นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๓ เดือนกันยายน ๒๕๔๖ | ISSN 0857-1538 |
|
เรื่อง : วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ | |||
๑
|
|||
เล่าขานกันว่า จากเมืองดาร์-เอส-ซาลาม, มาทอมโบ, มาเฮงเก้ ลงไปถึงทุนดูรู ซองเกีย ในแทนซาเนีย สมัยเมื่อแปดเก้าก่อนไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยินชื่อ "ออสมอน" ชาวเหมือง, คนรับซื้อพลอยชาวไทย...ใจกว้าง มิตรสหายมาก ไม่เคยปฏิเสธจะช่วยเหลือคนเมื่อถูกร้องขอ ออสมอนเป็นใคร เอาเงินมาจากไหน จึงเดินทางได้ไม่หยุดหย่อน เทียวไปเทียวมาซื้อก้อนหินสีไม่หยุดหย่อน คนพูดถึงชื่อของเขาต่อ ๆ กัน เหมือนมันติดในรอยจำของผู้คนไปไม่รู้ตัว แต่ออสมอนคือใครกันแน่ ? เอาเข้าจริงแทบไม่มีใครเคยเจอตัวจริงออสมอน หรือรู้จักหน้าค่าตาของเขา มาลาป้า : "มาลาป้า" เป็นคำภาษาสวาฮิลี แปลว่า รองเท้าแตะ ไม่น่าเชื่อว่ารองเท้าแตะจะมาเป็นฉายานักค้าพลอยผู้น่าเกรงขามของวงการได้ เขารับซื้อพลอยดิบทุกสี ทุกขนาด ทุกลอต ไม่ว่าจากมาดากัสการ์ แทนซาเนีย เคนยา พลอยเนื้ออ่อน เนื้อแข็ง เพื่อรวบรวมให้บริษัทแม่ในประเทศไทย โดยจะสวมรองเท้าแตะไปทุกหนทุกแห่ง รวมทั้งคราวนั่งเครื่องบินเล็กไปเกิดอุบัติเหตุตกทางใต้ของมาดากัสการ์ เงินสดและพลอยหายเกลี้ยง แต่มาลาป้าก็รอดมาได้ (บางคนว่าเครื่องเคยตกถึงสองครั้ง) และยังคงวิ่งรอก...วันนี้อิละกากะ (มาดากัสการ์) พรุ่งนี้อรุชา (แทนซาเนีย) เหมือนเคย เมื่อมาลาป้าให้ราคาดี ใคร ๆ ก็อยากขายให้ มาลาป้า-หนุ่มใหญ่ชาวสวิส "เวอร์เนอร์ สปัลเทนสไตน์" |
|||
เป๊กโก้ : |
|||
คนไทยที่ไปคลุกคลี "พลอยอัฟ" ไม่ได้มีเฉพาะที่ไปรับซื้อจากคนพื้นเมือง ลงทุนทำเหมืองเองก็หลายราย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๐ "เป๊กโก้" เป็นคนไทยคนแรก ๆ ที่ตามฝันไปถึงแอฟริกาด้วยการไปทำเหมืองที่ตำบลมาเฮงเก้ พร้อมกับลูกน้องมือขวาชื่อ "ออสมอน" แรก ๆ เหมืองติดดี แต่แล้วก็ไปไม่รอด ต้องขายเหมืองทิ้ง ลูกน้องแยกย้ายกันออกมาทำเหมืองของตัวเอง ถึงอย่างนั้น ทุกวันนี้เป๊กโก้ก็ยังรอเวลาจะกลับไปเปิดเหมืองในแทนซาเนียอีกครั้ง จริงอยู่โอกาสการทำเหมืองแบบอื่นในประเทศนี้อาจเสี่ยงน้อยกว่า มีโอกาสรุ่งทางธุรกิจมากกว่า แต่สำหรับคนไทย หากคิดจะทำเหมืองแล้วต้องเป็นเหมืองพลอยเท่านั้น "เพราะมันน่าตื่นเต้นกว่า" นักเลงพลอยชาวไทยพูดเสมอ ๆ ...................................................... ...................................................... เหล่านี้คือผู้บุกเบิกทำพลอยในแดนซาฟารีเมื่อเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว พวกเขาเป็นตำนานที่ยังมีชีวิต ไม่ว่าจะอยู่หนใดผู้คนก็ยังกล่าวขวัญถึง หากไปคุยกับคนค้าพลอยดิบ (ซึ่งมักคุยในวงเหล้า) สอบถามข้อมูลและชีวิตของของพวกเขายามนี้ ก็มักมีนาม "ผู้บุกเบิก" หลุดออกมา ด้วยน้ำเสียงศรัทธายกย่องในที แต่ก็นั่นละ...วงการพลอยเป็นวงการที่เกี่ยวพันกับเงินมหาศาล การปกปิดแหล่งวัตถุดิบ ราคา หรือเทคนิคการเผาพลอยบ่อต่าง ๆ ตลอดจนถึงความรุ่งเรืองหรือตกอับของชีวิตที่เกิดขึ้นชั่วพริบตา ถามไปถามมา เราอาจไม่รู้จักพวกเขาเหล่านี้เพิ่มขึ้นเลยก็ได้... สำหรับพลอยสายแอฟริกา ที่เรียกประสาคนวงในว่า "พลอยอัฟ" คนไทยเข้าไปบุกเบิกในดินแดนแทนซาเนียช่วงเวลาใกล้เคียงกับในมาดากัสการ์ หรืออาจก่อนหน้าเสียด้วยซ้ำ ปริมาณพลอยก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน หากตลาดพลอยแทนซาเนียไม่บูม เพราะคุณภาพสีสันไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด พลอยหลายตัวเผาไม่ออก แล้ววันดีคืนดี เกิดมีคนไทยเผาพลอยจากเมืองซองเกีย แทนซาเนีย ได้โดยบังเอิญ ตลาดของมันจึงร้อนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน... ภาวะการบูมจนถึงชะงักงันของพลอยซองเกียในช่วงสามปีที่ผ่านมา เกิดจากสาเหตุที่ซับซ้อนที่สุดอันหนึ่งเท่าที่เคยได้ยินได้ฟังมาทีเดียว !? |
