ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ กับความเป็นสากล
ภูเขาไฟศักดิ์สิทธิ์ อีกลูกหนึ่งในบาหลี (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
ภูเขาไฟศักดิ์สิทธิ์ อีกลูกหนึ่งในบาหลี
ภูเขาพอพา เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
ภูเขาพอพา เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ของพม่า มาแต่ก่อนสมัย เมืองพุกาม เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว
เขาพอพา ที่สถิตของมหาคีรีนัต (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
เขาพอพา ที่สถิตของมหาคีรีนัต
ปราสาทของพวกจาม (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
ปราสาทของพวกจาม ในกลุ่มโบราณสถาน มิซอน แลเห็นเขารังแมว อยู่เบื้องหลัง
ลิงคบรรพต เขาศักดิ์สิทธิ์ ในแคว้นปาณฑุรังคะ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
ลิงคบรรพต เขาศักดิ์สิทธิ์ ในแคว้นปาณฑุรังคะ อันเป็นแคว้น ของพวกจามทางใต้
(อ่านต่อ)

    ในขญะที่วรรณคดี เรื่องรามเกียรติ์ กล่าวถึงเมืองลังกา ของทศกัณฐ์ ที่มีถูเขานิลกาลาคีรี เป็นประธานอยู่ตรงกลาง ในขณะที่วรรณคดี เรื่องรามเกียรติ์กล่าวถึง เมืองลังกา ของทศกัณฐ์ ที่มีภูเขานิลกาลาคีรี เป็นประธานอยู่ตรงกลาง เมื่อตอนพญานกสัมพาที ชี้ทางให้หนุมาน กวีผู้ประพันธ์ ได้รจนากลอนไว้ว่า

   ครั้นถึงกึ่งกลางเวหา        
สกุณาราปีกเรื่อยร่อน
แล้วบอกว่าดูราวานร   
โน่นนครลงกาธานี
เหมือนจอกน้อยลอยอยู่กลางสมุทร    
แลสุดสายเนตรในวิถี
โน่นนินทกาลาคีรี        
อยู่ที่ท่ามกลางเมืองมาร

   ภูเขาสมณกูฏ จะเป็นภูเขาเดียวกันกับ นินทกาลาคีรี หรือไม่ คงไม่มีใครบอกได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ศรีลังกาเป็นบ้านเมืองหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญ แก่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์อย่างแน่นอน


