จากแมนเดลาถึงราชดำเนิน


POTD-mandela_2617707b

 

“สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตไม่ใช่อยู่ที่ว่าคุณไม่เคยล้ม แต่อยู่ที่ว่าคุณสามารถลุกขึ้นมาได้ทุกครั้งที่ล้มลง”

เนลสัน แมนเดลา

๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา คงต้องบันทึกไว้ว่า มีการรวมตัวของประชาชนเพื่อประท้วงรัฐบาลมากกว่าครั้งใด ๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในบริเวณถนนราชดำเนิน ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออก และพรรคพวก เพื่อต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และสิ่งที่เรียกว่า ระบอบทักษิณ ผู้คนที่มาร่วมชุมนุมวันนั้นดูเหมือนน่าจะมากกว่า เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่สันนิษฐานว่ามีคนมาร่วมประมาณ ๕แสนคน

ประชาชนจากทั่วสารทิศได้เดินทางมาชุมนุมตั้งแต่ท้องสนามหลวง เนืองแน่นไปตามถนนราชดำเนินจนล้นไปทางสะพานผ่านฟ้า ไม่นับรวมถนนหลายสายตลอดทางถนนราชดำเนินกลางซึ่งตัวเลขที่ประมาณกันไว้ตั้งแต่หลักสองแสนคนขึ้นไปจนถึงเกินล้านคน แต่ตัวเลขกลาง ๆ ที่พอประมวลได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นน่าจะคนมามากกว่า ๕ แสนคนขึ้นไป

บ่ายแก่ ๆวันอาทิตย์นั้น ผมวางแผนการเดินทางให้สามารถไปถึงบริเวณชุมนุมใกล้ที่สุด ด้วยการนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสมาลงสถานีสะพานตากสิน และนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาที่แออัดไปด้วยผู้คนคล้องคอด้วยนกหวีดสายสีธงชาติไทย อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสดงการต่อต้านรัฐบาลชุดนี้

พอเรือจอดท่าช้าง ผู้คนทยอยออกจากเรือเกือบหมด ผมเดินไปเรื่อย ๆ แลเห็นคนจำนวนมากมุ่งหน้าไปทางท้องสนามหลวง ร้านอาหารแถวนั้นเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มาเติมพลังก่อนจะเดินทางต่อไป ผมเดินผ่านท้องสนามหลวงตอนห้าโมงกว่า ๆ มีการตั้งเวทีชั่วคราวขึ้นมา เพื่อรองรับผู้คนที่มานั่งเกือบครึ่งสนามหลวง ผมพยายามเดินต่อไป ตอนนี้แทบจะเรียกว่าไหลไปตามผู้คนมากกว่า พอเหลียวไปมองยังสะพานพระปิ่นเกล้า ก็เห็นคลื่นมนุษย์จำนวนหนาแน่นเดินลงสะพานอย่างไม่ขาดสาย มาเป็นกลุ่มใหญ่จากต่างจังหวัด โดยเฉพาะทางภาคใต้ เพื่อนเล่าให้ฟังว่า รถทัวร์หลายร้อยคันจอดรถอยู่ฝั่งธนบุรี และปล่อยให้ผู้คนเดินข้ามสะพานมา

ผมเดินไปตามถนนราชดำเนินกลาง ใช้ความพยายามเบียดเสียดอย่างไม่ลดละ แต่ก็ไม่สามาถฝ่าไปถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานที่ตั้งเวทีใหญ่ได้ เลยเดินอ้อมจากสี่แยกคอกวัวไปทางวัดบวรนิเวศ เดินไปตามถนนพระสุเมรุแต่ยิ่งใกล้ถนนราชดำเนิน ผู้คนก็เบียดเสียดกันอีก หนาแน่นมากกว่าเดิม เพราะคลื่นมนุษย์จากภายนอกยังหลั่งไหลเข้ามาตลอดเวลา จนรู้สึกได้ว่า หากใครโยนประทัดให้เกิดเสียงดัง มีหวังเหยียบกันตายแน่นอน

ผมยืนสังเกตการณ์จนถึงเวลาสองทุ่มกว่า จึงเดินกลับออกมาทางนางเลิ้ง ถนนปิดเกือบหมด เดินต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงตลาดโบ๊เบ๊จึงพอจะหารถแท็กซี่กลับบ้านได้สำเร็จ

