ครั้งหนึ่งกับรถไฟญี่ปุ่น

jrrailway

เกาะฮอกไกโด ปลายเหมันตคาม หนาวยะเยือกกว่าที่คิดเมื่อลมหนาวได้แทรกเข้ามาภายในชานชาลารถไฟของสนามบินชินชิโตเซะ ขณะผู้เขียนกำลังวิ่งกระหืดกระหอบมาเพื่อให้ทันเวลาออกของรถไฟเข้าเมืองซัปโปโร

“คำไหนคำนั้น” อาจเป็นสำนวนพูดของคนไทยนิสัยตรงไปตรงมา

เช่นเดียวกับรถไฟญี่ปุ่นคงต้องบอกว่า “เวลาไหนเวลานั้น”

รถไฟญี่ปุ่นได้ชื่อว่าตรงเวลาที่สุดในโลก สถิติการมาสายโดยเฉลี่ยของรถไฟสัญชาตินี้คือ ไม่เกิน ๑ นาที ขณะที่รถไฟความเร็วสูงชินกังเซ็น ทำสถิติสายไม่เกิน ๓ วินาที ส่วนรถไฟไทยคงต้องใช้หน่วยวัดเป็นชั่วโมงมากกว่านาทีหรือวินาที น่าเสียดายที่ยังไม่มีใครทำสถิติเอาไว้

หลายปีก่อนผู้เขียนมีธุระเดินทางไปเมืองเวียงจันทน์ แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเดินทางด้วยรถไฟตู้นอนปรับอากาศชั้น ๒ ออกเดินทางตั้งแต่เย็นกะว่าไปถึงหนองคายเช้าตรู่
พอมีเวลาเดินเล่นสักชั่วโมง และจะมีรถมารับข้ามไปทำธุระฝั่งลาว

แต่เอาเข้าจริงรถไฟที่ผูกขาดโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยมาสายประมาณ ๔ ชั่วโมง มาถึงหนองคายเกือบเที่ยง  ผลคือภารกิจวันนั้นที่จะคุยกับแขกฝั่งเมืองลาวต้องยกเลิกไปเลย สร้างความเสียหายทั้งเวลาและเงินทอง

ผู้เขียนไม่ทราบว่าจะไปเรียกร้องค่าเสียหายจากใคร แถมระหว่างรออยู่ในรถไฟ ดูเหมือนพนักงานต้อนรับบนรถไฟก็ไม่ได้แสดงอาการเดือดร้อนหรือรู้สึกผิดกับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด ราวกับว่าการมาสายเป็นเรื่องปรกติของรถไฟไทย แต่หากรถไฟมาตรงเวลาคงเป็นเรื่องอัศจรรย์ และพนักงานเหล่านี้อาจจะรู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษแทนก็ได้

หลายวันบนเกาะฮอกไกโด ผู้เขียนได้ใช้บริการรถไฟญี่ปุ่นหลายขบวนเดินทางไปมาระหว่างเมืองต่างๆ อย่างปลอดภัยและตรงเวลา

เวลาออกจากสถานีของรถไฟตรงอย่างเหลือเชื่อ ออกตรงเวลา ถึงก็ตรงเวลา จนทำให้คนไทยอย่างผู้เขียนที่เคยชินกับพฤติกรรมรถไฟแบบไทยๆ “ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง” ต้องปรับตัวพอควร

หากคุณมาที่ชานชาลาตามเวลารถไฟออกเป๊ะ คุณอาจจะตกรถไฟขบวนนั้น เพราะเป็นเวลารถไฟออกจริงๆ  รถไฟได้ปิดประตูผู้โดยสารและกำลังเคลื่อนขบวนแล้ว

