย ลังกา พม่า มอญ สุวรรณภูมิ ยุโรป แอฟริกา ตลอดจนถึงซีเรีย อียิปต์ มาซีโดเนีย และทรงตรากฎหมายขึ้นใหม่โดยใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนา จารึกบัญญัติ ๑๔ ข้อของพระองค์เป็นภาษามคธลงบนแผ่นศิลา ปักไว้ในที่ต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร เสาพระเจ้าอโศก (Ashoka Pillar) เป็นหลักฐานทางศาสนา ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่อ้างถึงกันมาจนปัจจุบัน
|
|
|
|
สถานที่ตรัสรู้
ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พุทธคยา อินเดีย
|
|
|
|
๑๖ กิโลเมตรจากสถานีรถไฟคยาสู่มณฑลศรีมหาโพธิ์สถานที่ตรัสรู้ เป็นเส้นทางชนบทของแคว้นพิหาร รัฐยากจนที่สุดของอินเดีย ผ่านมหาวิทยาลัยมคธอันกว้างขวาง และวัดไทยพุทธคยา
ที่พักแรมของชาวพุทธไทย
และนานาชาติเมื่อไปนมัสการวิหารพุทธคยาและต้นศรีมหาโพธิ์
บริเวณพุทธคยานี้เคยอยู่ในกรรมสิทธิ์ของเศรษฐีฮินดูกลุ่มมหันต์
แม้จะเปิดโอกาสให้ชาวพุทธนานาชาติ
เข้าไปนมัสการต้นศรีมหาโพธิ์
และพระสถูปได้ แต่ก็เกิดปัญหาอยู่เนือง ๆ
เป็นกรณีกันอยู่นาน
จนนายกรัฐมนตรีอินเดีย เนห์รู ฟื้นความขึ้นมา และในที่สุด ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ก็สามารถประกาศให้บริเวณดังกล่าวพ้นจากกรรมสิทธิ์ของเศรษฐีมหันต์
ชาวพุทธจากทั่วโลกจึงเข้าไปประกอบพิธีกรรม
ในบริเวณที่ตรัสรู้ของพระศาสดาได้โดยสะดวก
ชาวพุทธไทยที่เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานในยุคก่อนวัดไทยสร้าง มักได้รับความอนุเคราะห์จากภิกษุลังกา ในนาม สมาคมมหาโพธิ (Maha Bodhi Society)
ซึ่งเป็นกลุ่มที่ธำรงศาสนาพุทธในอินเดียได้อย่างเข้มแข็งสุด
นับตั้งแต่ยุคต้นจนปัจจุบัน ผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ คือ ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ผู้ทำให้พุทธศาสนาฟื้นคืนในถิ่นอินเดีย
หลังจากถูกฮินดูพยายามกลืน
และมุสลิมคุกคามในช่วงหนึ่ง
การเดินทางสู่พุทธคยาใน พ.ศ. นี้ นับว่าสะดวกสบาย ทั้งถนนลาดยาง และที่พัก ณ วัดไทยพุทธคยาซึ่งสะอาดสะอ้านเป็นระเบียบ แตกต่างเป็นคนละโลกกับนอกกำแพงวัด ซึ่งมีชีวิตชีวามากด้วยสีสันของชีวิตชนบทอินเดีย
ความสะดวกสบายนี้
มีขึ้นเมื่อวัดไทยพุทธคยาเริ่มก่อสร้างในปีกึ่งพุทธกาล ๒๕๐๐
บันทึกของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เล่าถึงช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม อุปสมบทอยู่ ณ วัดไทยพุทธคยา ปีนั้นพระอุโบสถกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง ท่านผู้หญิงและธิดาได้ไปพำนักเพื่ออุปัฏฐากพระพิบูลสังคาโมตลอดระยะเวลาจำพรรษา คำบอกเล่าถึงชาวบ้านชวนให้เห็นธรรมชาติของผู้เป็นเจ้าของพื้นที่อย่างน่ารัก
|
|
|
|
ขณะที่โบสถ์กำลังก่อสร้าง "มีชาวอินเดียทั้งหญิงชายมาชมวัดไทย
ที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้นเป็นจำนวนร้อยเกือบทุกวัน... เมื่อพวกเขาเดินดูโบสถ์แล้ว ก็เลยมาดูอาคารทางฝ่ายฆราวาส แล้วก็ต่อไปทางกุฎีฝ่ายสงฆ์ ถ้าห้องใดเปิด เขาก็ถือวิสาสะเข้าไปในห้อง เปิดดูห้องน้ำซึ่งมีประจำอยู่ทุกห้อง พวกเขาเดินกันเป็นแถวผ่านเราซึ่งนั่งอยู่ หรือแม้แต่นอนอยู่บนเตียงนอนอย่างไม่สนใจว่ามีคนอยู่..."