|||
๒ |
|||
เราออกเดินทางไปเมืองซองเกีย (Songea) พร้อมกับ ประสิทธิ์ สอดศรี และคนไทยอีกสองคนจากบริษัท Raqib Gem Stone ใช้เวลาเกือบ ๑๓ ชั่วโมง ตามเส้นทางสูง ๆ ต่ำ ๆ บนภูเขา นับแต่ออกจากเมืองหลวง ดาร์-เอส-ซาลาม ไปจนใต้สุดของประเทศแทนซาเนีย เฉียดพันกิโลเมตร ! ผ่านพบวิถีดำรงชีพของเกษตรกรหลายแบบ เช่น ไร่นาแบบขั้นบันได ไร่ข้าวโพด กาแฟ องุ่น มะม่วงหิมพานต์ ป่านซิซาล รวมถึงฝูงปศุสัตว์เคลื่อนที่ของชนมาไซ เกิดข้อสงสัยในใจมากมายตามประสาผู้มาใหม่ แต่ไม่เท่าสงสัยต่อจุดหมายซึ่งทำให้เราต้องหลังขดหลังแข็ง ว่าคนมาสำรวจแรก ๆ "รู้ได้อย่างไรว่ามีพลอย" พวกเขาบอกว่า พื้นที่รอบ ๆ นี้เคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน คนสำรวจจะมีประสบการณ์ ภูมิความรู้สังเกตว่าลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะดินตะกอนของหุบเขาที่มีร่องน้ำผ่านแบบนี้น่าจะมีพลอย ปริมาณจะมากหรือน้อยก็ค่อยว่ากัน อาจใช้วิธีถามคนพื้นถิ่นดู ถ้ามากจริงก็ต้องมีคนเก็บมาขายในตลาดบ้าง ของพวกนี้ถ้า "ดก" แล้ว ไม่ต้องถึงขนาดขุดหาจริงจังหรอก ตามริมลำธาร ไร่นาหลังจากน้ำฝนชะหน้าดินออกแล้วมันก็โผล่ให้เห็น ทำนองเดียวกับซากฟอสซิลสัตว์โบราณ ส่วนมากเจอโดยบังเอิญก่อนแล้วค่อยขุดหาต่อไป ประสิทธิ์ยกตัวอย่างร่องแม่น้ำเก่าที่เมืองทุนดูรู ว่าเป็นแหล่งที่เคยมีคนขุดพลอยเยอะที่สุดในแทนซาเนีย ก่อนเข้าตัวเมืองซองเกีย รถของเราไต่ขึ้นเนินเขาช้า ๆ กระทั่งอาคารบ้านเรือนของหุบเขาค่อย ๆ เผยขึ้นตรงหน้า บริเวณรอบ ๆ มีภูเขาประปราย เป็นต้นสายลำธารไหลผ่านเมือง--อันเป็นภูมิประเทศที่คนจันทบุรีบอกว่า "น่าจะมีพลอย" พรรคพวกสามคนที่มากับ "พี่ประสิทธิ์" ต่างก็แสดงความโล่งใจที่ผ่านทางโค้ง และภูเขาสูงจากเมืองอิริงกา เมืองจ็อมเบ มารอดปลอดภัย พวกเขาอาจคิดก็ได้ว่า ซองเกียวันนี้จะมีพลอยที่น่าสนใจให้แบกกลับ เหมือนแล้ว ๆ มา... เมืองแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของจังหวัดรูวูมา ซึ่งมีเขตติดต่อกับประเทศโมซัมบิกทางใต้ และทะเลสาบไนยาซา (หรือทะเลสาบมาลาวี) ทางตะวันออก หากเราเคยได้ยินชื่อเสียงของรอยแยกขนาดใหญ่บนผิวโลก "หุบเขาทรุดเกรตริฟต์" (Great Rift Valley) ซึ่งทอดผ่านภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ตามแนวเหนือ-ใต้ ก็น่าจะได้รู้จักทะเลสาบไนยาซาในฐานะปลายด้านล่างของหุบเขาทรุด ภูเขารอบ ๆ ซองเกียก็เป็นผลจากปรากฏการณ์ดังกล่าว |
|||
เมืองไม่ใหญ่ แต่ห่างไกลคำว่าเงียบเหงานัก ด้วยสินค้าและผู้คนจากข้างบนจะต้องเดินทางผ่านซองเกียไปยังเมืองทุนดูรู และผ่านพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบกและทางน้ำ (ทะเลสาบ) คึกคักหรือไม่ ลองดูว่าสถานีขนส่งของเมืองมีรถทัวร์ไป "ดาร์" วันละไม่ต่ำกว่าสี่เที่ยว โรงแรมสี่ห้าแห่ง สนามกีฬากลาง และพิพิธภัณฑ์การเมืองที่น่าสนใจ สำหรับแอฟริกาตะวันออก "สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย" (United Republic of Tanzania) มีเศรษฐกิจดีเป็นอันดับสองรองจากประเทศเคนยา ทว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจน (จากมุมมองตะวันตก) เป็นลักษณะของสังคมชนเผ่า พึ่งพารายได้เกือบทั้งหมดจากภาคเกษตรกรรม รายได้ประชากรต่อหัว ๗๓๐ ดอลลาร์สหรัฐ (พ.