เด็กพันธุ์ใหม่ ...วัย X
โดย อรสม สุทธิสาคร

Click ชีวิตวัยรุ่นไทยยุคปี ๒๐๐๐ ในความเห็นของคุณClick ชีวิตวัยรุ่นไทยยุคปี ๒๐๐๐ ในความเห็นของคุณ

ปกหนังสือ เด็กพันธุ์ใหม่...วัย X (คลิกดูหน้าหลัก)
บันทึกจากรั้วโรงเรียน  
โรงเรียนในฝัน ความสุขของหนูอยู่ที่ไหน  
      "โรงเรียนในฝันของผมคือโรงเรียนที่เด็กได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน โรงเรียนควรวางนโยบายให้เด็กมีส่วนร่วมเป็นไชล์ดเซ็นเตอร์ของแท้ ครูไม่ควรดุมาก แต่มีความเป็นกันเองกับเด็ก ผมเคยไปเห็นโรงเรียนตามต่างจังหวัด บางทีเป็นโรงเรียนจนๆ แต่ผมคิดว่าดีมาก อบอุ่นดี พอโรงเรียนเลิก ครูก็บอกกับเด็กว่าเย็นนี้ไปกินข้าวบ้านครูนะ ได้ใช้ชีวิตหลังเลิกเรียนกับครู กับเพื่อน สนิทสนมกัน เด็กๆ ก็มีความสุข ไม่มีการเรียนพิเศษ ต่างจากโรงเรียนในกรุงเทพฯ มาก โรงเรียนที่นี่บางทีครูไม่มีจิตวิทยาในการสอนด้วย ครูชอบให้เราทำรายงานเรื่องที่ครูอยากให้ทำ ไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจ ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนก็ไม่อบอุ่น มีช่องว่างมากมาย" นักเรียนชั้นมัธยมปลายของโรงเรียนรัฐบาลชายเก่าแก่มีชื่อแห่งหนึ่ง บอกเล่าถึงโรงเรียนในฝันของเขา
      โลกนับวันจะก้าวไกล แต่การศึกษาของไทยยังย่ำหยุดอยู่กับที่ ไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง เด็กๆ ส่วนหนึ่งยังคงหาความสุขในห้องเรียนไม่พบ!
      เด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลายของโรงเรียนเอกชนหญิงเก่าแก่ชั้นสูงแห่งหนึ่ง บอกเล่าถึงคุณภาพของครู และบรรยากาศการสอนในโรงเรียนว่า โรงเรียนแห่งนี้ มีคุณภาพการเรียนการสอนที่ดี แต่ก็มีกฎเหล็กอันเคร่งครัด นักเรียนได้รับการอบรมให้ยึดมั่น ในเกียรติภูมิความเป็นสายเลือดของสถาบันแห่งนี้อย่างเข้มข้น โดยได้รับการปลูกฝัง ในเรื่องคุณสมบัติของกุลสตรีไทยแท้แต่โบราณครบถ้วน แม้จะมีส่วนดี แต่การยึดกฎระเบียบที่เคร่งครัดจนเกินไป ทำให้เด็กซึ่งอยู่ในวัยรุ่นเหนื่อยหน่าย อึดอัดกับกรอบอันหนาหนักที่ร้อยรัด
      "ที่นี่คะแนนความประพฤติหนึ่งร้อยคะแนน เด็กคนไหนเดินกินขนม ทำผิดกฎก็ถูกหักคะแนน กฎระเบียบหยุมหยิมไปหมด คะแนนความประพฤตินี้สำคัญมาก ถ้าคะแนนไม่ถึง อาจถูกให้ออกจากโรงเรียนได้ ทำให้เด็กรู้สึกเครียด ไม่รู้จะถูกหักคะแนนเมื่อไร ยิ่งเวลาที่เราทำผิด ครูชอบถามว่าเธอเป็นเด็ก...(ชื่อโรงเรียน) หรือเปล่า เด็กบางคนร้องไห้เลย รู้สึกเหมือนถูกหยามศักดิ์ศรี หนูอยากให้โรงเรียนมีกฎระเบียบน้อยกว่านี้ ยอมรับความเป็นจริงว่า ความเป็นผู้ดีในสายเลือด ของสถาบันมันล้าสมัยไปแล้ว สำหรับโลกยุคปัจจุบัน"