ปี พ.ศ. ๒๕๐๙
เป็นปีที่มีการผูกพัทธสีมาวัดไทย
ในดินแดนต้นกำเนิดพระพุทธศาสนาแห่งนี้
ถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ทุกสิ่งแล้วเสร็จ
วัดไทยพุทธคยามีโบสถ์อันจำลองแบบมาจาก
พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ พระประธานจำลองแบบจากพระพุทธชินราช พิษณุโลก โดยที่หล่อทั้งองค์เป็นครั้งแรกของไทย มีเรือนพำนักสำหรับผู้แสวงบุญ วัดไทยพุทธคยาอยู่ในพื้นที่สัญญาเช่า ๙๙ ปีของรัฐบาลอินเดีย ไม่ไกลจากมณฑลศรีมหาโพธิ์ และไม่ห่างนักจากวัดพุทธชาติอื่น ๆ
ที่พุทธคยา นอกจากสมาคมมหาโพธิ์ของลังกาแล้ว ยังมีวัดพม่า ทิเบต จีน ที่มีมาแต่เดิม ปัจจุบันมีวัดเวียตนาม สิกขิม ภูฏาน เนปาล และญี่ปุ่น ทั้งหลายล้วนมีโครงสร้างรายละเอียดเชิงสถาปัตยกรรมเป็นรูปแบบเฉพาะตัว
ได้แวะเข้าไปเยี่ยมเยือน
ก็เหมือนได้เข้าถึงจิตวิญญาณส่วนหนึ่งของชนชาตินั้น ไม่ว่าจะงามสงบอย่างญี่ปุ่น หรือสวยด้วยสีสันอย่างภูฏาน ฯลฯ
บริเวณต้นศรีมหาโพธิอยู่ห่างวัดไทยไป ๔๐๐ เมตร เพียงเดินไม่เกิน ๑๕ นาที หรือ ๕ นาทีนั่งรถสามล้อถีบ เป็นพื้นที่อันน่าทึ่งในภาพชีวิตเคลื่อนไหวอยู่โดยรอบไม่น้อยไปกว่าองค์สถูป ภาพที่ได้เห็นนั้นปรุงแต่งอารมณ์ให้นึกคิดไปได้ต่าง ๆ นานา ทั้งสลดสังเวช ฉงนสงสัย และบางทีก็น่าขัน แต่ที่สุดแล้วก็ได้ข้อสรุปว่า นี่ก็ชีวิตเหมือนที่เราเป็น...เป็นสัตว์โลกที่เรียกมนุษย์
หญิงชราตาบอดผอมแห้งชูขันขอทานอยู่ตามรายทาง เด็กน้อยหัวกระเซิงที่วิ่งต้อนหน้าล้อมหลัง แบมือสะกิดขอสตางค์พลางเรียก "คุณแม่ ๆ" หรือไม่ก็ "มหารานี" ไม่ขาดปาก เด็กชายขาลีบยาวที่ยืนหรือเดินไม่ได้
พยายามเหวี่ยงขาพาตัวหมุนไปดักหน้าผู้มาแสวงบุญอย่างชำนาญ
และน่าอัศจรรย์ ...แน่นอน ไม่มีใครฝืนคำเตือนที่ว่า...อย่าได้ให้สตางค์ทีเดียว เพราะอาจทำให้เดินต่อไปไม่ได้ หรือไม่ก็อาจตกอยู่ในกลุ่มจลาจลย่อม ๆ
|
|
|
|
เมื่อเดินเปลือยเท้าเลี้ยวเข้าประตูไป วิหารพุทธคยาก็ปรากฏแก่สายตา พื้นที่กว้าง ๑๐๐ ไร่ตรงนี้เป็นแอ่งสี่เหลี่ยมต่ำกว่าถนนราว ๓-๔ เมตร พระวิหารองค์ประธานสูง ๑๗๐ ฟุต ทรงพีระมิดปลายตัด รองรับสถูปด้านบน มองคล้ายพระธาตุพนม หรือเจดีย์ที่พุกามของพม่า ซึ่งน่าจะส่งอิทธิพลถึงกันในฐานะประเทศผู้นำทางพุทธศาสนาในยุคก่อน และอยู่ในเส้นทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกมหาราช เดินลงบันไดที่มีพรมแดงปูลาดสู่องค์พระวิหาร แลไปโดยรอบเห็นสถูปเจดีย์ใหญ่น้อยที่ผู้มีศรัทธามาสร้างไว้ เพื่อเป็นพุทธบูชาและ "แก้บน" ฐานที่ได้จาริกรอนแรมมาถึงพุทธสถานแห่งนี้
ในวันที่เดินทางไปถึง มีพระทิเบตนับร้อยพากันมาสาธยายมนต์เต็มทั่วบริเวณ เสียงสวดพึมงึมงำต่ำลึก ยิ่งส่งให้บรรยากาศขรึมขลังอย่างน่าประหลาด นักบวชหนุ่มสาวและผู้ชรา บ้างนั่งสวดนับลูกประคำ บ้างกราบไหว้แบบอัษฎางคประดิษฐ์ โยนตัวไปข้างหน้า นอนคว่ำราบไปกับพื้น พนมมือเหนือหัว ทำเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าไปรอบ ๆ พระวิหาร ส่วนที่อยู่ด้านนอกก็กราบไหว้ด้วยลักษณาการเดียวกัน แต่กระทำบนแผ่นกระดานขนาดยาว มีหมอนก้อนกลมเล็ก ๆ อยู่ในสองฝ่ามือขณะไถไปบนกระดานนั้น