ศ. ๒๕๔๑) จากการพูดคุยกับคนไทยที่มาอยู่นานจนได้สัญชาติแทนซาเนีย เขาไม่คิดว่าคนประเทศนี้บีบคั้น หรืออดอยากแร้นแค้นด้านความเป็นอยู่เกินไป ด้วยขนาดดินแดนที่ใหญ่กว่าประเทศไทยเกือบสองเท่า แต่มีผู้อยู่อาศัยเพียง ๓๒ ล้านคน เห็นได้ว่าคนอยู่กันเบาบางกว่าไทยหรือประเทศแถบเอเชียมาก บางคนที่เป็นนักลงทุน นักพัฒนาผู้กลัวการไล่ล่าจากอนาคต มาเห็นแทนซาเนียแล้วพอใจกับทรัพยากรธรรมชาติอันมั่งคั่ง อุดม ไม่ว่าจะด้านประมงน้ำจืด-น้ำเค็ม พืชพรรณสัตว์ป่า หรือแร่ธาตุ ซึ่งในรอบ ๑๐ ปีมานี้สำรวจพบแหล่งเพชร ทองคำ และพลอยแหล่งใหม่ ๆ เสมอ ธุรกิจค้าพลอยก้อน, พลอยดิบ (พลอยจากธรรมชาติ ยังไม่ผ่านกระบวนการพัฒนาคุณภาพ) เป็นธุรกิจที่คนไทยใกล้ชิดที่สุด ใครถนัดทางพลอยเนื้ออ่อนก็ขึ้นไปหาศูนย์กลางของมันที่เมืองอรุชา หากถนัดพลอยเนื้อแข็งตระกูลคอรันดัมจะมีอยู่ในพื้นที่ตอนใต้สองจังหวัด คือ เมืองมาเฮงเก้ เมืองมาทอมโบ ของจังหวัดโมโรโกโร และเมืองทุนดูรู เมืองซองเกีย ของจังหวัดรูวูมา |
|||
บริษัทราคิบเช่าบ้านย่านชานเมืองซองเกียไว้รับซื้อพลอย คนจะรู้จักมันมากกว่าถ้าบอกว่า "บ้านออสมอน" ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท แต่ตอนนี้ออสมอน--สมยศ สอดศรี ไม่อยู่ มีน้องชายและหลาน ๆ ดูแล วงจรชีวิตของบ้านจะแบ่งเป็นสองช่วง คือ "วุ่นวาย" ติดกันสามเดือนรวดเมื่อมีคนอยู่ เวลานอกจากนี้ หมายถึงเจ้าของบ้านจะนำพลอยกลับไปขายเมืองไทย ขายได้เงินแล้วก็กลับมาวุ่นวายใหม่ เหมือนขณะนี้... เด็กสามสี่คนกุลีกุจอช่วยยกกระเป๋า นอกจากเสื้อผ้าแล้ว ของที่เอามาก็เป็นเสบียงอาหาร เครื่องครัวบางอย่าง และกระเป๋าใส่เงินใบโตที่ลูกทีมเอาใจใส่มากกว่าเพื่อน ตั้งแต่กรุงเทพฯ สนามบินดาร์-เอส-ซาลาม และระหว่างทางลงใต้ แม้เป็นเวลาเย็น...อากาศสบายชวนพักผ่อน แต่ก็มีงานมารออยู่ ลูกน้องเอาพลอยเล็กสีน้ำตาล-ส้มที่ "พี่ทอน" สั่งให้ซื้อช่วงแกไม่อยู่มาให้ดู เขาเลือก ๆ แล้วชี้ให้เด็กพื้นเมืองดู "แบบนี้ใช้ได้...แบบนี้ไม่ต้องเอามาอีก" พูดเป็นภาษาไทยปนอังกฤษ "ซองเกียเวลานี้มีแต่พลอยเล็ก ขนาดไม่ถึงกะรัต" พี่ทอนบอก พลอยหมู่พวกนี้จะชั่งขายเป็นกิโลกรัม มีตั้งแต่ ๑,๕๐๐, ๒,๐๐๐ บาท ขึ้นไปจนถึง ๒๕,๐๐๐ บาท การเลือกไม่ต้องดูละเอียดเหมือนพลอยเม็ดใหญ่ ดูสีตามที่ต้องการกับราคาแล้วใส่ขันสำหรับร่อนพลอย ซึ่งเจาะรูตรงก้นเป็นขนาดต่าง ๆ ร่อนดูขนาดคร่าว ๆ เรียกว่า ดูเปอร์เซ็นต์พลอย เพื่อจะหักออกจากน้ำหนักรวมทั้งหมด พลอยพวกนี้บางเจ้าก็มีปน ซื้อแล้วต้องนั่งคัดเอาของไม่ดีออก เพื่อจะได้ขายของเกรดดีให้ลูกค้าในประเทศไทย "บางทีเราก็ขนกลับไป ๔๐๐-๕๐๐ กิโล" เขาพูด ข่าวคราวเท่าที่รู้ เมืองซองเกียวันนี้มีคนไทยราว ๑๐ คน ที่กลับไปและกำลังมาอีกจำนวนหนึ่ง บางคนเช่าบ้านอยู่เป็นกลุ่ม บางคนพักโรงแรม ต่างก็รับซื้อพลอยอย่างอิสระ ไม่ต้องรวมกันที่ตลาดกลางเหมือนมาดากัสการ์ยุคหนึ่ง อย่างไรก็ดี คนกลุ่มเล็ก ๆ นี้คุ้นเคยกัน ช่วยเหลือกันตามสมควร เพราะบางส่วนรู้จักกันแต่สมัยพลอยทุนดูรูบูมเมื่อหลายปีก่อน เมืองทุนดูรูนั้นอยู่ทางใต้จากซองเกียไม่มากนัก |
|||
ทางธุรกิจ พ่อค้าพลอยจะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม รับซื้อทั้งในนามบริษัทและส่วนตัว ตามเงื่อนไขที่ต่างกัน
คนที่ซื้อในนามบริษัท
จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์
