“จนถึงปัจจุบันนี้แล้ว ที่คนเราประสบปัญหาจากภัยธรรมชาติครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ดินถล่ม ความแห้งแล้ง จากปัญหาโลกร้อนที่มนุษย์ก่อขึ้?น แต่นักการเมืองบ้านเราก็ยังไม่เ?ข็ดจากการหากินกับธรรมชาติ กระเช้าขึ้นภูกระดึงเป็นตัวอย่างล่าสุด”
จากเฟสบุ๊กของผู้เขียนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เมื่อได้ทราบข่าวว่าผู้มีอำนาจบ้านเรากำลังปัดฝุ่นโครงการกระเช้าขึ้นภูกระดึงอีกครั้งหนึ่ง
หลายสิบปีก่อนตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ผู้เขียนรู้จักทะเลหมอก รู้จักแสงสีทองอาบขอบฟ้าครั้งแรกในชีวิตบนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง หลังจากใช้ความพยายามในการเดินขึ้นยอดภูนานค่อนวัน มันเป็นความงดงามที่อยู่ในความทรงจำมาจนถึงทุกวันนี้
ระหว่างทางเกือบสิบกิโลเมตรที่เดินขึ้นเขา ผู้เขียนได้สัมผัสถึงธรรมชาติใกล้ตัว ได้สัมผัสชนิดของป่าที่เปลี่ยนไปตามระดับความสูงตั้งแต่ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าสนเขาเสน่ห์ที่เรารู้จักกันดี และที่สำคัญคือ ได้เรียนรู้ว่าการเดินขึ้นยอดภูกระดึง ไม่ต่างจากหนทางขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ต้องใช้ความอดทน ความพยายามเป็นด่านทดสอบตัวเรา
คงไม่มีใครปฏิเสธหรอกว่า ทัศนียภาพบนภูกระดึงงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ จากการมีสภาพป่าสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง
การเดินขึ้นภูกระดึงครั้งหนึ่งในชีวิต มันสอนให้เรารู้จักอดทน รู้จักรอคอย รู้จักเหนื่อยใจแทบขาด รู้จักการช่วยเหลือ ปันน้ำแบ่งขนมให้กับเพื่อนร่วมทาง สิ่งเหล่านี้มันคงไม่ได้เกิดในชีวิตประจำวันหรอก
มันอาจช้า มันอาจไม่ทันใจ แต่สำหรับบนภูกระดึงแล้ว รางวัลสำหรับคนที่ขึ้นมาข้างบนได้ มันคุ้มค่าเหลือเกิน
การเดินขึ้นภูกระดึง สอนเราว่า สิ่งที่ได้มาด้วยความยากลำบาก เราจะทนุถนอมมัน แต่สิ่งที่ได้มาอย่างง่าย ๆ เรามักจะขว้างทิ้งมันอย่างง่ายดาย
ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า คนที่มีโอกาสปาดเหงื่อ ลากสังขารตัวเองด้วยความเหน็ดเหนื่อยเดินขึ้นบนภูกระดึงได้สำเร็จ จะกลายเป็นคนที่หวงแหนธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว เขาและเธอจะตระหนักได้ว่าเขามีหน้าที่ปกป้องมรดกทางธรรมชาติเหล่านี้ที่คนรุ่นปู่รุ่นทวดรักษามาให้และส่งต่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้อย่างไร
มันสอนให้เราเป็นคนจิตใจละเอียดอ่อน เป็นคนช่างสังเกตโดยไม่รู้ตัว จากการเดินทางไกลเพียงครั้งเดียว
การเดินขึ้นภูกระดึงเพียงครั้งเดียว จึงอาจเปลี่ยนชีวิตและจิตใจของคนมานักต่อนักแล้ว เพราะมันเป็นโรงเรียนสอนธรรมชาติอันสุดยอดที่ไม่ต้องเสียเงินเรียนแต่อย่างใด
ภูกระดึงที่ครอบคลุมพื้นที่สองแสนกว่าไร่ไม่ใช่ภูเขาทั่วไป แต่มันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
คำว่า “ภูกระดึง” มาจากคำว่า ภู แปลว่า ภูเขา และ กระดึง แปลว่า กระดิ่ง เป็นภาษาพื้นเมืองของจังหวัดเลย ภูกระดึง จึงอาจแปลได้ว่า ระฆังใหญ่ ชื่อนี้มาจากเรื่องเล่าที่ว่าในวันพระชาวบ้านมักได้ยินเสียงกระดิ่งหรือระฆังจากภูเขาลูกนี้เสมอ เล่ากันว่าเป็นระฆังของพระอินทร์
ภูกระดึงเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 และหากคนรุ่นก่อนไม่ได้ช่วยกันปกป้องรักษากันไว้ ป่านนี้มันอาจจะเป็นภูเขาหัวโล้นไปนานแล้ว
