เป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้ว จากที่คุณศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เดินจากบริเวณที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพ ฯ เป็นระยะทางสามร้อยกว่ากิโลเมตร เพื่อประท้วงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพกรณีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ หรือ EHIA ว่าไม่ได้มาตรฐาน และเมื่อเดินมาถึงเมืองหลวงมีผู้มาร่วมเดินขบวนและต้อนรับนับหมื่นคน เพื่อประท้วงการสร้างเขื่อนแม่วงก์กลายเป็นข่าวดังและส่งผลสะเทือนต่อสังคมอย่างน่าสนใจ
วันนี้หากใครสังเกตดูใน Social Media ไม่ว่าจะเป็น website facebook หรือ twitter เราจะเห็นคำว่า No Dam แทนตัวตนของผู้คนในโลกออนไลน์บ่อยขึ้น อันมีความหมายว่าไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน
ในขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวว่า เมื่อ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีขบวนรถแรลลี่ขับรถจากกรุงเทพฯมุ่งหน้าไปบริเวณอุทยานแห่งชาติเขื่อนแม่วงก์ เพื่อสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยมีสัญญลักษณ์ว่า Yes Dam
ปรากฏการณ์ ศศิน ที่ใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารให้กับคนทั่วไป แทนสื่อทีวีและหนังสือพิมพ์หลักที่แทบจะไม่ได้ออกข่าวเลยในช่วงต้น ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตคือ
หลายสิบปีที่ผ่านมา สังคมไทยอยู่ภายใต้ความเชื่อและความคิดที่ครอบผู้คนส่วนใหญ่ว่า เขื่อนคือยาสามัญประจำบ้าน แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง นอกจากผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วเขื่อนยังสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมได้หลายแสนไร่
ดังนั้น ที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือกรมชลประทาน จะมีหน่วยงานที่คอยสำรวจพื้นที่ในป่า หรือดูแค่แผนที่ ดูเส้นระดับความสูง หากพบบริเวณลำธาร หรือแม่น้ำ ที่มีภูเขาเหมาะกับการสร้างเขื่อน ก็จะขึ้นบัญชีไว้ว่า บริเวณนี้เป็นพื้นที่เหมาะสมในการสร้างเขื่อน โดยไม่ใส่ใจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใด ๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าจะต้องบังคับให้ชาวบ้าน ต้องอพยพออกนอกพื้นที่ที่อยู่มาช้านาน หรือต้องตัดไม้ ทำลายป่า ทำลายสัตว์ป่าอย่างมหาศาล
คนเหล่านี้เชื่อว่า แค่หาที่อยู่ ที่ทำกินใหม่ให้กับชาวบ้านชายขอบเหล่านี้ ที่ไม่มีปากมีเสียง หรือปลูกป่า ก็แก้ปัญหาได้แล้ว
ไม่สนใจว่าที่ดินที่ให้ทดแทนแก่ชาวบ้านเหล่านี้ ปลูกพืชได้ หรือแห้งแล้ง หรือป่าที่สัญญาว่าจะปลูกเป็นจริงหรือไม่ ขณะที่การย้ายสัตว์ป่าไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่เคยมีมาก่อนยกเว้นการโครงการช่วยชีวิตสัตว์ป่าเขื่อนเชี่ยวหลาน ที่คุณสืบ นาคะเสถียรเป็นโครงการแรกของประเทศ ซึ่งก็มีรายงานวิจัยออกมาแล้วว่า ไม่สามารถช่วยชีวิตสัตว์ป่าได้