ชาวพุทธไทย พม่า ญี่ปุ่น ฝรั่งยุโรป ประกอบพิธีกรรมในรูปแบบแตกต่าง บ้างเดินจงกรม บ้างนั่งหลับตาทำสมาธิ บทสวดมนต์ "พุทธัง สรณัง คัจฉามิ...ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ...สังฆัง สรณัง คัจฉามิ" ของพม่า ลังกา ไทย พ้องเสียงกันอยู่ในท่วงทำนองที่แตกต่าง โดยมีเสียงพึมพำของลามะทิเบตดังคลอไปตลอด เสียงประสานนี้ฟังสม่ำเสมอ เนิ่นนานอย่างไม่รู้จบ ค่อย ๆ กล่อมจิตให้เข้าสู่สภาวะแห่งความนิ่งงันได้ไม่ยาก
ภายในพระวิหารพุทธคยาเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปกะไหล่ทอง
ปางมารวิชัย
สัญลักษณ์แห่งการเอาชนะหมู่มาร
ขณะอยู่ในกระบวนการตรัสรู้ ข้างในวิหารนั้นเล็กแคบ คุกเข่าเบียดกันสัก ๒๐ กว่าคนก็แน่น แต่ก็ไม่มีผู้ใดย่อท้อที่จะเข้าสู่ หลวงพ่อพุทธเมตตา เพื่อนมัสการให้ใกล้ชิดที่สุด การสวดมนต์ภาวนา ณ ใจกลางแห่งมณฑล ดูจะสร้างพลังแก่ผู้มีศรัทธาได้อย่างยิ่งยวด
|
|
|
|
ด้านหลังวิหารคือต้นศรีมหาโพธิ ในตำแหน่งที่กล่าวกันว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมโพธิญาณ เป็นมหาโพธิ์ต้นที่ ๔ นับแต่สมัยพุทธกาล ต้นใหญ่ขนาดสามสี่คนโอบ ดูอึดอัดที่ถูกล้อมด้วยแท่นซีเมนต์ขนาดขึ้นไปนั่งสวดมนต์ได้สัก ๒๐ กว่าคน และมีรั้วโปร่งกั้นรอบแท่น ยกพื้นซีเมนต์นี้เจตนาจะช่วยป้องกันมหาโพธิ์เอนล้มด้วยส่วนหนึ่ง ติดกันคือวัชรอาสน์ ในตำแหน่งที่ประทับขณะบรรลุธรรมขั้นสูงสุด
อาสนะนี้เป็นหินสกัด
ที่พระเจ้าอโศกมหาราชโปรดให้สร้างเป็นพุทธบูชา
มหาโพธิ์นี้เล่ากันว่าต้นแรกเป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า คือเกิดพร้อมกัน โดยผุดขึ้นมาจากผืนดิน ณ วันประสูติ เติบโตแผ่กิ่งก้านรอวันที่พระพุทธองค์จะมาตรัสรู้
จนเมื่อพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไป
และพระเจ้าอโศกทรงรับนับถือ ทรงออกทำนุบำรุงพระศาสนามากมายจนพระมเหสีไม่พอพระทัย ให้คนนำยาพิษและน้ำร้อนมารดจนต้นโพธิ์เหี่ยวเฉา พระเจ้าอโศกเสียพระทัยมากและได้ให้ปลูกขึ้นใหม่ รดด้วยน้ำนมโคถึงร้อยหม้อเพื่อบำรุง นับเป็นต้นที่ ๒
ต่อมา มหาราชาฮินดูองค์หนึ่งมีบัญชาให้ตัดอีก แต่ก็ไม่สิ้นซาก มหาโพธิ์กลับงอกขึ้นใหม่ เป็นต้นที่ ๓
เมื่อเซอร์ คันนิงแฮม นักโบราณคดีชาวอังกฤษมาพบในช่วงมหาโพธิ์ล้มลง จึงให้ปลูกอีกครั้ง เป็นต้นที่ ๔--ต้นปัจจุบัน ทั้งให้ปลูกอีกต้นหนึ่งทางทิศเหนือห่างไป ๒๕๐ ฟุต
สาขาของต้นศรีมหาโพธิได้ไปงอกงาม
เป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทย
ไม่ไกลจากพุทธคยาและต้นศรีมหาโพธิ์ เป็นทำเลแห่งการเข้าถึงพุทธประวัติอย่างดี คือเส้นทางริมแม่น้ำเนรัญชลาทั้งสองฝั่ง
ในหน้าแล้งไม่ว่าจะร้อนหรือหนาว
จะเห็นเป็นพื้นทรายขาวกว้างไกล อีกฝั่งหนึ่งของเนรัญชลาตรงข้ามพุทธคยา นักแสวงบุญมักเดินเท้าผ่านหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เหมือนกับวิถีชีวิตไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่ออดีตกาลนัก...