อีกด้านหนึ่งมันงดงามด้วยตัวมันมานานแล้ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีกระเช้าขึ้นภูกระดึงมาเสริมเกียรติยศแต่ประการใด
ที่ผ่านมาการสร้างกระเช้าภูกระดึงถูกนักอนุรักษ์และคนทั่วไปได้คัดค้านมาเป็นเวลาร่วมยี่สิบปีแล้ว เพราะเหตุผลของฝ่ายสนับสนุนซึ่งส่วนใหญ่มาจากนักธุรกิจหอการค้า นักการเมือง ล้วนแต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าเหตุผลอื่น
มาวันนี้นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พร้อมใจกันให้เหตุผลใหม่ว่า
“ วันนี้ประเทศไทย ต้องคำนึงคนสูงอายุ คนเจ็บคนป่วยด้วย หนุ่มสาวก็เป็นเรื่องของหนุ่มสาว คนสูงอายุ 50-60 ปี หัวเข่า ข้อกระดูกเสื่อม เมื่อมีกระเช้าแล้วจะทำให้ปัญหาคนขึ้นไปนอนค้างคืนน้อยลง ปัญหาขยะ น้ำดื่ม น้ำใช้ จะเบาลง เพราะไปเช้าเย็นกลับ”
ด้านนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข สส.จังหวัดเลย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยอมรับว่าประธานหอการค้า จ.เลย ขอนแก่น หนองบัวลำภู ได้มายื่นข้อเสนอให้มีการสร้างกระเช้าเพื่อประโยชน์ทางการท่องเที่ยว และต้องการบูมให้ จ.เลย เป็นจังหวัดแห่งการท่องเที่ยว
ยอมรับกันตรง ๆว่า แรงกดดันจากการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นตัวจักรสำคัญในการกลับมาของกระเช้าภูกระดึง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าทุกวันนี้ภูกระดึงสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้วันละ 5,000 คน ซึ่งทุกวันนี้ก็ล้นเกินกันอยู่แล้ว แถมปีหนึ่งจะปิดอุทยานในช่วงหน้าฝนสี่เดือนเพื่อให้สภาพธรรมชาติและสภาพแวดล้อมได้มีการพักฟื้นตัว
กรมอุทยานเองก็มีข้อกังวลว่าการลงทุนค่อนข้างสูงและใครจะเป็นผู้ลงทุน เพราะหากรัฐบาลลงทุนทางอุทยานฯ ก็สามารถจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวได้ แต่จะมีจุดคุ้มทุนเมื่อไร เนื่องจากค่าการก่อสร้างค่อนข้างสูง และถ้าให้ภาคเอกชนลงทุนคาดว่าทางกรมอุทยานฯ จะไม่สามารถจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวได้ เพราะเอกชนย่อมต้องการกำไรสูงสุดเป็นปกติอยู่แล้ว
ส่วนเหตุผลเรื่องคนสูงอายุ และปัญหาขยะนั้น คนในวงการต่างทราบดีว่า เป็นเรื่องการอ้างเพื่อให้การสร้างกระเช้าไฟฟ้าดูดีเท่านั้นเอง
การท่องเที่ยวแบบแดกด่วน ต้อนให้กรุ๊ปทัวร์รีบขึ้นกระเช้า รีบเดินไปป่าสน รีบแวะไปผาหล่มสัก ผานกแอ่น สระอโนดาด ฯลฯ (ซึ่งในอนาคตอาจมีการตัดถนน เพราะแต่ละที่ห่างไกลกันมาก) และรีบ ๆกลับลงมาไปคาราโอเกะต่อในเมือง อาจสนองตอบการท่องเที่ยวในปัจจุบัน ที่ทุกอย่างต้องสะดวกสบายและรีบเร่งไปหมด พร้อมกับเม็ดเงินที่หมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากกระเช้าที่ขึ้นลงแต่ละรอบ
จะแคร์อะไรกับต้นไม้เพียงไม่กี่ต้นที่ต้องถูกตัดสังเวย
จะแคร์อะไรกับโรงเรียนธรรมชาติแห่งนี้ที่สอนให้คนมีจิตใจละเอียดอ่อนขึ้น
เพราะสังคมนี้ เงิน คือคำตอบของทุกอย่างจริง ๆ
กรุงเทพธุรกิจ 19 มค. 55
Comments
7-11 คงเป็นร้านแรกที่ตามกระเช้าฯ มาเปิดบริการบนภูฯ แบบติดๆ
ต่อมาคงเป็น Lotus, Big-C, หรือทุกธุรกิจเท่าที่เราจะนึกได้ 5555
อาจได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ล่าสุดของโลก .. คือตู้เติมเงิน True Move เปิดบริการที่น้ำตกเพ็ญพบ
ชำระเงินให้อะไรก็ได้ ผ่าน counter service ที่จุดบริการผาหล่มสัก
อาจถึงขั้น ทำบัตรประชาชนแบบ “ด่วนได้” บนภูกันเลยทีเดียว
.