สมัยก่อนคนค้านเขื่อน อันประกอบด้วย นักอนุรักษ์ ปัญญาชน คนหัวก้าวหน้าถือเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม เสียงไม่ได้ดังมาก คนในเมืองก็ไม่สนใจถือว่าเป็นพวกพวกล้าหลัง ต่อต้านการพัฒนา เวลามีการประท้วงการสร้างเขื่อน มีนักศึกษา ชาวบ้านมาประท้วงในเมือง คนเมืองไม่ค่อยสนใจแถมยังบีบแตรรถด่าบรรดานักสร้างเขื่อนหรือรัฐบาลก็ไม่ค่อยหนักใจมาก เพราะเสียงของคนส่วนใหญ่ในสังคมยังชอบเขื่อน
แต่มาวันนี้ ดูเหมือนกระแสสังคมกำลังจะตีกลับ คนจำนวนมากทั้งในเมืองและต่างจังหวัดที่เคยสนับสนุนการสร้างเขื่อนกลับเริ่มรู้สึกว่า เขื่อนอาจจะไม่ใช่คำตอบของการแก้น้ำท่วม เพราะสถานการณ์ขณะนี้น้ำท่วมซ้ำซาก บริเวณที่มีเขื่อนก็ไม่อาจป้องกันน้ำท่วมได้ หรือคุ้มค่ากับผลกระทบที่ได้รับหรือไม่ เพราะน้ำยังท่วมเหมือนเดิม พื้นที่เกษตรก็ไม่ได้ตามเป้าหมาย ขณะที่ต้องเสียพื้นที่ป่ามหาศาล บางเขื่อนต้องอพยพชาวบ้านออกนอกพื้นที่อย่างน่าเห็นใจ และเสียงบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก คนเหล่านี้เริ่มสนใจว่าการแก้ปัญหาดังกล่าว น่าจะมีทางเลือกมากกว่าการสร้างเขื่อน โดยไม่ต้องสูญเสียพื้นที่ป่า ไม่ต้องไล่คน งบประมาณก็น้อยกว่า ดังนั้นจากท่าทีที่เคยสนับสนุนเขื่อนเต็มที่ในอดีต ก็ชักไม่แน่ใจ เริ่มถอยห่าง เริ่มตั้งคำถามกับความคิด ความเชื่อเก่า ๆ ที่เป็นกระแสหลัก
กระแส NO DAM ในเด็กรุ่นใหม่กำลังมาแรงขึ้นเรื่อย ๆ เด็กรุ่นใหม่ไม่เอาเขื่อนกำลังระบาดออกไป ด้วยความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะมีปริมาณมากกว่า กระแส YES DAM หรือคนที่ต้องการเขื่อน
ในขณะที่บรรดานักสร้างเขื่อน เริ่มหวั่นไหวแล้วว่า ความคิด ความเชื่อใหญ่ที่เคยครอบคนในสังคม กำลังถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง และหนทางหนึ่งที่จะแก้เกมได้ ส่วนหนึ่งคือการพยายามดึงเอา เบื้องบน ลงมาเล่นในเกมนี้ด้วย ไม่ต่างจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ทุกวันนี้
บทเรียนและข้อผิดพลาดของเขื่อนในอดีตและปัจจุบัน กำลังได้รับการเผยแพร่และเป็นที่ยอมรับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ของคนในสังคม ในขณะที่สมัยก่อนสิ่งเหล่านี้แทบจะไม่เคยได้รับการเผยแพร่ในสื่อกระแสหลักเลย แต่ปัจจุบันพลังสื่อใน Social Media ที่ไม่มีอะไรมาชวางกั้น ได้ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกรับรู้หรือ share ออกไปมากขึ้น
น่าเสียดายที่ปัญญาชน คนหัวก้าวหน้าหลายคน ที่เคยแสดงความเห็นและเหตุผลในการไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนกำลังจะเปลี่ยนจุดยืนของตน หรือไม่กล้าพูดอะไรชัด ๆ ตรงๆเหมือนในอดีต ด้วยสาเหตุทางการเมือง หรือมีอคติอะไรบางอย่างผู้เขียนก็ด้อยปัญญาพอจะหาคำตอบได้
กรุงเทพธุรกิจ 17 ตค. 2556
Comments
เอ…
ด้อยปัญญา “เกินกว่า” จะหาคำตอบได้
ไหมคะ ถ้าเป็น “พอ” แล้วมันฟังแปลกๆ