|
|
|
|
เมื่อครั้งพุทธกาล หลังจากพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรเนิ่นนานหกปี วันหนึ่งทรงมาถึงที่อันสงบเจริญใจสวยงามเจริญตา ณ ริมน้ำเนรัญชลา ในเขตตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแห่งนี้ ได้ประทับนั่งใต้ร่มโพธิ์หันหน้าสู่เนรัญชลานที มีฟ่อนหญ้าที่โสตถิยพราหมณ์ถวายปูรองนั่ง หลังจากที่ได้อธิฐานจิต ลอยถาดทองที่นางสุชาดาถวายมาพร้อมข้าวมธุปายาส ว่าหากพระองค์จะตรัสรู้แล้ว ขอถาดทองจงลอยทวนน้ำ
สิ้นคำอธิษฐาน ถาดทองคำก็ลอยทวนน้ำให้ปรากฏ ก่อนจะวนและจมลงสู่บาดาล จากนั้นจึงทรงเข้าสู่สมาธิจิต ในคืนเพ็ญเดือนวิสาขะนั้นเอง เมื่อสภาพกายและใจปลอดโปร่ง ก็ทรงตรัสรู้ อริยสัจ ๔ อมตธรรมอันสืบทอดผ่านกาลเวลานับพันปีมาจนปัจจุบัน
หมู่บ้านริมแม่น้ำเนรัญชลาปัจจุบัน ดูสงบงามในแดดยามบ่าย
ภาพที่เกิดขึ้นเสมอคือ
ภิกษุไทยเดินนำฆราวาสไต่ไปตามคันนา ผ่านฝูงวัวอย่างใกล้ชิด ผ่านกระท่อมหลังเล็กที่มีขี้วัวปั้นกลมแบนตากแห้งเรียงรายไว้เป็นเชื้อเพลิง มองเห็นหญิงชาวไร่ในชุดส่าหรีหลากสี เก็บผักหญ้าใส่ชายผ้าเป็นกำโต
ผ่านฝูงเด็กที่ต้อนหน้าล้อมหลังขอสตางค์เป็นที่สนุกสนาน
กับการได้ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวร้องขอมากกว่าการได้รับ
ผ่านศาสนสถานฮินดู
ที่สร้างคร่อมทับพุทธสถาน
ด้วยความเชื่อว่าคือที่สำคัญของฮินดูด้วยเช่นกัน
พุทธคยาและอาณาบริเวณโดยรอบ เป็นสถานที่เรียนรู้ชีวิตและก่อเกิดความคิดคำนึงได้ต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะบริเวณมณฑลศรีมหาโพธิในคืนพระจันทร์เต็มดวง เมื่อนักบวชพุทธศาสนานานาชาติ ผู้แสวงบุญ ผู้แสวงหา พากันไปประกอบพิธีกรรมเพื่อเข้าสู่ความสงบนิ่งแห่งจิตใจ ท่ามกลางไฟราวดวงนิด ๆ และแสงเทียนวับแวมรอบบริเวณ โดยมีเสียงสวดคลอแผ่ว ๆ
ทำให้บางคนถึงกับยกให้พุทธคยา
เป็นสถานที่โรแมนติกที่สุดในการเดินทางครั้งนี้
|
|
|
|
สถานที่แสดงปฐมเทศนา
ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สารนาถ อินเดีย
|
|
|
|
เมื่อตรัสรู้ในสิ่งที่ทรงทราบว่ายากแก่การเข้าใจ แต่จะนำมาซึ่งการหลุดพ้น และได้เสวยวิมุติสุข อิ่มเอมกับสัจธรรมที่ทรงค้นพบอยู่นานเจ็ดสัปดาห์ที่พุทธคยาแล้ว
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นศาสดาของศาสนาใหม่
อันมีแนวคิดแตกต่างจากความเชื่อ
และวิถีชีวิตโดยทั่วไปของชาวฮินดู ก็ทรงตั้งพระทัยจะประกาศศาสนา ทรงนึกถึงพระดาบส ครูสองคนแรกซึ่งสิ้นชีวิตแล้ว
กับปัญจวัคคีย์พราหมณ์ที่เคยปรนนิบัติ
และทิ้งไปเมื่อเห็นพระองค์หยุดบำเพ็ญทุกรกิริยา จึงเริ่มออกเดินทางจากตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พุทธคยา มีจุดหมายปลายทางคือเมืองสารนาถ ที่ห่างไกลออกไป ๒๕๐ กิโลเมตร