.
.
วันแรกที่ 7-11 เปิดบริการบนภูกระดึง
ก็จะเป็นวันแรก ที่ผมไม่คิดจะมาเหยียบที่นี่อีกเลย ตลอดชีวิต
เข้าใจและเห็นด้วยกับบทความ แต่ตัวเราเองคงวาสนาน้อย ตอนเด็กสุขภาพไม่ดี พออายุมากขึ้นก็ปีนไม่ไหว ..ถ้ามีกระเช้า คิดว่าจะมีโอกาสได้ยลโฉมภูกระดึงกับเขาบ้าง …นั่งกระเช้าขึ้นเกนติ้งที่มาเลเซียมาแล้ว แต่บ้านเราเองกลับไม่มีโอกาส นั่งดูแล้วป่าของมาเลย์ที่เกนติ้ง ถูกทำลายไปน้อยมาก คิดว่าถ้าสร้างกระเช้าขึ้นภูกกระดึง ก็คงจะดี
เข้าใจจิตใจเลยครับ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่พิชิตภูมาเเล้ว มันมีความสุขมีความภูมิใจ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้พิชิต ได้เดินทางกับเพื่อนๆๆ ได้มิตรภาพ ได้เดินสามวันร่วม50กว่ากิโล
ลงมาขาแทบขาด เเต่นั่นคือความสุข ผมขึ้นไปก้นบุหรี่ซักตัวยังไม่เห็นเลยครับ ถ้าผมดูดบุหรี่ยังต้องเก็บก้นบุหรี่ใส่กระเป๋ากลับมาทิ้งข้างล่างเลย เเล้วคุณรู้หรือยัง คนที่ขึ้นไปด้วยความยากลำบากเค้าจะมีจิตสำนึกกันเเค่ใหน
ถ้าภูกระดึงมีกระเช้า ผมว่าขยะหน่ะไม่ได้ลดครับ ผมว่ามันเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เพราะคนที่ไปไม่ได้เห็นคุณค่าของภูกระดึง ขึ้นก็ง่ายลงก็ง่าย ธรรมชาติหรอก็งั้นๆ จะไปสนใจอะไร ทิ้งขยะกันเกลื่อน
แล้วอีกอย่างร้านเน็ต low speeds แห่งเดียวในประเทศก็จะหายไป T_T
ได้อ่านบทความ เข้าใจในแง่อนุรักษ์ ที่ต้องรักษาสภาพให้คง100% เช่นธรรมชาติดุจเดิม แต่ถ้าการทำกระเช้าที่เสียพื้นที่ป่าแค่เสารับน้ำหนักกระเช้า และกระเช้าแวะลงที่ซำสักสองซำ ก่อนถึงยอดหลังแป และกระเช้าสามารถใช้ใส่สัมภาระกระเป๋า เต้นท์ ให้นักท่องเที่ยว หรือถังแก๊ส น้ำดื่ม น้ำอัดลม อาหารดิบ ไข่ ให้กับร้านค้าตามซำ หรือตามผา ต่าง ๆ ได้ เพราะลูกหาบ ก้อต้องมีสุขภาพที่ต้องรักษา การแบกน้ำหนัก 40-80 กิโลกรัม ร่างกายจะรับสภาพไม่ไหว จะบอกว่าอาชีพ แต่ถ้ามีหนทางที่ดีกว่าก้อทำเปนกลุ่มสหกรณ์ทำหน้าที่จัดสรรคุมกระเช้า จัดกระเป๋า ได้ค่าแรงที่คงที่ และมั่นคงกว่า ได้ทั้งธรรมชาติที่คงเดิม และสุขภาพชาวภูกระดึงที่สมบูรณ์แข็งแรง
คนที่เขาไม่มีเวลาที่จะซึมซับอะไรแบบคุณ
ไม่มีร่างกายที่แข็งแรงพอที่จะขึ้นไปบนยอด
แปลว่าเขาไม่ควรจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือครับ?
อะไรที่คุณเอามาตัดสิน ว่าสิ่งนั้นคือเหตุผล สิ่งนั้นเป็นเพียงข้ออ้าง?