จากยอดซื้อรวมในแต่ละเที่ยว อาจอยู่ที่ ๗-๑๐ เปอร์เซ็นต์ ค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เบิกได้ ประเภทนี้จะมีน้อย ผิดกับพวกซื้อส่วนตัวหรือหุ้นส่วน ซึ่งจะใช้เงินทุนที่รวบรวมมา ซื้อพลอยแล้วนำกลับไปขายให้ผู้รับซื้อในประเทศไทย ตามย่านมเหสักข์ บางรัก สีลม และถนนศรีจันทร์ จังหวัดจันทบุรี อาจส่งให้ตามออเดอร์หรือขายให้เจ้าประจำก็ได้ ไม่ผูกขาด โดยทั้งสองกรณีผู้เข้ามาซื้อพลอยต้องขอวีซ่าธุรกิจ ซึ่งเสียค่าธรรมเนียม ๒๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ หากเป็นวีซ่าท่องเที่ยว ค่าธรรมเนียม ๒๐ ดอลลาร์ ตามหลักแล้วไม่สามารถประกอบธุรกิจ (เช่นซื้อพลอย) ได้ และเมื่อจะนำพลอยที่ซื้อกลับไป จะต้องแจ้งนำพลอยออกนอกประเทศในนามบริษัทที่จดทะเบียนในแทนซาเนีย และเสียค่าผนึกและภาษีตามกำหนด เงินสดจำเป็นยิ่งสำหรับธุรกิจ เมื่อมาถึงแทนซาเนีย พวกเขาได้แลกเงินจากสกุลสหรัฐเป็นชิลลิงแทนซาเนีย ธนาคาร ห้างร้านซึ่งทำธุรกรรมประเภทนี้หาได้ใจกลางกรุงดาร์-เอส-ซาลาม อัตราแลกเปลี่ยนแต่ละร้านต่างกันไม่มาก เช่น ๑ ดอลลาร์ แลกได้ระหว่าง ๑,๐๓๕-๑,๐๔๕ ชิลลิง ตัวเลขเศษ ๆ ทำนองนี้ใช่ว่าจะไร้ความหมายเสียทีเดียว โดยเฉพาะคนที่ต้องแลกเป็น ๕๐-๖๐ ล้านชิลลิง คนซื้อพลอยจะยึดหลักว่า เมื่อแลกเงินแล้ว แต่ละเที่ยวพวกเขาต้องซื้อให้หมดเงินชิลลิง หรือจะให้เพื่อนยืมเงินซื้อพลอยก็ได้ เพราะถือว่ามีพลอยกลับไปยังมีโอกาส ดีกว่าถือเงินสดที่ต้องเสียส่วนต่างการแลกคืนสองต่อ |
|||
วิธีจัดการเงินที่น่าทึ่งของคนไทยแบบ "ใช้ชิลลิงให้หมด" กอปรกับไม่ขี้เหนียวเรื่องกินอยู่ มีอัธยาศัย และน่าสังเกตว่าคนไทยพยายามพูดภาษาสวาฮิลี จนหลายคนสามารถพูดได้คล่อง (ถ้าพูดได้ก็เขียนได้ เพราะใช้ตัวอังกฤษสะกด เหมือนในคาราโอเกะ) เด็ก ๆ วัยรุ่นพื้นเมืองจึงอยากจะมาทำงานด้วย เด็กในบ้านออสมอนมีหลายประเภท นอกจากแม่บ้านหนึ่งคน ลูกจ้างคัดพลอยและช่วยงานทั่วไปสามคน ยังมีอีกกลุ่มเป็นพวกโบรกเกอร์หรือนายหน้าเดินพลอยที่มาคลุกคลีจนสนิทสนมคุ้นเคยกัน พี่ ๆ เจ้าของบ้านบอกว่า "เด็กพวกนี้ถึงไล่ออก ไม่จ่ายเงินเดือนก็ไม่ยอมไป เพราะไม่รู้จะไปไหน อยู่ที่บ้านยังมีข้าวกิน" ในกลุ่มของพวกเขามี "เปาโล" เป็นพี่ใหญ่ที่ทุกคนเคารพยำเกรง เปาโลเป็นคนเก่าคนแก่ที่ยังทำงานอย่างแข็งขัน รับหน้าที่ขับรถและติดตามนายของราคิบมาแต่ยุคทำเหมืองที่มาเฮงเก้เมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว เขาเข้าใจภาษาไทยบางส่วน พูดภาษาอังกฤษได้ดีพอ ๆ กับที่เจ้านายใช้ภาษาสวาฮิลีของเขาเลยละ เมื่อออสมอนออกซาฟารีสำรวจพลอยประเทศรอบ ๆ แถบนี้ เปาโลจึงอยู่ช่วยน้องชายออสมอน ทำงานในแทนซาเนีย บ้านออสมอนเป็นบ้านปูนชั้นเดียว จัดว่าน่าสบาย แน่นหนา เป็นบ้านคนไทยที่มีลูกค้าเทียวไปเทียวมาคึกคัก และน่าสังเกตว่า บ้านที่อยู่รั้วติดกับบ้านหลังนี้ เป็นบ้าน "ซองกาเบเล่" ซึ่งอดีตเคยมีบทบาทต่อสู้เรียกร้องเอกราช ร่วมกับประธานาธิบดีคนแรก และก่อตั้งประเทศนี้ขึ้นใหม่ ภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๕๐๔ ซองกาเบเล่เป็นคนที่ชาวเมืองเคารพนับถือ ออสมอน พี่ประสิทธิ์และคนไทยที่มาซื้อพลอยยุคแรกรู้จักกับเขานานนับสิบปี ทุกวันนี้ก็ยังให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ พ่อค้าพลอยกลับไปเมืองซองเกียมักจะหาโอกาสไปเยี่ยมลุงซองกาเบเล่เสมอ |
|||
๓ |
|||
คงยาก...ที่จะบอกว่าพลอยทำให้เม็ดเงินไหลเวียน
