นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๒ เดือนสิงหาคม  ๒๕๔๖ "นกแต้วแล้วท้องดำ บนเส้นทางแห่งการสูญพันธุ์ ?"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

สวนส้ม คน ป่า ในรอยธรรมของพระอธิการเอนก จนทปญฺโญ

  เรื่อง : เกษร สิทธิหนิ้ว / ภาพ : ประเวชน์ ตันตราภิรมย์
(คลิกดูภาพใหญ่) "มองไม่เห็นอะไรเลย"
      ช่างภาพเปรยเบา ๆ ขณะก้าวลงจากรถ สายมากแล้ว เมืองฝางยังคงซ่อนตัวในม่านหมอกขาวโพลน ราวกับไม่อยากเปิดเผยตัวตนแก่คนภายนอก ถึงอย่างนั้นเมื่อมองออกไปไกล ๆ ก็ยังแลเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนเรียงตัวเป็นขอบกระทะโอบกอดที่ราบลุ่มฝางเอาไว้ 
      "หน้าหนาวหรอก ถึงไม่รู้สึกอะไร ลองมาช่วงมีนา-เมษาสิ จะได้เห็นว่าเมืองฝางมีหมอกหน้าร้อน ...คนงานในสวนตายไปหลายคนแล้ว"
      เสียงบอกเล่าพร้อมรอยยิ้มหยันของชายชราคนนำทาง ทำให้บรรยากาศที่อึมครึมอยู่แล้วยิ่งเงียบงันไป ไม่มีใครพูดอะไรกันอีก
      ยิ่งสายยิ่งเห็นอะไรถนัดตา แสงแดดจัดจ้าที่รุกไล่สายหมอกเผยให้เห็นที่ราบลุ่มฝางที่อยู่เบื้องล่าง... ไม่เพียงเรือกสวนไร่นาและบ้านเรือนที่ปลูกสร้างเรียงราย หากที่เด่นชัด คือไม้ทรงพุ่มซึ่งยืนต้นเป็นแถวเป็นแนวสะดุดตา บางแถบกินอาณาบริเวณกว้างขวาง ติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ และมีไม่น้อยที่แทรกตัวลึกเข้าไปในราวป่า -- สวนส้มครองพื้นที่มากมายขนาดนี้ ปัญหาที่พวกเขาเล่าให้ฟังก็ไม่น่าจะเกินจริงนัก 
      "เห็นลำห้วยรึเปล่า ?" อีกคนที่มาด้วยกันชี้ให้ดูทางน้ำอันลดเลี้ยวของลำห้วยแม่หลักหมื่น ที่ไหลจากยอดดอยสู่ที่ราบลุ่ม ผืนป่ากว้างที่เป็นฉากหลังของลำห้วยดูเขียวชอุ่มชุ่มเย็น ร่องเขารกครึ้มไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ -- ผิดตากับเรือกสวนเป็นแถวเป็นแนวเบื้องล่าง แทบไม่น่าเชื่อว่าผืนป่ากว้างใหญ่รวมถึงลำธารสายเล็ก ๆ ที่เห็นนั้น เพิ่งฟื้นตัวเมื่อไม่นานมานี้ 
      สำหรับคนนอก เรื่องราวการฟื้นคืนชีวิตของผืนป่าแห่งลุ่มน้ำฝาง ที่ชาวบ้านรู้จักกันในชื่อ "ป่าเวียงด้ง" หรือ "ดงแม่หลักหมื่น" อาจไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญถึงกับต้องจดจำ แต่กับผู้คนลุ่มน้ำฝางทั้งสามอำเภอ ที่ใช้ชีวิต หาอยู่หากินอยู่กับผืนป่า การอยู่รอดของป่าเวียงด้ง และการกลับมาของสายน้ำที่เป็นเหมือนต้นธารชีวิต เป็นเรื่องที่ไม่อาจลืม
(คลิกดูภาพใหญ่)       "ไม่มีท่าน ป่านนี้คงไม่เหลืออะไรแล้ว" เสียงชายชราเปรยมาอีกครั้ง "ท่าน" ที่เขาเอ่ยถึง คือพระสงฆ์วัย ๔๓ ปี ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงนำชาวบ้านพลิกฟื้นผืนป่าแห้งแล้งเกือบหมื่นไร่ ให้กลับคืนสู่สภาพป่าต้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์ 
      ๑๑ ปีที่ผ่านมา ป่าที่เคยเสื่อมโทรม แห้งแล้ง ค่อย ๆ ฟื้นคืนสู่ความเขียวชอุ่มอีกครั้ง พร้อม ๆ กับจิตสำนึกในการอนุรักษ์ที่ค่อย ๆ งอกงามขึ้นในหัวใจของผู้คนที่อิงอาศัยอยู่รอบผืนป่า โดยมีภิกษุรูปนั้นเป็นหลักยึดโยงศรัทธา ...ดูราวกับว่าภัยร้ายที่เคยรุกรานทำลายผืนป่า จะถูกขจัดปัดเป่าออกไป
      น่าเสียดายที่ในวันเวลาเช่นนั้น ไม่มีใครสักคนที่จะเฉลียวใจว่า ช่วงเวลาเดียวกันกับการเริ่มต้นงานอนุรักษ์ฟื้นฟูผืนป่า ที่เคยเสื่อมโทรมจากการบุกรุกทำลายป่าในรูปแบบเดิม ๆ ภัยร้ายอีกตัวได้คืบคลานเข้ามาอย่างเงียบ ๆ ก่อนจะกระจายตัวเข้าครอบคลุม ยึดครอง ซอกเซาะไปตามหมู่บ้าน ชุมชน และราวป่า 
      กว่าที่จะรู้ตัว มันก็หยัดรากลงลึกอย่างยากจะถอน...
      หมอกจางไปหมดแล้ว ที่เห็นเด่นชัดตอนนี้ คือแถวแนวตัดตรงเป็นระเบียบของไม้พุ่ม ที่กินอาณาบริเวณกว้างขวางอยู่ในหุบเบื้องล่าง 
      เวลา ๑๑ ปีที่พ้นผ่าน กับงานกอบกู้ผืนป่าและแหล่งน้ำ ดูราวกับจะย้อนถอยไปยังจุดเริ่มต้นอีกครั้ง -- จุดเริ่มต้นที่มีพระธรรมดา ๆ รูปหนึ่ง กับชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ ที่เป็นหลักยึดโยงใจแก่กัน ผิดกันแต่ว่า นี่เป็นการต่อสู้ครั้งใหม่ ที่เดิมพันอาจไม่ใช่เพียงผืนป่าและสายน้ำ หากหมายถึงชีวิตและความอยู่รอดของพวกเขา
      ในวันเวลาเช่นนี้ พระภิกษุธรรมดา ๆ รูปนั้นอาจเป็นเพียงแสงไฟดวงเดียวที่ส่องนำทาง
      "ไม่มีท่าน พวกเราก็คงเหมือนเรือไม่มีหางเสือ"
 

๑.