ใจแคบ…
เราคนหนึ่งที่ไม่เคยได้ไปเพราะร่างกายไม่แข็งแรงพอ(เข่ามีปัญหา)
อย่าว่าแต่คนแก่เลย คนหนุ่มสาวที่ร่างกายไม่แข็งแรงแบบเราก็ไม่มีสิทธิ์ได้ชมความงามของภูกระดึงใช่มั้ย
สักวันถ้าคุณทุพพลภาพ คงเข้าใจจิตใจคนอื่นเขาบ้าง
ป.ล. ทำกระเช้าแล้ว ใช่ว่าจะห้ามคนที่อยากพิชิตภูกระดึงนี่คะ
คำว่า ใจแคบ คงใช้ไม่ได้นะคะ
มาว่ากันด้วยเหตุผล คนแกและขึ้นไม่ไหว เขามีบริการแบกขึ้นค่ะ ไม่แน่ใจว่าราคาเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นคุณสามารถขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้กระเช้าค่ะ
เราเคยไปภูกระดึงนะ เราจะไม่พูดถึงความภาคภูมิใจในการเดินขึ้น
การมีกระเช้าจะนำพาผู้ที่เพียงแค่อยากไปดูวิวขึ้นมาได้ง่าย คนที่ไม่มีจิตสำนึกรักและห่วงแหนธรรมชาติเข้ามาได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่นเขาใหญ่นะคะ สัตว์ป่ากลายเป็นขอทานกันหมด
พูดถึงเรื่องพืชบ้าง การที่มีความเดินทางมามาก ก็ต้องใช้พื้นที่มาก ก็ต้องเบียดเบียนพืชมาก
เราแค่อยากบอกว่า คนเรานี่จะเอาเปรียบธรรมชาติไปถึงไหน ถ้ามันพูดได้มันคงบอกว่า กูไม่ไหวแล้ว
การมีกระเช้าก็มีข้อดี ในการขนขยะลง ขนคนป่วยลง แต่เราอยากให้ใช้แค่จำเป็นได้หรือป่าวแบบเกิดโดนงูกัด หรือช็อกบนดอยแทน
ถ้ากระเช้าไม่มีผลดีอะไรเลย
ทำไมประเทศพัฒนาทั้งหลายซึ่งเขารักและอนุรักษ์ธรรมชาติกว่าเรา เขาถึงทำคะ ?
ไม่ว่ายุโรป อเมริกา หรือจีน เขามีกระเช้าให้คนทุกวัยท่องเที่ยวทั้งนั้น
มีแต่ประเทศล้าหลัง ไม่อารยะที่ใช้แรงงานคนแบกคนขึ้นเขา
บทความนี้ใจแคบค่ะ
อ่านแล้วเศร้าใจนะ ..
แต่พออ่านคอมเม้นท์เศร้ากว่า
คือว่า ไม่ใช่ไม่อยากเปิดโอกาสให้คนที่สภาพร่างกายไม่อำนวยได้สัมผัสธรรมชาติ
แต่.. ที่อื่นก็มีตั้งมากแล้วนี่คะ …
ที่ที่มีถนนขึ้นไปถึงแล้ว ตั้งหลายที่..อย่างภูเรือ อินทนนท์ ฯลฯ
ที่ถนนแลกมากับ..ความลำบากของพืชพรรณ สรรพสัตว์ตั้งมากมายที่พวกคุณไม่เคยรับรู้
แต่เราก็ไม่เห็นว่าคนสักกี่มากน้อยที่ได้ขึ้นไปสัมผัส แบบโคตรสบาย จะซาบซึ้งและซึมซับกับสิ่งที่ได้รับเลย
แค่ขึ้นมาประกาศตัวว่าเคยมาเยือน แล้วก็กลับลงไป ..ก็เท่านั้น
สัตว์ป่า พืชพรรณ ธรรมชาติพูดเองไม่ได้ค่ะ …ถ้าไม่เรียนรู้คุณจะไม่มีวันรู้
แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณรู้ คุณรักมัน คุณจะไม่ร่ำร้องเลยว่า.. ฉันไม่มีโอกาสได้ไปไปเห็น
เคยไหมที่รักอะไร แล้วยินดีที่มันอยู่ดีมีสุข แม้เราจะไม่ได้มีส่วนร่วมในสุขนั้นด้วยก็ตาม
..ไม่ใช่มันจะเป็นยังไงก็ช่าง ขอให้ฉันได้มีความสุขที่ไปเห็นเป็นพอ
ใครอยากเดิน เขาก็ไม่ห้ามเดินนิ
ขอยืมคำน้าเนคมาคำหนึ่งล่ะกัน
“ความสุขและความท้าทายของการปีนเขาอยู่ที่ตอนปีน มิใช่ตอนยืนอยู่บนยอดเขา”
ไม่ใช่แค่ความสุข ความท้าทาย แต่ประสบการณ์ การเรียนรู้ ความเข้าใจในธรรมชาติรอบตัวมันก็มาจากช่วงเวลาที่ปีนเช่นกัน
แต่ก็นะ … ถ้าใครไม่เคยเดินทีละก้าว ทีละก้าวขึ้นภูเขาด้วยตัวเอง ไม่มีวันเข้าใจหรอก
นั่นเป็นความคิดของน้าเนค คนอื่นๆเขาคงไม่ได้คิดแบบน้าเนคกันหมดทั้งโลกหรอกมั้ง
คือ ว่า คำว่าใจแคบ น่าจะใช้กับการที่ไม่รัยฟังความคิดเห็นของคนอื่นนะ