      จากปากคำของเด็กมัธยมหลายราย พบว่า โรงเรียนเอกชนระดับสูง มักมีคุณภาพการสอนที่มาตรฐาน กรณีเป็นโรงเรียนเอกชนเก่าแก่ของชนชั้นสูง มักมีกฎระเบียบเคร่งครัด แต่หากเป็นโรงเรียนเอกชนฝรั่ง ที่ลูกหลานคนมีเงินเรียนกัน บรรยากาศจะดูอบอุ่นเป็นกันเอง ในระหว่างครูกับศิษย์มากกว่า ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นส่วนหนึ่ง มาจากการที่ทั้งครู และศิษย์สอนเรียนเขียนอ่านกันมาแต่เล็กแต่น้อย
      "เรียนที่นี่ความรู้แน่นมาก ครูเอาใจใส่ดี โรงเรียนเราเป็นโรงเรียนเล็กๆ       เด็กทั้งโรงเรียนตั้งแต่อนุบาลมา มีประมาณสองพันเท่านั้น ชั้นละแค่สามห้อง ทำให้ครูดูแลได้เต็มที่ อบอุ่นมาก ครูบางคนสอนจนถึงอายุเจ็ดสิบแปดสิบ รู้สึกเหมือนเป็นคุณยาย ครูที่นี่ไม่ตีเด็ก บางคนอาจดุบ้าง แต่เราใช้เหตุผลพูดกัน บางคนจบมาเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ครูเห็นก็ยังทักทาย จำเราได้ เป็นสิ่งที่เราประทับใจ ที่นี่เพื่อนๆ ก็รู้จักกันหมด ที่โรงเรียนมีกิจกรรมดีๆ เยอะมาก กิจกรรมที่น่าสนใจคือด้านสังคมสงเคราะห์ มาแมร์พยายามให้เราได้เห็นชีวิตจริงว่า เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งในสังคม ยังมีคนที่เดือดร้อนทุกข์ยากกว่าเรา"
      ปัญหาเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนของครู ในโรงเรียนมัธยมของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนมีชื่อเสียง มีเกียรติภูมิเก่าแก่ หรือโรงเรียนระดับกลางลงมา เด็กส่วนหนึ่งประเมินว่า แม้จะมีครูส่วนหนึ่งที่เอาใจใส่กับคุณภาพการเรียนการสอนดี แต่ครูส่วนใหญ่ยังมีคุณภาพที่ย่อหย่อน ไม่รู้จักพัฒนาการเรียนการสอน ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนชวนเบื่อ เด็กไม่สนุกไปกับการเรียน นอกจากนี้ครูบางส่วน ยังมีพฤติกรรมชอบใช้อำนาจ ชอบไหว้วานเด็กให้ซื้อโอเลี้ยง ซื้อข้าวกลางวันให้ หรือแม้แต่เป็นนักขาย ขายตั้งแต่ข้าวแต๋น จนถึงสินค้ากิฟฟารีน ตลอดจนบรรยากาศในห้องเรียนก็ไม่น่าเรียน เช่น บางแห่งอยู่ติดถนนใหญ่ เสียงรถราดัง บางห้องมีกลิ่นจากโรงอาหารข้างล่างรบกวน ทำให้ขาดสมาธิ หรือบางโรงเรียน อากาศในห้องร้อนอบอ้าวเกินไป ไม่มีพัดลมเพียงพอ