    ที่ประเทศพม่า ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุด คือภูเขาบุพผา หรือภูเขาพอพา (Bopa) เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว สูงใหญ่เห็นแต่ไกล ตรงเนินมีเขาเล็ก รูปสูงคล้ายหอคอย เป็นสถานที่ทำการสักการะ มหาคีรีนัต ผู้เป็นใหญ่กว่าผีนัตทั้งหลาย ใครที่ไปเที่ยวพม่าแล้ว ไม่เคยไปที่ภูเขาพอพานี้ ก็นับว่าน่าเสียดาย ภูเขาไฟลูกนี้ นับเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์มาช้านาน ตั้งแต่สมัยก่อนเมืองพุกามก็ว่าได้
    แต่ในเขตพม่าตอนล่าง เขาสูงๆ ไม่ค่อยมี พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ใกล้ปากแม่น้ำอิรวะดี สะโตง และสาละวิน บรรดาภูเขาที่มีอยู่มักเป็นลูกเตี้ยๆ ที่ทางพม่านิยมสร้างพระสถูปเจดีย์ขึ้นไว้ เช่น พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งเป็นประธาน อยู่เหนือเมืองร่างกุ้ง เป็นต้น
    แต่เดิม บริเวณนี้ไม่เป็นเมือง หากเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เมืองที่คนอยู่นั้น ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่ม แต่เมื่อพวกอังกฤษ เอาพม่าเป็นเมืองขึ้น จึงได้สร้างเมืองขึ้นใหม่ เป็นแบบทางตะวันตก ที่บริเวณรอบๆ พระเจดีย์ชเวดากองนี้ คือเมืองร่างกุ้ง ปัจจุบันพระเจดีย์ชเวดากอง ก็คือสัญลักษณ์ของภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ที่มองเห็นได้แต่ไกล เช่นเดียวกันกับ พระมุเตากลาง เมืองหงสาวดีของพวกมอญ ที่อยู่ถัดมาทางตะวันออก
    ในบริเวณระหว่างปากแม่น้ำสะโตง กับแม่น้ำสาละวิน ก็มีภูเขาศักดิ์สิทธิ์ อีกแห่งหนึ่ง แต่เป็นเขาขนาดเล็ก ความสำคัญอยู่ที่บนยอดเขานี้ มีหินค่อนข้างกลม ก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง ตั้งอยู่โดยไม่ติดกับพื้น ซึ่งทำให้อาจลื่นไหลได้ ดูเป็นสิ่งมหัศจรรย์ มีผู้สร้างพระสถูป บนยอดก้อนหินนี้ เรียกว่าพระธาตุไจทียู หรือพระธาตุอินทร์แขวน เป็นสถานที่ ซึ่งทั้งมอญพม่า เลื่อมใสมากราบไหว้ รวมทั้งมีผู้เขียนตำนาน อธิบายความเป็นมาด้วย
    ชนชาติจามหรือจามปา ซึ่งปัจจุบันความเป็นชาติ และบ้านเมือง ได้สูญสลายกลายเป็นส่วนหนึ่ง ของเวียดนามนั้น ในสมัยที่ยังมีตัวตนอยู่ ก็ได้ความสำคัญ ในเรื่องเขาศักดิ์สิทธิ์ เป็นอย่างมากทีเดียว โดยให้ความสำคัญ ทั้งเขาธรรมชาติ และการสร้างศาสนสถาน ที่เป็นสัญลักษณ์ของภูเขา
    ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเขาธรรมชาตินั้น คือภูเขาที่มีความโดดเด่น แลเห็นได้แต่ไกล จากหลายๆ มุม โดยมาก เขาประเภทนี้ จะมีความสัมพันธ์กับเมือง หรือท้องถิ่นใด ท้องถิ่นหนึ่ง อย่างเช่นในแคว้นอมราวดี อันเป็นที่ตั้งของเมืองยาเกียว และศาสนสถานสำคัญหลายแห่ง โดยเฉพาะ กลุ่มของโบราณสถานมิซอน ก็มีเขารังแมว เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ มองเห็นได้อย่างโดดเด่น