สารนาถนั้นเป็นชนบทอันสงบเงียบชานเมืองพาราณสี ศูนย์กลางของศาสนาฮินดู แม่น้ำคงคาจากสรวงสรรค์เมื่อถึงจุดผ่านเมืองพาราณสี ถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ผู้คนนับล้านจากทั่วถิ่นอินเดียเดินทางมาประกอบพิธีกรรม ณ ริมคงคา ดังปรากฏเป็นสารคดีแพร่หลาย พาราณสียังเป็นแหล่งรวมความรู้แนวคิดของเจ้าลัทธิ นักบวชนักพรตจำนวนมาก เมื่อค้นพบสิ่งใดใหม่ก็นำมาประกาศ ประลองความรู้กันที่ชานเมืองบริเวณป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นป่าโปร่งมีฝูงกวางอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
เมื่อทรงพบปัญจวัคคีย์อีกครั้ง พราหมณ์ทั้งห้าปฏิเสธที่จะรับนับถือพระองค์ แต่เมื่อได้ฟังธรรม พราหมณ์โกณทัญญะก็มีดวงตาเห็นธรรม เข้าใจในสิ่งที่พุทธศาสดาทรงบอกกล่าว
เกิดความเลื่อมใส
และได้บวชเป็นภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา ณ วันเพ็ญเดือน ๘ อาสาฬหะ
ธรรมะอันทรงแสดงเป็นปฐมเทศนา คือ ธรรมจักรกัปวัตนสูตร คือพระสูตรที่แสดงดั่งการหมุนกงล้อคือพระธรรม เมื่อหมุนไปทางใดก็จะขจัดอวิชชาออกจากจิตใจ เกิดเป็นความสว่างไสวในชีวิต
ข้อใหญ่ใจความของคำเทศนาครั้งแรกนี้
ทรงกล่าวถึงที่สุดสองสิ่ง
ซึ่งบรรพชิตไม่ควรปฏิบัติ
คือหมกมุ่นอยู่ในความสุขของผู้แสวงกาม
หรือทรมานตนอย่างทารุณ แต่ควรเดินทางสายกลาง หรือมรรค ๘ จากนั้นทรงกล่าวถึงอริยสัจ ๔ และสัจธรรมที่ว่า เมื่อมีการเกิดก็ย่อมมีดับเป็นธรรมดาโลก
|
|
|
|
สารนาถเมื่อ ๔๐ ปีก่อน
ยังมีผู้ได้เห็นกระต่าย
และกวางยืนเล็มลูกไม้หากินในบริเวณป่า แต่ปัจจุบันไม่ปรากฏเช่นนั้นแล้ว คงเห็นแต่ ธัมเมกขสถูป สูง ๑๕๐ ฟุต โดดเด่นอยู่ท่ามกลางโบราณสถาน เสาหิน วิหาร คันธกุฎี
ที่แสดงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา
ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
ก่อนจะถูกกองทัพมุสลิมเติร์กบุกทำลาย
ในยุคกลางของอินเดีย
อันเป็นช่วงเวลาที่พุทธสถานหลายแห่ง
เปลี่ยนสภาพเป็นซากปรักหักพัง โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ นาลันทา ที่หลวงจีนถังซัมจั๋งเคยมาศึกษา เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่กว่าออกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ หรือมหาวิทยาลัยปารีส ก็ถูกเผาทำลายพร้อมตำราเรียนทั้งพระเวท ตำราแพทย์ เลขคณิต เวทมนตร์ ปรัชญา ตรรกวิทยา อักษรศาสตร์
เหลือเพียงซากโบราณสถาน
ให้ชาวอังกฤษได้เข้าบูรณะในยุคที่อินเดียเป็นอาณานิคม
ในปี พ.ศ. ๒๓๔๐
เศรษฐีเจ้าของตลาดในพาราณสี
ได้นำอิฐจากวิหารในบริเวณธัมเมกขสถูปไปสร้างตลาด
พร้อมกับนำพระบรมสารีริกธาตุ
ที่พระเจ้าอโศกบรรจุไว้ในเจดีย์ ไปลอยคงคาเพื่อพระพุทธเจ้าจะได้ขึ้นสวรรค์ตามคติความเชื่อของฮินดู
