ทุกวันนี้อาหารจีเอ็มโอที่ทำจากพืช ไม่ว่าถั่วเหลือง ข้าวโพด มะละกอ มะเขือเทศ มันฝรั่ง ได้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างไม่รู้ตัว จะชอบหรือไม่ชอบ เราก็คงไม่มีทางตรวจสอบได้อย่างชัดเจน
เมื่ออาหารจากพืชจีเอ็มโอได้ปักหลักอย่างแข็งแรงในอุตสาหกรรมการเกษตรแล้ว ก้าวต่อมาคือ
เนื้อสัตว์จีเอ็มโอ
จีเอ็มโอ ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Genetically Modified Organisms (GMOs) คือ สิ่งมีชีวิตซึ่งไม่ว่าจะเป็นพืช หรือสัตว์ หรือแบคทีเรีย หรือ จุลินทรีย์ ที่ถูกดัดแปลง พันธุกรรม จากกระบวนการทาง พันธุวิศวกรรม
โดยจากการตัดเอายีนของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง มาใส่เข้าไปในยีนของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง โดยตามปกติไม่เคยผสมพันธุ์กันได้ในธรรรมชาติ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นมีคุณสมบัติตามที่ต้องการ
ตัวอย่างเช่น นำยีนทนความหนาวเย็นจากปลาขั้วโลกมาผสมกับมะเขือเทศเพื่อให้มะเขือเทศปลูกในที่ที่อากาศหนาวเย็นได้ หรือการนำยีนจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งมาใส่ในยีนของถั่วเหลืองเพื่อให้ถั่วเหลืองทนทานต่อยาปราบวัชพืช เป็นต้น
AquAdvantage บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารทะเลของทวีปอเมริกาเหนือ ได้ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลาแซลมอนจีเอ็มโอ ที่ได้รับฉายาว่า ปลาแฟรงเกนแซลมอน หรือปลาแฟรงเกนสไตน์ โดยใช้ปลาแซลมอนแอตแลนติกเป็นปลาต้นแบบ และตัดต่อยีนที่ทำให้เจริญเติบโตเร็วและทนทานต่อความหนาวเย็นลงไปด้วย จนได้ปลาแฟรงเกนแซลมอน ที่โตเร็วกว่าธรรมชาติเกือบสามเท่า แต่กินอาหารจุมาก
ปลาแซลมอนธรรมดาอายุ 18 เดือน ยาว 13 นิ้ว และหนัก2.8 ปอนด์ ขณะที่ปลาแฟรงเกนสไตน์อายุเท่ากัน จะยาว 24 นิ้ว และหนัก 6.6 ปอนด์
เมื่อไม่นานมานี้ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศว่า ปลาแซลมอนจีเอ็มโอ หรือปลาแฟรงเก็นสไตน์ เป็นอาหารปลอดภัยสำหรับมนุษย์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่พบความแตกต่างของเนื้อเยื่อระหว่างปลาแซลมอนจีเอ็มโอกับปลาแซลมอนธรรมชาติ และต่อไป ปลาแฟรงเกนสไตน์กำลังจะกลายเป็นสัตว์จีเอ็มโอชนิดแรกที่สามารถนำมาเป็นอาหารได้อย่างถูกกฎหมาย และคาดว่าภายในปีหน้า อาหารสัตว์จีเอ็มโอชนิดนี้จะสามารถนำออกจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาได้
ท่ามกลางข้อโต้แย้งของบรรดานักอนุรักษ์และประชาชนกว่าสองแสนคนที่ลงชื่อคัดค้าน และส่งไปให้รัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้พิจารณา เพื่อตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของมนุษย์ การทดสอบด้านสุขภาพที่ยังใช้เวลาไม่นานพอ โดยเฉพาะการตัดต่อยีนเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของปลาแซลมอน อาจจะเป็นสาเหตุทำให้ผู้บริโภคมะเร็ง และคนที่แพ้อาหารทะเลจะมีอาการมากว่าเดิมหรือไม่ รวมไปถึง ปัญหาการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในอนาคต และหากปลาแฟรงเกนสไตน์หลุดรอดจากฟาร์มเพาะออกไปสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ จะเกิดอะไรขึ้นกับสายพันธุ์ปลาแซลมอน
นักวิทยาศาสตร์ทราบดีว่า การทดลองเพื่อพิสูจน์ว่า อาหารสัตว์จีเอ็มโอปลอดภัยกับมนุษย์นั้น ต้องใช้เวลาพิสูจน์ยาวนานกว่าพืชจีเอ็มโอมาก เพราะสัตว์มีความละเอียดอ่อนของวงจรชีวิตและผลกระทบมากกว่าพืชอย่างเทียบไม่ได้
ทุกวันนี้อาหารจากพืชจีเอ็มโอยังมีการถกเถียงและข้อโต้แย้งอย่างไม่จบสิ้น แต่เมื่อมีการประกาศรับรองว่าปลาแซลมอนจีเอ็มโอเป็นอาหารปลอดภัย ยิ่งสร้างความหวั่นเกรงให้กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง
เจฟ ฮัชชิ่ง นักชีวประมงแห่งมหาวิทยาลัยฮาลิแฟกซ์ ประเทศแคนาดา ได้วิจารณ์ว่า
“ประเด็นสำคัญคือหากปลาแซลมอนจีเอ็มโอหลุดออกไปสู่ธรรมชาติ เราไม่มีทางรู้เลยว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับปลาแซลมอนสายพันธุ์ดั้งเดิม แม้ว่าทางบริษัทผู้ผลิตจะบอกว่า ปลาเหล่านี้จะเลี้ยงบนบกที่ห่างไกลจะแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และปลาจีเอ็มโอทั้งหมดถูกทำให้เป็นหมัน แต่ในความจริงแล้วประมาณ 5%ของปลาที่เป็นหมันจะสามารถตั้งไข่ได้ และเมื่อมันหลุดรอดออกไปผสมพันธุ์กับปลาแซลมอนธรรมชาติ เราไม่รู้เลยว่าปลาธรรมชาติจะกลายพันธุ์หรือสูญพันธุ์หรือไม่”
ในอนาคตชะตากรรมของบรรดาฟาร์มเลี้ยงปลาแซลมอนก็อยู่ในภาวะเสี่ยงมากขึ้น เพราะต้นทุนและกลไกการตลาดต้องขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตไข่ปลาจีเอ็มโอเหล่านี้ เช่นเดียวกับเกษตรกรจำนวนมากทั่วโลกต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลการกำหนดราคาจากบริษัทขายเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอรายใหญ่ของโลกอย่างมอนซานโต้
AquAdvantage จะนำไข่จีเอ็มโอแซลมอนที่เพาะในประเทศแคนาดา ส่งไปเลี้ยงในฟาร์มที่ประเทศปานามา ที่ให้ความสนับสนุนมากกว่า ก่อนจะชำแหละและส่งมาขายเป็นอาหารในสหรัฐอเมริกาภายในปีหน้าและกระจายไปทั่วโลกในเวลาอีกไม่นาน
ในอนาคตนอกจากจะเห็นปลาแฟรงเกนแซลมอนล้ว อีกไม่นานเราคงเห็น แฟรงเกนวัว แฟรงเกนหมู แฟรงเกนเป็ด ไก่ ทยอยสู่ท้องตลาดอย่างคึกคัก
กรุงเทพธุรกิจ 1/10/12