ที่เห็นในภาพคือ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของประเทศเดนมาร์กกำลังขี่จักรยานเข้า
เฝ้าสมเด็จพระราชินี เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เป็นการรณรงค์ให้ชาวเดนมาร์กใช้จักรยานเป็นพาหนะปรกติในการเดินทาง
และนักการเมืองประเทศนี้ก็ขี่จักรยานไปทำงานเป็นเรื่องปรกติ
ไม่ต้องมีรถนับสิบคันคอยนำขบวน หรืออารักขา
เดนมาร์กเป็นประเทศที่ลงทุนกับงบประมาณมหาศาลในการสร้างทางจักรยาน โครงข่ายทางจักรยานที่เชื่อมระบบขนส่งมวลชนกับเส้นทางจักรยานเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง ทำให้ผู้คนในประเทศหันมาใช้จักรยานเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญพอ ๆกับการใช้รถยนต์
และเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้เดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงค์ มักกะสัน กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นประธานเปิดงาน “a day BIKE FEST 2014” โดยพล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่วมปั่นจักรยานกับคณะผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งกล่าวว่า
“วันนี้เรามาร่วมกันทำความฝันให้เป็นความจริง ได้สักเสี้ยวหนึ่งก็ยังดี เมื่อสักครู่ฟังท่านผู้จัดการ สสส. และบก.อะเดย์ บอกว่ามีความฝัน อยากให้มีเมืองจักรยาน ผมดีใจที่ได้มาอยู่ท่ามกลางผู้มีใจรักจักรยาน การจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันกันมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ปลอดภัยจากมลภาวะ และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข และยังหวังให้ประชาชนทุกคนหันมาสนใจใช้จักรยานกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปทำงาน เรียนหนังสือ ออกกำลังกาย หรือเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะการใช้จักรยาน นอกจากจะส่งเสริมสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังช่วยลดการใช้พลังงาน ลดมลภาวะ และช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ถือเป็นการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้บ้านเมืองน่าอยู่ยิ่งขึ้น”
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า“จะเร่งส่งเสริมให้มีเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัย ซึ่งสามารถเชื่อมโยงให้เกิดเส้นทางจักรยานเพื่อการคมนาคมและการท่องเที่ยวได้”
ฟังแล้วท่านนายกฯ คงมีความเข้าใจแนวคิดเรื่องจักรยานว่าคงไม่ได้ขี่เล่น ๆ เพื่อการท่องเที่ยวแต่เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทาง และเห็นความสัมพันธ์กับปัญหาโลกร้อนพอควร แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือ
ท่านไม่ใช่นักการเมืองคนแรกที่พูดเรื่องจักรยาน ต้องยอมรับว่า จักรยานเป็นเทรนด์อันทันสมัยและก้าวหน้าในโลกสมัยใหม่ ที่ผ่านมามีนักการเมืองไทยหลาย
คนพูดเรื่องนี้เพื่อหาคะแนนนิยม ตั้งแต่ผู้ว่ากทม. ไปถึง สส. สว. และนายกรัฐมนตรี แต่ปัญหาคือ ส่วนใหญ่ได้แต่พูด แต่การลงมือปฏิบัติเกิดขึ้นน้อยมาก อาทิการลงทุนสร้างโครงข่ายทางจักรยาน การสร้างทางเชื่อมขนส่งมวลชนกับทางจักรยานเข้าด้วยกัน การดูแลความปลอดภัยของคนขี่จักรยาน ที่ผ่านมามีงบประมาณน้อยมาก จนดูเหมือนทำเพื่อตอบสนองการหาเสียง แต่ไม่ได้มีเจตจำนงค์จริง ๆ
อภิมหาโปรเจค 3 ล้านล้านบาทด้านการคมนาคมของรัฐบาลชุดนี้ แทบจะไม่มีส่วนไหนเลยที่พูดถึงการลงทุนสร้างทางจักรยานเพื่อการคมนาคมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ล่าสุด เพื่อเป็นการสนองนโยบายของนายกฯ กระทรวงคมนาคมมีโครงการจะทำทางจักรยาน เลียบแม่น้ำน่านระยะทาง 23 กิโลเมตร ที่จังหวัดพิษณุโลก
งบประมาณ 20 ล้านบาท และใช้เงินอีก 5 ล้านบาท เพื่อตีเส้นทางจักรยานบนถนนระยะทาง 4.5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินเล็กน้อยมากและมีแนวคิดจะร่วมมือกับ ทางกระทรวงกีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท เพื่อพัฒนาเส้นทางจักรยานอีกหลายเส้นทาง
แต่ภาวนาว่า รัฐบาลอย่าหลงทางคือไปส่งเสริมการสร้างทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว แทนที่จะสร้างทางจักรยานให้เป็นทางเลือกในการเดินทาง เพื่อลดการใช้รถยนต์ ลดการบริโภคน้ำมัน
ประการหลังต้องใช้ความกล้าและกึ๋นมากกว่า เพราะต้องเข้าใจเรื่องโครงข่ายจักรยานและประกาศเป็นนโยบายจริงจังต่อเนื่องหลายปี พร้อมจะทุ่มงบประมาณสร้างทางจักรยานและโครงข่ายหลายพันล้านบาท เหมือนกับประเทศอื่นที่ทำจริงจัง พอ ๆ กับที่เห็นความสำคัญในการลงทุนระบบรถไฟรางคู่
มิฉะนั้น การสร้างทางจักรยานก็จะกลายเป็นพิธีกรรม เหมือนกับรัฐบาลที่ผ่านมาชุดแล้วชุดเล่า
กรุงเทพธุรกิจ 20 พย. 57
Comments
เห็นด้วยอย่างยิ่งกับบทความนี้ รัฐบาลควรเอาจริงเอาจังกับเส้นทางจักรยานทั้งในเมืองหลวงและตามเมืองใหญ่ๆ พร้อมกับเสริมสร้างทัศนคติเรื่องการสัญจรด้วยจักรยานในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางครับ เพราะเป็นต้นทางของสุขภาพอนามัย พลังงาน และสิ่งแวดล้อมที่ดี
😆 เห็นด้วยอย่างยิ่งกับบทความนี้ รัฐบาลควรเอาจริงเอาจังกับเส้นทางจักรยานทั้งในเมืองหลวงและตามเมืองใหญ่ๆ พร้อมกับเสริมสร้างทัศนคติเรื่องการสัญจรด้วยจักรยานในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางครับ เพราะเป็นต้นทางของสุขภาพอนามัย พลังงาน และสิ่งแวดล้อมที่ดี