นอกจากธัมเมกขสถูป ที่นี่ยังมีเสาหินพระเจ้าอโศกในลูกกรงล้อมรอบ ส่วนหัวของเสาหินซึ่งเป็นรูปราชสีห์ถูกทำลายโค่นลง รัฐบาลอินเดียนำไปเก็บไว้ที่ พิพิธภัณฑ์สารนาถ ที่อยู่ใกล้ ๆ กันนั้นเอง รูปสิงห์จากหัวเสาพระเจ้าอโศกนี้
ภายหลังรัฐบาลอินเดีย
ได้นำไปเป็นต้นแบบตราแผ่นดิน
และใช้มาจนปัจจุบัน นอกจากหัวเสาพระเจ้าอโศก
พิพิธภัณฑ์สารนาถยังเป็นที่รวมชิ้นงานประวัติศาสตร์
อันเกี่ยวกับพุทธศาสนาในช่วงต่าง ๆ
หินสลักรูปธรรมจักรกับกวางหมอบเหลียวหลัง คือสิ่งแทนพระธรรมเทศนาครั้งแรก อันหมายถึงกงล้อพระธรรมที่จะหมุนไปไม่สิ้นสุด เพื่อขจัดอวิชชาหรือความไม่รู้ในมนุษย์
ส่วนกวางนั้นบอกเล่าถึงสถานที่
ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อยู่ของมฤคะคือฝูงกวาง ในป่าอิสิปตนะ ธรรมจักรยังเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ และกรมการศาสนาในอดีต
|
|
|
|
ศิลปวัตถุอีกชิ้นหนึ่งคือพระพุทธรูปหินทรายปางสารนาถ หรือปางเทศนา ประติมากรรมชั้นเยี่ยมของอินเดีย ทั้งลีลาและอารมณ์แห่งพระพักตร์ และเส้นสายของนิ้วโป้งที่แตะนิ้วกลางเพื่อสื่อนัยยะแห่งทางสายกลาง ข้อธรรมที่ทรงแสดงเป็นปฐมเทศนา
ทุกวันนี้ สารนาถยังคงเป็นจุดหมายของชาวพุทธทั่วโลก และชาวอินเดียทั่วประเทศ
ที่เดินทางมาเพื่อระลึกถึงพุทธศาสดา
และคำประกาศศาสนาที่ทรงค้นพบ ข้อธรรมหรือพระสูตรจำนวนมากที่ทรงแสดง เริ่มต้นที่นี่
ก่อนที่พระพุทธองค์จะย้อนกลับไปที่อุรุเวลาเสนานิคม
เพื่อแสดงธรรมที่ทรงประกาศแล้ว มีผู้เข้าใจ เห็นด้วย และเป็นพุทธสาวกแล้ว ๖๐ รูป ซึ่งจะแยกย้ายกันไปตามชนบทประเทศ
พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลานับแต่ตรัสรู้ แสดงธรรมแก่ชนโดยไม่เลือกวรรณะ รวมถึงนักบวชต่างลัทธิจำนวนมาก เช่นปริพาชก หรือพี่น้องชฎิลที่พาสาวกมานับพัน และในระหว่างที่ออกจาริกแสดงธรรม ณ คืนเพ็ญเดือน ๓ มาฆะ อันเป็นวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์ เรียกกันว่า ศิวาราตรี ที่พราหมณ์จะทำพิธีลอยบาป
ชฎิลและปริพาชก
ซึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์
และเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน ต่างคิดโดยมิได้นัดหมายว่า พระพุทธเจ้าน่าจะแสดงธรรมในวันนี้ จึงพากันไปเข้าเฝ้า โดยภิกษุ ๑,๒๕๐ รูปที่มาเฝ้านี้เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทาที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ ทำดี ละเว้นชั่ว และทำจิตใจให้ผ่องใส ในคืนเพ็ญเดือนมาฆะนี้เอง
การเผยแผ่ศาสนาของพระพุทธศาสดา ดำเนินไปจนถึงพรรษาที่ ๘๐ แห่งพระชนมายุ จึงเสด็จดับขันธปรินิพพานในเมืองเล็ก ๆ ชื่อกุสินารา
|
|
|
|
สถานที่ปรินิพพาน
สาละวโนทยาน กุสินารา อินเดีย
|
|
|
|
ระหว่างทางสู่กุสินารา จะผ่านชุมทางโครักปูร์เมืองแขกโคนม แขกยามในเมืองไทยสมัยก่อนมักมาจากที่นี่ และในสมัยรัชกาลที่ ๕ รัฐบาลอังกฤษได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุที่โครักปูร์