คนเหล่านี้มาจากไหนกัน

เท่าที่สังเกตดู คนหลายแสนที่มาเนืองแน่นตั้งแต่สะพานพระปิ่นเกล้า สนามหลวง ถนนราชดำเนิน นั้น ผมคิดว่าเกินครึ่งอาจจะเคยมาร่วมชุมนุมหรือมาม็อบเป็นครั้งแรก ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง หรือชนชั้นกลางก็คงไม่ผิด คนหนุ่มสาว ตั้งแต่ระดับนักศึกษา นักเรียนช่างกล ไปจนถึงวัยทำงานน่าจะมีมากทีเดียว แตกต่างจากม็อบเสื้อเหลืองเมื่อหลายปีก่อนซึ่งผู้มาร่วมส่วนใหญ่เป็นคนวัยกลางคนขึ้นไป ม็อบครั้งนี้จึงมีความหลากหลายของอายุ คนไม่เกินสามสิบดูจะมีเยอะมากกว่าม็อบครั้งใด

ผมพยายามหาเหตุผลว่า อะไรทำให้ผู้คนออกมาเดินมากมายเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ โดยส่วนตัวผมมีข้อสังเกตบางประการ

การชุมนุมครั้งนี้ที่มีผู้คนจากทั่วสารทิศออกมาร่วมมากที่สุดนั้น สาเหตุสำคัญคืออาจจะเป็นม็อบที่มีคนมากที่สุด เพราะสาเหตุสำคัญคือ คนไม่พอใจรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมากในการบริหารประเทศ ปัญหาคอร์รัปชัน ไม่ว่าโครงการจำนำข้าวที่ทำให้ขาดทุนหลายแสนล้านบาท โครงการจัดการน้ำ ๓๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ปัญหาสินค้าราคาแพงขึ้นเกือบหมด และ ภาวะผู้นำของตัวนายกฯ ที่ผ่านมาพยายามลอยตัวเหนือปัญหา ด้วยการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยในช่วงเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง คนเหล่านี้เห็นและเก็บกดมานาน จนกระทั่งทนไม่ไหว กรณีการที่สภาได้ผ่านพรบ.นิรโทษกรรมโดยมีการแก้ไขเนื้อหาจนเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบางคนได้ประโยชน์เต็มที่ และแถมยังผ่านพรบ.นี้เอาตอนตีสาม ด้วยเสียงข้างมากในสภา จนได้ฉายาว่าเป็นการ ลักหลับ

เมื่อคนไม่พอใจ และรัฐบาลยอมถอยแบบสุดซอย แต่ก็ยังไม่มีการแสดงความรับผิดชอบออกมาจากรัฐบาล แม้กระทั่งการขอโทษ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนออกมาตามท้องถนนมากมายเช่นนี้

ที่สำคัญคือ คนเหล่านี้จำนวนมากไม่ได้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เชื่อแกนนำทุกอย่างว่าต้องมีการใช้วิธีพิเศษ ที่ไม่ได้มากจากการเลือกตั้งในการบริหารประเทศ แต่พวกเขาเหลืออดการบริหารงานของรัฐบาลมากกว่า และวิธีอธิบายจากนักการเมืองฝั่งรัฐบาลว่า เป็นเพราะพวกเขาเป็นเสียงข้างมาก จึงมีอำนาจจะทำอะไรก็ๆได้ การออกมาครั้งนี้จึงมากจริง ๆ

แต่หลังจากการชุมนุมใหญ่ภายใต้การนำของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณแล้ว วันต่อมาได้มีการเคลื่อนผู้ชุมนุมออกไปยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง จนเกิดการปะทะ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์การปะทะระหว่างนักศึกษารามคำแหงกับคนเสื้อแดง เกิดการตั้งคำถามกับแนวทางการชุมนุม ที่ประกาศว่าใช้แนวทางสันติวิธีและวิธีอารยะขัดขืนว่าจริงหรือไม่

ขณะที่เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศยังดำเนินต่อไป อีกฟากหนึ่งของโลก รัฐบาลประเทศแอฟริกาใต้ ได้ออกแถลงการณ์ว่า นายเนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีผิวดำคนแรก ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย ๙๕ ปี ที่บ้านพักของเขาในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ด้วยอาการติดเชื้อในปอด เมื่อคืนวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ตามเวลาท้องถิ่น

เนลสัน แมนเดลาใช้ชีวิตเกือบทั้งหมดอุทิศให้กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์ตัวจริง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ในอดีตประเทศแอฟริกาใต้ถูกปกครองด้วยคนผิวขาวซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย และใช้นโยบายแบ่งแยกและเหยียดผิวสีอย่างรุนแรง มีคนผิวดำลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของคนผิวสี และผู้นำคนสำคัญที่สุดคือ เนลสัน แมนเดลา