      จำนวนเด็กในห้องที่มากขนาด ๕๐ คนเศษโดยประมาณ ทำให้บางครั้ง อาจารย์ที่ปรึกษา (ครูประจำชั้น) จำชื่อ จำหน้านักเรียนไม่ได้ทั้งหมด ความผูกพันระหว่างครูกับศิษย์จึงไม่ค่อยมี จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกวันนี้ เด็กส่วนหนึ่งมองว่าครูเป็นเพียง "คนรับจ้างสอน" ไม่ใช่เป็น "แม่พิมพ์" ผู้มีพระคุณ งานครูก็ไม่ผิดจากงานอาชีพอื่นๆ ทั่วไป
      "ครูบางคนสอนไม่รู้เรื่อง ชอบอ่านหนังสือเรียนให้เด็กฟัง บางคนก็ดุมาก บ้าอำนาจ เด็กทำผิดเล็กๆ น้อยๆ ก็ลงโทษด้วยการให้ยืนตลอดชั่วโมง ด่าเด็กเสียๆ หายๆ เช่น ด่าว่าไอ้ควาย โง่จริงๆ สอนไม่รู้เรื่องหรือไง ครูบางคนตั้งใจสอน แต่ขาดเทคนิคที่ดี เรียนแล้วไม่สนุก บางคนชอบให้ท่องจำ แทนที่จะให้เด็กเรียนด้วยความเข้าใจ ครูบางคนก็ขี้โม้ ชอบคุยว่าตัวเองเรียนสูง จบที่นั่นที่นี่ มีเพื่อนเป็นคนดังอย่างนั้นอย่างนี้ ครูบางคนเด็กคุยกันในห้องเรียน หรือลอกการบ้านเพื่อน ก็ลงโทษแปลกๆ ครูมักชอบคิดว่าตนเองเป็นผู้ให้ คิดว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่เสียสละ หนูอยากให้ครูพัฒนาการสอนไม่ให้น่าเบื่อ เด็กควรเรียนด้วยความสุขและสนุก เด็กวัยนี้ต้องมีกิจกรรม โรงเรียนควรส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้มาก" เป็นเสียงจากนักเรียนโรงเรียนสตรีของรัฐแห่งหนึ่ง
 
      นักเรียนหญิงชั้นมัธยมปลาย โรงเรียนสหศึกษาระดับกลางแห่งหนึ่งของรัฐ บอกเล่าถึงโลกในโรงเรียนของเธอว่า ครูดีที่ใส่ใจให้ความอบอุ่นเด็ก ครูที่มีคุณภาพการสอนที่ดียังคงมี แม้ว่ายังน้อยมาก หากเทียบกับครูโดยทั่วไป
      "หนูมองว่าคุณภาพการเรียนการสอนโดยรวม ยังไม่ดีเท่าที่ควร ไม่รู้ได้โรงเรียนพระราชทานดีเด่น มาได้ยังไง ครูบางคนไม่รู้ไปโกรธใครที่ไหนมา ด่าเด็กว่าไม่นึกว่าพวกแกจะโง่เหมือนควาย บางทีทุบหลังนักเรียนดังอั้ก แรงมาก ครูบางคนโหดมาก ออกข้อสอบยาก เด็กตกเกือบยกชั้น มีผ่านแค่คนเดียว ครูบางคนขายของ เช่น ครูคนหนึ่งขายมะขามคลุก ขายขนม ดูก็น่าสงสาร บางคนขายสินค้าของกิฟฟารีน ให้เพื่อนครูด้วยกัน ขายให้นักเรียนด้วย มีแป้งพัฟ เครื่องสำอาง แคลเซียมที่กินแล้วสูง คุกกี้ที่กินแล้วลดน้ำหนัก ขายยาขัดรองเท้า ครูยังลองขัดรองเท้าให้เด็กดู เป็นการสาธิตคุณภาพสินค้า มีโอกาสตอนไหนก็ขาย เวลาเรียนก็สอนเรียนไป เผลอๆ ก็วกกลับมาพูดเสนอขายสินค้าอีก บางทีเด็กก็บอกกันว่าครูจะเป็นครูหรือเป็นนักขาย ครูบางคนสอนๆ อยู่ เดี๋ยวโทรศัพท์มือถือดัง พอคุยจบ อีกสิบนาทีดังอีก มัวแต่รับโทรศัพท์แทบไม่ได้สอน ครูบางคนคุยเรื่องตัวเอง เล่าถึงสมัยครูเรียนหนังสือ เล่ามาสามอาทิตย์ยังไม่จบ คุยว่าชีวิตตัวเองประสบความสำเร็จยังไง พี่น้องครูเก่งยังไง ลูกตัวเองดียังไง ครูพวกนี้จะมาสาย กลับบ้านเร็ว ครูบางคนไม่ยอมสอน ให้ทำรายงานอย่างเดียว ครูบางคนขี้บ่น ดุมาก