ภายในรถไฟสายสีเขียวของ JR Hokkaido บริษัทในเครือของ Japan Railways Group แม้จะไม่ใช่รถไฟความเร็วสูงหรือรถไฟหัวจรวด แต่ได้รับการออกแบบให้นั่งได้อย่างสบายเหมือนห้องผู้โดยสารบนเครื่องบิน  พอรถเคลื่อนขบวนออกไปได้สักพักจะมีพนักงานแต่งเครื่องแบบเรียบร้อยเดินมาตรวจตั๋ว ผู้เขียนต้องนำตั๋วเสียบไว้กับช่องเสียบตรงพนักข้างหน้า พอเผลอหลับไปได้สักพักก็ได้ยินเสียงสุภาพสตรีเข็นรถขายอาหารและเครื่องดื่ม ลองสังเกตดูเป็นชุดอาหารญี่ปุ่นในกล่องข้าวหรือที่เรียกกันว่าเบนโตะ เบนโตะมีให้เลือกหลายอย่าง มีซูชิหน้าปลาดิบ ซูชิไข่ ซูชิหน้าหมึก และเครื่องเคียง สาหร่ายหลากชนิด ขนาดกำลังพอดีคำ  พนักงานเหล่านี้แต่งกายภูมิฐานพูดจาสุภาพเรียบร้อย โค้งแล้วโค้งอีก  เคล็ดลับของรถไฟญี่ปุ่นนั้น คือ การตรงต่อเวลา ความปลอดภัย การบริการ และสุดท้ายคือความสะอาด

คนญี่ปุ่นเป็นคนตรงต่อเวลามาก ถือว่าเวลาทุกๆ นาทีมีค่ามากกว่าเงินทอง  การตรงต่อเวลาคือเรื่องสำคัญในการเจรจาต่อรองทางธุรกิจ และเป็นการมองลักษณะนิสัยของคู่เจรจาหรือเพื่อน
ร่วมงานผ่านการนัดหมายและการตรงต่อเวลาด้วย

รถไฟญี่ปุ่นถึงต้องตรงเวลา และการตรงเวลาได้สร้างชาติญี่ปุ่นมานานแล้ว

ผู้เขียนลุกไปเข้าห้องน้ำ อุปกรณ์ภายในอาจจะไม่ทันสมัย แต่ทุกอย่างสะอาดหมด สุขภัณฑ์ต่างๆ ไม่มีรอยคราบอันใด สันนิษฐานได้ว่าคงมีพนักงานทำความสะอาดสม่ำเสมอ เพราะนิสัยคนญี่ปุ่น
ขึ้นชื่อว่ารักความสะอาดมาก  ไม่น่าแปลกใจที่ภายในขบวนตู้โดยสารเราจะไม่เห็นเศษขยะใดๆ ตามพื้น หรือเวลาเอามือไปจับผนังก็จะไม่เปื้อนฝุ่นเป็นรอยชัดเจน

วันที่ ๒๖ มีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นวาระครบรอบ ๑๑๗ ปีของการเริ่มเปิดศักราชการเดินรถไฟในประเทศไทยเป็นครั้งแรกคือสาย กรุงเทพฯ-อยุธยา ระยะทาง ๗๑ กิโลเมตร เช่นกันปีนี้ญี่ปุ่นก็ฉลองครบ ๑๔๑ ปี แรกมีรถไฟในประเทศ

นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีรางรถไฟยาวรวมกันเกือบ ๓ หมื่นกิโลเมตร ขณะที่รางรถไฟไทยมีความยาวรวมกัน ๔,๐๐๐ กว่ากิโลเมตร

ทุกวันนี้รถไฟญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในแง่รายได้และการบริการผู้โดยสารอย่างสูง มีผู้โดยสารเกือบ ๒๐ ล้านคนใช้บริการรถไฟในแต่ละวัน หรือคิดเป็นร้อยละ ๔๐ ของประชากรในแต่ละวันที่ใช้รถไฟในการเดินทาง