เรากำลังจะฟังทั้งสองด้านนะ
คนที่รักษ์ธรรมชาติไม่อยากให้มีกระเช้า เพราะที่นี่คือประเทศไทย ไม่มีการควบคุมคนที่ขึ้นบนอุทยานได้แน่นอน และอีกไม่นานภูกระดึงจะไม่น่าเที่ยวอีกต่อไป
ความงดงามของธรรมชาติ ที่ทุกคนอยากชมจะหมดไป พร้อมกับการเข้ามาของกองขยะ การตัดไม้เพิ่มเพื่อทำที่พัก การเข้ามาของร้านสะดวกซื้อมากมาย
แต่คนที่สนับสนุน เพราะอยากคนไปโดยไม่ต้องเดิน เพื่อคนแก่ คนสุขภาพไม่ดี ได้ไปเฉยชมความสวยงามบ้าง
เรามาชั่งน้ำหนักดู
ถ้ามีกระเช้าคนขึ้นมาเยอะมากมาย อีกไม่นานคนแก่ คนสุขภาพไม่ดี และคนที่เดินขึ้น จะไม่มีใครได้ดูความงดงามนั้นอีก
คนที่ขึ้นไปเพียงดูพระอาทิตย์ขึ้น ก็คงไม่มีปัญหา เพราะพระอาทิตย์ยังคงขึ้นเหมือนเดิม แต่บรรยกาศมันเปลี่ยนไป คนที่รักษ์ธรรมชาติ คงทำใจลำบาก
ลองมามองในมุมของสัตว์ สัตว์ป่าทุกชนิดไม่ชอบคน กลัวคน เราทำไมไม่เห็นใจพวกมันบ้าง
การที่คนไปมากมาย มันเป็นการแบ่งแยกสัตว์ออกเป็นกลุ่มกลุ่ม การที่สัตว์ไม่สามารถข้ามมาหากันได้ทำให้มันผสมพันธุ์กันในหมู่ญาติ ทำให้มันอ่อนแอ
และอย่างที่เคยบอกว่าเขามีแบกขึ้น ถ้าเดินไม่ไหวแต่อยากไปมากก็แบกขึ้นได้ อยู่ข้างบนแล้วเดินไปชมวิวไม่ไหว เขามีจักรยานให้เช่า
ผมเข้าใจเหตุผลของผู้ไม่ต้องการกระเช้า
แต่สำหรับผม ใครที่เคยไปผาหล่มสัก คงเห็น การสลักชื่อบนหินก้อนนั้น
ความเสื่อมของภูกระดึง มันเกิดขึ้นมานานแล้ว
และวิธีที่จะรักษาให้อยู่กับเรานานที่สุดคือ อย่าให้คนไปอยู่บนนั้น
อย่าให้ใครเห็น ภูกระดึงเป็นหลักชัย สำหรับการพิชิต
รีบไปรีบกลับ อย่าเบียดเบียนธรรมชาติ กันข้ามคืนเลย
สกู๊ปเรื่องกระเช้าภูกระดึง จากทางคมชัดลึก ออกอากาศเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา
http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=udwJbN4A7aM
ในฐานะมนุษย์คนนึงเราเบียดเบียนธรรมชาติมามากแล้ว ต้องยอมรับศักยภาพของตัวเองบ้าง การเดินถือเป็นการเคารพธรรมชาติอย่างนึง และเรียนรู้ว่าถ้าปราศจากเทคโนโลยีแล้ว สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือธรรมชาติ
“การเดินขึ้นภูกระดึงครั้งหนึ่งในชีวิต มันสอนให้เรารู้จักอดทน รู้จักรอคอย รู้จักเหนื่อยใจแทบขาด รู้จักการช่วยเหลือ ปันน้ำแบ่งขนมให้กับเพื่อนร่วมทาง สิ่งเหล่านี้มันคงไม่ได้เกิดในชีวิตประจำวันหรอก
มันอาจช้า มันอาจไม่ทันใจ แต่สำหรับบนภูกระดึงแล้ว รางวัลสำหรับคนที่ขึ้นมาข้างบนได้ มันคุ้มค่าเหลือเกิน
การเดินขึ้นภูกระดึง สอนเราว่า สิ่งที่ได้มาด้วยความยากลำบาก เราจะทนุถนอมมัน แต่สิ่งที่ได้มาอย่างง่าย ๆ เรามักจะขว้างทิ้งมันอย่างง่ายดาย”
เห็นด้วยกับข้อความนี้อย่างยิ่ง แต่กับบางคนกับไม่มีความหมายใดใดเลย น่าสงสารภูกระดึงจัง
ถ้าทำกระเช้า คนขึ้นไปมาก มันก็จะกลายเป็นตลาดนัด
เหมือนกับหลายๆที่ เช่น ปาย อัมพวา เชียงคาน ทับเบิก
สถานที่เหล่านี้คนหมู่มาก ที่ไม่รู้จักการท่องเที่ยวที่แท้จิง
บุกรุกจนไม่เหลือมนต์เสน่ห์แบบเดิมๆอีกแล้ว
มนต์เสน่ห์ที่คนที่ไม่มีปัญญาขึ้นไปเอง อยากเห็นนักอยากเห็นหนา
มันจะหายไป ถ้าทำให้ใครก็ได้ ขึ้นไปได้อย่างง่ายๆ..