    ในเขตแคว้นปาณฑุรังคะ ซึ่งเป็นของพวกจามทางตอนใต้ ก็มีภูเขาลูกหนึ่ง เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ โดยที่ความศักดิ์สิทธิ์นั้น อยู่ตรงปลายแหลม บนยอดภูเขา ที่เด่นตรงออกมา คล้ายกับแท่งศิวลึงค์ เขาลูกนี้ เห็นได้ทั้งจากที่ราบภายใน และจากทะเล โดยเฉพาะจากทางทะเลนั้น เป็นสิ่งที่นักเดินเรือ อาจใช้สังเกต เป็นสัญลักษณ์ของภูมิประเทศ บ้านเมืองได้ ว่ามาถึงชายฝั่งทะเล ของเมืองอะไรแล้ว ดูเหมือนความโดดเด่นของภูเขา ที่มีเดือยคล้ายศิวะลึงค์อยู่บนยอดนี้ ได้มีผู้จดบันทึกไว้ ในจดหมายเหตุจีนโบราณ และเรียกภูเขาลูกนี้ว่าลิงคบรรพต เป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ ที่สำคัญของพวกจาม แต่สำหรับคนทั่วไป เมื่อเข้ามาใกล้เขาลูกนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าเดือย หรือแท่งหิน ที่สมมุติว่าเป็นแท่งศิวลึงค์ธรรมชาตินั้น แท้จริงก็คือ แท่งหินบนยอดเขาหินแกรนิต หรือหินอัคนีนั้นเอง
    ในเมืองไทยก็มีเขาหินแกรนิต แบบนี้มากมาย แต่ทว่าไม่มีแท่งหิน โดดเด่นบนยอดเขาเช่นนี้ หากมักเป็นก้อนๆ อยู่รอบเขา หรือข้างเขาเสียมาก เช่น เขาหินซ้อน ในเขตอำเภอพนมสารคาม จังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น
    อย่างไรก็ตาม มีเขาสูงอีกลูกหนึ่ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ในเขตเมืองจัมปาสัก ต่อกับจังหวัดอุบลราชธานีของไทย มีชื่อว่าภูเก้า สูงตระหง่าน อยู่เหนือที่ราบลุ่ม ของเมืองจัมปาสัก บนยอดเขามีเดือย หรือแท่งหิน ที่ดูคล้ายศิวลึงค์ธรรมชาติ เหมือนกัน แต่ไม่ทราบแน่ชัด ว่าเป็นภูเขาหินแกรนิตหรือไม่ ตรงไหล่เขา และตีนเขาลูกนี้ เป็นที่ตั้งปราสาทขอม ที่มีมาตั้งแต่สมัย พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ แห่งอาณาจักรกัมพูชา หรือเมืองพระนคร เรียกกันทั่วไปในปัจจุบันว่า ปราสาทวัดภู เป็นปราสาทขนาดใหญ่ และสวยงามไม่แพ้เขาพระวิหารทีเดียว
    ถ้ามองดูหลักฐานทางโบราณคดี ที่เกี่ยวข้องในบริเวณใกล้เคียง ก็พบว่า บริเวณที่เป็นเมืองจัมปาสักของลาวนั้น แต่เดิมมีเมืองขอม รูปสี่เหลี่ยม เกือบเป็นจัตุรัสตั้งอยู่ ปรากฏในศิลาจารึก เรียกว่าเมืองเศรษฐปุระ ปราสาทวัดภูนี้ คงมีความสัมพันธ์ กับเมืองเศรษฐปุระอย่างไม่ต้องสงสัย แต่นักโบราณคดี ก็พบหลักฐานที่เก่าแก่ไปกว่าสมัยขอมอีก คือ พบว่าเป็นบ้านเมือง ที่มีมาแต่สมัย ก่อนเมืองพระนคร หรือที่เรียกว่า สมัยเจนละ ก็ว่าได้ หลายคนตั้งข้อสันนิษฐานว่า เป็นเมืองสำคัญของแคว้นเจนละบกทีเดียว
    ยิ่งกว่านั้น ก็พบศิลาจารึกของพวกจาม ที่ระบุว่า ดินแดนบริเวณนี้ เคยเป็นของพวกจามมาก่อน และมีพระนาม ของกษัตริย์จาม ที่ทรงพระนามว่า เทวนิกาอยู่ด้วย บางคนก็อ้างว่า ภูเก้าที่มีแท่งศิวลึงค์ธรรมชาติ อยู่บนยอดนั้น มีผู้เรียกว่า ลิงคบรรพต และเคยเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ของพวกจามมาก่อน
    อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ ทั้งร่องรอยของเมืองเศรษฐปุระ ที่มีมาก่อน สมัยเมืองพระนคร ปราสาทวัดภู และภูเก้าที่มีศิวลึงค์ธรรมชาตินั้น ก็คือสิ่งที่แสดงให้เห็น ถึงความนึกคิดของคนจาม และขอมโบราณ ที่เกี่ยวกับการสร้างบ้านแปงเมือง อย่างเด่นชัด นั่นก็คือ บริเวณเมืองจัมปาสักนั้น เป็นพื้นที่ราบลุ่มที่ปลูกข้าวได้ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ที่เป็นเส้นทางคมนาคม ไปยังที่อื่นๆ เช่น เข้าไปในดินแดนลาว ไทย เขมร จาม และเวียดนามใต้ โดยมีเทือกเขาใหญ่ ที่มีภูเก้าเป็นประธานอยู่เบื้องหลัง สามารถใช้เป็นสัญลักษณ์ ทางภูมิทัศน์ และภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ที่โดดเด่นได้ จึงมีการสร้างบ้านสร้างเมือง และศาสนสถานสำคัญเกิดขึ้น และสืบทอดต่อมา   จนเป็นเมืองจัมปาสัก ที่เป็นเมืองสำคัญ ของแคว้นจัมปาสักทีเดียว