แต่ก่อนหน้านี้สภาพรถไฟญี่ปุ่นก็ไม่ได้ต่างจากสภาพรถไฟไทย

ในอดีต Japan Railways Group หรือ JR เคยมีสถานะเป็นองค์กรของรัฐ แต่มีสภาพขาดทุนยับเยิน จนกระทั่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้มีการแปรรูปครั้งแรกในรูปของบริษัทมหาชนโดยรัฐบาลยังถือหุ้นใหญ่ และประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการ จนกระทั่งสามารถสร้างรถไฟความเร็วสูง ชินกังเซ็น ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๐๗ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มขาดทุนยับเยินจากโครงการนี้ที่ต้องใช้เงินกู้จำนวนมหาศาล ขณะเดียวกันผู้คนใช้รถไฟเริ่มลดลง เนื่องจากการเดินทางด้วยรถยนต์ได้มาแย่งส่วนแบ่งไปอย่างรวดเร็ว สถานะการเงินของบริษัทเกือบล้มละลาย มีหนี้สินร่วม ๑ ล้านล้านบาท

ในปี ๒๕๓๐ ผู้บริหารสมัยนั้นจึงได้ตัดสินใจแปรรูปบริษัทให้เอกชนเข้ามาถือครองมากขึ้น และผ่าบริษัทออกเป็น ๖ บริษัททุกบริษัทดำเนินงานโดยอิสระเพื่อให้เกิดความคล่องตัว

หัวใจสำคัญของบริษัทรถไฟเหล่านี้ยังเป็นเรื่องความปลอดภัย การบริการ และทำให้ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการมากขึ้น จนการเดินทางด้วยรถไฟกลับมาเป็นทางเลือกอันดับ ๑ ของคนญี่ปุ่นได้สำเร็จ รวมถึงการขยายการลงทุนไปในทุกด้านที่รถไฟไปถึง เช่น การทำให้สถานีรถไฟแต่ละแห่งมีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์ การสร้างศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม รีสอร์ต โรงพยาบาลตามเส้นทาง รวมถึงการจับมือกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในภูมิภาคเพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเลือกรถไฟมากขึ้น  ด้วยการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ไม่นานนัก Japan Railways Group ก็กลับมาสร้างรายได้และกำไรอย่างมหาศาล

ปัจจัยความสำเร็จอีกประการคือการแข่งขัน เพราะในประเทศญี่ปุ่นยังมีบริษัทเอกชนที่เดินรถไฟอีก ๑๖ บริษัทแข่งกับรายใหญ่อย่าง JR ที่ไม่ได้ผูกขาดการเดินรถไฟแค่เจ้าเดียว  ทุกบริษัทต้อง
ปรับตัวแข่งกับคู่แข่งทั้งด้านคุณภาพการบริการ ความปลอดภัย การตรงเวลา

ลำพังแค่คุณออกจากสนามบินนาริตะมากรุงโตเกียว คุณก็เลือกรถไฟได้หลายบริษัท ทั้งด่วนพิเศษ ด่วน และมีคุณภาพแตกต่างกันหลายสาย  ทุกบริษัทพยายามปรับปรุงความเร็ว ประสิทธิภาพ และการบริการเพื่อดึงดูดลูกค้า ไม่ได้ผูกขาดการเดินทางอยู่กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งแบบแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ของไทย

พอถึงจุดหมายปลายทาง เมื่อได้ยินเสียงเตือนของผู้ประกาศผู้เขียนหยิบเสื้อหนาว ถุงมือ หมวกมาสวมอีกครั้งก่อนจะก้าวลงตรงชานชาลา  ความหนาวเย็นแผ่สะท้าน  ผู้เขียนกระชับเสื้อผ้าให้รัดกุมเดินไปตามทางขณะที่หิมะโปรยลงมาอย่างหนัก

เดินทางด้วยรถไฟญี่ปุ่นครั้งนี้ได้ให้ความกระจ่างว่า

การแปรรูป การสลายการผูกขาด การแข่งขันด้านบริการ ความปลอดภัย การตรงต่อเวลา และความสะอาด คือหัวใจสำคัญในการปรับปรุงการรถไฟไทย

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.