ทำกระเช้าตอนนี้ คุณอาจจะได้เห็นในสิ่งที่คุณอยากเห็น
แต่ลูกหลานคุณคงหมดสิทธิ์..รวมถึงลูกหลานผมและลูกหลานใครอีกหลายๆคน
เห็นแก่ตัวไปไหมครับ..ถ้าคุณคิดอยากจะได้กระเช้าเพื่อ..
ที่คุณ(คนที่ไม่มีปัญญาขึ้นไป) จะเห็นมันซักครั้ง…
+1 like ให้คุณปลาดุกครับ
ลูกหาบเค้ามีครับ รู้สึกว่าจะเสียค่าใช้จ่ายไม่เกินสองพันบาท
เค้าก็หามคุณขึ้นไปได้โดยที่ไม่ต้องออกแรงเดินเลยซักนิด
ลงทุนหน่อยครับแค่นี้..จ่ายอะไรจ่ายได้
จ่ายแค่นี้แลกกับสิ่งที่คุณอยากสำผัส ผมว่าไม่แพงเลย ถูกมาก
ช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้อีกตะหาก…
ใช้สมองกันหน่อยครับ พวกคุณคนแก่ๆ คุณคนขาเสื่อม เข่าเสื่อม
ช่วยกันครับ ธรรมชาติดีๆ ที่ท่องเที่ยวดีๆ ช่วยกันเก็บไว้ให้ลูกๆหลานๆเรา
อย่าให้พวกที่เห็นแก่เงินเห็นแก่ผลประโยชน์ ทำให้ที่ท่องเที่ยวดีๆสูญหายไปเลยครับ
ปีนเขามันยาก แต่บนยอดเขามันสวยเสมอ..
ถ้ามันปีนง่าย มันก็คงไม่สวยอีกต่อไป..
มันไม่เกี่ยวกับว่าขึ้นไปค้างคืนหรือไปแล้วกลับ หรือเป็นผู้พิชิตอะไรหรอกครับ
ผมเชื่อว่าคนที่ปีนขึ้นไปถึง ส่วนใหญ่มีจิตสำนึกมากพออยู่แล้วครับ
แต่ถ้าทำให้ปีนขึ้นไปง่ายๆ ใครไปก็ได้
คุณจะได้เห็นอะไรอีกมากมาย ยิ่งกว่าการสลักชื่อบนก้อนหินแน่นอน..