(คลิกดูภาพใหญ่)       "ใครตัดต้นไม้เป็นหมา"
      "ผู้ใดปลูกต้นไม้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าบำรุงโลก"
      ข้อความทำนองนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปบนกระดาน ศาลาวัด ตามต้นไม้ตลอดทางที่ทอดยาวเข้าไปในป่า ยังมีป้ายเล็ก ๆ เขียนคำขวัญทำนองเดียวกันด้วยลายมือโย้เย้ของเด็ก ๆ... ไม่เพียงป้ายคำขวัญ หากแต่ในวันหยุดบางวัน เราอาจได้เห็นรถกระบะเก่า ๆ บรรทุกเด็ก ๆ จากโรงเรียนใกล้เคียง มา "ทัวร์ป่าสมุนไพร" โดยมีพระภิกษุกับคนเฒ่าในหมู่บ้านสองสามคนเป็นไกด์ประจำทริปต์ 
      ไม่แปลกอะไรที่บรรยากาศการอนุรักษ์จะปรากฏชัดในวัดเล็ก ๆ แห่งนี้ ในเมื่อที่นี่ คือ "วัดคลองศิลา" บ้านสันทรายคองน้อย ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ซึ่งมี พระอธิการเอนก จนทปญฺโญ พระนักอนุรักษ์ที่ชาวบ้านรู้จักนับถือกันดี เป็นเจ้าอาวาส 
      พระภิกษุวัย ๔๓ ปีแห่งลุ่มน้ำฝาง อาจไม่ใช่พระดังของเมืองเชียงใหม่ หากสำหรับชาวบ้านลุ่มน้ำฝางทั้งสามอำเภอ ท่านไม่เพียงเป็นพระ เป็นเจ้าอาวาส เป็นผู้นำในทางธรรม หากยังเป็นศูนย์รวมจิตใจและหลักยึดโยงศรัทธาของชาวบ้าน ทั้งในวันเวลาแห่งการพลิกฟื้นผืนป่า คืนชีวิตให้แก่ผู้คนบนลุ่มน้ำฝาง และในวันเวลาแห่งการต่อสู้ของชาวบ้าน เพื่อปกป้องป่าเขาและแหล่งน้ำของพวกเขาไว้ จากเภทภัยใหม่ที่รุกคืบเข้าสู่ชุมชน
      ย้อนไปเมื่อ ๑๑ ปีก่อน ผืนป่าเวียงด้งหรือดงแม่หลักหมื่น ไม่ได้เขียวชอุ่มชุ่มเย็น เหมือนภาพที่เราเห็นกลางสายหมอกยามเช้า หากเสื่อมโทรม ร้อนแล้ง ไม่ต่างไปจากผืนป่าแห่งอื่นในประเทศ ที่ถูกบุกรุกทำลายจากการตัดไม้ และหักร้างถางป่าเพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำกิน 
      วันหนึ่งของปี ๒๕๓๖ ขณะปลีกตัวออกไปหาที่สงบเพื่อเจริญสมาธิภาวนา ที่วัดร้างโบราณซึ่งซ่อนตัวอยู่บนดอยธาตุ จุดที่สูงที่สุดและอยู่ใจกลางป่าเวียงด้ง ภาพที่พระอธิการเอนก จนทปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคลองศิลา ได้เห็นอย่างเด่นชัด คือสภาพป่าที่เสื่อมโทรมอย่างหนัก และผืนดินที่แตกระแหงจนน่าหดหู่ ท่านย้อนความรู้สึกตอนนั้นให้เราฟังว่า
      "มันอดไม่ได้ที่จะนึกถึงสิ่งที่คนเฒ่าคนแก่เคยเล่าว่า ป่าเวียงด้งอุดมสมบูรณ์มาก มีทั้งหมี เก้ง กวาง ไก่ป่า กระรอก อาศัยอยู่ชุกชุม น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ อยากได้อะไรก็สะพายย่ามเดินเข้าป่า จะกินเห็ดหรือ หน่อไม้หรือ ไก่ป่า ผักผลไม้สารพัด ชาวบ้านอยู่อย่างสงบสุขตามอัตภาพ พอมีพอกิน แต่ตอนนั้นมองไปทางไหนก็เห็นแต่ความแห้งแล้ง อาตมามาคิดดูก็เห็นว่าน่าจะเป็นเพราะปัจจัยในการดำรงชีวิตมันถูกทำลายไป ถ้าไม่อนุรักษ์หรือทำอะไรสักอย่าง ป่าที่เหลืออยู่คงถูกทำลายไปเรื่อย ๆ คนที่นี่จะไม่เหลืออะไรเลย"
(คลิกดูภาพใหญ่)       กลับลงมาจากวัดร้าง พระอธิการเอนกยังคงครุ่นคิดถึงสิ่งเหล่านี้ จนวันหนึ่งได้ฟังพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ตรัสไว้กับปวงชนชาวไทยว่า "พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่จะจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะปลูกป่า" ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ที่ยังเหลือเอาไว้
      งานอนุรักษ์ของท่านเริ่มต้นขึ้นอย่างเรียบง่ายไปพร้อมกับวัตรปฏิบัติของสงฆ์ ระหว่างการเทศนาธรรมในโอกาสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศพ งานบวช ฯลฯ พระอธิการเอนกจะสอดแทรกเรื่องราวของผืนป่าที่ท่านไปพบเห็นมาให้ชาวบ้านได้รับรู้ พูดถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องเร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้เอาไว้ จนชาวบ้านค่อย ๆ ซึมซับความคิดและเห็นดีเห็นงามด้วย ในเวลาเดียวกันท่านก็หันเข้าปรึกษาหารือกับผู้เฒ่าผู้แก่ และญาติโยมในหมู่บ้าน เพื่อร่วมคิดหาหนทางในการอนุรักษ์ป่าอย่างเป็นรูปธรรม 
      และงานแรกในการบุกเบิกพลิกฟื้นผืนป่าเวียงด้ง ก็คือ พิธีบวชป่า
      ลุงสุทัศน์ ลือชัย รองประธานกลุ่มชุมชนอนุรักษ์ป่าเวียงด้ง ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ที่ก่อตั้งขึ้นพร้อม ๆ กับการจัดพิธีบวชป่า เล่าว่า เพราะชาวบ้านศรัทธาพระอธิการเอนกอยู่เป็นทุนแล้ว เมื่อท่านเอ่ยปากว่าอยากจะอนุรักษ์ป่า ชาวบ้านจึงยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ 
      "ความเชื่อของชาวเหนือ เวลาใครเจ็บป่วยหรือไม่สบาย เราจะทำพิธีสืบชะตา สะเดาะเคราะห์ เป็นการปัดเป่าเคราะห์ สร้างขวัญและกำลังใจให้คนนั้น ๆ เราคิดว่าป่าไม้ของบ้านเราก็ป่วยเหมือนกัน ก็เลยตกลงกันว่าจะทำพิธีบวชป่าตรงจุดที่สำคัญที่สุดก่อน บริเวณดอยธาตุเป็นเหมือนหัวใจของป่าเวียงด้ง อยู่ใจกลาง และเป็นต้นน้ำของลำห้วยแม่หลักหมื่นซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของคนลุ่มน้ำฝาง ชาวบ้านก็เลยเลือกที่นั่นเป็นจุดบวชป่าแห่งแรก"
      พิธีบวชป่าครั้งนั้นมีชาวบ้านจาก ๖ หมู่บ้านเข้าร่วม โดยรวมตัวกันก่อตั้งเป็น "กลุ่มชุมชนอนุรักษ์ป่าเวียงด้ง (ดงแม่หลักหมื่น)" มีการแต่งตั้งตัวแทนแต่ละหมู่บ้านร่วมกันเป็นคณะกรรมการดำเนินงาน และมีพระอธิการเอนกเป็นประธาน
      ในวันบวชป่า ชาวบ้านช่วยกันเอาจีวรไปผูกรอบต้นไม้ เอาฝาโลงศพเก่ามาเขียนป้ายติดประกาศว่า พื้นที่ป่า ๑,๒๐๐ ไร่บริเวณนี้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ ผู้ใดจะมาบุกรุกทำลายไม่ได้