เนลสัน แมนเดลาใช้แนวทางอหิงสาและอารยะขัดขืนตามแบบของ มหาตมะ คานธี เขาติดคุกเป็นว่าเล่น แต่ครั้งที่นานที่สุด ตอนเขาอายุสี่สิบกว่าถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตด้วยข้อหาล้มล้างรัฐบาลและเป็นกบฎ โดยไม่ขัดขืน เพราะนี่คือวิธีการอารยะขัดขืน ด้วยการทำผิดกฎหมายที่เขาไม่ยอมรับ และยืดอกยินยอมรับโทษทัณฑ์ที่ได้รับในช่วงนั้นเขาได้กล่าวคำพูดอมตะว่า

“ตลอดชีวิตผมต่อสู้เพื่อต่อต้านการครอบงำของคนผิวขาว และผมก็ต่อต้านการครอบงำของคนผิวดำ ผมต่อสู้เพื่อสังคมเสรีและประชาธิปไตย เพื่อให้ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีโอกาสเท่าเทียมกัน นั่นเป็นอุดมการณ์ที่ผมหวัง และหากจำเป็น ผมพร้อมจะพลีชีพเพื่อสิ่งเหล่านี้…”

ระหว่างที่เขาติดคุกอย่างไร้ความยุติธรรม นานาชาติได้กดดันรัฐบาลผิวขาวแอฟริกาใต้ ด้วยการคว่ำบาตร เพื่อให้ยกเลิกนโยบายการเหยียดผิว และสุดท้ายรัฐบาลได้ยอมปล่อยตัวเนลสัน แมนเดลา หลังจากติดคุกยาวนานถึง ๒๗ ปี และในปีพ.ศ. ๒๕๓๖ เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และปีรุ่งขึ้นรัฐบาลแอฟริกาใต้ยอมจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศ ทุกผิวสีมีสิทธิออกเสียง และแมนเดลาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยเสียงถล่มทลาย

เมื่อเนลสัน แมนเดลา ออกจากคุก สิ่งที่เขาบอกกับทุกคน ทุกสี คือ การปรองดอง และการให้อภัยกันและกัน สร้างสังคมใหม่ มองไปข้างหน้าร่วมกัน และทิ้งอดีตไว้เป็นบทเรียนที่เราจะไม่ต้องประสบกับมันอีก เขาสามารถทำงานร่วมกับคนผิวขาวซึ่งเคยเป็นศัตรูอันมายาวนานเพื่อสร้างประเทศจากความแตกร้าว ตัวอย่างสำคัญคือการตั้งผู้นำคนผิวขาวเป็นรองประธานาธิบดี ครั้งหนึ่งเขากล่าวว่า

“หากเรามีความฝันถึงสังคมแอฟริกาใต้อันงดงาม ก็มีสองเส้นทางที่นำพาให้ไปถึงจุดหมายนั้นได้ และสองเส้นทางที่ว่านั้น ชื่อว่า ความดี และ การให้อภัย ”

เนลสัน แมนเดลา เป็นประธานาธิบดีเพียงสมัยเดียวห้าปี ไม่ลงสมัครเป็นสมัยที่สองต่อทั้ง ๆที่อำนาจและการยอมรับจากประชาชนล้นฟ้า เขาไม่ยึดติดกับอำนาจ กลับเป็นคนธรรมดาสามัญ ด้วยการไปก่อตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก และองค์การด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อช่วยเหลือผู้คนจำนวนมากต่อไป

“ไม่มีใครเกลียดคนอื่นเพราะมีสีผิว พื้นเพ และศาสนาที่แตกต่างมาตั้งแต่เกิด คนทุกคนจะต้องเรียนรู้ที่จะเกลียดผู้อื่น และเมื่อคนเราสามารถเรียนรู้ที่จะเกลียดได้แล้ว ก็สามารถเรียนรู้ที่จะรักได้เหมือนกัน เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ความรักเกิดขึ้นในหัวใจของคนเราได้ง่ายกว่าความเกลียดเสียอีก”

ชีวิตของเนลสัน แมนเดลา คงพอสะกิดใจผู้คนทุกสีในสังคมไทยได้ว่า หนทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ความเท่าเทียม ความยุติธรรม ความปรองดองในสังคมด้วยแนวทางสันติวิธีนั้น ต้องใช้เวลา และการให้อภัยกัน คือกุญแจสำคัญที่สุด

เพียงแต่ว่าเราอดทนกันพอหรือไม่

สารคดี ธค. 56

 

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.