อู้ฟู่ขึ้นในซองเกียเหมือนบางเมืองในมาดากัสการ์ที่เราเคยเห็น ซองเกียเป็นบ้านเป็นเมืองมานาน จึงมีบุคลิกของตัวเองชัดเจน คนทำธุรกิจเกี่ยวกับพลอยไม่มาก ซึ่งรวมถึงพ่อค้าพลอยต่างชาติที่เป็นคู่แข่งกับคนไทยด้วย เวลาเดินในเมือง เราจะไม่รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวนี้ เว้นแต่ย่าน "มาชาเล่" ใกล้สถานีขนส่ง ทุก ๆ วันจะมีคนขุดพลอยรายย่อยนำของเข้ามาขาย บริเวณนี้จึงมีชายฉกรรจ์ที่เป็นนายหน้าเดินเกร่คอยจับของ พวกนายหน้าไม่จำเป็นต้องถือพลอยเข้าไปเสนอลูกค้า แค่เห็นของแล้ววิ่งไปเคาะประตูก๊อก ๆ บอกคนไทยว่ามีพลอยแบบนั้นแบบนี้...เขาก็ได้เงินใช้ และถ้าลูกค้าตกลงซื้อภายหลังก็จะได้เปอร์เซ็นต์อีก ผู้ซื้อพลอยไทยบางรายก็ใช้บริการเครือข่ายนี้ช่วยหาของ ส่วนนายหน้าหรือพ่อค้าคนกลางอีกพวกจะบุกเข้าไปบ่อพลอยในป่า นำพลอยปริมาณมหาศาลออกมาขายเอง วันต่อมา บรรยากาศซื้อขายเริ่มต้นที่บ้านก่อนกินข้าวเช้าเสร็จเสียอีก พ่อค้าท้องถิ่นน่าจะอั้นไม่ได้ขายของมาระยะหนึ่ง เลยหิ้วพลอยมาเป็นถุง เหมือนถุงปุ๋ยไม่มีผิด และเจ้าหนึ่ง มีพลอยเบอร์ ๑๒-๑๖ มาขายรวดเดียว ๘๐ กิโลกรัม เขาใส่มันเต็มถังสีฟ้าเดินแบกเข้ามา พอขายได้ก็เทลงกองเต็มหน้าบ้าน เป็นภาพการซื้อขายอัญมณีที่ไม่คุ้นตาอย่างยิ่ง พลอยที่นำมาส่วนมากเป็นเขียว และน้ำตาลแดง ตัวเด่นของซองเกีย คงต้องบอกก่อนว่า พลอยเนื้อแข็ง (precious stones) เหล่านี้เป็นผลึกแร่คอรันดัม อาจเรียกว่าพลอยดิบ หรือพลอยที่ยังไม่เผา มีสีหม่น เปรอะเปื้อนตามสภาพของผลึกแร่ก้อนหนึ่ง เพียงแต่ผลึกคอรันดัมนี้แข็งเป็นพิเศษ นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่าแข็งเป็นรองแต่เพชรเท่านั้น เพราะมันได้ผ่านแรงดันและความร้อนใต้พื้นโลกมานานหลายร้อยล้านปี ผู้รู้บอกว่า เมื่อก่อนสมัยที่ตลาดอัญมณียังไม่กว้าง จะคัดเฉพาะพลอยดิบที่สะอาด สุกใส มาเจียระไนทำเครื่องประดับ แต่พลอยที่สวยจากธรรมชาติมีน้อยมาก คาดว่าไม่เกิน ๕ เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด เมื่อความต้องการของตลาดมีมากขึ้นจนพลอยสุกจากธรรมชาติไม่พอเพียง คนไทยจึงคิดค้นวิธีเลียนธรรมชาติ นำพลอยมาเผาผ่านความร้อน จนประสบผลสำเร็จ...ก่อนใครในโลก การเผาซึ่งใช้เตาแบบพิเศษจะให้ความร้อนประมาณ ๑,๗๐๐-๒,๐๐๐ องศา หลายครั้ง ครั้งละนับร้อยชั่วโมง |
|||
วิธีการเผาพลอยอันสลับซับซ้อนมีผู้นำปรับปรุงพัฒนาเทคนิคการเผาได้มาก นอกจากนี้ พลอยแต่ละบ่อแต่ละสียังใช้เทคนิคการเผาแตกต่างกันออกไป และพลอยแต่ละก้อนเผาออกมาใช่ว่าจะสวยเหมือนกันหมด ผู้เชี่ยวชาญจึงต้องอาศัยภูมิรู้ ประสบการณ์ ที่สั่งสมมาสังเกตมลทินธาตุ (trace element) หรือบางคนเรียก "เชื้อ" ที่อยู่ในเนื้อพลอย ถ้าพลอยมีเชื้อเผาแล้วจะให้สีสันสดใสแพร่ไปในเนื้อพลอยตลอดเม็ด โดยในการเผาไม่ต้องใส่สารเคมีหรือธาตุที่ทำให้เกิดสีลงไป โดยพื้นฐาน คนซื้อพลอยซึ่งเป็นทัพหน้าของภาคการผลิตอัญมณี จึงต้องรู้จักคำนวณขนาดกะรัตของพลอยเมื่อทำสำเร็จ ต้องดูเชื้อพลอยเป็น โดยใช้ไฟฉายแบบพิเศษส่องดูข้างในเนื้อพลอย สีที่ไฟส่องสะท้อนขึ้นมา นั่นคือสีในอนาคตของพลอยเม็ดนั้น พลอยดิบสีเขียว-ส่องสะท้อนส้ม เผาเป็นบุษราคัม (เหลือง), น้ำตาลคล้ำหรืออมม่วง-สะท้อนแดง เผาเป็นพลอยแดงสวยงาม หรือน้ำตาลอ่อน-สะท้อนเหลือง เผาเป็นพลอยส้ม, เหลือง แบบที่พูดกันว่า "คนซื้อต้องรู้จักสีในอนาคตของพลอยแต่ละเม็ด" นอกจากรูปทรง ผิวพรรณของพลอยนั่นเอง ยิ่งเม็ดใหญ่หนักหลายกะรัตที่คนซื้อกะกำไรท่วม หรือที่เรียก "น็อก" ยิ่งต้องส่องทุกมุมทุกด้านหลายตลบ ไม่อย่างนั้นเราอาจ "คอหัก" เอง การดูพลอยเก่งที่บ้านกับลงสนามจริงนั้นต่างกันลิบ ว่ากันว่าพ่อค้าพลอยที่พลาดไม่ใช่เพราะดูไม่เก่ง แต่เป็นเพราะอารมณ์ไม่นิ่ง สมาธิไม่ดี ใจไม่ดี เพราะมีเงินมาก ๆ มาเกี่ยว บางครั้งก็โดนสงครามจิตวิทยาเล่นงาน อย่างเช่นถูกแขกศรีลังกามองแต่หัวจรดเท้า แล้วพูดเยอะเย้ยถากถาง "ไม่กล้าต่อ...