น้ำท่วม ดินถล่มและอบต.

น้ำท่วมปีนี้มากจริงๆ ครับ ฝนมาเร็วกว่าปรกติ ปริมาณฝนมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา  และดูเหมือนปีต่อไปอาจจะมีการทำลายสถิติขึ้นไปเรื่อย ๆ

จำได้ว่าตอนกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาภาคใต้ของไทยก็โดนอุทกภัยโหมกระหน่ำเข้าใส่โดยไม่รู้ตัว เพราะไม่มีใครคิดว่าจะมีพายุหลงฤดูเข้ามาในช่วงหน้าร้อน อันเป็นผลมาจากอิทธิพลของความกดอากาศต่ำจากประเทศจีนมาเจอกับความกดอากาศต่ำในอ่าวไทย  ทำให้เกิดฝนตกหนักตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีจนถึงจังหวัดพัทลุง  เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ภูเขาพัง ดินถล่มอย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิตคนปักษ์ใต้

“ผมมีนากุ้งอยู่สิบบ่อ บ่อหนึ่งลงทุนไปหลายล้านบาท พอน้ำท่วมทีเดียว กุ้งหายหมด ผมล้มละลายทันทีไม่รู้ว่าจะไปใช้หนี้สินได้อย่างไร” ผู้เขียนยังจำคำพูดของหนุ่มใหญ่คนหนึ่งให้ฟังถึงอนาคตของตัวเองด้วยความเครียด ตอนที่ลงไปสำรวจพื้นที่แถวอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เวลานั้นมีคนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่านอกจากน้ำท่วมแล้ว ปัญหาดินถล่มจากภูเขาหลังฝนตกหนักเริ่มมีบ่อยขึ้นสร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก

อันที่จริงปัญหาดินถล่มเริ่มมีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตมาหลายปีแล้วว่ามีความสัมพันธ์กับความนิยมในการปลูกสวนยางพาราและพืชเชิงเดี่ยวที่มีมากขึ้น

ตอนแรก ๆ พืชเหล่านี้ปลูกกันในพื้นที่ราบ ก็ยังไม่ก่อปัญหา แต่เมื่อชาวบ้านเริ่มบุกรุกป่าโค่นต้นไม้ ไปปลูกพืชไร่ตามที่ลาดเชิงเขา ไปจนถึงบนภูเขา ปัญหาดินถล่มหลังฝนตกหนักก็ติดตามมาบ่อยขึ้น

คนทั่วไปพอจะเข้าใจว่าสาเหตุของดินถล่มจากภูเขา ส่วนใหญ่เกิดจากไม่มีรากของต้นไม้ใหญ่จำนวนมากบนภูเขาหรือที่ลาดคอยยึดชั้นดินเวลามีฝนตกหนัก ๆ ดินจึงถล่มลงมาได้ง่ายดาย

เคยมีนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองปลูกต้นไม้หลายชนิดตามเชิงเขาเพื่อทดสอบความสามารถของรากของต้นไม้ต่าง ๆ ในการยึดเกาะชั้นดิน ปรากฏว่ารากของต้นไทรลึกและแผ่ขยายได้ดีมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะชั้นดินได้ดีที่สุด ส่วนรากของต้นยางพาราติดอันดับสุดท้าย ไม่ค่อยมีคุณสมบัติในการยึดเกาะชั้นดิน

สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางยังเคยยอมรับว่าการบุกรุกป่าเพื่อแปรสภาพเป็นสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันจำนวนมาก ทำให้ดินขาดรากแก้วอุ้มน้ำ
ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำจำนวนมากได้จนเกิดปัญหาดินถล่ม

ยังไม่ทันไรตอนปลายเดือนมิถุนายน ดีเปรสชั่น “ไหหม่า”  ได้ถล่มพื้นที่ทางภาคเหนือและอีสานทำให้น้ำท่วมในพื้นที่ น่าน พะเยา เชียงราย และ ตาก ตามติดมาด้วยพายุ “นกเต็น” เกิดฝนตกหนักกินบริเวณไปทั่วตอนบนของประเทศ

เช่นเดียวกัน ดูเหมือนจังหวัดน่านจะประสบปัญหาดินถล่มมากที่สุดจังหวัดหนึ่งและเมื่อลองเข้าไปสำรวจดูแล้ว จะพบว่า จังหวัดน่านที่มีพื้นที่ภูเขามากกว่าที่ราบมีพื้นที่ป่ามากกว่าพื้นที่เกษตร แต่หลายปีที่ผ่านมามีการส่งเสริมให้ชาวบ้านบุกรุกป่าเพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นไร่ข้าวโพดอย่างรุนแรง ภูเขาที่เคยมีป่าปกคลุมกลายเป็นไร่ข้าวโพดสุดลูกหูลูกตา