    จากภูมิประเทศ สภาพแวดล้อมธรรมชาติ ที่ตั้งของเมือง และความสัมพันธ์กับศาสนสถาน และภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ที่ภูเก้าดังกล่าวนี้ เป็นเหตุให้นักประวัติศาสตร์โบราณคดี ของฝรั่งเศส และชาติอื่นๆ มีความเห็นว่า เมืองสำคัญของเจนละบก อยู่ที่จัมปาสัก และวัดภูนี้ และจากบริเวณเมือง ที่เป็นศูนย์กลางของรัฐนี้ กษัตริย์เจนละองค์สำคัญ คือเจ้าชายจิตรเสนได้แผ่อำนาจเข้าปกครองพื้นที่ ในภาคอิสานของประเทศไทย ก่อนที่จะขยาย ลงไปยังที่ราบเขมรต่ำ แล้วสถาปนาความเป็นใหญ่ ในพระนามว่า มเหนทรวรมัน ผู้ทรงเป็นพระบิดาของ พระเจ้าอีศานวรมัน ที่มีอำนาจ ทั้งดินแดนเจนละบก และเจนละน้ำ
    เรื่องนี้ นักประวัติศาสตร์ไทย เช่น รองศาสตราจารย์ ดร.ธิดา สาระยา แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอความคิด ที่ต่างออกไปในหนังสือ กว่าจะเป็นคนไทย ที่สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม จัดพิมพ์ขึ้นว่า ถิ่นเดิมของกษัตริย์มเหนทรวรมัน หรือจิตรเสนนั้น ไม่น่าจะอยู่ที่วัดภูจัมปาสักมาก่อน เพราะบริเวณนี้ เป็นดินแดนของพวกจาม ถิ่นฐานของจิตรเสน ถ้าพิจารณาจากหลักฐานทางโบราณคดี ชุมชนโบราณ และจารึกแล้ว จะพบในแถบลุ่มน้ำมูล - ชีตอนล่าง ตั้งแต่เขตจังหวัดยโสธรลงมา จนถึงจังหวัดอุบลราชธานี การขยายตัวก็คือ จากทางลุ่มน้ำมูล - ชี ผ่านขึ้นไปยังปากแม่น้ำมูล และริมฝั่งโขง ในเขตแคว้นจัมปาสัก เพราะมีร่องรอยการปักจารึกแสดงเขตอยู่ นั่นก็คือ การขยายตัวจากเขตไทย เข้าไปตั้งเมืองสำคัญ อยู่ที่จัมปาสักและวัดภูนั่นเอง
    แต่สิ่งที่ติดใจมากที่สุดในที่นี้ ก็คือ ความเป็นลิงคบรรพต ของภูเก้าที่วัดภู ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นความนึกคิด และจินตนาการ ของพวกจามโดยแท้ เพราะนอกจากภูเก้าแล้ว ยังพบในเขตประเทศเวียดนาม ซึ่งครั้งหนึ่ง คือดินแดนจามตอนใต้ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
    ข้าพเจ้าได้ความรู้เพิ่มเติมจากนายไมเคิล ไรท ผู้มีความรู้ทางศิลป วัฒนธรรม ของอุษาคเนย์อย่างกว้างขวาง ไมเคิล ไรท เรียกแท่งศิวลึงค์ธรรมชาติ บนยอดเขานี้ว่า "สวยัมภูวลึงค์" นับว่าเข้าท่าดี อีกทั้งให้ความกระจ่างเพิ่มเติม ขึ้นมาแก่ข้าพเจ้าอีกมาก ทำให้แลเห็นภาพเขาศักดิ์สิทธิ์ อีกหลายแห่ง ที่ไม่จำเป็นต้องสูงตระหง่านใหญ่โต ยังมีเขาลูกเล็กๆ หรือโขดหิน ที่นับเนื่องเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ได้ เช่นเดียวกันอีกหลายแห่ง ในความนึกคิด และจินตนาการของคนโบราณ

อ่านต่อคลิกที่นี่Click here


ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ กับความเป็นสากล (ต่อ)

MB-Journal@ViriyahBooks.com

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ ]

ขึ้นข้างบน (Back to Top) วารสาร เมืองโบราณ (Muang Boran Journal) หน้าที่แล้ว (Previous Page) หน้าถัดไป (Next Page)