(คลิกดูภาพใหญ่)       นับจากวันนั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปตัดไม้บริเวณนั้นอีก จะเพราะพิธีกรรมทางศาสนา ฝาโลงศพ จีวรเหลืองละลานตา หรืออะไรก็ตาม... แต่มันก็ทำให้ป่าบริเวณนั้นดูขลังขึ้นมาก และหากจะมีใครริอ่านใช้ประโยชน์จากป่ามากไปกว่าการเก็บหาของป่ามากินใช้ในครอบครัวแล้ว ก็จะถูกห้ามปรามด้วยคำพูดทำนองว่า "อย่าไปตัดเน้อ ตุ๊เจ้าเปิ้นบวชเอาไว้แล้วหนา"
      นับจากวันบวชป่า ผืนป่าที่เคยเสื่อมโทรมก็ค่อย ๆ ฟื้นตัว ภายในเวลาไม่กี่ปีก็เริ่มเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง น้ำซับเริ่มซึมออกมาตลอดทั้งปี นำพาความชุ่มเย็นมาสู่แมกไม้ใบหญ้าสองฝั่งลำห้วย ขณะเดียวกันพลังของกลุ่มชุมชนอนุรักษ์ป่าเวียงด้งก็เริ่มแสดงตัวชัดเจนมากขึ้น นอกจากการบวชป่าแล้ว ยังมีการแบ่งหน้าที่ลาดตระเวน สอดส่องดูแลไม่ให้ใครลักลอบตัดไม้ ถางป่า มีการปลูกป่าเสริมลงในพื้นที่เสื่อมโทรมและทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่าควบคู่กันไปด้วย
      วันแล้ววันเล่าที่พระอธิการเอนกทุ่มเทเวลา ตระเวนเผยแพร่แนวคิด และปลูกฝังจิตสำนึกรักป่าให้แก่ชุมชนใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง ภาพที่ท่านนั่งคู่กับลุงแก้วมูนในรถกระบะคันเก่าสีขาวหม่น หรือไม่ก็อีซูซุสีแดงสภาพพอใช้ของอ้ายลูน มีลุงป้าน้าอาอีกสองสามคนนั่งอยู่หลังรถกระบะมาด้วย เป็นภาพที่คนแถวนี้เห็นจนเจนตา บางวันท่านจะเดินทางไปต่างอำเภอ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชนอนุรักษ์ป่าในอำเภอใกล้เคียง เช่น เครือข่ายป่าชุมชนลุ่มน้ำแม่ปิง อำเภอเชียงดาว บางครั้งก็ไปที่สำนักงานประถมศึกษาอำเภอฝาง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อเชิญมาร่วมกิจกรรม ทั้งนี้ก็เพื่อขยายแนวคิดนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ป่าเวียงด้งที่เคยมีมากถึงกว่า ๓ หมื่นไร่
      จากวันแรกของการบวชป่าในปี ๒๕๓๖ ด้วยเนื้อที่เพียง ๑,๒๐๐ ไร่ ถึงวันนี้ป่าอนุรักษ์ได้ขยายพื้นที่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเชื่อมต่อกันเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ กินพื้นที่กว้างขวางถึง ๘,๑๐๐ ไร่
      ผืนป่า ๘,๑๐๐ ไร่ที่ฟื้นตัวขึ้นมานี้ นับเป็น "ป่าเต็งรังผสมไม้สน" ที่เพิ่งฟื้นตัวผืนใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศไทย คุณนิคม พุทธา แห่งมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ป่าเต็งรังที่เพิ่งฟื้นตัวเช่นนี้ แม้จะพบได้ในที่อื่น แต่ก็ไม่เชื่อมต่อกันเป็นผืนใหญ่เท่านี้ ป่าเวียงด้งที่ฟื้นตัวขึ้นมานี้ จึงมีคุณค่าอย่างยิ่งในแง่ที่จะใช้เป็นแหล่งศึกษา การฟื้นตัวของระบบนิเวศป่าเต็งรัง รวมถึงการกลับมาของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์
      "น่าดีใจตรงที่ป่าที่มีความสำคัญอย่างนี้ ฟื้นตัวขึ้นมาได้ด้วยความพยายามของคนในชุมชนจริง ๆ ดังนั้นภาครัฐก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ดี น่าจะมีมาตรการบางอย่างเพื่อช่วยจัดการดูแลป่าผืนนี้ไว้ ไม่ควรปล่อยให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อีกต่อไป"
(คลิกดูภาพใหญ่)       ความสำคัญและประโยชน์ในแง่วิชาการใด ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่เคยรู้มาก่อน หรือบางทีอาจไม่มีใครสนใจใคร่รู้ด้วยซ้ำ พวกเขารู้แต่ว่า ผืนป่าเวียงด้งเป็นแหล่งอาหารอันอุดม มีสมุนไพรที่รักษาโรคได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า เป็นต้นกำเนิดของสายน้ำ เป็นต้นธารของชีวิตที่ผู้คนทั้ง ๑๙ หมู่บ้านใน ๑๑ ตำบลในลุ่มน้ำฝางทั้งในเขตอำเภอฝาง อำเภอแม่อาย อำเภอไชยปราการ ได้อาศัยพึ่งพิงมาเนิ่นนาน
      ชาวบ้านสันทรายคองน้อยกว่า ๘๐๐ ครัวเรือนสามารถแปรผลผลิตจากป่าเป็นรายได้อย่างทั่วถึง ว่ากันเฉพาะสมุนไพร ในแต่ละปีหมอยาพื้นบ้านสามารถนำไปแปรรูปเป็นตัวยาต่าง ๆ คิดเป็นมูลค่าปีละ ๓ หมื่นบาท
      ผลผลิตที่เป็นอาหาร เช่น เห็ดถอบ เห็ดไข่ห่าน เห็ดแดง เห็ดลม เห็ดขาว เห็ดโคน เห็ดขมิ้น เห็ดข่า เห็ดปลาดุก เห็ดถาดหล่ม เห็ดปอดม้า ฯลฯ ทำรายได้ให้ผู้คนที่อยู่รายรอบป่าคิดเป็นเงินปีละ ๗-๘ หมื่นบาท
      ส่วนหน่อไม้มีมูลค่าถึงปีละ ๔-๕ หมื่นบาท
      อาหารจำพวกแมลงทั้งต่อแตน แมงมัน ผึ้งโพรง ที่หาได้ในแต่ละปี คิดเป็นเงินถึง ๑ แสนกว่าบาท
      นอกจากนี้ยังมีผักพื้นบ้านหลากหลายที่จะให้เลือกเก็บกินได้ตลอดปี ทั้งผักคราม ผักใคร้ ตามลำห้วยมีผักกูด ผักหนาม หน่อค้า เตา ฯลฯ ทั้งปู ปลา ตั๊กแตน แมงหอม แมงจอน กบ เขียด ก็มีอยู่ชุกชุม
      ส่วนใบพลวงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ใบตองตึง" ที่ร่วงหล่นลงมาในช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคม คนแถวนี้ก็ยังได้เก็บเอามาเย็บเป็นตับสำหรับมุงหลังคา สร้างรายได้ให้ปีละกว่าแสนบาทเลยทีเดียว
      ทุกอย่างที่ค่อย ๆ กลับฟื้นคืนมา ดูเป็นสัญญาณที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า พวกเขามากันถูกทางแล้ว 
      ทว่าท่ามกลางบรรยากาศอันน่ายินดีนั้นเอง ที่เมฆหมอกทะมึนเริ่มปรากฏเค้าลางของมันเด่นชัดขึ้น หลังจากที่แฝงฝังตัวซึมลึกสู่ชุมชนมาเนิ่นนานวัน
 

๒.