      "หนูเรียนห้องคิง บางทีก็กดดัน ครูบางคนเห็นว่าห้องนี้เก่งแล้ว ครูบอกไม่ต้องสอน ให้เธอไปหาอ่านหนังสือเอาเอง เราก็ไม่รู้จะไปหาอ่านจากที่ไหน ครูบางคนฐานะดี ขี่รถหรูๆ มาสอน แต่งตัวประกวดประขันกันก็มี ครูคนไหนที่แย่ๆ ก็ไม่ค่อยทำงาน ส่วนครูดีก็ทำงานไม่ได้หยุด"
      โรงเรียนสหศึกษาระดับกลางของรัฐแห่งนี้ มีห้องน้ำสำหรับนักเรียนทั้งหมดสี่จุด บ่อยครั้งที่ห้องน้ำถึงสามจุดน้ำไม่ไหล แถมไฟฟ้ายังดับประจำ ทำให้ครูบางคนถือโอกาสบอกเลิกการสอนในชั่วโมงนั้น
      "ครูผู้ชายบางคนก็ชอบหลีเด็กผู้หญิง ชอบแอบมองขาเด็กผู้หญิง พูดจาจีบ ทำตาเยิ้มๆ ใส่ เด็กผู้หญิงไม่มีใครชอบ พอเราพูดไป ครูก็จะบอกว่าครูล้อเล่นน่ะ"
      กิจกรรมยามเช้า ที่เด็กรุ่นพ่อรุ่นแม่เคยเบื่อหน่ายมานานนักในอดีต คือการยืนเข้าแถวเคารพธงชาติ และรับฟังโอวาทของครูก่อนเข้าเรียน กินเวลานานประมาณ ๒๐-๓๐ นาที ท่ามกลางแดดเปรี้ยง ทำเอาเด็กนักเรียนเป็นลมอยู่บ่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ กิจกรรมนี้ก็ยังคงไม่แตกต่างจากเดิม ในโรงเรียนมัธยมของรัฐ ที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมา นอกจากนี้กิจกรรมบางวาระ เช่น ส่งเสริมประชาธิปไตย ด้วยการรณรงค์ให้คนไปเลือกตั้ง โดยการบังคับกะเกณฑ์เด็กนักเรียน ถือป้ายเดินไปตามถนน ระยะทางไกลหลายกิโล ท่ามกลางแดดเปรี้ยงๆ เดินกันไม่ต่ำกว่า ๒-๓ ชั่วโมง กิจกรรมเช่นนี้ก็ยังคงมีอยู่ดุจเดิม เหมือนวันวานอย่างไรก็อย่างนั้น
      เด็กๆ เกือบทุกคนที่ได้สอบถาม มักตอบเช่นเดียวกันว่า ที่มาที่ทำให้โลกในโรงเรียนของพวกเขาเป็นสุข คือ "เพื่อน" มากกว่าประการอื่นใด และหลายคนฝันอยากให้โรงเรียนในฝันมีอากาศดี ที่กว้างโล่ง มีต้นไม้ร่มรื่น มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนที่ดีและพร้อมสรรพ และให้เด็กซึ่งเป็นผู้เรียน ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นมากกว่านี้ ไม่ใช่ "สั่งแล้วบังคับให้ทำ" อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