พระพุทธเจ้าหลวงทรงรับมา
แล้วโปรดให้แบ่งไปประดิษฐาน ณ เจดีย์ภูเขาทอง และเจดีย์เกาะลอยปากน้ำเจ้าพระยา ชุมทางโครักปูร์มีสินค้าสารพัดที่ชาวกุสินาราจะมาจับจ่ายซื้อหา มีรถประจำทางสายหลักจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร จากโครักปูร์ผ่านดงสาละไปไม่นานก็ถึงกุสินารา
สังเวชนียสถานนี้ดูจะเป็นชนบทเล็ก ๆ ที่เศร้าสร้อยกว่าทุกแห่งที่ผ่านมา อาจเพราะได้เดินทางมาถึงในยามโพล้เพล้ อากาศเย็นเยียบ ถนนสายชนบทนั้นยิ่งเงียบงัน มองเห็นเงาตะคุ่มของวัวเดินอยู่อย่างเชื่องช้า
เมื่อครั้งพุทธกาล
หลังจากเสด็จดำเนินโดยพระบาท
เพื่อประกาศพระศาสนา
ในบ้านเล็กเมืองน้อยนานถึง ๔๕ ปี ชี้ทางสว่างและบอกเล่าพระธรรมวินัยจนหมดจดแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงเริ่มประชวรในช่วงพระชนมายุ ๘๐ วันหนึ่ง ณ ปาวาลเจดีย์ ภายหลังออกรับบิณฑบาตและเสวยแล้ว ก็ทรงตั้งพระสติสัมปชัญญะปลงพระชนมายุสังขาร
กำหนดจิตว่า
อีกสามเดือนนับแต่นี้จะเสด็จปรินิพพานในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ
ในช่วงท้ายแห่งพระชนม์ชีพ พระพุทธองค์ยังทรงเทศนาโปรดสัตว์โลกตามแต่พระกำลังจะอำนวย วันหนึ่งได้ประทับแรม ณ สวนมะม่วงของนายจุนทะ ผู้ถวายภัตตาหารประเภทเห็ดที่เรียกสูกรมัทวะ จากนั้นพระโรคก็กำเริบอย่างทารุณอีกครั้ง แต่ยังทรงพระดำเนินต่อไป จนเมื่อถึงสาละวโนทยานชานเมืองกุสินารา ก็ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ รับสั่งให้พระอานนท์สาวกปูลาดผ้าลงระหว่างต้นสาละคู่ แล้วประทับนอนผินศีรษะไปทางทิศเหนือในลักษณะสีหไสยาสน์
พระอานนท์ผู้ปรนนิบัติรับใช้ใกล้ชิดมาโดยตลอด
เห็นพระพุทธองค์อ่อนแรงเต็มที
ีถึงกับปลีกตนออกไปร้องไห้
โอวาทครั้งสุดท้ายที่ทรงแสดงแก่คณะสงฆ์ขณะประชวรหนัก ว่าด้วยเรื่องของสังขารอันมีความเสื่อมเป็นธรรมดา "ท่านทั้งหลายจงทำความรอดพ้นให้บริบูรณ์ถึงที่สุดด้วยความไม่ประมาทเถิด"
|
|
|
|
ที่สาละวโนทยาน เคยเป็นป่าต้นสาละเมื่อครั้งพุทธกาล มีบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนว่าโบราณสถานแห่งนี้ก็ถูกทำลายไม่ต่างจากพุทธสถานอื่น ๆ มีการขุดพบกระดูกมนุษย์กระจัดกระจาย แสดงถึงการสิ้นชีพอย่างไม่ธรรมดา ปัจจุบันรัฐบาลจัดเป็นสวนพฤกษศาสตร์ มีวิหารที่ก่อสร้างอย่างเรียบง่ายอายุ ๑,๕๐๐ ปี ผลงานบูรณะของพุทธศาสนิกชาวลังกา พม่า และทิเบต ภายในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายปางไสยาสน์ยาว ๒๐ ฟุต พระพักตร์สงบนิ่ง พระเศียรหันไปทางทิศเหนือ ปลายพุทธบาทมีรูปสุภัททะ สาวกที่บวชเฉพาะพระพักตร์เป็นองค์สุดท้าย พระอนิรุทธผู้เข้าฌานติดตามดูพระพุทธองค์ขณะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน และพระอานนท์ อุปัฏฐากผู้ใกล้ชิด
