“เป็นเรื่องปกติที่ช้างจะออกมาหากินได้ทุกจุดทุกวันในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพราะที่นี่เป็นบ้านของช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ เราจะยึดช้างเป็นศูนย์กลางไม่ทำร้ายช้าง”
นายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
คนที่ไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า การได้เจอช้างระหว่างทางบนถนน ถือว่าเป็นเรื่องปรกติและโชคดีเป็นบุญตาที่ได้เห็นสัตว์บกขนาดใหญ่ที่สุดในธรรมชาติ
ผมขับรถไปอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่บ่อยมาก หลายครั้งก็โชคดีได้เจอช้างข้ามถนน หรือเดินไปตามท้องถนน ผมจะหยุดรถให้อยู่ห่างจากช้าง แต่ไม่ดับเครื่องยนต์ และคอยสังเกตชีวิตของช้างด้วยความตื่นเต้นมากกว่าหวาดกลัว จนเมื่อช้างข้ามถนนไปแล้วจึงค่อยขับรถต่อไป
มีค่ำคืนหนึ่งขณะขับรถลงจากเขาใหญ่ เห็นช้างกำลังข้ามถนน จึงหยุดรถ บังเอิญรถที่สวนมาดันเปิดไฟสูงและบีบแตรดังลั่นด้วยความตกใจหรือคึกคะนองก็ไม่
ทราบได้ ทำให้ช้างตัวนั้นตื่นตกใจ และวิ่งมาทางรถของผมที่จอดอยู่ คนขับตั้งสติค่อย ๆ เข้าเกียร์ถอยรถไปตามถนน ช้างวิ่งไล่ได้สักพักก็หยุดดู
เราก็หยุดรถ สักพักเค้าก็เดินหายลับเข้าไปในป่า
สมัยก่อนข่าวช้างป่าพังรถนักท่องเที่ยวไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก อาจจะเป็นเพราะรถที่ขับขึ้นเขาใหญ่ไม่ได้มากมายเหมือนสมัยนี้
และนับวันนักท่องเที่ยวเองก็ไม่ได้เข้าใจธรรมชาติของป่าและสัตว์ป่ามากนัก
ผมคิดว่าจากนี้เป็นต้นไป นักท่องเที่ยวที่อยากขับรถเข้าไปในป่า ต้องเรียนรู้กฎกติกาการขับรถในป่าอย่างจริงจัง
เรียนรู้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ป่าอย่างเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ขับรถเป็นแล้วจะขับเข้าไปในป่าผืนใดก็ได้
เมื่ออยากเข้าป่า ก็ต้องยอมรับว่าการได้เห็นสัตว์ป่าเป็นความโชคดี ยิ่งได้เห็นช้างป่าควรจะดีใจมากกว่าตื่นตกใจ
ถนนในป่าเขาใหญ่นั้น เคยเป็นทางเดินของช้างเพื่อหากินมาก่อน ที่เรียกว่าด่านช้าง ถนนได้แยกให้ป่าสองผืนออกจากกัน โดยเฉพาะเส้นทางถนนหมายเลข 3077 สายเขาใหญ่-ปราจีนบุรี ที่ตัดผ่านกลางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่ช้างไม่ทราบหรอกว่านี่คือถนน นี่คือป่า เค้ารู้แต่เพียงว่า
ทั้งหมดคือบ้านของพวกเค้า
คนต่างหากไปบุกรุกบ้านของช้าง
และต้องเข้าใจว่า ช้างป่าอาศัยไม่เป็นหลักแหล่ง จะเปลี่ยนที่หาอาหารไปเรื่อยๆ เนื่องจากช้างกินอาหารมาก จึงทำให้พืชบริเวณที่หากินหมดไปอย่างรวดเร็ว
ต้องหาแหล่งอาหารใหม่ตลอด แต่ช้างจะมีการจดจำถึงแหล่งอาหารเดิมได้ เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งช้างจะกลับมาหากินในบริเวณป่าแหล่งเดิม
วนเวียนสลับกันไปในแต่ละแหล่งอาหาร คล้ายกับการเดินเป็นวงกลมและกลับมาที่จุดเดิม พื้นที่หากินของช้างจึงเป็นบริเวณที่ไม่สามารถจำกัดได้ว่าต้องเป็น เนื้อที่เท่าไหร่ หากป่าผืนใดมีเนื้อที่กว้างใหญ่ก็จะอำนวยให้ช้างหากินได้ง่าย
อาหารและแหล่งอาหารหลากหลาย ทำให้เพิ่มจำนวนได้รวดเร็วกว่าป่าที่มีเนื้อที่ขนาดเล็ก บางครั้งพบว่าในเวลา 1 วัน
ช้างต้องเดินทางหาอาหารเป็นระยะทางไกลถึง 30 กิโลเมตร
ช้างในป่าเขาใหญ่มีประมาณ 300 ตัว อันเป็นดัชนีชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของป่าเขาใหญ่ เราควรจะดีใจที่เขาใหญ่มีประชากรช้างมาเดินตามท้องถนนมากขึ้นและสงสัยกันไหมว่าทำไมช่วงหน้าหนาว ตอนกลางคืนจึงมีช้างมาเดินเล่นตามท้องถนนเพิ่มมากขึ้น
เพราะพื้นถนนลาดยางตอนกลางคืนสะสมความร้อนมาทั้งวัน จึงอุ่นสบาย ทางเรียบเดินสบายปลอดภัย ช้างจึงชอบพาลูกช้างที่ตกลูกแค่ปีละตัวมาเดิน
และปลอดภัยกว่าเดินในป่ารก หรือบางทีฝูงช้างต้องข้ามลำธาร จนลูกช้างเกิดพลัดหลงตกน้ำตกเหวนรก ตายไปหลายตัวเป็นข่าวสะเทือนใจเมื่อสิบกว่าปีก่อน
ในช่วงฤดูหนาว เราจึงเห็นช้างเดินตามถนนตอนกลางคืนบ่อยมาก และบางทีช้างก็อาจจะถือโอกาสนอนหลับกลางถนนเลยก็มี
ดังนั้นคนขับรถควรจะ share the road แบ่งปันพื้นผิวถนน ให้ช้างที่เป็นเจ้าของบ้านตัวจริงได้ใช้ด้วย และเราก็สังเกตมันด้วยความปิติและมีสติ ไม่ใช่เจอช้างก็บีบแตรรถให้ช้างโกรธ เปิดไฟสูงต่ำไล่ช้าง หรือถ่ายรูปด้วยไฟแฟลชให้ช้างตื่นตกใจ ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงผสมพันธุ์ช้างตัวผู้อาจจะอารมณ์เสียเป็นพิเศษ
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีนักท่องเที่ยวปีละล้านกว่าคน ช่วงวันหยุดเทศกาลจะมีคนไปเที่ยวประมาณวันละเกือบ 20,000 คน
รถยนต์ที่แล่นผ่านไปตามถนนมีปริมาณหลายพันคันต่อวัน ขับรถก็ควรจะเกรงใจเจ้าของบ้านตัวจริงด้วยนะครับ
ไม่ใช่เอะอะก็พาดหัวข่าวอย่างมักง่ายว่า “ช้างนักเลง บุกพังรถเก๋ง”
กรุงเทพธุรกิจ 15 มค. 58