      แม้เมื่อก้าวสู่รั้ววิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย ในสถาบันระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง ก็ยังคงมีครูอาจารย์ที่มีพฤติกรรมการสอนที่ไม่มาตรฐาน เช่น อาจารย์ที่เปิดหนังสือตำราอ่านให้เด็กฟังไปตามแกน หรือบางคนพูดถึงแต่เรื่องราวของตนหรือสิ่งที่ตนสนใจ อาจารย์บางคนพยายามส่งเสริมกิจกรรมดีๆ แต่ก็เป็นการบังคับ โดยใช้คะแนนมาเป็นตัวกำหนด
      "อาจารย์บางคนจัดกิจกรรมพาเด็กไปวัด หกโมงครึ่งต้องไปให้ทันใส่บาตร เด็กบางคนบ้านอยู่ไกลมาก ต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่กว่า มีการเช็กชื่อนักเรียนมาใส่บาตร อาจารย์บอกว่าชาตินี้ทำบุญร่วมกัน ชาติหน้าจะได้เกิดมาพบกันอีก ใส่บาตรเสร็จก็สวดมนต์ฟังเทศน์ฟังธรรมต่อ เด็กก็นั่งหลับ อันที่จริงนี่ก็เป็นกิจกรรมที่ดี แต่การบังคับว่าต้องมา ทำให้เด็กเบื่อ คือไม่มีเทคนิคที่ดี อาจารย์บางคนเอาเวลาไปทำงานนอก ไม่ค่อยได้เข้าสอน บางคนไม่เคยตรวจข้อสอบ รู้กันในหมู่เด็กว่า อาจารย์ใช้วิธีจับสลากนักศึกษาผู้โชคดี เคยมีเพื่อนคนที่ให้เขาลอกข้อสอบได้เกรดซี ในขณะที่เพื่อนคนที่ลอกได้เอ ทั้งที่ตอบเหมือนกัน ทุกคนรู้กันหมดว่า วิชานี้ลุ้นดวงอย่างเดียว อาจารย์บางคนไม่เคยพูดถึงวิชาที่ตัวเองสอน พูดถึงแต่เรื่องมนุษย์ต่างดาว เพราะอาจารย์สนใจเรื่องนี้ เด็กเข้าเรียนวิชานี้หนาแน่นมาก เพราะได้ฟังอาจารย์เล่าเรื่องมนุษย์ต่างดาว สนุกดี
      "อาจารย์ฝรั่งต่างชาติที่มาสอนนี่ก็ตัวดี ชอบป้อเด็กน่าดู ชอบให้นักศึกษานุ่งกระโปรงสั้น วันไหนสอนการพูด อาจารย์จะให้นักศึกษาไปฝึกพูดต่อหน้าในห้องพักครู เป็นที่รู้กันว่านักศึกษาที่อยากได้คะแนน ใครที่เคยนุ่งยาวๆ ก็ต้องนุ่งสั้นให้อาจารย์ดู ต้องทำเพื่อคะแนน อาจารย์ฝรั่งบางคนก็พานักศึกษาหญิงไปเที่ยว ไปกินข้าว" เป็นเสียงจากนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชน ระดับแถวหน้าของประเทศ
      ดูเหมือนว่าโรงเรียน และสถาบันการศึกษาในฝันของเด็ก ยังคงเป็นฝันที่ล่องลอยไกลห่างจากความเป็นจริง! การพัฒนาโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา มักเป็นการพัฒนาทางด้านวัตถุ ตัวอาคาร ความสวยงามของสนามหญ้า มากกว่าจะพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน อุปกรณ์การเรียน ตลอดจนถึงการพัฒนาคุณภาพของครูผู้สอน ทั้งที่การศึกษา คือหัวใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของเยาวชน และชาติบ้านเมือง
 

 
 

contact@sarakadee.com
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สั่งซื้อหนังสือ ]
สำนักพิมพ์ สารคดี