เมื่อไม่นานมานี้ ผมก็เพิ่งได้คิดเรื่องนี้การท่องเที่ยวอุทยานต่างๆ ว่าทำไมที่บ้านเรา ถึงมีปัญหากับการเปิดอุทยานต่างๆให้นักท่องเที่ยวเข้าชมและไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอุทยานให้มีความนิยมได้
จนกระทั่งเมื่อ 1 เดือนที่แล้ว ผมมีโอกาสได้เดินทางมาประเทศบลาซิล และได้เข้าอุทยานชม อุทยานน้ำตก Iguacu หนึ่งในอุทยานน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ จึงทำให้ผมได้เห็นความแตกต่างบางอย่างของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอุทยานของที่นี่กับของบ้านเรา
วันที่ผมไป Iguacu ตรงกับวันอาทิตย์จึงมีผู้คนมากมายมาต่อคิวรอซื้อตั๋ว เพื่อชมอุทยาน นักท่องเที่ยวในขณะที่ผมต่อคิวอยู่นั้นน่าจะมีประมาณ 200-300 คนได้ (เฉพาะที่ต่อคิว) โดยนักท่องเที่ยวทุกคนต้องเสียเงินคนละ 40.80 Real (ประมาณ 700 กว่าบาท) โดยค่าเข้าชมจะร่วมค่ารถขนส่งจากจุดซื้อตั๋วหน้าอุทยานเข้าไปถึงน้ำตก เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวจะไม่สามารถนำรถส่วนตัวของเองเข้าในอุทยานได้ ต้องนั่งรถขนส่งของอุทยานทุกคน ในอุทยานจะมีจุดพักอยู่หลายจุด เพื่อให้นักเที่ยวเข้าชมส่วนต่างๆของอุทยาน โดยแต่ละจุดพัก ก็ยังมีร้านอาหาร ร้านขายของ หรือแม้กระทั่งโรงแรมด้วย และเมื่อมาถึงจุดพักสำคัญ คือ บริเวณที่เป็นอุทยานน้ำตก ก็จะมีทางเดินจากส่วนที่เป็นส่วนแรกของน้ำตก เข้าไปถึงส่วนที่เป็น Highlight ของน้ำตก
เนื่องจากผมมีภาระกิจต้องไปทำต่อในบ่ายวันนั้น จึงใช้เวลาเยี่ยมชมเพียงแค่ 2 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม 2 ชั่วโมงที่ใช้ไปในอุทยานนั้น ทำให้ผมได้ตระหนักว่า จริงๆแล้ว ประเด็นที่เป็นปัญหาสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอุทยานอยู่ที่ “การจัดการ” ไม่ใช่เรื่องอื่นใด การล้อมพื้นที่อุทยานและกันไม่ให้กลุ่มธุรกิจใดๆ เข้าไปใช้พื้นที่ของอุทยาน น่าจะทำให้อุทยานยังคงความสมบรูณ์ถึงแม้ว่าจะแลกกับการสูญเสียพื้นที่บางส่วนไปเพื่อทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้เราเข้าถึง แต่เงินที่ได้จากการเปิดอุทยาน น่าจะทำให้อุทยานสามารถหาเงินมาจุนเจือค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงอาจเป็นทุนเพื่อการศึกษาและรักษาพันธ์สัตว์ต่างๆได้
ถึงแม้ว่า กลุ่มธุรกิจอาจไม่ได้ผลประโยชน์จากการเปิดอุทยานในลักษณะนี้ แต่ผมเชื่อว่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจจะได้ผลประโยชน์จากการใช้พื้นที่ในเมือง ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลดีต่อคนในพื้นที่เหล่านั้นด้วย
หลังจากเยี่ยมชมน้ำตก Iguacu ผมก็ได้ไปเยี่ยมชม Christ the Redeemer หรือ รูปปั้นพระเยซู ที่เมือง ริโอเดอจาเนโร ซึ่งก็พบว่า มีการกั้นพื้นที่ “ครึ่งบนของทั้งภูเขา” เป็นเสมือนเขตอุทยาน และนักท่องเที่ยวต้องเสียเงิน ค่าเข้าชมและค่ารถ เพื่อขึ้นไปชมและสักการะรูปปั้นพระเยซู ซึ่งก็ในวันที่ผมไปเยี่ยม มีคนมากมายรอต่อคิวรอซื้อตั๋ว
ผมว่า การถกเถียงเรื่องสร้างกระเช้าหรือไม่สร้างกระเช้า เป็นเพียงเศษเสี้ยวของการบริหารจัดการอุตสหกรรมการท่องเที่ยวอุทยาน ประเด็นที่สำคัญกว่า คือเราจะรักษาสมดุลอย่างไร ให้อุตหกรรมการท่องเที่ยวอุทยานสามารถยืนอยู่ได้โดยตัวมันเอง พร้อมทั้งรักษาสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวและการรักษาพันธ์ไม้และสัตว์ป่าได้อย่างดีที่สุด
นายสนอง แก้วอำไพ หัวหน้าอุทยานฯ ภูกระดึง กล่าวว่า ได้สอบถามร้านค้า และลูกหาบแล้ว และมีผู้สนับสนุนกระเช้าถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ฝากไว้ว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นอุทยานฯที่อยู่ในเขต อ.ภูกระดึง ความคิดของประชาชน เปลี่ยนไป ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเขาจะเอา 80 เปอร์เซ็นต์ ต้องฟังเสียงตรงนี้แล้ว โครงการนี้พูดมา 30 ปี และช่วงเวลานี้คนในพื้นที่เอาด้วย ถามว่าคนส่วนใหญ่จะค้านเพื่อใคร
ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีกระเช่า ประเทศอื่นเขาก็มีกันมากมายก็ไม่เห็นมีปัญญาหาอะไรก็มีแต่ประเทศไทยเรามีปํญาหาทุกอย่างจะสร้างอะไรทำอะไรก็กลัวไปทุกเรื่องเลยไม่ได้ทำไม่ได้สร้าง ตอนจะสร้างสนามบินสุวรรณภูมิก็มีเสียงวิภาค วิจารย์ มากมาย แต่พอสร้างเสร็จ ก็เป็นทีเชิดหน้าชูตาให้กับประเทศชาติทุกคนก็ไม่เห็นว่าอะไร การอนุรักษป่าไม้นะดีผมเข้าใจแต่การสร้างกระเช่าขึ้นถูกระดึงมันสามารถทำควบคู่กันไปได้กับการอนุรักษ ต้นไม้ถูกตัดไปเราก็สามารถมารถปลูกทดแทนได้ ด่านเศรฐกิจและสังคมก็น่าจะดีขึ้นมากจริงๆแล้วภูกระดึงเป็นอำเภอที่เงียบมากประชากรไม่ถึง10000คน
แต่เป็นอำเภอทีหลายคนรู้จักแต่ไม่เคยสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของคนถูกระดึงเลยเพราะทุกคนมาภูกระดึงก็จะรู้จักแต่ร้านเจ๋กิมและตัวภูกระดึงเท่านั้นอย่างอื่นในภูกระดึงไม่รู้จักและไม่สนใจ เพราะจุดนี้เองผมคิดว่าคนภูกระดึงเกือบ95เปอร์เซ็นต์อยากให้มีกระเช่าขึ่นภูกระดึงเพราะจะก่อให้เกิดการกระจ่ายรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป
ผมอายุเลยวัยเกษียณแล้ว เคยใฝ่ฝันตั้งแต่ยังวัยกระทงว่า วันใดวันหนึ่งจะต้องขึ้นไปเยี่ยมภูกระดึงให้ได้ จนวันนี้ก็ยังไม่มีโอกาสได้ไป แต่ความใฝ่ฝันนั้นก็ยังอยู่ …
เปล่า ผมไม่ได้จะเรียกร้องให้มีกระเช้า ถึงผมจะไม่มีโอกาสอีกเลยที่จะได้เยี่ยมภูกระดึง ด้วยสังขารไม่อำนวยหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมก็ยังสามารถไปเยี่ยมภูอื่นๆ ที่เดินทางถึงด้วยรถได้ เพราะผมคิดว่าภูกระดึงในรูปแบบที่เป็นอยู่มีความยิ่งใหญ่เกินกว่าความใฝ่ฝันของคนเพียงคนเดียว (หรือหลายๆ คน) ทั้งยังยิ่งใหญ่กว่าความอยากได้ทางเศรษฐกิจของคนอีกหลายๆ คน
และก็สิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์และดำรงอยู่นั้น ก็ไม่ใช่เป็นเพียงของคนในท้องถิ่น หรือแม้แต่คนในประเทศทั้งหมด แต่เป็นของรุ่นลูกรุ่นหลานรุ่นเหลนและรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต เราเป็นเพียงผู้ดูแลรักษาเท่านั้น
ปล่อยให้ภูกระดึงได้อยู่ต่อไปเถอะครับ ให้เป็นสมบัติของชาติและอนาคต เพราะธรรมชาติที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งหรือปรุงแต่งแต่น้อย มีเหลือน้อยอยู่เต็มทีแล้ว
😉 ถามเด็กคนชราและผู้พิการว่า ลงจากกระเช้าแล้ว
ขึ้นไปถึงยอดภูแล้ว จะยังไงต่อครับ
จะไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ๋นไหวไหม
จะเดินไปชมพระอาทิตย์ตกที่ผาหล่มสักไหวหรือเปล่า
จะเดินไปชมน้ำตกเพ็บพบไหวไหม
ผมจะบอกว่า บนยอดภูกระดึงไม่ได้มีอะไรเลย
ลานสนยอดภูเรือก็มี พระอาทิตย์ตก ยอดภูเรือก็มี สน ยอดภูเรือก็มี
วิวหรือทิวทัศน์มันก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่
แต่ทำไมภูกระดึงถึงเป็น ที่ 1
ของที่ท่องเที่ยวที่มีคนโหวตให้มากที่สุด เมื่อปีที่ผ่านมา ก็เพราะ
เพราะมิตรภาพระหว่างทาง 😳 ครับ ถ้ามีกระเช้าอะไรจะหายไป
และอะไรจะเข้ามา ก็คงเหมือนกัยเชียงคานนะปีนี้
ที่ โรงแรมที่พักผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด คนต่างถิ่นต่างพื้นที่เข้ามาเช่าซื้อ….
ตอนนี้ไปที่อำเภอไหนก็มีป้าย สนับสนุน ถามว่าใครทำป้ายสนับสนุน
ชาวบ้านไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย
แต่มีคำสั่งลงมาว่าให้หน่วยงานราชการท้องถิ่น
ทำป้ายสนับสนุนการสร้างกระเช้า
และล่าสุดมีคำสั่งให้ปลูกต้นเมเปิลแดงทั้งจังหวัดเลย 👿