ไม่มีเงินใช่ไหม" จากในใจที่คิดคำนวณไว้แล้วว่าทำสำเร็จออกมาจะได้เท่านั้นเท่านี้กะรัต ก็ผิดพลาดไป การดูพลอยอาจสำคัญ แต่สำหรับ "กุ้ง" และพี่ทอน ทั้งสองพูดอีกมุมว่า "ดูเก่งแค่ไหน ไม่สำคัญเท่ารู้จักตลาด" หมายถึงตลาดชอบสีอะไร ล็อตไหน ทรงแบบไหน ซึ่งความต้องการของตลาดจะเปลี่ยนไปเสมอคล้ายแฟชั่นเสื้อผ้า "บางทีเราซื้อไปคุณภาพดีจริง แต่เผชิญช่วงนั้นตลาดไม่นิยม ราคาตก ของที่ซื้อก็ต้องขายขาดทุน" |
|||
แล้วออสมอนก็ยืนยันความเห็นดังกล่าว เมื่อเขาโทรจากกรุงเทพฯ มากำชับว่า "ให้ซื้อเน้น ๆ ...ระวังพลาด" เขาบอกว่า คนแทนซาเนียที่เพิ่งเอาพลอยไปขายเมืองไทย เจ๊งไปหลายล้านบาท-ร้องไห้โฮกลับบ้าน ของราคาตกสืบเนื่องจากสงครามถล่มอิรัก บวกโรคซาร์ส (ขณะนั้น) และอาจเป็นผลต่อเนื่องมาจากการโจมตีต่อต้าน "พลอยส้ม" ก็ได้ ประสิทธิ์เองก็ใช้ "มือถือ" ติดต่องาน ตรวจเช็กตลาดเสมอ ประสิทธิ์บอกว่า ช่วงนี้ของแพงจนซื้อไปไม่มีกำไร มีแต่พลอยเล็ก ความจริงพลอยเม็ดใหญ่ก็ซื้อได้บ้าง เขาเองก็เพิ่งซื้อพลอยป็อป-พัดพาราชา เม็ดหนึ่งประมาณ ๑๘ กะรัตราคา ๓ ล้านชิลลิง (ราว ๑.๓ แสนบาท) ปัญหาคือพ่อค้าที่นี่ไม่เชื่อราคาของเรา จึงเอาไปขายเองที่เมืองไทย ประสิทธิ์เป็นคนบอกว่า ไม่มีใครรู้ว่าราคาพลอยที่แท้จริงอยู่ตรงไหน "ราคาพลอยขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อ ส่วนมากผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์" มันจึงต่างจากเพชรและทอง...ที่ราคาค่อนข้างแน่นอน ตายตัว ทองกำไรน้อยจึงต้องอาศัยปริมาณ แต่การค้าหรือทำเหมืองทอง เหมืองเพชร ต้องลงทุนสูง ไม่เหมาะกับคนไทย นี่ไง...พ่อค้าพลอยถึงบอกว่า "ทำพลอยตื่นเต้นกว่า" หมู่พ่อค้าจึงรู้กันว่า เวลามีพลอยบ่อใหม่ออกมา คนไปถึงก่อนจะมีโอกาสมาก เพราะราคายังต่ำ มีพลอยเม็ดใหญ่ ๆ งาม ๆ ส่วนหนึ่งเพราะคนขายไม่รู้ราคา คนซื้อก็อยากได้ราคาถูกสุดเหมือนกันทุกที่ในโลก ทว่าพลอยบ่อใหม่คนซื้อก็เสี่ยง และเห็นชัด ๆ ว่ามันขัดกับทฤษฎี "รู้จักตลาด" ข้างต้น พลอยใหม่จะเผาออกไหม ? เผาแล้วตลาดจะรับหรือไม่ ? เป็นสิ่งที่ต้องลุ้น ซึ่งนักเลงพลอยทุนดูรู ซองเกีย ผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาแล้วโชกโชน "ช่วงปี ๒๕๓๘-๒๕๓๙ เป็นช่วงพลอยน้ำเงินทุนดูรูบูมสุด" ประสิทธิ์เล่าย้อนอดีต "บ่อทุนดูรูมีเพชรมีพลอยทุกชนิด น้ำเงิน บุษราคัม อะเล็กซานไดรต์ ตาแมว สปีเนล กรีนการ์เน็ต ช่วงนั้นคนไทยมาเป็นร้อยคน เงินสะพัดในเมืองวันละ ๕๐-๖๐ ล้านบาท บางกลุ่มก็เหมาเครื่องบินเล็กมาจากดาร์ เที่ยวละ ๕-๖ หมื่นบาท เดือนละหลาย ๆ เที่ยว โบรกเกอร์ออกรถใหม่กันทุกวัน พวกนี้จะรู้เลยว่าถ้าเราชวนไป 'กินข้าว' ภาษาสวาฮิลีว่า 'จากูร่า' หมายถึงได้เงิน ๑ ล้านชิลลิงฟรี ๆ (ประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาทในสมัยนั้น) |
|||