มีชาวฮินดู และพุทธจีน ไทย ทิเบต มากราบไหว้บูชาตามลักษณาการของชาติตน ฮินดูก้มสัมผัสพระบาทแล้วยกมือแตะหน้าผากแสดงคารวะสูงสุด จีนพนมมือไหว้ปลก ๆ ไทยกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ขณะพระทิเบตใช้ท่าอัษฎางคประดิษฐ์โยนตัวไปข้างหน้า น่าดูไม่น้อยไปกว่ากัน
ไม่ไกลจากสาละวโนทยาน คือ มกุฎพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิง มองเห็นเป็นโนนสูงราวตึกสี่ห้าชั้น เคยมีนักขุดสมบัติเจาะลึกลงไปพบกองขี้เถ้าและรอยดินไหม้ไฟ จึงเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ถวายพระเพลิง พระพุทธประวัติบันทึกไว้ว่า พระพุทธสรีระขณะถวายพระเพลิงนั้นห่อหุ้มด้วยผ้าสลับสำลี ๕๐๐ ชั้น วางในรางเหล็กประกบทับกัน ราดน้ำมัน (เนย) และเผาด้วยไม้จันทน์หอม เมื่อถวายพระเพลิงแล้ว
พระอังคารและพระบรมสารีริกธาตุ
ได้ถูกแจกจ่ายไปยังกษัตริย์เก้านครของอินเดีย ส่วนทะนานทองที่ใช้ตวงพระธาตุนั้น โทณพราหมณ์ผู้ทำหน้าที่ตวงได้รับมอบไป
|
|
|
|
กุสินาราวันนี้ มีวัดไทยเช่นเดียวกับพุทธคยา คือ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ
เมื่อฤดูร้อนปี พ.ศ. ๒๕๔๔ พระอุโบสถนี้ ผู้ออกแบบคือศิลปินแห่งชาติ ภิญโญ สุวรรณคีรี ทั้งยังมีที่พำนักแสวงบุญซึ่งสวยงามสะอาดโอ่โถง เป็นผลงานสถาปนิกหญิงชาวไทย
หน้าวัดไทยกุสินาราฯ เปิดเป็นคลินิกบริการสาธารณะ สะอาด เป็นระบบ มีระเบียบ รักษาและจ่ายยาฟรีแก่ชุมชน มีนายแพทย์ปริญญาโทชาวอินเดีย บ้านอยู่ละแวกใกล้วัด มานั่งประจำ เงินทุนดำเนินการคลินิกนี้ได้จากการบริจาค ขณะนี้มีคนไข้ตามรายชื่อในโอพีดีการ์ดนับหมื่นแล้ว โดยที่ส่วนใหญ่เป็นโรคทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ
อินเดียถือเป็นประเทศที่มียาดีจำนวนมาก เพราะพื้นที่อุดมด้วยสมุนไพรและภูมิปัญญา ยาหลายชนิดส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและกลับมาอีกครั้งในรูปแบบใหม่ ผ่านกระบวนการหีบห่อ การตลาด ราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว แต่ที่คลินิกวัดไทยกุสินารายังคงเปิดรักษาฟรีแก่ชุมชน เป็นพุทธบูชาในดินแดนกำเนิดแห่งพระบรมศาสดา
การเดินทางสู่สังเวชนียสถานทั้งสี่ซึ่งแต่ละแห่งอยู่ห่างกันนับร้อยกิโลเมตร นับแต่สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน ทำให้เห็นภาพพระวิริยะอุตสาหะของพระศาสดา ที่มีเจตนาแน่วแน่ที่จะทรงบอกเล่าถึง "ความรู้ใหม่" ที่ทรงค้นพบ เป็นความรู้ที่ยืนยงมาจน ๒๕๔๖ ปีให้หลัง วันนี้หลายคนตระหนักแล้วว่า พุทธศาสนาจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้โลกรอดพ้นจากความวุ่นวาย แต่คนจำนวนมากกว่ายังมาไม่ถึงวิถีอันพระพุทธองค์ทรงกรุยทางไว้ให้ ยังคงเดินทางโดยมืดบอดต่อไปอย่างไร้ทิศ
|
|