(คลิกดูภาพใหญ่)       คงไม่เกินจริงนักหากจะบอกว่า เมืองฝางวันนี้ ทอดตามองไปทางไหนก็ไม่พ้นไร่ส้ม หรือหากไม่ใช่ไร่ใช่สวน ก็ต้องมีป้ายชื่อไร่ส้ม สวนส้ม โดดเด่นสะดุดตาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ โรงพยาบาล ฯลฯ กระทั่งป้ายบอกทางไปสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มักจะได้รับ "ความอนุเคราะห์" จากสวนส้มรายใหญ่ ซึ่งแท้จริงแล้วในทางหนึ่ง มันก็คือการประกาศความสัมพันธ์ระหว่างบรรดาสวนส้มรายใหญ่ กับหน่วยงานราชการในพื้นที่นั่นเอง
      "ส้มเป็นพืชเศรษฐกิจที่โตไว ทำรายได้ให้เกษตรกรอย่างที่ไม่เคยได้มาก่อน จากเคยเป็นหนี้สินก็เริ่มมีฐานะดี มีรถขับ ส้มต้นเดียวให้ผลผลิตปีละไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ กิโลกรัม คิดเป็นเงินก็ ๒,๐๐๐ กว่าบาท เฉลี่ยไร่หนึ่งได้ประมาณ ๑๖๐,๐๐๐ บาท หักต้นทุนอะไรไป น่าจะได้ราว ๖ หมื่นบาท พืชอื่นไม่ทำรายได้อย่างนี้ คนก็เลยแห่มาปลูกส้มกันเยอะ ปีที่ผ่านมา (ปี ๒๕๔๕ ) ได้ผลผลิต ๙๘,๐๐๐ ตัน คิดเป็นเงินก็หลายพันล้านบาทที่หมุนเวียนอยู่ในอำเภอของเรา" นายนิเวศน์ อุตเจริญ เกษตรอำเภอฝางกล่าว
      ขณะที่ใคร ๆ พากันยินดีปรีดากับรายได้มหาศาลที่พืชอื่นทำไม่ได้ ที่รู้เบื้องหลัง--ก็มีแต่คนท้องถิ่นเท่านั้น
      "ไหน ๆ ก็มาแล้ว ไปดูหน่อยไหม" ลุงสว่าง แก้วใจดี หนึ่งในแกนนำกลุ่มชุมชนอนุรักษ์ป่าเวียงด้ง นำทางเราเข้าไปยังจุดบวชป่าในเขตหมู่ ๑๑ เมื่อไปถึง ภาพจีวรที่พันโอบรอบไม้น้อยใหญ่แลละลานตามาแต่ไกล พอเข้าใกล้ จึงเห็นเศษซากใบตองตึงที่ร่วงหล่นเกลื่อนพื้น ใบแห้งพิกลพิการไปด้วยรูพรุน ผืนป่าใหญ่ร่มครึ้มก็จริง แต่ใบสล้างเบื้องบนกลับถูกแมลงเจาะทำลายจนยับเยินไปทั้งป่า
      เป็นเรื่องธรรมดาที่แมลงจะเจาะกัดกินใบไม้--แต่มากมายขนาดนี้พวกเขาก็ไม่เคยเห็นมาก่อน ชาวบ้านได้แต่สันนิษฐานว่าที่อยู่อาศัยนับหมื่น ๆ ไร่ของมันถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว แถมยังคลุ้งไปด้วยยาฆ่าแมลง พวกมันจึงอพยพเข้ามาอยู่ในป่าที่เหลือ รุมโทรมจนราบคาบอย่างที่เห็น
(คลิกดูภาพใหญ่)       ไม่เพียงต้นพลวงเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หากไผ่ที่เคยมีอยู่มากมายในผืนป่าก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน ยิ่งวันที่ไร่ส้มขยายตัว ไผ่ในป่าเวียงด้งก็ยิ่งหดหาย กลายสภาพไปเป็นไม้ค้ำส้ม ส้มหนึ่งต้นต้องใช้ไม้ไผ่มาค้ำยันไม่ให้ล้มอย่างน้อย ๑๕ ลำ ไร่หนึ่งจะปลูกส้มประมาณ ๘๐ ต้น คำนวณคร่าว ๆ ก็ต้องใช้ไผ่ราว ๑,๒๐๐ ลำต่อไร่ เฉพาะอำเภอฝางก็มีสวนส้มอยู่ ๓ หมื่นกว่าไร่ ไผ่กอแล้วกอเล่าจึงถูกลำเลียงออกจากผืนป่า ส่งตรงเข้าไปยังไร่ส้ม และเมื่อคิดว่าไม้ไผ่มีอายุใช้งานเพียง ๑-๒ ปีก็จะผุพังไป ภาพไม้ไผ่กองทิ้งเป็นภูเขาเลากาก็ปรากฏตรงหน้า
      อ้ายแก้ว--ในฐานะที่เคยเป็นนายหน้าหาซื้อไม้ค้ำส้มมาก่อน (ตอนนี้กลับใจมาเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของกลุ่มอนุรักษ์ฯ) เล่าว่า ช่วงแรกชาวบ้านที่ไปตัดไม้ค้ำส้มมาขายจะเลือกเฉพาะไม้ไผ่ที่มีง่ามเท่านั้น ต่อมาเมื่อไม้ง่ามหมด แต่ความต้องการไม้ค้ำส้มไม่ได้หมดไปด้วย ชาวบ้านก็เลยตัดเอาไปทั้งกอ สวนส้มแต่ละแห่งจำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำส้มจำนวนมาก จึงมีสายสำหรับจัดหาไม้ค้ำส้มมาส่งให้โดยเฉพาะ แม้ว่าจะผิดทั้งกฎหมายและกฎของหมู่บ้าน แต่การขนย้ายไผ่ออกจากป่าก็ยังเป็นไปอย่างครึกโครม 
      "นายทุนจะเอาเงินให้เป็นก้อนใหญ่ แล้วให้บรรดาสายของตัวไปจัดการเบิกทางเอง มันขนไม้ออกมาไม่ได้หรอกถ้าเจ้าหน้าที่หรือผู้ใหญ่ในพื้นที่ไม่เอาด้วย กลุ่มอนุรักษ์อย่างเราไปตามจับ แต่พอส่งโรงพักก็หลุดหมด"
      ลุงสุทัศน์ ลือชัย รองประธานกลุ่มชุมชนอนุรักษ์ฯ ประเมินว่า ปัจจุบันไม้ไผ่ถูกตัดออกไปกว่าร้อยละ ๗๐ แล้ว จากที่เคยมีอยู่อย่างเหลือเฟือ สามสี่ปีให้หลังชาวบ้านต้องซื้อหาหน่อไม้มากินด้วยซ้ำ
      "อยู่มา ๕๐ กว่าปีไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน" ยืนยันหนักแน่นและว่า "ไม่เคยเป็น... จนกระทั่งสวนส้มเข้ามานี่แหละ"
      เรื่องราวหนหลังย้อนทวนกลับมาอีกครั้ง--๑๖ ปีก่อน ให้อย่างไรคงไม่มีใครฉุกคิดว่า ส้มพันธุ์โชกุนรุ่นแรก ๆ ที่นายบัณฑูร จิระวัฒนากูล เจ้าของสวนส้มธนาธร นำเข้ามาทดลองปลูกในอำเภอฝางตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ จะเป็นอะไรได้มากไปกว่าพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่ง และแม้เมื่อการทดลองปลูกได้ผลดี ส้มโชกุนเจออากาศหนาว ได้ดินดีน้ำท่าทั่วถึง ก็ถูกใจออกผลสีส้มสวย ให้น้ำให้เนื้อหวานฉ่ำ กระทั่งเริ่มมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น ...ก็ไม่มีใครสักคนที่จะเฉลียวใจ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       หลายปีต่อมา บรรดาสวนส้มแถบภาคกลางที่ผลผลิตเริ่มตกต่ำ ก็ทยอยย้ายฐานการผลิตขึ้นมาทางเหนือ
ถึงปี ๒๕๓๖ อันเป็นปีเดียวกันกับที่พระอธิการเอนกและชาวบ้านสันทรายคองน้อย ลุ่มน้ำฝาง เริ่มต้นงานอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าเวียงด้ง นายทุนจากต่างถิ่นก็เริ่มเข้ามากว้านซื้อที่ดินแถบอำเภอฝาง แม่อาย ไชยปราการ รวมถึงที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวน บ้างก็บุกเบิกผืนป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกส้มให้มากขึ้น ยิ่งเมื่อทางการประกาศว่าอำเภอฝาง แม่อาย ไชยปราการ เป็นพื้นที่ที่ปลูกส้มได้ผลดีที่สุด ยิ่งยั่วน้ำลายนายทุนให้แห่แหนกันขึ้นมา 
      ไม่กี่ปีให้หลัง สวนส้มก็รุกคืบเข้ามาอย่างรวดเร็ว ดูเหมือนว่ากว่าที่ชาวบ้านจะทันรู้ตัว มันก็รุกเข้าประชิดเกินต้านทาน ลุงสุทัศน์เล่าว่า
      "เขาใช้วิธีซื้อที่ปิดล้อม คนที่ยังไม่ยอมขายก็ลำบาก เพราะสวนอยู่ข้างใน จะเข้าจะออกก็ยาก เขาปิดเส้นทางที่สวนขนาบอยู่ อยู่ไม่ได้ก็ต้องยอมขายไป" 
      ช่วงปี ๒๕๓๘ ระหว่างที่กลุ่มชุมชนอนุรักษ์ป่าเวียงด้งและชาวบ้านกำลังเร่งฟื้นฟูผืนป่า ปัญหาการกว้านซื้อที่ดินเพื่อนำไปปลูกส้มก็เริ่มขยายตัวมากขึ้น และจากปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา การใช้อิทธิพลบังคับให้ชาวบ้านขายที่ การซื้อที่ปิดล้อม รวมถึงการบุกรุกป่าสงวนเพื่อขยับขยายพื้นที่ปลูกส้ม ก็ปรากฏตัวขึ้นอย่างชัดเจนและทวีความรุนแรงขึ้นทุกที
      ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรอำเภอฝางระบุว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ เป็นต้นมา สวนส้มมีการขยายตัวถึงร้อยละ ๒๐ ต่อปี และภายในเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา (ปี ๒๕๔๒-๒๕๔๕) จำนวนสวนส้มได้เพิ่มขึ้นจาก ๗๐ แห่งเป็น ๗๐๐ แห่ง ปัจจุบันอำเภอฝางมีสวนส้มอยู่ทั้งหมดถึง ๓๒,๓๕๔ ไร่ จากปี ๒๕๔๑ ที่มีเพียง ๑๒,๑๔๖ ไร่เท่านั้น ที่สำคัญ ในจำนวนสวนส้ม ๓ หมื่นกว่าไร่นี้ ร้อยละ ๙๐ เป็นของนายทุนจากต่างถิ่น เกษตรกรในพื้นที่จริงปลูกกันรายละไม่กี่ไร่เท่านั้น และปัจจุบันหากนับรวมตัวเลขจากทั้งสามอำเภอ คือ ฝาง แม่อาย และไชยปราการ จะพบว่ามีสวนส้มมากถึง ๗๕,๐๐๐ ไร่เลยทีเดียว
      แต่ปัญหาจากสวนส้มไม่ได้หยุดอยู่เพียงพื้นที่ทำกินเท่านั้น...