"ก่อนหน้านั้นผมก็ตามพลอยทุนดูรูไป ครั้งนึงผมได้พลอยตาแมวจากเด็กช้อนปลา ขนาดตั้ง ๒๐-๓๐ กะรัต ซื้อ ๕๐๐ บาท ขายได้ ๔ แสนบาท ผมก็รู้ว่าพลอยมีราคาแต่ไม่รู้ว่าเท่าไร ปรากฏว่าคนที่ผมขายให้ก็น็อกผมไปท่วม" ประสิทธิ์เล่า ครั้งต่อมาเขาขายพลอยยกล็อตให้พ่อค้าศรีลังกาที่เมืองไทย ได้กำไรกว่า ๑๐ ล้านบาท ทำให้ได้ข้อสรุป "พลอยพวกนี้เราไม่รู้หรอกว่าราคาที่แท้จริงมันอยู่ตรงไหน คนขายไม่รู้ เราคนซื้อก็ไม่รู้ คนที่ซื้อต่อจากผมไปก็ไปคลำหาราคา พอขายไปแล้วอีกสองเดือน...แขกแม่งเต็มเมือง ตาแมวแขกเก่งกว่าเรา เราคัดแต่ตัวดีอย่างเดียว เขาซื้อได้ทุกตัว ซื้อเมืองไทยวิ่งไปขายศรีลังกากำไรไม่รู้เท่าไร พอแขกมาค้าขายไม่ค่อยได้ ค่อย ๆ ดูดทีละ ๓ แสน ๕ แสน...เจ๊ง เพราะสู้แขกไม่ไหว" พลอยทุนดูรูเริ่มน้อย ก็พอดีเกิดบ่ออิละกากะที่เกาะมาดากัสการ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ทำทางแทนซาเนียเป็นหลักจริง ๆ จะย้ายไป พวกเขายังปักหลักหาพลอยทั้งเนื้ออ่อนเนื้อแข็งอยู่ทุนดูรูและซองเกีย สำหรับพลอยซองเกีย ถูกค้นพบมานานไม่แพ้ทุนดูรู เมื่อสามปีที่แล้วก็เคยโด่งดังเรื่องกรีนการ์เนต แต่พลอยเนื้อแข็งไม่ว่าเป็นพลอยแดง เขียว น้ำตาล เอามาเผาแล้วไม่ออก จึงไม่มีราคา พ่อค้าบางคนเลือกเฟ้นเฉพาะก้อนโต ๆ สวย ๆ มา "เจียรดิบ" หรือเจียระไนแบบ "สีเปิด ๆ" ของมัน ขายได้กะรัตละไม่กี่ร้อยบาท ประสิทธิ์บอกว่า ตลาดพลอยซองเกียเพิ่งมาหวือหวาจริง ๆ เมื่อปีกว่า ๆ นี่เอง เพราะทางเมืองไทยคิดวิธีการเผาแบบใหม่ขึ้นมาสำเร็จ เผาพลอยทุกสีออกมาสวยงาม คุณภาพดี เฉพาะอย่างยิ่งสามารถเผาพลอย (heat enhancement -คนทำพลอยให้เรียกว่า พัฒนาคุณภาพ) ที่มีเชื้อโครเมียมหรือเหล็ก อันได้แก่ พลอยชมพู เขียว เหลือง น้ำตาลอ่อน ออกมาเป็นพลอยส้มและพัดพาราชา (orange sapphire, Padparadschah) ที่สวยงามโลกตะลึง โดยในกระบวนการเผาใช้ธาตุเบาชนิด beryllium ลงไปกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาเร็วขึ้น แน่ละ คนไทยผู้คิดค้นวิธีนี้ขึ้นมาได้คนแรก ๆ โกยเงินค่าเผาพลอย ค่าขายพลอยเข้ากระเป๋าตัวมหาศาล ขณะเก็บงำความลับทางเทคนิคไว้เงียบเชียบ ต้นปี ๒๕๔๕ ช่วงเวลาเพียงสั้น ๆ หลังจากพลอยส้มและพลอยชมพูอมส้ม-พัดพาราราชาออกสู่ตลาด มันก็ถูกโจมตีจากนักอัญมณีศาสตร์อเมริกา และวงการอัญมณีด้วยกันอย่างมาก จนตลาดพลอยเสียหายมาอย่างต่อเนื่อง พ่อค้าต้นทางที่ซองเกียก็ตกที่นั่งไม่ต่างกัน ทำเงิน (จากพลอยที่ไม่เคยทำเงินมาเป็นสิบปี) ได้เดี๋ยวเดียว ราคาพลอยดิบก็ทะยานขึ้น ตลาดพลอยสำเร็จและเครื่องประดับชะลอตัวส่งผลให้ออเดอร์หดหาย ต้องซื้อเน้น ๆ จะตัดสินใจซื้อต้องโทรเช็กราคา เช็กแล้วเช็กอีก แม้จะเครียดบ้าง แต่พวกเขาดูมีความสุข และยังนึกถึงช่วงเวลาหนึ่งเมื่อไม่นานนี้ที่ "พลอยซองเกียคัดก้อนโต ๆ ใส่ถุงพลาสติกวางขายถุงละ ๒๐๐ ชิลลิง โดยไม่มีใครเหลียวแล" ราวกับมันเป็นช่วงเวลาที่สวยงามเหลือเกินในชีวิต |
|||
๔ |
|||
...ผู้ชายตัวบึ้กสามคน หน้าขมึงถึงเข้ามา...เอะอะโวยวายว่าเราเข้ามาในบ่อพลอยได้ยังไง ไม่รับรองความปลอดภัยสำหรับคนนอก รอบ ๆ มีกลุ่มคนขุดพลอยถือเหล็กแหลมที่ใช้ขุดแร่ยืนดูเงียบ ๆ พอเปาโลเห็น เขากับลูกน้องก็เดินเข้ามาขวาง อธิบายว่าพวกเรามาถ่ายรูป ไม่ได้จะเข้ามาซื้อพลอย คนเหล่านั้นทำท่าไม่เห็นด้วย เพราะรู้ว่าเปาโลทำงานให้บริษัท เลยเถียงกันจนตอนหลังพวกเขาบอกว่า ถ่ายสารคดีก็ต้องจ่ายสตางค์เพราะทีวีญี่ปุ่น อเมริกาก็เคยมาถ่าย... เปาโล วัย ๔๐ ต้น เขาพูดอะไรยาวเหยียดด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ ไม่แสดงอาการสะทกสะท้าน ตลอดเวลาที่เผชิญหน้า เดินเลยจากจุดนั้นมาได้สักพัก เราก็ตัดลงหุบเขาไปเจอห้วยเกรังเกร่า ซึ่งมีชายหญิงกลุ่มใหญ่ขุดพลอยอยู่เช่นกัน ทว่าไม่เจอปัญหาเหมือนผ่านมา เขาลูกนี้อยู่ในพื้นที่บ้านโมซุงกูรู ทั่วบริเวณมีร่องรอยขุดพลอยเป็นหลุมบ่อทั่วไป ชาวบ้านจะขุดเป็นหลุมกว้าง ๆ ไม่ขุดลึกและไม่ "ตองแร่" ตามแนวนอนจนเป็นโพรงยาว ๆ ลักษณะนี้ปัญหาดินถล่มทับคนตายในหน้าฝนอย่างที่เคยได้ฟังมาก็น่าจะน้อยลง พอขุดดินได้ประมาณถุงปุ๋ยก็จะแบกมาเทใส่กระบะ ล้างและร่อนในลำห้วยด้านล่าง ขั้นตอนนี้ที่จะต้องดูกรวดทรายอย่างถี่ถ้วน ก้นกระบะซึ่งเป็นตะกอนหนักอาจมีอะเล็กซานไดรต์หรือพัดพาราชาตกอยู่ก็ได้ คนขุดพลอยเป็นคนจนในท้องถิ่น มากันเป็นกลุ่มญาติพี่น้องทั้งชาย-หญิง ปลูกเพิงพักอยู่ใกล้บ่อ โดยตัวเพิงหรือกระต๊อบทำจากกิ่งไม้ที่ยาดินโคลนปิดทับจนรอบ พอมากันมากเข้าก็ขยายตัวเป็นหมู่บ้าน เช่น บ้านควอมเกโซ ตรงปากทางที่เราจอดรถ ก่อนจะเดินตัดเข้าป่า คนขุดพลอยส่วนหนึ่งจะมีนายทุนหรือโบรกเกอร์หาที่ หาเครื่องมือให้ขุด และคอยทำหน้าที่ส่งข้าวส่งน้ำ เปาโลบอกว่า คนกลุ่มหนึ่งขุดพลอยได้ประมาณวันละหนึ่งถุงเล็ก พลอยถูกจะรวบรวมไว้ขาย ได้เงินเท่าไรคนขุดกับนายทุนแบ่งคนละครึ่ง |
|||
เราถือว่าโชคดีที่วันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับจากซองเกีย "พี่ประสิทธิ์" ให้เปาโลขับรถพาเข้าเหมือง... อันที่จริงคือแหล่งพลอยสำคัญของซองเกีย--คิไทและโมซุงกูรู ซึ่งอยู่ห่างกันแค่คนละด้านของหุบเขา มีเนื้อที่รวมกัน ๔๐๐-๕๐๐ ตารางกิโลเมตร เส้นทางคิไท-โมซุงกูรู ตัดจากเมืองผ่านพื้นที่ภูเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหุบเขาทรุดเกรตริฟต์ ไปทางตะวันตกประมาณ ๒ ชั่วโมง พื้นที่รอบ ๆ เป็นแหล่งแร่ ทั้งพลอยแดง พลอยเขียว พลอยเนื้ออ่อนและทองคำ ปัจจุบันมีบริษัทที่คนไทยเป็นหุ้นส่วนได้สัมปทานทำเหมืองแล้วหนึ่งแห่ง กำลังจะลงมือทำในปีนี้อีกหนึ่งแห่ง เปาโลบอกล่วงหน้าแล้วว่า บริเวณนั้นนายทุนท้องถิ่นหวงห้ามไม่ให้คนข้างนอกเข้าไปบริเวณบ่อพลอยเหมือนจงอางหวงไข่ เพราะกลัวแอบซื้อพลอยปากบ่อ ทำให้กลุ่มตัวเองเสียผลประโยชน์ ขณะนั่งรถกลับจากบ่อพลอย เปาโลบอกว่า เจ้าหน้ารัฐ คนพื้นเมืองแทนซาเนียบางคนพูดถึงคนต่างชาติอย่างคนไทยว่า มุยซี่ (mwuisi) -พวกขโมย เพราะเข้ามากอบโกยโดยไม่ได้ตอบแทนให้เขาเลย บางคนใช้วีซ่าท่องเที่ยวเข้ามาซื้อพลอย เสียภาษีให้รัฐไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่แปลกหรอกที่คนแถวเหมืองจะแสดงท่าไม่เป็นมิตร เป็นธรรมดา...เวลาผ่านบางเหตุการณ์ที่น่าเหนื่อย ขัดแย้ง หรือดูสุ่มเสี่ยง "น่าตื่นเต้น" มักถามตัวเองว่า เรา และ/หรือ คนหนุ่มเหล่านี้ "มาทำอะไรกันที่นี่" และก็ (คงเป็นที่ใดสักที่หนึ่งระหว่างเดินทาง) นั่งคิดทบทวนประโยคที่มีคนบอกว่า ธุรกิจค้าพลอยไม่ได้หากินกับแรงงานคนจนในวงอาชีพ แต่หากินกับคนรวย ......................................................... * อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องใน "ล่าพลอยสีชมพู สุดขอบฟ้ามาดากัสการ์" สารคดี ฉบับที่ ๒๐๔ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ |
|||
อ้างอิง |
|||
รวมบทความเกี่ยวกับแอฟริกา กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๔๕. "Rubies and Sapphires" by Fred Ward, National Geographic, October 1991. |
|||
แหล่งข้อมูลบุคคล |
|||
แทนซาเนีย สมยศ สอดศรี, ประสิทธิ์ สอดศรี, พี่ต้อย ปัญญา, สมบูรณ์ อภิญญากุล, วิลาศชัย สอดศรี, สุนทร โพธิ์พระคุณ, ศรันย์ คงธรรม, วิรัช ปราบไพลิน กรุงเทพฯ พรชัย ชื่นชมลดา, เกรียงศักดิ์ เจียรพุฒิ, เกรียงไกร เจียรพุฒิ, ธำรง ชะระไสย์ |
|||
ขอขอบคุณ |
|||
- คุณสมยศ และประสิทธิ์ สอดศรี ที่เอื้อเฟื้อให้แหล่งพักพิงในแทนซาเนีย และช่วยเหลือการจัดทำสารคดีเกี่ยวกับแทนซาเนียทั้งสองเรื่องจนสำเร็จลุล่วง - สายการบินกัลฟ์แอร์ที่สนับสนุนการเดินทาง |