นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๒ เดือนสิงหาคม  ๒๕๔๖ "นกแต้วแล้วท้องดำ บนเส้นทางแห่งการสูญพันธุ์ ?"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

จากบรรณาธิการ

 

 (คลิกดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า
ตามพ่อค้าไทย ไปขุดพลอยแทนซาเนีย

     ผมมีนัดกับนกแต้วแล้วท้องดำ ที่เขานอจู้จี้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เมื่อต้นฤดูฝนที่ผ่านมา เผอิญไม่มีอีเมลส่วนตัวคุยกัน จึงต้องดิ่งรถและเดินป่า ไปแอบเฝ้าเจ้านกเดินดินตัวนี้
     เราขับรถออกจากกรุงเทพฯ แต่เช้า ระยะทางจากกรุงเทพฯ-กระบี่ ประมาณ ๘๐๐ กว่ากิโลเมตร เราคาดว่าน่าจะไปถึงป่าเขานอจู้จี้พลบค่ำพอดี
     แต่พอขับผ่านบางสะพานน้อยไปได้ไม่ไกล เจ้านิสสัน เทอร์ราโน รถโฟร์วีลที่รับใช้ทีมงานสารคดี ตระเวนไปทั่วเมืองไทย ระยะทางไม่น้อยกว่าสามแสนกิโลเมตร ก็เริ่มออกอาการ
     รถเทอร์ราโนที่วิ่งเหยียดมาด้วยความเร็ว ๑๒๐ กม./ชม. กลับหมดแรงเอาเฉย ๆ อัตราการเร่งลดลงเหลือเพียง ๖๐ กม./ชม. แถมมีควันดำออกมาตลอดทางที่เร่งเครื่องยนต์
     คุณกอล์ฟคนขับคู่ใจเอารถจอดข้างทางเพื่อตรวจอาการ สงสัยว่าเครื่องเทอร์โบอาจจะไม่ทำงานทำให้แรงของรถตกทันที
     คุณกอล์ฟพยายามประคองรถต่อไปจนถึงอู่ซ่อมรถแห่งหนึ่งใกล้ตัวอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
     เป็นไปตามที่คาด ช่างเครื่องพบว่าเครื่องเทอร์โบเสีย ทำให้แรงตกและการเผาไหม้ของน้ำมันไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ แต่แถวนี้ไม่มีอะไหล่ คงต้องรออะไหล่จากกรุงเทพฯ หรือไม่ก็ให้รถยกเข้ากรุงเทพฯไปเลย
     ผมถามว่าหากเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นและพอให้ขับรถไปได้ ควรจะทำอย่างไร
     ช่างแนะนำให้ถอดเอาเครื่องเทอร์โบออก แล้วเปลี่ยนเป็นท่อเฮดเดอร์แทน ซึ่งพอช่วยทำให้เครื่องยนต์มีแรงขึ้นมาบ้าง
     ไม่มีทางเลือก ผมตอบตกลง แม้จะหวั่นใจว่า คงถูกอู่ต่างจังหวัดฟันราคา ตามที่เป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ แต่ผมกลับแปลกใจช่างเครื่องตีราคาแบบชาวบ้าน เป็นราคาถูกมากหาไม่ได้ในอู่เมืองกรุง และรับปากว่าเสียเวลาเปลี่ยนเครื่องไม่ถึงชั่วโมง
     อู่แห่งนี้มีช่างเพียงคนเดียวและมีลูกมือช่วยอีกสามสี่คน เขายอมรับว่า ไม่เคยเปลี่ยนเครื่องเทอร์โบและดัดแปลงเป็นท่อเฮดเดอร์มาก่อน แต่เราไม่มีทางเลือก
     ชั่วโมงหนึ่งผ่านไป เครื่องเทอร์โบถูกถอดออกมาจากรถ ช่างเครื่องกำลังศึกษาว่าจะประกอบ และดัดแปลงท่อเฮดเดอร์ให้เข้ากับเครื่องยนต์ในรถได้อย่างไร
     สองชั่วโมงผ่านไป ยังไม่มีอะไรคืบหน้า อู่แห่งนี้มีรถเสียเข้ามาใช้บริการตลอดเกือบทุกๆ ครึ่งชั่วโมง และส่วนใหญ่เป็นรถชาวบ้าน ช่างเครื่องคนเดียวต้องทิ้งรถของเรา ไปคอยดูแลแก้ไขซ่อมแซมรถเสียทุกคัน แถมยังต้องเก็บเงินเอง วิ่งไปเขียนใบเสร็จเอง 
     สามชั่วโมงผ่านไปพวกเราบางคนเริ่มหงุดหงิดว่าเมื่อไรรถจะซ่อมเสร็จเสียที แต่พอเห็นใบหน้าเปื้อนยิ้มของช่างเครื่องอารมณ์ดี ก็โกรธไม่ลง เขาดูแลซ่อมเครื่องของลูกค้าทุกคนเต็มที่ 

       รถของใครเสียแล่นเข้ามา เขาจะทิ้งรถที่ซ่อมอยู่ไปดูแลถามไถ่อาการของผู้มาใหม่เสมอ 
     ช่างเครื่องคนนี้ไม่รู้จักคำว่า ลำดับก่อนหลัง ตามหลักของการจัดการ
     แต่สิ่งที่เขามีคือ น้ำใจ ต่อคนแปลกหน้าที่เดือดร้อนเข้ามาหาเขา ส่วนค่าบริการไม่ใช่เรื่องใหญ่ คิดราคาแบบชาวบ้าน ไม่มีเกณฑ์ตายตัว
     จากความหงุดหงิด เราเริ่มเปลี่ยนมุมมองจากคนเมืองที่มีแต่ความเร่งรีบ
     มารู้จักการรอคอย เริ่มใจเย็น และพยายามเข้าใจชีวิตของช่างเครื่องบ้านนอกคนนี้
     รอไปนาน ๆ ลูกค้าหลายคนกลายเป็นลูกมือช่างเครื่องอย่างสมัครใจ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ บางคนช่วยแบกท่อแป๊ปมาตัดท่อ บางคนช่วยอ๊อกเหล็ก จนเนื้อตัวมอมแมม พอมืดค่ำลง ก็กุลีกุจอเอาไฟฉายมาส่องสว่างให้
     ห้าชั่วโมงผ่านไปมีรถปิกอัพคันหนึ่งบรรทุกผู้โดยสารร่วมยี่สิบคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กและคนชรา แล่นฝ่าความมืดเข้ามาขอความช่วยเหลือ โชเฟอร์บอกว่าสงสัยลูกปืนรถล้อหน้าแตก
     เขาบอกว่าขับรถมาจากนครศรีธรรมราชต้องรีบเดินทางไปให้ถึงเมืองกาญจน์ให้ทันคืนนี้ ดังนั้นช่างเครื่องและลูกมือจึงกลับมาเปลี่ยนลูกปืนของรถคันนั้นให้เสร็จก่อน เมื่อรู้ถึงความจำเป็น
     สองทุ่มตรงรถเทอร์ราโนติดท่อเฮดเดอร์ก็สำแดงพลังออกมา ทั้งช่างเครื่องและลูกมือจำเป็นต่างมีรอยยิ้มในความสำเร็จที่ร่วมด้วยช่วยกัน แม้แรงของเครื่องยนต์จะไม่หนักแน่น และทรงพลังเท่าเครื่องเทอร์โบ แต่สุดท้ายก็พาเราเดินทางไปสู่จุดหมายและกลับกรุงเทพฯได้สำเร็จ
     วันนั้นเราเสียเวลาหกชั่วโมง และค่าซ่อมรถเพียงสองพันบาท
     แต่เป็นการเสียเวลาที่สนุกจริง ๆ เพียงแค่เปลี่ยนมุมมอง จากการรอคอยอย่างน่าเบื่อ มาเป็นการเรียนรู้ชีวิตของคนตัวเล็ก ๆ รอบตัว

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com