 

๓.

(คลิกดูภาพใหญ่)       ออกจากจุดบวชป่า ลุงสว่างและสมาชิกกลุ่มชุมชนอนุรักษ์ฯ พาเรามายังหนองหอธรรม--หนองน้ำซับที่คนทั้งหมู่บ้านได้ใช้ประโยชน์ ต่ำลงไปจากหนองหอธรรม ชาวบ้านชี้ให้เราดูอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของสวนส้มแห่งหนึ่ง กับท่อส่งน้ำที่ต่อตรงจากหนองหอธรรมลงสู่อ่างเก็บน้ำภายในอาณาเขตหวงห้ามนั้น
      ธรรมชาติของส้มต้องการน้ำมาก ยิ่งมีการบังคับให้ส้มออกผลปีละ ๓ ครั้ง ก็ยิ่งต้องใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นไปอีก เจ้าของสวนส้มรายใหญ่ ๆ จึงต้องสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ เพื่อกักเก็บน้ำในปริมาณที่เพียงพอตลอดทั้งปี ปัญหาที่ยากหลีกเลี่ยงคือการแย่งชิงน้ำระหว่างสวนส้มกับเกษตรกรรายย่อยอย่างรุนแรง มีการเบนลำเหมืองและต่อท่อลักน้ำจากหนองน้ำสาธารณะเข้าไปในอ่างเก็บน้ำ
      ก่อนหน้าที่จะมีปัญหาการแย่งชิงน้ำกับบรรดาเจ้าของสวนส้ม ชาวบ้านเคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ในการเกษตร จากความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นเพราะป่าไม้ถูกทำลาย แต่เมื่อมีการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำก็หมดไป นอกจากนี้พระอธิการเอนกยังได้รื้อฟื้น นำเอาภูมิปัญญาดั้งเดิม ในการจัดการน้ำในระบบเหมืองฝายมาแนะนำแก่ชาวบ้าน จนสามารถแก้ปัญหาและจัดการน้ำใช้ในชุมชนได้อย่างทั่วถึง
      "แต่ปัญหาที่เจอขณะนี้มันอยู่เหนือการจัดการของชาวบ้าน เราทำอะไรกับเขาไม่ได้ ยื่นหนังสือก็แล้ว เจรจาก็แล้วแต่ก็ไม่เป็นผล" พระอธิการเอนกกล่าวไว้เช่นนั้น
      ท่ามกลางปัญหาการกว้านซื้อที่ดิน การปิดล้อมข่มขู่บังคับขายที่ รวมไปถึงปัญหาการแย่งชิงน้ำใช้ในการเกษตร ที่ยังคงยืดเยื้อยากจะหาทางออก ปัญหาใหม่ที่ดูจะซับซ้อนและรุนแรงกว่าก็เริ่มปรากฏตัวขึ้น...
(คลิกดูภาพใหญ่)       ราวปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ท่ามกลางสวนส้มที่ผุดขึ้นรายล้อมหมู่บ้านและชุมชน ก็เริ่มรับรู้ถึงสิ่งผิดปรกติที่เกิดขึ้นกับตัวเองและคนในครอบครัว ทั้งอาการวิงเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก มีตุ่มขึ้นตามตัว เล็บมือเล็บเท้าดำลอกหลังจากสัมผัสน้ำ ฯลฯ ความผิดปรกติไม่เพียงเกิดขึ้นกับร่างกาย หากยังเกิดขึ้นกับหนองน้ำ ลำห้วย ตลอดจนพืช สัตว์ ที่เคยเป็นแหล่งอาหาร 
      "ปูปลานี่ไม่ต้องคิดว่าจะได้กินอีกแล้ว บางวันก็พากันตายลอยเกลื่อนไปหมด"
      "ผักไม้ริมรั้วที่เคยเก็บกินกันตามประสาคนบ้านนอก ก็ไม่ค่อยกล้ากิน มันหงิก ๆ งอ ๆ บางทีกินแล้วท้องร่วง"
      "น้ำท่าดื่มกินไม่ได้ ปีสองปีมานี้ซื้อน้ำกินกันทั้งนั้น ใครจนหน่อยก็เอาน้ำมาต้มแทน บ้านลุงมีกันสี่คนคน เฉลี่ยตกยี่สิบบาทต่ออาทิตย์ที่ต้องจ่าย อากาศก็เหมือนกัน มีแต่สารพิษ เดือดร้อนกันไปหมด ลุงอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด รู้สึกว่าชีวิตมันเปลี่ยนไปมากเมื่อ ๔-๕ ปีมานี้แหละ"
      ปัญหาที่เกิดขึ้น แม้รู้อยู่เต็มอกว่าเกิดจากอะไร แต่ลำพังเสียงชาวบ้าน พูดไปก็คงไม่มีใครได้ยิน
      "ตีหนึ่งตีสองมันจะพ่นยาเหม็นตลบไปหมด ชาวบ้านทำงานในไร่ในสวนเหนื่อย ๆ ทั้งวัน ตอนกลางคืนอยากนอนหลับพักผ่อน ก็ต้องทนกับกลิ่น ยิ่งบ้านไหนอยู่ติดสวนส้มยิ่งไปกันใหญ่ เพราะจะเวียนหัว แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ไม่รู้จะทำยังไง บางทีทนไม่ไหวก็เอาปืนมายิงขึ้นฟ้าระบายความเครียดไปเท่านั้น"
      หลายคนบอกว่าเมื่อความอดทนถึงขีดสุด ก็เกือบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาอยู่หลายครั้ง ดีแต่ "ท่าน" ห้ามไว้ สำหรับชาวบ้านลุ่มน้ำฝางแล้ว ท่ามกลางความมืดมนไร้หนทาง ดูจะมีเพียงเจ้าอาวาสวัดคลองศิลาเท่านั้น ที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและเป็นแสงสว่างส่องนำทางให้พวกเขาก้าวเดินต่อไป
 

๔.

