ภาพเก่าแม่น้ำเจ้าพระยา (title)
ภาพเก่าแม่น้ำเจ้าพระยา
เอนก นาวิกมูล

แผนที่

12
ภาพลายเส้น เรือนแพในแม่น้ำเจ้าพระยา (Floating House on the Meinam) สมัยรัชกาลที่ ๔ จากหนังสือของ เซอร์จอห์น เบาริง ดูจากสัดส่วน และความละเอียดของภาพแล้ว ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ต้นฉบับเดิมของภาพลายเส้นนี้ น่าจะเป็นภาพถ่าย
ตอนที่ ๑ ความรู้ทั่วไป
หลายร้อยปีมาแล้ว ที่ภาพแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฏอยู่บนแผนที่โบราณ ตั้งแต่ แบบที่เขียนขึ้นอย่างหยาบๆ ตามคำบอกเล่า จนค่อยๆ มีรายละเอียดมากขึ้น ทีละน้อย ตัวอย่างแผนที่เก่า เช่น แผนที่ของฮอนดิอุส (Hondius) ชาวเบลเยี่ยม ที่พิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๑๕๖ (๓๘๔ ปีก่อน นับจาก พ.ศ.๒๕๔๐) แผนที่ที่เขียนในช่วงกลางและ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือ แผนที่ที่วาด และพิมพ์ในสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

แม่น้ำเจ้าพระยา เกิดจากแคว ๔ สาย คือ ปิง วัง ยม น่าน จับคู่กันก่อน โดยลำน้ำวังไปสมทบกับ ลำน้ำปิง ที่จังหวัดตาก ลำน้ำยม ไปสมทบกับลำน้ำน่าน ที่จังหวัดนครสวรรค์ แล้วต่างไหลมารวมกัน เป็นแม่น้ำสายใหญ่ ที่ตำบลปากน้ำโพ และตำบลแควใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ต่อจากนั้น จึงไหลผ่านจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร ลงมา จนออกอ่าวไทย ที่สมุทรปราการ เป็นจังหวัดสุดท้าย รวมความยาวเป็นระยะทาง ๓๖๐ กิโลเมตร

แม้แม่น้ำเจ้าพระยา จะไม่ใช่แม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของประเทศ (ยาวที่สุดคือแม่น้ำชีในภาคอีสาน ยาว ๗๖๕ กิโลเมตร) แต่ก็เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุด ด้วยเป็นแหล่งอำนวยพืชพันธุ์ ธัญญาหารอันอุดม เป็นแหล่งอารยธรรม มีประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำ เป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่ และราชธานีมาแต่โบราณ จนถึงปัจจุบัน

แม่น้ำเจ้าพระยา มีสาขาแยกออกไปหลายสาย ทั้งที่เป็นแม่น้ำลำคลอง เช่น แยกไปทางชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร เรียกเป็นแม่น้ำมะขามเฒ่า แม่น้ำสุพรรณบุรี แม่น้ำนครชัยศรี และแม่น้ำท่าจีน ต่างออกไปตามลำดับ แยกออกไปอีกสายหนึ่ง เรียกว่าแม่น้ำลพบุรี ส่วนที่เป็นลำคลอง เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา กับแม่น้ำอื่นก็มี เช่น คลองบางแก้ว คลองบางโผงเผง คลองรังสิต คลองบางบัวทอง คลองดาวคะนอง คลองพระโขนง คลองสำโรง เป็นต้น

แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงล่าง คดเคี้ยวมากกว่าตอนบน ด้วยแผ่นดินค่อยๆ ลาดลง สายน้ำไหลช้า จนบางแห่งวกวน กลายเป็นรูปเกือกม้า ขอให้ดูได้จากแผนที่เก่าที่นำมาลงประกอบ เป็นของชาวยุโรปผู้หนึ่ง ซึ่งอุตสาหะทวนแม่น้ำ สำรวจเส้นทางทำแผนที่ขึ้น และลาลูแบร์เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส นำมาลงไว้ในหนังสือ ของตนเมื่อ ๓๐๐ กว่าปีก่อน จะเห็นได้ว่า แม่น้ำตั้งแต่อยุธยาลงมา จนถึงบางกอก และปากน้ำ คดเคี้ยวมาก น้ำเซาะแผ่นดิน จนกลายเป็นเกาะเล็กๆ หลายแห่ง เรื่องเกาะในลำน้ำเจ้าพระยา หากดูเพิ่มเติมในหนังสือ อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒ คำว่า "เจ้าพระยา" จะเห็นว่า ปัจจุบันมีเกาะ ในแม่น้ำเจ้าพระยาถึง ๒๐ กว่าเกาะ เช่น เกาะบางปรอง นครสวรรค์, เกาะบางปะอิน อยุธยา, เกาะเกร็ด นนทบุรี และเกาะที่สมุทรปราการ หรือดูนิราศยี่สาร ของก.ศ.ร.กุหลาบ แต่งสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็จะทราบ ที่บริเวณ หน้าพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม เวลานั้นก็มีเกาะเล็กๆ มีต้นอินทผลัมปลูกอยู่ด้วย เกาะหน้าวัดอรุณนี้ จมหายไปเมื่อปีใด ไม่มีใครทราบ
13 ลำคลองที่เราเรียกกันทุกวันนี้ว่า คลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ แต่ก่อนโน้นก็เคย เป็นตัวแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลคดเคี้ยวไปมา หาใช่คลองเช่นในปัจจุบันไม่ เหตุที่แม่น้ำมากลายเป็นคลอง ก็เพราะลำน้ำช่วงนี้เดิมอ้อมมากนัก จนมีเรื่องเล่า ในหนังสือ บางกอกรีคอร์เดอร์ ฉบับแรกของปี พ.ศ. ๒๔๐๘ (เข้าใจว่าเป็น พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ว่า แม้ลืมหม้อข้าวไว้ที่ทาง เหนือน้ำ อ้อมแม่น้ำไปทางซ้าย จนตกเย็น ลงมาถึงอีกคุ้งหนึ่ง นึกขึ้นได้ว่าลืมหม้อข้าวไว้ที่คุ้งบน ยังสามารถ เดินลัดไปเอาหม้อข้าวมาได้ (ระยะทางไม่กี่กิโลเมตร คือจากสถานีรถไฟ บางกอกน้อย ลงไปถึงป้อมวิไชยประสิทธิ์ ปากคลองบางกอกใหญ่)


MB-Journal@ViriyahBooks.com

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ ]

ขึ้นข้างบน (Back to Top) วารสาร เมืองโบราณ (Muang Boran Journal) หน้าที่แล้ว (Previous Page) หน้าถัดไป (Next Page)