ข้าวโพดเหล่านี้จะถูกนำมาแปรรูปเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำหรับวัว หมู ไก่ เพื่อจะนำมาเนื้อมาเลี้ยงมนุษย์อีกทอดหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจ ทุกครั้งที่เราซื้อยางรถยนต์ ทุกครั้งที่เรากินไก่ย่าง สเต็กเนื้อสัน หรือหมูอบ เราอาจจะมีส่วนในการทำลายป่าทางอ้อมอย่างไม่รู้ตัว และมีส่วนทำให้เกิดดินถล่มอย่างไม่ตั้งใจด้วย

พอย่างเข้าเดือนสิงหาคม อิทธิพลจากพายุได้ทำให้เกิดน้ำท่วมในภาคเหนือ ภาคอีสานและปริมาณน้ำได้เดินทางไหลลงมาสู่ภาคกลาง น้ำในเขื่อนต่าง ๆ กักน้ำจนแทบจะล้น จำเป็นต้องปล่อยน้ำออกมา ปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก กำลังจะไหลบ่าเข้ามาท่วมที่ราบลุ่มภาคกลาง

ผู้ว่าราชการจังหวัดคนหนึ่งซึ่งกำลังจะเกษียณอายุราชการ และคร่ำหวอดกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมมาหลายจังหวัด ได้พูดให้ผู้เขียนฟังเมื่อเร็ว ๆนี้ว่า

“ผมสังเกตว่า ปัญหาน้ำท่วมรุนแรงขึ้นทุกปี นับตั้งแต่มีการจัดตั้ง อบต.”

ผู้ว่าฯ ได้ขยายความต่อเมื่อเห็นสีหน้าแปลกใจของผู้เขียนว่า

“คุณเห็นไหม ข่าวที่ออกทุกวันคือ ชาวบ้านทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลที่ประสบปัญหาน้ำท่วม พากันสร้างคันดิน คันกำแพงป้องกันไม่ให้น้ำท่วมหมู่บ้านตัวเอง อบต.ไหนมีเงินมากก็สร้างคันกั้นน้ำสูงผลก็คือน้ำก็ไหลไปท่วมหมู่บ้านอื่นที่สร้างคันกั้นน้ำต่ำกว่า”

“การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้ทำให้อบต.มีงบประมาณเป็นของตัวเอง ไม่ต้องง้อส่วนกลาง ทุกอบต.ก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันต่างคนต่างเอาตัวรอดกัน ไม่มีการวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้ง ๆที่ปัญหาน้ำท่วมต้องเป็นการแก้ปัญหาภาพรวมทั้งหมด แต่สถานการณ์ทุกวันนี้ทุกคนเอาตัวรอดกันหมด ผู้ว่าฯก็มาทำหน้าที่คอยไกล่เกลี่ยกันเวลาสองหมู่บ้านจะตีกันเรื่องคันกั้นน้ำ”

“ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยาและอีกหลายหน่วยงานก็ไม่เคยมาคุยกันเพื่อหาภาพรวมของปัญหาร่วมกัน หาแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างจริงจังสักทีต่างคนต่างทำงาน ต่างคนต่างเก่ง พอนายกฯสั่งที ก็มาประชุมกันที ปากก็บอกจะบูรณาการแต่พอน้ำเลิกท่วมก็เงียบหายกันไป ต่างกลับเข้ากรมกองตัวเองเหมือนเดิม”

ชาวบ้านตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรีผู้ประสบปัญหาน้ำท่วมมาสองอาทิตย์แล้ว ระดับน้ำประมาณสองเมตรกว่าได้กล่าวกับผู้เขียน ขณะพายเรือไปเยี่ยมว่า

“ น้ำมาเร็วมากมันเอ่อล้นมาจากหมู่บ้านที่คันกั้นน้ำสูงกว่า น้ำไหลมาตอนสายพอบ่ายน้ำก็ท่วมถึงชั้นสองแล้ว เก็บของแทบไม่ทัน ”

ยายผัน ค้าเจริญ วัย 83 ปี ผู้ประสบภัยอีกคนหนึ่งได้ชี้ให้เราดูบ้าน สมบัติชิ้นสุดท้ายของแกที่ถูกน้ำท่วมมิดหลังคาจนต้องมาอาศัยศาลาชั้นสองของวัดอยู่ชั่วคราว ยายร้องไห้ด้วยความเป็นห่วงลูกสาวผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจในสภาพเช่นนี้

ยายผันบอกว่าน้ำท่วมมาหลายปีแล้ว  พอน้ำลดก็จะไปซ่อมแซมบ้านกันใหม่ ไม่รู้ว่าจะอพยพไปอยู่ที่ไหน

“ยายก็ต้องช่วยตัวเอง ทางการมาช่วยก็เห็นแจกของทุกที แต่น้ำก็ไม่เคยลด”

“ยายอยากให้น้ำลด แต่ปีหน้าน้ำคงจะท่วมอีก” ยายผันพูดอย่างเศร้าใจ

ดูเหมือนทุกข์ของคนถูกน้ำท่วม เดินตามหลังคาสิโน บ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก และฟุตบอลเชื่อมสัมพันธไมตรีอย่างไม่เห็นฝุ่นจริง ๆ

2 ตค.2554  มติชน

Comments

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.