(คลิกดูภาพใหญ่)       วัดคลองศิลาหรือวัดสันทรายคองน้อยร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยหลากชนิด ลานดินกลางแจ้งหน้ากุฏิพระอธิการเอนก ซึ่งปัจจุบันเป็นทั้งที่พบปะพูดคุยของชาวบ้าน และที่ทำการกลุ่มชุมชนอนุรักษ์ป่าเวียงด้งนั้น มีเพียงยกพื้น ปูด้วยไม้กระดานธรรมดา ลาดเสื่อพอนั่งได้สัก ๓๐ คน ถึงไม่มีหลังคา แต่ก็มีต้นไม้ใหญ่หลายต้นแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาอยู่ บนยกพื้น มีกาน้ำใบเขื่องตั้งอยู่บนเตาเหล็กแบบโบราณ ป้าบุญ รินน้ำชาสีแดงจากกาให้เราดื่มแก้หนาว
      "ตุ๊เจ้าเปิ้นจะเตรียมไว้อย่างนี้แหละ ชาวบ้านชอบแวะมานั่งพูดคุยปรึกษาหารือกัน จนที่นี่กลายเป็นศูนย์รวมคนในหมู่บ้านไปแล้ว ใครไม่สบายอกไม่สบายใจก็มานี่ มาขอคำแนะนำ บ้างก็มาให้ท่านเตือนสติ ไม่เจอท่านก็ได้เจอเพื่อนบ้านคนอื่น ปรับทุกข์ ช่วยได้ก็ช่วยกันไป" 
      ขณะที่ชาวบ้านอาจคิดว่า เป็นพระสงฆ์นั้น "ขดสวายหงายอ้งตี๋น (นั่งขัดสมาธิ หงายอุ้งเท้า) ก็บ่มีไผว่า" คือปฏิบัติธรรมอยู่วัดเฉย ๆ ก็ไม่มีใครว่าอะไรแล้ว แต่พระอธิการเอนกไม่ได้คิดเช่นนั้น ในวันที่สวนส้มมาเยือน ท่านครุ่นคิดมาโดยตลอดว่า จะช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ของชาวบ้านได้อย่างไร
      หลายปีที่ผ่านมา หลายสิ่งอาจไม่เหมือนเดิม ทุกข์อย่างไรก็เห็นกันอยู่ แต่จิตศรัทธาของชาวบ้านในการทำนุบำรุงพระศาสนาไม่ได้เปลี่ยนไป ญาติโยมยังคงนำภัตตาหารมาถวายมิได้ขาด เพียงแต่ระยะหลังมานี้ แวะเวียนมาที่วัดเมื่อไร ชาวบ้านก็มักจะเล่าปัญหา ระบายความอัดอั้นให้พระอธิการเอนกฟัง ทั้งปัญหาทำมาหากิน สุขภาพร่างกาย ฯลฯ 
      "เวลาชาวบ้านนำภัตตาหารมาถวาย ก็นั่งพิจารณาอาหารที่ชาวบ้านหามาด้วยความยากลำบาก พระสงฆ์ก็กินข้าวชาวบ้าน อาตมาก็เป็นลูกหลานของบ้านนี้ ชาวบ้านที่เดือดร้อนก็เป็นญาติพี่น้องลูกหลานเราทั้งนั้น ก็รู้สึกว่าจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้" พระอธิการเอนกกล่าวเรียบ ๆ 
      แรงศรัทธาที่ญาติโยมมีให้ กลายเป็นแรงหนุนนำทำให้ท่านไม่อาจเพิกเฉยต่อความทุกข์ของชาวบ้านได้ ยิ่งชุมชนระส่ำระสายเท่าไร ท่านยิ่งต้องยืนหยัดอย่างมั่นคง เป็นเสาหลัก เป็นขวัญและกำลังใจให้ชาวบ้านมากขึ้นเท่านั้น สำหรับคนบ้านนอก ไม่รู้กฎหมาย ไม่มีที่ปรึกษา ไม่มีที่พึ่ง... จะมีก็แต่พระกับวัดเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะมีปัญหาเรื่องที่ดิน เรื่องลักขโมยน้ำ เบนลำเหมือง ชาวบ้านก็จะนึกถึงวัดก่อน ในที่สุด การทำหนังสือร้องเรียนหรือเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องต่าง ๆ ให้แก่ชาวบ้าน จึงเป็นไปในนามกลุ่มชุมชนอนุรักษ์ป่าเวียงด้ง จากเจตนาอนุรักษ์ป่า กลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงต้องรับหน้าเสื่อในการแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากสวนส้มไปโดยปริยาย
(คลิกดูภาพใหญ่)       และปัจจุบัน ขอบข่ายงานของพระอธิการเอนกและกลุ่มชุมชนอนุรักษ์ฯ ก็ไม่ได้จำกัดตัวอยู่เพียงปัญหาของคนบ้านสันทรายคองน้อย หรือชาวอำเภอฝาง เมื่อข่าวคราวการต่อสู้ของพระอธิการอเนกและกลุ่มชุมชนอนุรักษ์ป่าเวียงด้ง เริ่มกระจายไปถึงอำเภอแม่อายและไชยปราการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำสวนส้มไม่แตกต่างกัน ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร จึงพากันเดินทางมาหาพระอธิการเอนกที่วัด เพื่อเล่าปัญหาและขอคำปรึกษา
      ประเดิม ส่างเสน ชาวบ้านหนองบัวงาม ตำบลแม่นาวาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ รองประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝาง เล่าให้ฟังว่า 
      "ได้ยินมาว่าท่านเป็นพระอนุรักษ์ที่ต่อสู้เรื่องสวนส้ม ชุมชนของผมก็มีปัญหาหนัก แต่เราไม่มีผู้นำ พวกผมรวมกลุ่มกันเองหกเจ็ดคน ไปยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีให้มาช่วย ไปขอให้โรงพยาบาลมาตรวจสารเคมีในร่างกายและตรวจหาสารเคมีในน้ำ แต่ก็ยากเหลือเกิน พอเราขอให้มาตรวจอำเภอแม่อาย เขาก็มาจริง แต่ไปที่ไหนไม่รู้ ไม่ได้มาตรวจบริเวณชุมชนที่อยู่ใกล้สวนส้ม มันเป็นเสียอย่างนี้ เราต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวมาตลอด คนที่เป็นแกนนำสู้มาด้วยกันถูกขู่ฆ่าจนต้องหนีไปอยู่ที่อื่น พวกผมก็โดน เมียผมอยู่ที่บ้านก็มีคนเข้ามาขู่ว่า ผัวมึงไม่ตายดีแน่ แต่เราก็ต้องสู้ เพราะนี่เป็นบ้านเรา" 
      ทุกวันนี้พวกเขาทำงานกันภายในอาคารหลังเล็กโล่งภายในวัดของหมู่บ้าน เก็บข้อมูลหลักฐาน รูปถ่ายกระป๋องสารเคมีที่ถูกทิ้งไว้ตามแหล่งน้ำ ภาพปลาตายลอยเกลื่อน ฯลฯ ร่างหนังสือ (ด้วยลายมือ) ส่งไปตามหน่วยงานราชการเพื่อเรียกร้องให้ลงมาดูแล ปัญหาของบ้านหนองบัวงามออกจะหนักหน่วงกว่าบ้านสันทรายคองน้อยด้วยซ้ำ เพราะสวนส้มโอบล้อมหมู่บ้านอยู่ในรัศมีแค่ ๕๐๐ เมตร บางจุดก็อยู่ประชิดถึง ๕๐ เมตร สารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำและอากาศสร้างความเดือดร้อนอย่างแจ่มชัดนับแต่ปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา
      อารี สุจอง อายุ ๓๓ ปี ชาวบ้านหนองบัวงามที่ได้รับสารพิษอย่างหนัก โชว์เนื้อตัวร่างกายที่เต็มไปด้วยผื่น บางแห่งลอกเป็นเกล็ด เธอเล่าว่าบางวันนั่งทำกับข้าวอยู่ก็ล้มตึงลงไป พอไปหาหมอก็ตรวจไม่พบว่าเกิดจากอะไร ได้แต่ยาพาราเซตามอนและยาเม็ดแก้แพ้กลับมา ไม่ใช่แค่เธอ คนเฒ่าคนแก่หลายคนนั่งผิงไฟอยู่ดี ๆ ก็หน้ามืดไปแบบไม่รู้สาเหตุเช่นกัน
(คลิกดูภาพใหญ่)       ธรรมศักดิ์ แสงทอง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านเคยเรียกร้องให้หน่วยงานราชการมาตรวจร่างกายคนในหมู่บ้าน ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าต้องเสียค่าตรวจคนละ ๑๐ บาท ชาวบ้านก็ยินดีจ่ายให้ แต่พอตรวจเสร็จ "ผมไปขอดูผล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบอกว่าเป็นข้อมูลราชการ เปิดเผยไม่ได้ ถ้าจะดูให้ผมทำหนังสือเอาไปยื่นขอดูผลจากโรงพยาบาลในเชียงใหม่ พวกเราก็พากันไปหลายรอบ เดินทางไม่ใช่ใกล้ ๆ นะครับ แม่อาย-เชียงใหม่ สุดท้ายพวกเราก็เหนื่อย เลิกไปเอง"
      ที่น่าตกใจก็คือ สวนส้มขนาดใหญ่ตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียนหนองขี้นกยาง โรงเรียนประถมและสถานเลี้ยงเด็กเล็กประจำหมู่บ้านในระยะประชิดราว ๕๐๐ เมตรเท่านั้น
      วันที่เราไปเยือนเป็นช่วงปิดเทอม นักเรียนประถมหยุดเรียน มีแต่เด็กเล็ก ๆ ราว ๕๐ คนวิ่งเล่นเจี๊ยวจ๊าวอยู่
      จันทร์จิรา สิทธิโอด คุณครูประจำศูนย์เด็กเล็ก เล่าให้ฟังว่า ช่วงนี้เด็ก ๆ มีตุ่มขึ้นตามตัว กลางวันอากาศร้อนเด็กเล็ก ๆ จะแสบคันพาลให้หงุดหงิด เธอและเพื่อนครูอีกคนต้องช่วยกันจับเด็กทาแป้ง ผลัดกันเกา ช่วยกันโอ๋อุ้มเด็กที่ร้องไห้โยเย เธอเล่าให้ฟังถึงผลกระทบครั้งที่ชัดเจนที่สุดว่า
      "ปีที่แล้วเด็กท้องร่วงกันทั้งโรงเรียน พวกครูก็ช่วยกันหาสาเหตุ หายังไงก็ไม่เจอ สุดท้ายก็เอาน้ำประปาที่สูบขึ้นไปบนแท็งก์ไปตรวจ จึงพบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ แต่ไม่มีใครยืนยันว่าสารเคมีมาจากไหน เราต้องให้เด็กเอาน้ำดื่มมาจากบ้าน แล้วก็ล้างแท็งก์กันยกใหญ่ ทุกวันนี้พ่อแม่เด็กบางคนก็ยังให้ลูกเอาน้ำมาดื่มที่โรงเรียนด้วย เพราะชาวบ้านไม่ไว้ใจอะไรอีกแล้ว"
      การสุ่มตรวจสารเคมีในเลือดของชาวบ้านหนองขี้นกยางจำนวน ๑๕๔ คน โดยสถานีอนามัยแม่เมืองน้อย ตำบลแม่นาวาง อำเภอแม่อาย พบว่า มีผู้ที่มีระดับสารเคมีในเลือดระดับที่ไม่ปลอดภัยและจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงถึงร้อยละ ๗๗ แต่ผลการตรวจก็บอกได้แค่ว่ามีสารพิษปนเปื้อนอยู่ในร่างกายเท่านั้น ระบุไม่ได้ว่าเป็นสารเคมีจากสวนส้มหรือจากไร่นาของเกษตรกรเอง--เป็นอย่างนี้ทุกครั้งไป ตรวจพบว่ามีสารเคมีปนเปื้อน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสารเคมีจากไหน
      "เขาว่ามาจากไร่นาของเราเอง แต่ชาวบ้านใช้ปุ๋ย ใช้ยาฆ่าแมลงมาตั้งนานไม่เคยเป็นอย่างนี้ ทำไมเพิ่งมามีอาการเอาในช่วงสองสามปีที่สวนส้มพ่นยาหนัก ๆ อย่างนี้ล่ะครับ"
(คลิกดูภาพใหญ่)       ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร ก็ดูจะไม่มีหน่วยงานไหนอยากให้คำตอบ
      "ตอนที่ยังไม่รู้จักพระอธิการเอนก พวกเราโดดเดี่ยวกันมาก เดินไปข้างหน้าแบบไม่รู้อะไร ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร มันมืดไปหมด ทำหนังสือร้องเรียนก็ไม่รู้จะไปยื่นที่ไหน รัฐมนตรีประพัฒน์ (ปัญญาชาติรักษ์) มาที่เชียงใหม่เราก็ไปยื่นหนังสือ นายกฯ ทักษิณมาเราก็ไปอีก หายต๋อมไปทั้งนั้นแหละครับ พอได้ยินมาว่าพระอธิการเอนกเป็นพระที่ช่วยเหลือชาวบ้านก็เลยไปถาม ไปดูวิธีแก้ปัญหาจากท่าน ก็รู้สึกว่ามีกำลังใจขึ้น"
      ทุกวันนี้ลานน้ำชาที่วัดคลองศิลา จึงกลายเป็นศูนย์กลางให้ชาวบ้านจากสามอำเภอ ที่ได้รับผลกระทบจากสวนส้ม มารวมตัวกัน พูดคุยปรึกษา ตลอดจนเดินเรื่องร้องเรียน เคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ แต่ปัญหาก็คือ นอกจากแทบจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากทางการหรือหน่วยงานใดแล้ว ชาวบ้าน โดยเฉพาะบรรดาแกนนำ ยังถูกข่มขู่ทำร้าย กดดันด้วยวิธีการต่าง ๆ พระอธิการเอนกเอง แม้ไม่ถึงกับถูกข่มขู่คุกคาม หากก็ไม่พ้นคำครหา กระทบกระเทียบเสียดสี หลายครั้งเมื่อท่านเดินทางไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ข้าราชการให้ลงมาดูแลแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวบ้าน สิ่งที่ได้รับกลับมาไม่ใช่แนวทางแก้ไข หากเป็นคำค่อนขอดที่ว่า "เป็นพระมายุ่งทำไม นี่มันไม่ใช่เรื่องของตุ๊เจ้า"
      "ตุ๊เจ้าเปิ้นไม่เถียงหรอก ได้แต่นิ่ง พวกลุงนี่แหละตอกกลับไปว่า ตุ๊เจ้าก็เป็นลูกหลานบ้านเฮานี้ บ้านเราได้รับผลกระทบ ตุ๊เจ้าเปิ้นออกมาทำตรงนี้ก็ถูกแล้ว ถ้าตุ๊เจ้าไม่ช่วยชาวบ้าน ใครที่ไหนล่ะจะมาเหลียวแล" ลุงสว่างพูดแทน
      ลุงสุทัศน์ซึ่งเป็นภารโรงประจำโรงเรียนสันทรายคองน้อย ยังเคยถูกนายอำเภอสำทับว่า เป็นภารโรงก็น่าจะอยู่ส่วนภารโรง ไม่น่าจะมายุ่งกับเรื่องป่า ไม่น่ายุ่งกับการเมือง "ฟังแล้วเหมือนดูถูกชาวบ้านอย่างเรา ที่เขาพูดอย่างนั้นคงเพราะต้องการจะให้กลุ่มอนุรักษ์ของเรายุติการเคลื่อนไหว แต่ตราบใดที่เรายังอยู่ที่นี่ เราก็จะทำต่อไป" 
      บ่อยครั้งที่มีคนแปลกหน้ามาปรากฏตัวหน้ากุฏิ ขอร้องแกมบังคับให้พระอธิการอเนกและกลุ่มชุมชนอนุรักษ์ฯ ยุติบทบาททุกอย่าง เลิกติดตามสืบเสาะว่าคนที่กำลังถางป่านั้นได้รับคำสั่งจากใคร แต่พระอธิการเอนกไม่เคยหวั่นไหวไปกับกับเรื่องพวกนี้ "เมตตาธรรม" คือหลักที่ท่านยึดถือมาตลอด
      ความมุ่งมั่นในการยืนหยัดปกป้องทรัพยากรท้องถิ่นของพระอธิการเอนก เป็นเหมือนแรงใจให้กลุ่มชุมชนอนุรักษ์ฯ และชาวบ้านทั้งสามอำเภอมีพลังใจที่จะต่อสู้เพื่อถิ่นฐานต่อไป
      "เราไม่กลัวอะไรทั้งนั้น คนเราเกิดมายังไงก็ต้องตาย ไม่ตายหนุ่มก็ตายเฒ่า ตายเพื่อบ้านเมืองคงไม่เป็นไร" หลายคนยืนยันเช่นนั้น
 

๕.

(คลิกดูภาพใหญ่)       ปลายปี ๒๕๔๔ บรรดาชุมชนที่ประสบปัญหาเริ่มมาพูดคุยแลกเปลี่ยน และร่วมกันก่อตั้งเป็น "เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝางสามอำเภอ" ประกอบไปด้วยชุมชน ๖ หมู่บ้าน คือ บ้านหนองขี้นกยาง ต. แม่นาวาง อ. แม่อาย, บ้านหัวยาว ต. ดงเย็น อ.ไชยปราการ, บ้านแม่ฮ่าง แม่สาย ต. แม่สาย อ. แม่อาย, บ้านล้องอ้อ ต. แม่สูน อ. ฝาง, บ้านใหม่กองทราย ต. สันต้นหมื้อ อ. แม่อาย การแก้ปัญหาจากสวนส้มนั้น ในแง่หนึ่งมันคือเจตจำนงในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไม่ให้ถูกรุกล้ำ เป็นการปกป้องแม่น้ำและอากาศนั่นเอง 
      พระอธิการเอนกวิเคราะห์ปัญหาการทำงานของกลุ่มอนุรักษ์ให้ฟังว่า
      "จุดด้อยของเราคือไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย พอเราบอกว่าคุณตัดไม้ในป่าไม่ได้นะ มันผิด เขาก็บอกว่าไปเอากฎหมายมาจับสิ เราไม่รู้กฎหมายเลยเถียงไม่ขึ้น อย่างพ่อกำนันมากล่าวหาว่ากลุ่มอนุรักษ์เป็นกลุ่มเถื่อน เป็นกลุ่มผิดกฎหมาย ถ้าเรารู้กฎหมายเราจะอ้างได้ว่า นี่เป็นสิทธิชุมชนของเราตามรัฐธรรมนูญ เมื่อชุมชนได้รับผลกระทบ เรามีสิทธิ์จะเรียกร้องให้มีการแก้ไข ขอความเป็นธรรม แต่ทุกวันนี้เขากดขี่เราเพราะเราไม่รู้กฎหมาย
      "ปัญหาอีกอย่างคือเรื่องทุนทรัพย์ ในการบริหารจัดการเดือนหนึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า ๘,๐๐๐ บาท กลุ่มอนุรักษ์ก็ใช้วิธีลงขันเรี่ยไรกัน ตุ๊เจ้าก็ดี ชาวบ้านก็ดี ไม่ได้มีเงินมากนัก ค่าน้ำมันรถเอย ค่าเอกสาร ค่าอุปกรณ์ มันเป็นข้อด้อยที่ทำให้เราไม่มีโอกาสไปเรียนรู้จากที่อื่นเพื่อเอามาเปรียบเทียบกัน หรือไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชนอื่นที่เขาต่อสู้เหมือนกัน เช่น กลุ่มท่อก๊าซ ชาวบ้านปากมูน ชาวหินกรูด-บ่อนอก เวลาเรามีประชุมจะไปเชิญคนที่เขามีความรู้ มีประสบการณ์มาร่วม มาแลกเปลี่ยน เราก็ไม่มีค่าพาหนะให้เขา จะให้ร้อยสองร้อยมันก็ไม่เหมาะเพราะเมืองฝางอยู่ไกล เวลาพากลุ่มอนุรักษ์ไปยื่นหนังสือ ไปติดต่อราชการระดับท้องถิ่น แล้วเขาโยนเรื่องไประดับจังหวัด ทางกลุ่มก็ลำบาก ถ้าเรามีงบประมาณมากกว่านี้เราอาจจะเดินเรื่องต่อไปถึงระดับภาคได้
      "ยอมรับว่าเมื่อก่อนกระบวนการชาวบ้านของเราทำไปอย่างว้าเหว่ เดินไปข้างหน้าแบบโดดเดี่ยวมาก ปีที่ผ่านมานี้เอง มีสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนเข้ามาแนะนำเรื่องทำวิจัยผลกระทบกับสุขภาพ และได้รู้จักกับคุณนิคม พุทธา ได้รับคำแนะนำหลาย ๆ เรื่อง ก็รู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาบ้าง ทางกลุ่มก็พยายามส่งโครงการไปยังองค์กรต่าง ๆ แต่มันก็มีปัญหา เขาให้ระบุค่าใช้จ่ายยิบย่อยที่ชาวบ้านเราทำไม่ได้ คือนึกไม่ออกว่าจะระบุยังไง ค่าอาหารต่อคนเท่าไร ชาวบ้านทำไม่เป็น ตรงนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่"
.........................................................................................
(คลิกดูภาพใหญ่)       ทุกวันนี้ ท่ามกลางปัญหาสารพัน และผลกระทบมากมายที่เกิดขึ้นกับชีวิตของชาวบ้านทั้งสามอำเภอ ส้มสายน้ำผึ้ง, โชกุน, ฟรีมองต์ และอีกหลายสายพันธุ์ ยังคงลำเลียงออกมาจากลุ่มน้ำฝางอย่างต่อเนื่อง--ผลส้มสีทองสดปลั่งและรายได้อันงดงาม ดูจะบดบังความจริงอันหม่นมัวที่อยู่เบื้องหลัง
      "คนระดับรัฐมนตรีฯ บอกว่าคนสามอำเภอนี้เป็นประชากรส่วนน้อย แต่ส้มทำเงินเข้าประเทศเป็นพัน ๆ ล้าน ฟังแล้วได้แต่อึ้ง"
      ชาวบ้านไม่ได้ต้องการจะให้ยกเลิกการปลูกส้มหรือรื้อถอนสวนส้มออกไปให้หมด ขอเพียงมาตรการและความจริงใจจากภาครัฐที่จะช่วยยุติการขยายพื้นที่ ดูแลควบคุมการใช้สารเคมีที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของพวกเขา และปกป้องผืนป่าเต็งรังผสมไม้สนที่ฟื้นตัวขึ้นมา จากความมุ่งมั่นทุ่มเทสุดใจของพระสงฆ์และชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง เอาไว้เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้ประโยชน์ไปอีกชั่วนาตาปี ...แต่ดูเหมือนเสียงร้องขอเหล่านั้นจะไม่เคยดังพอ 
      ความหวังของชาวบ้านและพระภิกษุรูปหนึ่ง จะถูกทิ้งให้อึมครึมราวเมฆหมอกที่ปกคลุมลุ่มน้ำฝางอยู่ชั่วนาตาปีไปอีกนานเพียงใด คงยากที่ใครจะล่วงรู้...
 

ขอขอบคุณ: 

        คุณนิคม พุทธา 
      บริษัทเชียงใหม่ธนาธร จำกัด 
      คุณถวิล ทาศักดิ์